ฝนที่ตกทางโน้นหนาวถึงคนทางนี้ไหม ความหมายของสายฝนและการบอกรักในวรรณคดีสันสกฤต

Highlights

  • อินเดียมีเทพเจ้าชื่อว่าปรรชันยะเป็นเทพเจ้าแห่งสายฝน มีวัวเป็นสัญลักษณ์ และน้ำนมของวัวก็คือสายฝนที่ประทานลงมาหล่อเลี้ยงผืนดินและสรรพสัตว์ให้งอกงาม
  • ในวัฒนธรรมอินเดียมีคำว่า วสฺส-วรฺษ หรือ พรรษา หมายถึงช่วงเวลา 3 เดือนของฤดูฝน
  • หน้าฝนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการงอกงามของเหล่าพืชพรรณ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์หยุดอยู่นิ่ง อยู่ในที่ร่ม กิจการต่างๆ ระงับลงชั่วคราว ไม่ว่าจะการศึก การเดินทาง และการค้าขาย การอยู่ในร่มจึงเป็นเวลาของการได้ชมฝนไม่ว่าจะมีคู่ครองหรือไม่ก็ตาม
  • เมฆทูต บทกวีว่าด้วยความรักและการฝากฝังความรู้สึกรักไปกับก้อนเมฆ นับเป็นความโรแมนติกในวรรณคดีสันสกฤต

ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท คนที่รักในสายฝน หรือไม่ก็คนที่อาจจะเบื่อหน่าย เกลียดกลัวสายฝนไปเลย ในฐานะคนเมืองเราอาจไม่ค่อยรักสายฝนนัก แต่การมาถึงของสายฝนเป็นสิ่งที่ทุกสรรพชีวิตบนโลกรอคอย ฝนเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพ เราปรารถนาและบูชาให้สายฝนตกต้องตามฤดู ในขณะเดียวกันก็อ้อนวอนให้ทวยเทพอย่าประทานฝนที่คลุ้มคลั่งจนเกินไป

นอกจากเป็นสัญญาณของวงจรอันสมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์แล้ว สายฝนยังเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความรู้สึก สายฝนทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดลง เราต่างมีห้วงเวลาที่นั่งเงียบๆ อยู่บนที่นอน ฟังเสียงของสายฝนและนึกไปถึงใต้ฟ้าอีกฝั่ง อีกด้านของเมือง ของประเทศ ที่เราเองก็ทึกทักว่าสายฝนจากแผ่นเมฆอันไพศาลเองก็กำลังนำบรรยากาศ นำความรู้สึกแบบเดียวกันไปสู่อีกฝ่าย จึงไม่แปลกเลยที่เราจะรู้สึกถึงความรักในวันที่ฝนกำลังตก

เรามองท้องฟ้าแล้วส่งข้อความไปไถ่ถามว่าฝนตกไหม เมื่อฝนตกแล้ว คิดถึงแบบเดียวกันหรือเปล่า ฝนคือตัวแทนของความอาทร ของสุขภาพทั้งกายและใจของกันและกัน ไม่นับฉากอันแสนเชยอย่างการวิ่งหลบฝนหรือการอยู่ใต้ร่มคันเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้จริง สายฝนจึงเป็นสัญญาณของห้วงเวลาอันแสนพิเศษ และเป็นเช่นนั้นตั้งแต่ครั้งโบราณมาในความคิดแบบสันสกฤต ฤดูฝนเป็นฤดูของคนรัก สายฝนที่พุ่งลงสู่พื้นดินถูกเปรียบกับศรของคู่รัก ใน เมฆทูต บทกวีอันหมดจดของกาลิทาสนั้น ยักษ์ก็ได้ฝากข้อความไปกับเมฆฝนถึงนางอันเป็นที่รัก

เวลาเราพูดถึงฝน แม้จะเป็นคำเดียวกัน ทว่าฝนในแต่ละประเทศ ในแต่ละภูมิภาค ในแต่ละช่วงเวลา ก็ไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ สายฝนในยุโรปกับฝนในพื้นที่มรสุมเขตร้อนของเราก็เป็นคนละอย่าง ดังนั้นการมองความหมายของสายฝน หากมองจากมุมในทางตะวันออกหน่อย เราก็อาจจะพอเห็นความหมายว่าทำไมสายฝนถึงได้โรแมนติกนัก และเหล่านักคิด กวี เรื่องเล่าตำนานโบราณ พูดถึงฝนไว้ยังไง

 

ปรรชันยะ เทพบดีแห่งสายฝน ผู้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตใน 12 เดือน

มองย้อนไป เทพแห่งฟ้าฝนของฮินดูค่อนข้างแปลก คือเป็นเทพที่ได้รับการพูดถึงน้อย ทั้งๆ ที่ชาวอารยันเองต่างต้องพึ่งพาฟ้าฝนเพื่อให้การเกษตรของตนงอกเงยและหล่อเลี้ยงอาณาจักรต่อไป ที่อินเดียมีเทพเจ้าชื่อว่า ปรรชันยะ เป็นเทพเจ้าแห่งสายฝน แต่อินเดียมีความหลากหลายและมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก เทพเจ้าก็มีเยอะ แถมยังมีการขึ้น-ลง เฉลิมฉลอง แตกต่างกันไป

ในยุคก่อนๆ ถ้าเราพูดถึงพระอินทร์ในทางฮินดูก็ถือว่าเทพบดีองค์สำคัญ ในยุคพระเวทนั้นเรียกได้ว่าพระอินทร์รุ่งเรือง ได้รับการบูชามากที่สุด ซึ่งยุคหลังๆ ด้วยวีรกรรมและการชอบดื่มสุราก็ทำให้พระอินทร์เริ่มถูกลดลำดับความสำคัญไป แต่ด้วยความที่พระอินทร์ป๊อปมากๆ และท่านเองก็เป็นเทพบดีของเทพยดาทั้งปวง มีสายฟ้าเป็นอาวุธ–ทำนองเดียวกับซุส เมื่อพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่มากับสายฟ้า–ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทรงอำนาจที่สุด–ฝนก็เลยเบลอๆ ไปกับฟ้า และในระยะหลังฝนเลยรวมตัวเข้ากับพระอินทร์ไปเสียเลย

กลับไปที่พระปรรชันยะ แน่นอนว่าพระปรรชันยะเป็นเทพแห่งสายฝน มีวัวเป็นสัญลักษณ์ และน้ำนมของวัวก็คือสายฝนที่ประทานลงมาหล่อเลี้ยงผืนดินและสรรพสัตว์ให้งอกงามต่อไป แต่เทพปรรชันยะนั้นกลับได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก ในคัมภีร์พระเวทมีบทสรรเสริญเทพแห่งฝนและการเจริญเติบโตเพียง 3 บทเท่านั้น ผศ. ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว แห่งสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าความสำคัญของเทพแห่งฝนนี้คงซ้ำซ้อนกับพระอินทร์ เพราะชื่อปรรชันยะมาจากคำว่า ปฤจฺ แปลว่าการให้ของขวัญ เติมเต็ม เพิ่มพูน ในขณะเดียวกันพระอินทร์ก็มีชื่อหนึ่งว่า มฆวาน แปลว่าประทานของขวัญเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามเทพแห่งสายฝนก็ถือเป็นเทพบดีองค์สำคัญ เป็นเทพชุดแรกๆ ที่สัมพันธ์กับวงจร สัมพันธ์กับวัฏจักร เป็นเทพที่ทรงอำนาจ มีการสวดภาวนาเพื่อขอฝนแต่พอดี ให้ภาพพระผู้ทรงฤทธิ์สถิตอยู่เหนือกระทิง ใช้ลมฝนและพายุทั้งให้คุณและขจัดหมู่มารไปพร้อมกัน

ในคัมภีร์โบราณเองก็พูดถึงพระปรรชันยะหรืออุปลักษณ์ของสายฝน–ฤดูฝนไว้ทั้งใน ภควัทคีตาปุราณะ และ วิษณุปุราณะ (ปุราณะเป็นคัมภีร์ ตำนาน นิทาน เล่าเรื่องกำเนิดสรรพสิ่ง ฮีโร่ต่างๆ) พระปรรชันยะถือเป็นอาทิตฺยเทพ (Ādityas) คือทวยเทพที่เป็นลูกหลานของพระแม่อทิติ เทวีสุริยา มี 12 องค์ ทำหน้าที่อารักขาและทำหน้าที่เดือนทั้ง 12 เดือน เช่น พระอินทร์ทำลายศัตรู พระธาตรี (ธรณี) สร้างสรรพชีวิต พระปรรชันยะทำหน้าที่นำฝนหล่อเลี้ยง โดยรวมก็ยังสะท้อนแนวคิดเรื่องวัฏจักรการเกิด รักษา และทำลาย ตามคาบ 12 เดือน ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิต 1 ปีที่มีเริ่มต้นและสิ้นสุด

 

วรฺษ-พรรษา กับเดือนแห่งฝน และการฝากหัวใจไปกับเมฆฝน

คำว่า ฝน ในวัฒนธรรมอินเดียมีคำว่า วสฺส-วรฺษ ซึ่งเราอาจไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าบอกว่าคือคำว่า พรรษา ก็เข้าเค้าเลย พรรษาหมายถึงช่วงเวลา 3 เดือนของฤดูฝน คำว่า วรฺษ ในอินเดียมีหลายภาษาก็เลยแปรและมีความหมายคล้ายกับพรรษา คือกลายเป็นตัวนับสำคัญที่หมายถึงปีไปเลย คล้ายๆ กับการนับพรรษาของภิกษุ ซึ่งก็หมายถึงรอบ 1 ปีที่จะมีฝนมาสู่ผืนดินครั้งหนึ่ง คือนับปีโดยมีฝนเป็นที่ตั้ง นั่นแปลว่าการมาถึงของฝนในแต่ละรอบปีนั้นสำคัญมากๆ

ฝนมีความหมายแค่ไหนกับมวลมนุษย์และมีความหมายยังไง เราชวนไปดูในวรรณคดีว่าฝนตกแล้วเป็นยังไง สัมพันธ์กับเรื่องราวของผู้คนยังไง ฝนในมุมมองแบบอินเดียนั้นค่อนข้างพิเศษ จริงอยู่ที่ฤดูฝนในสมัยโบราณหมายถึงห้วงเวลาที่ทุกอย่างต้องหยุดลง ใน รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ ของเรา เมื่อจบเรื่องที่เมืองกีษกินธ์หรือขีดขิน (ที่มีพาลีและสุครีพ) พระรามและพระลักษมณ์ก็เดินทางไปอยู่ที่ถ้ำในยอดเขาปรัศรวัน ขณะนั้นก็เข้าฤดูฝนพอดี ไม่เหมาะที่จะยกทัพ ภารกิจตามนางสีดาก็เลยชะงักลงเพราะฝน

หน้าฝนจึงเป็นทั้งช่วงเวลาแห่งการงอกงามของเหล่าพืชพรรณ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์หยุดอยู่นิ่ง อยู่ในที่ร่ม กิจการต่างๆ ระงับลงชั่วคราว ไม่ว่าจะการศึก การเดินทาง และการค้าขายของเหล่าพ่อค้าวาณิช ต่างอยู่ในที่ในทางหรือในบ้านช่องห้องหอของตน การอยู่ในร่มจึงเป็นเวลาของการได้ชมฝนไม่ว่าจะมีคู่ครองหรือไม่ก็ตาม

 

หากพูดถึงความโรแมนติกในวรรณคดีสันสกฤตพ่วงด้วยเรื่องธรรมชาติก็ต้องผายมือไปที่ท่านกาลิทาส รัตนกวีผู้รจนาวรรณคดีสันสกฤตไว้มากมาย โดย 2 ชิ้นจากทั้งหมดพูดเรื่องความรักและธรรมชาติ คือ ฤตุสํหาร และ เมฆทูต บทกวีว่าด้วยความรักและการฝากฝังความรู้สึกรักไปกับก้อนเมฆ ชื่อเรื่อง ฤตุสํหาร มาจากคำว่า ฤตุ หรือฤดู และคำว่า สํหาร แปลว่านำไป พาไป หรือเรียงร้อย โดยรวมคือบทกวีที่สัมพันธ์กับฤดูกาลทั้งหกแบ่งตามคัมภีร์โบราณ คือใบไม้ผลิ (วสนฺต) ร้อน (ครีษฺม) ฝน (ปฺราวฤษ) ใบไม้ร่วง (ศรทฺ) หนาว (เหมนตฺ) และน้ำค้าง (ศิศิระ)

กาลิทาสเองดูจะรักเมฆฝนและมองว่าฝนโรแมนติกไม่น้อย ใน ฤตุสํหาร พูดถึงฤดูฝนในฐานะช่วงเวลาที่ป่าและมวลดอกไม้ได้รับน้ำ ทำให้เกิดความยินดี ดอกไม้ทั้งหลายก็บานสะพรั่งรับน้ำฝน กวีมองว่าสตรีนั้นก็เหมือนผืนแผ่นดิน และฤดูฝนทำหน้าที่เหมือนเหล่าบุปผชาติที่แต่งแต้มประดับประดาผู้หญิงด้วยมาลัยอันหอมหวาน ทั้งยังพูดถึงพลังความรักท่ามกลางพายุฝน กล่าวคือเหล่าสตรีที่กลัวฟ้าฝน เมื่ออยู่กับคนรักก็จะกอดคนรักไว้แน่น ผู้ที่มีรักก็จะใช้แสงแปลบปลาบนำทางตนไปสู่คนที่รักได้โดยปราศจากความเกรงกลัว (อยากหยิก)

ใน เมฆทูต–แค่ชื่อเมฆทูตก็นึกถึงท้องฟ้าแล้ว แต่เมฆทูตหรือก้อนเมฆผู้นำสารแห่งความรู้สึกพูดถึงยักษ์ตนหนึ่งที่ต้องอาญา ถูกริบฤทธิ์และจองจำให้ห่างจากเมียรักเป็นเวลา 1 ปี ในห้วงเวลาของการร้างห่างไกล ยักษ์นั้นก็ได้แหงนหน้ามองฟ้า ฝากคำพรรณนาและความอาทรไปกับก้อนเมฆ

เมฆในที่นี้ไม่ใช่เมฆขาวๆ แต่เป็นเมฆฝน เป็นช่วงเวลาที่ยักษ์ถูกจองจำมาจนถึงฤดูมรสุม คือการจองจำล่วงมาถึงช่วงเดือน Ashadha คือราวกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งช่วงนี้อินเดียก็ฝนตก นอกจากจะถูกจองจำอยู่บนยอดเขามาหลายเดือนแล้ว พอหน้าฝนมาการณ์ต่างๆ ก็เริ่มสงบลง ผู้คนเริ่มเข้าอยู่ในที่ แถมฤดูฝนยังเป็นเครื่องหมายของฤดูรัก ดังนั้นเมื่อกาลิทาส ยักษ์ผู้แสนโรแมนติกเห็นก้อนเมฆดำ ก็นึกและเอื้อนเอ่ยความรัก ฝากฝังก้อนเมฆและลมฝนให้ช่วยหอบเอาความห่วงหาอาทรไปถึงเมียรักที่อยู่ในเมืองอันแสนไกล เมียรักที่คิดถึงเดียวดายจนผ่ายผอม กวีพรรณนาว่าข้อมือของเธอซูบเซียวจนไม่สามารถรักษากำไลข้อแขนไว้ได้ กำไลทองนั้นจึงร่วงหล่นดังเปรื่องปร่างจากความอาดูรของเธอ

สายฝนเองจึงเป็นอีกปรากฏการณ์ที่กระทบกับมนุษย์เราอย่างเป็นสากลและไร้กาลเวลา จากนิทานและกวีรักอายุนับพันปี แม้สายฝนจะทำให้กิจต่างๆ ชะงักลง แต่ฝนนั้นก็ผลักคนเข้าไปสู่พื้นที่พิเศษ ไปสู่ร่มคันเดียวกัน สู่ห้อง สู่หอ สู่โมงยามอันอัศจรรย์ สู่อ้อมแขนของกันและกัน ผลักเราสู่ห้วงแห่งความคิดคำนึง

เมื่อฝนตก…เราก็ได้แหงนหน้ามองฟ้า มองเห็นหมู่เมฆดำที่ร่วมยืนยันว่า อีกด้านของเงาแห่งฝนนั้นยังมีใครบางคนที่คงหยุดมองเมฆฝนอยู่ใต้แผ่นฟ้าเดียวกันกับเรา และบางครั้งเราก็ฝากเอาใจให้เมฆาสีดำและสายลมชุ่มฉ่ำให้ช่วยหอบเอาความคิดถึงพานพัดโอบอุ้มไปสู่หัวใจของใครอีกคน

 

 

อ้างอิง

archive.org

books.google.co.th

cuir.car.chula.ac.th

sacred-texts.com

sanskritebooks.org

so02.tci-thaijo.org

th.m.wikibooks.org

vajirayana.org

vajirayana.org

venetiaansell.wordpress.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

chubbynida

illustrator ที่มี shape เป็นวงกลม คนคิดมาก ติดเกม ชอบฟังเพลงซ้ำเป็นร้อยครั้ง