‘สาธารณะ’ แบบไหนที่องค์กรหมายถึง? เมื่อแบงก์ชาติเปิดศูนย์การเรียนรู้ต้อนรับสาธารณชน

‘สาธารณะ’ แบบไหนที่องค์กรหมายถึง? เมื่อแบงก์ชาติเปิดศูนย์การเรียนรู้ต้อนรับสาธารณชน

แต่ก่อนคนที่อยู่ละแวกสามเสน บางลำพู หรือบริเวณใกล้เคียงสะพานพระราม 8 หากคิดจะหาพื้นที่ทำงานทั้งทีคงต้องใช้เวลาคิดหาคำตอบกันสักพัก แต่ตอนนี้หลายคนคงมีหนึ่งคำตอบที่ชัดเจนปรากฏขึ้นในใจ

ผ่านมาได้ประมาณสองเดือนหลังจากที่อาคารหน้าตาแข็งแกร่งริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระรามแปดอย่างตึกธนาคารแห่งประเทศไทยแปลงโฉมสำเร็จ กลายเป็นตึกหน้าตาโมเดิร์นเปิดแขนต้อนรับให้คนที่ผ่านไปมาได้เข้ามาใช้บริการ และทำความรู้จักกับ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แห่งนี้

หลังจากที่ทางธนาคารได้บอกกับหลายสื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ทีมสาธารณะอย่างเราจึงตื่นเต้นและอดไม่ได้ที่จะหาโอกาสไปพูดคุยกับ ประภากร วรรณกนก ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือเบื้องหลังการทำให้พื้นที่นี้เป็น ‘สาธารณะ’ และอยากเข้าใจความเป็นสาธารณะในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยให้มากขึ้น

เปิดประตู

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะก่อสร้างมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หากเปรียบกับคน ธนาคารแห่งนี้คงเป็นเจ้าคุณปู่ ตึกนี้เคียงคู่กับธนาคารฯ มาตั้งแต่เยาว์วัยโดยรับภาระใหญ่อย่างการเป็นสถานที่ผลิตธนบัตรให้ใช้ทั่วประเทศ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีบ้านหลังใหม่ที่ใช้ผลิตแบงก์เกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐม ตึกโครงสร้างแข็งแกร่งแห่งนี้จึงปิดพักผ่อนรับลมริมน้ำเจ้าพระยาอยู่เงียบๆ และไม่ได้ใช้พิมพ์ธนบัตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อถึงเวลาอันควร ทีมงานของธนาคารแห่งประเทศไทยจับเข่าพูดคุยมองหาความเป็นไปได้หลากรูปแบบ เช่น การพัฒนาตึกเป็นพื้นที่นันทนาการสำหรับชาวแบงค์ชาติเอง แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ หลังจากทบทวนวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่า ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน’ สองวิสัยทัศน์แรก ทางองค์กรเชื่อว่าทำได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ส่วนสองวิสัยทัศน์หลัง หวังจะให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นเครื่องมือพาให้ขยับใกล้ความจริงยิ่งขึ้น

“ประชาชนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญขององค์กรเรา ที่ผ่านมาประชาชนรู้ว่าเราออกธนบัตร แต่หน้าที่ของเราในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการบริหารเงิน การบริหารความเสี่ยง ประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยรู้ เราเลยอยากสร้างพื้นที่ในการให้ความรู้ตรงนี้” ประภากรเล่า

ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โคเวิร์กกิ้งสเปซ รวมถึงพื้นที่เอาท์ดอร์และกึ่งเอาท์ดอร์ริมน้ำจึงใช้เวลาพัฒนาราว 4 ปี จนก่อเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 75 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขณะนี้เปิดให้คนเข้ามาทดลองใช้บริการในทุกส่วน และกำลังหาทางขยับขยาย กำหนดการใช้งานให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และผู้ใช้งานต่อไป

“เวลาผ่านไป เรายิ่งห่างไกลจากประชาชนเข้าไปทุกที คนมองว่าแบงค์ชาติเป็นองค์กรที่เข้าถึงยาก ซึ่งเราเองตระหนักและตั้งใจปรับตัวเพื่อเข้าถึงประชาชนมากขึ้น จึงเป็นที่มาในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่มีทั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์อยู่ภายใน พยายามจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำเลที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทั้งแม่น้ำ ถนน และกำลังจะมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในบริเวณนี้ด้วย” ประภากรเล่าเพิ่มเติม

แปลงกาย

จากภาพลักษณ์การเป็นธนาคารที่สัมพันธ์กับความมั่นคงทางการเงินของประเทศ พอจะผันตัวมาชวนคนคลุกคลีอย่างใกล้ชิด เราเลยอดสงสัยไม่ได้ว่ามีเรื่องใดบ้างที่ธนาคารต้องคำนึงถึง

“ทางกายภาพ เราพยายามออกแบบตึกให้มีฟังก์ชั่น เดิมมันออกแบบมาเฉพาะสำหรับการเป็นโรงพิมพ์ธนบัตร แต่เรื่องนี้เราทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สองคือทำยังไงให้เติมเต็มเร่ืองศูนย์กลางความรู้ ให้โดนใจคนแต่ละกลุ่ม และคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในมิติไหนบ้าง ซึ่งเรากำลังพัฒนาตรงนี้อยู่ อย่างน้อยคิดว่าเข้ามาต้องรู้สึกว่าได้แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ระยะยาว (life-long learning)”

ส่วนเรื่องความรู้สึกของผู้เข้ามาใช้งาน ประภากรกล่าวว่าอยากให้รู้สึกราวกับเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า

“เราคิดโมเดลแบบห้างสรรพสินค้า คือไม่อยากให้รู้สึกว่าโดนจ้องมอง แต่ก็ดูแลเรื่องความปลอดภัยอยู่ห่างๆ รวมถึงแผนป้องกันอัคคีภัย ถ้าเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้น การดูแลความปลอดภัยของเราได้มาตรฐาน ส่วนเรื่องการบริการ เน้นไลฟ์สไตล์ความสะดวกสบายที่โมเดิร์น เน้นคนรุ่นใหม่ คนเจนเนอเรชั่นวายและมีความดิจิทัล” ประภากรอธิบาย

“ที่เราเน้นคนรุ่นใหม่เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นอนาคตของชาติ บุคลากรคนรุ่นใหม่จึงสำคัญ เราเลยออกแบบให้ตรงนี้ชัดเจนเพื่อดึงดูดให้เขามาใช้ เพราะถ้าเขาไม่มา สิ่งที่เราอยากให้เกิดก็จะไม่เติบโต” เธอเสริม

สาธารณะ?

ทางแบงก์ชาติออกตัวชัดว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ พร้อมต้อนรับสาธารณะและประชาชนทั่วไป แต่ต้องพ่วงคำอธิบายต่อท้ายเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรเข้าไปด้วยว่าเพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ทางการเงินเป็นหลัก เท่ากับว่าภาพการใช้พื้นที่สาธารณะแบบเอกเขนกเอนกาย ทำกิจกรรมที่ใส่ความสร้างสรรค์ใดๆ ก็ได้อาจยังไม่ใช่ภาพที่มองเห็นจากศูนย์การเรียนรู้ฯ ในเวลานี้

นอกจากนี้ การใช้บริการที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้เต็มรูปแบบก็อาศัยระบบสมาชิกที่ต้องชำระเงินรายปี ศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้เหตุผลด้านการมีต้นทุนแถมยังมีเร่ืองกฎหมายและการเข้าถึงข้อมูลบางส่วนที่ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามประภากรเชื่อว่าแต่ละส่วนประกอบของศูนย์การเรียนรู้มีฟังก์ชั่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนหลายกลุ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ได้

อย่างส่วนของห้องสมุดก็เปิดรับผู้คนทั่วไปที่ให้เข้ามานั่งทำงาน อ่านหนังสือได้ฟรี แต่หากอยากยืมหนังสือหรือใช้บริการอินเทอร์เน็ต wi-fi ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน และสมาชิกเท่านั้นที่จะเข้ายืมหนังสือได้ ส่วน Idea Box พื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซที่ทำหน้าที่สร้างคอมมิวนิตี้ ดึงดูดกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้มาแลกเปลี่ยนและต่อยอดไอเดียกัน รวมถึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากห้องสมุดกว่า 7,000 แห่งทั่วโลกได้

ด้านพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะต้องจองและมีคิวจำกัดต่อวัน แต่ก็เหมาะสำหรับแขกทุกเพศทุกวัย ส่วนพื้นที่ริมน้ำที่ดูโล่งสบาย วิวดีติดน้ำ น่าไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจที่ยังไม่ได้ถูกใช้งานเท่าใดนัก ทางธนาคารเล่าว่ากำลังอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่ดึงดูดกลุ่มคนหลากหลายให้เข้ามารู้จักกับพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น

เชื่อมกัน

เพื่อนบ้านของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย คือแหล่งชุมชนและคนท้องถิ่นในย่านบางลำพู แม้ตอนนี้เราจะยังไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกันชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง แต่ประภากรเล่าให้ฟังว่าทางธนาคารเองก็มีแผนจะสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกัน

“เราเริ่มคุยเรื่องความต้องการของชุมชน เพราะชุมชนเองมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอยู่แล้ว เรากำลังคิดว่าจะให้เขาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ และจะมีความสัมพันธ์กับสาธารณะยังไงได้บ้าง” ประภากรเสริมว่าตัวเองเริ่มชักชวนคนในชุมชนใกล้เคียงแบบไม่เป็นทางการให้แวะเวียนมาใช้บริการที่ศูนย์การเรียนรู้แล้วเช่นกัน

ศูนย์การเรียนรู้ฯ ไม่ได้อยากอยู่และเดินคนเดียวตามลำพัง จึงเริ่มมองหาช่องทางเชื่อมต่อกับเครือข่ายรอบๆ

“เราเริ่มอยากให้มีการทำกิจกรรมระหว่างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เช่น จากพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ก็นั่งเรือข้ามมาที่เราได้ หรือชุมชนบางลำพูใกล้ๆ ที่มีพิพิธบางลำพู หรือแม้แต่ TCDC เอง” เธอกล่าวพร้อมยืนยันทิ้งท้ายว่า “คนอาจจะติดภาพเก่าอยู่ว่าที่นี่เข้าลำบาก แต่ตอนนี้เดินเข้ามาได้เลย”

ดูเหมือนว่าความมุ่งมั่นแรกของธนาคารแห่งประเทศที่กล้าเปิดประตูเปิดรับคนมากหน้าหลายตาจะสำเร็จแล้ว ส่วนเรื่องศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้จะทำหน้าที่ในการชักชวนคนเข้ามารู้จักและเรียนรู้ได้หลากหลายและตรงเป้าประสงค์แค่ไหนนั้น มาเฝ้ามองการเติบโตของที่แห่งนี้กัน

website l https://www.botlc.or.th/

AUTHOR