‘ในม็อบมีเด็ก’ โปรเจกต์ปกป้องเยาวชนจากความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นและร่วมชุมนุม

‘ในม็อบมีเด็ก’ โปรเจกต์ปกป้องเยาวชนจากความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นและร่วมชุมนุม

จากการสังเกตการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ‘เยาวชน’ คือกลุ่มคนที่ไปร่วมกิจกรรมมากสุดเป็นอันดับต้นๆ ในเวลาเดียวกันพวกเขาถือเป็นกลุ่มคนที่ถูกกีดกันและกดดันเรื่องพื้นที่การแสดงออกทางความคิดจากผู้ใหญ่มากด้วยเช่นกัน บางคนโดนไล่ออกจากบ้าน ถูกคุกคามจากสถานศึกษา ยังไม่นับที่ต้องเจอความเสี่ยงจากการโดนปราบปรามและดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐอีก

ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดโปรเจกต์อาสา ‘ในม็อบมีเด็ก (Child in mob)’ โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และภาคีองค์กรสิทธิเด็ก เพื่อช่วยระบุตัวตนเด็กกับเยาวชน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุมโดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

บทบาทหน้าที่ของอาสาในม็อบมีเด็กคือ การติดแท็กผูกริบบิ้นสีส้มให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 14 ปีและผูกริบบิ้นสีชมพูสดสำหรับเยาวชนที่อายุ 15-18 ปี ที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม แจกเอกสารข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ และประสานงานกับการ์ดให้ดูแลผู้ติดแท็กเป็นพิเศษ เพราะผู้ชุมนุมกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงสุด

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเล่าว่า โปรเจกต์นี้ถือเป็นการรับมือในเชิงรับ เพราะตามหลักแล้วเด็กกับเยาวชนทุกคนควรรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและร่วมชุมนุม แต่ก็เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เธอกับทีมคิดว่าต้องมีมาตรการอะไรสักอย่างปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้

“ตอนลงพื้นที่ เราพบว่าเด็กที่มาชุมนุมอายุน้อยที่สุดคือเด็ก ป.6 แล้วมาคนเดียว นอกจากนี้ก็มีกลุ่มที่มากับผู้ปกครองบ้าง และอีกกลุ่มคือมากับผู้ปกครองที่มาขายของ อย่างม็อบที่ลาดพร้าวก็มีเด็ก 2-5 ขวบให้เห็น หรือบางคนก็ไปยืนขายของเอง เราก็พยายามไปอยู่ใกล้ๆ และทำพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้พวกเขารู้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นให้มาตรงนี้ รวมถึงคอยดูด้วยว่ามีใครที่เสี่ยงเรื่องการเดินทางกลับบ้าง เราจะได้ให้ความช่วยเหลือ”

“ด้วยความที่เราเป็นสมาชิกเครือข่ายภายในม็อบอยู่แล้วก็จะมีการอัพเดตกันว่ามีการชุมนุมที่ไหน ดังนั้น เราจึงมีอาสาสมัครลงพื้นที่ตลอด โดยพวกเขาจะสวมแจ็กเก็ตสีชมพูให้เห็นชัดเจน และเตรียมริบบิ้นคอยแจกให้เยาวชน รวมถึงประสานงานติดต่อกับการ์ดและทีมผู้จัดม็อบ เสร็จงานเราจะนับริบบิ้นที่แจกไปว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อทราบจำนวนผู้เยาว์ที่เข้าชุมนุม ซึ่งแค่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ 3,000-4,000 แล้ว”

เพราะจำนวนเยาวชนที่ไปม็อบกันมากขึ้น บวกกับม็อบที่เกิดขึ้นกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อการทำงานของอาสาสมัครในม็อบมีเด็กเช่นกัน เนื่องจากอาสาสมัครทุกคนต้องผ่านการเทรนมาก่อน ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับตัวกิจกรรม แต่ทางทีมก็พยายามหาทางพัฒนาระบบและแก้ไขส่วนนี้กันอยู่

ขณะเดียวกันทีมงานก็ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำแบบนี้ถือเป็นการส่งเสริมให้เด็กกับเยาวชนไปเสี่ยงอันตรายในม็อบ ซึ่งปิยนุชมองว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการไปม็อบถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่สำคัญทุกคนควรมีความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงจุดยืนทางความคิด

“ถ้าดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การคุ้มครองเด็กต้องคิดมากกว่านั้น เพราะในภาวะการชุมนุมแบบนี้เด็กโดยเฉพาะผู้เยาว์มักโดนละเมิดสิทธิการแสดงความเห็นตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน วันที่ชุมนุม และหลังจากกลับจากพื้นที่ชุมนุม ดังนั้น กลุ่มเราต้องมองในระยะยาวว่าจะทำงานอย่างแข็งขันในการปกป้องคุ้มครองเยาวชนยังไงให้รอบด้าน แต่ตอนนี้เริ่มตรงนี้ได้ก็ทำก่อน”

หากคุณอยากติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวหรือสอบถามถึงการสมัครร่วมเป็นอาสาในม็อบมีเด็ก ตามไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ในม็อบมีเด็ก Child in Mob

AUTHOR