Meeting on the Flow

ก่อนดวงตะวันจะลืมตาตื่นดีในเช้าวันอาทิตย์
การนัดหมายเริ่มต้นขึ้น

ไม่ใช่การนัดพบปะระหว่างคนสองคน
แต่เป็นตลาดนัดกลางสายน้ำ เมื่อลำคลองคดเคี้ยวในสมุทรสงครามบรรจบกับความต้องการซื้อขาย
เศรษฐกิจริมคลองก็สะพัดไปตามจังหวะฝีพายและบทสนทนาระหว่างเรือและฝั่ง
ยิ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้ เราก็มีหลายนัดให้ไปเยี่ยมเยือน

1

นัดแรกของเราเริ่มตั้งแต่ฟ้ายังไม่แจ้ง
เราบึ่งรถมาแต่เช้าตรู่เพราะพ่อค้าแม่ขายจะพายเรือไม้หรือจับหางเสือเรือเครื่องมาที่
‘ตลาดน้ำดอนมะโนรา’ หรือ ‘นัดใน’ ตั้งแต่ก่อน 6 โมงเช้า
และตลาดอาจวายก่อน 8 โมงครึ่งหากแดดชักกล้าและลูกค้าซาลงไป นัดในยังคงรักษาธรรมเนียมของวันเก่าก่อน
โดยจัดตลาดในวันแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12
ค่ำเท่านั้น
คนซื้อคนขายส่วนใหญ่ยังเป็นเพื่อนบ้านร่วมคลองเดียวกันที่ตะโกนแซวข้ามคลองกันอย่างสนิทสนม
พร้อมแลกเปลี่ยนของจากสวนหรือครัวของตัวเองให้แก่กัน อย่างเรือขนมไทยของป้ายอดที่ทำมาตั้งแต่รุ่นแม่ก็ขายดีจนหยิบพวงใบตองแทบไม่ทัน
สมกับที่ทั้งบ้านตื่นมาช่วยกันทำตั้งแต่เที่ยงคืน ด้านป้าสมคิดที่พายเรือขายของตั้งแต่อายุสิบสาม
ก็พาวัยรุ่นหลานโอ๊ตมาช่วยขายเครื่องปรุงเครื่องเทศ ตลอดจนทางมะพร้าวและสายบัวมือเป็นระวิง
ส่วนป้าแอ๊วที่พายเรือมาคนเดียวเพื่อขายขนมทำเอง อย่างเบื้องญวน ข้าวหมาก ปลากริมไข่เต่า
และขนมมันสำปะหลังสดจากสวน ได้คุยกับเราชอบพอถูกใจ
เมื่อรู้ว่าจุดหมายถัดไปเหมือนกัน เจ้าบ้านใจดีเลยเอ่ยปากถามว่า

“ป้าก็จะไปนัดนอกเหมือนกัน
ไปด้วยกันมั้ย?”

เราตอบตกลง
และกระโดดลงเรือป้าทันที

2

ทางไปนัดที่สองแบ่งออกเป็น
2 ทาง เราอาจโดยสารรถยนต์
ซอกแซกผ่านถนนเลียบเรือกสวนเขียวขจีไป ‘ตลาดน้ำท่าคา’
หรือขึ้นเรือลัดเลาะตามคูคลองไป ‘นัดนอก’ เรือเครื่องติดมอเตอร์พุ่งฉิวไปด้วยความเร็วสม่ำเสมอ
ส่วนเรือพายของแม่ค้าขนมหวานถูกเรียกทักทายและขอซื้อขนมเป็นระยะ

เมื่อพูดกันถูกอัธยาศัย
เพื่อนบ้านป้าแอ๊วเลยยกต้นมะม่วงให้เป็นของขวัญ
แม้มาถึงนัดที่สองสายไปหน่อยแต่เส้นทางของเจ้าบ้านคนนี้ก็ตีคู่ขนานไปกับธารน้ำใจตลอดลำคลอง
หลังเรากล่าวขอบคุณและขึ้นฝั่ง ขนมมันชิ้นสุดท้ายก็ขายหมดพอดี

เสียงหัวเราะพูดคุยในตลาดท่าคาเริ่มต้นตั้งแต่ฟ้าสว่าง
และจะยาวเลยไปถึงตอนเที่ยง นัดนอกมีขนาดใหญ่กว่านัดในเล็กน้อย และเปิดการขายในวันเสาร์อาทิตย์
เพิ่มเติมจากวันแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ของที่นำมาขายจึงไม่ใช่แค่ผลผลิตราคาย่อมเยา
เช่น ชมพู่ ส้มโอ มะพร้าวสวน แต่มีอาหารร้อนๆ อย่างก๋วยเตี๋ยวเรือ ข้าวแกง หรือของกินเล่นไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย
ป้าแฟงที่จอดเรือเทียบท่าเพื่อขายสาคูไส้หมูและข้าวเกรียบปากหม้อ บอกกับเราว่า ไม่อยากอยู่บ้านเหงาๆ
สู้พายเรือมาขายของพบปะผู้คนดีกว่า

“ป้าขาไม่ค่อยดี เดินบนบกมันเสียว
แต่พายเรือน่ะไม่มีปัญหาเลย”

เห็นท่าทีคล่องแคล่วและรอยยิ้มของป้า เราก็รู้ว่าตลาดน้ำไม่ได้หนุนแค่เศรษฐกิจ
แต่ยังหอบความมีชีวิตชีวาของคนที่นี่มาด้วย

3

นัดสุดท้ายของเราไม่มีเรือเรียงราย
แต่มีแถวเรือนไม้ร้านค้าริมคลองบางน้อยประกอบฉาก แม้รูปลักษณ์สถานที่คล้ายตลาดน้ำอัมพวา
แต่ความสงบเงียบทำให้บรรยากาศที่นี่แตกต่างออกไป

ลมแม่น้ำบางๆ พัดเข้ามาในโถงของบางน้อยคอยรักโฮมสเตย์
และร้านกาแฟบางน้อยที่ตั้งอยู่ติดกัน พี่อู๊ด-ชนากานต์ เหลียงพานิช ผู้ยืนยันให้เรียกเธอว่าคนชงกาแฟ
ไม่ใช่บาริสต้า ชงเครื่องดื่มเย็นๆ ให้เราก่อนจะเล่าอดีตของตลาดบางน้อยให้ฟังว่าที่นี่เคยมีตลาดน้ำ
ชาวสวนพายเรือมาขายของ ไม่ต่างอะไรจากตลาดดำเนินสะดวก แต่เมื่อถนนหนทางสะดวกขึ้น
ยุคสมัยของตลาดเรือก็จบลง ย่านร้านค้าห้องแถวของคนจีน ทั้งร้านทอง ร้านตัดผม
ร้านขายของชำ ร้านรับซื้อเปลือกมะพร้าว ก็ทยอยปิดตัวลงเพื่อเปิดเป็นร้านติดถนน

พี่นี้-ดวงใจ สิทธิเดชบริพัฒน์ ผู้จัดการบางน้อยคอยรักหยิบรูปถ่ายเก่าของบางน้อยให้ดูเป็นหลักฐานว่าลำคลองสายนี้เคยแน่นขนัดด้วยเรือและผู้คน
พร้อมเล่าเสริมต่อถึงการคืนชีพของตลาดน้ำบางน้อย

“จุดขายที่นี่คือวิวพระอาทิตย์ตกที่เป็นธรรมชาติ
มีความเดิมๆ เป็นเสน่ห์ของบางน้อย มีวิถีชีวิตที่ไม่ได้ปรุงแต่งเยอะ ไม่พลุกพล่าน
พี่สมิทธิ ธนานิธิโชติ เขาเล็งเห็นตรงนั้น เลยมาเปิดที่นี่เป็นที่พักเจ้าแรก
ทำเป็นแกลเลอรี่ เป็นตัวตั้งตัวตีชวนเพื่อนๆ มาจัดนิทรรศการภาพถ่าย
พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา คนเริ่มรู้จักมากขึ้น ตลาดก็ค่อยๆ กลับมา”

ผัก ผลไม้ ขนม ของที่ระลึก หนังสือเก่า กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ไม้
วางขายเรียงรายตลอดทางเดินสองฝั่งคลอง
พี่อู๊ดชี้ให้ดูว่าร้านขายเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ
เป็นร้านเก่าแก่ที่ได้กลับมาเปิดร้านเต็มตัวอีกครั้งหลังบางน้อยกลับมามีชีวิต ผู้เฒ่าผู้แก่ท้องถิ่นได้ปลูกพืชผักมาวางขาย
นอกจากมอบกำไรเล็กๆ น้อยๆ ยังสร้างคุณค่าทางจิตใจได้เป็นอย่างดี

“อะไรที่เคยมีแล้วมันก็กลับมีขึ้นมาอีกหนหนึ่ง อะไรที่ตาย
มันกลับมาเกิดใหม่” เจ้าบ้านชาวบางน้อยเอ่ยปิดท้าย “เรามีความสุขที่ได้อยู่
ได้เห็นคน และได้อนุรักษ์มันไว้”

เวลาเที่ยวนัดของเราจบลงแล้ว แต่วิถีชีวิตอิงแอบริมคลองของที่นี่ยังไม่ไปไหน
เมื่อเรือพายกลับเข้าบ้าน เรือเครื่องกลับเข้าฝั่ง ประตูบานเฟี้ยมริมน้ำปิดตัวลง
ทุกคนต่างรู้ดีว่าการลาจากเป็นเรื่องชั่วคราว

จนกว่าเราจะนัดกันใหม่

“ถ้าเราคิดว่าทุกคนที่เข้ามาเป็นเพื่อนเรา
เป็นญาติเรา เราก็จะดูแลเขาเหมือนญาติหรือเพื่อน
โดยไม่มีคำว่าลูกค้าอยู่ในระบบงานนี้เลย ทุกคนมีศักดิ์เท่ากันหมดคือเป็นคนในครอบครัวเรา
เราก็จะใส่ใจเขา ให้ความรักเขาโดยที่ไม่มีเงื่อนไข ลองได้รู้สึกดีๆ ด้วยแล้ว อยากได้อะไรพี่ช่วยหมดเลย”

ดวงใจ สิทธิเดชบริพัฒน์
ผู้จัดการบางน้อยคอยรัก และเจ้าบ้านชาวบางน้อย

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

สัมผัสมนตร์เสน่ห์ของเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR