ชีวิตที่ต้อง (ทด) ลองถึงจะรู้ ของ ตุล-ไวฑูรเกียรติ และขวบวัยที่พบว่าดนตรีเป็นเรื่องของมิตรภาพ

‘ตุล-ตุล ไวฑูรเกียรติ’ เริ่มเป็นสมาชิกวง อพาร์ตเมนต์คุณป้า ตั้งแต่ปี 2545 

ประสบความสำเร็จในฐานะวงดนตรีอินดี้ และเป็นที่รู้จักจากเพลง ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ, ลิปสติกบนลิปสติก, กำแพง และเพลงอื่นๆ อีกมากมาย นับแต่นั้นมาเขาได้สร้างศิลปะให้เกิดขึ้นบนเสียงเพลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นที่ยอมรับและถูกตั้งฉายาให้เป็น “กวีร็อกแอนด์โรล” ของวงการเพลงไทย

ปี  2551 a day เคยชวนตุลมาลองแต่งตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์สุดเนิร์ด ใส่แว่นหนาๆ ในลุคนักทดลองแบบจัดเต็ม บนปก a day ฉบับวิทยาศาสตร์ พูดคุยเรื่องความเหมือนต่างของชีวิตกับการทดลอง ตัวแปรสำคัญ และสมมติฐานต่างๆ ในชีวิต 

หนึ่งในคำตอบของเขาในวันนั้น ทิ้งแง่คิดไว้ให้กับผู้อ่าน มีใจความว่า “ผมว่า การทดลองกับการใช้ชีวิตมีสิ่งที่แตกต่างคือ ในชีวิตคนเราเวลาเราทดลองอะไร ณ โมเมนต์นั้นแล้ว เราย้อนกลับมาทดลองอีกไม่ได้” 

อาจเป็นเพราะชีวิต คือการทดลองที่ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นได้เพียงหนึ่งครั้ง เพราะตัวแปรที่ชื่อว่า เวลา จะนำพาจังหวะชีวิตเราให้ไหลไปไม่ย้อนกลับ เราจึงมีหน้าที่ทดลองใช้ทุกวินาทีที่เกิดขึ้น ไปพร้อมๆ กับการได้ทำในสิ่งที่เรารู้สึกดีและมีความหมาย  วันนี้เราเลยชวนตุลมานั่งย้อนคุยถึงเส้นทางชีวิต ตัวตน ความสำเร็จทั้งในอดีตปัจจุบัน และความพอใจในเส้นทางของนักดนตรีที่ผ่านมา จากเด็กบ้างานในวัยยี่สิบ สู่ขวบวัยที่ตัวตนสงบนิ่งขึ้น เขาจะมีมุมมองชีวิตอะไรเปลี่ยนไปบ้าง มาทำความรู้จักตุลในวัย 48 ปี ผ่านคำตอบของเขากัน

ได้ลองเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบนีโอ-เนิร์ด

“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้มาถ่าย a day แล้วก็ได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในความคิดเรา เพราะนิตยสารก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เราสามารถจะสื่อสารเรื่องราว ตัวตน และประสบการณ์ของเราให้กับโลกภายนอกได้ แล้วตัวผมเองก็มองว่า a day เป็นนิตยสารที่มีความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ในช่วงนั้น คนในแวดวงครีเอทีฟหลายๆ คนก็น่าจะมี a day เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ต่างกัน

ส่วนรูปนี้จำได้ว่าถ่ายที่ RCA ครับ ตอนนั้น a day อยากให้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ผสมกับองค์ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตของเรา ถึงจะจำดีเทลเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่วันนั้นได้ลองแต่งตัวแบบนี้ก็สนุกดีครับ”

สมมติฐานชีวิตในวัย 20 กว่าๆ

“เวลาเป็นเด็ก สิ่งที่ทำให้เราสนุกได้มีแค่ไม่กี่อย่าง ไม่ดนตรีก็กีฬา แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ทำให้เราได้เล่าเรื่องราวของเรา ยิ่งพอเราแต่งเพลงเป็น ดนตรีเลยเป็นสิ่งที่เราสื่อสารให้กับคนหมู่มาก เเล้วก็สื่อสารกับตัวเองด้วย 

“สำหรับผมช่วงวัยรุ่น ดนตรีมีอิทธิพลต่อความคิดของเรามากที่สุด มันเป็นเหมือนสารกระตุ้นที่ทำให้เราอยากออกไปทำอะไรบางอย่าง ผลงานเพลงของศิลปินที่เราติดตามหลายคน เริ่มกระตุ้นให้เราคิดว่า หรือเราจะเลือกเดินในทางนี้ดี… ช่วงหนึ่งของชีวิตมันเลยตั้งสมมติฐานกับตัวเองไว้ว่า อยากทำให้ดนตรีที่เราชอบกลายเป็นอาชีพได้จริงๆ ซึ่งเราก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้ 

“ส่วนเหตุผลที่ผมสนใจดนตรีร็อกเพราะมันเป็นอะไรที่ร้อนแรง ในวัยนั้นมันถูกจริตเราทั้งจังหวะจะโคน ซุ่มเสียง กีตาร์ เบส กลอง ไปจนถึงลีลาการแสดงบนเวที และความซื่อตรงของเนื้อหาที่พูดออกมา ทำให้รู้สึกว่าร็อกแอนด์โรล มันตอบโจทย์ชีวิตในตอนนั้น และทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้”

กับบทบาทกวีร็อกแอนด์โรล

“การเขียนเป็นการบำบัดที่ดีที่สุด เพราะช่วงวัยรุ่นเราซัฟเฟอร์กับโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) มาก ถึงการเขียนจะไม่ได้ช่วยให้เรานอนหลับ แต่อย่างน้อยมันช่วยให้เราไม่โทษตัวเอง เหมือนอย่างน้อยในคืนที่เรานอนไม่หลับ เรายังได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่างออกมา การแต่งเพลงหลายครั้งเป็นความทุกข์ แต่เป็นความทุกข์ที่เราได้บำบัดออกไป

“สำหรับนักแต่งเพลง ถ้าแต่งเพลงไม่ได้ก็มีความโหวงนะ เพราะตอนยังไม่มีเพลงเลยมันคือศูนย์ แต่ขั้นตอนที่จะทำให้ศูนย์เป็นหนึ่ง เราต้องทำทุกวิถีทางให้ได้เพลง ซึ่งบางทีเราไม่รู้ว่าเพลงมันมาจากไหน อยู่ดีๆ ทำไมถึงมีเสียงหรือเมโลดีแวบเข้ามา หลายครั้งมันก็มาพร้อมกับสถานการณ์ในชีวิต เพลงบางเพลงมันไม่ได้มากับเรื่องดีๆ มันมากับเรื่องร้ายๆ ในชีวิตเราเลยรู้สึกว่า ยิ่งเราเจอเรื่องร้ายๆ เรายิ่งต้องสร้างงานศิลปะเหล่านี้ออกมา เพราะมันก็เหมือนกับการที่เราได้บำบัดเรื่องทุกข์ใจออกไป ผ่านงานเขียนด้วย

“ส่วนดนตรีจะมีคุณค่าอะไรในตัวมัน ผมปล่อยให้มันไปมีคุณค่าในตัวเอง โดยที่ผมก็ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรกับมัน เหมือนที่เขาบอกว่า เพลงหนึ่งเพลงจะมีความหมายขึ้นอยู่ที่ใครเป็นคนฟัง ส่วนตัวเราก็สร้างสรรค์ผลงานในแบบของเรา”

น้อยลงแต่หนักแน่น

“มองย้อนกลับไป สมัยนั้น ผมเป็นคนที่ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง จี๊ดจ๊าดกับทุกเรื่อง เอนจอยกับทั้งความสุขความทุกข์ ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างเลย จะต้องหากิจกรรม สร้างงานศิลปะทำโปรเจกต์กับคนนู้น คนนี้ ออกไปปาร์ตี้ สังสรรค์ พบปะผู้คน แต่ตอนนี้ก็อาจจะพอใจกับความสงบมากกว่า สามารถมีความสุขได้ง่ายๆ กับการนั่งฟังเพลง อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ไม่ต้องสุขมาก ไม่ต้องทุกข์มากก็ได้ แล้วก็ให้ความสำคัญกับเวลามากที่สุด ในตอนนี้ผมคิดว่าการมีเวลาว่างคือ ความหรูหราในชีวิตของผม

“จากวัยรุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็พัฒนามาแบบเป็นธรรมชาตินะ ตอนเป็นวัยรุ่นเราจะตั้งเป้าหมายให้กับทุกอย่างที่เราทำ แต่ตอนนี้ไม่คิดอะไรเลย แล้วแต่เพลงจะนำพาไป ตอนวัยรุ่นเพลงมันเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลยนะ มันขยี้ใจเรา ทำให้เราเติบโต ช่วยเราแก้ปัญหาหรือผ่านสิ่งต่างๆ ในชีวิตมาได้ มันมีความหมายกับเรามากๆ แต่ตอนนี้มันก็คือ ‘เสียง’ ที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่งผมว่าผมมีความสุขได้ง่ายขึ้น 

“ส่วนในมุมของการสร้างสรรค์ผลงาน ถึงตอนนี้ ความถี่ในการสร้างงานอาจไม่ได้บ่อยเท่าตอนวัยรุ่น เพราะเรื่องที่กระทบความรู้สึกไม่มีได้มีผลเท่าแต่ก่อน กลับกัน ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เรามีความเซนซิทีฟในใจสูง ดังนั้นเรื่องราวอะไรก็ตามที่ผ่านมาในชีวิตมันจะฝังตรึง และมีเรื่องเรื่องราวมากมายที่เราอยากส่งออกไป 

“จะเห็นชัดเจนเลยว่า ปริมาณงานที่เราทำออกมาจะน้อยลง เพลงจะมีความเรียบง่ายมากขึ้น สื่อสารตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม ไม่ชักแม่น้ำทั้งห้า ส่วนเรื่องของซาวนด์ดนตรี แต่ก่อนในหนึ่งเพลงจะมีซาวนด์ดนตรีหลากหลายแนวมากๆ เริ่มด้วยซาวนด์แบบนี้ แต่จบเหมือนเป็นอีกเพลง แต่หลังๆ เราจะมีความเรียบง่าย ซื่อตรง สื่อสารตรงไปตรงมามากขึ้น เหมือนประสบการณ์ทำงานมันบอกเราว่า ไม่ต้องสื่อสารออกไปมากก็ได้แค่ตรงประเด็นก็พอ ในวันนี้เราเลยเลือกที่จะทำทุกอย่างให้เรียบง่ายขึ้น”

อพาร์ตเมนต์คุณป้าคือการทดลองครั้งสำคัญ

“ช่วงวัยรุ่นผมเคยทดลองว่าดนตรีแบบที่เราทำจะเป็นอาชีพได้ไหม ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ อพาร์ตเมนต์คุณป้าก็เป็นการทดลองหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของผม ในวันนี้ผมว่าอพาร์ตเมนต์คุณป้ามันก็มาเจอแล้วนะ เจอจังหวะของชีวิตที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม วงเราอาจจะไม่ได้เป็นวงที่โด่งดังที่สุดหรือประสบความสำเร็จที่สุด แต่วงดนตรีที่มีอายุกว่า 25 ปี แล้วไม่เคยเปลี่ยนสมาชิกเลย ผมว่ามันมีน้อย แล้วจุดนี้ผมว่ามันเป็นส่วนผสมที่สำคัญที่สุด 

“ถึงแต่ละคนจะมีพื้นฐานหรือความถนัดด้านดนตรีที่ต่างกันในตอนแรก แต่พอเรามาอยู่รวมกันนานๆ มันเหมือนกับว่าเราเป็นสลัดที่มาคลุกเคล้ากัน จนส่วนประกอบของร็อกแอนด์โรลมันเริ่มแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนเลยจะเห็นว่า ซาวนด์ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าตั้งแต่วันนั้นจนถึงทุกวันนี้ จะมีความดิบของร็อกแอนด์โรลมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้มข้นยิ่งขึ้น

“ขณะเดียวกันเราก็นำสีสันจากดนตรีแนวอื่นที่เราสนใจอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ ฮิปฮอป มาประกอบกับดนตรีของเราเพิ่มเติม เหมือนเป็นการปรุงรสชาติของวงร็อกแอนด์โรลไปในตัว เพราะเราไม่ได้เป็นวงร็อกแอนด์โรลที่มีมู้ดเดียว แต่เรายังมีรสชาติจากดนตรีแนวอื่นๆ มาผสมผสานตลอด”

ในวันนี้มองว่าดนตรีเป็นเรื่องของเพื่อนฝูง

“ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่อยู่กับสิ่งนี้มาผมรู้สึกว่า ดนตรีมันคอยเชื่อมโยงบุคคลที่แตกต่างกันให้มารู้จักกันได้ ไม่น่าเชื่อว่า พลังงานเสียงเล็กๆ ที่เราสร้างขึ้นมา จะไปกระทบใจใครหลายๆ คน แล้วมันก็ดึงดูดคนที่ศีลเสมอกันมาเจอกันได้ 

“อีกมุมหนึ่ง นักดนตรีก็เป็นอาชีพหนึ่งที่เราทำ เพื่อให้เราได้เรียนรู้สิ่งรอบข้าง และวัฒนธรรมความคิดที่แตกต่าง เพราะการเล่นดนตรีไม่ใช่แค่การส่งเสียง แต่เราต้องหัดฟังเสียงรอบข้างด้วย 

“แน่นอนว่าตอนที่เราเขียนเพลง มันมีความเผด็จการ ตัวหนังสือนี้ เรื่องราวนี้ เราเป็นคนเขียน แต่ในขณะเดียวกันเวลาคนอื่นฟัง เขาจะคิดเหมือนเราหรือเปล่าก็ไม่สามารถไปบังคับความคิดเขาได้ ถึงลึกๆ เราจะอยากให้เขาเข้าใจเราในแบบที่เราเป็น แต่ในชีวิตจริงมันเป็นไม่ได้

“ดังนั้นผมเลยมองว่า ‘อิสระในดนตรี’ มันก็มีเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง หลังๆ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า การที่เราได้เป็นพื้นที่เปิด สำหรับทุกการตีความ ให้พื้นที่กับผู้ฟังได้ตีความบทเพลงของผมในแบบที่เขาอยากให้เป็น มันก็มีเสน่ห์และเป็นสิ่งที่ผมก็เอนจอยกับมันมากเหมือนกัน 

“แต่มากกว่านั้นดนตรีมันเปิดโลกของเรา พาเราไปเจอมิตรภาพ เพื่อนฝูง แล้วก็ทำให้เรามีวันนี้ เหมือนกับว่าดนตรีพาเราไปเจอผู้คน แล้วผู้คนก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างเสียงดนตรี เพื่อนหลายๆ คนที่รู้จักในวันนี้ เพราะมีดนตรีชี้นำ การที่เราได้รู้จักผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ช่างภาพ ผู้กำกับ ศิลปิน นักเขียน ก็มีดนตรีนี่แหละที่พาเราไป 

“ในวัยนี้ผมเลยให้คุณค่ากับดนตรีในเรื่องของคุณภาพและเพื่อนฝูงครับ เพราะทุกครั้งที่เราขึ้นไปแสดง มันทำให้เราได้เห็นเพื่อนฝูงที่ผ่านอะไรมาด้วยกัน ผ่านชีวิตช่วงขาขึ้นขาลงมาด้วยกัน มิตรภาพตรงนี้มันเลยมีความสำคัญกับเรามาก เพราะวงดนตรีไม่ได้มีแค่ 5 คนที่คุณเห็นบนปก ยังมีบุคคลเบื้องหลังมากมายไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีสมทบ ทีมงาน ค่ายเพลง ทีมซาวนด์  ช่างกล้อง ทีมมิวสิกวิดีโอ ทุกคนที่เชื่อในไอเดียของเราและพร้อมจะทำงานไปกับเรา ผมว่าเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ผมยังทำงานดนตรีอยู่ทุกวันนี้ เพราะยังมีเพื่อนฝูงและคนที่เชื่อเหมือนๆ กัน อยู่ครับ

“แต่ถ้าถามว่าเสียงดนตรีมีความหมายกับชีวิตผมเท่าเดิมไหม อาจจะน้อยลงแล้วนะ ทุกวันนี้ ในหนึ่งวันผมฟังเพลงน้อยลง ผมให้เวลากับความเงียบและความว่างมากขึ้น ให้ความสำคัญกับผู้คนรอบข้างมากขึ้น ดนตรีมันคงกลายเป็นเรื่องของมิตรภาพและเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว”

ผลการทดลองสรุปว่า มาถึงจุดนี้ด้วยจังหวะชีวิต

“มันแน่นอนว่าทุกย่างก้าวที่เราทำ ทุกถนนที่เราเดินทางไป เรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่มั่นคง แต่การไม่เชื่อก็มีข้อดีตรงที่ทำให้เรามีแผนสองให้กับชีวิตเสมอ ทุกการเดินทางของอพาร์ตเมนต์คุณป้า มันเลยเป็นสิ่งที่เราเตรียมแผนมาแล้วว่า เราต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง เราต้องพร้อมจะเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้น เป้าหมายแรกของการทำวงเลยไม่ใช่การเลี้ยงชีพ แต่คือการสร้างงาน  

“ยอมรับตามตรงว่าในตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจว่าเพลงของจะเป็นที่นิยม แต่มาถึงวันนี้มันไกลกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในตอนนั้นมาก เป็นโบนัสที่ถ้าย้อนกลับไปสมัยตั้งวงใหม่ๆ คงไม่เชื่อว่าจะมาถึงขนาดนี้ได้เหมือนกัน 

“พอมาถึงวันนี้ผมว่าหลายอย่างมันเป็นเรื่องของจังหวะ สมัยก่อนถ้าถามว่าอะไรทำให้เราเดินมาถึงตรงนี้ได้ อาจจะตอบว่าเป็นที่ความสามารถ ความมุ่งมุั่น ความตั้งใจ  ความคิดสร้างสรรค์ของเรา  แต่ตอนนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของจังหวะ  เพราะการที่คนหนึ่งคนเลือกจะทำอะไร แล้วดันมาเจอกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ ที่เติมความฝันนั้นได้แบบพอดี มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับทุกคนนะ มันต้องอาศัยจังหวะเวลาด้วย 

“เพราะในวันที่เราตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันทำให้เราไม่ได้ทำอีกหลายๆ อย่าง แต่มันก็เป็นธรรมดาที่ประตูบานหนึ่งปิด บานหนึ่งจะเปิด ทุกวันนี้ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองที่เลือกถูก แล้วพาตัวเองมาได้ถึงจุดนี้ครับ 

“เพราะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น มันส่งผล”

รายละเอียดเพิ่มเติม 

ติดตามผลงานศิลปินได้ที่ : https://www.facebook.com/apartmentkhunpaa?mibextid=LQQJ4d

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่