“It’s Crazy เป็นนักวิ่งมาราธอนมืออาชีพ มันไม่ง่าย” Tony Payne

One Run Can Change Your Day, 

Many Runs Can Change Your Life

วิ่งเพียงหนึ่งครั้งเปลี่ยนวันนี้ให้ดีขึ้นได้

วิ่งมากครั้งเข้าเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

ข้อความนี้กับภาพกราฟิกนักวิ่งเท่ๆ มีให้เห็นอยู่ทั่วไปบน Pinterest ผมเป็นผู้นิยมสะสมข้อความสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะข้อความที่ว่าด้วย “แรงผลักดันให้วิ่งมาราธอน”

ไม่มากก็น้อยเรื่องราวของโทนี่ อาทิตย์ เพนย์ ตรงกับข้อความ 2 บรรทัดด้านบน เขาใช้การวิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า มาเปลี่ยนแปลง ผลักดัน ผ่านบททดสอบ ในชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา

4 ปีที่แล้ว ผมรู้จักเขาครั้งแรก เพราะชื่อ “Ar-Thit” หรือ “อาทิตย์” ที่เขาใช้กรอกในระบบ ทำให้คิดว่าคนนี้คือ ใคร? 

นักวิ่งไทยคนแรก คนเดียว ที่สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 18 บนสนามมาราธอนเมเจอร์สของโลกที่ลอนดอนมาราธอน รวมถึงยังวิ่งได้ 2 ชั่วโมง 19 นาทีในเบอร์ลินมาราธอนปี 2017 ด้วยสถิตินี้ ถือว่าเร็วมากในหมู่นักวิ่งมาราธอนไทยรวมถึงในย่านอาเซียน ลองจินตนาการถึงความเร็วที่ 3 นาที 19 วินาทีต่อ 1 กิโลเมตร ทำเช่นนั้นอย่างมั่นคง 42 ครั้ง !

นั่นคือ ความน่าทึ่งของนักวิ่งลูกครึ่งไทยนิวซีแลนด์คนนี้ 

ขยับเข้ามาใกล้จนเป็นเพื่อนที่คอยปรับทุกข์กัน โทนี่ เพนย์ ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายในลอนดอน เพื่อใช้เวลาฝึกวิ่งมาราธอนให้เร็วขึ้น จากนั้นการโลดแล่นบนถนนนักวิ่งอาชีพได้เริ่มต้นขึ้น ตอนปี 2018 

“It’s Crazy” คือ คำพูดติดปากที่โทนี่บอกกับผมบ่อยๆ โทนี่เป็นนักวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดของประเทศไทยคนปัจจุบัน ทำไว้ในสนามที่แฟรงก์เฟิร์ตมาราธอน แต่อีกหนึ่งปีต่อมา เขาบาดเจ็บกัดฟันสู้น้ำตาซึม บนถนนของกรุงโดฮาในงานมาราธอนกรีฑาชิงแชมป์โลกที่ไม่ถึงฝัน DNF – Did Not Finish ออกจากการแข่งขันกลางทาง 

ในปีที่แล้ว แผนการไปซ้อมที่ประเทศเคนย่าของโทนี่คว่ำลงก่อนวันเดินทางเพียงไม่กี่วัน เพราะโควิด-19 โทนี่ถูกจำกัดเวลานอกที่พัก ที่ต้องซ้อมวิ่ง เพราะลอนดอนมีล็อกดาวน์ ทว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงประกอบกับซ้อมดีมาแรมปีที่รอตเทอร์ดัมมาราธอน เมื่อเดือนที่ผ่านมา เขาจำใจต้อง DNF อีกครั้ง เพราะมีสัญญาณเตือนว่า “ก่อนพังสถิติได้ วันนี้ร่างกายนายอาจพังก่อน”

มาราธอนมาเปลี่ยนแปลง ให้บทเรียน ในแต่ละปีที่เขาผ่านพ้น และแน่นอนว่าพรุ่งนี้จะเปลี่ยนไปอีกตราบใดที่เขายังเลือกให้การวิ่งเป็นเรื่องที่คิดถึงทุกวัน ซ้อมอย่างเคร่งครัดเพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จไปทีละวัน 

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ส่งตรงมาจากเมืองเซบีญ่า ประเทศสเปน หลังจากเพิ่งจบการซ้อมวิ่งประจำวัน พิงหลังนั่งตอบคำถามเหล่านี้ก่อนที่อีกไม่ชั่วโมงข้างหน้าจะออกไปซ้อมอีกเซกชั่นในรอบเย็น เขาเตรียมเสื้อผ้าและรองเท้าอีกเซ็ตอยู่ใกล้ๆ พรมมือลงเปิดอ่านอีเมล 

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร?

ผมเกิดและเติบโตที่เมืองดันเนดิน (Dunedin) เมืองเล็กๆ นี้อยู่ห่างไครสต์เชิร์ชราวๆ 200 ไมล์ มองจากแผนที่ทั้งประเทศ ผมอยู่บริเวณเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ บ้านเกิดผมเป็นเมืองเล็กๆ ที่สงบ ประชากรในเมืองรวมกันราวแสนต้นๆ เท่านั้นเอง ภูมิประเทศริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีความเฉพาะทั้งทะเลและภูเขาสูง เมืองแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ บางปีมีมรสุม 

ทุกปีกระแสน้ำพัดพาความอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เมืองนี้แทบจะไร้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คนในเมืองส่วนใหญ่มักทำงานเป็นกะและมีเวลาออกไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรมกลางแจ้ง  ตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาว่างส่วนใหญ่ผมและเพื่อนๆ พวกเราชอบออกไปปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ วิ่งเล่นเตะคลื่นบนชายหาดยาว 

ผมอายุ 32 เมื่อมองย้อนกลับไปในตอนนั้น ความทรงจำตอนวัยเด็กเต็มไปด้วยความสุข เล่นกีฬาทุกวันที่ว่าง แต่เมื่อโตขึ้นผมตระหนักได้ว่า เรามีเชื้อสายเอเชีย (ลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ คุณแม่เป็นชาวลำปาง คุณพ่อเป็นชาวนิวซีแลนด์) ทำให้การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากบ้าง แตกต่างในบางเรื่อง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของเมืองเป็นคนผิวขาวเกือบทั้งหมด นั่นทำให้ผมโดนต่อต้าน ถูกรังแกอยู่บ่อยๆ เพื่อนล้อเลียน หรือการถูกมองเป็นคนนอก  

โชคดีที่การเล่นกีฬาเป็นทางออก ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น เป็นที่ยอมรับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่านี่คือเหตุผลในการก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ  

ชีวิตการวิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่

ทุกปีในโรงเรียนมัธยมปลายจะมีการแข่งขันวิ่งครอสคันทรี สมาชิกชมรมกรีฑาและกองเชียร์ต่างเฝ้ารอการแข่งขันนี้ ผู้ชนะจะได้รับการยอมรับ ทุกคนเอาจริงเอาจัง พอๆ กับการเล่นรักบี้ที่เป็นกีฬายอดนิยม แต่ผมตัวเล็กไป ผมตัดสินใจเล่นครอสคันทรี เข้าร่วมตอนที่เรียนไฮสคูลปีสุดท้าย ผมทำผลงานได้น่าประทับใจ จากระดับโรงเรียนได้ไปแข่งในระดับประเทศ เริ่มมีแผนการซ้อม เก็บตัวเป็นระบบ  

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หลังจากนั้นกีฬาวิ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตวัยรุ่น ทุกวันหลังเลิกเรียน ผมจะวิ่งขึ้นภูเขาประมาณ 20 นาทีเพื่อไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆ วันแล้ววันเล่าผมได้สะสมความแข็งแรงโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งมีโอกาสติดทีมเยาวชนโรงเรียน สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับการวิ่งคือ ยิ่งคุณฝึกซ้อมมากเท่าไหร่ คุณยิ่งพัฒนาได้มากขึ้นเท่านั้น  

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณลาออกจากการเป็นทนายความที่ลอนดอนแล้วผันตัวมาเป็นนักวิ่งอาชีพ 

ผมทำงานด้านกฎหมายมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ผมจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโอทาโก (Otago) เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่เมืองโอ๊คแลนด์ ต่อมาได้งานที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายไอทีในลอนดอน ผมย้ายประเทศมาที่อังกฤษตอนยี่สิบกลางๆ ในช่วงอายุ 21-28 ปี หลายปีนั้นวิ่งเป็นงานอดิเรกที่ผมจริงจังมาก 

แต่ในขณะเดียวกันผมยังทำงานออฟฟิศ เป็นอย่างนั้นมาเรื่อยๆ ผมยังลงแข่งมาราธอนทุกปี ซ้อมวิ่งหลังเลิกงานหรือก่อนเข้างาน ฮอลิเดย์คือการไปแข่งวิ่งมาราธอนต่างเมือง 

ผมวิ่งมาราธอนแรกที่ไครสต์เชิร์ช-มาราธอน ทำไว้ 2:28:59 ชั่วโมง ถือว่าเป็นมือสมัครเล่นที่ค่อนข้างเร็ว ในระหว่างทำงานประจำ ผมคิดถึงเรื่องการเป็นนักกีฬาอาชีพมาหลายปี แต่ไม่ได้ตัดสินใจเลือก 

จนกระทั่งช่วงปี 2017 ต่อ 2018 เกิดความคิดว่า อยากพัฒนาตัวเองเป็นนักวิ่งทีมชาติไทยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ผมทำเอกสารเรซูเม่ติดต่อไปที่สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยเอง 

หลังจากวิ่งมาราธอนจบ 2:19:39 ชั่วโมง ที่เบอร์ลินมาราธอน เป็นเวลาที่เร็วที่สุดจากการซ้อมวิ่งนอกเวลางานทนายความของผม สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยตอบรับผม และนั่น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เป็นนักวิ่งอาชีพอย่างเต็มตัวและลาออกจากงาน

ความท้าท้ายที่สุดหลังตัดสินใจเป็นนักวิ่งมืออาชีพคืออะไร  

หลายคนที่ทราบว่าผมลาออกจากงานมาวิ่งเป็นงานหลักเพื่อเป็นทีมชาติ พวกเขาคิดว่าผมบ้า! It’s Crazy ตัดสินใจดีแล้วใช่ไหม? เพราะหลังลาออกจากงาน รายได้ของผมหายไปเกือบหมด ต้องอาศัยเงินออมที่มีมา แต่วันหนึ่งเงินออมจะหมดลงด้วย ระหว่างนั้นผมยังไม่ได้สัญญากับสปอนเซอร์กับสังกัดไหน  

ผมยังรับจ๊อบงานด้านเอกสารกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้มีค่าครองชีพแบบเดือนชนเดือน แต่ที่ผมมีมากที่สุดคือ เวลา เวลาเพื่อทุ่มเทฝึกซ้อม ผมไปวิ่งที่สวนสาธารณะเช้าเย็น คลายเป็น Office Hours จากนั้น ผมทำได้ดีที่สุดคือ ติดอันดับที่ 18 ในลอนดอนมาราธอน It’s Crazy ในปีที่ลอนดอนร้อนมากๆ 

เป็นนักวิ่งอาชีพ มีเรื่องไหนที่ยากที่สุด 

การต้องอยู่กับอาการบาดเจ็บ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด หลังจากทำผลงานได้ดีที่เอเชียนเกมส์และทำลายสถิติมาราธอนประเทศไทยที่แฟรงก์เฟิร์ตมาราธอนที่ 2:16:56 ชั่วโมง ตอนเดือนตุลาคมปี 2018 เบื้องหลังสถิตินี้ผมผ่านมาหลายสนามยาวนานถึง 6 ปี หลังจากวิ่งมาราธอนแรกที่ไครสต์เชิร์ช แต่หลังจากทำ 2:16 ได้ ผมกลับเจอกับอาการบาดเจ็บที่เป็นอุปสรรคของการซ้อม การแข่งขัน มาตลอดเกือบ 2 ปี

มันเริ่มจาก ผมบาดเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย ในรายการ World Athletic Championships 2019 งานกรีฑาชิงแชมป์โลกที่กรุงโดฮา สนามในฝัน แต่ผมบาดเจ็บ ทำให้วิ่งไม่จบ ต้อง DNF ออกจากการแข่งขัน สนามต่อมา ช่วงปลายปี คือ ซีเกมส์ 2019  ผมผิดหวังอีก ต้องออกจากการแข่งขัน วิ่งต่อไม่ได้เพราะเจ็บ สองเรื่องนี้ทำให้ผมผิดหวัง ในขณะที่แย่และเศร้า มองดูคนอื่นในสนามเดียวกันประสบความสำเร็จ มันห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ แต่ผมพยายามมองในด้านที่ดีว่า เมื่อคุณตัดสินใจมาเล่นกีฬาเป็นอาชีพ หลังจากสตาร์ทไปแล้ว เหตุการณ์ในวันนั้นจะเป็นตัวตัดสิน เราควบคุมบางอย่างได้และมีอีกหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ คุณต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

ในไม่ช้าคุณจะเห็นข้อดีจากเรื่องที่แย่ เรียนรู้ พักให้หาย แล้วออกไปซ้อมให้ไว นักกีฬาอาชีพต้องอยู่กับวัฏจักรแบบนี้ จะมีอารมณ์ที่สวิงไปมาไม่ได้ 2 ปีแรกที่ผมตัดสินใจมาเป็นนักกีฬาอาชีพ นี่คือบทเรียนสำคัญ   

ช่วงเวลาในสนามไหนที่ทำให้คุณภาคภูมิใจที่สุด

เอเชียนเกมส์มาราธอน 2018 เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมวิ่งให้กับทีมชาติไทย แม่ผมเป็นชาวลำปาง ผมเป็นลูกครึ่งไทยนิวซีแลนด์ แต่ไม่เคยมาเมืองไทยเลย การลงสนามระดับนานาชาติให้ประเทศเป็นเรื่องที่ชวนจดจำ อีกอย่างก่อนแข่งผมมีเวลามาราธอนที่ดีที่สุด 2:19 ในขณะที่คู่แข่งนักวิ่งชาติอื่นๆ มาด้วยสถิติความเร็วระดับ  2:06-2:13 It’s Crazy ชั่วโมงนั้น ถึงยังไงต้องทำให้ดีที่สุด ผมจบอันดับที่ 8 เป็น Top 10 ของงาน คุ้มค่ามากที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น 

พอจะบอกได้ไหมว่า ถึงตอนนี้ อะไรคือเป้าหมายในการแข่งมาราธอนของคุณ

มีสองเรื่องที่ผมคิดถึงตลอด คือ หนึ่ง คว้าเเชมป์มาราธอนซีเกมส์ให้ประเทศไทย สอง วิ่งมาราธอนทำลายสถิติตัวเองให้ได้ เร็วกว่า 2:16:56 

การทำลายสถิติตัวเอง คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ไหม 

ตอนนี้ผมมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าในช่วงปี 2018 ร่างกายหายจากอาการบาดเจ็บ ปี 2021 นี้ผมมาลงแข่งมาราธอนในหลายรายการที่กลับมาจัดกันทั้งในอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สะสมประสบการณ์ต่อไป คิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับ 2:13/2:14 ชั่วโมง เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ผมอจัดตารางซ้อมเพื่อวิ่งให้เร็วและมั่นคงขึ้น แน่นอนว่ามันยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันเพื่อจะให้เกิดการ Break Record  

คุณมีนักกีฬาคนไหนเป็นไอดอล

ผมชอบเอเลียด คิปโชเก้ นักวิ่งทีมชาติเคนย่า เขาเป็นนักวิ่งที่มีท่วงท่าสง่างามเรียบง่ายและเป็นมิตรกับทุกคน นอกจากนี้ผมยังชอบเอ็นโกโล่ ก็องเต้ นักฟุตบอลกองกลางทีมชาติฝรั่งเศส เขามีลักษณะนิสัยคล้ายๆ กับคิปโชเก้ตรงที่เป็นคนพูดน้อยต่อยหนัก นักกีฬาที่ผมชื่นชอบ พวกเขาคล้ายคลึงกันตรงที่ แม้มีฝีมือ มีชื่อเสียงแค่ไหน แต่กลับมีชีวิตเรียบง่าย สุภาพ ยินดีซ้อมหนัก ยึดถือสิ่งที่ทำว่านี่คือ ชีวิต Marathon is Life, Football is my Life เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงเสียสละสิ่งที่ไม่จำเป็นของชีวิตออกไปโดยง่าย ไม่แปลกที่คิปโชเก้และก็องเต้ เป็นที่ยอมรับทั้งในสนามและนอกสนาม

การวิ่งเปลี่ยนชีวิตคุณไปอย่างไร 

ตอบยากนะ แต่หากเป็นเรื่องส่วนรวมแล้ว ผมดีใจที่ผมได้ติดทีมชาติ ได้แข่งมาราธอนโดยรู้ว่ามีเพื่อนๆ คนไทยเชียร์อยู่ รับรู้ได้ หากผมยังทำงานด้านกฎหมายต่อไป ผมจะไม่เห็นชีวิตตัวเองด้านนี้เลย จริงอยู่ที่งานประจำสบายกว่า ปลอดภัยกว่าในทางรายได้ แต่นั่นไม่ได้ตอบผมเรื่องความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำอะไรสักอย่างอย่างมุ่งมั่นมา 3 ปี เป็น Journey ที่ดีในช่วงหนึ่งของชีวิต ผมได้รับโอกาสจากหลายๆ คน ให้โอกาสผม การมีเพื่อนและชีวิตที่ดีในชุมชนนักวิ่งเมืองไทย เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมาก การวิ่งมาเปลี่ยนผม และยังคงเปลี่ยนต่อไป

คุณมีวิธีคิดเรื่องขีดจำกัดความเร็ว ความอดทนของตัวเองอย่างไร

ผมเปรียบตัวเองเหมือนคนใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ทุกครั้งต้องออกไปรับแรงกระแทก กลัว กลัวเจ็บ กลัวตาย ต้องถูกแรงถีบจากมัน ตัวทรุดลง แต่กระสุนยังไม่ทะลุ เป็นปฏิกิริยาที่เราต้องรับให้ได้ เพื่อผลักดันตัวเอง ไปยืนตรงนั้น เจอสภาวะนั้น อย่างไรก็ตามผมได้รับบทเรียนครั้งใหญ่หลังจากอาการบาดเจ็บหนักที่กระดูกเชิงกราน จำเป็นต้องพักนาน 3 เดือน ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องขีดจำกัดของร่างกาย ผมต้องฟังทั้งร่างกายและจิตให้มากขึ้น เพราะสองอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

คุณฟังเพลงเพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจไหม ทราบว่าคุณเป็นแฟนเพลงของ Radiohead 

ล่าสุดผมชอบเพลงของศิลปินชื่อ “Caribou” มีเพลงชื่อ “You Can Do It” ทั้งเพลงมีประโยคเดียวนำมารีพีทซ้ำๆ หลายรอบ

สิ่งที่คุณคาดหวังหลังจากนี้คือเรื่องอะไร

ตอนนี้ผมกำลังฝึกซ้อมอยู่ที่เซบีญ่า ประเทศสเปน สภาพอากาศที่นี่ค่อนข้างดีโดยมีอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส ผมกำลังเตรียมความพร้อมสู่มาราธอนสนามใหม่ ที่วางแผนไว้คร่าวๆ ก็คือ คัดตัวเพื่อซีเกมส์ในเดือนพฤษภาคม และเอเชียนเกมส์กลางปีหน้าที่ประเทศจีน 

คุณเห็นตัวเองอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

10 ปี ตอนนั้นคงอายุ 42-43 แล้ว ก็ยังคงใช้ชีวิตเคียงคู่กับการวิ่งไปอย่างนี้ ลงมาราธอนทุกปี ผมคิดว่าจะกลับไปทำงานด้านกฎหมายอีกครั้ง หรือบางทีผมอาจจะเป็นโค้ชอยู่ที่ไหนสักแห่งในเมืองไทยหรือว่าที่ไหนในโลก สร้างนักกีฬารุ่นต่อไป ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักวิ่งเยาวชน

ยังมีความฝันอื่นๆ ไหมที่ไม่ใช่การวิ่ง

ถ้ามีโอกาส ผมอยากจะสร้างแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับนักวิ่ง

ถ้าให้คุณชวนคนที่ไม่เคยวิ่งมาวิ่ง คุณจะชวนเขาอย่างไร 

สำหรับมือใหม่ การวิ่งในช่วงแรกนั้นยากจริงๆ ลืมเรื่องวิ่งเร็วออกไปเลย แต่ให้คิดว่าคุณกำลังทำแบบทดสอบการพัฒนาตัวเอง คุณจะดีกว่าเดิม ถ้าคุณอดทนทำไปเรื่อยๆ จนถึง 3 เดือนคุณจะเริ่มก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ 

หลังจากนั้นคุณจะตกหลุมรักการวิ่ง 

 

ภาพโดย โทนี่ เพนย์ IG @paynetony

AUTHOR