Living through time

สิ่งที่งดงามที่สุดในพิพิธภัณฑ์อาจไม่ใช่สิ่งของที่อยู่ในตู้

แต่เป็นสายตาที่จับจ้องมัน

สายตาของครูสมชาย ปงศรีชัย หรือครูเหลือ ชายชราเจ้าของพิพิธภัณฑ์เฮือนคำหยาด เป็นประกายสุกใสเมื่อพาเราเดินเข้าไปชมของสะสมในบ้าน ผ้าซิ่นตีนจกผืนเก่า เครื่องเบญจรงค์ เครื่องใช้ไม้สอยแกะสลัก ที่นอนสงบนิ่งอยู่ในตู้ดูมีชีวิตชีวาเมื่อชายวัย 70 ปีถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังของพวกมัน ชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของประวัติศาสตร์เมืองลับแลก็หลุดร่วงลงมาเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นจิ๋ว ตำนานผ้าซิ่นลับแลงแซงผีเงือก เรื่องราวของเจ้าเมืองทุ่งยั้ง รายชื่อของผู้หญิงที่ส่งต่อผ้าซิ่นอายุ 200 กว่าปีจากรุ่นสู่รุ่น ภาพอุตรดิตถ์ที่เจ้าบ้านคนนี้ถ่ายทอดสนุกสนานเปี่ยมกลิ่นอายท้องถิ่นชาวบ้านแบบที่หาไม่ได้ในหนังสือเรียน

“คนมันใจรักน่ะ ตอนผมอายุ 16 ปี อาจารย์สอนว่าสินค้าที่มาจากเมืองจีนคือชามเบญจรงค์ เราอยากเห็นเลยเข้าไปในหมู่บ้าน ขอดูจากบ้านเก่าๆ ผมชอบมาก อยากได้ ก็ขอซื้อมา หลังจากนั้นก็เก็บสะสมของเก่ามาตลอด” ครูเหลืออธิบาย “ตอนนั้นพ่อแม่ก็คิดว่าผมเล่นเงินเล่นทอง แต่ถ้าเราไม่สะสม ของเก่าๆ ก็จะออกไปจากลับแลหมด ถ้าเราไม่ถามเรื่องราวจากคนเก่าแก่ เรื่องราวของมันก็จะหายไปหมด”

นัยน์ตาของเจ้าบ้านชราเปี่ยมพลัง ไม่ใช่แค่ของโบราณในเฮือนคำหยาดที่มีค่า แต่แพชชันเปี่ยมล้นของเจ้าบ้านผู้มีใจรักของเก่าต่างหากที่ทำให้เรื่องราวในอดีตกลับมาหายใจอีกครั้ง

“ผู้หญิงที่นี่ทอผ้าได้ทุกคน แต่สิบห้าปีที่แล้วไม่มีใครนิยมทอผ้าแล้ว ทั้งที่มันเป็นวัฒนธรรมของที่นี่” ครูโจ-จงจรูญ มะโนคำ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล พาเราเดินชมผ้าซิ่นเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดเต็มตัวเมื่อปีที่แล้ว ด้วยความหลงใหลในผ้าซิ่นตีนจก ประกอบกับความรู้จากแม่ที่เป็นช่างทอผ้าฝีมือดี ครูโจกลับมาบ้านเกิดและพยายามสร้างตลาดซื้อขายผ้าซิ่นจากการรับซื้อผ้าเก่า รวมกลุ่มแม่บ้านให้สร้างผลงานใหม่ๆ จนกลายเป็นกลุ่มช่างทอผ้าบ้านคุ้มและบ้านนาทะเล เจ้าบ้านผู้มุ่งมั่นสร้างระบบตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์ ย้อมไหมสีธรรมชาติ พัฒนาแบบและลวดลายของผ้าซิ่น จนถึงหาตลาดวางขายตลอดทั้งปี สินค้าซิ่นตีนจกที่นี่จึงงดงามละเอียดไม่แพ้ซิ่นเก่าผืนงามในตู้โชว์

“ถ้าเราไม่สืบทอดมันก็ตายอยู่ในตู้ เป็นอนุสาวรีย์เฉยๆ ผ้าในพิพิธภัณฑ์ที่นี่มีชีวิตขึ้นมาได้ทุกผืน เราแกะลายผ้าเก่าใส่ Excel แล้วพรินต์เป็นแบบเหมือนครอสสติทช์ให้เขาไปทอ เขาก็เป็นศิลปิน เป็นผู้อนุรักษ์ไม่ให้มันหายไป”

เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ประธานกลุ่มทอผ้าเชื่อว่าการสร้างรายได้เสริมจากการทอผ้ายังทำให้ผู้คนได้ซึมซับ หวงแหนศิลปะของหมู่บ้าน พิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ ฟูมฟักเส้นใยอดีตให้เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเชื่อมต่อและร้อยขนานไปกับปัจจุบัน

“ในฐานะเจ้าบ้าน เรามีความรู้ก็ต้องแบ่ง มีของดีก็ต้องแสดง พิพิธภัณฑ์นี้พี่ทำให้ชุมชน ไม่ได้ทำให้ตัวเราคนเดียว มันเป็นของประจำหมู่บ้าน ของอำเภอ ของจังหวัด เอาไว้ศึกษา เป็นที่รับแขก เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เราอยากให้คนรู้จักสิ่งที่เรามี และคนบ้านเราเองก็ภูมิใจในสิ่งที่ทำ”

จงจรูญ มะโนคำ
ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม ช่างทอผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล และเจ้าบ้านชาวลับแล

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

พบเสน่ห์ที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองลับแล เมืองเล็กในตำนานของจังหวัดอุตรดิตถ์แบบเต็มอิ่มได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR