Headspace แอพพลิเคชั่นที่ขอเป็นยิมฝึกสมาธิให้กับความคิดของคุณ

Highlights

  • Headspace คือแอพพลิเคชั่นฝึกทำสมาธิ ก่อตั้งโดย Andy Puddicombe ผู้เคยบวชที่ทิเบตมากว่า 10 ปี และ Richard Pierson อดีตมาร์เก็ตติ้งบริษัทที่ประสบกับสภาวะหมดไฟ การเจอกันของทั้งสองทำให้ Pierson ค่อยๆ ขจัดอาการวิตกด้วยวิธีการฝึกสมาธิของ Puddicombe จนในที่สุดเขาอยากขยายแนวทางนั่งสมาธิออกไปให้คนอื่นมากขึ้นจึงเกิดเป็นแอพพลิเคชั่นในปี 2012 
  • ความพิเศษของ Headspace คือการอธิบายวิธีจัดการปัญหาระหว่างที่เรานั่งสมาธิให้เข้าใจได้อย่างเห็นภาพ ด้วยการเล่าผ่านภาพแอนิเมชั่นน่ารักๆ บวกกับเสียงนุ่มนวลเป็นมิตรของ Puddicombe
  • ปัจจุบัน Headspace มียอดดาวน์โหลดทั้งหมด 54 ล้านครั้ง สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว การประสบความสำเร็จของแอพฯ นี้ยังยืนยันได้ด้วยการที่บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google หรือ Linkedin เลือกสมัครแพ็กเกจเต็มรูปแบบเพื่อให้พนักงานได้ใช้งานกันอีกด้วย

ก่อนจะเริ่มต้นเข้าเรื่องกัน เราขอให้คุณสูดลมหายใจเข้าลึกๆ หนึ่งทีก่อน แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ

จากนั้นลองสังเกตรอบข้างว่าตอนนี้คุณอ่านบทความอยู่ที่ไหน คุณยืนหรือนั่ง สายตาเพ่งเข้ามาใกล้หน้าจอมากไปหรือเปล่า 

ที่ให้ทำอย่างนี้เพราะอยากให้คุณมีสมาธิและสังเกตสิ่งรอบตัว ณ ปัจจุบันมากที่สุด โดยพยายามไม่โฟกัสความคิดอื่นๆ ที่วิ่งแล่นเข้ามาในหัว เพราะในยุคที่เรายืนอยู่ท่ามกลางทะเลข้อมูลข่าวสารและมีเรื่องพัดพามาให้คิดไม่เว้นแต่ละวัน เชื่อว่าหลายคนคงจะมีเรื่องให้เข้ามากวนใจจนบางทีไม่มีสมาธิโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่

และวิธีที่เราชวนคุณทำก่อนหน้านี้คือวิธีที่จะทำให้เรากลับมาสร้างสมาธิแบบเดียวกันกับแอพพลิเคชั่น Headspace แอพฯ ที่พยายามทำให้การตั้งสติ มีสมาธิ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน 

Headspace

Headspace คือแอพพลิเคชั่นเรียนรู้การทำสมาธิ ก่อตั้งโดย Andy Puddicombe ผู้เคยเป็นนักบวชจากทิเบตมากว่า 10 ปี และ Richard Pierson อดีตมาร์เก็ตติ้งบริษัทเอกชนที่เคยประสบปัญหาภาวะหมดไฟ หลังจาก Pierson สามารถจัดการกับปัญหาความวิตกกังวลได้เพราะการเข้าคอร์สสมาธิกับ Puddicombe อดีตมาร์เก็ตติ้งหนุ่มจึงอยากให้คนได้รู้จักการทำสมาธิแบบนี้เป็นวงกว้าง จนในที่สุดก็พัฒนาออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น Headspace ในปี 2012 และเติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 54 ล้านครั้ง สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว

ความนิยมของ Headspace ยังขยายสู่หลากหลายอาชีพในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Linkedin ที่เลือกซื้อแพ็กเกจการทำสมาธิเต็มรูปแบบให้กับพนักงาน ในขณะที่สายการบินอย่าง Delta Air Lines และ British Airways ก็จัดให้ Headspace เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นบนเครื่องบินที่ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้ได้ หรือแม้แต่นักเขียนและคอลัมนิสต์อย่าง Arianna Huffington ก็ยังไม่พลาดที่จะใช้แอพฯ นี้

เพราะอะไร Headspace ถึงทำให้การนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้คนได้ เราจะลองเข้าไปสำรวจและหาคำตอบในแอพพลิเคชั่นนี้กัน

The Gym for Your Mind

คือคำอธิบายสั้นๆ ตอนที่เรากดเข้าไปใช้งาน Headspace ครั้งแรก ภาพประกอบน่ารักสดใสที่เป็นส่วนหนึ่งของแอพฯ นี้ทำให้การเข้ามาสำรวจฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าใจง่ายและน่าสนใจมากขึ้น 

เมื่อลองกดดูหลายๆ เมนู เราจะเห็นว่าในแอพฯ นี้จะประกอบไปด้วยคอร์สต่างๆ ให้เราเลือก ถ้าจะให้เทียบกับการเข้ายิม ฟังก์ชั่นต่างๆ ในแอพฯ ก็ทำให้เรามีตัวเลือกออกกำลังความคิด โดยจะแบ่งหมวดหมู่ไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Featured, Meditation Basics & Timers, Stress & Anxiety, Falling Asleep & Waking Up, Performance Mindset, Personal Growth, Work & Productivity และอื่นๆ ซึ่งแต่ละหมวดหมู่จะมีประเด็นหรือหัวข้อตามสภาวะต่างๆ ที่คนมักพบเจอ เช่น Managing Anxiety, Letting Go of Stress, Panicking, In Pain เราสามารถเลือกกดใช้งานตามหัวข้อที่เราอยากฝึกได้เลย โดยในแต่ละเนื้อหาจะมีช่วงเวลาให้เราเลือกทำสมาธิ ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ 3 นาทีไปจนถึงครึ่งชั่งโมง  

แต่หากเป็นการใช้งานครั้งแรก Headspace จะแนะนำให้เราทดลองฝึกสมาธิในคอร์ส Basic ก่อน โดยคอร์สนี้จะเป็นเนื้อหาพื้นฐานสำหรับคนที่ยังไม่เคยฝึกทำสมาธิ (แต่คนที่เคยมาแล้ว จะลองก็ได้ไม่เสียหาย) ในคอร์ส Basic จะแบ่งออกเป็น 10 เซสชั่น แต่ละเซสชั่นจะมีให้เลือกเวลาสำหรับทำสมาธิตั้งแต่ 3 นาทีไปจนถึง 10 นาที 

นอกจากนี้ Headspace ยังมีหมวด Sleep สำหรับคนที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ โดยมีหมวดต่างๆ ให้เราได้เลือกตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็น Sleepcast, Sleep Music, Nighttime SOS, Wind Downs, Soundscapes 

แต่เนื้อหาที่สามารถใช้ได้ฟรีตั้งแต่ครั้งแรกคือคอร์ส Basic ส่วนเนื้อหาตามหมวดอื่นๆ ผู้ใช้งานจะต้องสมัครสมาชิกแบบ Headspace Plus เพื่อเข้าถึงเนื้อหาเต็มรูปแบบ ซึ่งในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เราเลือกจ่ายทั้งรายเดือนและรายปี

 

The heart of meditation is taking ourselves a little less seriously.

คอร์สแรกที่เราได้ทดลองใช้คือคอร์ส Basic ซึ่งประกอบไปด้วย 10 เซสชั่น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการบอกขั้นตอนและวิธีการทำสมาธิ  โดยมีเสียงของ Puddicombe ผู้ก่อตั้งแอพฯ นี้ พาเรานั่งสมาธิในทุกๆ ขั้นตอน

ก่อนเริ่มแต่ละเซสชั่นจะมีแอนิเมชั่นภาพประกอบน่ารักๆ อธิบายให้เราเข้าใจถึงการทำสมาธิและการจัดการข้อกังวลที่มักเกิดระหว่างทำสมาธิก่อน โดย Headspace จะเลือกเอาประเด็นปัญหานั้นๆ มานำเสนอวิธีแก้ไขให้เราเห็นภาพมากที่สุด เช่น ปัญหาเมื่อเราไม่สามารถควบคุมความคิดให้หมดไปในระหว่างนั่งสมาธิได้ 

พวกเขานำเสนอให้เราลองจินตนาการว่ากำลังนั่งดูรถติดบนถนนใหญ่แห่งหนึ่ง โดยให้รถที่ผ่านไปมาเปรียบเหมือนกับความคิดของเรา สิ่งที่เรามักควบคุมความคิดกันไม่ได้ เพราะเราพยายามจะวิ่งลงไปบนถนนเพื่อหยุดรถแต่ละคันที่วิ่งอยู่ แต่ Headspace เสนอว่าในการนั่งสมาธิสิ่งที่เราต้องทำมีแค่เพียงการนั่งอยู่กับที่ สำรวจมองรถที่ขับผ่านไปมาเท่านั้น แล้วจะทำให้การนั่งสมาธิของเราง่ายขึ้น  

รายละเอียดตรงนี้เองทำให้เรารู้สึกว่า Puddicombe ซึ่งเป็นคนออกแบบเนื้อหาทั้งหมดเข้าใจปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักเผชิญเมื่อต้องนั่งสมาธิ และเขาสามารถอธิบายออกมาให้เห็นภาพและปฏิบัติตามได้อย่างง่าย 

ถัดจากการนำเสนอวิธีการนั่งสมาธิด้วยภาพแอนิเมชั่นแล้ว ต่อไปจะเข้าสู่การเริ่มต้นฝึกสมาธิ โดยในคอร์ส Basic เราเลือกทำสมาธิประมาณ 3 นาที เมื่อเลือกแล้วกดเล่น เสียงของ Puddicombe จะทักทายเราเป็นอย่างแรก และเขาจะค่อยๆ อธิบายหลักการทำสมาธิให้เราเข้าใจคร่าวๆ ด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร จากนั้นเขาจะชวนให้เราสูดลมหายใจเข้าลึกๆ และค่อยๆ หายใจออกช้าๆ แล้วจากนั้นเขาจะขอให้เราหลับตาลงและโฟกัสที่ลมหายใจตัวเอง

ตลอดการฝึกบางจังหวะ Puddicombe จะเงียบเพื่อให้เราได้โฟกัสตามเทคนิคของเขา บางจังหวะเขาจะเข้ามาชี้ชวนให้เราจับโฟกัสไปยังสภาวะแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้เราโฟกัสกับปัจจุบันมากขึ้น เช่น ให้เราลองสัมผัสถึงความรู้สึกของเสียงรอบข้าง หรือให้เราลองส่งความรู้สึกไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สัมผัสถึงน้ำหนักของหัวไหล่ สัมผัสถึงความรู้สึกของฝีเท้าหรือนิ้วมือ

ส่วนที่เราชอบมากที่สุดคือ Puddicombe จะไม่แนะนำให้เราเครียดหรือจริงจังกับการจดจ่อสมาธิมากเกินไป เขากล่าวว่าหัวใจของการทำสมาธิคือการทำให้ตัวเราเครียดน้อยที่สุด ดังนั้น ในช่วงท้ายก่อนจะจบเซสชั่น เขาจะชวนให้เราลองปล่อยความคิดต่างๆ ให้พรั่งพรูเข้ามาในหัวของเราได้อย่างตามใจ โดยไม่ตัดสินมัน หลังจากนั้น เขาถึงจะพาเรากลับเข้าสู่การโฟกัสที่ลมหายใจอีกครั้ง ทั้งหมดจึงทำไปอย่างผ่อนคลายและเป็นมิตรกับความคิดเรา

 

We can’t control the sea, but we can learn how to surf the waves.

แต่ในฐานะที่ได้ใช้แอพฯ นี้แล้ว ขอยอมรับกันตรงๆ ว่าหลายครั้งเราก็ไม่ได้มีเวลาเข้าไปทำสมาธิตามคอร์สเท่าไหร่นัก เพราะบางวันการงานก็เรียกร้องให้ต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน หรือบางครั้งเราก็รู้สึกเหนื่อยที่จะต้องรวบรวมพลังมาจดจ่อกับสมาธิ ในช่วงเวลานี้เอง Headspace ยังคงทำงานกับเราอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งข้อความให้กำลังใจผ่านมายังรายการแจ้งเตือน

“Brilliant things happen in calm minds. Be calm. You’re brilliant.”

“We can’t always change what’s happening around us, but we can change what happens within us.”

หรือบางครั้งถ้าเราไม่มีเวลามากๆ และไม่เข้าไปฝึกสมาธิหลายวัน ระบบจะส่งรายการแจ้งเตือนให้เราลองทำสมาธิจากการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ก่อนเดินเข้าบ้าน หรือก่อนกดส่งอีเมลในแต่ละวัน

“Before you press send on your emails or social posts today, try pausing for one complete breath.”

นอกจากนี้ Puddicombe ยังให้คำแนะนำและอธิบายไว้ว่าการเรียนรู้ที่จะทำสมาธิเปรียบเหมือนกับการเล่นเซิร์ฟ บางครั้งคลื่นของทะเลก็ทำให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายดาย หรือบางทีก็มีคลื่นแรงๆ ที่คอยท้าทายความสามารถของเรา แต่ทั้งหมดก็จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเราเอง 

ตลอดหลายเดือนที่ได้ใช้งาน Headspace เราค่อยๆ เรียนรู้ว่านี่ไม่ใช่การฝึกให้ตัวเองมีสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการที่เรารู้เท่าทันว่า ณ ขณะหนึ่งของห้วงความคิดเรากำลังคิดอะไร ตระหนักรู้ในสิ่งรอบข้าง เรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกความรู้สึก และมีพื้นที่ว่างให้ความคิดและตัวเราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น


อ้างอิง

bbc.com

businessinsider.com

forbes.com

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่