การผจญภัยและเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะศิลปินของ ท็อป จ่างตระกูล

Highlights

  • ท็อป–ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล หรือ 'ท็อป จ่างตระกูล' คือศิลปินผู้เคยโลดแล่นในแวดวงศิลปะแนวคอนเซปต์ชวลของอเมริกาในช่วงปลายยุค 90s ก่อนกลับเมืองไทยมาเป็นศิลปิน ทำรายการเกี่ยวกับศิลปะทางยูทูบ ก่อนผันตัวมาเป็นผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาด้านงานดีไซน์ชื่อ Farmgroup
  • นับตั้งแต่กลับมา ผลงานเด่นของท็อปคืออีเวนต์ Hotel Art Fair ที่เขาชักชวนศิลปินไทยและต่างประเทศมาแสดงงานในห้องพักของโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของเมืองไทย
  • ไม่นานมานี้ ท็อปตัดสินใจลาออกจากงานบริษัทอันมั่นคงเพื่อกลับสู่ชีวิตการเป็นศิลปินเต็มตัว และเปลี่ยนแนวผลงานศิลปะจากคอนเซปต์ชวลเป็นภาพวาดลายเส้นเด็กๆ โดยมีเป้าหมายคือการเลี้ยงดูครอบครัวและมีชีวิตที่มีความสุข

ถ้าเอ่ยชื่อของ ท็อป–ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล วันนี้ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้บริหารของ Farmgroup สตูดิโอกราฟิกดีไซน์และบริษัทให้คำปรึกษาด้านงานออกแบบ ผู้ริเริ่มงาน Hotel Art Fair นิทรรศการศิลปะสนุกๆ ที่เปลี่ยนห้องพักของโรงแรมชั้นนำเป็นแกลเลอรีของศิลปินทั่วเมืองไทยและต่างชาติซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในบ้านเรา

แต่หากย้อนกลับไปในปี 1999 ‘ท็อป จ่างตระกูล’ คือศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงผู้จบการศึกษาจาก San Francisco Art Institute และสร้างชื่อในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของสหรัฐอเมริกาในฐานะศิลปินเลือดใหม่ผู้น่าจับตากับผลงานศิลปะแนวคอนเซปต์ชวลอันซับซ้อน ก้าวล้ำ และแหวกแนว

ท็อป จ่างตระกูล

ยุคนั้นเขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มในนิวยอร์ก ฟินแลนด์ ฮาวาย และเกาหลีใต้ ได้ร่วมแสดงนิทรรศการในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 50 ที่ประเทศอิตาลี ทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมตีพิมพ์ใน The New York Times, Artforum และ Art in America อันเป็นสื่อศิลปะทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เมื่อกลับมาเมืองไทยหลังใช้ชีวิตในอเมริกากว่า 2 ทศวรรษ แวดวงศิลปะรับรู้เขาในบทบาทศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าผู้มีผลงานแปลกแหวกขนบปนห้าวห่าม ควบคู่ไปกับการทำรายการสารคดีออนไลน์ที่นำเสนอเรื่องราวในแวดวงศิลปะอย่าง artscenetv.net ก่อนผันตัวมาทำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ในชื่อบริษัท Farmgroup ร่วมกับมิตรสหาย และห่างหายจากการทำงานศิลปะไปนานหลายปี

ในทศวรรษใหม่ปี 2020 นี้ ท็อปหวนกลับสู่บทบาทศิลปินอีกครั้งกับ ‘Other Worldly’ นิทรรศการภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดในวัยเด็ก ผสมผสานกับประสบการณ์จากภาพยนตร์และหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ ออกมาเป็นภาพวาดเรื่องดวงดาวที่ตกอยู่ในความหายนะซึ่งเข้มข้นและตึงเครียด

ท็อป จ่างตระกูล

To Thine Own Self Be True (2019)

ในคราวนี้ เขาละทิ้งการทำงานแบบคอนเซปต์ชวลอาร์ตอันล้ำสมัยและสลับซับซ้อน กลับมาสู่พื้นฐานของการทำงานศิลปะอันเรียบง่ายอย่างการวาดภาพเล่าเรื่องราวซื่อใส ตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความคาดเดาไม่ได้และจุดเชื่อมโยงอันหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ตัดสินใจว่าจะควบคุมหรือโยงใยเรื่องราวอย่างไรคล้ายกับเป็นนวนิยายส่วนบุคคล

ตัวตน ผลงาน และการหวนกลับสู่บทบาทศิลปินของ ท็อป จ่างตระกูล เป็นอย่างไร เขาพร้อมเล่าให้เราฟัง

ท็อป จ่างตระกูล

 

ที่มาของ Other Worldly เป็นอย่างไร

ช่วงที่ทำนิทรรศการเป็นช่วงที่เราลาออกจาก Farmgroup เราอยากจะรีแบรนด์ตัวเอง ให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง เพราะตอนทำงานบริษัทเราไม่ค่อยได้ทำงานศิลปะมากนัก ซึ่งงานบริษัทเราก็ชอบนะ แต่เราคิดว่าบางทีเราก็อยากทำอะไรมากกว่านั้น ชีวิตคนเราควรจะมีสีสันมากกว่าจะต้องทำงานประจำไปเรื่อยๆ เราก็เลยคิดถึงตอนทำงานศิลปะสมัยอายุประมาณ 14-15 ปี หรือช่วงที่เรามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่นิวยอร์กครั้งแรก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราสนุกและมีความสุขจริงๆ เราอยากจะกลับไปเป็นเหมือนช่วงนั้น ก็คิดว่าจะทำยังไงดี

เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตลอดเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องต่างๆ และทำให้สมองเราไม่หยุดพัฒนา เราก็เลยไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์มาอ่านหลายเล่ม เล่มที่สะกิดใจเรามากที่สุดชื่อ Big Magic : Creative Living Beyond Fear เขียนโดย Elizabeth Gilbert

ในหนังสือเขียนว่าศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์หลายคนชอบคิดว่าวันเวลาที่ดีที่สุดของคุณได้ผ่านไปแล้ว สมมติว่าคุณเป็นนักดนตรี ดีเจ นักเขียน ช่างภาพ หรืออะไรก็ตามแต่ พอทำงานจนถึงช่วงพีคแล้วคุณก็ไปแต่งงาน มีลูก มีภาระต่างๆ คุณเลยไม่สามารถทำสิ่งที่ชอบได้ทำให้ไฟมอดไป หนังสือเล่มนี้บอกว่าคุณยังไม่ต้องลาออกจากงานก็ได้ แต่ลองใช้เวลาเข้าไปในสตูดิโอ ทำในสิ่งที่คุณชอบสักวันละชั่วโมง คุณเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวันเดี๋ยวก็จะมีอะไรออกมาเอง

ช่วงนั้นเรายังไม่ได้ลาออกจากงานที่ Farmgroup พออ่านหนังสือเล่มนี้ ด้วยความที่เราเป็นคนบ้าๆ เราก็พยายามทำตามที่หนังสือบอก ตื่นตั้งแต่ตีห้า เข้าสตูดิโอไปวาดรูป อยากวาดอะไรก็วาด กลายเป็นรูปบ้ารูปบอที่เราไม่ได้เอามาแสดงในนิทรรศการเพราะมันเป็นมุกตลกส่วนตัวที่เราเก็ตอยู่คนเดียว วาดไปวาดมาเราก็เหลือบไปเห็นตัวละครเล็กๆ ที่เราวาดเมื่อปี 2007 จากนิทรรศการเดี่ยวที่  H Gallery เราก็เกิดแรงบันดาลใจว่า “เฮ้ย! ท็อป ยูชอบวาดรูปแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ไอ้ตัวนี้ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าของยูแน่ๆ” เราชอบมากเลยเอาตัวละครตัวนี้กลับมาทำให้มีชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง

ท็อป จ่างตระกูล

การออกจากเซฟโซน ลาออกจากงานประจำที่มีรายได้แน่นอนไม่ทำให้คุณกังวลบ้างเหรอ

พอดีก่อนหน้านี้เรามีเงินเก็บอยู่บ้างเป็นเหมือนเปลนิรภัยของเรา แต่ตอนนี้เงินเก็บเราใกล้หมดแล้วเราก็เลยต้องรีบทำงานออกมาขาย (หัวเราะ) ในหนังสือ Big Magic ที่เราอ่าน เขาบอกว่าต่อให้คุณเจอแพสชั่นหรืองานที่ชอบแล้วแต่ก็ห้ามออกจากงานประจำทันที ให้ทำควบคู่กันไปด้วยจนกระทั่งงานที่คุณชอบประสบความสำเร็จจนเลี้ยงตัวเองได้แล้วค่อยลาออก 

เขายกตัวอย่าง John Grisham (นักเขียนนวนิยายแนวอาชญากรรม / กฎหมาย) ซึ่งทำงานเขียนควบคู่ไปกับงานกฎหมาย พอหนังสือขายดีแล้วถึงค่อยลาออก ที่สำคัญใน Big Magic บอกว่าทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีแพสชั่น คุณแค่ต้องบริหารจัดการมัน หาเวลาสักชั่วโมงสองชั่วโมงตอนเช้า ทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ตอนที่ยังไม่ออกจากงาน เราตื่นตีห้ามาวาดรูปแล้วค่อยไปทำงานตอนสิบโมง ช่วงเวลาที่วาดรูปเวลาผ่านไปเร็วมาก แต่ช่วงเวลาสิบโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็นนี่ผ่านไปช้ามาก (หัวเราะ) เลิกงานกลับมาบ้านเราก็วาดต่อ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็วาด ตอนแรกๆ เราวาดออกมาห่วยมาก วาดไปสักพักถึงเริ่มเข้าท่า รูปมันก็บอกเราว่าลาออกมาเลยดีไหม

 

เดี๋ยวๆ ใครบอกบอกคุณนะ

รูปที่เราวาดบอกน่ะ (หัวเราะ) มันบอกเราว่า ‘ลาออกจากงานดีกว่าไหม มาผจญภัยกับเราเต็มเวลาตรงนี้ดีกว่า’ เราก็เลยคิดว่าน่าจะโอเค โชคดีที่เราเคยทำ Hotel Art Fair มาก่อนทำให้เรารู้จักแกลเลอรีเยอะมาก ไม่เหมือนสมัยที่เรากลับมาเมืองไทยใหม่ๆ เราไม่รู้จักใครเลย ตอนนี้เราทำงานเสร็จก็มีแกลเลอรีแสดงงาน ได้ขายงาน เพื่อที่จะเอาเงินมาทำงานต่อ 

จะว่าไปตอนนี้ชีวิตเราก็ไม่ต่างกับทำงานประจำนะเพราะการเป็นศิลปินอาชีพเต็มตัวก็ต้องมีวินัยในการทำงาน ตื่นเก้าโมงเช้าทำงานจนถึงหกโมงเย็น เราอาจจะไม่ได้อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ติดต่อลูกค้า ไม่ได้ออกไปตรวจงาน แต่นั่งวาดรูปในสตูดิโอ มันเป็นชีวิตอีกแบบที่เราคิดว่าเหมาะสำหรับคนอายุใกล้ห้าสิบอย่างเรา คล้ายๆ เกษียณน่ะ (หัวเราะ) อยู่บ้านวาดรูป เลี้ยงหมา ปลูกบอนไซ เป็นชีวิตที่เงียบสงบจริงๆ

ทำไมคุณถึงตั้งชื่องานล่าสุดว่า Other Worldly 

เราตั้งชื่อว่า Other Worldly เพราะเราสามารถพาตัวละครพวกนี้ไปเที่ยวได้ตลอดเวลา เราอยากพามันไปผจญภัย ตอนเด็กๆ เวลาวาดรูปเราก็เหมือนเด็กทุกๆ คนแหละที่จะวาดตัวละครพระเอกกับผู้ร้ายสู้กัน พอผู้ร้ายโดนยิงเราก็จะเอายางลบลบหัวผู้ร้ายแล้วก็วาดให้มีเลือดออกมา (หัวเราะ) แต่งานชุดนี้เราไม่อยากวาดให้ออกมารุนแรงขนาดนั้นนะ

ภาพวาดชุดนี้มีตัวละครสองฝ่าย ฝ่ายไหนเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายก็ไม่รู้แต่ที่แน่ๆ คือฝ่ายตัวละครใส่หมวกกันน็อกเป็นผู้มาเยือนเมืองหรือดาวเคราะห์แห่งหนึ่งแล้วก็จับตัวละครอีกฝ่ายคือสัตว์ประหลาดบนดาวดวงนี้มาทำการทดลอง เช่น ในภาพชื่อ Free at Last เป็นภาพสัตว์ประหลาดโดนทดลอง เจ็บปวด พอมันหลุดออกมาได้ ก็มาทำร้ายไอ้หมวกกันน็อกพวกนี้ 

ภาพสัตว์ประหลาดที่ถูกจับมาทดลองในห้องทดลอง เราตั้งชื่อว่า No Hard Feelings ได้แรงบันดาลใจจากการดูข่าวพะยูนตายก็เลยวาดเป็นรูปพะยูนถูกเอามาทดลอง สร้างให้เป็นแกะ แล้วก็มีสัตว์ประหลาดสองหัวแอบเข้ามาในห้องทดลองจะมากินไอ้ตัวสวมหมวกกันน็อกอีกที อีกภาพที่ชื่อ Book Worm เราวาดรูปตัวละครใส่หมวกกันน็อกอ่านหนังสือ Big Magic ที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา

ท็อป จ่างตระกูล

No Hard Feelings (2019), Bookworm (2019)

ทำไมตัวละครฝ่ายหนึ่งถึงต้องใส่หมวกกันน็อกด้วย

เราวาดตัวละครใส่หมวกกันน็อกเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เราขึ้นวินมอเตอร์ไซค์บ่อยๆ (หัวเราะ) อีกอย่างคือเราชอบชุดประดาน้ำเพราะมันเท่น่ะ ตอนเด็กๆ เราคิดว่าไม่มีใครเท่เกินกว่าคนที่ใส่ชุดประดาน้ำแล้ว 

ด้วยความที่งานชุดนี้ต่อยอดมาจากงานวาดเส้นที่เราทำในปี 2007 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับรูปที่เราวาดเล่นตอนเด็กๆ เราก็เลยเอางานจากปี 2007 มาแสดงด้วย 2 ชิ้นเพื่อให้คนดูเห็นแรงบันดาลใจของเรา ชื่อ Control Chaos กับ Easy Peacy เล่าเรื่องของโลกในอนาคต เพราะคนชอบถามเราว่า ‘คิดว่าอนาคตจะดีหรือเปล่า?’ แต่เราคิดว่าอนาคตแม่งแย่ว่ะ เพราะมนุษย์เราทำลายธรรมชาติ ตัดต้นไม้ ในภาพเราก็เลยวาดรูปต้นไม้เหล็ก เพราะต้นไม้จริงๆ ถูกตัดจนไม่เหลือแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะต้องทำงานกันหมดยกเว้นตัวละครหนึ่งตัวที่เป็นเจ้านายไม่ต้องทำอะไร นั่งสูบบุหรี่เท่ๆ ชิลล์ๆ อยู่บนเรือยอชต์ (หัวเราะ)

 

คุณวาดงานชุดนี้ด้วยเทคนิคอะไร

กับงานชุดนี้เราไม่ใช้สีอะคริลิกหรือสีน้ำมันเพราะมันยุ่งยาก ต้องมีพู่กัน มีจานสี มีน้ำ บ้านเราเลี้ยงหมาด้วยเราก็เลยใช้สีชอล์กน้ำมันกล่องละร้อยกว่าบาทแบบที่เด็กๆ ใช้ ซึ่งเราแฮปปี้มาก เพราะหนึ่งคือราคาถูก สอง สีชัดเจน วาดเสร็จก็พ่นสเปรย์เคลือบสีลงไป

เมื่อก่อนเราวาดภาพลงบนกระดาษชานอ้อยที่นักเรียนสถาปัตย์เขาใช้ทำโมเดลเอามาต่อกันสองแผ่น แต่เรารู้สึกว่าขนาดเล็กไปหน่อย เราเลยวาดรูปบนกระดาษสีน้ำตาลที่ใช้ห่อของต่อกันสามแผ่น เพราะเราอยากให้ดูเหมือนโทรทัศน์จอยักษ์ในบ้าน คนดูจะได้มองเห็นชัดๆ

ท็อป จ่างตระกูล

ท็อป จ่างตระกูล

Control Chaos (2007), In Transit (2019)

พอวาดรูปสไตล์เด็กๆ แล้ว คุณต้องร่างก่อนไหมหรือทำสดเลย

ส่วนใหญ่จะทำสดๆ เลยนะ เอากระดาษมาเรียงกันแล้วก็วาดเลย บางทีก็วาดในสมุดสเกตช์ก่อนแล้วเอามาวาดลงบนกระดาษแผ่นใหญ่อีกที การที่เราวาดลงบนกระดาษแบบนี้ดีอยู่อย่างคือมันไม่เครียดมาก ผิดก็ไม่เป็นไร ร่างภาพด้วยดินสอ ถ้าไม่ชอบเราก็ลบแล้ววาดใหม่ เสร็จแล้วค่อยลงสี หรือแม้จะลงสีผิดเราก็ยังเอาคัตเตอร์ขูดสีออกแล้วลงสีใหม่ได้ นี่เป็นข้อดีของสีชอล์กน้ำมัน มันมีความยืดหยุ่น เวลาวาดสีทับกันก็สวยดี วาดพวกเส้นตรงเส้นโค้งวงกลมก็ใช้เครื่องมือเขียนแบบของนักศึกษาสถาปัตย์ช่วยเอา

 

งานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดวัยเด็ก แปลว่าคุณเริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่เด็กเลยใช่ไหม

ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย ชีวิตเราง่ายมากด้วยความที่เราเป็นคนโชคดี อยากทำอะไรก็ได้ทำ พอเรียนจบ ป. 6 ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เราก็ไปต่อเกรด 7-8 ที่แคลิฟอร์เนีย แล้วก็ไปเรียนไฮสคูลที่เมาวี ฮาวาย จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ San Francisco Art Institute แคลิฟอร์เนีย เรียนศิลปะ 

คอร์สที่เราเรียนสำหรับสมัยนั้นถือเป็นแนวทางใหม่ คือเป็นสาย performance art บวกกับวิดีโอและ installation ทำงานอะไรส่งก็ได้ เดินเข้าไปในห้องแล้วตดก็ยังเป็นงานได้ ทุกวันคือเซอร์ไพรส์ อะไรแบบนั้นเปิดโลกทัศน์เราจากที่เคยคิดว่าศิลปะต้องเป็นแค่จิตรกรรมหรือประติมากรรม แล้วสมัยที่เราเรียนเขาห้ามทำงานซ้ำ ทุกอย่างต้องใหม่หมด อะไรที่มีให้เห็นในหนังสือคุณจะเอามาแสดงในห้องเรียนไม่ได้  มันล้าสมัยไปแล้ว ทุกคนก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ มาทำ

 

มีงานไหนที่ยังจำได้จนถึงตอนนี้ไหม

งานแสดงในชั้นเรียนครั้งแรกที่เราคิดว่าทำได้ดีชื่อ JK2000 เราเอาคอนเซปต์ของโดราเอมอนมาใช้ ทำเป็นเครื่องมือติดต่อกับชาติที่แล้ว ฝรั่งไม่เคยเจออะไรแบบนี้เห็นแล้วก็งงไปเลย (หัวเราะ) 

งานนี้เป็นงาน assemblage (สื่อประสม) เราเอาแผ่นสเกลตาชั่งมาติดกับแผ่นไม้พิมพ์ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ข้างในมีหลอดไฟและมอเตอร์ เราติดเครื่องมือนี้ไว้กับคีย์บอร์ด เวลาพิมพ์คีย์บอร์ดแผ่นสเกลก็จะหมุนและมีไฟกะพริบตรงตัวอักษรเหมือนเรากำลังสื่อสารกับชาติที่แล้ว ตอนอาจารย์ให้ลองทดสอบเครื่องเราก็ขึ้นไปพิมพ์ แล้วบอกว่าชาติที่แล้วเราเป็นอะไร เป็นผีเสื้อบ้าง เป็นมดบ้าง ย้อนไปได้ 53 ชาติ

JK2000 (1999)

เวลาเราทำงานศิลปะ เราต้องคิดว่ามันเป็นไม้กายสิทธิ์ เสกอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้ เหมือนเวลาเราไปพิพิธภัณฑ์แล้วเห็นถ้วยน้ำใบหนึ่งมีป้ายติดว่าเป็นถ้วยที่พระเยซูคริสต์ใช้ดื่มน้ำ มันก็กลายเป็นถ้วยศักดิ์สิทธ์ขึ้นมาได้ทันที นี่คือพลังของตัวหนังสือและถ้อยคำ เหมือนของวิเศษของโดราเอมอนที่เป็นไปไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง แต่เราก็เชื่อมันได้ เอาสิ่งนี้มาใช้เป็นงานของเราได้ งานชิ้นนี้เป็นทีสิสจบของเราด้วยและได้ไปแสดงในนิทรรศการ NEW INVENTION 2 ที่ Lance Fung Gallery นิวยอร์ก 

หลังจากนั้นเราก็ได้ไปแสดงงานในนิทรรศการศิลปะและสถาปัตยกรรมนานาชาติ Snow Show (2004) ที่ฟินแลนด์ เป็นการเอาศิลปินมาทำงานร่วมกับสถาปนิก เราทำงานร่วมกับสตูดิโอสถาปนิก LOT-EK ทำเป็นงานศิลปะเชิงประสบการณ์ข้างในโครงสร้างคอนเทนเนอร์ที่ LOT-EK สร้างขึ้นมา ในนิทรรศการนี้ยังมี Yoko Ono, Lawrence Weiner, Kiki Smith, Anish Kapoor, Rachel Whiteread ทำงานกับสถาปนิกอย่าง Tadao Ando และ Zaha hadid ด้วย

DS300 (1999), เครื่องเปลี่ยนชะตาชีวิตด้วยการวางมือบนแผ่นไม้ที่ส่งกระแสไฟ 20,000 โวลต์ เผาลบลายมือเก่าทิ้งเพื่อให้ผู้ใช้งานสร้างชะตาชีวิตตัวเองใหม่

CB200 (2001), หวีที่เปลี่ยนผู้ใช้งานให้กลายเป็นชายที่ผู้หญิงหลงใหลเพียงแค่การหวีครั้งเดียว

ฟังดูสนุกมาก ทำไมคุณถึงตัดสินใจกลับเมืองไทย

ช่วงนั้นเราอยู่ที่นิวยอร์กจนมีเหตุการณ์ 9/11 เรารู้สึกว่าชีวิตไม่ค่อยปลอดภัยแล้วก็เลยกลับเมืองไทยมาทำรายการทีวีในยูทูบชื่อ artscenetv.net เพราะเรารู้ว่าเรายังไม่รู้จักใครเลยในเมืองไทย ทางเดียวที่จะรู้จักคนในวงการศิลปะที่นี่ก็คือต้องไปสัมภาษณ์แกลเลอรี สัมภาษณ์ศิลปินตามงานเปิดนิทรรศการต่างๆ เอามาลงยูทูบ ทำไปทำมาเรารู้ว่างานแบบนี้ไม่น่าจะได้เงินแน่ๆ ยิ่งทำยิ่งจน (หัวเราะ) เพราะเราก็หาสปอนเซอร์ไม่เป็น เราก็เลยมาทำงานกับบริษัท Farmgroup เขาเป็นที่ปรึกษาทางด้านศิลปะและดีไซน์ เราก็ช่วยออกไอเดียในการแขวนงาน การติดตั้งงาน และสร้างโปรเจกต์ Hotel Art Fair ขึ้นมา 

พอทำงานประจำที่ Farmgroup มาเกือบ 5-6 ปี เราก็รู้สึกว่าอยากกลับมาทำงานศิลปะ อยากพัฒนาศักยภาพของตัวเอง อยากวาดรูป อยากอยู่ได้ด้วยการขายงานศิลปะ เหมือนคำฝรั่งที่เขาบอกว่า ‘If you do what you love, you’ll never work a day in your life.’ เราเคยได้ยินคำนี้มานานจนกระทั่งถึงช่วงที่เรากลับมาวาดรูปนี่แหละเราถึงรู้สึกว่าคำพูดนี้แม่งโคตรจริง แต่ขอเติมวงเล็บหน่อยหนึ่งว่า ‘If you do what you love, and get money, you’ll never work a day in your life.’ เพราะถ้าทำแล้วไม่ได้ตังค์มันก็ไม่มีความหมายใช่ไหม จะทำไปทำไมวะ (หัวเราะ) 

ท็อป จ่างตระกูล

ช่วงนี้เราได้ทำในสิ่งที่เรารักเราก็ต้องทำเต็มที่แล้วก็ต้องโปรโมตมันนิดหนึ่งเพื่อเราจะได้วาดรูปทุกวัน เราไม่อยากไปทำอย่างอื่นแล้ว ความสุขของเราอยู่ที่การได้ทำงาน ได้เห็นงานของเราเสร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อย่างการทำงานออฟฟิศหรือทำงานอื่นๆ กว่าจะเสร็จมันนานแต่เราคิดว่าศิลปินหลายคนมักจะค่อนข้างสมาธิสั้น รออะไรนานๆ ไม่ได้ (หัวเราะ)

เวลาเราวาดรูป พอเริ่มเอากระดาษมาเรียงต่อกัน เริ่มลงดินสอ เราก็จะรู้สึกว่า ‘โอ้โห อีกตั้งไกลนะเว้ยกว่าจะเสร็จ’ จากนั้นเราก็คิดในหัวว่า ‘ถ้าเกิดอีกตั้งไกลกว่าจะเสร็จ มึงต้องรีบทำ เดี๋ยวนี้สิเว้ย’ พอเราวาดเสร็จสักช่องก็คิดว่ายังเหลืออีกสองช่อง พอเสร็จช่องที่สอง ก็คิดว่า เอาเว้ย เหลืออีกช่องเดียวแล้ว วาดๆ ไปสักพัก เฮ้ย มันเสร็จหมดแล้วว่ะ เราก็ค่อยถอยออกมาดูว่าจะเก็บรายละเอียดที่เหลือยังไง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเอนจอยที่จะทำ

 

ทั้งที่สมัยก่อนคุณเอนจอยงานคอนเซปต์ชวลมากๆ ทำไมปัจจุบันถึงเลือกทำงานแนวนี้

สมัยที่อยู่นิวยอร์กหรือตอนกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ เราทำงานศิลปะแบบคอนเซปต์ชวลอาร์ตเพราะเราเรียนจบมาจากเมืองนอก เราได้อิทธิพลจากคนโน้นคนนี้มา ช่วงนั้นเราทำงาน installation ใช้สูตรเรขาคณิตมาทำงานศิลปะ ป้วนเปี้ยนอยู่ในโลกจินตนาการ ขึ้นยานอวกาศ บินไปเจอดวงดาว เพราะตอนเด็กๆ เราดูหนังไซไฟเยอะ

สมัยโน้นเรายังมีแรงที่จะขึ้นวินมอเตอร์ไซค์หรือขึ้นรถแท็กซี่ไปซื้อของมาทำงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ต่อไฟเอง ถ้าเก็บงานไม่ดีสายไฟก็ขาด ช็อต มันเหนื่อยไง แต่ตอนนี้เวลาทำงานศิลปะ เราอยากนั่งอยู่บ้านวาดรูป เปิดพัดลม ฟังเพลงยุค 80s เช่น New Order, The Smiths, The Cure กินกาแฟ สูบบุหรี่เป็นบางที เบื่อๆ ก็มานั่งเล่นกับหมา ตกเย็นก็ออกไปรับลูก วาดเสร็จก็พ่นสเปรย์ให้สีไม่ลอก ใส่กรอบ เสร็จ เราอยากจะทำแค่นั้นพอ

Snow Show (2004)

อาจเพราะด้วยความที่ตอนนี้คุณมีครอบครัวแล้วด้วย

ใช่ เราคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันนะ เมื่อก่อนเราทำงานแบบเอามันไว้เยอะมาก ตอนแสดงนิทรรศการเดี่ยวชื่อ More of the Same ที่ Whitespace Gallery เราทำงานชิ้นหนึ่งชื่อ He who must be obeyed เป็นเทียนรูปจู๋ยาวออกมาแล้วมีไส้เทียนให้จุดไฟตรงปลายจู๋ งานมันกระแทกหน้าคนดูแต่เรามาคิดๆ ดูอีกที เราว่างานที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆ คนดูก็จะงงๆ แล้วก็คงไม่มีใครจะเอางานรูปจู๋ยาวๆ ไปตั้งไว้ที่บ้านใช่ไหม (หัวเราะ)

 

ตอนที่ทำงานแบบสมัยก่อนนี่ขายได้บ้างไหม

ตอนแสดงนิทรรศการครั้งแรกที่นิวยอร์กเราได้รีวิวจากนิตยสาร The New York Times, Artforum และ Art In America ซึ่งเป็นเหมือนฝันเปียกของเด็กที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยเลย พอเราได้ลงสื่อพวกนี้ก็กลายเป็นจุดสนใจ คนก็มาซื้องานกัน ดรอว์อิ้งนี่ขายได้หมดเลยเพราะสมัยนั้นงานเราก็ไม่ได้แพงมาก ราคา 2,000-3,000 ดอลลาร์ มันก็เป็นกำลังใจให้เราบ้าง แต่เราอยู่นิวยอร์ก ได้เงินมาแป๊บเดียวก็หมดเพราะค่าครองชีพสูง ยิ่งพอเราอายุสามสิบกว่าๆ เราก็ไม่ค่อยคล่องตัวเหมือนสมัยยี่สิบ การแข่งขันก็สูง และก็ไม่มีใครอยากซื้องานของศิลปินอายุมาก เพราะเด็ก 25-26 ก็สดกว่าเราใช่ไหม แต่อันนี้ก็แล้วแต่คนน่ะนะ 

กลับมามองชีวิตเราตอนนี้ เราอายุ 49 เกือบจะ 50 แล้ว เราพบว่าสิ่งที่เราอยากจะทำไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่ในตัวเรา เราคิดว่านี่เป็นเหมือน the second renaissance เป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของเรา 

Welcome to the Jungle (2009)

ครั้งแรกคือตอนเราไปเรียนเมืองนอก ได้ไปเห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง เราก็จับแพะชนแกะ เอาโน่นเอานี่มาผสมปนเปกัน มันได้ความดิบ สดใหม่ เต็มไปด้วยพลัง ตอนนี้ถึงเราจะไม่มีพลังแบบนั้นแล้วแต่เราก็มีประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าจนถึงตอนนี้ เราแต่งงาน มีลูก เราอ่านหนังสือเยอะแยะ เราเข้าใจชีวิตในระดับหนึ่งว่าถ้าเราอยากจะทำสิ่งนี้ต่อไป อยากให้ชีวิตของเรามีคุณค่า อยากมีความสุข เราต้องทำอะไรบ้าง เราก็คิดว่าเราต้องทำแบบนี้นี่แหละ

เมื่อก่อนเวลาเราส่งงาน อาจารย์ชอบถามว่าทำไมคุณถึงทำงานออกมาแบบนี้ ตอนนั้นเราคิดว่าศิลปินที่เก่งจริงๆ เขาจะบอกไม่หมดแต่จะขยักคำตอบเอาไว้บอกแค่ทีละนิด นั่นคือการเล่นเกมแบบคอนเซปต์ชวลแต่ตอนนี้เราไม่อยากเล่นเกมแบบนั้นแล้ว 

ตอนนี้ถ้าถามว่าทำไมเราถึงวาดรูปพวกนี้ เราก็ตอบเลยว่ามันทำให้เรามีความสุข ง่ายๆ แบบนี้เลย


นิทรรศการ Other Worldly โดย ท็อป จ่างตระกูล คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ Koan Jeff Baysa จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม – 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ WTF Gallery & Cafe เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 16:00-22:00น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!