PHKA นักออกแบบ Relationship ดอกไม้กับพื้นที่ ผู้สนุกในการดีไซน์ใหม่ๆ เพื่อไปเจอสิ่งที่สนุกกว่าเดิม

ข้อได้เปรียบของดอกไม้คือ ความเด่นในตัวเอง
ในทางกลับกันจุดอ่อนของดอกไม้คือ เวลาชีวิตที่มีอยู่จำกัด

ในมุมนักออกแบบที่ทำงานเกี่ยวกับดอกไม้ก็นับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่จะทำอย่างไรให้ของที่มีเสน่ห์ในตัวมันเองเข้ากับบริบทและส่งเสริมไปด้วยกัน ลองนึกภาพตามง่ายๆ หากมีห้องสีขาวโพลนและวางดอกไม้กลางห้อง คนทั่วไปก็มักจะมองแต่ดอกไม้ แต่สำหรับนักออกแบบ คุณจะทำอย่างไรให้คนอยากมองห้องนี้ไม่แพ้มองดอกไม้เช่นกัน?

นี่เป็นหน้าที่ของอาชีพนักออกแบบจัดวางดอกไม้ (Floral Designer) จัดดอกไม้ให้เข้ากับพื้นที่ในบริบทของสิ่งๆ นั้น เช่น ซุ้มดอกไม้ในงานแต่งงาน หรือการจัดวางดอกไม้ในพื้นที่อื่นๆ หากให้สรุปคำอธิบายของอาชีพนี้ให้เข้าใจง่ายคือ….

“การหา ‘Relationship’ ของดอกไม้กับภาชนะสิ่งนั้น”
“ซึ่งภาชนะของเราคือ พื้นที่”

คำพูดของ ‘ตุณ ชมไพศาล’ ‘ปอย-วิศทา ด้วงวงศ์ศรี’ และ ‘อุ๋ง ประดับวงศ์ หงษ์วิเศษชัย’ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ PHKA Studio มองว่าดอกไม้คือ ‘วัสดุ’ ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากวัสดุตกแต่งทั่วไป เช่น การตกแต่งภายในห้องที่ต้องใช้วัสดุหิน ไม้หรือกระจกให้ภาพรวมออกมาตอบโจทย์ตรงตามการใช้งาน ดอกไม้ก็เป็นวัสดุชิ้นหนึ่งเช่นกัน

ตุณขยายต่อว่า ดอกไม้ยังเป็นวัสดุที่มีความหลากหลายมิติในการใช้งานมากกว่าเรื่องรูปลักษณ์ แต่ยังมีมิติของการสะท้อนอารมณ์ กลิ่น ความชั่วคราวของดอกไม้และวัฒนธรรมเข้ามาเป็นตัวแปรในการออกแบบอีกด้วย


“เราสามคนจริงๆ มีความชอบดอกไม้คล้ายกัน เหมือนโดนดูดอะไรบางอย่างเหมือนกัน เช่น รู้สึกชอบ สวย อยากจับหรืออยากเล่น แต่ทีนี่ทุกคนมีพื้นหลังมาจากการเป็นดีไซน์เนอร์ ก็จะมองว่าดอกไม้เป็นวัสดุที่มิติหลากหลายในบริบทและวัฒนธรรม ซึ่งมันจะนำเสนอออกมาในพื้นที่แตกต่างกัน”


“บางที่ใช้ดอกไม้เป็นระดับชนชั้นทางสังคม หรือเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของตระกูลนี้ มันแอบสอดแทรกความหมายหรือสเตตัสบางอย่างได้ พอโลกเราพัฒนาขึ้นก็เริ่มใช้ในการสื่อความหมายผ่านภาษาดอกไม้ เช่น ดอกไม้นี้สื่อถึงความหมายว่า ฉันขอโทษหรือฉันชอบคุณ ซึ่งในตะวันตกเขาจะมีห้องปลูกต้นไม้เรือนกระจก (Green House) ปลูกดอกไม้แต่ละชนิดเพื่อสื่อความหมายดังกล่าว”

“ซึ่งการที่มีห้องเรือนกระจกปลูกดอกไม้ของตัวเอง แม้ว่าจะปลูกนอกฤดูกาลก็ตาม เพื่อที่จะส่งสารที่เราต้องการให้คนอื่นได้ มันก็เลยแสดงให้เห็นว่า ดอกไม้ไม่ได้จำกัดแค่การปลูกตามนอกเมือง แต่ถูกเอาไปรวมในชีวิตประจำวัน สุดท้ายแล้ว การที่คนเราใช้ดอกไม้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ๆ หนึ่ง มันก็เหมือนกับเอาดอกไม้ไปแสดงความเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างให้เกิดพื้นที่”

ถ้าถามว่าดอกไม้ คน และพื้นที่มันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ตุณและอุ๋งตอบว่า

“มันหมายถึงว่า การที่มีดอกไม้อันนี้ อยู่ในพื้นที่หนึ่ง กับคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดนี้มัน Represent ซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างของวัฒนธรรมไทยจะเป็น Floral Craft การร้อยพวงมาลัย เครื่องแขวนดอกไม้ต่างๆ ที่แขวนกับช่องหน้าต่างในงานพิธีสำคัญๆ”

“ซึ่งการที่เป็นแบบนั้นเพราะมันไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีตู้เย็น คนก็จะหาวิธีที่จะอนุรักษ์ดอกไม้ให้มากที่สุด เพราะแขวนทิ้งไว้หรือวางทิ้งไว้ เวลาโดนลมมันก็ยังสวยได้อยู่ มันก็เลยแสดงถึงสภาพอากาศของเรา ณ ตอนนั้น เหมือนอย่างเกาหลีที่เขาทำกิมจิดองไว้ มันก็เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์บางอย่างไว้อยู่”

ดีไซน์วัสดุท้องถิ่นในมุมมองใหม่

เมื่อว่าด้วยเรื่องศิลปะการจัดวางดอกไม้นั้นมีมาตั้งแต่สมัยก่อน และมีวิวัฒนาการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขณะเดียวกันในงานดีไซน์การจัดวางดอกไม้เองก็ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและวัฒนธรรมตามไปด้วย สมัยก่อนในไทยอาจจะจัดวางดอกไม้ในพิธีหรือโอกาสสำคัญเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกวันนี้มันสามารถแทรกซึมในชีวิตคนได้ทุกโอกาสและทุกพื้นที่ 

สำหรับ PHKA ผู้ออกแบบการจัดวางดอกไม้ในพื้นที่ต่างๆ มีจุดเด่นในการเลือกใช้ดอกไม้ท้องถิ่นและวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่มาดีไซน์ให้เห็นในมุมมองใหม่ 

“โดยรวมถ้าเมื่อก่อนเราก็จะรู้สึกว่าดอกไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มันดูแปลกใหม่ เพราะเราไม่ได้เห็นมันในชีวิตประจำวันหรอก หรือเราไม่ได้ไปในที่เฉพาะอย่างในโรงแรมที่มีดอกไม้หรูหราแพงๆ แต่พอเทรนด์โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดนั้นแล้ว เราก็ใช้ดอกไม้ที่มาจากท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น”

“อีกมุมหนึ่งเวลาเราชื่นชมงานดีไซน์ดอกไม้ในต่างประเทศที่เขาใช้ดอกไม้ในบ้านเขาเอง ในขณะเดียวกันเขาก็น่าจะรู้สึกตื่นเต้นกับเราที่ใช้ของเราเหมือนกัน มันเหมือนถ้าเขาอยู่ยุโรปแล้วเขาต้องใช้กล้วยไม้ ในมุมเขามันก็แพงมาก แล้วมันก็คงแบบทำไมยูอยู่ไทยแล้วไม่ใช้กล้วยไม้ละ หาง่ายกว่าอีก เพราะฉะนั้นเราก็รู้สึกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้เราก็ใช้ของที่เรามีเนี่ยแหละ ซึ่งมันก็มีอยู่มากมายอุดมสมบูรณ์ และเราสามารถหยิบมันมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเราเอามันมาใช้ในแบบที่คนจะเห็นมันในมุมใหม่ให้น่าสนใจ” ตุณกล่าว 

ระหว่างที่กำลังนึกภาพตามว่า ศิลปะการจัดวางดอกไม้มันสามารถดีไซน์ได้มากน้อยขนาดไหน พวกเขาเปิดตัวอย่างผลงานของ PHKA Studio ที่น่าสนใจ 3 ชิ้นเล่าให้เราฟังต่อไปนี้

พวกเขาเปิดรูปแรกด้วยผลงาน Art Installation จากเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale ชื่องานว่า ‘Fragments of Time’ จัดขึ้นในจังหวัดโคราชที่อยากจะเล่าเมืองประวัติศาสตร์ในมุมมองของอนาคตมากกว่าเล่าอดีตของพื้นที่

“เรารู้สึกว่าดอกไม้สามารถเล่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนได้ แล้วงานนี้เป็นสเกลงานใหญ่ สเกลเมืองโคราชเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองว่า กว่าที่จะมาเป็นปัจจุบันมันเป็นอย่างไร มันถูกตีความมาอย่างไร แล้วก็เหมือนชี้ให้คนที่มาดูงาน ดูไปในข้างอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไร อยากให้รู้สึกว่า ดอกไม้มันทำได้ขนาดนั้น และเราเล่ามันให้เป็นเรื่องความชั่วคราวและความไม่ถาวรด้วย ซึ่งดอกไม้มันก็เล่าได้ มันก็เลยน่าสนใจในแง่นั้น” 

“ส่วนใหญ่คนมักจะนึกถึงโคราชในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องของอาคารโบราณ แต่เราไม่ได้อยากไปทางปราสาทหินพิมายที่เล่าย้อนเวลาไกลๆ แต่เราน่าจะเล่าเชิงอนาคตของจังหวัดได้ พอเลือกแบบนี้แล้ว ก็มาคิดว่าจะใช้วัสดุอะไรดี ก็เลยนึกถึงข้าวโพด วัสดุที่มีในโคราชและเป็นตัวแทนที่เล่าจังหวัดได้”

“ส่วนในเรื่องของดอกไม้ก็ใช้ของที่มีอยู่แล้วในตลาดดอกไม้ของโคราช แล้วพาเลตสีของผลงานนี้ก็มาจากสีดอกไม้ในตลาด เราไปถ่ายรูปแล้วก็ดึงสีมันออกมา อย่างสีฟ้าจากท่อพีวีซี แล้วก็มีดอกไม้อื่นๆ ที่ตีความแสดงถึงโคราชด้วย เช่น ดอกกล้วยไม้ ดอกมะลิ ดอกบานไม่รู้โรยหรือใบตอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็จะเล่าทั้งเรื่องเมือง ตั้งแต่อดีตเมืองในปัจจุบันและเมืองในอนาคตด้วย” 

ถัดมาผลงานชิ้นที่สองมีโจทย์จัดดอกไม้ในธีมเทศกาลคริสต์มาส สิ่งที่ท้าทายในการออกแบบคือ จัดดอกไม้อย่างไรให้แตกต่างจากภาพจำธีมคริสต์มาสทั่วไป ที่หลายคนต้องนึกถึงเกล็ดหิมะ ดาวห้าแฉกหรือลูกตุ้มตกแต่ง แล้วถ้าเป็นดอกไม้จะออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร

“ชิ้นที่สองเป็นสเกลเล็กลงนิดนึง เราทำกับ Capella Bangkok เป็นโรงแรมหกดาว เราประยุกต์ดอกไม้ท้องถิ่นเข้าไปในโรงแรม และยังรักษาความรู้สึกลักซ์ชัวรีเอาไว้ อย่างตรงแจกันวางไว้ตรงจุดที่เรียกว่า Grand Stair มันเหมือนช่วงไฮไลต์ตรงบันได ซึ่งช่วงคริสต์มาสเราก็คิดละว่า เราจะเลือกอะไรดีให้มันมีความเป็นตะวันตก แต่ว่าของที่เราใช้เป็นของไทย อย่างอันนี้คือใส่ต้นเฟินริบบิ้นเข้าไป ซึ่งจริงๆ มันก็ธรรมดามากๆ ในตลาดประเทศไทย แล้วก็พวกดอกยิปซีก็ยังดูฝรั่งหน่อย แต่จริงๆ ก็เป็นของที่ปลูกในเชียงใหม่” 

“ตรงดอกสีแดงๆ คือดอกแกลดิโอลัสก็เพิ่งป็อปปูลาร์ในเชียงใหม่ตอนนี้เหมือนกัน ปกติเขาปลูกเมืองนอก ตอนนี้เราก็รู้สึกว่าเราปลูกได้แล้ว แต่ว่าถ้าไฮไลต์สำหรับเราเลยจริงๆ ก็จะเป็นธีมเทศกาลคริสต์มาสที่ทุกคนก็จะมีบรรยากาศของงานรื่นเริง มีไฟตกแต่งเป็นประกาย มีต้นสน มีเกล็ดหิมะ ซึ่งเราก็ไม่อยากใส่ลูกตุ้มเข้าไป ก็เลยเอาปีกแมลงทับมาใส่แทน คนก็ถามเยอะนะว่ามันมาจากไหน หลายคนน่าจะเคยเห็นมันในชุดต่างๆ ของสมัยก่อน หรือว่าคนเอาไปทำต้มหูในเครื่องประดับ แต่เราก็ดัดแปลงออกมาให้มันเป็นแบบพวกสายห้อยลงมา”

ระหว่างเพลิดเพลินกับสีสันของดอกไม้ พวกเขาเลื่อนรูปภาพในสมาร์ตโฟนจนมาหยุดที่ผลงานชิ้นสุดท้ายที่อยากออกแบบให้ดอกไม้สามารถเคลื่อนไหวได้

“ผลงานชิ้นนี้เป็นของ PANPURI เขาทำโปรเจกต์ ‘Pride Parade’ ในช่วง Bangkok Pride 2023 เงื่อนไขคือเราต้องทำให้ดอกไม้มันเคลื่อนไหวได้ เพราะมันตั้งอยู่บนรถขยับได้ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานพาเหรดใช้ดอกดาวเรืองสีส้มกับที่เสียบทางมะพร้าว มันก็จะเด้งๆ ได้ แล้วมันก็จะมีพวกมะนาว ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับกลิ่นของลูกค้าที่อยากนำเสนอ”

“ส่วนดอกไม้สีชมพูเป็นดอกเอื้องไอยเรศ มันบานตอนนั้นพอดี ซึ่งจะบานแค่ปีละ 2  อาทิตย์ ถ้าไม่ใช้ช่วงนั้น ก็ไม่รู้จะใช้ช่วงไหนแล้ว รวมถึงถั่วฝักยาวก็ใส่มาแบบงงๆ มันมาจากเรารู้สึกต้องการอะไรบางอย่างที่เป็นฟอร์มนี้ แล้วมันก็ดูแบบ โอ้โฮ แค่นั้นเอง เราอยากให้มันเป็นอารมณ์แบบ Freedom of Expression เหมือนกับว่าเราแสดงออกอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องมีข้อจำกัด เราก็เลยอยากใช้อะไรที่สนุกๆ มาทำได้” 

การออกแบบของ PHKA ไม่มีภาพจำและแพตเทิร์นไม่ตายตัว

จากที่ดูผลงานมาทั้งหมด ไม่เพียงเรื่องการจัดวางดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์ แต่ยังเลือกใช้วัสดุที่เข้ากันอย่างกลมกลืน จนในหัวเกิดความสงสัยว่า พวกเขาเลือกดอกไม้หรือวัสดุต่างๆ ให้เข้ากันและพัฒนางานต่างๆ ให้ไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร

อุ๋งและตุณช่วยกับตอบว่า “หลายอย่างนะ อย่างแรกก็มาจากลูกค้าชอบอะไร ชอบประมาณไหน ต้องการอะไรเป็นพิเศษไหม แล้วมันสามารถแมตช์กับสิ่งที่เราชอบอย่างไร ซึ่งคนในบริษัทก็มีความชอบเยอะแยะมากมายหลากหลายไม่มีสิ้นสุดจริงๆ” 

“เรามีคลังกับทีม ถ้าวันหนึ่งเราเจอคนนี้ที่แมตช์กับกับสิ่งที่เราชอบพอดีและเอามารวมกัน พร้อมกับเงื่อนไขอย่างอื่นๆ เช่น จัดที่ไหน เดือนไหน มันเป็นฤดูกาลไหนก็จะสามารถดีไซน์ผลงานได้ว่า มันจะเล่าออกมาหน้าตาไหนได้บ้าง”

“ยกตัวอย่างในบริษัทเคยทำเวิร์กช็อปภายใน เราก็เอาของต่างๆ มาเล่น แล้วให้แต่ละคนมาเลือกเป็นกลุ่มเอาไปทำ ก็คือรวมทุกฝ่ายมาทดลองจัดดอกไม้แบบไหนก็ได้ อยากเครียดหรืออยากเล่นๆ ก็ได้ หลังจากนั้นมันก็ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ต่างคนต่างก็ทำมันก็ออกมาไม่เหมือนกันแล้ว แม้จะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกันก็ตาม”

“ทั้งนี้เราก็จะเลือกเรื่องอะไรบางอย่างที่เราอยากเล่นด้วยกันมาแหละ เดือนนี้เราเล่นเรื่องจุด ก็ให้ทุกคนไปหาวัสดุที่ตัวเองคิดว่ามันเป็นเรื่องจุดส่งมา มันก็แล้วแต่คนจะตีความ อยากจะเล่น อยากจะทำอะไรมันออกมา บางคนก็คิดว่า จุดมันสามารถต่อมาเป็นเส้นไหม  หรือมันมาต่อเป็นวงกลมลายจุด (Polka Dot) ได้ไหมไม่สิ้นสุด”

“แต่สุดท้ายไม่ว่าเขาจะให้โจทย์อะไรมา เหมือนงานเราก็ไม่ค่อยมีคาแรกเตอร์ขนาดนั้นว่า แบบเห็นงานนี้แล้วต้องนึกถึง PHKA ทำนะ เพราะสุดท้ายเราก็เลือกทำผลงานแบบร่วมสมัยมาก่อน เหมือนสิ่งอะไรที่มันอยู่ในตอนนี้ก็อยากจะลองประยุกต์ใช้มันลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีแพตเทิร์นตายตัว”

ความสนุกของ PHKA ที่ได้ขยายไอเดียใหม่ๆ เพื่อไปเจอสิ่งใหม่ๆ

สำหรับ PHKA ที่ทำผลงานดีไซน์ศิลปะการจัดวางดอกไม้มาหลากหลาย ตั้งแต่จัดดอกไม้ช่อเล็กๆ ไปจนถึงงานศิลปะขนาดใหญ่ ในมุมของคนที่ทำงานสายออกแบบเรื่องดอกไม้มานานหลายปี คิดว่าการออกแบบจัดวางดอกไม้ต่อไปในอนาคตมันจะสามารถพัฒนาไปไกลได้ขนาดไหน

ตุณนั่งนึกสั่งพักก่อนตอบว่า “จริงๆ วันที่เราเริ่มทำตอนแรกมันก็มีธีมอะไรบางอย่างที่เราสนใจแหละ เช่น ดอกไม้กับพื้นที่ แต่พอระหว่างทางที่ทำ มันก็พาเราไปเจอกับเรื่องใหม่ๆ ที่เรารู้สึกได้เรียนรู้และเจอกับคนใหม่ๆ ที่เรารู้สึกว่าเขาก็ใช้ดอกไม้ในวิถีชีวิตของเขา”

“เช่นบางคนมีพื้นหลังเป็นนักพฤกษศาสตร์ นักเขียนและนักจักดอกไม้ใน 1 ร่าง ซึ่งเขาก็มีวิธีใช้ดอกไม้ในแบบของเขา บางคนเป็นศิลปินเลย บางคนเป็นหมอจิตวิทยาที่สนใจศิลปะวิจิตรศิลป์ เขาก็จะใช้ดอกไม้ในการเล่าเรื่องแตกต่างกัน อย่างดอกไม้ในเมตาเวิร์สจัดดอกไม้ในโลกออนไลน์ ส่งไปจัดดอกไม้ที่ดาวดวงอื่น หรือดำลึกลงไปใต้น้ำ ตอนนี้ดอกไม้มันสามารถเล่นได้หมดทุกพื้นที่ ทุกอย่างมันเป็นไปได้ทั้งหมด”

หากพูดถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจนี้คืออะไร เราถามต่อกับคำถามสุดท้ายก่อนจากลา พวกเขารีบตอบกันว่า แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องเงินเป็นหลัก แต่อยากขยายไอเดียการออกแบบให้ต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้มากกว่าเคย

“เรื่องเงินมันไม่เคยเป็น Challenge ของเรา สำหรับเราแค่รู้สึกว่าอยากขยายขอบเขตไอเดียของเราออกไปเรื่อยๆ มันเหมือนเราทำงานที่เรารู้สึกว่าโอเค เราทำมันได้ดี มันก็จะพาเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ หมายถึงว่า  ขอบเขตใหม่ๆ มันสามารถพาเราออกนอกประเทศไปเจอคนที่เก่งเหมือนกัน รวมถึงเราก็จะได้ไปเจอกับโปรเจกต์ใหม่ๆ “

“พอเราได้ทำมันก็จะขยายโอกาสไปเรื่อยๆ มันแค่เหมือนปลายปีเรากลับมานั่งดูสิ่งที่เราทำ แล้วเรารู้สึกแบบ โอ้! ปีนี้ เราทำอันนี้ไปแล้วที่เราไม่เคยทำ ปีหน้ามันมีสิ่งนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นนะ แล้วมันก็น่าจะสนุกมากยิ่งขึ้น” ตุณและอุ๋งตอบอย่างมั่นใจพร้อมรอยยิ้ม

AUTHOR