True Colors of Life

สีสันฉูดฉาดของตัวเมืองค่อยหายไปทีละน้อยเหมือนลอกคราบ ปล่อยให้สีน้ำตาลไล่เฉดอ่อนเข้มบนบ้านไม้เก่าคุมโทนคู่กับหลังคาสังกะสี ยิ่งรถวิ่งออกมาไกลเรื่อยๆ วิวสองข้างทางที่มองผ่านเปลวแดดเต้นระยับก็สลัดเปลือกคอนกรีตออก เหลือเพียงสีน้ำตาลปนเทาของบ้านไม้แต้มด้วยหย่อมต้นไม้เขียวประปราย

กุ๊บกิ๊บ-สร้อยกมล สีธิ มัคคุเทศก์วัย 17 ปีชี้ชวนให้ดูบ้านหลังต่างๆ ในหมู่บ้านต้นม่วงอย่างร่าเริง วันนี้สาวน้อยไม่ต้องไปทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหารม่อนลับแล แต่มีเป็นไกด์พาเราสำรวจหมู่บ้านของเธอแทน เจ้าบ้านวัยรุ่นพาเราไปดูบ้านไม้สักหลังใหญ่ใต้ถุนสูงของป้าสมคิด จันมา ที่เป็นตัวอย่างบ้านลับแลดั้งเดิมที่ชัดเจน

“หน้าจั่วบ้านจะเป็นลายตาลคลี่ค่ะ เป็นลายมงคล มีหำยนต์ติดอยู่บนจั่วทิศเหนือ เอาไว้ป้องกันสิ่งชั่วร้ายให้เสื่อมไป ตัวบ้านจะเพดานสูง กำแพงส่วนที่ติดกับหลังคา มีช่องลมเป็นซี่ไม้ ทำให้อากาศถ่ายเท ส่วนหน้าต่างบ้านจะเป็นทรงยาวเหมือนประตู เหมือนก้าวข้ามได้ทั้งตัว”

มัคคุเทศก์สาวอธิบายอย่างคล่องแคล่วเมื่อเดินขึ้นบันไดเข้ามาชมตัวบ้าน พื้นที่ภายในบ้านกึ่งหนึ่งยกพื้นเล็กน้อย เรียกว่าเติ้น เป็นลานกิจกรรมรวมและห้องรับแขกภายในบ้าน พื้นที่ยกขึ้นเล็กน้อยทำให้เรานั่งลงวางเท้าได้สะดวกระหว่างสนทนา ใต้หลังคาปูไม้กระดานเป็นชั้นวางสมบัติมีค่าที่หยิบได้ยาก นิยมวางไว้ทิศใต้ ตรงข้ามกับหำยนต์ โดยบ้านบางหลังอาจมีมุมโล่งไม่มีหลังคา เปิดเป็นลานให้แดดส่องเพื่อตากผ้าหรือตากแผ่นข้าวแคบ แม้จะมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ วางปะปน แต่เตียง ตู้ และเครื่องใช้ไม้สักเก่าก็เป็นของที่ชาวลับแลนิยมใช้มาเนิ่นนาน เพราะคุณสมบัติทนทานของมัน

“ต้วบ้านนี้ต้องยกให้สูง เพราะเคยมีน้ำท่วมค่ะ หลายบ้านก็ยกเสาแบบนี้ แต่เดิมทีแล้วบ้านลับแลไม่สูงมาก ใต้ถุนบ้านใช้วางกี่ทอผ้าบ้าง ใช้ตัดหอมบ้าง สองอย่างนี้เป็นงานหลักๆ ที่คนลับแลทำมานาน แล้วถ้าให้ครบสูตร ข้างๆ บ้านก็เป็นที่วางเตาข้าวแคบ” กุ๊บกิ๊บอธิบายก่อนจะพาเราออกไปสำรวจหมู่บ้านต่อเพื่อดูให้เห็นกับตา

เราพบการทอผ้าที่ใต้ถุนอีกบ้านหนึ่ง การทอผ้าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ชาวลับแลภูมิใจ ผู้หญิงชาวลับแลล้วนทอผ้าใช้เองเป็น ตั้งแต่ผ้าเช็ดหน้า ถุงย่าม ผ้าซิ่นพื้นเมืองที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงซิ่นตีนจกแบบไท-ยวนที่ใส่มาประชันกันในงานวัดงานบุญเพื่ออวดความสามารถจากความละเอียดงดงามของเนื้อผ้า มัคคุเทศก์น้อยเล่าว่าคุณยายของเธอเป็นช่างทอผ้าฝีมือดีที่ทอผ้าส่งขาย ยิ่งในช่วงหน้าแล้งที่การเกษตรไม่ได้ผล สาวน้อยสาวใหญ่ก็นิยมทอผ้าในเวลาว่างเพื่อหารายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว

แต่กิจกรรมที่ป๊อปที่สุดในช่วงร้อนๆ แบบนี้คือการตัดหอม ใต้ถุนเกือบทุกบ้านมีหัวหอมแห้งตากเรียงราย พร้อมกลุ่มคนที่ก้มหน้าตัดใบและปลายรากออกจากหอมแบ่งอย่างตั้งอกตั้งใจ ก่อนจะนำไปคลุกกับปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อราและบรรจุใส่ถุงกระสอบใบใหญ่ ขนใส่รถไทยแลนด์หรือรถอีแต๋นหกล้อ เพื่อส่งให้พ่อค้าหรือนายหน้าที่มารับซื้อ ไกด์นำทางรุ่นเยาว์ของเรารู้ขั้นตอนดีเพราะเจ้าตัวก็เพิ่งตัดหอมไปหมาดๆ เหมือนกัน

“หอมเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมของคนลับแลค่ะ คนที่มีนาหอมก็ปลูกหอมเป็นอาชีพหลัก แล้วจ้างคนในหมู่บ้านที่อยากรับงานเสริมไปกู้หอมหรือถอนหอมมาแขวนตากไว้ให้แห้ง แขวนประมาณ 25 วันขึ้นไป ค่อยจ้างใหม่มาตัดหอมแล้วเก็บใส่ถุง เป็นระบบหมุนเวียนทำไปทั้งปี”

หัวหอมที่อุตรดิตถ์นิยมปลูกแบ่งเป็น 2 แบบคือหอมแดงและหอมแบ่ง หอมแดงสีสดลูกอวบโต กลิ่นแรงกว่าและอร่อยกว่าหอมทั่วไปที่เคยกินอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหอมแบ่งสีชมพูอมขาวคือต้นหอมขาวตากแห้ง ตัดรากตัดใบทิ้ง บางบ้านที่มีผลผลิตไม่มากนักอาจแขวนหอมไว้ใต้ถุน มีราวแขวนเหนือหัว แต่ถ้ามีหอมมากอาจแยกพื้นที่ข้างบ้านเป็นโกดังใหญ่ เรียงแถวหอมเป็นตั้งๆ อัดแน่นถี่สูงถึง 6 ชั้น!

กลิ่นหอมแบ่งฉุนจัดไปทั่วหมู่บ้าน ทำให้เราคิดถึงอาหารจนต้องลุกขึ้นมาตามหาข้าวแคบให้เจอ

ตับหญ้าคายืนเด่นกลางแดดหน้าลานบ้าน มีแผ่นข้าวแคบกรอบบางนับโหลวางแผ่บนผิวหญ้าแห้ง เป็นสัญญาณความอร่อยจากบ้านเพื่อนบ้านของกุ๊บกิ๊บ ป้าหล้า สิงห์ค้า เจ้าของบ้านอธิบายขั้นตอนการทำของว่างท้องถิ่นคร่าวๆ ว่า เมื่อนำแป้งข้าวเจ้าแช่น้ำ 2 – 3 คืนมาใส่เครื่องโม่จนได้น้ำแป้ง ใส่งา น้ำปลาปรุงรส แล้วนำไปไล้บนเตา จะได้แผ่นแป้งร้อนๆ จะม้วนเป็นข้าวพันกินกับน้ำจิ้มก็รวดเร็วทันใจ หรือจะนำไปตากแดดบนตับคาจนกรอบเหนียวเป็นข้าวแคบก็ได้ พูดพลางป้าก็ไล้แป้งบนเตาข้างตัวบ้าน เปิดโอกาสให้เราชิมข้าวพันไข่เป็นของว่างยามบ่าย

“ข้าวแคบจะอยู่ริมสุดของบ้าน เป็นเตาปูน ตั้งหม้อข้างบน เตาจะได้ความร้อนจากหลัว คือไม้ฟืนใส่เตา พอไฟดับหลัวมันก็กลายเป็นถ่าน เอาไปขาย ใช้กับเตาอั้งโล่ได้อีกต่อนึง” มัคคุเทศก์เจ้าบ้านเล่าภูมิปัญญาที่น่าประทับใจเป็นเรื่องสุดท้ายขณะที่เรากลืนข้าวพันนุ่มๆ ลงคอ

กลิ่น รสชาติ สัมผัส ของหมู่บ้านต้นม่วงเข้มข้นเมื่อเราได้ทำควำมรู้จัก บ้านไม้เรียงรายที่ดูเรียบง่ายไร้การแต่งแต้ม สร้างระบบการเพาะปลูก การทำอาหาร การผลิตเครื่องนุ่งห่ม เป็นวงจรที่แข็งแรง ยั่งยืนและมอบรายได้แก่ชุมชน แก่นแท้ที่ไม่ฉาบฉวย หากอบอุ่นจริงใจนี่เอง ที่เราอยากชวนให้มาพิสูจน์ความสมบูรณ์ด้วยตาตนเองสักครั้ง

“เรามีบ้านเมืองของเราที่งดงามในแบบของตัวเองอยู่แล้ว ป่าเขาก็สวยงามขึ้นมาเองโดยไม่ต้องให้คนไปปรับปรุง เรายังมีที่อยู่ของเรา ของดีของเรา ที่เที่ยวที่กินของเรา ถ้าเขาพร้อมจะมาเที่ยว มาชมบ้านเมืองเรา เราก็ต้องต้อนรับเขา บริการเขาอย่างดี เพื่อจะให้เขาสบายใจ และเราก็สบายใจ”


สร้อยกมล สีธิ
มัคคุเทศก์และเจ้าบ้านชาวลับแล

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

พบเสน่ห์ที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองลับแล เมืองเล็กในตำนานของจังหวัดอุตรดิตถ์แบบเต็มอิ่มได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR