10 คาเฟ่อุบลฯ ที่น่านั่งโสเหล่ (สุมหัวคุย) ให้ม่วนซื่นจนเบิ่ด (หมด) วัน

Highlights

  • ซีนใหม่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีคือวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแสนคึกคัก ในช่วงปลายปี 2563 มีร้านกาแฟใหม่ๆ ร่วม 10 ร้านเปิดขึ้นพร้อมๆ กัน
  • นี่คือ 10 คาเฟ่ในอุบลราชธานี ที่มีทั้งเรื่องราวของร้าน ประสบการณ์ของคนทำ และเครื่องดื่มที่พวกเขาตั้งใจเลือกให้คนอ่าน a day ได้ตามไปลิ้มลอง

จังหวัดอุบลราชธานีไม่ได้มีดีแค่หมูยอ ก๋วยจั๊บญวน สามพันโบก ผาแต้ม หรือเทศกาลงานแห่เทียนพรรษาประจำปีอีกต่อไป เพราะซีนใหม่ที่เกิดขึ้นคือวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแสนคึกคัก ในฐานะที่เราเคยอยู่อุบลฯ มาร่วม 10 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อื่นในช่วงหลัง แต่ทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้าน เราจะมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดอยู่เสมอ

โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ที่กลับบ้านมาแต่ละทีก็มักจะมองเห็นคาเฟ่เปิดใหม่อยู่เรื่อยๆ หรืออย่างช่วงปลายปี 2563 ก็มีร้านกาแฟใหม่ๆ ร่วม 10 ร้านเปิดขึ้นพร้อมๆ กัน รู้ตัวอีกทีอุบลฯ ก็เติบโตจนกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของคอกาแฟคุณภาพดีและมีคอนเซปต์สนุกๆ ไปแล้ว แถมเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมายังมี ‘Everyday Cup Ubon’ เทศกาลกาแฟอุบลฯ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกได้ว่าเติบโตกันทั้งวงจรการดื่มกาแฟเลยทีเดียว

คาเฟ่ อุบล

เมื่อความตื่นตัวของวงการกาแฟไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่อีกต่อไป เราเลยขออาสาพาทุกคนออกทริปออนทัวร์ไปดื่มกาแฟหลากสไตล์ที่อุบลฯ เผื่อจะช่วยคลายเครียดจากสภาพสังคมในช่วงเวลาสั้นๆ ให้กาแฟช่วยชำระล้างความบอบช้ำทางใจ และปลุกความสดชื่นตื่นเต็มตา จะได้กลับมามีกำลังใจฮึดสู้ต่อ

แอบบอกไว้ก่อนว่าทริปนี้เราไม่ได้มองเห็นแค่ร้านกาแฟคุณภาพ แต่ยังมองเห็นถึงความสามารถและความพร้อมของคนซื้อและคนขาย ที่แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้เข้ามาอุ้มชูธุรกิจร้านกาแฟ แต่เมื่อเห็นชุมชนคนทำกาแฟช่วยกันสร้างสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งก็ยิ่งจะสะท้อนให้เห็นศักยภาพของนักธุรกิจตัวเล็กๆ ในจังหวัดอุบลฯ ที่ช่วยกันปลุกปั้นคาเฟ่ของตัวเองจนประสบความสำเร็จ 

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของ 10 คาเฟ่ในอุบลฯ ที่มีทั้งเรื่องราวของร้าน ประสบการณ์ของคนทำ และเครื่องดื่มที่พวกเขาตั้งใจเลือกให้คนอ่าน a day ได้ตามไปลิ้มลอง

 

1. Anna Coffee Micro Roasters

Anna Coffee Micro Roasters คือร้านกาแฟที่เราติดใจตั้งแต่แรกดื่ม นับรวมปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วที่เราสมัครเป็นแฟนคลับของที่นี่ ซึ่งก็บังเอิญว่าเท่ากับอายุของคาเฟ่พอดี 

คาเฟ่ อุบล

เบื้องหลังเมนูซีซันนอลที่แสนจะแปลกใหม่ คือคู่รัก ผู้บ่าวเชียงใหม่ ‘อาเทน–อุเทน สมบูรณ์ค้ำชู’ กับผู้สาวอุบลฯ ‘แอน–มานิตา จารุกขมูล’ ที่ความลงตัวของทั้งคู่เกิดจากฝ่ายชายที่มีไร่และโรงงานแปรรูปกาแฟที่บ้านแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่ กับฝ่ายหญิงที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟมาหลายสิบปี ผสานกันจนเกิดเป็นสถานีดื่มกาแฟที่มักจะมีเมนูใหม่ๆ มาให้ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา 

คาเฟ่สีขาวเด่นแห่งนี้เป็นร้านกาแฟ specialty ที่มีการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับคนทำและคนดื่มกาแฟอยู่บ่อยๆ โดยที่ชื่อของอาเทนก็เป็นที่คุ้นหูของคอกาแฟและคอมมิวนิตี้กาแฟที่กรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้วด้วย ที่สำคัญ ร้านของเขาและภรรยายังถือเป็นร้านกาแฟแห่งแรกที่บุกเบิกธุรกิจโรงคั่วให้เป็นที่นิยมในอุบลฯ อาเทนบอกกับเราว่า “คนดื่มกาแฟในอุบลฯ มีเยอะอยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยากให้คนดื่มเยอะขึ้นก็ต้องพัฒนาเรื่องรสชาติ เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่เบื่อ เมนูต้องมีอะไรใหม่ๆ ให้เขาลองตลอด”

คาเฟ่ อุบล

คาเฟ่ของอาเทนเป็นเหมือนทัพหน้าของคาเฟ่ในอุบลฯ เพราะช่วง 3-4 ปีที่แล้ว Anna Coffee Micro Roasters เป็นร้านแรกๆ ที่เริ่มทำร้านกาแฟแบบ specialty ให้คนอุบลฯ ได้เปิดประสบการณ์เป็นครั้งแรก และแม้ว่าในปีแรกๆ ที่เปิดตลาดสินค้ากาแฟแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่สุดท้ายคอกาแฟอุบลฯ ก็ให้การยอมรับ 

“กว่าที่แบรนด์จะติดตลาดต้องใช้เวลา แต่ละร้านมีสเตปการเดินของตัวเอง เขาต้องวางแผนว่าจะปล่อยอะไรออกมา ทุกวันนี้ร้านเกิดใหม่เต็มเลย ผมรู้สึกว่าซีนกาแฟอุบลฯ ไปได้ไกลกว่านี้อีก ถ้าเราให้ความรู้ดีๆ กับลูกค้าไปเรื่อยๆ” อาเทนบอกเราด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง

เมนูแนะนำ : Honey-co Foam

“เมนูนี้เกิดจากการนำวัตถุดิบใกล้ตัวเรามาทำ ได้แก่ กาแฟสกัดเย็น น้ำผึ้ง มะนาวและเลม่อน อย่างน้ำผึ้งจะมาจากไร่บนดอยของเรา หมักด้วยกรรมวิธีพิเศษจนกลายเป็นกลิ่นโทนแอลกอฮอล์ ส่วนมะนาวแป้นก็มาจากบ้านของแอน เราฝานเอาส่วนหนึ่งของมะนาวมาทำให้แห้งเพื่อตกแต่ง จากนั้นก็ใช้น้ำเลมอนตัดรสเปรี้ยวแหลมของน้ำมะนาว สปินให้เกิดโฟม แล้วท็อปบนกาแฟ เวลากินจะได้ความครีมมี่ของตัวโฟมก่อน จากนั้นน้ำกาแฟจะค่อยไหลตามมาเพื่อให้คนดื่มได้สัมผัสรสชาติ แก้วนี้จะให้ความรู้สึกสดชื่น เหมาะจะจิบดื่มตลอดทั้งวัน” 

คาเฟ่ อุบล

address : 81-85 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : จันทร์-ศุกร์ 06:30-17:30 น., เสาร์-อาทิตย์ 07:00-18:00 น.
facebook : AnnaCoffeeMicroRoaster

 

 

2. Saereesook

‘เสรีสุข’ คือร้านของ ‘เฟม–วรรณรัตน์ โคตรหา’ ที่ตั้งใจเสิร์ฟกาแฟด้วยใจรัก โดยเฉพาะกาแฟดริปที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ นั่นเพราะการดริปของที่นี่ไม่ใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด แต่เกิดจากเซนส์ที่ฝึกฝนทุกวันว่าต้องใช้สัดส่วนเท่าไหร่ รสชาติกาแฟจึงจะออกมาอย่างที่หวัง

คาเฟ่ อุบล

“เราตั้งใจแต่แรกว่าถ้าคนนึกถึงกาแฟดริปต้องมาที่นี่ ยึดถือสิ่งนี้มาตลอด เราจะรู้สึกยินดีมาก ถ้าคนที่ดื่มเฉพาะกาแฟดำ หรือกาแฟนม จะเปิดใจให้กาแฟดริปที่ร้านเราเป็นร้านแรก”

คาเฟ่ อุบล

ยิ่งถ้าคุณเป็นคอการเมืองด้วยแล้ว เสรีสุขจะเป็นสถานที่ที่คุณหลงรัก เพราะเจ้าของใช้เพจเฟซบุ๊กของร้านสื่อสารประเด็นการเมือง ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้สังคมดีขึ้น เฟมเล่าว่า “เราให้ความสำคัญกับจุดยืนทางการเมือง ยิ่งเราเป็นร้านกาแฟที่สามารถเป็นกระบอกเสียงได้ก็ยิ่งควรทำ เราเลยพยายามนำเสนอประเด็นการเมืองอยู่เรื่อยๆ”

เมนูแนะนำ : กาแฟดริป

“ผมอยากแนะนำกาแฟดริป เพราะช่วงหลังเราลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ ก่อนหน้านี้เวลาดริปผมจะใช้ตราชั่ง แต่ตอนนี้เราไม่ต้องนั่งจำตัวเลขแล้ว เพราะช่วงหลังรู้สึกว่าถ้าเข้าใจสิ่งที่ทำจริงๆ ทั้งสีของกาแฟ การหยด และการวนน้ำ เราไม่ต้องใช้เครื่องมือมาวัดก็ได้เพราะทำทุกวันจนอยู่มือ เป็นเซนส์ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เราเลยอยากนำเสนอวิธีการแบบนี้ให้คนดื่มได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ”

คาเฟ่ อุบล

address : 76 ถนนชยางกูร ซอยชยางกูร 14 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000
hour : จันทร์-พฤหัสบดี 07:00-17:00 น., เสาร์-อาทิตย์ 08:00-17:00 น.
facebook : Saereesook

 

3. Nap’s Coffee X Warin

คาเฟ่ อุบล

หลังจาก NAP’s Coffee & Roasters Ubon สาขาแรกในตัวเมืองอุบลฯ ประสบความสำเร็จก็ได้เวลาที่ Nap’s Coffee X Warin จะขยายสาขามาเปิดในอำเภอวารินชำราบ โดยทีมงานเดิมที่ตามมาดูแลร้านฝั่งนี้คือ ‘นนต์–อนนต์ รักษาแก้ว’

“ตอนทีมเราทำ NAP’s ที่เมืองอุบลฯ ก็มีลูกค้าจากวารินชำราบขับเข้าไปดื่มในตัวเมืองอุบลฯ เรามองว่าวารินชำราบเป็นเมืองใหญ่ แต่ยังไม่มีคาเฟ่ใหญ่ๆ มาเปิด พวกเราเลยเลือกโลเคชั่นตรงนี้ ซึ่งพอเปิดที่นี่ ผลตอบรับก็ดีอย่างที่เห็น” นนต์บอกกับเรา

คาเฟ่ อุบล

ถ้าคุณเดินทางข้ามแม่น้ำมูลจากฝั่งตัวเมืองมายังร้าน NAP’s สาขาใหม่นี้ สิ่งแรกที่จะเห็นแต่ไกลคือบ้านไม้ 2 ชั้นสีขาวสะอาดตาซึ่งถูกเปลี่ยนให้เป็นคาเฟ่ที่มีสเปซขนาดกลาง นั่งกินดื่มใต้ถุนบ้านที่เป็นบาร์ก็ได้ หรือจะนั่งสนทนากับเพื่อนบริเวณสวนกลางแจ้งก็ได้เช่นกัน 

“แนวคิดของเราคือการทำร้านกาแฟที่ดื่มได้ทุกวัน มานั่งเล่นที่นี่ก็ได้ จะซื้อกลับไปกินที่บ้านก็ได้ เราอยากให้คนได้เจอเครื่องดื่มที่ดี อย่างเมื่อก่อนเปิดร้านในเมืองยอดขายไม่ได้เยอะมาก เพราะเราตั้งใจทำร้าน supply จนมาถึงจุดที่ยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ เราเลยคิดว่าถึงเวลาของสาขาสองแล้วล่ะ”

คาเฟ่ อุบล

NAP’s เป็นแบรนด์คาเฟ่ของจังหวัดอุบลฯ ที่ปลุกปั้นด้วยฝีมือของคนอุบลฯ ถือเป็นอีกร้านหนึ่งที่ริเริ่มทำโรงคั่วในจังหวัด จนมีลูกค้าติดอกติดใจมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้ว่าคาเฟ่ในจังหวัดอุบลฯ ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเพราะยังไม่ได้มีการคิดสร้างพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเท่าเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แต่การขยายตัวของ NAP’s Coffee & Roasters Ubon มาเป็น Nap’s Coffee X Warin ก็ยืนยันได้ว่าการเติบโตของแบรนด์กาแฟอุบลฯ ในอนาคตไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

เมนูแนะนำ : NO.9

“เมนู NO.9 เป็นเมนูที่ตั้งชื่อตามถนนเทศบาล 9 ที่ตั้งของร้าน สิ่งที่เราทำคือไอศครีมซอฟต์เสิร์ฟจากวัตถุดิบหลักที่เป็นนม และนำกาแฟเอสเพรสโซไป oxidation ที่จะทำให้กาแฟเย็นจัดจนมีน้ำหนักเบาและลอยตัวได้ จากนั้นจึงนำมากินกับวาฟเฟิล นั่งกินเล่นๆ เพลินๆ ทานง่าย เราตั้งใจจะให้มันเป็นเมนูเฉพาะของ NAP’s x Warin ด้วย”

คาเฟ่ อุบล

address : 16 ถนนเทศบาล 9 ตำบลวารินชำราบ​ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 07:00-16:00 น.
facebook : Nap’s Coffee X Warin

4. LIFE Roasters

ลาออกจากการเป็นหมอเพื่อมาทำร้านกาแฟคือเรื่องราวของ ‘นัท–ณัฐพล คำรินทร์’ เจ้าของร้านกาแฟ LIFE Roasters ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และแม้วันนี้นัทจะกำลังยืนเป็นบาริสต้าหน้าบาร์ตรงข้ามเรา แต่ก็ยังคงมีคนเรียกเขาติดปากว่า ‘หมอนัท’ อยู่เสมอ 

คาเฟ่ อุบล

นัทบอกกับเราว่า ชื่อของ LIFE Roasters มาจากการตีความของเขาว่ากาแฟคือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ร้านของนัทเป็นหนึ่งในร้านที่เริ่มทำกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำชนิดครบวงจร เพราะปู่ของเขาทำไร่กาแฟบนดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลานานกว่า 30 ปี โดยทางร้านเน้นเมล็ดกาแฟ washed process (คือการแปรรูปกาแฟโดยใช้น้ำเป็นส่วนประกอบตั้งแต่การกระเทาะเปลือกและการหมัก)

คาเฟ่ อุบล

“ก่อนเปิดร้านผมใช้เวลาเรียนรู้ 3-4 ปี ซื้ออุปกรณ์มาดริปและซื้อเครื่องทำเอสเพรสโซมาไว้หลังห้องตรวจลองชงดื่มเองทุกวัน ซื้อกาแฟจากหลายๆ โรงคั่ว ทั้งจากในไทยและเมืองนอกมาลองชิมเพื่อเอามาปรับใช้ในโรงคั่วของตัวเอง ประกอบกับที่บ้านอยากขยาย supply chain เพื่อให้ธุรกิจกาแฟของเราสมบูรณ์ ผมอยากมาช่วยเขาทำตรงนี้ เป็นสาเหตุให้เราเริ่มทำร้านทันที

“สมัยนี้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกาแฟ เราแค่อยากให้กาแฟสักแก้วเข้าไปช่วยให้ชีวิตเขามีความสุขขึ้น” นัทบอกกับเรา

เมนูแนะนำ : Coconut Coffee

“ปัจจุบันเทรนด์การรักษาสุขภาพมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราเลยอยากให้คนกินของที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ผมเลือกกาแฟมะพร้าวมาให้ดื่ม กาแฟที่ใช้เมนูนี้คั่วแบบ city roast (คั่วในระดับที่อยู่ระหว่างคั่วกลางและคั่วเข้ม) และเลือกใช้มะพร้าวเผาจาก อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร รสชาติไม่เปรี้ยวและหาซื้อได้ทั้งปี”

คาเฟ่ อุบล

address : 202/3 ถนนสุริยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : จันทร์-ศุกร์ 07:00-17:00 น. (ปิดวันพุธ), เสาร์-อาทิตย์ 08:00-17:00 น.
facebook : Life Roasters

 

5. Attarotes

“ก่อนทำกาแฟผมทำมาแล้วหลายอย่าง ทั้งงานออกแบบ ถ่ายภาพ ทำทัวร์ ทำโฮสเทล ได้ไปทำอยู่หลายที่ ทั้งอุบลฯ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เร่ร่อนไปเรื่อย” แบงค์–ศุภฤกษ์ ชนะสงคราม เล่าให้เราฟัง หลังเราทักว่า ‘อรรถรส’ คาเฟ่ของเขาให้บรรยากาศเหมือนร้านรวงในย่านถนนพระอาทิตย์ เขาถามเราเล่นๆ ว่า “พอก้าวเข้ามาในร้านแล้วเหมือนอยู่คนละโลกกับข้างนอกเลยใช่ไหมครับ” 

คาเฟ่ อุบล

อรรถรสคือคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารตึกชุดสำหรับอยู่อาศัยอายุเก่าแก่ 20-30 ปี ใกล้ๆ ย่านทุ่งศรีเมือง ศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด แบงค์เล่าว่าเขาเป็นคนเปลี่ยนการตกแต่งภายในตึกด้วยตัวเอง ตั้งแต่เลาะกระเบื้องบางส่วน ทาสีขาว เอาเกรียงสีฟ้าและเขียวเข้มปาดทีละนิด จนได้เทกซ์เจอร์ผนังที่ทั้งเท่และไม่เหมือนร้านไหนในอุบลฯ 

“ผมทำกาแฟมาตลอด ก็ได้องค์ความรู้มาจากหลายร้าน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ หาความรู้เองจากหนังสือและอินเทอร์เน็ต และสอบถามพี่ๆ ที่เคยทำงานด้านนี้มา คือเรียกว่าทำมาหลายอย่างมากกว่าจะได้ทำร้านตัวเอง”

คาเฟ่ อุบล

คาเฟ่ อุบล

อรรถรสมีกาแฟคั่วกลางซิงเกิลเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่พร้อมให้คุณเลือกสั่ง หรือจะสั่งเมนูพิเศษอื่นๆ ที่มีทั้งเมล็ดไทยและต่างประเทศสับเปลี่ยนเข้ามาในร้านเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีตัวคั่วอ่อนที่ใช้ทำเมนูดริปและเอสเพรสโซช็อตพร้อมเสิร์ฟให้ทุกคนที่ก้าวเท้าเข้ามาในร้านอีกด้วย

เมนูแนะนำ : 9 p.m. (สามทุ่ม)

“ผมอยากแนะนำเมนูชื่อ 9 p.m. หรือเรียกอีกชื่อว่า 3 ทุ่ม ตัวนี้เป็นกาแฟดำ แต่เสิร์ฟในรูปแบบค็อกเทล เมื่อดื่ม 9 p.m. จะได้รสสัมผัสและกลิ่นส้มยูซุนวลๆ ได้รสมะพร้าว รสสับปะรด และได้กลิ่นความหอมของมินต์บางๆ ในแง่กลิ่นแก้วนี้จะมีความซับซ้อนหน่อย พอผสมเข้ากับกาแฟโคลด์บรูว์ที่บอดี้ไม่หนักมาก ทำให้ดื่มง่าย ผ่อนคลาย กินให้สดชื่นเน้นๆ และอีกอย่างคือมีสรรพคุณแก้อาการแฮ้งได้ด้วยครับ (หัวเราะ)” 

คาเฟ่ อุบล

address : 254-224 ถนนอุปราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 08:08-17:00 น. (ปิดวันจันทร์)
facebook : Attarotes

 

6. WareHouse.

WareHouse. คือคาเฟ่มาดขรึมที่ตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมืองอุบลฯ โกดังกาแฟแห่งนี้เกิดจากพลังของ ‘ฟลุ๊ค–พงศกร ทีฆกุล’ เจ้าของ Signature ร้านเกมขนาดใหญ่หลายสาขาที่หันมาจับธุรกิจคาเฟ่เพราะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้ร้านเกมของเขาต้องปิดจนรายได้หดหาย ฟลุ๊คเลยตัดสินใจหนักแน่นที่จะทำ daily coffee และสร้างพื้นที่คุณภาพให้คนมาพบปะกัน นำไปสู่การรีโนเวตโกดังเก่าเพื่อเนรมิตให้กลายเป็นคาเฟ่ที่มีทั้งโซนอินดอร์และเอาต์ดอร์ขนาดใหญ่

“เราว่าความเท่ของที่นี่คือพัดลมโกดังมันทำให้เราอยากคงรูปแบบโครงดั้งเดิมของตึกนี้ไว้ ส่วนมากคาเฟ่ในอุบลฯ จะอยู่ในแนวตึกหรือแนวอาคาร และมีส่วนน้อยที่จะมีพื้นที่นั่งชิลล์ด้านนอกและมีโซนแอร์ให้คนเลือกใช้ประโยชน์ได้ ผมไม่ได้ปรับตัวอาคารเยอะ แค่ใส่กระจกด้านหน้าเพื่อโชว์งานเหล็กแบบ industrial loft และตกแต่งด้านในเพิ่มเติมบ้าง” ฟลุ๊คเล่าเบื้องหลังการตกแต่งร้านให้เราฟัง

 

เสน่ห์ของ WareHouse. อีกอย่างคือการทำบาร์กาแฟอยู่บริเวณกึ่งกลางร้าน ทุกที่นั่งในร้านจะสามารถมองเห็นการทำกาแฟได้จากรอบทิศ ที่นี่มีทั้ง speed bar (บาร์กาแฟที่ใช้เครื่องชงเอสเพรสโซ) และ slow bar (บาร์ที่ใช้เครื่องชงแบบแมนนวล เช่น French press หรือ drip) ซึ่งโปรดักต์กาแฟของ WareHouse. ได้ร้านเสรีสุขมาเป็นพาร์ตเนอร์สร้างสรรค์เมนูต่างๆ ให้ โดยฟลุ๊ควางคอนเซปต์ว่าร้านกาแฟแห่งนี้จะต้องเข้าถึงง่าย และสามารถเลือกดื่มได้ทั้งเมล็ดไทยและเมล็ดนอกตามใจชอบด้วย

เมนูแนะนำ : สมถวิล

“เมนูนี้เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน เราเลือกกาแฟดริปมาใส่กับผลไม้ที่มิกซ์ขึ้นเอง ใส่ไซรัปผลไม้และปิดท้ายด้วยน้ำผึ้ง ก่อนเสิร์ฟจะเขย่าให้เกิดฟองจนได้ภาพลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนรูตเบียร์ที่พอลิ้นได้แตะฟองแล้วจะรู้สึกละมุน ถือว่าเป็นไฮไลต์ของเมนูนี้เลย”

address : 87 ถนนชวาลาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 07:30-20:30 น.
facebook : WareHouse UBON

 

7. Commune’ Drink/Talk/Share

ร้านกาแฟ Commune’ Drink/Talk/Share ตั้งอยู่ในตำบลขามใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องลัดเลาะเข้ามาในซอกซอยของชุมชน เราจึงแปลกใจไม่น้อยที่ ‘กำ–กำพล พรนิยมสิริ’ เลือกมาตั้งร้านที่นี่ แต่ถึงอย่างนั้นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัดนี้ก็มีผู้คนแน่นขนัดตั้งแต่เช้า 

“ผมชอบกาแฟอยู่แล้ว เลยลองมาทำกาแฟขายในชุมชนแห่งนี้ดู มันเลยเป็นที่มาของคำว่า commune ที่มาจาก community โดยโจทย์ของเราคือ Drink, Talk และ Share เราอยากเป็นร้านกาแฟที่ไม่เพียงให้ความอร่อยกับลูกค้า แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อให้เขารักร้านของเราด้วย ผมเลยพยายามพูดคุยกับลูกค้าตลอด ความตั้งใจอีกอย่างหนึ่งคือผมอยากให้ที่นี่เป็นศาลากาแฟยุคใหม่ เหมือนที่แต่ก่อนมีสภากาแฟไว้พบปะพูดคุยกัน”

กำเล่าว่าคอนเซปต์ของร้านคือสัจจะวัสดุและสัจจะวัตถุดิบ โดนออกแบบให้ปูนยังคงความเป็นสีปูน และไม้ยังคงความเป็นสีไม้ นอกจากนี้ top bar ของร้านยังดัดแปลงมาจากประตูเหล็กโบราณที่เคยใช้ในโรงพยาบาลยุคก่อน 

“หลังๆ พอคนอุบลฯ เข้าถึงความรู้เรื่องกาแฟมากขึ้น เขาก็เริ่มอยากรู้ว่ากาแฟที่ตัวเองดื่มมาจากไหน ร้านกาแฟแบบนี้เลยเกิดขึ้นเยอะ ทำให้คนขายต้องรู้จักกาแฟอย่างลึกซึ้ง เรามักง่ายไม่ได้เลย จะต้องเทสต์ช็อตหรือชิมรสชาติเมล็ดกาแฟทุกวัน ต้องรู้เท่าทันกาแฟว่าวันนี้รสชาติมันเป็นยังไงบ้าง”

เมนูแนะนำ : Coconut Latte

“เราเป็นคนชอบกินมะพร้าวอยู่แล้ว แต่เวลาหากาแฟมะพร้าวดื่ม ส่วนมากจะเจอแต่กาแฟดำผสมน้ำมะพร้าวเป็นหลัก เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีใครทำลาเต้มะพร้าวบ้างล่ะ ก็เลยลองทำสูตรของตัวเองดู ร้านเราใช้เมล็ดกาแฟบราซิลผสมกับเมล็ดกาแฟลาวคั่วกลาง ที่รสจะออกโทนนัตตี้ พอไปผสมกับนมมันจะให้ความรู้สึกมันๆ ผมว่าอร่อยดี ส่วนกลิ่นมะพร้าว ผมเคยลองใช้กะทิและนมมะพร้าวแทนนมสด แต่ไม่เวิร์ก สุดท้ายเลยเปลี่ยนมาใช้นมกับไซรัปมะพร้าวซึ่งเข้ากันได้ดี”

address :  57/1 ชยางกูร 42 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 07:00-15:30 น.
facebook : Commune’ Drink/Talk/Share

 

8. Flower Cottage

Flower Cottage ร้านกาแฟ moka pot หนึ่งเดียวในลิสต์ที่เรามีโอกาสแวะเข้าไปเยี่ยมเยียน คือกระท่อมดอกไม้ที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจจากสแกนดิเนเวีย รอต้อนรับผู้มาเยือนที่บริเวณชั้น 1 ของตึก Impression Sunrise ขนาด 4 ชั้น ที่แต่ละชั้นต่างมีคอนเซปต์แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นชั้น 1 คาเฟ่ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้แห้งสไตล์ยุโรป ชั้น 2 สตูดิโอทำงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินสาว ‘อ้วนแลนด์–วัชราภรณ์ สมบูรณ์’ ตามมาด้วยชั้น 3 และชั้นดาดฟ้าเป็นบาร์สไตล์จีนชื่อ กู๋หว่าไจ๋ 古惑仔 1991′ ส่วนลานด้านหน้าตึกเป็นร้านอาหารที่เปิดช่วงเย็น นั่งฟังเพลงจากนักดนตรีอีสานได้เพลินๆ นอกจากนี้ยังสามารถสั่งขนมโตเกียวแบบฟิวชั่นมากินได้ หรือจะตัดผมที่ร้านด้านหน้าก่อนเดินเข้ามาในตึกก็ทำได้สบายๆ

เดิมทีตึกนี้คือตึกร้างที่เคยเป็นอู่ซ่อมรถขนาดใหญ่ แต่แล้วก็ถูกทิ้งร้างลืมเลือนไว้หลังพงหญ้าและต้นไม้ที่รกครึ้ม กระทั่งวันหนึ่งที่อ้วนแลนด์ได้บังเอิญพบตึกร้างแห่งนี้เข้า เธอจึงชักชวน ‘โจ๊ะ–ปกรณ์พศ คณานุรักษ์’ และ ‘มิ้น–กิ่งกาญจน์ รองทอง’ ให้เปลี่ยนสถานที่แห่งนี้เป็นคอมมิวนิตี้แห่งศิลปะ

“จากแต่แรกที่วางคอนเซปต์ไว้เป็น slow bar แต่พอได้เห็น moka pot ก็รู้สึกสนใจ เราเลยหันมาใช้ moka pot ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเครื่องทำกาแฟทั่วไปกับการทำกาแฟดริป ร้านเราถือเป็นร้านแรกๆ ที่ใช้เทคนิคแบบนี้ในอุบลฯ” โจ๊ะเล่าให้เราฟัง ก่อนที่อ้วนแลนด์จะเสริมคอนเซปต์ของร้านว่า

“ด้วยความที่เราและเพื่อนชอบเมืองเก่ากันอยู่แล้ว เราเลยเลือกตึกนี้และเปลี่ยนให้เป็นคอมมิวนิตี้สำหรับทุกคน อย่างสาเหตุที่ร้านเราเลือกใช้ดอกไม้ก็เพราะมิ้นชอบดอกไม้ ส่วนที่เราเลือกใช้ดอกไม้แห้ง เพราะมันสื่อถึงความเป็นนิรันดร์”

ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟกระท่อมดอกไม้ที่ทั้งสามอยากให้ผู้มาเยือนแวะดื่มและทอดกายให้สบายใจ แต่ Impression Sunrise อยากให้ทุกคนใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้ทั้งวัน และสามารถประทับใจกับพระอาทิตย์ตกดินบนตึกได้ในช่วงเวลาเย็น

“เราอยากให้ทุกคนมารู้จักเพื่อนใหม่ที่นี่ ในอุบลฯ สตูดิโอทำงานศิลปะน้อยและอยู่รอดยาก เราทำงานศิลปะมานานแล้ว บินไปเวิร์กช็อปให้คนกรุงเทพฯ ก็บ่อย เรากลับมาคิดว่าทำไมเราไม่สอนคนอุบลฯ บ้าง ก็ฮึดสู้ขึ้นมา จนมีแรงทำสตูดิโอของตัวเอง จริงๆ พอเปิดมาคนก็สนใจ รู้จัก ยิ่งพอเห็นว่ามีคลาส มีเวิร์กช็อปหลากหลาย ทั้งปั้นดิน ร้อยลูกปัด ก็ยิ่งทำให้มีคนมากันเยอะขึ้น”

เมนูแนะนำ : Black Ginger Ale

“ผมอยากจะแนะนำลูกค้าที่มาเที่ยวว่านอกจากเรามีร้านกินดื่มตอนกลางคืน เรายังมีร้านกาแฟด้วยนะ เลยคิดว่าถ้าไปเมากันมา ตอนเช้าเราน่าจะทำเมนูอะไรสักอย่างให้เขาได้ดื่มแก้แฮ้งแล้วสดชื่นรับวันใหม่ เลยคิดกับน้องๆ ในทีม จนสุดท้ายเราเลยใช้กาแฟ moka pot ใส่ ginger ale น้ำผึ้ง มะนาว และราดด้วยกาแฟคั่วเข้มกับใบมินต์ เวลาดื่มก็เอาก้านอบเชยคนๆ ให้รสชาติเข้ากัน ทำให้ได้กลิ่นหอมสมุนไพรตอนดื่มด้วย” 

address : 30/1 ถนนพโลชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : จันทร์-ศุกร์ 10:00-17:00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี), เสาร์-อาทิตย์ 10:00-18:00 น.
facebook : Flower Cottage

 

9. amarna.homebrewing

‘ฟลุ๊ค–วชิรวิทย์ บัวสาย’ และพาร์ตเนอร์ ‘ดิว–อนุธิดา กรองมาลัย’ ตั้งใจทำร้านกาแฟ amarna.homebrewing ให้เรียบง่ายเหมือนทำดื่มเองอยู่บ้าน เดิมทีฟลุ๊คเป็นคนจังหวัดนครพนม แต่เมื่อมาเรียนที่มหา’ลัยอุบลราชธานี ทำให้เขาได้พบกับสาวอุบลฯ อย่างดิว หลังเรียนจบฟลุ๊คมีโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์การทำกาแฟเป็นเวลา 1 ปีเต็มที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความหลงรักเมืองและวัฒนธรรมอุบลฯ จึงเดินทางกลับมาเปิดคาเฟ่ด้วยการรีโนเวตอาคารพาณิชย์อายุราว 30 ปี ในย่านคนไทยเชื้อสายจีนที่ถูกปล่อยร้างมานานให้กลายเป็นคาเฟ่

amarna แปลว่าศิลปะนิรันดร ทั้งคู่เชื่อว่าการสร้างสรรค์กาแฟก็คือศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ร้านเสิร์ฟกาแฟคั่วอ่อนตามความชอบของตัวเอง บรรยากาศที่ร้านก็น่านั่งไม่แพ้ใคร เพราะทั้งคู่ออกแบบให้ร้านอากาศถ่ายเท โปร่งโล่งทะลุเข้าหากันตั้งแต่หน้าร้านยันหลังร้าน โดยมีแผงหน้าต่างกระจกกรอบไม้สักบานใหญ่และต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกให้ร่มเงาบริเวญลานหลังบ้านเป็นเอกลักษณ์

“เราตั้งใจไว้ว่ายังไงก็ต้องเปิดร้านตรงนี้เท่านั้น เพราะเราชอบพื้นที่แบบนี้ ทั้งตึกและวิถีชีวิตของคนแถวนี้ที่ยังคงเหมือนเดิม มีคนปั่นจักรยาน ถีบสามล้อ ย้อนกลับไปสมัยมหา’ลัยก็มาเดินเล่นและถ่ายรูปแถวนี้ ตอนนั้นก็คิดว่ายังไม่เคยเจอร้านกาแฟ specialty ในย่านนี้ ซึ่งเราชอบกาแฟคั่วอ่อนให้รสเปรี้ยว แต่ร้านส่วนใหญ่จะเน้นเสิร์ฟตัวคั่วกลางและเข้ม เราเลยอยากนำเสนอกาแฟอีกรสชาติให้ลูกค้าได้ลองและเห็นความหลากหลายด้วย” ฟลุ๊คและดิวกล่าว

เมนูแนะนำ : Seasonal Blend

“แก้วนี้มีเมล็ดผสม 3 แบบ คือเคนย่าออกโทนเปรี้ยว อีกตัวเป็นกัวเตมาลาและโคลัมเบียที่ให้รสชาติแบบไวน์ผลไม้ซึ่งผมเอามาดึงบอดี้ (ความหนาแน่นของน้ำกาแฟ) โดยที่กาแฟทั้งสามตัวนี้ก็มาจากโพรเซสที่ต่างกันด้วย” 

address :  208 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 08:00-17:00 น. (ปิดวันพุธ)
facebook : amarna.homebrewing

 

10. GODFATHER COFFEE

“ที่นี่คือร้านเหล้าหรือร้านกาแฟ?” คือความคิดแวบแรกเมื่อเราได้เห็นคาเฟ่ GODFATHER COFFEE เพราะคาเฟ่แห่งนี้มาพร้อมคอนเซปต์แสนจัดจ้าน ใช้การตกแต่งทั้งภายในและภายนอกเสมือนโกดังของเจ้าพ่อหรือมาเฟีย ด้วยการรีโนเวตบ้านไม้เก่าแก่ 2 ชั้น ชนิดพลิกโฉมใหม่ทั้งหมด เพื่อให้กลายเป็นคาเฟ่อารมณ์แมนๆ ที่มีทั้งปืน ไพ่ และดอกกุหลาบเป็นองค์ประกอบเด่น ทั้งยังใช้ไฟแสงสลัวราวกับบาร์และเปิดเพลงแดนซ์จนรู้สึกตื่นตัวไม่แพ้การได้รับคาเฟอีนจากกาแฟ 

โจทย์ของ ‘ธีรพงษ์ ดำรงอัครวิวัฒน์’ ผู้ก่อตั้งร้านคือการนำหนังเรื่อง The Godfather มาเป็นเรฟเฟอร์เรนซ์ในการทำคาเฟ่ จึงไม่แปลกหากคอกาแฟจะดื่มกาแฟแล้วโยกหัวตามจังหวะเพลงมันๆ ไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ร้านนี้ไม่ได้เด่นแค่ภาพลักษณ์ดุดัน แต่ความเป็นร้าน specialty ที่ใช้เทคนิคการทำกาแฟที่หลากหลาย นอกจากจะมีกาแฟจากโรงคั่วของตัวเองแล้วก็ยังมีเมล็ดกาแฟจากหลายๆ แหล่งในต่างประเทศมาให้คอกาแฟชาวอุบลฯ ชิมอีกด้วย

เมนูแนะนำ : เสน่ห์อีสาน

“The GODFATHER เมนูซิกเนเจอร์ของร้านนี้คือเครื่องดื่มทีเด็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเมนู flat white ที่ใช้เมล็ดกาแฟบราซิลให้รสชาติโทนถั่วผสมช็อกโกแลตเข้มข้น โรยหน้าด้วยอัลมอนด์และเม็ดมะม่วงหิมพานต์บด เพิ่มเทกซ์เจอร์มันๆ ให้นักดื่มได้เคี้ยว เสิร์ฟพร้อมกระติ๊บข้าวเหนียวน้อยเพื่อชูความเป็นอีสานให้ขึ้นมาเป็นพระเอก”

address :  425 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
hour : ทุกวัน 08:00-18:00 น.
facebook : GODFATHER COFFEE

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กนกวรรณ มุลทา

ช่างภาพที่หลงรักแมว เพลงอินดี้ หนังแปลกๆ และบทสนทนายามค่ำคืน