Urban Ally แพลตฟอร์มรวมมิตรที่ชวนทุกคนร่วมทดลองออกแบบละแวกบ้าน จินตนาการถึงเมืองที่น่าอยู่กว่าเดิม

Highlights

  • Urban Ally มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection Centre for Urban Design and Creativity) คือแพลตฟอร์มที่เปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาเมืองด้วยการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2564 แต่เดินหน้าทำงานทดลองในย่านต่าง ๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
  • ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของความเป็นเมือง (Urban Age) ผู้คนกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ทำให้เมืองกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิด วิถีชีวิต นวัตกรรม สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ความสนใจในการพัฒนาเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อลองพิมพ์คำว่า ‘กรุงเทพฯ’ ใน Google แล้วกดเลื่อนดูภาพที่ปรากฏขึ้น ภาพที่ผ่านตาของเราเกือบทั้งหมดมักเป็นภาพมุมสูง เหนือวัดวัง อาคารสูงระฟ้า แสงไฟจากยานยนต์สว่างเรืองรองเต็มพื้นที่ถนน แต่หากเราซูมเข้าไปใกล้ๆ ในรายละเอียดก็จะเริ่มเห็นฝาท่อหน้าบ้านที่สูงกว่ารางระบายน้ำ พวงสายไฟที่ห้อยลงมาแตะไหล่ และน้ำจากชายคาที่หยดติ๋งใส่คนที่เดินผ่านไปมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เทียบกันแล้วดูเหมือนกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองฟ้าอมรที่สวยงามเมื่ออยู่ไกลออกไป แต่ไม่เป็นมิตรกับผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองเอาเสียเลย 

“ถ้าเรามองเมืองเป็นกระดาษสักแผ่นหนึ่ง กรุงเทพฯ เป็นกระดาษที่ยับมากเลย ทุกคนขยำจนไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร” ผศ. ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท กล่าวกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เมื่อพูดถึงความซับซ้อนมากมิติของเมืองที่เรานั่งล้อมวงคุยกันอยู่ตอนนี้ “ความยับที่ว่ามันก็มีเสน่ห์ เป็นตัวตนของเรา เพียงแต่ทำยังไงให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

นอกจากนี้ในวงคุยยังมีผู้ร่วมพูดคุยอีก 2 คน คืออาจารย์ ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อํานวยการ และปิยา ลิ้มปิติ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนเมืองจากศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection Centre for Urban Design and Creativity) แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

พวกเขาเรียกตัวเองสั้นๆ ว่าเป็น ‘มิตรเมือง’ ผู้ส่งคำขอ Add Friends มายังทุกคนที่กำลังอ่านข้อความนี้อยู่ เพื่อชวนกันมาช่วยคิด ช่วยแสดงความเห็น ช่วยกันสร้างสรรค์เมืองยับๆ แห่งนี้ไปด้วยกัน 

เริ่มต้นผูกมิตร

“พลิกโฉมระบบการศึกษา” เป็นคำตั้งต้นที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เรากล่าวมาข้างต้น แต่เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เกิด Urban Ally ขึ้นในปี พ.ศ. 2564 อ.สิงหนาทเล่าว่า กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผุดโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาประเทศไทย (Reinventing University System) ตามนโยบายที่ต้องการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยได้พัฒนาความเป็นเลิศและผลิตกำลังคนขั้นสูง เพื่อเพิ่มความสามารถให้ทัดเทียมนานาชาติ

“เราตีความการพลิกโฉมอีกมุมว่า เรามีต้นทุนดีๆ ของเราหลายอย่าง แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ แทนที่เราจะวิ่งตามไปข้างนอก เราจึงอยากพลิกโฉมตัวเองก่อน ที่ผ่านมาระบบโครงสร้างของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย จะแบ่งเป็นคณะวิชา และแต่ละภาควิชาก็จะมีอาจารย์ของตัวเอง เรามองว่าโครงสร้างแบบนี้มันสร้างการพลิกโฉมไม่ได้ เป็นระบบนิเวศที่เราไปทำงานในพื้นที่จริงไม่ได้ เราเลยลืมภาควิชาไปก่อน แล้วมองหาว่าเรามีความเชี่ยวชาญด้านไหนบ้าง” อ.สิงหนาท ผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง เริ่มเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของหน่วยงานแห่งนี้ที่มีชื่อไทยยาวๆ ชื่ออังกฤษสั้นๆ ว่า ‘Urban Ally’ ว่าทำให้ชาวสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กลับมาพูดคุยกัน และทบทวนตัวเองอีกครั้งได้อย่างไร

ปิยา ในฐานะผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนเมือง (Local Action) ช่วยขยายความเพิ่มเติมถึงการเขย่าโครงสร้างการทำงานใหม่ ให้เกิดความร่วมมือที่ไม่เหมือนเดิม “สิ่งที่เป็นคำถามหลัก คือแล้วเราจะพลิกโฉมตัวเองก่อนได้ยังไง ตอนแรกสุด เราทำ SU Roundtable คุยกับอาจารย์ทุกภาควิชาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เราได้รู้ว่าที่ผ่านมาแต่ละคนทำอะไรกันมาบ้าง แล้วก็เชี่ยวชาญด้านไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนด้านไหน ได้ผลออกมาว่า เมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์นี่แหละที่น่าจะต้องเป็นพื้นที่ทดลองกระบวนการพลิกโฉมก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเรามีข้อมูลเยอะมาก ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม มิติทางสังคม”

การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทำให้ทีมงานจัดรูปแบบกลุ่มความเชี่ยวชาญออกมาได้ถึง 5 รูปแบบ โดยไม่ได้ยึดกับโครงสร้างองค์กรแบบเดิมๆ ได้แก่ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม (Art and Culture) ด้านการคิดเชิงข้อมูล (Data Thinking) ด้านพลิกโฉมเมือง (City Reinventing) ด้านการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) และด้านการแปลงเมือง (Make it Happen) 

“แต่เซอร์วิสที่เราทำไม่ได้แบ่งเป็น 5 ด้านตามความเชี่ยวชาญนะ สิ่งที่เราทำจะเป็นเรื่องของ Urban Curator, Urban Educator, Urban Data แล้วก็ Urban Design โดยที่ตอนนี้จะเน้นการ Curate เมื่อมีประเด็นอะไรบางอย่าง เราจะ Curate จากองค์ความรู้เชิงลึก หาวิธีการทำให้คนทั่วไปเข้ามาสัมผัสความรู้ สร้างประสบการณ์ในเมืองยังไงได้บ้าง เพราะเราเชื่อว่า ถ้าคนออกมาใช้ชีวิตในเมือง มาเรียนรู้ เขาจะเริ่มเข้าใจว่าเมืองที่ดีที่เขาอยากได้คืออะไร และควรจะเป็นยังไง มันอาจจะไม่ต้องเนี้ยบแบบญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ แต่ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ดีขึ้น” อ.พีรียา รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ เสริมถึงรูปแบบการทำงานซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเป็นนักวิจัย และต้นทุนองค์ความรู้สุดเข้มข้นที่คณาจารย์ชาวสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สะสมไว้มายาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก 

รวมมิตร คิดเรื่องเมือง

ทั้งสามคนมองเห็นตรงกันว่า ความเป็นเมืองเกิดจากความหลากหลายที่ประกอบเข้าด้วยกัน จุดเริ่มต้นของความเป็นเมือง คือการที่คนหลายคนมาอยู่ร่วมกัน แล้วช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพากันในทางใดทางหนึ่ง ทั้งการผลิต การบริโภค การอยู่อาศัย การเดินทาง ฯลฯ 

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองออร์แกนิกมาก ไม่ว่าจะพยายามวางผังเมืองยังไง มันก็โตไม่ทันธรรมชาติของเมืองนี้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับตัวในพื้นที่ตลอดเวลา มีการขยายตัวตลอด ปรับเปลี่ยนตลอด เพื่อให้ตอบรับกับสถานการณ์ขณะนั้น ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว การศึกษาเรื่องเมืองจึงไม่ใช่การศึกษาด้านกายภาพอย่างเดียว แต่ต้องสนใจคนในเมืองด้วย ถ้าเราเข้าใจเมืองก็จะเข้าใจคน ถ้าเราเข้าใจคนก็จะเข้าใจเมือง” อ.พีรียาออกความเห็น 

“ถ้าเราเปรียบว่า เมืองเป็นกระดาษสักแผ่นหนึ่ง กรุงเทพฯ เป็นกระดาษที่ยับมากเลย (หัวเราะ) ทุกคนขยำจนไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เราอยากจะจัดการให้กรุงเทพฯ เป็นกระดาษที่เรียบสนิทเหมือนต่างประเทศ แต่ตอนนี้มุมมองมันเปลี่ยนไป เรามองเมืองต่างไปจากเมื่อก่อน เราพยายามหาวิธี เข้าใจร่องรอยความยับของมัน ไอ้ความยับเนี่ยก็เป็นตัวตนของเรา แต่เราเข้าใจมันมากขึ้น เห็นมุมเห็นเหลี่ยมที่มันแตกต่างมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ แล้วเราจะคลี่คลายให้แต่ละมุมในเมืองมันน่าอยู่ขึ้นได้ยังไง” อ.สิงหนาทอธิบายถึงมุมมองในทำงานของ Urban Ally ที่ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการทำงานมองจากจุดเล็กๆ ทีละร่อง ทีละรอยยับ 

“เราจะไม่มุ่งไปที่การวางผังเมืองใหม่ แต่จะเริ่มจากการมองไปยังละแวกบ้านต่างๆ ว่าจะทำให้มันดีขึ้นยังไง จะสร้างความเท่าเทียมยังไง จะสร้างสรรค์ยังไง สิ่งที่เราพยายามทำ คือจะทำยังไงให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในแบบที่มีอัตลักษณ์ของเราเอง ความยับที่ว่ามันก็มีเสน่ห์ แต่ทำยังไงให้มันดีขึ้นอีกหน่อย” 

“กรุงเทพฯ มีสิ่งที่หลายเมืองเขาอยากได้ความหลากหลาย ซับซ้อนและสร้างสรรค์อย่างนี้ แต่ก็ยังไม่มีการถอดดีเอ็นเอของเมืองออกมาได้ทั้งหมด นักวิจัยต่างชาติมาศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในเอเชียเยอะมาก ว่าทำไมถึงได้มีกลไกอยู่ด้วยกันได้ซับซ้อนขนาดนี้” ปิยาเสริมถึงความสำคัญของภารกิจที่ชาว Urban Ally ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานแบบเดิมๆ ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาผูกมิตรใหม่ และทำเข้าใจเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

ทดลอง มองเมือง 

เทศกาล ‘รวม-มิตร-เมือง’ เป็นเทศกาลแรกที่ Urban Ally ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นการปักหมุด 19 จุดทั่วย่านพระนคร ชวนมิตรเมืองเก่า มาช่วยฟื้นฟูเกาะรัตนโกสินทร์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเน้นรูปแบบการทดลองสร้างสรรค์พื้นที่แสดงนิทรรศการ ทำ Installation Art ออกแบบแสงและเสียงในอาคารทิ้งร้างหรือใช้งานน้อย เช่น โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ไปรษณียาคาร การจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน เดินชมเมืองเก่า เสวนาเรื่องเมือง สถาปัตยกรรม และชุมชน ฯลฯ 

“พวกเราทำงานเรื่องเมืองกันมานาน ผมทำวิจัยมานานหลายสิบปี พบว่างานเมืองที่ออกแบบแล้วสร้างเลยเนี่ยแทบไม่เกิดขึ้นเลยในบ้านเรา สาเหตุเกิดขึ้นได้ยากเพราะมิติความซับซ้อนของแบบแผนการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รูปแบบสัณฐานเมือง และคนในเมืองที่แตกต่างหลากหลายมากๆ ทำแบบหนึ่งก็กระทบคนกลุ่มหนึ่ง เราจึงเลือกการทดลองออกแบบชั่วคราวก่อน จะได้เห็นว่าอะไรดีไม่ดี ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบที่ถาวรต่อไป” อ.สิงหนาทกล่าวถึงความตั้งใจในการเดินหน้าทำงานทดลองในย่านต่างๆ ของเมืองอย่างต่อเนื่อง 

https://api.urbanally.org/file/271747794_275916027884318_8513752057069587040_n%20(1).jpg
https://urbanally.org/actions/61ebd8cdd2357a5d399e3b57

“เรามักจะพูดกันติดปากว่ากรุงเทพฯ มีแต่ห้าง เมืองเรามีแต่ห้าง คนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราคนหนึ่งบอกว่า ‘โอ้โห ถ้ามีแบบนี้บ่อยๆ นะ คนไม่ต้องไปห้างแล้วก็ได้’ ทำให้เราเห็นว่า มันมีความต้องการที่คนอยากผลักดัน Third Place แบบนี้อยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างสวนสวย ๆ ขึ้นมาใหม่ก่อน แต่เราเริ่มจากจุดเล็กๆ กิจกรรมเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ ที่มีอยู่แต่ไม่มีคนเข้าไปใช้ กระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงได้ดีก่อน” อ.พีรียาเล่าถึงฟีดแบ็กจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพใหญ่ในการทำงานเมืองว่า ถ้ามีกิจกรรมที่ทำให้คนได้รู้จัก เข้าใจ ใกล้ชิดเมืองเยอะขึ้น หรือชัดเจนขึ้น คนก็มีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตในเมืองในรูปแบบอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

ทุกครั้งที่มีประเด็นการออกแบบเมืองที่น่าสนใจ จากภายในทีม Urban Ally เอง หรือมีโจทย์ความต้องการจากพันธมิตรต่างๆ ในการออกแบบ หรือสร้างสรรค์ย่านใดก็ตาม พวกเขาจะเริ่มจากการทำความเข้าใจพื้นที่ก่อนเสมอ ปิยาพูดติดตลกว่า ก่อนที่จะเริ่มเข้าไปทำรอยยับเพิ่ม หรือเข้าไปออกแบบอะไรสักอย่าง จะมีการศึกษาเชิงกายภาพ ลงพื้นที่จริงเพื่อสังเกต พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจรอยยับเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วเสมอ โดยยึดหลักการออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) ที่ใช้กระบวนการศึกษาเมืองเพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์สิ่งที่แต่ละพื้นที่ต้องการ แล้วจึงทำออกมาเป็น Design Program ว่าสิ่งที่ควรจะต้องใส่เข้าไปเพิ่มคืออะไร ก่อนจะออกมาเป็นกิจกรรมเชิงทดลองที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนกันต่อไป ใช้กระบวนการทดลอง เก็บฟีดแบ็ก ทำซ้ำ พัฒนาต่ออย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้การออกแบบเมืองในประเทศไทย ไม่ต้องทำตามมาตรฐานของภาครัฐที่มีแบบเดียวแล้วบังคับใช้กับทุกที่ แถมเมื่อก่อสร้างไปแล้วก็ยากที่จะปรับเปลี่ยน

“ความเชื่อของ Urban Ally คือการศึกษา สำรวจ ทำความเข้าใจเอกลักษณ์ของชุมชนละแวกบ้าน เราอยากพัฒนาเมืองที่ยังเก็บอัตลักษณ์ของพื้นที่เอาไว้ ไม่ได้มองว่าจะต้องรื้อล้างสร้างใหม่” ​ปิยาย้ำถึงความเชื่อที่ตัวเองและทีมงานมีร่วมกัน คือการชวนคนมาช่วยกันทดลองที่จะเปลี่ยนแปลงเมือง 

“นอกจากความแตกต่างของละแวกบ้าน เราก็เชื่อในอัตลักษณ์ของคน ความเชี่ยวชาญของคนด้วย เราไม่คิดว่าจะต้องทำงานคนเดียว ไม่มีความคิดไหนความคิดเดียวที่เป็นความคิดสูตรสำเร็จ ต้องสร้างไปร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงาน เราจะดึงหลายคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นมาช่วยเรา เพราะเรารู้ตัวว่าเราทำไม่ได้หมดทุกเรื่องหรอก” อ.พีรียายกตัวอย่างการชวนอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทยของมหาวิทยาลัยศิลปากร วัด ชาวบ้าน และเยาวชนย่านตลาดพลูมาร่วมกันทำกิจกรรม Unfolding Bangkok : Hidden Temples เปิดประสบการณ์วัดลับย่านฝั่งธน ที่ทำให้คนทั่วไปมาทำความรู้จักวัดเล็กๆ ในชุมชนแห่งนี้มากขึ้น หรือการชวนกลุ่ม ‘คิดอย่าง’ ที่สนใจสถาปัตยกรรมคณะราษฎร มาร่วมกันออกแบบกิจกรรม Talk & Tour ราษฎรดำเนิน: ค้นพบความทรงจำที่สูญหายไปจากถนนของมหาชน ซึ่งใช้แอปพลิเคชั่น AR ตามหาร่องรอยอาคารที่สาบสูญย่านถนนราชดำเนิน 

ทุกกิจกรรมของ Urban Ally จึงมีเป้าหมายเป็นการจุดประกายให้คนสนใจเรื่องเมืองมากขึ้น สิ่งที่คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมอาจเป็นรูปแบบกิจกรรมเดินเมือง ปั่นจักรยานในเมือง หรือชมงานศิลปะติดตั้งตามพื้นที่สาธารณะ เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน ทั้งจากคนในพื้นที่ นักสร้างสรรค์ และผู้มาเยือน 

“เรื่องเมืองมันไม่ใช่เรื่องของภาครัฐอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน การทดลองของเราช่วยกระตุ้นให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างตอนที่นักศึกษาไปติดป้ายบอกทางในตลาดพลู อยู่ดีๆ มีอาม่าคนหนึ่งเปิดประตูออกมาบอกว่า ตรงนี้ไม่ดี ตอนแรกก็ตกใจ นึกว่าเขาไม่ให้แขวน เขาบอกว่าเขยิบอีกหน่อยนึงจะสวยกว่านี้ เห็นไหมว่า เขาเริ่มมีส่วนร่วม เขาอยากให้ซอยของเขาดีกว่านี้ พอเขาเห็นตัวอย่าง แล้วมีส่วนร่วมได้ด้วย เราก็หวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปจริงๆ ในอนาคต” อ.สิงหนาทเล่าต่อถึงความสำคัญของการพานักออกแบบไปเจอกับชุมชน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจการออกแบบเมืองที่ดี ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และขณะเดียวกันนักออกแบบก็ได้เรียนรู้ที่จะทำงานกับชุมชนอย่างเข้าอกเข้าใจกัน และทำให้คนในสังคมเข้าใจคุณค่าของนักออกแบบมากขึ้นด้วย

“ผมตื่นเต้นทุกครั้งว่าจะตีความเรื่องงานออกแบบไปได้ไกลแค่ไหน ขอบเขตการออกแบบเมืองที่ดีมันจะขยายไปได้ไกลแค่ไหน ไปได้ลึกมากแค่ไหน ที่ผ่านมาเราใช้เครื่องมือหลากหลายมาก จัดไฟในอาคารเก่า Projection Mapping ในวัด สร้างการนำทางในตลาด การทดลองแบบนี้มันน่าตื่นเต้น เพราะมันเหมาะกับความเป็นกรุงเทพฯ อย่างที่บอกไปว่าเมืองเราเป็นกระดาษที่ยับเยิน แต่ละพื้นที่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย ใช้มาตรฐานเดียว ใช้วิธีการเดียวไม่ได้เลย ไม่ได้เลยจริงๆ สำหรับกรุงเทพฯ เราจึงต้องทดลองเยอะๆ แล้วก็ค่อยๆ สร้างความร่วมมือ ทีละเล็กทีละน้อย” อ.สิงหนาทย้ำถึงแนวทางการทำงานซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายความต้องการ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่การสร้างเมืองที่เป็นของทุกคนได้จริงๆ 

ภายในระยะเวลาราวหนึ่งปีที่ผ่านมา Urban Ally ได้เดินหน้าชวนผู้คนมาเปลี่ยนแปลงเมืองผ่านกระบวนการค้นคว้า ทดลองทำ และพูดคุยกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเมืองด้วยเช่นกัน

ปิยาเล่าว่า การได้ลองขี่จักรยานข้ามคันกระโดดในซอกซอยตามชุมชนเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจผลกระทบของการออกแบบเมืองมากขึ้น ว่าการแก้ปัญหาหนึ่ง อาจจะสร้างอีกปัญหาได้เช่นกัน “เราได้ประสบการณ์ทุกครั้ง จากการพบปะเจอคนใหม่ๆ ได้คุยกับคน ไปสำรวจกายภาพจริงๆ ด้วยตัวเอง ทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้นว่าทุกเส้นที่เราเขียน ทุกระยะที่เราออกแบบ ส่งผลต่อคนที่มาใช้งาน เราจึงอยากผลักดันให้การออกแบบเมืองมันจับต้องได้ อยากทำ Feedback Loop ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ มีแบบแผน เพื่อให้ทำงานออกแบบที่รองรับความต้องการของคนในพื้นที่ได้จริงๆ” ปิยากล่าว

อ.พีรียามองว่าตัวเองกล้าที่จะร้องขอความร่วมมือจากคนอื่นมากขึ้น เพราะมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นจากการลงมือทำ “แต่ก่อนเราเป็นคนไม่กล้าขออะไรใคร แต่เมื่อเรากล้าที่จะพูดตรงๆ กล้าบอกว่าเราจะทำสิ่งนี้เพื่ออะไร มันจะดียังไง เมื่อเราเข้าไปหาคนอื่นด้วยความชัดเจน เขาก็จะเปิดใจกับเรามากขึ้น คิดว่าอันนี้ เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้เยอะมากใน 1 ปีที่ผ่านมา” 

“ผมมีความหวังมากขึ้น มาทำตรงนี้แล้วมันมีหวังจากมุมเล็ก ๆ ที่ใกล้ตัว เป็นจริงได้ ไม่ได้นั่งรอว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลงน้อ รู้สึกว่าเราเริ่มทำได้ เปลี่ยนไปด้วยกันได้ เราจะพูดกับทุกคนเสมอว่า อยากทำอะไรทำเลยนะ ใช้ความเป็น Urban Ally จุดประกายลองทำสิ่งนั้นไปด้วยกัน” อ. สิงหนาททิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นมิตร และมีความหวังกับเมือง

ต้นปี พ.ศ. 2566 นี้ เตรียมตัวพบกับเทศกาลใหญ่ใหม่ล่าสุดของ Urban Ally ในย่านบำรุงเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยชุมชนเก่าแก่อย่างชุมชนบ้านบาตร ชุมชนเฟื่องทอง ซึ่งยังเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่สร้างสรรค์สินทรัพย์เชิงวัฒนธรรมและเชิงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ต่อยอดและเพิ่มคุณค่าได้ ชวนให้ทุกคนมาผูกมิตร และบำรุงเมืองให้ดีขึ้นไปด้วยกัน และติดตามกิจกรรมที่เป็นมิตรกับเมืองได้ตลอดทั้งปี ที่เว็บไซต์ https://www.urbanally.org

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ