ฟอนต์.คอม คอมมิวนิตีสนับสนุนคนดีไซน์ฟอนต์ไทยให้เห็นคุณค่างานสร้างสรรค์จากตัวอักษร 

ในช่วงเปลี่ยนถ่ายยุคแอนะล็อกที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นส่วนน้อย ให้นึกภาพที่ทุกคนต้องซื้อชั่วโมงใช้คอมพิวเตอร์ในร้านเล่นเกมหรือจองคิวใช้ฟรีในห้องสมุด โปรแกรมต่างๆ ในเครื่องหน้าจอสี่เหลี่ยมดูเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องศึกษาและปรับตัว หน้าตาของโปรแกรมยุคแรกๆ ยังไม่ค่อยมีลูกเล่นหรือฟังก์ชันที่หลากหลายมากเท่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะ ‘ฟอนต์ไทย’ ที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเคย

หลายสิบปีที่แล้วฟอนต์ไทยที่อยู่ในโปรแกรมพิมพ์เอกสารต่างๆ มักจะมีฟอนต์ให้เลือกค่อนข้างน้อย เรามักจะเห็นฟอนต์ที่ใช้อย่างทางการ เช่น Angsana New, Cordia New, Browallia New หรือ Tahoma เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านติดตัวทุกโปรแกรมพิมพ์ภาษาไทย ไม่ว่าจะทำงานไหน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยใช้บริการฟอนต์เหล่านี้ผ่านมือมาบ้าง

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เริ่มมีคนพัฒนาต่างๆ ในแต่ละโปรแกรม ฟอนต์ไทยก็เช่นกัน เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรหลากหลายรูปแบบในการใช้งาน ทั้งสไตล์วัยรุ่น ขี้เล่น น่ารัก น่ากลัวหรือออกแบบจากแรงบันดาลใจสิ่งรอบตัวจนมีหน้าตาตัวอักษรแปลกใหม่ต่อผู้ใช้งานและสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ด้วย

หนึ่งในคอมมิวนิตีที่สร้างความหลากหลายฟอนต์ไทยดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากบล็อกเล็กๆ ไว้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและผลงานของคนสนใจทำฟอนต์ไทยมาโชว์ฝีมือกัน จนต่อยอดมาเป็นเว็บไซต์อย่าง ‘ฟอนต์.คอม’ (https://www.f0nt.com/) ของ ‘แอน-ปรัชญา สิงห์โต’ ผู้สร้างคอมมิวนิตีฟอนต์ไทย ที่เป็นเหมือนโรงเรียนอนุบาลให้คนที่สนใจอยากทำฟอนต์ไทยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โชว์ผลงานสร้างสรรค์และสนับสนุนสร้างรายได้ให้กับคนดีไซน์ฟอนต์ด้วย

จากลายมือขีดเขียนเป็นฟอนต์พิมพ์ในคอมพ์ฯ

จุดตั้งต้นของการสร้างคอมมิวนิตีฟอนต์.คอม อยู่ในยุคที่การเข้ามาของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แอนเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทุกๆ ครั้งต้องมีการพรีเซนต์ผลงานให้อาจารย์ฟัง งานแต่ละคนบ้างก็ใช้มือขีดเขียน บ้างก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำออกมา เจ้าตัวบอกว่าตัวเองไม่เก่งในงานออกแบบ แต่เขาชอบเขียนตัวอักษรในผลงานมาก และคิดต่อเล่นๆ ว่า ถ้าสามารถทำฟอนต์ของตัวเองพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ได้เลยจะสบายแค่ไหน เพราะงานสถาปัตย์ขึ้นชื่อเรื่องงานหนักและความเร่งรีบในการทำงาน

“เราเรียนสถาปัตย์รู้สึกว่างานมันเร่ง เราก็อยากมีวิธีลัดให้มันสบาย แต่ตอนนั้นมันยังไม่มีการเอาลายมือเราไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ได้เลย ก็เลยลองไปหาวิธีดู ซึ่งตอนนั้นอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่แพร่หลาย และในปี 2004 อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในห้องคอมอย่างเดียวเลย เราก็เข้าไปในห้องคอมหาวิธี เอ๊ะ มันก็มีคนไทยทำอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครทำมาตรฐานฟอนต์ให้เป็นสแตนดาร์ดเหมือนทุกวันนี้” 

“สมัยก่อนภาษาไทยยังไม่อยู่ในระบบตัวอักษรหมื่นแสนล้านตัวของโลก หรือเรียกว่า ยูนิโคด (Unicode) เราก็ไปถามว่าคนที่เคยทำฟอนต์ว่ามันทำอย่างไร ก็ลองใช้คอมพิเตอร์ลองเขียนเป็นลายมือตัวเอง พอมันออกมาเป็นฟอนต์ได้จริงๆ ก็ทำเอาไปพรีเซนต์อาจารย์และก็ไปแจกเพื่อนในห้อง ทุกคนก็แฮปปี้กันมาก มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ มหัศจรรย์ ก็เลยลำพอง (หัวเราะ) พอเหิมเกริมก็เลยไปเปิดเว็บไซต์ ฟอนต์.คอม รวมกับคนที่มาแชร์ความรู้และแลกเปลี่ยน 6 – 7 คนช่วยกันร่างๆ โค้ดเขียนโปรแกรมเว็บ เพื่อทำให้ฟอนต์ภาษาไทยเกิดขึ้นมาได้ และสร้างคอมมิวนิตีให้ใครก็ได้ที่สนใจอยากทำฟอนต์ให้ทำได้ง่ายๆ”

หลังจากเปิดตัวเว็บฟอนต์.คอม ที่ทุกคนสามารถสร้างฟอนต์ของตัวเองและมาแชร์แลกเปลี่ยนกันได้ สมัยนั้นมีทั้งเด็กมัธยม พนักงานข้าราชการ ทหาร ครู ตำรวจหรือพระก็เคยทำมาแชร์ฟอนต์ของตัวเอง และสิ่งที่น่าสนใจของคอมมิวนิตีนี้คือมีข้อตกลงร่วมกันว่า ฟอนต์ใดก็ตามที่นำมาเผยแพร่ในเว็บฟอนต์.คอมขอให้แจกฟรี 1 น้ำหนัก หากใครอยากทำขายสามารถกำหนดเงื่อนไขในการใช้งานได้เลย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทดลองใช้ฟอนต์ไทย หากสนใจก็สามารถซื้อต่อเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ออกแบบอีกทางหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง สิ่งที่แอนทำก็ต้องการสร้างค่านิยมเรื่อง ‘งานสร้างสรรค์’ และ ‘ลิขสิทธิ์’ ที่ทุกคนควรให้คุณค่าไม่ต่างกับผลงานศิลปะประเภทอื่นๆ “ถ้าให้เราเล่าประวัติศาสตร์ในยุคนั้น (หากเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพก็ช่วงยุคมีเพลง mp3) ความหลากหลายของฟอนต์และความเข้าใจในลิขสิทธิ์มันมีน้อย พอสองอย่างมันรวมกัน มันเลยเป็นดินแดนสนธยา ก่อนหน้านี้เขาก็มีบริษัทดีไซน์เนอร์ทำฟอนต์ภาษาออกมาจริงๆ ก็พบการละเมิดลิขสิทธิ์ คนไทยตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์คืออะไร หรือยังไม่ได้ตัดสินว่าตัวฟอนต์เป็นงานสร้างสรรค์ หรือมีลิขสิทธิ์อะไร” 

“เราก็ลุกฮือขึ้นมาสร้างค่านิยมว่า การดีไซน์ฟอนต์ อันนี้มันเป็นหนึ่งในงานสร้างสรรค์ที่มีโปรแกรมมิ่งอยู่ข้างหลังด้วย มันต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการสร้างมันขึ้นมา เพียงแต่ว่าอยากให้คนที่ใช้ได้เห็นคุณค่า หรือไม่ก็เขาทำขายก็ซื้อ ซึ่งเมื่อก่อนมันยังเป็นไอเดียที่ยังไม่ปกติอย่างทุกวันนี้นะ ทุกวันนี้เราซื้อดิจิทัลโปรดักต์จนเป็นเรื่องธรรมดา แต่สมัยก่อนทำไมเราต้องเสียเงินซื้อในสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ เออ มันเป็นมายด์เซ็ตที่ยังไม่เกิดขึ้น ณ วันนั้น มันก็เลยมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจังมาก” 

“มันละเมิดถึงขั้นเจ้าของฟอนต์ปล่อยเป็นเป็น Public Domain ใช้เป็นสาธารณะ หรือบางบริษัทไล่จับอย่างจริงจัง ส่วนของเราก็ประกาศเลยว่าให้โหลดฟรีแล้วนะ อย่าเอาไปรวมแผ่นขาย อย่าเอาไปทำธุรกิจทำการค้าแอบอ้างไปขาย คุณเอาไปใช้ได้เลย เราแฮปปี้ เรายินดี เราอยากให้ทุกคนรู้ด้วยว่า ฟอนต์มันเป็นงานสร้างสรรค์ มันเป็นสิ่งที่ต้องมีความอุตสาหะ มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมันขึ้นมา”

ฟอนต์ไทย ช่วงเวลาสนุกแห่งการต่อยอดงานสร้างสรรค์

ระหว่างบทสนทนาแอนเล่าให้ฟังว่า เขาชื่นชอบการทำฟอนต์ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงตอนนี้เวลาผ่านไปหลายสิบปีความชอบก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้มีการออกแบบฟอนต์หลากหลายรูปแบบ เขาก็ยิ่งสนุกที่ได้เห็นการพัฒนาของฟอนต์มากยิ่งขึ้น เราชวนคุยเล่นว่า บางคนชอบใช้ฟอนต์ภาษาอังกฤษเพราะมันมีลูกเล่นมากกว่าภาษาไทย คิดเห็นอย่างไรหากให้เปรียบเทียบวิวัฒนาการของฟอนต์ภาษาอังกฤษกับไทยในสายตาของคนชื่นชอบเรื่องฟอนต์

“เรายังพัฒนาการออกแบบตัวอักษรไทยได้อีกเยอะมาก เพราะอย่างฟอนต์ภาษาอังกฤษจะมีเส้นตรง เส้นโค้ง อย่างมากก็เส้นเฉียง ดังนั้นจะมีการเล่นพลิกแพลงมาตั้งแต่หลักพันปีแล้ว แต่พฤติกรรมการบันทึกส่งต่อข้อมูลด้วยการเขียนในบ้านเรา พึ่งเกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง โดยเฉพาะช่วงประมาณ ร.5 – ร.6 คือคนที่ประดิษฐ์ตัวอักษรได้ คือคนที่อ่านหนังสือออก ซึ่งก็จะเป็นคนที่อยู่ในรั้วในวัง ชั้นเจ้านายประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใหม่ให้ใช้ในกรณีต่างๆ มันคือฟอนต์ยุคแรกๆ ของไทยเลย ถ้าไม่นับมิชชันนารีท่านแรกที่เข้ามาเผยแพร่ตัวอักษรไทยในยุครัตนโกสินทร์เหมือนกัน จะเห็นว่าการเดินทางของเรามันพึ่งเริ่ม เรายังแตกหน่อต่อยอดได้อีกเยอะ ตัวอักษรไทยมันสามารถพลิกแพลงได้อีกเยอะ”

เขาเล่าเสริมต่อว่าวิวัฒนาการของฟอนต์ตั้งแต่อดีตกับปัจจุบันมีฟังก์ชันเปลี่ยนไปด้วยบริบทต่างๆ ยุคเริ่มต้นการออกแบบฟอนต์คือศาสตร์และศิลป์ที่ผสมรวมกัน เบื้องหน้าคือความคิดสร้างสรรค์ เบื้องหลังคือการทำงานเพื่อแก้ปัญหา

“เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้นก็เลยต้องหาทางแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ลายมือค่อยๆ เขียนในใบลาน ลักษณะใบลานมันเป็นเส้นๆ ถ้าเขียนเส้นโค้งใบจะแตก เขาก็เลยจะต้องขีดเพื่อเฉียงๆ เข้าไปมันจะได้ไม่แตก หรือยุคที่เวลาเราพิมพ์น้ำหมึกยังเป็นข้นๆ เหนียวๆ ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ยังไม่ดี กระดาษยังไม่เรียบ หรือพิมพ์หลายๆ ก๊อปปี้แล้วหัวพิมพ์มันพัง ทำอย่างไรให้ออกแบบตัวอักษรเจอปัญหานี้ก็ยังอ่านออก ก็เลยทำตัวอักษรที่ทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในยุคนั้น” 

“หรือก่อนหน้านี้หน้าจอคอมพิวเตอร์ยังไม่ละเอียดมากนัก ประมาณ 72 dpi หน้าจอจะเป็นเหลี่ยมๆ แล้วนึกภาพฟอนต์ Tahoma ที่มันแสดงผลเล็กๆ แล้วยังโชว์เหลี่ยมๆ แต่ยังพออ่านออก อ่านจนคล่องตาแล้วสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีรู้สึกว่าติดขัด อันนี้คือดีไซนเนอร์เขาแก้ปัญหามากๆ” 

“แต่ทุกวันนี้ปัญหาเหล่านั้นมันหายไป เรามีจอละเอียดมาก พอปัญหาหายไปปั๊บ ฝั่งความคิดสร้างสรรค์มันก็ทำงานละ มันก็จะเล่นอันนู้น อันนี้ได้เยอะเลย ฟอนต์ปรับสีได้ไหม แต่ก่อนเป็นขาวดำหนิ เป็นสีไม่พอขยับได้ด้วย โดยที่ทั้งหมดมันอยู่ที่โค้ดดิ้งที่เขียนลงไปและก็การดีไซน์ที่สวมไปอยู่ในโค้ดนั้น เหมือนพรหมแดนการออกแบบฟอนต์ในไทยมันยังไปได้อีกไกลมากๆ เลย”

ฟอนต์ไทยก็มี Introvert และ Extrovert

เมื่อหลักการของการดีไซน์มีที่มาจากการแก้ปัญหา ในมุมการออกแบบของตัวอักษรมันทำหน้าที่อย่างไร เราถามต่อด้วยความสงสัย

“หน้าที่ของฟอนต์แค่ขอเป็นส่วนหนึ่งในงาน ไม่ได้เป็นพระเอกในงาน แต่พูดเพื่อบอกสำเนียงของข้อความนั้น เราจะเห็นว่า ‘ร’ เราเขียนเป็นตัว ‘s’ ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ถอยไป 30 ปีไม่มีใครอ่านออกว่าตัว s คือ ร ไม่มีใครรู้ว่าตัว k คือ ห ตัว น คือตัว u ที่มีติ่งข้างล่างได้อย่างไร ก ไม่มีหยักได้ด้วยเหรอ ตัวอักษรไม่มีหัวได้ด้วยเหรอ นี่แหละคือพัฒนาการพอมีการเริ่มต้นปั๊บ มันก็ค่อยๆ ปรับเซนส์การรับรู้ไปเรื่อยๆ เราก็จะชิน ตอนนี้คนที่เกิดมาในสมัยนี้ก็จะชินละ พอชินปั๊บมันก็จะพัฒนาต่อยอดไปได้อีก ฟังดูน่าสนุกไปอีก”

“เราว่าหน้าที่ของฟอนต์มีอยู่ 2 ข้อหลักๆ หนึ่ง มันทำหน้าที่ตะโกนเป็นฟอนต์พาดหัว เป็นฟอนต์ดิสเพลย์เหมือนที่เห็นในป้ายใหญ่ๆ  ทำอย่างไรก็ได้ให้คนสนใจข้อความของฉันให้สะดุดตา สอง เป็นพารากราฟเท็กซ์ (Body Text) เป็นข้อความธรรมดาที่คนอ่านนิยาย ถ้าเรามองแล้วสะดุด เมื่อกี้ตัว g หรือตัว c นะมันต่างกันนิดเดียว อุปสรรคก็จะเกิดขึ้น” 

“ดังนั้นฟอนต์ตัวเนื้อความ บุคลิกมันต้องกลืนหายไปในนิยายในข้อความที่เราสื่อสาร เช่น มีประกาศอะไรสักอย่างของรัฐบาลที่ต้องอ่านยาวๆ ถ้าใช้ฟอนต์ไม่ถูก เวลาเราอ่านจะสะดุด แต่ถ้าเกิดมันเนียนไปปั๊บ เราไม่ได้สนใจฟอนต์ เรารู้สึกว่าอันนี้มันทำหน้าที่ของมันแล้ว เราไม่อยากเด่น เราขออยู่ข้างหลังช่วยส่งสารให้ลื่นไหลมากที่สุด สังเกตว่า 2 อย่างนี้จะแตกต่างกันเป็น introvert และ extrovert (หัวเราะ) แต่หน้าที่ของมันร่วมกันคือ ส่งสารให้เข้าใจสิ่งที่อยากจะสื่อ”

Forever young ทุกครั้งเมื่อได้ทำฟอนต์

แอนก่อตั้งเว็บฟอนต์.คอมจากจุดเริ่มต้นมาถึงปัจจุบันใช้เวลากว่า 20 ปีถือว่าเป็นตัวเลขไม่น้อยที่คนๆ หนึ่งจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งยาวนานหลายสิบปี อะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงต่อมาเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเขามีจุดที่อยากเลิกทำไหม เขาตอบว่าก็มีเหมือนทุกคนไม่ต่างกัน 

“มันก็มีจุดเบิร์นเอาต์เหมือนกันนะ เราออกแบบฟอนต์ในยุคแรกๆ เสร็จปั๊บก็หยุดทำไปเลย 10 ปีเพราะรู้สึกว่าการงานมันรัดตัว เราก็ห่างหายมานาน กลับมาก็เขิน (หัวเราะ) ซึ่งเทคโนโลยีที่ผ่านไป 10 ปีมันเปลี่ยนไปมากแล้ว แม้กระทั่งโปรแกรมที่ใช้ฟอนต์มันก็เปลี่ยนไป เราก็ไม่รู้จะใช้อย่างไร ก็เงอะๆ งะๆ เก้ๆ กังๆ”

“จนวันหนึ่งก็คิดว่าทำไมเราต้องเขินด้วยวะ เราก็ขอเรียนรู้ใหม่จากคนที่คุยๆ ในคอมมิวนิตีก็ได้ ขอเรียนหน่อยนะครับ มันเริ่มอย่างไร พอกลับมาทำปั๊บ เฮ้ย มันได้เสียงการตอบรับที่ดี เช่น มันมีฟอนต์ที่คนทำยุคใหม่ๆ ชื่อฟอนต์หมา แล้วคนกลับมาใช้เยอะเหมือนเดิมแสดงว่า มันก็มีคนรออะไรแบบนี้อยู่นี่หว่า และความสนใจของเราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แล้วเราอั้นมานานพอได้ทำปั๊บ มันฟิน ตอบโจทย์แล้วก็ทำต่อมาเรื่อยๆ แล้วตอนนี้ค่อยๆ ไล่ๆ รื้อๆ ของเก่าที่เคยทำมารีโนเวทฟอนต์ตัวเองและทำใหม่ไปด้วย สนุกดี”

สิ่งหนึ่งที่เขายังไม่เลิกการทำฟอนต์กลางคัน เพราะเขาชื่นชอบการทำฟอนต์เป็นงานอดิเรก เพียงแค่ได้ทำก็รู้สึกมีความสุขและตอบโจทย์ในใจแล้ว “พอมันเป็นงานอดิเรก เรารู้สึกว่าควรจะหาเวลาให้มัน แต่พอถึงยุคหนึ่งลองเวทน้ำหนักดูเเล้วว่า เราว่างหรือใส่ใจไม่มากพอ จริงๆ แล้วเรายังรักมันไม่มากพอ แต่พอ กลับมาอีกที เหมือนเด็กอนุบาล มันมีความสุขมาก มันสนุกนี่หว่า เราแค่ทำฟอนต์ออกมา แค่นี้ก็มีความสุข มากๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องขายให้ได้เงิน มันเป็นความรู้สึกของยุคที่เรายังหนุ่มแน่น ยังมีเวลาเหลือเฟือ (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้เริ่มแก่ละ นึกถึงอดีตช่วงนั้นมันดีจังเลย พอเรากลับมาเล่นอีกครั้งก็รู้สึกว่าเราเป็นคนนั้นอีกแล้ว มันดีจัง และรู้สึกว่าเราจะอยู่กับมันไปได้อีกนาน จนรู้ว่าอยากจะตายไปพร้อมกับมันเลยก็ได้ ไม่รู้สึกเบื่ออีกเลย”

ความท้าทายของคนทำฟอนต์หนีไม่พ้นเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’

หากพูดถึงความท้าทายของคนทำฟอนต์สมัยก่อนคืออะไร แอนบอกเราว่ามันคือเรื่องลิขสิทธิ์ และถ้าสมัยนี้ในยุคดิจิทัลละมันคือเรื่องอะไร เขานั่งนึกอยู่สักพักก่อนตอบว่าคงยังเป็นเรื่องลิขสิทธิ์อยู่!

“คิดว่าเรื่องลิขสิทธิ์คนไม่ได้เข้าใจทั้งหมด 100 % เมื่อก่อนคนอาจจะเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์น้อยมากๆ ที่จะเข้าใจว่าของที่จับต้องไม่ได้มันต้องเสียงเงินได้ แต่ตอนนี้คนมันเก็ตหมดแล้ว แต่เก็ตในหมู่ที่เข้าใจประมาณหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังมีนักออกแบบทำฟอนต์ขาย ก็ยังมีคนละเมิดเขาอยู่ ถ้าเคลียร์ได้ก็อยากเคลียร์ความเข้าใจนี้ให้ได้มากที่สุด” 

“เดิมทีกฎหมายเกี่ยวกับฟอนต์ มันอยู่ในหมวดวรรณกรรมและโปรแกรมมิ่ง กฎหมายค่อนข้างแข็งตัวไม่ได้ยืนหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก พอเขียนปั๊บเขาก็มองว่า ฟอนต์เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์  มันคือชื่อทางกฎหมายของคำว่าฟอนต์ พอเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นั่นแสดงว่าตัวฟอนต์มีการเขียนโค้ดดิ้งข้างหลัง ต้องดัดเส้นตรง เส้นโค้งให้โค้ดมันออกมาเป็นแบบนี้ มันคือโปรแกรมตัวหนึ่ง เวลาเขาฟ้องก็จะฟ้องเรื่องตัวนี้ แต่เรื่องการดีไซน์ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เราไม่สามารถเคลมได้ว่า ฟอนต์นี้เป็นดีไซน์ของเรา ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ต่อไปนะ”

“แต่ตอนนี้ไม่ได้มองว่าเป็นขาวเป็นดำนะ มันจะมีประเด็นคนบอกว่า เราควรคุ้มครองงานที่ออกแบบมาไหม เพราะบางคนถูกก๊อปปี้ เสียผลประโยชน์ก็เข้าใจทั้งสองฝ่ายนะ แต่บางคนไม่ได้ลอกเป๊ะ คือดูแบบและเขียนตาม ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นคนละตัวกัน เพราะเราเขียนใหม่จากศูนย์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ แต่ก็จะมีคนบอกว่าให้พัฒนาต่อไปแล้วเราจะต่อยอดได้อย่างไรถ้าคุ้มครอง บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นตัวอักษรที่ประดิษฐ์ของพ่อขุนรามคำแหงนะ”

“แล้วสิ่งเหล่านี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร มันก็น่าคิดและน่าสนใจทุกฝ่ายในเชิงกฎหมาที่ยังไม่ได้แอ็กทีฟ ซึ่งมันอาจจะเป็นคำถามของยุคสมัยนี้ของวงการเล็กๆ อันหนึ่งก็ได้ที่ควรถกเถียงกันว่าเราควรจะทำอย่างไร เพราะมันยังไม่ได้ถูกตั้งเป็นประเด็นมากกว่าในตอนนี้”

ฟอนต์.คอม ฟอนต์ Introvert ที่อยากสนับสนุนคนทำฟอนต์ให้ Extrovert

ทุกครั้งเวลาแอนพูดเกี่ยวกับฟอนต์ทั้งที่มาของมันในอดีต ความชอบหรือเรื่องประเด็นต่างๆ ของการออกแบบฟอนต์ไทย เราจะเห็นสีหน้าตื่นเต้นและจริงจังของเขาเวลาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เราถามกลับคำถามสุดท้ายว่า เป้าหมายในการก่อตั้งเว็บฟอนต์.คอมตอนแรกกับตอนนี้ต่างกันมากน้อยขนาดไหน

เขารีบตอบว่า “ความตั้งใจเราไม่เปลี่ยนเลย ตั้งแต่ตอนที่เปิดเว็บฟอนต์.คอมมาแรกๆ เรารู้สึกอยากเผยแพร่ว่าตัวฟอนต์มันมีคนที่สร้างขึ้นมา เสร็จปั๊บ มันเป็นของเล่น เป็นงานอดิเรกและใช้ทำมาหากินได้ แต่ขอเงื่อนไขข้อเดียวว่าแจกฟรีสัก 1 น้ำหนักได้ไหม เอาไปใช้ส่วนตัวก็ได้ ถ้าชอบแล้วค่อยซื้อต่อก็ได้ ทุกคนวินหมดเลย ดีไซน์เนอร์ก็วินมีคนซื้อเขาเป็นล่ำเป็นสันเลย และก็ลูกค้าที่ไปใช้ก็เข้าใจว่าตัวฟอนต์นี้ใช้ส่วนตัวได้ แต่ถ้าทำมาหากินก็จ่ายเขาหน่อย ซึ่งราคาไม่แพงมากเลย สำหรับเราก็แฮปปี้ที่ทุกคนคลิกกันต่อได้ แสดงว่าสูตรนี้มันเวิร์ก มันเวิร์กมาหลายปีมากแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าค่อนข้างเฮลตี้”

“ความสุขของเรายังเหมือนเดิม เราทำตอนเรียน หลังเรียนจบก็ยังทำอยู่ ทำแล้วมันสนุกก็ทำเป็นงานอดิเรก พอทำเสร็จมันสนุก ตอนนั้นมันยังไม่ใช่ยุคโซเชียลฯ ถ้าเป็นสมัยนี้มันก็โพสกดไลก์ได้ทันที แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนจะเห็นฟีดแบ็กได้ก็คือ ต้องออกไปเป็นหนังสือผ่านงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ต้องโผล่ไปในผลิตภัณฑ์แพ็กเกจขนม ตอนนั้นเราตั้งธงเลยว่า ถ้าเกิดมันไปโผล่ในขนมเซเว่นได้ เราจะถือว่าภูมิใจมาก ตายตาหลับละ เราจะฟินละ แล้ววันนั้นมันก็เกิดขึ้นจริง คือตอนนั้นน่าจะปี 2005 มีฟอนต์หนึ่งไปโผล่ในซองมาม่า เห็นแล้ว โอ้ สวรรค์ (หัวเราะ) ในฐานะของคนที่ทำงานอดิเรก ทำแล้วมันมีคนเห็นค่า มันมีคนยอมรับ เราฟินตัวลอย เราก็เลยรู้สึกว่าดำเนินตามรอยนี้ต่อไปละกัน”

“สำหรับเราเป้าหมายการทำเว็บฟอนต์.ตอม เราไม่ได้อยากเป็นฟอนต์พาดหัว เราไม่ใช่ฟอนต์ตะโกนให้ใครมาสนใจเราหน่อย เรายังทำงานอยู่ข้างหลังเรื่อยๆ เราเป็นตัวเนื้อความที่ช่วยส่งสารอะไรสักอย่างผลักดันไปถึงกับคนรับ โดยที่เราไม่ต้องกระโดดออกมาข้างหน้า ซึ่งฟอนต์มันทำหน้าที่อันนี้มาตลอด เราอยากอยู่ข้างหลังต่อไป เราอยากเป็นบ่ออนุบาลที่ดีในการอยู่ตรงนี้ให้คนสนใจเรื่องฟอนต์ ศึกษาและทำมาหากินได้”

แอนพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นและเชื่อว่าฟอนต์ไทยในวันข้างหน้ายังมีลูกเล่นให้ออกแบบสนุกๆ อีกมากมาย น่าติดตามว่าหน้าตาของฟอนต์ไทยจะต่อยอดไปไกลถึงไหนกัน…

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่