Unko Museum ปฏิบัติการปลดปล่อยอุนโกะออกจากค่านิยมที่ถูกปิดตายด้วยความสนุกสดใสของเด็กสาว

Highlights

  • นี่คือมิวเซียมอึ ณ ชั้น 2 ของตึก Asobuild ซึ่งอยู่ติดกับสถานีโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ความบันเทิงจากน้องอึนี้เริ่มต้นจากสองโปรดิวเซอร์มือฉมัง Ryohei Koda จากบริษัท Kayac และ Masaru Kobayashi จาก Akatsuki Live Entertainment ซึ่งรับหน้าที่สร้างสถานบันเทิงให้กับชั้น 2 ของอาคาร Asobuild ซึ่งย่อมาจาก Asoberu Building ซึ่งแปลว่าอาคารที่สามารถมาเล่นสนุกได้
  • เพราะพูดคุยกันเรื่องอึในที่สาธารณะไม่ได้ เลยอยากพาอึออกจากโลกแห่งค่านิยมเดิมๆ ที่ถูกปิดตาย พวกเขาจึงสร้างอึแบบโพสต์โมเดิร์นขึ้นมาเสียเลย
  • และก็ไม่ใช่เล่นๆ เพราะอึสายแบ๊วของสองโปรดิวเซอร์ถูกใจมหาชนเข้าอย่างจัง เปิดมิวเซียมได้เพียงสัปดาห์เดียวมีคนไปทะลุ 10,000 คน และยอดผู้มาเยี่ยมชมเกิน 100,000 คนไปแล้วภายในเวลา 2 เดือนครึ่ง แถมพวกเขายังพาอึออกทีวีและมีสื่อต่างชาติมาสัมภาษณ์ไม่น้อย

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อเพื่อนสาวส่งรูป ‘อึ’ มาให้ทางอินสตาแกรม

เปล่า เพื่อนไม่ได้แกล้งหรือเกลียดกัน จริงๆ แล้วเธอคือสาวติสท์ที่ชื่นชอบงานศิลปะ

ใช่ อึที่เพื่อนส่งมาคืองานศิลปะ มันคือส่วนหนึ่งของ Unko Musuem สุดคิวต์แสนคาวาอี้ที่เห็นแล้วต้องรีบพุ่งตัวไปดูของจริง!

ณ ชั้น 2 ของตึก Asobuild ซึ่งอยู่ติดกับสถานีโยโกฮาม่า สตาฟที่นี่ต้อนรับเราด้วยความคึกคักระดับเดียวกับดิสนีย์แลนด์ สิ่งแรกที่เธอขอให้เราและผู้มาเยี่ยมชมรอบเดียวกันคนอื่นๆ ทำก่อนเข้าไปข้างในคือ การตะโกนออกมาสุดเสียงพร้อมกันว่า

“อุนโกะะะะะะะะะะะะ”

อุนโกะ แปลว่า อึ, ขี้

แน่นอนว่า เสียงแผ่วเวอร์ อาจจะเพราะรอบนี้มีแต่สาวๆ ทั้งนั้น แต่ละคนยิ้มเขินไปมาให้ความร่วมมือแบบเสียไม่ได้ จนพนักงานต้องร้องนำด้วยเสียงอันดังเพื่อบิลด์อยู่หลายรอบ ก่อนจะปล่อยหมัดเด็ดว่า

“ถ้ายังเขินตั้งแต่ตรงนี้ เข้าไปข้างในไม่รอดแน่ๆ ค่ะ”

บทความนี้ก็เช่นกัน หลังจากนี้จะเต็มไปด้วยภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับน้องอึล้วนๆ หากขวัญอ่อนหรือขี้อายขอให้อ่านในที่ลับ หรือจะตะโกนดังๆ ว่าขี้ เตรียมใจก่อนอ่านก็ไม่ว่ากัน

และแล้วพนักสาวก็ยอมแหวกม่านให้เข้าไปสู่ด่านสุดโหด my unko maker

พวกเราต้องนั่งลงบนส้วมจิ๋วสีสดใสและทำท่าเบ่งอึในที่สาธารณะอย่างพร้อมเพรียง หลังเสียงกดน้ำดังขึ้น เมื่อลุกขึ้นมาจะพบว่ามีน้องอึสีพาสเทลนอนนิ่งๆ เป็นรางวัลแห่งความพยายาม พนักงานแจกไม้ให้พวกเราอย่างเริงร่า พร้อมบอกให้หยิบน้องในโถมาเสียบถือเป็นพร็อพสำหรับการชมพิพิธภัณฑ์…

มาถึงจุดนี้ เรารู้สึกห้าวหาญอย่างประหลาด

เมื่อปลดปล่อยความเขินอายทิ้งไปหมดแล้ว หลังจากนี้ก็ใช้ความขี้เล่นไปเล่นขี้ได้อย่างสบายใจ

การพาอึหนีออกจากโลกที่ถูกปิดตาย

untertainment หรือความบันเทิงจากน้องอึเริ่มต้นมาจากความร่วมมือของ 2 โปรดิวเซอร์มือฉมัง Ryohei Koda จาก บริษัท Kayac และ Masaru Kobayashi จาก Akatsuki Live Entertainment ซึ่งรับหน้าที่สร้างสถานบันเทิงให้กับชั้น 2 ของอาคาร Asobuild ซึ่งย่อมาจาก Asoberu Building หมายถึงอาคารที่เราสามารถมาเล่นสนุกได้ ด้วยความที่บริษัท Kayac มีความคุ้นเคยกับการละเล่นธีมอึมาก่อนแล้ว เช่น unko-enzan แอพเกมสอนนับเลขด้วยอึสำหรับเด็กประถม เรียวเฮจึงคิดว่าโปรเจกต์นี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดความบันเทิงชนิดก้อน ซึ่งมาซารุก็เห็นดีเห็นงามด้วย

“สมัยก่อนคนญี่ปุ่นใกล้ชิดกับอึมากกว่านี้ เราใช้ห้องน้ำแบบดั้งเดิม ใช้อึทำปุ๋ยด้วย พอห้องน้ำไฮโซขึ้น อยู่ๆ อึก็กลายเป็นเรื่องไกลตัว ตอนเด็กๆ แค่มีคนพูดคำว่าอุนโกะก็หัวเราะก๊ากแล้ว แต่โตขึ้นมามันกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม คุยกันเรื่องอึในที่สาธารณะไม่ได้ ผมเลยอยากพาอึออกจากโลกแห่งค่านิยมเดิมๆ ที่ถูกปิดตาย สร้างอึแบบโพสต์โมเดิร์นขึ้นมา”

เมื่อทั้งสองตั้งใจสร้างค่านิยมใหม่เกี่ยวกับอุนโกะ จึงต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คนจะได้สัมผัส รวมไปถึงความรู้สึกก่อนและหลังการเยี่ยมชม จนนำมาสู่ untertainment หลายรูปแบบทั้ง unstagenic อึที่ถ่ายรูปขึ้น, unteractive อึที่มีการตอบสนองกับผู้รับชม และ untelligence อึที่ให้ความรู้ เรียกได้ว่ามีอึทุกรูปแบบเพราะพวกเขาอยากให้มุมมองที่มีต่ออึของคนที่มาที่นี่เปลี่ยนไป ที่น่าประทับใจเป็นพิเศษคือ แม้แต่เพลงที่เปิดบิลด์ในงานก็ตั้งใจโปรดิวซ์อย่างเต็มที่ แม้จะมีให้ฟังใน Spotify แต่ก็มีคนซื้อซีดีเพลงกลับไปเป็นที่ระลึกด้วย

สิ่งเดียวที่ทั้งสองกังวลในตอนแรกคือ ผู้ใหญ่จะยอมให้ทำมิวเซียมอึง่ายๆ หรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อ COO ของมาซารุเดินผ่านโต๊ะทำงานของเขาและเห็น proposal เรื่อง Unko Musuem เขาถึงกับออกปากเองว่า

“นี่มันขี้นี่ เอาสิ ทำเลย!”

เป็นอึยุคใหม่ต้องถูกใจเด็กสาว

เรียวเฮและมาซารุมองว่า อุนโกะเป็นคอนเทนต์ที่สตรองมากเพราะทุกคนรู้จักร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เราไม่เคยเห็นคนอื่นตอนอึ ดังนั้นความทรงจำเกี่ยวกับอึทั้งหมดจึงมีแต่ของส่วนตัว แต่ละคนจึงน่าจะมีความคิดเกี่ยวกับอึต่างกัน ทั้งสองจึงอยากดึงความเก๋ของอึออกมาสร้างคอนเทนต์แปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำ

“ถ้าวิเคราะห์ให้ลึก ผมว่าเรื่องอุนโกะเป็นเหมือนวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นอยู่แล้วนะ ตัวอย่างเช่น อาราเล่จังจากเรื่อง ดร.สลัมป์  กับหนูน้อยอาราเล่ ถึงจะไม่แน่ใจว่านับเป็นวัฒนธรรมได้หรือเปล่า แต่เอาเป็นว่าอุนโกะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนญี่ปุ่นก็แล้วกัน” โปรดิวเซอร์หนุ่มว่าไว้

คอนเซปต์ของมิวเซียมที่ทั้งสองกำหนดไว้คือ การปลดปล่อยอึ ​(การทำให้คนกล้ามาดูอึอย่างสบายๆ คุยกันเรื่องนี้ได้โดยไม่เคอะเขิน), การทำให้อึสนุก, การไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิม และ untithesis (เล่นคำจากคำว่า antithesis ที่แปลว่าการต่อต้าน, สิ่งที่อยู่ตรงข้าม)

แต่การทำไอเดียให้เป็นรูปธรรมนั้นยากกว่าที่คิด หลังจากเก็บตัวเข้าค่ายระดมสมองกับทีมงานจากทั้งสองบริษัท พวกเขาค้นพบว่าความสนุกเกี่ยวกับอึของแต่ละคนแตกต่างกันมาก จึงต้องถกกันอย่างลึกซึ้งเพื่อหาจุดที่ลงตัว บางอย่างอาจจะดูเหมือนเป็นไอเดียที่ดี แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามันคือความสนุกจากกรอบความคิดเรื่องอึแบบเดิมๆ เช่น ความสกปรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการสลัดทิ้ง ไอเดียพวกนั้นจึงตกไป

ส่วนสิ่งที่ทำให้ไอเดียไหลพรวดๆ คือ การเปลี่ยนทาร์เก็ตจากเด็กน้อยเป็น ‘เด็กสาว’

ตอนแรกพวกเขามองว่ามีแต่พวกเด็กๆ ที่ชอบเล่นกับอึ ถ้าทำอะไรธีมนี้ออกมา ขายเด็กได้แน่นอน รูปแบบที่คิดไว้เลยเป็นเกมเดินเหยียบอึสนุกๆ แต่เมื่อความตั้งใจหลักคือการเปลี่ยนมุมมองของคนที่มาด้วยการพาอึเกินขอบเขตของจิตสำนึกทั่วไป ทาร์เก็ตที่แท้จริงควรจะเป็นสาว ม.ปลาย หรือนักศึกษามหา’ลัยต่างหาก!

“ถ้าเราให้สาวๆ วัยรุ่นมาที่นี่แล้วรู้สึกสนุกได้ คนกลุ่มนี้จะช่วยโปรโมตให้ฟรีๆ ด้วยการลงรูปตามช่องทางต่างๆ คนต่างเพศต่างวัยเห็นก็น่าจะคิดว่าตนเองก็น่าจะมาที่นี่แล้วสนุกด้วยเช่นกัน”

“สิ่งสำคัญในการเอาใจสาวๆ ที่เป็นทาร์เก็ตคือ การจัดมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่เปิดกว้างให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดท่า คิดมุม ซึ่งได้ผลดีมาก ผมเห็นสาวๆ ครีเอตไอเดียถ่ายรูปสนุกๆ กันเพียบเลย และพอคนอื่นเห็นไอเดียดีๆ ก็อยากถ่ายแบบนั้นบ้าง” เรียวเฮและมาซารุช่วยกันอธิบาย

เราว่าทั้งสองตีโจทย์เรื่องทาร์เก็ตแตกละเอียดยิบ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนในมิวเซียมวันที่เราไปคือสาวๆ แถมยังมีคู่รักมาเดตกันไม่น้อย การสร้างพื้นที่ให้ชายหญิงชาวญี่ปุ่นที่แสนขี้อายมาชื่นชมอึด้วยกันได้ ขอกรี๊ดว่าสุโก้ยให้ดังๆ สามที

“ตอนผมเห็นเด็กสาวน่ารักๆ ลงไปนั่งเล่นในบ่อภูเขาอึระเบิด (unko valcano) แล้วยกอึมาถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน ผมก็คิดว่าพวกเราประสบความสำเร็จแล้วครับ”

โลกของอึคาวาอี้สีพาสเทลกับการปลดปล่อยทุกข์บำรุงสุข

การสร้างโลกที่คนและอึอยู่ร่วมกันได้ด้วยรอยยิ้มไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมีคอนเซปต์ที่แข็งแรงและทาร์เก็ตที่แน่นอนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างคีย์วิชวล เรียวเฮและมาซารุบินตรงไปลอสแอนเจลิสเพื่อหาไอเดียจนได้เรียนรู้เรื่องสำคัญหลายอย่าง เช่น งานที่สนุกคืองานที่สนุก, ต้องสร้างมุมถ่ายรูปที่เข้าใจง่าย สวยง่าย องค์ประกอบดี ถ่ายรูปสนุกมากกว่าการถ่ายรูปกับแบ็กราวด์สองมิติทั่วไป, เพลงต้องสนุก ช่วยให้คนคึกคักตลอดเวลา และต้องจัดให้ปังตั้งแต่ทางเข้า

“สิ่งสำคัญที่เรียนรู้มาจากอเมริกาคือ ความสนุกเกิดจากสตาฟช่วยบิลด์เยอะมาก ทางเข้าของ Unko Museum จึงจัดเต็มเช่นกัน ต้องสร้างความครื้นเครง ต้องสื่อสารให้ได้ว่าคนที่มาจะสนุกกับงานนี้ได้ยังไงบ้าง และพวกเขากำลังจะได้เจอกับอะไร ปกติงานนิทรรศการของญี่ปุ่นจะไม่บิลด์อารมณ์แรงตั้งแต่แรกแบบนี้ แต่สำหรับงานนี้เราต้องพึ่งพาการสื่อสารของสตาฟหน้างานเยอะมากเพื่อให้คนหายเขินและรู้สึกว่าหลังจากนี้สนุกแน่ๆ ” ทั้งสองอธิบายที่มาของการละลายพฤติกรรมผู้เข้าชมด้วยการตะโกนว่าอุนโกะและการนั่งอึพร้อมกัน

ต้องยอมรับเลยว่านั่นคือการวอร์มที่ดีมาก เพราะหลังจากนั้นเราสนุกไปกับทุกโซนโดยลืมไปเลยว่ากำลังเล่นขี้อยู่ พาร์ตที่เพลินมากคือเกมไล่เหยียบอุนโกะเก็บแต้มตามจังหวะเพลง และการกรีดร้องตะโกนว่า ‘อุนโกะ’ อีกครั้งในห้องที่มีไมค์คอยวัดเลเวลความอึของคุณ หลังตะโกนจะมีอึมด อึช้าง หล่นลงมาในจอเพื่อแสดงผล ภาพสาวๆ และเด็กๆ ยืนเรียงกันตะโกนว่าอุนโกะอย่างสนุกสนานช่างน่าประทับใจ บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ลูกอ่อนดูเหมือนจะใช้ห้องนี้ระบายความอัดอั้นในใจไปในตัว

“ที่นี่เป็นที่แรกที่ให้โอกาสเราซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง เช่น เขิน? ชอบ? โล่ง? พวกเราอยากให้คนที่มาได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านี้โดยไม่ต้องลังเล”


ดูเหมือนว่าโลกของอึสายแบ๊วที่สองโปรดิวเซอร์สร้างขึ้นจะถูกใจมหาชนเข้าอย่างจัง เพราะเปิดมิวเซียมมาได้เพียงสัปดาห์เดียว มีคนมาทะลุ 10,000 คน และยอดผู้มาเยี่ยมชมเกิน 100,000 คนไปแล้วภายในเวลา 2 เดือนครึ่ง พวกเขาสามารถพาอึออกทีวีและมีสื่อต่างชาติมาสัมภาษณ์ไม่น้อย

“ผมคิดว่าที่มันประสบความสำเร็จและเป็นที่พูดถึงขนาดนี้เพราะความกล้าที่จะเลือกทำธีมอุนโกะโดยใช้คอนเซปต์การเปลี่ยนมุมมองจากค่านิยมเดิม และใส่องค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้งานนิทรรศการประสบความสำเร็จลงไป” เรียวเฮเล่าพร้อมบอกว่าหลังจากนี้คงมั่นใจมากขึ้นที่จะดันคอนเทนต์อึสู่ความบันเทิงรูปแบบใหม่

“ถ้ามีไอเดียดีๆ แล้วเราต้องไปให้สุดโดยไม่ยอมแพ้กลางทาง แล้วทุกคนจะสนุกไปกับเราเองครับ ผมว่านี่คือความสุขสูงสุดในการทำงาน”

“ถ้าผู้ใหญ่จริงจังกับเรื่องเล่นๆ โลกใบนี้ต้องสนุกขึ้นแน่นอนครับ” มาซารุทิ้งท้าย

AUTHOR