UNCOMMON TYPE เรื่องเล่าจากแป้นพิมพ์ โดย ทอม แฮงก์ส คุณลุงผู้เป็นที่รักของคนทั้งโลก

Highlights

  • UNCOMMON TYPE คือหนังสือเล่มแรกของนักแสดงชื่อดังอย่างทอม แฮงก์สที่รวบรวมเรื่องสั้นไว้ถึง 17 เรื่อง
  • เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่กว่า 400 หน้านั้นมีหลายแนวหลากสไตล์แต่ล้วนมีความโดดเด่นและมีชีวิตเป็นของตัวเอง
  • แต่ละเรื่องราวถูกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาที่ต่างกัน บ้างดราม่า บ้างตลกขำขัน บ้างตื่นเต้นลุ้นระทึก บางเรื่องมาแปลก โผล่มาเป็นคอลัมน์หนังสือพิมพ์ บางเรื่องมาเป็นบทละคร
  • ภาษาที่ใช้ก็เหลือร้ายแฮงก์สนั้นแม่นยำอย่างยิ่งในการเลือกใช้คำทั้งการบรรยายบทสนทนาไม่มีแม้แต่ตัวอักษรเดียวที่ถูกใส่เข้ามาอย่างเปลืองเปล่า
  • เหล่านี้คือเทคนิคแพรวพราวที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดแรกเล่มนี้

ทอม แฮงก์ส เขียนหนังสือ!

ประโยคข้างต้นเป็นต้องปรากฏขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเอ่ยอ้างหรือเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ เป็นพื้นฐานอันพึงกระทำ เหมือนที่เราต้องใส่กระดาษลงไปในเครื่องพิมพ์ดีดก่อนเริ่มละเลงตัวอักษร

โดยปกติ เมื่อดาราหรือคนดังสักคนเบนเข็มจากงานแสดงเข้าสู่วงการน้ำหมึก ส่วนใหญ่ผลงานของเขาหรือเธอมักจะออกมาในรูปแบบของอัตชีวประวัติ การเปิดโปงชีวิตส่วนตัวหลังจอเงินจอแก้ว

แต่ทอม แฮงก์ส มาแปลก เพราะหนังสือเล่มแรกของเขาเป็นเรื่องสั้น

ลุงแฮงก์สคนดีคนเดิมที่เราเห็นและหลงรักตัวละครของเขาจากภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ทั้งนาย Forrest Gump, กัปตัน Miller ใน Saving Private Ryan, Chuck Noland ใน Cast Away, Viktor Navorski ใน The Terminal, ศาสตราจารย์ Robert Langdonใน The Da Vinci Code, Angels & Demons และ Inferno และอีกหลากหลายบทบาท ที่ส่งให้เขาเป็นนักแสดงมือรางวัลและคนดีศรีฮอลลีวูดที่คนทั้งโลกรักใคร่ วันนี้เขยิบตัวเองมาเขียนเรื่องสั้น 

รู้ดังนั้น ทันทีที่หนังสือเล่มนี้เดินทางมาถึงมือเรา จึงไม่ต้องรีรออะไรกันอีกต่อไป เราเลือกที่จะทิ้งตัวลงไปในเรื่องเล่าของคุณลุงแฮงก์สทันที

ความประทับใจแรกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้คือความหนา ถ้าคุณไม่ใช่นักเขียนเรื่องสั้นมือเก๋าอย่าง Ernest Hemingway, Shirley Jackson, Alice Munro น้อยนักที่รวมเรื่องสั้นของคุณจะมีความหนาถึง 400 กว่าหน้า แต่ทอม แฮงก์ส ทำได้ เรื่องสั้น 17 เรื่องที่บรรจุอยู่ในหน้ากระดาษเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่า ความรักและไฟในการสร้างสรรค์ที่เขามีให้การเขียนนั้นไม่น้อยไปกว่าที่เจ้าของรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำผู้นี้มีให้กับการแสดง

เรื่องสั้นใน UNCOMMON TYPE: some stories นั้นมีหลายแนว หลากสไตล์ แต่ล้วนมีความโดดเด่นและมีชีวิตเป็นของตัวเอง กลุ่มเพื่อนที่เดินทางไป-กลับดวงจันทร์ ทำยังกับไป-กลับกรุงเทพฯ – เชียงใหม่, แม่บ้านที่มีพลังปิ๊ง! เห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้ แม่นบ้าง ไม่แม่นบ้าง, นักธุรกิจที่ใช้บริการเดินทางข้ามเวลาไปในวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1939 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า, นักแสดงตัวประกอบที่ได้แสดงหนังร่วมกับซูเปอร์สตาร์สาวสุดฮอต, นักข่าวรุ่นดึกที่โหยหาวันเวลาเก่าๆ ช่วงเวลาที่ดิจิทัลยังไม่เข้ามาทำให้ทุกสิ่งในชีวิตของเขาหกคะเมนไม่เป็นท่า เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาที่ต่างกัน บ้างดราม่า บ้างตลกขำขัน บ้างตื่นเต้นลุ้นระทึก บางเรื่องมาแปลก โผล่มาเป็นคอลัมน์หนังสือพิมพ์ บางเรื่องมาเป็นบทละคร ชุดตัวละครจากเรื่องแรกก้าวเข้าฉากอีกครั้งในเรื่องที่เจ็ดและปิดม่านในเรื่องสุดท้าย เหล่านี้คือเทคนิคแพรวพราวที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอในรวมเรื่องสั้นชุดแรกในชีวิต ไม่ว่าจะมาจากใครก็ตาม

เรื่องภาษาก็เหลือร้าย ทอม แฮงก์ส นั้นแม่นยำอย่างยิ่งในการเลือกใช้คำ ทั้งการบรรยาย บทสนทนา ไม่มีแม้แต่ตัวอักษรเดียวที่ถูกใส่เข้ามาอย่างเปลืองเปล่า ทุกถ้อยคำกระชับ ฮุก และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ลักษณะนิสัยของผู้พูดได้เป็นอย่างดี จนตัวละครของลุงแฮงก์สนั้นดูมีเลือดเนื้อจริงๆ และทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้มีชีวิตชีวา เหมือนเราได้นั่งฟังจากปากของผู้ใหญ่ใจดีสักคนที่มีการเล่นน้ำเสียงสูง-ต่ำ และเมื่อแต่ละเรื่องจบลง มันก็ทิ้งความรู้สึกอันหลากหลายไว้ในใจเรา บ้างสุขสม บ้างเจ็บปวดบาดลึก บ้างตั้งคำถามสำคัญให้เราต้องขบคิดหลังจากนั้น

(หรือถ้าคุณอยาก ‘ฟัง’ เรื่องเล่าเหล่านี้จริงๆ เราขอแนะนำให้คุณเลือกฟังหนังสือเล่มนี้ผ่านออดิโอบุ๊ก ซึ่งทอม แฮงก์ส ลงแรงอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเขาเองให้คุณฟังแบบสุดเอกซ์คลูซีฟเลยล่ะ)

ความเข้าใจในรายละเอียดและอารมณ์ของตัวละครนั้นเป็นโบนัสที่แฮงก์สได้มาจากหลากบทบาทที่เขาแสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง บางเรื่องเราจะเห็นได้ชัดเจน เช่น บทบาทผู้พันมิลเลอร์ ทำให้เขาเข้าใจสภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างชัดแจ้ง และบรรยายออกมาในเรื่อง คริสต์มาสอีฟปี 1953 ได้อย่างสมจริง

การที่เขาเคยใส่ชุดนักบินอวกาศขึ้นไปยังดวงจันทร์ ในหนังเรื่อง Apollo 13 ทำให้เขาเขียนถึงทริปจากโลกสู่ดวงจันทร์ตั้งแต่การสวมชุดยันแลนดิ้งได้อย่างตื่นเต้น น่าติดตามจนเราวางไม่ลง

หรือบทภาพยนตร์นับสิบนับร้อยที่ผ่านตาเขา ก็ทำให้เขาเขียนเรื่อง อยู่กับเรานะ ในรูปแบบบทภาพยนตร์ได้อย่างลื่นไหลชนิดเห็นภาพแบบฉากต่อฉาก

และยังมีสิ่งละอันพันละน้อยอีกมากที่ลุงแฮงก์สหยิบจับจากประสบการณ์การเป็นนักแสดงกว่า 40 ปี มาปรุงแต่งให้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องส่องประกายและทำให้เราประทับใจได้ทุกเรื่อง

มาถึงรายละเอียดเล็กน้อยหากสำคัญจนไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์ดีดคือของสะสมที่คุณลุงแฮงก์สรักเป็นชีวิตจิตใจ (เขามีเครื่องพิมพ์ดีดกว่า 250 เครื่อง และ 90 เปอร์เซ็นต์ในนั้น ‘ทำงานได้อย่างเพอร์เฟกต์’) เครื่องพิมพ์ดีดจึงมีบทบาทในทุกๆ เรื่อง บ้างรับบทพระเอก บ้างพระรอง บ้างนักแสดงสมทบ บ้างมาในรูปแบบ cameo (บทเล็กๆ โผล่มาแบบแปบๆ) แต่ตลอดทั้ง 17 เรื่องนั้น จะขาดเครื่องพิมพ์ดีดของรักของลุงไปไม่ได้ ซึ่งการตามหาเจ้าวัตถุโบราณที่ซุกซ่อนอยู่ในแต่ละบรรทัดนั้นก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง (นักเขียนบางคนจะถูกถามว่าเขาเขียนงานยังไง ด้วยคอมพิวเตอร์หรือปากกา แต่กับทอม แฮงก์ส เราว่าทุกคนน่าจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าเขาเขียนงานด้วยอะไร)

แต่ละหน้าดำเนินผ่านอย่างรวดเร็ว เพลิดเพลินกับทุกตัวอักษรไม่ทันไร หน้าสุดท้ายก็เดินทางมาถึง

หลังอ่านจบ เราทำได้เพียงปิดหนังสือลงอย่างอาวรณ์ ด้วยอยากให้เรื่องราวเหล่านี้ดำเนินเรื่อยไปอย่างไม่สิ้นสุด ก็การที่คุณลุงใจดีนักแสดงดังจะบรรจงหยิบเครื่องพิมพ์ดีดแสนรักมาเคาะแป้นพิมพ์ประดิษฐ์เรื่องราวน่าประทับใจให้อ่านแบบนี้ใช่จะมีกันบ่อยๆ เสียเมื่อไหร่ รู้ตัวอีกที เราก็แทบทนรอที่จะอ่านผลงานเล่มต่อไปของทอม แฮงก์ส แทบไม่ไหว

หรือถ้าลุงนึกสนุก อยากขึ้นเวทีนวนิยาย ถึงตอนนั้นก็ขอเป็นอีกคนที่สนับสนุนสุดตัวอยู่เงียบๆ ตรงนี้ก็แล้วกัน


ชื่อหนังสือ: UNCOMMON TYPE: some stories – พิมพ์ (ไม่) นิยม
ผู้เขียน: ทอม แฮงก์ส
สำนักพิมพ์: a book

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่