รอบปีที่ผ่านมา การเกยตื้นของสัตว์ทะเลที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกเป็นข่าวให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
ประกอบกับรายงานของ Ocean Conservancy ที่ระบุว่า 5 ประเทศในเอเชียทิ้งขยะลงทะเลมากกว่าประเทศอื่นๆ รวมกัน หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
ในฐานะประชากรแห่งประเทศนี้เราทำอะไรได้บ้าง นั่นคือคำถามสำคัญ
ความจริงเรื่องขยะเป็นปัญหาที่พวกเรารับรู้กันมาช้านาน ในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและประชาชนต่างออกมาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ Trash Hero กลุ่มผู้พิชิตขยะโดยการลงมือเก็บขยะร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ พวกเขาเริ่มต้นที่เกาะหลีเป๊ะก่อนจะกระจายกิจกรรมเข้าสู่หลากหลายพื้นที่ในไทย รวมทั้งทั่วโลกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้พวกเขามีเครือข่ายทั้งหมดกว่า 60 พื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ Trash Hero Bangkok นั่นเอง
เก็บขยะกับ Trash Hero Bangkok
Trash Hero Bangkok เริ่มต้นโดยกลุ่มบริษัท Starboard ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเล จึงเข้ามาร่วมกับ Trash Hero Thailand จัดตั้งกลุ่มเพื่อทำความสะอาดบริเวณบึงตะโก้ โดยโจ–กฤษณ์ ดำรงวิวัฒน์ เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาได้นำอุปกรณ์ทางน้ำอย่าง paddle board มาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บขยะในคลอง
“เราอยากจะใช้ความสามารถพิเศษของเราให้เป็นประโยชน์ เก็บขยะในที่ที่คนอื่นเขาเก็บไม่ได้ คือลงไปเก็บในน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการเก็บขยะ ตอนที่เราเริ่มกิจกรรมคนก็อยากจะลองไป เขาไม่ได้มองว่าการไปเก็บขยะเป็นเรื่องเหนื่อย ร้อน มันเป็นการเปลี่ยนมิติของการเก็บขยะให้มีความหลากหลาย ความสนุก กับไลฟ์สไตล์มากขึ้นครับ”
ระยะเวลากว่า 3 ปีมีเหล่าอาสาสมัครเข้าไปร่วมเก็บขยะด้วย paddle board อย่างหลากหลายทั้งไทยและต่างชาติทุกวันพฤหัสบดี แต่แล้ววันหนึ่ง บิ๊บ–วรวัฒน์ สภาวสุ หนึ่งในอาสาสมัครของทีมก็เริ่มคิดอยากให้คนเมืองได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกันเยอะๆ ในพื้นที่ชุมชนเมืองและจัดกิจกรรมในวันหยุด
“ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มยังไง ปรากฏว่ามีฝรั่งชื่อ ทริสเตียน เรียนปริญญาตรีอยู่ที่ Texas เขามาฝึกงานอยู่เมืองไทย 2 เดือน ทีนี้อีก 2 วันจะกลับ เขาเลยจัดกิจกรรมเก็บขยะที่ถนนพระราม 9 ตอนนั้นคนไปร่วม 10 คน มีผมกับอาน่าไปร่วมด้วย โอ้โห ครั้งนั้นคือ inspire ให้เรารู้สึกว่าเฮ้ย ต่างชาติทำได้ แล้วทำไมเราคนไทยจะทำไม่ได้ มันเป็นพลังส่งต่อให้เราอยากทำบ้าง”
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกิจกรรมเก็บขยะที่ชุมชนบึงพระราม 9 แห่งนี้ บิ๊บเล่าว่าที่นี่อยู่ในเขตที่ดินของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำริให้มีการทดลองแก้ปัญหาน้ำเสียด้วยการเติมอากาศและพัฒนาพื้นที่บวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ให้มีความยั่งยืน แต่วันที่เข้ามาเขากลับเจอขยะกระจัดกระจายทุกที่ จึงทำให้เกิดแรงผลักดันอยากจัดกิจกรรมเก็บขยะขึ้น นอกจากนั้นบิ๊บยังได้ชวน Precious Plastic Bangkok กลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการรีไซเคิลขยะมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ความร่วมมือการจัดการขยะในชุมชนบึงพระราม 9 ที่เต็มไปด้วยความรู้จึงเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมานับว่าเป็นกิจกรรมที่จัดเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ผู้มาเข้าร่วมมีทั้งไทยและต่างชาติ บางคนเพิ่งมาเข้าร่วมครั้งแรก เช่น กุ้ง–จิราพร ศรีดิ ชาวชุมชนบึงพระราม 9 ที่อาสาพาเราเดินเก็บขยะในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่บนบกจนถึงในน้ำกันเลย
“ปัญหาของที่นี่คือบางทีถังใส่ขยะมันไม่พอ แล้วรถขยะไม่ได้มาประจำ ถ้าเราเร่งเขาไป 2-3 วันหยุดอีกแล้ว ขยะมันก็ล้น หมาก็เข้ามาคุ้ย” ระหว่างทางการเดินเก็บขยะ พี่กุ้งคอยเล่าให้ฟังถึงปัญหาเรื่อยๆ พร้อมชี้ให้ดูแต่ละพื้นที่ “วันก่อนเพิ่งเก็บกระทงกันไปเอง เริ่มเก็บตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนเก้าโมงเช้านู่น เยอะมาก วันนั้นเหนื่อยเลย”
หลังจากพวกเราเดินเก็บขยะกันรอบพื้นที่ในชุมชนกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาแยกขยะโดยอาสาสมัครทุกคนจะนำขยะที่เก็บได้มารวมกัน และแยกขยะแต่ละประเภทออกมา เมื่อนำมานับแล้วพวกเราเก็บขวดน้ำพลาสติกได้ 677 ขวด ฝาขวด 1,685 ฝา หลอด 1,491 หลอด ขวดแก้ว 410 ขวด กระป๋องน้ำ 143 กระป๋อง และถุงพลาสติก รวมถึงขยะอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเรานับไม่ไหว
“พอคนเริ่มมาเก็บ เขาจะรู้แล้วว่าการเก็บมันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขยะพวกนี้มันมาจากไหน ก็มาจากพวกเราที่เริ่มต้นใช้มันนั่นแหละ ก่อนเราจะไปเจอที่ทะเล แม่น้ำ ที่ต่างๆ มันมาจากเรา ซึ่งกระบวนการเก็บขยะครั้งนี้มันจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่าเราต้องลดใช้พลาสติก เปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้สิ่งของที่ใช้ซ้ำได้ อย่างบิ๊บพกกระติกน้ำ ทุกคนที่นี่ก็เหมือนกัน มาร่วมกิจกรรมกับเรา เรามีน้ำให้ จะเห็นว่าทุกคนต้องพกกระบอกน้ำของตัวเองมานะ ไม่งั้นถ้าเราแจกแก้วมันก็คือการสร้างขยะเพิ่มอีก”
และนี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ Trash Hero สอดแทรกให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
“เราว่าพอร่วมกิจกรรมแล้วมันสร้างความตระหนักให้เราจริงๆ นะ เพราะรู้สึกว่าถ้าเลิกใช้มันก็ไม่ต้องไปตามเก็บ ตอนแรกเราก็เริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อน เช่น ลดใช้ถุง เปลี่ยนมาใช้กระติกน้ำแทนขวดน้ำ ก็ค่อยๆ เริ่มไป แล้วยิ่งเวลามีคนมาบอกในเฟซบุ๊กว่าเขาลดใช้ถุงพลาสติกเพราะเห็นเราทำ เราก็ยิ่งดีใจ เฮ้ย นี่เราสามารถ inspire คนอื่นได้ต่ออีก” อาน่า–อนรรฆนง ชื่นพุฒิ หนึ่งในอาสาสมัครเล่าให้เราฟัง
“เราเลยรู้สึกว่าได้พลังบวกทุกครั้งที่มาเก็บขยะ มาเจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เพราะทุกคนสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ทำสิ่งต่างๆ แล้ววันหนึ่งก็คิดว่า เออ เราอาจจะไม่ต้องรอให้คนอื่นจัดก็ได้ พอได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ เราเลยเดินเก็บขยะขึ้นดอยสุเทพเลย สนุกมาก แล้วมันก็ส่งพลังบวกต่อให้คนอื่นได้อีก”
รีไซเคิลขยะกับ Precious Plastic Bangkok
เมื่อเก็บขยะเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะไปเรียนรู้การรีไซเคิลกับกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าของขยะใช้แล้วอย่าง Precious Plastic Bangkok
ขอเล่าก่อนว่า Precious Plastic เป็นแนวคิดของดีไซเนอร์หนุ่มดัตช์ ชื่อ Dave Hakkens เขาริเริ่มสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติกให้ออกมาเป็นวัสดุใหม่ๆ โดยต้องการให้คนอื่นสามารถเข้าถึงเครื่องนี้ได้ง่ายๆ แค่ทำตามวิธีทำในออนไลน์ที่เขาได้เผยแพร่เอาไว้ในเว็บไซต์ preciousplastic.com ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีผู้เข้าร่วมจนเกิดเป็นกลุ่ม Precious Plastic ทั่วโลก
โดมินิก–ภูวสวัสดิ์ จักรพงศ์ ประธานของ Precious Plastic Bangkok บอกกับเราว่าในไทยเองก็มีกลุ่มนี้อยู่ 3 ที่ด้วยกันนั่นคือเชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ
“ผมมองว่าการแก้ปัญหาการใช้พลาสติกแบบ single-use เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่พวกเราก็อยากเปลี่ยนความเข้าใจของคนเกี่ยวกับพลาสติกใหม่ ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่เราอยากให้พวกเขามองว่ามันมีค่าที่จะนำกลับมารีไซเคิลมากกว่าโยนทิ้งไป”
“ผมว่าไอเดียนี้เหมาะกับคนไทยนะ เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ปรับตัวได้เร็ว ถ้าพวกเขารู้จักกับวิธีการรีไซเคิลแล้ว พวกเขาจะไม่มองมันเป็นแค่การทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาดขึ้นเท่านั้น แต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในรุ่นต่อไปได้มองเห็นคุณค่าของพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ผลิตสินค้าอื่นๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย”
หลังจากเก็บขยะกันมาแล้ว เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเจ้า 2 เครื่องที่ตั้งอยู่นี่ช่วยให้เรานำขยะมารีไซเคิลใหม่ได้อย่างไรบ้าง
วิธีการคือเราจะแยกประเภทพลาสติกก่อน เช่น ประเภท PE PVC PET PP เพราะแต่ละอย่างจะใช้ความร้อนในการหลอมละลายไม่เท่ากัน จากนั้นจะนำแต่ละประเภทไปบดด้วยเครื่องบด เพื่อให้ได้พลาสติกเป็นชิ้นเล็กๆ
เมื่อได้พลาสติกที่ได้รับการบดแล้วเราจะนำไปเข้าสู่เครื่องอัดขึ้นรูป ซึ่งจะเป็นเครื่องที่หลอมละลายพลาสติก โดยแต่ละประเภทก็จะใช้ความร้อนที่แตกต่างกัน ซึ่ง Hakkens มีตัวอย่างพลาสติกที่หลอมละลายในความร้อนต่างๆ ให้ดูในเว็บไซต์ เมื่อได้ความร้อนตามที่ต้องการแล้วพลาสติกจะถูกหลอมละลายออกมาเป็นเส้น จากนั้นก็จัดการให้มันออกมาเป็นรูปร่างตามที่เราต้องการผ่านแม่พิมพ์ได้เลย
งานนี้เราเลยได้เห็นถ้วยใบใหญ่ โคมไฟ จานรองแก้วที่มาจากขยะกันสดๆ
“ทุกคนมีบทบาทที่ต้องทำ แล้วตัวเราเองก็ต้องเก็บด้วย ยังไงๆ มันก็มีพลาสติกที่อยู่ในโลกนี้ ขยะท่วมท้นอยู่แล้ว อดีตเราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก เราใช้ชีวิตมากี่ปี ขยะหนึ่งในนั้นก็เป็นของเราชัวร์ๆ เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่พื้นฐานคือรับผิดชอบ ต้องลงมือ ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ไปเป็นภาระต่อสัตว์อื่นที่เขาไม่รู้เรื่อง” บิ๊บกล่าวทิ้งท้าย
จากประสบการณ์ครั้งนี้ เราค้นพบว่าการจัดการปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกเป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากตัวเราเอง เพียงแค่ลดการใช้หรือนำกลับมารีไซเคิลใหม่เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญในภาพรวมคือแรงสนับสนุนโดยมาตรการจากภาครัฐที่ควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญด้วย
เพราะการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต้องอาศัยทุกๆ ฝ่ายหลายๆ มือร่วมด้วยช่วยกัน
หากใครสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเก็บขยะและเวิร์กช็อปการรีไซเคิลพลาสติกสามารถติดตามได้ในเพจ Trash Hero Bangkok, Trash Hero Thailand และ Precious Plastic Bangkok ได้เลย