ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again และเรื่องราวของคนนอกที่เลือกทางเดินด้วยตัวเอง

โลกความจริงการทำสิ่งที่ตัวเองรักมักไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นสิ่งที่เจ็บปวดในบางครั้ง เพราะเราไม่อาจควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นอย่างที่ใจคิด ไม่แปลกที่หลายคนเลือกหันหลังให้สิ่งที่รักและไปทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่บอกว่าดี

ในขณะที่บางคนอาจเลือกทางที่ตัวเองเชื่อต่อ แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการเติบโต หรืออาจลงเอยด้วยความโดดเดี่ยวก็ตาม

เช่นเดียวกับ ฐา-ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับหนังอิสระ แม้จะรู้ว่าการทำหนังอิสระไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในไทยที่ไม่มีการซัพพอร์ตผู้กำกับหน้าใหม่มากพอ รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่คนทำหนังต้องเผชิญ ยิ่งทำให้งานของเธอแทบจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เธอก็ยังทำหนังเรื่องแรกของตัวเองอย่าง Blue Again จนสำเร็จในเวลา 8 ปี นับตั้งแต่ช่วงแรกของการรัฐประหารครั้งล่าสุด 

หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 27 และได้เข้าชิงสาขา New Currents รางวัลสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ ด้วยความยาว 3 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับหนังอิสระและเป็นไปได้ยากที่จะถูกคัดเลือกเข้าไปฉาย ทั้งยังเป็นการลงมือทำงานเองทุกอย่างของฐา แม้แต่การออกทุนสร้าง ในขณะที่หนังอิสระเรื่องอื่นๆ อาจได้ทุนจากหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน

Blue Again มีโอกาสกลับมาฉายอีกครั้งในไทย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หนังว่าด้วยเรื่องราวของ ‘เอ’ หญิงสาวลูกครึ่งจากอีสาน ดิ้นรนเข้ามาเรียนออกแบบแฟชั่นในกรุงเทพฯ โดยหวังว่าจะชุบชีวิตโรงย้อมครามของครอบครัวที่กำลังจะตาย เธอต้องปกป้องความฝันนี้ไปพร้อมๆ กับเรียนรู้ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์เพื่อนๆ ในที่ไม่คุ้นเคย ก่อนที่ทุกอย่างจะทำให้เธอกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าตรงไหนคือที่ของเธอจริงๆ

ตัวละครเอในเรื่องไม่ห่างไกลจากฐามากนัก เธอคือคนนอกที่เลือกเดินในทางของตัวเองโดยไม่ฝืนความรู้สึกของตัวเองเพียงเพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ใด ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นอย่างไร จึงนำมาสู่บทสนทนาของเราและฐาในบ่ายวันหนึ่งที่ลมหนาวเริ่มพัดมาเป็นระลอกแรก

เธอคิดอย่างไรกับการทำหนังท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดว่าหนังที่สามารถขายคนดูได้ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอเชื่อมั่นและยังคงทำหนังต่อแม้จะต้องใช้เวลานานนับปี เธอเรียนรู้อะไรจากหนังเรื่องนี้ ก่อนชวนคุยไปถึงภาพกว้างว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยมีพื้นที่ให้กับคนทำหนังอิสระมากน้อยแค่ไหน 

จากหนังบอกรักสู่ความรักในการทำหนัง

ย้อนกลับไป เด็กหญิงฐาคือเด็กที่ชอบดูทีวี และหนังพากย์ไทยที่เปิดตามงานศพ และงานประเพณีต่างๆ ของภาคอีสาน เพราะทำให้เธอได้เจอกับโลกที่ต่างออกไปจากสภาพแวดล้อมที่เธออยู่ และช่วยให้เธอเข้าใจคนอื่นมากขึ้น 

เวลาเห็นนักแสดงในทีวีไม่ได้คิดอยากจะเป็นดารานะ ตรงกันข้ามอยากเป็นคนที่บอกเขาว่าต้องทำยังไงถึงจะดี” ฐาเล่าจุดเริ่มต้นของความฝัน ก่อนที่ต่อมาจะรู้ว่านั่นคือหน้าที่ของผู้กำกับ

น่าเสียดายแม้ฐาจะรู้จักตัวเองตั้งแต่ ม.4 แต่ครูกลับบอกเธอว่าควรจะเรียนในสายวิทย์-คณิตต่อในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลาที่สับสนในที่สุดเธอก็เลือกเรียนวิศวะไฟฟ้า ก่อนที่สุดท้ายจะถูกรีไทร์ เพราะผลการเรียนตกลง

“ตอนที่เรียนวิศวะไฟฟ้าก็รู้สึกไม่เอนจอย ไม่เข้าเรียนหนังสือ ไม่ใช่ว่าเรียนไม่รู้เรื่องหรือว่าอะไรนะ เข้าไปเรียนแล้วเหมือนฟังภาษาอะไรอยู่ก็ไม่รู้ที่เราไม่อยากได้ยิน เนื้อหามันอาจจะดีก็ได้นะ แต่มันไม่ทำให้เราเบิกบานใจ แค่เข้าไปเรียนวิชาพื้นฐานก็ไม่สนุกแล้ว เราก็เลยไม่เข้าเรียน พอไม่เข้าเรียนผลการเรียนก็ต่ำ เราก็เลยโดนรีไทร์จากวิศวะเลย”

ช่วงเวลาว่าง 1 ปี บวกกับการเลือกแก็ปเยียร์อีก 1 ปี ทำให้ฐาได้ลองค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไรจริงๆ นอกจากการติวเข้าสอบอะไรสักอย่างอีกครั้ง แล้วหนัง ‘สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก’ ก็จุดประกายบางอย่างในตัวเธอ นั่นคือการสารภาพรักกับคนที่เธอชอบ แต่ด้วยวิธีที่ต่างออกไปนอกจากการบอกรักธรรมดาๆ คือการบอกรักผ่านการทำหนัง จนทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนด้านภาพยนตร์

“เราสอบเข้ามาเรียนหนัง เพื่อที่จะทำหนังเพื่อบอกรักคนที่เรารัก แค่นั้นเลย คือเราไม่ได้มีแพสชั่นแรงอะไร เราแค่อยากทำหนังบอกชอบคนที่เรารักผ่านหนังอีกทีนึง แต่พอเราเข้ามาเรียนหนังจริงๆ เรากลับรักในการทำหนังมาก พอหมดรักคนคนนั้น มันก็หมดลง แต่ความรักที่เรามีต่อภาพยนตร์มันยังอยู่ เราก็เลยรู้สึกว่า เราเหมาะกับการเรียนภาพยนตร์แล้ว เพราะเราอยู่กับมันนานกว่าที่เรารักผู้ชายคนหนึ่งอีก”

ช่วงเวลาเรียนภาพยนตร์คือช่วงเวลาที่ฐาสนุก แม้วิชานอกเอกจะได้ D C B ต่างกันไป แต่พอเป็นเรื่องวิชาเอก เธอกลับได้ A เกือบทุกตัว แถมบางวิชาเธอยังลงเรียนทั้ง 2 เซค แม้จะเป็นวิชาเดียวกันก็ตาม 

“เรารู้สึกว่าที่เราทำได้ดีเพราะเราสนุกกับมันจริงๆ ตอนเรียนรู้สึกชอบ เวลาไปเรียนก็จะเรียน 2 คลาสตลอดเลย สมมติถ้าวิชานึงมีครูสอน 2 คน แบ่งเซคกันเรียน เราจะไปซิตอินกับอีกเซค เท่ากับว่าเราเรียนมากกว่าคนอื่น 2 เท่า เราสนุกมากที่เราได้เรียนอย่างนั้น

“แต่มันก็ใช้ไม่ได้กับทุกวิชา บางวิชาก็ต้องไปออกกอง ซึ่งเราก็ไม่สามารถทำได้ตลอด เราก็จะขออาจารย์ตัดเกรดเป็นบางวิชา คือขอให้เขาตัดเกรดแต่ไม่อยู่ในใบเกรด ให้เขาประเมินผลมาให้ แล้วเราจะรู้ว่าตัวเองเรียนวิชานี้กับครูคนนี้แล้วเป็นยังไง ซึ่งเราค่อนข้างสนุก เช่นวิชาเขียนบท เราสนุกมากที่ได้เรียนกับอาจารย์ 2 คน แล้วอาจารย์ 2 คน สอนการเขียนบทไม่เหมือนกันเลย คนนึงอาจจะสอนแบบ narrative มากๆ อีกคนอาจจะสอนแบบทฤษฎีจ๋าๆ ก็สนุกดี”

เธอเล่าด้วยดวงตาเป็นประกายระหว่างที่พูดถึงช่วงเวลาเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย จนเรารับรู้ได้จริงๆ ว่าเธอหลงใหลสิ่งนี้มาจากข้างใน

คนกึ่งกลางระหว่างสกลนครถึงกรุงเทพฯ

  “เราเหมือนเด็กทั่วไปที่ต้องย้ายที่อยู่ เหมือนคนไปเมืองนอกต้องใช้ชีวิตเอง ต้องปรับตัวสูง” ฐาเล่าถึงความรู้สึกเมื่อต้องย้ายมาเรียนกรุงเทพฯ จากที่เรียนอยู่ในจังหวัดสกลนครจนถึงชั้น ม.6

แม้จะได้เรียนสิ่งที่เธอรักแล้ว แต่การย้ายเข้ามาเรียนในเมืองคนเดียวก็ทำให้เธอต้องใช้พลังงานไปกับการปรับตัว ขณะเดียวกันความแตกต่างของสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กในเมืองหลายคนมีโอกาสรับรู้ทางศิลปะมากกว่า ต่างจากฐามักซึมซับศิลปะท้องถิ่น ซึ่งส่งผลไปถึงการเลือกแนวทางการทำหนังไปด้วย

“จริงๆ การเรียนภาพยนตร์เป็นของแพง คณะที่เราเรียนค่าเทอมค่อนข้างสูง ถามว่ามีเด็กต่างจังหวัดมาเรียนไหม ก็อาจจะเกินครึ่งมานิดนึง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในเมือง เราก็จะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว เพราะวิถีชีวิตไม่เหมือนเพื่อน บางครั้งมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เช่น เพื่อนอยากกินบุฟเฟ่ต์ เรามีเงินใช้จ่ายแค่วันละ 200-300 เราก็ไม่สามารถแล้ว เขาจะไปเที่ยวสวนสนุกกันเราก็ไม่สามารถ เขาจะไปผับตอนกลางคืนกันเราก็ไม่สามารถ หรือการจะดูหนัง ตั๋วหนังแพงเราก็ไม่สามารถ เราก็เลยเลือกที่จะดูหนังเทศกาลเล็กๆ อะไรที่มันดูฟรี มันก็ส่งผลในการรับรู้ให้เราเป็นคนอีกแบบนึง

“มันก็เลยกลายเป็นมีความคิดเรื่องหนังไม่ตรงกัน สิ่งนี้ก็แยกให้เราทำหนังไม่เหมือนกัน มันก็เลยเกิดการแยกกลุ่มในเด็กเรียนหนังอีกที อย่างเราชอบดูหนังที่มันทดลองหน่อย มันก็เลยเกิดการทำหนังที่มันค่อนข้างแยกกันจากเพื่อน ก็เลยกลายเป็นว่าเราแยกกันจากเพื่อนโดยอัติโนมัติ เรื่องความชอบด้วยและเรื่องสังคมด้วย แต่ว่ามันไม่ได้ผิดอะไรนะ เราทำอะไรแล้วสบายใจ ทำแล้วสะดวกใจก็ทำอันนั้น เด็กเรียนหนังก็ค่อนข้างอิสระ 

“หนังฐามันเราอยู่ตรงกลาง ระหว่าง narrative กับ ทดลอง มันก็เลยหาคนที่จะมาช่วยตรงนี้ยาก แล้วเราก็ไม่รู้จะสื่อสารยังไงให้คนเข้าใจว่าเป็นแบบนี้นะ ในตอนเด็กมันก็ไม่ได้มีคนเข้าใจมากว่าเรากำลังทำอะไร เราก็เลยเกิดการชวนรุ่นพี่มา ชวนรุ่นน้องมา ที่ไม่ใช่รุ่นเดียวกันมาทำหนังแทน รุ่นพี่ที่เขาเจนหนังมาหลายแบบแล้ว หรือรุ่นน้องที่อาจจะไม่ได้เข้าสู่โลกภาพยนตร์มาก เขาก็จะได้มาช่วยเรา และเราก็ช่วยเปิดโลกภาพยนตร์ให้เขา ในการทำหนัง”

จากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมมา ทำให้หนัง Blue Again จึงกลายเป็นหนังทีสิสของฐาที่อยู่กึ่งกลางของการเล่าเรื่องแบบ narrative และ ทดลอง พร้อมๆ กับชวนรุ่นพี่และน้องเข้ามาร่วมเฟรมด้วยในหนังเรื่องนี้ ในรูปแบบหนังสั้นที่ยาว 57 นาที 

หนังสั้นที่ยาวและหนังยาวที่ยาวกว่า

“มันเป็นทีสิสจบมหา’ลัยของเรา ตอนนั้นทำทีสิสจบอยู่ที่ประมาณ 57 นาที ถือว่าเป็นหนังสั้นที่ยาวมาก” ฐาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Blue Again ที่เกิดขึ้นจากการทำทีสิส

เธอเล่าต่อไปว่าหนังสั้นส่วนใหญ่มักไม่เกิน 30 นาที หรือถ้าสั้นจริงๆ ต้องไม่เกิน 15 นาที หนังของฐาที่ยาว 57 นาทีจึงไม่ลงล็อกไหนเลยของการเป็นหนังสั้น ขณะเดียวกันก็ไม่ลงล็อกของการเป็นหนังยาวด้วย จึงทำให้เธออยากขยายหนังเรื่องนี้ออกไปให้ยาวขึ้น นอกจากเพื่อเล่าเรื่องตัวละครให้ละเอียดขึ้นแล้ว ยังทำเพื่อให้หนังเรื่องนี้ได้มีพื้นที่ฉายในแบบหนังยาวด้วย

“เราต่อยอดใน 2 ปีต่อมาหลังจากเรียนจบ การเขียนบทเกิดขึ้นประมาณปีครึ่งหลังจากที่ถ่ายทำทีสิสจบ แล้วพอบทเสร็จก็ถ่ายทำเลย เราคิดว่าเราทำไปเพราะอยากทำให้หนังมันสามารถฉายได้ในที่ใดที่หนึ่ง 

“ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดไกลว่าต้องไปเทศกาลหนัง คิดแค่ว่าคงจะฉายในไทย ในห้องสมุดเล็กๆ สมัยก่อนมันจะมี reading room ตรงประมาณสีลม ดินแดง เขาจะเอาไว้ฉายหนังนอกกระแส ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะจบอยู่ที่เล็กๆ ตรงนั้นถึงแม้ว่าหนังเราจะ 3 ชั่วโมงก็ตาม แต่พอมันทำไปแล้ว ตัดออกมาได้ 3 ชั่วโมง เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ขนาดนั้น แล้วคุณภาพมันก็ยังโอเคอยู่ ก็เลยพยายามทำให้มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เลย ก่อนที่จะเริ่มสนใจเรื่องการประกวดเทศกาล”

“หลังจากตัดเสร็จไม่เคยส่งที่ไหนเลย ปูซานคือที่แรก ที่เดียว หลังจากนั้นจะเป็นการถูกเชิญมากกว่า เราเลยเลือกที่จะฉายไทยเลย เพราะอยากได้ฟีดแบ็กจากคนไทยมาก เพราะเราอยากไปต่อกับเรื่องอื่นแล้ว ถามว่าส่งเทศกาลอื่นไหม ด้วยความที่มันยาว 3 ชั่วโมงมันเลยยากมากที่จะถูกเลือก เพราะว่ามันไม่ลงสลอตเวลาของการจัดหนังเทศกาล หมายความว่าเขาเลือกหนังเรา 3 ชั่วโมง เขาสามารถเลือกหนังคนอื่นได้อีก 2 เรื่องเลยนะ เพราะงั้นการที่เราจะถูกเลือกมันเลยยากมาก”

“ทำไมคุณจึงเลือกเก็บความยาวของหนังไว้ขนาดนี้” เราถาม

“เราทำไม่ได้ มันเหมือนตัดแขนตัดขาลูกเรา เหมือนลูกเรามันน่ารักแล้ว” เธอยิ้มตอบ “แต่ก็พยายามส่งนะ ก็หวังว่ามันจะไปได้สักที แต่ไม่รู้ที่ไหนเหมือนกัน

“ถ้าเทียบกับหนังทั่วไป ถามว่ามันยาวจริงไหม มันก็ยาว แต่ศิลปะมันไม่ควรจำกัดว่าจะยาวเท่าไหร่ คนทำต้องทำด้วยวิธีการอะไร หนังมันถูกยกให้ทำเป็นศิลปะชิ้นนึง ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันมีโลกของหนังที่ยาว 8 ชั่วโมง แล้วเขาได้รับการยอมรับจริงๆ

“ที่หนังเรายาวกว่าปกติ เราไม่กลัวเลยนะ เราแค่คิดว่าถ้าเราชอบมันก็น่าจะมีคนชอบแบบเรา เรารู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับความยาวหรอก มันเกี่ยวกับว่าหนังดีหรือเปล่า แต่ว่าถ้าคนจะอดทนไม่ได้ใน 3 ชั่วโมงเราก็ให้เกียรติเขานะ อย่างเช่นเราไปฉายในเทศกาล คนเดินออกจากโรงไปเลย เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร เราเคารพคนดู จะรีแอ็กหรือวิจารณ์หนังเรายังไงก็ได้ แต่เราแค่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันต้องมีคนชอบเหมือนเราแหละวะ”

ฐาบอกว่าหนังเรื่องนี้มีวิธีถ่ายทำที่ไม่เหมือนกับหนังเรื่องอื่น เริ่มต้นจากการเขียนสิ่งที่อยากเล่ามากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับคนรอบข้างเธอ บวกกับเรื่องแต่งอีกเล็กน้อย รวมถึงการเขียนไปถ่ายไปแบบไม่เรียงลำดับซีนที่ทำให้เธอสนุกกับการต่อจิ๊กซอว์ในหัวว่าเรื่องที่เขียนไปข้างหลัง มันโอเคกับข้างหน้าหรือยัง แล้วตรงกลางเขียนอะไรไป 

“มันเป็นการทำงานที่สนุกนะเหมือนเราโอเคที่มันได้ลอง แล้วก็รู้สึกว่าพิเศษขึ้นมั้ง เราไม่ต้องมีข้อจำกัดในการเขียนบทเลย ไม่ต้องคิดว่าตรงนี้ต้องบิลด์แล้ว ตรงนี้ต้องเล่าเรื่องอะไรแล้ว มันอาจจะมีทฤษฎีของการทำหนังอยู่ แต่เราโอเคมากเลยกับการไม่มีทฤษฎี” เธอเล่าถึงวิธีการทำหนังเรื่องนี้

การทำหนังที่เล่าเรื่องที่ฐาอยากเล่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็ท้าทายความคุ้นชินของคนดู ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ช่วงเวลานี้หลายคนอาจจะท้อหรือกลัวจนต้องล้มเลิกไป ระหว่างทางเธอเคยรู้สึกเช่นนี้ไหม และอะไรคือสิ่งที่ยังทำให้เธอเชื่อมั่นในการทำหนังของตัวเองอยู่นั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้ต่อมา ก่อนจะพบว่าฐามองว่าเรื่องนี้เธอได้อะไรกลับมามากกว่าเสียด้วยซ้ำ

“อาจจะเพราะไม่ได้หวังอะไรมั้งคะ ไม่ได้หวังว่ามันจะได้อะไรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้รู้สึกว่าผิดหวังมาก” เธอตอบกลับมา “แต่ส่วนใหญ่มันเป็นไฟมากกว่า เป็นคนมีไฟ กระตือรือร้นที่จะทำมัน เราอยู่กับมันได้นานแสดงว่าเรารักมันได้นานจริงๆ

“ถามว่ามันน่าพอใจไหม มันก็น่าพอใจแต่ว่าเรื่องรายได้มันไม่น่าพอใจอยู่แล้ว มันก็อาจจะได้เงินจากการฉายหนังบ้างเล็กน้อย  ก็ต้องยอมรับว่าเราก็ลงทุนไปเยอะ ผลลัพธ์มันก็ได้อะไรมาที่ไม่ใช่เงิน เช่นโอกาสในการที่เราจะได้ทำงานที่เราอยากทำมากขึ้น ได้ไปเทศกาลภาพยนตร์เป็นสิ่งที่เราไม่เคยไป เหมือนซื้อประสบการณ์ให้ตัวเอง เรามองอย่างนั้นมากกว่าว่ามันได้มากกว่าเสีย แล้วในอนาคตก็อาจจะมีคนมาจ้างเราทำงาน เราว่ามันได้นะ

“สิ่งที่ทำให้เราเชื่อในหนังอยู่ คือเราชอบมัน คนทำหนังชอบหนัง ชอบรสนิยมของตัวเองอยู่แล้ว คือเรารักหนังของเรามาก เรารักตัวละครของเราที่เราสร้าง รักบรรยากาศแบบนี้ รักซีนแบบนี้ เราถึงสร้างมันขึ้นมา มันทำให้อยากทำให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่เรารัก”

หนังเรื่องแรกว่าด้วยการสำรวจที่ทางของคนนอกในสังคม

Blue Again ฐาเลือกเล่าเรื่องราวที่ท้าทายหลายๆ สิ่งที่มักเจอในหนังส่วนใหญ่ ด้วยการเล่าตัวละครหลัก หรือ ‘เอ’ ที่ไม่เป็นที่รักของคนอื่นมากนัก หรือการใส่เรื่องราวความขัดแย้งด้านความเชื่อกับคนในครอบครัวอย่างศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ แต่ขณะเดียวกันประเด็นของการเล่าเรื่องคนนอกด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ทำให้หลายๆ คนเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้กับตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“แม้ตัวละครจะไม่เป็นที่รักของคนอื่น แต่เรารู้สึกว่ารักคนคนนี้ ในฐานะที่เขาเป็นคนที่มีจริงๆ ในชีวิต เรารู้สึกว่าอยากให้คนอื่นเห็นคนที่ไม่ถูกเห็น คนที่ถูกเมิน ถูกอิกนอร์ ในสังคม เราอยากให้เขาปรากฏตัวอยู่ในจอบ้าง เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องการเข้าใจคนเหล่านี้ด้วย ว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนนึงที่ควรถูกเข้าใจบ้างเหมือนกัน ถึงแม้ว่าการอยู่ในหนังเราต้องโน้มน้าวใจว่าตัวละครนี้เป็นที่รัก ตามสูตรสำเร็จของตัวละครนำทั่วไป แต่ว่าเราก็เคารพเขาในพาร์ตที่เป็นมนุษย์เหมือนกันด้วย เราถึงเอาตัวละครที่เป็นคนนอกเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็หวังว่าเราจะไม่มองข้ามคนเหล่านี้ไปในฐานะที่เป็นมนุษย์คนนึง”

ขณะเดียวกันฐายังขยายขอบเขตเรื่องเล่าความเป็นคนนอกไปถึงเรื่องศาสนา ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนใส่เข้ามาในหนังด้วยมุมมองของการยอมรับและเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น

“หนังเรามีเกี่ยวกับตัวละครหนึ่งที่นับถือคริสต์เขาสนใจศาสนาอื่น แต่เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้กับหลายๆ คน ไม่ใช่เฉพาะในหมู่บ้านที่เรายกตัวอย่าง คนทั่วไปก็ได้ ที่เคร่งศาสนาพุทธมากๆ พอเราเปลี่ยนไปอีกศาสนานึง มันก็ทำให้เราเกิดการแปลกแยกต่อครอบครัวอยู่แล้ว ซึ่งความแปลกแยกนี้เราอยากเล่าในหนังเรา ประเด็นศาสนามันก็อินสไปร์มาจากเพื่อนเราที่เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่เรายกตัวอย่างในหนังเรามันแค่ครอบครัวนึงเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนส่วนใหญ่จะยอมรับไหมว่ามันมีอยู่ ซึ่งเจตนาเราไม่ได้อยากท้าทายประเด็นแรง เราแค่อยากถ่ายทอดเรื่องของเพื่อนเรา สิ่งที่เพื่อนเราเจอมา

“สิ่งที่แตกต่างออกไปคือหนังของเรามันไม่แฮปปี้เอนดิ้งมั้ง แต่เราจบด้วยการที่ตัวละครของเราสามารถหาทางของตัวเองเจอได้ ว่าจะไปทางไหน แม้ทางนั้นจะเป็นทางที่เดินคนเดียว อย่างน้อยเขารู้ว่าทางที่เขาเดินไปมันเหมาะสมกับเขา ซึ่งเราว่ามันดูไม่แฮปปี้สำหรับคนอื่น แต่มันแฮปปี้สำหรับตัวละคร มันเหมือนสูงสุดของการตระหนักในตัวเองคือการรู้ว่าตัวเองจะไปที่ไหนที่เหมาะกับตัวเอง และบอกได้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง

“เราก็ไม่ได้เฉลยนะว่าปลายทางนางเอกไปจบที่ไหน แต่เราแค่รู้สึกว่าเขามีทางที่ดี แต่เขากล้าที่จะปฏิเสธทางที่ไม่ใช่ คนอาจจะคิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่บางคนมันไม่ได้อยากสังคมไง แล้วเราก็รู้สึกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ผิดอะไรเลย เพียงแต่ว่าเขาต้องอยู่ให้ถูกที่ คนอื่นและตัวเขาเองจะได้ไม่เดือดร้อน เราเลือกแบบนั้นมากกว่า เราเลือกเพราะตัวละครเลือกให้เรามั้งคะ เราไม่ได้เลือกให้เขา” 

บนโลกนี้มีพื้นที่สำหรับคนตรงกลางมากแค่ไหน

แม้ว่าสุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้จะไปได้ไกลถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน แต่ที่ผ่านมาฐาบอกว่าเธอไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดเลย เธอจึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับหนังเรื่องนี้

“การสนับสนุนจากภาครัฐสำคัญมากสำหรับเรา” ฐาเล่าย้อนกลับไปในวันที่ไม่ได้รับทุน เพราะนอกจากการสนับสนุนผู้กำกับหน้าใหม่จะทำให้เกิดหนังเรื่องใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนของเงินด้วย นอกจากนี้เหตุผลที่สำคัญคือการรับรองจากคนในประเทศของคนทำหนังเอง

 “การที่เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก่อนที่จะไปขอทุนต่างประเทศมันดีกว่ามากๆ เพราะว่าเป็นเหมือนการยืนยัน เหมือนจดหมาย recommend ว่าหนังของประเทศคุณเป็นหนังที่ดี คนในประเทศยอมรับแล้ว แสดงว่าประเทศอื่นก็มีสิทธิ์สนับสนุนหนังเรามากขึ้น แต่พอมันไม่มีการสนับสนุนในประเทศ การไปต่อขอทุนต่างประเทศมันเลยยากมากสำหรับหนังอิสระ แต่ไม่อยากให้คนคิดว่าคนทำหนังอิสระเป็นขอทานนะ ต้องไปขอทุนถึงจะเรียกร้องอะไรนักหนา ไม่ใช่ค่ะ แต่เป็นสิ่งที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน”

สิ่งที่ช่วยให้หนังอิสระ หรือแม้แต่หนังทุกๆ เรื่องในไทยมีที่ทางมากขึ้น ฐาบอกว่าคือการมีหนังที่หลากหลาย และสามารถเข้าถึงคนดูได้จำนวนมาก ซึ่งอาจหมายถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากโรงภาพยนตร์ด้วย

“การมีหนังที่หลากหลายมัน สำคัญมากๆ เลย เพราะว่ามันเหมือนเป็นการเปิดโลกการดูหนังให้คนดู ที่เราเคยได้ยินมาว่าหนังไทยจะมีแต่หนังรัก หนังผี หนังตลก แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันไม่จริง มันยังหนังไทยอีกหลายเรื่องเลยที่ยังไม่ถูกค้นพบ 

“คนดูก็อยากดูอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่ถึง เพราะว่าโรงภาพยนตร์ยังจำกัดเสรีภาพในการฉายอยู่ คนไทยก็เลยชอบเสพงานต่างประเทศมากกว่า เขาก็จะคิดว่างานต่างประเทศมีคุณค่า ทั้งที่บางทีหนังอิสระบางเรื่องมันก็มีคุณค่าของมัน แต่ว่าอาจจะคุณค่าอีกแบบนึงที่อยู่ในเนื้อหา คุณค่าในการเปิดโลกทัศน์ ในการ narrative ที่ไม่เหมือนหนังใหญ่ๆ ทั่วไป เรารู้สึกว่าถ้าโรงให้โอกาสมากกว่านี้ หนังกระจายได้มากกว่านี้ มันก็อาจจะเกิดการดูหนังนอกกระแสที่เยอะมากกว่านี้ แล้วคนทำหนังที่ทำหนังนอกกระแสก็อาจอยู่ได้มากขึ้น 

“ซึ่งเราไม่ได้โทษโรงเลยนะ เราแค่รู้สึกเข้าใจโรง ในขณะเดียวกันโรงหนังก็สามารถพัฒนาให้วงการศิลปะหนังเจริญขึ้นได้ ถ้าเขาพร้อมที่จะทำ มันก็มีหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องหนังไทยต้องยืนโรงกี่เดือน ซึ่งมันไม่มีกฎหมายนี้มาซัพพอร์ต มาคอยหนุนคนทำหนัง ไม่เหมือนต่างประเทศที่มากำหนดฉายโรงกี่สัปดาห์ กี่เดือน ซึ่งหนังไทยสองสัปดาห์ก็ออกแล้ว อย่างมากสุดก็เดือนนึง อันนี้เป็นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการหนังไทยเลย”

ที่ผ่านมาการทำหนังเรื่องแรกของฐาที่เธอบอกว่ามีความยากในทุกขั้นตอน ด้วยการทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดจำหน่าย โปรดิวเซอร์เอง กำกับเอง เขียนบทเอง และการทำให้หนังไปสู่สายตาของผู้ชมให้มากที่สุด

“พอไปฉายเทศกาลมันก็มีคนชอบจริงๆ เราก็มีความหวังว่าหนังเรื่องนี้ทำโดยคนไทย ก็คิดว่าการกลับมาฉายที่ไทย ก็คงจะทำให้คนไทยรู้สึกได้มากกว่าคนประเทศอื่นอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องเจอในชีวิตประจำวัน เราก็หวังว่ามันจะเข้าถึงคนไทยได้ง่าย แต่พอมาจัดจำหน่ายจริงๆ มันไม่ง่ายเลยที่เราต้องดีลกับโรง ต้องทำโปรโมตเอง ซึ่งเราก็มีงบไม่พอ เราก็ต้องมานั่งกับทีมเล็กๆ เอง มันเป็นการได้ลองมากเลย มันเป็นการยากแต่มันได้ลองว่าเราจะทำได้แค่ไหน ซึ่งเราก็เจ็บปวดอยู่เยอะนะ แต่ว่าเราก็สนุกด้วย”

“มองเส้นทางการทำงานในอนาคตต่อไปยังไง ยังอยากทำหนังที่อยากเล่าต่อไปไหม ถึงแม้ว่ามันอาจจะยาก” เราถามทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา

“ทำต่อแน่นอนค่ะ มันไม่ได้หมายความว่าทำเรื่องแรกเสร็จแล้ว เรื่องที่สองเราจะทำมันได้ง่ายขึ้น แต่ว่ามันแค่มีโอกาสมากขึ้น แต่เราแค่เชื่อในสิ่งที่เรายังอยากจะเล่าอยู่นะ แต่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ วิธีการใหม่ แต่แอตติจูดเราหรือความคิดเราก็ยังเหมือนเดิมว่าเราควรจะได้เล่าในสิ่งที่เราอยากเล่า

“ถ้าสมมติวันหนึ่งเราได้ไปทำหนังสตูฯ จริงๆ ขึ้นมาที่มันต้องมีคนหลายคนมาทำงานร่วมกัน สุดท้ายเราก็ต้องเข้าใจระบบที่มันเป็น แต่ตัวตนเราจะไม่หายไป เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เราได้เล่าในสิ่งที่เราอยากเล่า หลายคนอาจจะประนีประนอม แต่เราอาจจะใช้การโน้มน้าวใจมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้งานนั้นพิเศษขึ้นและดีต่อการทำงานศิลปะจริงๆ” ฐากล่าวทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ