จากงานไม้ถึงดาบพิฆาตอสูร! 7 วัฒนธรรมญี่ปุ่นจากพิธีเปิด-ปิด Tokyo Olympic 2020

นอกจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่ค่อยเป็นใจ ฟ้าฝนก็ไม่อำนวยสักเท่าไหร่เพราะพายุจ่อจะเข้าให้ใจหายเล่นตลอด ทำเอาผู้ชมทางบ้านต้องลุ้นกันสุดตัวว่าพิธีเปิดและพิธีปิดของการแข่งขันกีฬา Tokyo Olympic 2020 จะชวนให้อิ่มใจหรืออิ่มน้ำกันแน่ โชคดีที่พายุไม่แวะมาโตเกียว ทุกอย่างจึงผ่านไปด้วยดี

หลายคนอาจจะเสียดายที่ไม่ได้เห็นพิธีเปิดออริจินอลแบบที่มีภาพหลุดออกมา แต่พิธีทั้งสองก็ได้รับเสียงชื่นชมและมีการแสดงแฝงวัฒนธรรมน่าตื่นเต้นมากมายสมกับที่เป็นประเทศญี่ปุ่น วันนี้เราจึงขอเลือกโมเมนต์จากพิธีเปิดและปิด Tokyo Olympic 2020 มาเล่าถึงวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่วัฒนธรรมป๊อปๆ ที่ทุกคนรู้จักไปจนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน

1. การแสดงก่อสร้างและ 5 ห่วงโอลิมปิกไม้ มรดกถ่ายทอดจากยุคเอโดะ

การแสดงฉากก่อสร้างงานไม้ที่เห็นในพิธีเปิดไม่ได้มีไว้เพื่อความอลังการอย่างเดียว แต่เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อยุคสมัยระหว่างเอโดะกับปัจจุบัน

งานนี้นำแสดงโดย Edo Shobokinenkai ทีมดับเพลิงที่สืบทอดวิชาดับเพลิงมาตั้งแต่สมัยเอโดะร่วมกับดาราและนักเต้นแท็ปแดนซ์ชื่อดัง เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงคือเพลง Kiyari-uta ว่ากันว่าเป็นเพลงที่สืบทอดต่อกันมาในหมู่ช่างทำนั่งร้านตั้งแต่สมัยเอโดะเช่นกัน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจมากคือการที่ทีมงานอุตส่าห์ใส่ดีเทลการเข้าไม้ลงไปในท่อนไม้ที่ใช้แสดงด้วย ส่วนเสื้อผ้าที่เห็นนั้นก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่ใส่ในสมัยก่อนเป๊ะๆ

Credit: Maddie Meyer/AsiaPac/Getty Images

สัญลักษณ์โอลิมปิกที่ทำจากไม้ก็พิเศษไม่น้อย เริ่มจากไม้ที่ใช้ซึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่นักกีฬาแต่ละประเทศนำมาให้ในการแข่งขัน Tokyo Olympic 1964 ป่านี้มีต้นไม้ประมาณ 160 ต้น ปลูกที่เมือง Engaru ในฮอกไกโด ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องห่วงว่าทีมงานจะไปโค่นต้นไม้อันมีค่าเหล่านี้เพียงเพื่อเอามาใช้ในการแสดง เพราะไม้ที่เห็นบนเวทีได้มาจากการตัดขยายระยะซึ่งเป็นวิธีจัดการลดความหนาแน่นของป่า ลดการแก่งแย่งสารอาหารของต้นไม้ และเปิดโอกาสให้ต้นอื่นได้เติบโต ท่อนไม้ที่เห็นในการแสดงช่วงแรกก็เป็นไม้ตัดขยายระยะเช่นกัน โดยนำมาจาก 47 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อเน้นวัฒนธรรมไม้อันแข็งแรงของญี่ปุ่น 

ท้ายที่สุด สัญลักษณ์ 5 ห่วงโอลิมปิกเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตรนี้ ดูไปก็ชวนให้คิดถึงเทคนิค yosegi-saiku ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการนำไม้แต่ละชนิดมาตัดเป็นแท่งรูปทรงต่างๆ ทั้งวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หลากหลายขนาด แล้วประกอบกันเพื่อสร้างลายมงคลที่มีมากกว่า 50 ชนิด จากนั้นก็นำไปจัดวางสร้างแพตเทิร์นหลายร้อยรูปแบบ 

แม้ห่วงไม้จะไม่ได้ใช้เทคนิค yosegi-saiku จริงๆ แต่การที่การแสดงหนึ่งรวมเอาวัฒนธรรมด้านไม้ใส่ลงไปได้เยอะขนาดนี้ก็น่าประทับใจมากแล้ว

Tokyo Olympic
Credit: Dylan Martinez/Pool Photo via AP

2. Pictogram หรรษา

หลังจากชาวญี่ปุ่นสร้าง ‘pictogram’ ขึ้นใน Tokyo Olympic 1964 สัญลักษณ์คนเล่นกีฬานี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ชาวโลกประทับใจและนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ในการแข่งขันครั้งนี้ทีมงานเลยกดดันไม่น้อยในการสานต่อ ตำนานให้คงอยู่

 Masaaki Hiromura ผู้รับผิดชอบการออกแบบสัญลักษณ์พิกโตแกรมของ Tokyo 2020 คิดอยู่หลายตลบก่อนมาจบที่คอนเซปต์ที่เน้นหัวใจของนักกีฬา นั่นคือกล้ามเนื้อที่ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง เขาจึงเพิ่มเส้นโค้งที่เน้นกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกลักษณ์ของกีฬาแต่ละชนิด 

การแสดงพิกโตแกรมในพิธีเปิดที่กลายเป็น talk of the world (คือขั้นกว่าของ talk of the town!) สานต่อแนวคิดนั้นเช่นกัน ในการแสดง พิกโตแกรมมนุษย์สุดทะเล้นทั้ง 3 คน ได้แก่ HIRO-PON (นักแสดงละครใบ้ หนึ่งในดูโอ้ GAMARJOBAT ที่แยกทางกันแล้วแต่เขายังใช้ชื่อนี้ในวงการอยู่) และ MASA กับ hitoshi (ดูโอ้ละครใบ้สุดฮาในนาม GABEZ) อยากสื่อถึงการเคลื่อนไหวของนักกีฬาอย่างเรียบง่ายที่สุด แต่ที่พิเศษคือพวกเขาเพิ่มสิ่งที่ภาพ 2 มิติทำไม่ได้อย่างการสร้างอารมณ์ความรู้สึก จากประสบการณ์การเป็นนักแสดงละครใบ้มายาวนาน HIRO-PON พบว่าการแสดงแบบแอนะล็อกที่ใช้เพียงท่าทางจะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วม เลยออกมาเป็นการแสดงที่น่ารัก น่าลุ้น และน่าประทับใจอย่างที่เห็น

tokyo olympic
tokyo olympic

ในส่วนของการแบ่งหน้าที่ พิกโตแกรมสีน้ำเงินกับขาวที่ทำท่ากีฬาต่างๆ เป็นหลักคือ MASA กับ hitoshi ส่วน HIRO-PON นั้นรับบทช่างภาพเป็นหลัก เขาจะเข้าไปร่วมแสดงด้วยเฉพาะบางท่าที่จำเป็นต้องใช้ 3 คน จริงๆ แล้วนอกจาก 3 คนนี้ยังมีสตาฟคอยช่วยเหลือในการเปลี่ยนฉากต่างๆ อีก 2 คนด้วย

สิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ช่างเรียบง่าย เป๊ะปัง และราบรื่น แต่จริงๆ แล้วเดอะแก๊งเพิ่งได้รับการติดต่อให้มาแสดงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง แถมบรีฟที่ผู้จัดโอลิมปิกมอบให้ก็สั้นมากคือ “ช่วยแสดงเป็นพิกโตแกรมหน่อย” แต่รายละเอียดต่างๆ พวกเขาต้องคิดกันเองทั้งหมด ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจว่าจะแสดงสัญลักษณ์ให้ครบทั้ง 50 ชนิดกีฬาแม้จะได้รับโควตาเวลามาแค่ 4 นาที! แม้สุดท้ายจะต่อรองจนได้มาเพิ่มอีก 1 นาทีก็ยังถือว่าหืดขึ้นคอเพราะท่าหนึ่งมีเวลาทำแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น 

“เพราะนักกีฬาทุกคนรอชมอยู่ในสนาม การเลือกข้ามกีฬาใดกีฬาหนึ่งจึงไม่เคยอยู่ในทางเลือกเลย และถ้ามองจากมุมของนักกีฬาคงไม่มีใครไม่ลงแข่งเพียงเพราะท่านั้นมันแสดงยาก” HIRO-PON ให้สัมภาษณ์กับ NHK ไว้เช่นนั้น

3. พาเหรดนักกีฬาที่มาจากมังงะ

โอตาคุตบมือรัวๆ (ฉันเอง) เมื่อได้เห็นป้ายชื่อประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันทำเป็นช่องบอลลูนคำพูดแบบในหนังสือการ์ตูน ส่วนชุดขาว-ดำที่คนวิจารณ์ว่าดูจ๋อยๆ นิดหน่อยนี้ จริงๆ แล้วก็มีถึง 60 แบบเชียวนะ ออกแบบโดย Keiji Wakabayashi ดีไซเนอร์ผู้เคยร่วมงานกับบริษัทดังมากมาย เช่น UNIQLO เครื่องแบบพนักงานห้างอิเซตัน สาขาชินจูกุ และชุดนักร้องค่ายจอห์นนี่ (อันนี้ไม่รู้เกี่ยวไหม แต่เขาเกิดในปี 1964) 

สำหรับงานพิธีเปิดนี้ เขาตั้งใจให้เสื้อผ้าดูคล้ายภาพลวงตาแบบ Trompe-l’œil ซึ่งเป็นเทคนิคสร้างศิลปะที่ทำให้ภาพ 2 มิติดูเป็น 3 มิติ (ถ้ายังงงเพราะตอนดูคนถือป้ายไม่เห็นจะรู้สึกว่ามัน 3 มิติตรงไหน ขอให้คิดถึงพวก trick art ที่เราชอบไปถ่ายรูปกัน ความตั้งใจเขาคือสิ่งนั้น) ปกเอย กระเป๋าเสื้อเอย ล้วนใช้การวาดเอาแล้วถมด้วยลายที่ชวนให้คิดถึงสกรีนโทนแบบในการ์ตูน

Credit: Kai Pfaffenbach/REUTERS

4. เพลงประกอบดังกระหึ่มจากเกมและอนิเมะ

นอกจากพิกโตแกรม สิ่งที่ทำให้ผู้ชมกรีดร้อง (ด้วยความยินดี) ไปทั่วโซเชียลมีเดียตอนดูพิธีเปิดคือเพลงจากเกมต่างๆ ที่เปิดตอนนักกีฬาแต่ละประเทศเดินเข้า ส่วนถ้าคุณไม่ใช่เกมเมอร์ที่ฟังปุ๊บแล้วนึกชื่อเพลงออกปั๊บแต่เกิดติดใจสิ่งที่ได้ฟังขึ้นมา เราขอก๊อปแปะลิสต์จาก Tokyo Organising Committee of the Olympic and Paralympic Games ไว้ให้ดูเป็นที่ระลึก จะได้ไปเสิร์ชฟังกันได้ง่ายๆ นะ (เรียงตามลำดับการเปิด)

Dragon Quest – 序曲:ロトのテーマ

Final Fantasy – 勝利のファンファーレ

The Tales Series – スレイのテーマ~導師

Monster Hunter – 英雄の証

Kingdom Hearts – Olympus Coliseum – The Shining Sun

Chrono Trigger – カエルのテーマ

Ace Combat – First Flight

The Tales Series – 王都-威風堂々

Monster Hunter – 旅立ちの風

Chrono Trigger – ロボのテーマ

Sonic the Hedgehog – Star Light Zone

Winning Eleven – eFootball walk-on theme

Final Fantasy – Main Theme

Phantasy Star Universe – Guardians

Kingdom Hearts – Hero’s Fanfare

Gradius – 01 ACT I-1

NieR – イニシエノウタ

Saga Series – 魔界吟遊詩-サガシリーズメドレー2016

Soulcalibur – The Brave New Stage of History

สำหรับพิธีปิด แฟนป๊อปคัลเจอร์อาจจะเหงาสักหน่อยแต่ก็ยังพอได้ชื่นใจบ้างเมื่อวง Tokyo Ska Paradise Orchestra เล่นเพลง Gurenge เพลงจากอนิเมะยอดฮิตของปีที่แล้วอย่าง Demon Slayer ในแบบสกาเก๋ๆ ส่วนเพลงอมตะ Sukiyaki ผลงานของ Kyu Sakamoto อาจจะไม่ได้อยู่ในหมวดเกมหรือการ์ตูน แต่ต้องพูดถึงนิดหนึ่งเพราะเพลงนี้ถูกใช้ในพิธีเปิดของพาราลิมปิกในปี 1964 ด้วย เป็นอีกจุดที่แสดงการเชื่อมต่อของยุคสมัยได้ดีมากๆ

5. เสียงเพลงชาติจากคณะแสดงหญิงล้วนระดับตำนาน

สาวๆ ทั้ง 20 คนผู้ขับร้องเพลงชาติญี่ปุ่นในพิธีปิดคือกลุ่มนักแสดงหญิงตัวท็อปจากโรงละคร Takarazuka Revue ซึ่งเป็นละครเวทีแบบมิวสิคัลที่มีนักแสดงเป็นผู้หญิงเท่านั้นและสืบทอดประวัติศาสตร์มายาวนานกว่าร้อยปี

Credit: Francois Nel/Getty Images

การจะเป็นนักแสดงที่นี่ได้ต้องร่ำเรียนและฝึกฝนอย่างหนัก แต่ละคนต้องครบเครื่อง เก่งทั้งร้อง เต้น และการแสดง โรงละครแห่งนี้มีโรงเรียนฝึกฝนนักแสดงของตัวเองโดยเฉพาะและต้องสอบเข้าเท่านั้น เรียกว่าเข้ายาก ฝึกโหด เหมือนเป็นเด็กฝึกในค่ายเพลงเกาหลีไม่มีผิด นอกจากนี้ภายในโรงละครจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ดอกไม้ พระจันทร์ หิมะ ดวงดาว และคอสมอส ละครแต่ละเรื่องจะใช้นักแสดงของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เหนือไปกว่านั้นยังมีกลุ่มตัวแม่ที่เรียกว่า Senka ที่สามารถไปแจมกับกลุ่มไหนก็ได้ (ก็เพราะเป็นตัวแม่ยังไงล่ะ) 

และผู้ที่มาร่วมงานพิธีปิดที่เราเห็นก็คือตัวท็อปของแต่ละกลุ่มนั่นเอง ส่วนชุดที่ใส่ในงานคือชุดทางการของที่นี่ซึ่งมักใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พิธีเข้าเรียน พิธีจบการศึกษา เป็นต้น

6. กลองยักษ์ เอฟเฟกต์หลักในละครคาบูกิ

ระหว่างพิธีปิดเราได้เห็นพี่ญี่ปุ่นสุดห้าวตีกลองยักษ์อย่างเข้มแข็ง สิ่งนั้นคือ Wa-Taiko แปลง่ายๆ ว่ากลองญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ยุคโจมง (ราวๆ 14,000-1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ว่ากันว่าใช้เพื่อส่งสัญญาณให้เพื่อนหรือเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับเทพเจ้าหรือบรรพบุรุษ กลองนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องดนตรีในยุคหลังที่เริ่มได้รับอิทธิพลจากประเทศอื่น และหลอมรวมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างกลมกลืนเมื่อกลองกลายเป็นซาวนด์เอฟเฟกต์หลักในละครคาบูกิที่ถือกำเนิดในสมัยเอโดะ จนกลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของงานเทศกาลและการแสดงต่างๆ

แต่ที่ได้ฉายเดี่ยวเป็นการแสดงศิลปะประเภทหนึ่งนั้นคือช่วงหลังสงครามโลก มือกลองสายแจ๊สชาวญี่ปุ่นเป็นคนริเริ่มนำกลองญี่ปุ่นมาแสดงนำและกลายเป็นที่นิยมจนการแสดงกลองนี้มักเป็นส่วนหนึ่งของงานอีเวนต์สำคัญ แน่นอนว่ารวมไปถึง Tokyo Olympic ครั้งที่แล้วด้วย!

Tokyo Olympic
Credit: AFP Photo

7. งานเต้นรำท้องถิ่นฉลองพิธีปิด

ในช่วงท้ายของพิธีปิด เราได้เห็นวิดีโอพาชมการเต้นรำของแต่ละท้อนถิ่นเบาๆ เริ่มต้นด้วยการร่ายรำแบบโบราณของชนเผ่าไอนุในฮอกไกโดจุดเด่นอยู่ที่การผสมผสานชีวิตประจำวัน ความเชื่อ และศิลปะเอาไว้ด้วยกัน มักเต้นในงานเทศกาลสำคัญของชาวไอนุหรือการเฉลิมฉลองภายในครอบครัว การเต้นชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญของชาติด้วยเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังด้วย

tokyo olympic

หลังจากนั้นเป็นการแนะนำ Bon Odori (การเต้นรำในเทศกาลโอบ้ง) ของหลายๆ จังหวัด โอบ้งเป็นเทศกาลหน้าร้อนที่สำคัญของญี่ปุ่น จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงวิญญาณบรรพบุรุษที่เชื่อว่าจะกลับมาได้ปีละครั้งในเทศกาลนี้ การเต้นของแต่ละท้องถิ่นจะมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย โดยรวมแล้วมีมากกว่า 100 ประเภททั่วประเทศ เริ่มต้นที่การเต้น Eisa (อ่านว่า เอ-สะ) ของโอกินาว่า ซึ่งเป็นศิลปะท้องถิ่นโบราณที่สืบทอดกันมานาน การเต้นนี้คนหนุ่มสาวในท้องถิ่นจะรวมตัวกันมาร่ายรำเพื่อส่งวิญญาณของบรรพบุรุษกลับสวรรค์อย่างปลอดภัย รวมไปถึงขอพรเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของคนในครอบครัวด้วย

ถัดมาคือการเต้น Nishimonai ของจังหวัดอาคิตะ แต่เดิมการเต้นนี้เกิดจากการขอพรเทพเจ้าให้ผลิตผลทางการเกษตรงอกงาม ต่อมามีการผสมผสานเข้ากับการเต้นเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตและกลายเป็นการเต้น Nishimonai ในปัจจุบัน จุดเด่นอยู่ที่ความคอนทราสต์กันระหว่างเสียงดนตรีที่มีชีวิตชีวาและการเต้นรำอันอ่อนช้อยสง่างาม ชุดที่ใส่เต้นในงานเป็นกิโมโนแบบต่อผ้าพิเศษและหมวกฟางทรงครึ่งวงกลม

วิดีโอจบลงที่ Gujo Odori ของจังหวัดกิฟุซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี แถมยังเป็น 1 ใน 3 Bon Odori ที่โดดเด่นของญี่ปุ่น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญเช่นกัน การเต้นรำนี้เกิดขึ้นเพราะอยากส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มาสนุกร่วมกันโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องฐานะทางสังคม และแม้จะเป็นเทศกาลเก่าแก่แต่ก็เข้าถึงง่ายเพราะเขาจัดกันทีละ 30 วันตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเลยทีเดียว

จาก VTR ตัดกลับมาที่ Olympic Stadium จะได้พบกับการเต้น Bon Odori ของโตเกียวที่เป็นอีกหนึ่งการเต้นรำพื้นบ้านในช่วงเทศกาลโอบ้ง เนื่องจากโอลิมปิกจัดในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นพอดี การเลือก Bon Odori ของแต่ละท้องถิ่นมาแสดงนั้นเป็นเหมือนการแนะนำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกับหน้าร้อนของญี่ปุ่น อีกทั้งยังเหมือนเป็นการพาเที่ยวทิพย์ผ่านหน้าจอไปในตัว

Credit: Steph Chambers/Getty Images

การแสดงที่อาจจะไม่อู้ฟู่อลังการตามความคาดหวังแต่ก็ยังสร้างความประทับใจ หลายคนบอกว่าสถานการณ์แบบนี้ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว แม้จะมีเสียงต่อต้านหรือความกังวลในหมู่คนญี่ปุ่นกันเองว่าจะจัดมหกรรมใหญ่ขนาดนี้จริงๆ เหรอ แต่ในเมื่อเขาลุยต่อก็ดูเหมือนจะมีคนเอาใจช่วยญี่ปุ่นเยอะอยู่นะ 

แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการจัดโอลิมปิก แต่ในฐานะอาสาสมัคร เราเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องทุกคนทำดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะอำนวยแล้ว

พอทุกอย่างจบลง สิ่งที่เหลืออยู่ในใจไม่ใช่เรื่องแพ้-ชนะ แต่เป็นความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อผู้เกี่ยวข้องทุกคน 

お疲れ様です。ありがとうございます!

Tokyo Olympic
Credit: Jae C. Hong/AP Photo

ใครอยากทบทวนความทรงจำให้เต็มตา ย้อนกลับไปดูพิธีเปิดและพิธีปิดอีกครั้งกันเถอะ

AUTHOR