ไม่ใช่แค่ปัญหามลภาวะ แต่ขนส่งสาธารณะฟรีจะแก้ปัญหาอะไรได้อีกบ้าง?

เร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้ยินข่าวว่าเยอรมนีกำลังพิจารณาให้มีการใช้ขนส่งสาธารณะฟรีดึงดูดให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ เราอ่านข่าวนี้ท่ามกลางหมอกและฝุ่นควันขนาดเล็ก PM2.5 ที่กำลังปกคลุมประเทศไทย และพบว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังประสบปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกัน

จากรายงานของ SustraMM บอกว่ามลพิษที่มาจากการใช้รถใช้ถนนสูงเป็นอันดับสาม รองแต่เพียงการผลิตพลังงานและอุตสาหกรรมเท่านั้น โฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมาณรถยนต์มีมากกว่าที่ถนนรองรับได้ถึง 4.4 เท่า

หลายคนยังมองไม่เห็นทางออกว่าเราจะทำให้วิกฤตมลภาวะในอากาศนี้บรรเทาลงได้อย่างไร ขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในความหวังที่เราทุกคนเฝ้ารอให้เกิดการพัฒนาจนเข้ามาแทนที่รถยนต์ส่วนตัวได้จริงๆ แต่จวบจนทุกวันนี้ คุณภาพและราคาการเดินทางของขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ก็ยังคงสวนทางกันเกินกว่าจะพูดได้เต็มปากว่าเป็น ‘สาธารณะ’ สำหรับทุกคน

ก่อนจะไปติดตามว่าเยอรมนีและอีกหลายประเทศทั่วโลกจะทำให้ขนส่งสาธารณะฟรีได้จริงหรือเปล่า เราอยากชวนทุกคนตั้งคำถามก่อนว่า ขนส่งสาธารณะที่ฟรีและดีจริงๆ ควรเป็นยังไง?

ของฟรีล้วนๆ ไม่มีในโลก

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึงขนส่งสาธารณะฟรี อย่าเพิ่งคิดถึงภาพโลกพระศรีอาริย์ที่ทุกคนอิ่มทิพย์ไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบเหล่านี้อีกต่อไป เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

การที่พลเมืองใช้งานขนส่งสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หมายความว่าต้องได้รับแหล่งทุนในการดำเนินการมาจากที่อื่น เช่น เปิดให้บริษัทต่างๆ มาเป็นสปอนเซอร์ให้ ดึงงบประมาณของรัฐบาลมาใช้ ยกตัวอย่างใกล้ตัวก็คือรถเมล์ฟรีจากภาษีของประชาชนที่เราเพิ่งโบกมือลาไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาหลังให้บริการมายาวนานตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2551 แล้วเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน

หลายเมืองในยุโรปทดลองใช้นโยบายขนส่งสาธารณะฟรีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1990 หลักการส่วนใหญ่คือรัฐบาลจะเก็บภาษีจากประชาชนทุกปีเพื่อนำมาใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน บำรุงรักษายานพาหนะต่อไป แต่หากรัฐรับภาระไม่ไหว ก็อาจจะต้องกลับมาจ่ายเงินอีกอยู่ดี เหมือนกับ ฮัสเซิลต์ เมืองในเบลเยียมที่เป็นตัวอย่างอันน่าตื่นใจของการให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีมายาวนาน 16 ปี ตั้งแต่ปี 1997 แต่ก็ต้องยุติลงในปี 2014 เพราะต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น (จากปีละ 967,000 ยูโร ในปี 1997 มาเป็นปีละ 3.45 ล้านยูโรในปี 2007) แน่นอนว่างบประมาณของรัฐไม่เพียงพอจะอุดหนุนอีกต่อไป จึงต้องกลับมาจ่ายค่าตั๋วอีกครั้งในราคา €0.60 (ราว 23 บาท) ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี คนชรา คนพิการขึ้นได้ฟรีเหมือนเดิม

ฟรีแล้วคนจะใช้งานมากขึ้นหรือ?

นักวิจัยจาก Royal Institute of Technology ในสวีเดน คำนวณการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารจากการเปิดให้ใช้ขนส่งสาธารณะฟรีว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจจะดูน้อยไปหน่อยเมื่อเทียบกับการทดลองจริงในเมืองทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 420,000 คน เมื่อไม่ต้องจ่ายค่ารถเมล์ รถราง รถไฟ กลับมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้ว่าฯ ของเมืองนี้กล่าวว่า เมื่อเริ่มมาตรการเดินทางฟรีปุ๊บการจราจรในแยกที่คับคั่งที่สุดในเมืองก็ติดขัดลดลงไปถึง 14 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ดูเป็นเหมือนความสำเร็จอันหอมหวานที่หลายเมืองอยากก้าวไปให้ถึง แต่เราคงไม่อาจยกทั้งระบบมาสวมทับเมืองอื่นๆ ได้เลย เพราะทาลลินน์ไม่ได้ใหญ่ระดับมหานคร การเดินทางแต่ละเที่ยวใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น แถมยังมีขนส่งสาธารณะประสิทธิภาพสูงและราคาถูกอยู่แล้ว แม้จะเป็นโครงการที่ฮือฮามาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนรถยนต์ลดลงมากอย่างที่ควร เพราะผู้โดยสารหน้าใหม่คือคนที่เดินเท้าหรือปั่นจักรยานมาก่อน

ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าการที่คนเข้ามาใช้งานขนส่งสาธารณะมากเกินไปอาจมีปัญหาตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งการนั่งไปอย่างไร้จุดหมาย หรือจากระยะที่คนเดินไหวก็อาจมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะแทนโดยไม่จำเป็น หากมองอย่างนั้นก็คงจะเป็นการดูถูกคนใช้งานไปเสียหน่อย ระบบที่รัดกุมอย่างการลงทะเบียนผู้ใช้งานและจำกัดเวลาในระบบน่าจะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดลงได้

รถลดแล้ว ลดอะไรได้อีก

เมื่อไม่ต้องมีตั๋วรายเที่ยวก็ช่วยลดกระดาษพิมพ์ตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะได้ด้วย ในบางเมือง เศษตั๋วมีปริมาณเยอะกว่าแพ็คเกจอาหารจานด่วนเสียอีก แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กจิ๋ว แต่รู้ไหมว่าเฉพาะในปี 2558 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องเสียเงินค่าพิมพ์ตั๋วและคูปองต่างๆ รวมเป็นเงินถึง 6,887,154 บาท! และเมื่อขยะลดลง เมืองก็ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาความสะอาดพื้นที่สาธารณะได้อีกด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่ขนส่งสาธารณะฟรีช่วยลดได้ก็คือเวลาในการขึ้นลงแต่ละป้าย เวลาในการซื้อตั๋วเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าและรถเมล์ต่างๆ ซึ่งหากนับเวลาเหล่านี้มารวมกันก็น่าจะประหยัดเวลาในชีวิตไปได้หลายวันต่อปีเลยทีเดียว

มากกว่าฟรีคือต้องดีจริงๆ

เราทุกคนเชื่อว่าเมืองจะดีได้ด้วยขนส่งสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพ หรือต่อให้ไม่ฟรีแต่ราคาสมเหตุสมผลก็ถือเป็นการเดินทางที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เมืองทั่วโลกจึงพยายามหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดในการทำให้ขนส่งสาธารณะตอบรับความต้องการของคนส่วนมากได้จริงๆ

อย่างมหานครนิวยอร์กเองรู้ตัวว่าไม่สามารถให้บริการรถไฟใต้ดินหรือรถเมล์ฟรีๆ ได้อย่างประเทศในยุโรป แต่ก็พยายามช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ได้มากที่สุด หรือเมืองเชเปิลฮิลล์ ในนอร์ทแคโรไลนา ก็ทดลองให้บริการรถเมล์ฟรีโดยใช้เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย ในปี 2001 ซึ่งนอกจากจะไม่คิดเงินแล้วยังทดลองพัฒนาบริการให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้โดยสารเก่าใช้งานต่อไปและดึงผู้โดยสารหน้าใหม่เข้ามาในระบบเรื่อยๆ

เพราะสุดท้ายแล้วเงินไม่ใช่ทุกสิ่ง รถเมล์ฟรี รถไฟฟรีจะไม่มีทางสำเร็จหากผู้โดยสารหนาแน่น เบียดเสียดจนไม่สะดวกสบายอีกต่อไป ตารางเวลาล่าช้า ไม่แน่นอน หรือการบริการของพนักงานทำให้รู้สึกแย่ คนก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ตัวเลือกอื่นๆ เมื่อโอกาสมาถึง

ค่าใช้จ่ายที่หายไปอาจดึงคนไว้ได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่บริการที่ดี ความน่าเชื่อถือของระบบขนส่งสาธารณะต่างหากที่จะทำให้คนเลือกใช้ต่อไปในระยะยาว


อยากได้ขนส่งสาธารณะฟรี ทำไงดี

เรามีวิธีการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการแตกต่างกันไป บ้างตั้งสเตตัสหาแนวร่วมบนเฟซบุ๊ก บ้างชวนเพื่อนตั้งแคมเปญใน Change.org บ้างก็แอบขึ้นฟรีเอาดื้อๆ อย่างในสตอกโฮล์มและปารีสมีองค์กรที่ประท้วงการคิดเงินค่าใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาเชื่อว่าขนส่งสาธารณะควรจะเป็นของฟรีสำหรับทุกคน วิธีการประท้วงก็ง่ายๆ คือกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางในสถานีรถไฟ หรือกลยุทธ์เงาตามตัว อาศัยความเร็วเข้าไปพร้อมกับคนข้างหน้าแบบเนียนๆ หากถูกปรับ องค์กรจะมาช่วยจ่ายเงินให้ (ค่าปรับประมาณ 2,000 บาท) ซึ่งเงินก็จะมาจากการระดมทุนของสมาชิกองค์กรคนละ 170-250 บาทต่อเดือน


อ้างอิง theguardian.com, bigthink.com, nationalexpresstransit.com, dabate.org, eltis.org, citylab.com

AUTHOR