5 วิธีจัดการความจริงให้กลายเป็นสารคดีน่าดูในแบบของตั้ม-พัฒนะ จิรวงศ์

5 วิธีจัดการความจริงให้กลายเป็นสารคดีน่าดูในแบบของตั้ม-พัฒนะ จิรวงศ์

เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงหนังสารคดีจากต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรายังคงแว่วมาให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ เพราะนอกจากหนังประเภทนี้จะขึ้นชื่อเรื่องสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการขบคิดถึงปัญหาต่างๆ
แล้ว ยังมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า บ้านเรามีหนังสารคดีที่น่าสนใจจากผู้กำกับชาวไทยฝีมือเยี่ยมอยู่ไม่น้อย
ใครที่สนใจหนังสั้น หนังสารคดีในเมืองไทย คงไม่มีทางที่จะไม่รู้จัก ตั้ม-พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับหนังสารคดี
เจ้าของหนังสั้นที่ได้รับรางวัลอย่าง Looking Through the Glasses (2544), Tears (2546), สุทธ์ (2547), I’m Fine, Thank You, and
You?
(2551), The Missing Piece ฉันอยู่นี่
เธออยู่ไหน
(2554) และผลงานล่าสุดคือ ค้างคาวหลงกรง 1 ใน 9
หนังสั้น ก้าวปฏิรูป ที่นำเสนอเรื่องราวของระบบราชทัณฑ์ในเมืองไทย

หนังสารคดีของตั้มนั้นจะมีประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ผ่านงานด้านภาพที่เน้นความสมจริงเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับผู้คนหลากหลายกลุ่มในสังคม
และนี่คือ 5 ข้อที่ถูกคัดออกมาจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาของเขา

TIP 01: โครงดีมีไฟไปกว่าครึ่ง
ในเมื่อสารคดีคือการทำงานกับความจริงตรงหน้า
ก่อนที่จะออกไปเผชิญความจริง จึงต้องตั้งโจทย์ไว้ให้ชัดเจนก่อน คาดเดาผลลัพธ์ไว้ประมาณหนึ่ง
แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เรื่องราวเป็นไปอย่างที่เราคิดทุกอย่าง อย่างน้อยต้องมีโครงเรื่องในใจว่าอยากจะเล่าอะไร
เพราะนอกจากจะทำให้รู้ว่าต้องถ่ายอะไรหรือไม่ถ่ายอะไรแล้ว ยังทำให้รู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ควรหยุด
สารคดีมันยากตรงที่เราไม่รู้ตอนจบและในขณะเดียวกัน การไม่รู้ตอนจบก็เป็นเรื่องดีด้วยเช่นกัน
เนื่องจากบางทีหนังก็ไม่ได้จบอย่างที่เราตั้งใจไว้ แต่บางครั้งมันกลับดีกว่าตอนจบที่เราคิดไว้เสียอีก

TIP 02:
ตรวจจับการเปลี่ยนแปลง
ในความคิดของเรา ผู้กำกับหนังสารคดีหรือหนังอื่นๆ
ก็ตาม ทุกคนควรมีคุณสมบัติของการเป็นนักเฝ้ามองที่ดี เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของตัวละครตรงหน้า
ช่างสังเกตกว่าคนทั่วไป หนังบางเรื่องที่เราดูแล้วสนุก เพราะเราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครตลอดเรื่อง
ภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องแต่งขึ้น ผู้เขียนบทหรือผู้กำกับอุดช่องว่างการตัดสินใจ
การกระทำของตัวละครต่างๆ ให้สมเหตุสมผลได้ตั้งแต่ขั้นตอนเขียนบท
แต่ภาพยนตร์สารคดีมีทางเดียวคือการจับตามองสิ่งเหล่านี้ให้ทันท่วงทีแล้วถ่ายทอดมันออกมา

“ลองนึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ สักอย่างที่เคยเกิดขึ้นสักอย่างกับเรา
พ่อป่วย แฟนทิ้ง สอบไม่ติด เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เรามักจะตั้งตัวไม่ทัน แต่จริงๆ แล้วมันอาจเป็นเพราะเราเฝ้ามองมันไม่นานพอหรือไม่ดีพอ ทั้งที่มันมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปมาตลอด
ก่อนจะมาถึงเหตุการณ์นั้น คนทำหนังจึงต้องอดทนในการเฝ้าดูชีวิต จึงจะเข้าใจว่าแก่นแท้ของตัวละครคือการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งมันเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้หนังสนุก”

TIP 03:
ฟุตเทจมาราธอน
เมื่อมาถึงกระบวนการตัดต่อ ก็เปรียบเหมือนการเขียนบทหนังเรื่องเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ฟุตเทจที่ถ่ายไว้ในวันแรกอาจถูกนำมาใส่ไว้ในตอนจบก็ได้ ภาพตอนสั่งคัตไปแล้วตัวละครหันมามองกล้องพอดี
เราก็อาจจะหยิบมาใส่ในบางช่วงบางตอนของหนังเพื่อช่วยในการเล่าเรื่องได้ด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญคือการขยันดูฟุตเทจ ไม่ว่าจะถ่ายอะไรมาหากนำมันมาใส่ไว้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ก็อาจช่วยขับเน้นอารมณ์หรือเพิ่มมิติให้หนังได้ด้วย
นอกจากภาพแล้ว เสียงก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกอินไปกับหนัง
รับรู้บรรยากาศของเรื่องได้โดยไม่ต้องพึ่งภาพเคลื่อนไหวหรือตัวหนังสือบรรยาย

TIP 04: ชีวิตคือเรื่องเล่า
“ผมลองเดินเท้าจากระนองไปแหลมพรหมเทพ ถ่ายเหตุการณ์ระหว่างเดินทางไปด้วย
เป็นการเดินทางที่ไม่รู้ตอนจบเลย
มีเพียงโจทย์ที่ว่าจะเดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้คาดหวังอะไร
แต่ก็ได้เจออะไรมากกว่าที่คาดไว้มาก” ตั้มเล่าถึงเรื่องราวตลอดการเดินทางที่เต็มไปด้วยตัวละครผู้คนใจดีที่เข้ามาช่วยเหลือคนแปลกหน้าอย่างสุดกำลัง
และจุดไคลแมกซ์ที่ทำให้เกือบเอาชีวิตไม่รอด
เพราะชีวิตนั้นไม่ต่างจากหนังเรื่องหนึ่ง การพาตัวเองออกไปพบเจอผู้คนและมองโลกด้วยสายตาของคนทำหนังช่างสังเกตเป็นวิธีการหนึ่งที่ดีสำหรับคนทำสารคดี
ถ้ามีเวลาไปเฝ้ามองใครสักคนนานพอ เราก็จะได้เห็นความจริงของชีวิตอะไรบางอย่างเสมอ เพราะหน้าที่หนึ่งของสารคดีก็คือการทำให้คนดูเห็นสัจธรรม

TIP 05: ออกกองต้องผ่อนคลาย
ที่มาของแต่ละฉากแต่ละตอนจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของคนทำหนังที่จะต้องจัดการให้มันออกมาเป็นภาพสุดท้ายให้ได้
เพื่อให้ภาพที่อยู่บนจอในโรงภาพยนตร์มันออกมาดีที่สุด “แต่ถึงจะพูดอย่างนี้
สำหรับเรา การทำหนังไม่จำเป็นต้องกดดันให้มันสมบูรณ์แบบทุกอย่าง อยู่กับปัจจุบันอย่างผ่อนคลาย ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด สุดท้ายทุกอย่างมันจะมีหนทางของมันเอง
เหมือนการใช้ชีวิตเรานี่แหละ”

“ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีสารพัดรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเลือกได้ว่าจะดูอะไรหรือไม่ดูอะไร
เราคงวัดไม่ได้หรอกว่าทำแบบนี้แล้วเขาจะดูจนจบ ดูแล้วดูอีก หรือปิดไปตั้งแต่ห้าวินาทีแรก
สุดท้ายอย่ามองข้ามคำว่า ‘สนุก’
มันเป็นกุญแจของทุกอย่างที่เชื่อมโยงงานของเราเข้ากับทุกคนได้ มองหาให้เจอว่าสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ
คืออะไร ทำมันออกมาอย่างจริงใจ ที่เหลือก็ปล่อยให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน”

อ่านจบแล้วคันไม้คันมืออยากลองเล่าเรื่องราวที่ชอบในแบบของคุณเอง
ก็รีบสร้างสรรค์คลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที ในหัวข้อ Connecting Lives ไม่จำกัดรูปแบบทั้งภาพยนตร์สั้น มิวสิกวิดีโอ หรือแอนิเมชัน
ส่งมาร่วมโครงการ AIS THE 5-MIN VIDEO CHALLENGE ลุ้นเป็น 2 ตัวแทนที่จะเข้าไปประกวดในระดับโลก พร้อมเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมลุ้นต่อที่สองชิงเงินล้านในเวทีระดับโลก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ais.co.th/The5minvideochallenge

และเพจเฟซบุ๊ก AISTHE5MINVIDEOCHALLENGE นะ

www.ais.co.th/The5minvideochallenge

AUTHOR