‘เตรียมอุดมศึกษา’ วงดนตรีมัธยม ที่อยากลบกำแพงในใจ เป็นคนเก่งแต่ไม่เคยคว้าแชมป์สักครั้ง

ถึงแม้ว่าในยุค 70-90 ประเทศไทยจะมีวงดนตรีร่วมสมัยที่ผสมผสานเพลงไทยเดิมเข้ากับเพลงสากลเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีแหล่งศึกษาหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีแนวนี้ในตำราเรียนอย่างจริงจัง 

โชคดีที่ตอนนั้นทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีอาจารย์พิเศษเล็งเห็นรอยต่อระหว่างดนตรีไทยและดนตรีสากลที่ยังไม่เคยมีใครทำอย่าง ‘อาจารย์เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี’ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ‘อาจารย์ชัยภัค ภัทรจินดา’ และ ‘อาจารย์นงค์ลักษณ์  ฉิมพาลี’ ที่อยู่ทั้งวงฟองน้ำและวงกอไผ่ ซึ่งเป็นวงดนตรีร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงระดับโลก พวกเขามองเห็นตรงกันว่าควรเพาะเมล็ดพันธุ์แนวดนตรีนี้ขึ้นมา 

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนแรกที่ทำวงดนตรีร่วมสมัย โดยก่อตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. 2551 และทำวงดนตรีต่อมาเรื่อยๆ มาหลายรุ่นจนถึงทุกวันนี้ถึงไม้ต่อของ ‘วงเตรียมอุดมศึกษา’ แน่นอนว่าตอนตั้งไข่คงไม่ง่าย เกิดความทุลักทุเล ลองผิดลองถูกจนกระทั่งหาสูตรสำเร็จจนได้ในที่สุด

อย่างที่รู้กันว่า THE POWER BAND คือเวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวังของเยาวชนรุ่นใหม่ โดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6 ค่ายเพลงชั้นนำ ได้แก่ Muzik Move, LOVEiS Entertainment, Small Room, What The Duck, Warner Music Thailand และ XOXO Entertainment เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่หลงใหลในเสียงดนตรีมารวมตัวกันจากทั่วประเทศ 

ในวาระที่ THE POWER BAND กำลังเปิดรับสมัครซีซัน 4 เราถือโอกาสบุกไปถึงห้องซ้อมของวงเตรียมอุดมศึกษา และได้ฟังเพลง ‘แค่มีเธอตรงนี้’ ซิงเกิลแรกของวง! กับทางค่าย Muzik Move หลังคว้าชัยชนะประกวด THE POWER BAND SEASON 3

เบื้องหลังของเด็กมัธยมปลายที่ไม่ใช่เรื่องง่ายทุกคนต่างมีความฝันทางด้านดนตรี และความท้าทายตั้งแต่การรวมตัวสมาชิกทั้ง 12 คนให้ออกมาอย่างลงตัว การเขียนเพลงเองครั้งแรกในชีวิต รวมไปถึงเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนทั้งเรื่องเรียนและดนตรี พวกเขามีวิธีจัดการทั้งสองเรื่องนี้ได้อย่างไร นั่นคือความสงสัยที่เราพกคำถามมาคุยกับพวกเขาในวันนี้

ด่านที่ 1 : ทีมรวมอเวนเจอร์สที่ต่างกันสุดขั้ว

เดิมทีวงดนตรีไทยร่วมสมัยของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นช่วงๆ ไม่ว่าจะเป็น พรพนรัตน์ หรือ ณัฐชัยธัช แต่ชื่อล่าสุดที่เปลี่ยนเอาชื่อโรงเรียนมาตั้งเป็นชื่อวง ซึ่งมีสองเหตุผลหลักๆ อย่างแรกคือความสิริมงคลและให้เกียรติต่อสถาบัน อย่างที่สองคืออยากให้คนรู้ว่านอกจากเรื่องวิชาการ เตรียมอุดมศึกษาก็เก่งเรื่องดนตรีไม่แพ้กัน

ไม่เพียงแค่ความหลากหลายของแนวดนตรีที่ทำให้เราสนใจวงเตรียมอุดมศึกษา แต่จำนวนสมาชิกในวงที่เรียกได้ว่ามากที่สุดของการลงสมัครเวที THE POWER BAND SEASON 3 ได้แก่

ร้องนำ : เหม่ยหลิน–ศุภภร บารมีแสงเพชร, บาร็อก–ชลธาร เซ็นเชาวนิช

กีตาร์ : โชกุล–ไกรวี หิรัญกุล

เบส : หนูมา–ศศิมา เกลี้ยงเกิด

เปียโน : วินเทอร์–วชิรวินท์  เจตนาเจริญชัย

คีย์บอร์ด : เฟรม–กฤษณรัตน์ ก๋งเกิด

กลอง : จีนส์–จีนส์ วิชญาพร

ทรอมโบน : กาย–จิรภัทร ทองสุกนอก

ทรัมเป็ต : แชร์–ศุภรัชญา แพร่แสงเอี่ยม

แซ็กโซโฟน : ตี้–ปณิธิ อัมพรสิทธิกุล

ซอด้วง : เจสัน–ปัณณทัต นราแก้ว

ระนาดเอก : เจมส์–ณปวริศร์ วิรัตน์สกุลชัย

ด้วยจำนวนสมาชิกที่มากขนาดนี้และมีความถนัดในแนวดนตรีที่แตกต่างกัน ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเบื้องหลังการรวมตัวกันก่อนจะมาเป็นวงเตรียมอุดมศึกษา มันมีความท้าทายมากน้อยแค่ไหน เราจึงชวน ‘ไบร์ท–วชิรพันธุ์ กิจเสมอ’ คุณครูผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงเตรียมอุดมศึกษามาพูดคุยกัน

ครูไบร์ท : ความยากอย่างแรกเริ่มตั้งแต่การหานักเรียนเลย เนื่องด้วยบริบทโรงเรียนเตรียมอุดมมีแค่มัธยมปลายอย่างเดียว เพราะฉะนั้นระยะเวลาก็จะสั้น แต่ก็จะมีการคัดเลือกนักเรียนโควตาความสามารถพิเศษ ทุกปีก็จะมีผลัดเปลี่ยนคนใหม่มาเรื่อยๆ 

อย่างที่สองคือการนำเด็กที่ไม่ใช่แนวดนตรีเดียวกันมารวมกัน บางคนเรียนดนตรีแบบอนุรักษนิยมหรือไทยจ๋ามาทั้งชีวิต เขาก็ไม่เข้าใจจังหวะที่เป็นแจ๊ส ฮิปฮอป เร็กเก สกา ร็อก เพราะแพตเทิร์นของดนตรีไทยจะเป็นอีกแบบนึง เด็กที่เรียนดนตรีสากลก็ต้องมาทำความใจว่าดนตรีไทยว่ามีรูปแบบอะไรบ้าง แน่นอนว่ามันก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ซึ่งพอพวกเขาสามารถจูนกันได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเรียบเรียงและการจัดตำแหน่งให้เหมาะสม อาจารย์ก็จะมาร่วมด้วยช่วยกันว่าควรจะเพิ่มหรือลดตรงไหน

และอย่างสุดท้ายคือการที่เราเอาชุดดรีมทีมมารวมกัน นอกจากศักยภาพก็ต้องดูความเข้ากัน พวกเขาต้องเป็นเฉดเดียวกันด้วย บางคนอาจจะไม่ได้เก่งมาก แต่พอมารวมวงแล้วดูไปกันได้ มีความสนุก มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน 

จีนส์ : เราเป็นวงฟิวชันรวมกันหลายๆ แนว มีทั้งดนตรีไทย ดนตรีกอสเปล (Gospel) ของตะวันตก (แนวเพลงที่เน้นเสียงร้องเป็นหลัก) เราอยากเอาดนตรีไทยเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพราะชมรมของเราก็มีดนตรีไทยด้วย ส่วนดนตรีกอสเปลเป็นแนวที่สมาชิกสองคนในวงชอบ ซึ่งก็คือตัวผมกับโชกุน ผมชอบก็เลยให้เพื่อนฟัง และกระจายแนวนี้ให้ทุกคนชอบ พอเพื่อนฟังก็ชอบตาม ก็เลยตกลงกันว่าจะมาเล่นแนวนี้แล้วก็ผสมดนตรีไทยร่วมสมัยเข้าไปด้วย 

โชกุน : ความยากง่ายของแนวดนตรีกอสเปลผมมองว่าคือสำเนียงในการเล่น เพราะแต่ละแนวก็จะมีสำเนียงของมันอยู่ จริงๆ แล้วถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ฟังเพลงแนวนี้ก็จะไม่ได้เข้าถึงสำเนียงนี้มาก แต่ด้วยความที่พวกเราแน่นในเรื่องของเครื่องดนตรีกันอยู่แล้ว พวกเราอยู่ด้วยกัน ซ้อมด้วยกันทุกวัน มันก็เลยไม่ได้ยากขนาดนั้น

ด่านที่ 2 : การที่วงจะชนะได้ ไม่ใช่แค่ความเก่ง

ในสายตาผู้ชมอย่างเรา ดูเหมือนว่าการเดินทางของวงดนตรีเตรียมอุดมศึกษาที่รวมตัวคนเก่งไว้ด้วยกัน พวกเขามีศักยภาพด้านดนตรีที่เพอร์เฟคขนาดนี้ เวทีนี้คงจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น แต่ความจริงแล้วภายใต้ความสำเร็จ คำชื่นชมต่างๆ และการถูกยอมรับอย่างทุกวันนี้ ใครจะรู้บ้างว่าพวกเขาผ่านบททดสอบและอุปสรรคมากมายจนเกือบเคยถอดใจอยู่หลายครั้ง

ครูไบร์ท : กว่าจะมีทุกวันนี้เราเคยเจอจุดฉุดมาเยอะมาก พูดตรงๆ ว่าถ้าแข่งเดี่ยวผมมั่นใจว่าศักยภาพของพวกเขาสามารถกวาดรางวัลมาได้ทุกคน แต่พอมาเป็นวงแล้วพวกเขาไม่เคยถูกการยอมรับว่าเป็นวงที่ดีเลย เพราะมันคือการเอาคนเก่งมารวมด้วยกันเหมือนทีมอเวนเจอร์ส แต่ทำไมเราไม่ชนะคนอื่นสักที ทำไมเราถึงไม่เคยประสบความสำเร็จเลย 

สุดท้ายผมก็ตกผลึกได้ว่าพวกเขาไม่ได้คิดเหมือนกัน ทุกคนต้องคิดเหมือนกันก่อนถึงรวมพลังได้ มันต้องมีคนนำ ต้องมีคนปลุกใจว่าเราต้องไปในทิศทางเดียวกัน พอทุกคนเคลียร์ใจกัน ตารางการซ้อมก็ถี่ขึ้น เด็กอยากซ้อมมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาการที่วงชนะได้ไม่ใช่แค่ความสามารถที่เก่งอย่างเดียว แต่มันคือการช่วยกันในวง การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 

 จุดแข็งคือทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกันจริงๆ เรื่องทีมเวิร์กมันสำคัญมากเลย คือทีมเวิร์กทุกคนก็มีได้ แต่มันจะ Synchronize กันกี่เปอร์เซ็นต์ ในตอนนั้นผมกล้าพูดเลยว่าวง Synchronize กันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในขณะที่เพื่อนโชว์ทุกคนจะไม่มีการละสายตาจากเพื่อน รู้ว่าเพื่อนเราทำอะไร มันคือความเป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้มันต้องเกิดจากการรวมใจกัน 

เฟรม : หนูรู้สึกว่าการพูดคุยกันคือสิ่งที่สำคัญของการทำวง เราต้องมีความจริงใจเข้าหากันก่อน มันก็เหมือนทำงานกลุ่ม ถ้าเราไม่คุยกันงานมันก็ไม่สามารถออกมาได้ หนูว่าการคุยกันและรับฟังความคิดเห็นกันมันสำคัญที่สุดแล้ว มันไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่มันหมายถึงคนทั้งวง

แชร์ : เรามีเป้าหมายเดียวกันคือเราอยากชนะ อายุ 17-18 มีรางวัลที่หนึ่ง THE POWER BAND เป็นของตัวเอง เราอยากประสบความสำเร็จในชีวิตสักครั้งหนึ่ง 

ด่านที่ 3 : กล้าฉีกออกจากกรอบเดิมๆ

อย่างที่รู้กันว่าส่วนใหญ่คณะกรรมการของเวที THE POWER BAND คือศิลปินที่อยู่จุดสูงสุดของวงการดนตรีทั้งนั้น แน่นอนว่าการฟังแนวเพลงเดิมๆ อาจจะเกิดความอิ่มตัว ดังนั้นทีมจึงตกตระกอนได้ว่าหากจะดึงดูดความสนใจทุกคนได้ ไม่ใช่แค่เพียงความ ‘เก่ง’ แต่คือความ ‘กล้า’ ที่จะเล่น นั่นคือเหตุผลที่ทำให้วงเตรียมอุดมศึกษาชนะใจกรรมการและได้รับรางวัลชนะเลิศไปครอง นอกจากนี้พวกเขายังได้รางวัล Best Creative Award อีกด้วย

ครูไบร์ท: ตอนนั้นผมถามพี่พล (คชภัค ผลธนโชติ) ตรงๆ เลยว่าทำไมถึงเลือกวงผมชนะ เขาบอกว่าวงของอาจารย์ผมอยู่กับมันได้ตลอด รู้สึกว่ามันยังมีต่ออีก แล้วผมไม่รู้ว่าที่มีต่อของอาจารย์คืออะไร ผมก็เลยคิดว่าการกล้าฉีกออกจากกรอบเดิมๆ ข้อดีคือถ้าเราทำออกมาได้ดี มันจะทำให้เรามีภาษีคะแนนสองเท่า สิ่งที่เราทำคือเอาสิ่งที่เราถนัดไปสู้ ผมต้องยอมรับว่าบางโรงเรียนเนี้ยบ ตัวโน้ตดี ร้องดีมากๆ แต่เราสู้ด้วยความสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ ซึ่งมันเป็นการถ่ายทอดที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น 

จีนส์ : ปีแรกผมเคยแข่งได้รางวัลชนะเลิศของ THE POWER BAND ซีซันแรก แต่ตอนนั้นเป็นดนตรีสากลล้วนแนวโซลฟังก์ (Soul Funk) ซึ่งก็สนุกในแบบของมัน แต่ปีนี้ผมก็ได้มาแข่งที่เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเราก็ได้ความรู้ด้านดนตรีไทย การผสมผสาน หรือแนวที่ไม่เคยเล่นกับที่อื่นมาก่อน ผมได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากที่นี่เยอะมาก

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้วงเราชนะ ผมรู้สึกว่ามันคือการที่เรามิตรภาพที่ดีต่อกันภายในวง พอสนิทสนมกันซ้อมด้วยกัน มันเลยได้สิ่งที่เกิดจากความตั้งใจของทุกคนจริงๆ และสิ่งที่ทำให้คนชอบผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวดนตรี อย่างการประกวด THE POWER BAND ครั้งนี้ก็ไม่มีวงไหนที่เอาดนตรีไทยมาเล่น มันก็เลยเป็นอะไรที่ยูนีคและแตกต่าง

เฟรม : จริงๆ ตอนแสดงก็มีผิดพลาดทางเทคนิคเล็กน้อย ตอนที่เราซาวนด์เช็กกันกีตาร์มันไม่ดัง เราไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะอะไร เราดูเวลาซาวนด์เช็กเกินไปค่อนข้างมากแล้วด้วย ตอนนั้นมือกีตาร์วง Chada Band เขาเห็นว่ากีตาร์วงเรามีปัญหาก็รีบวิ่งไปหยิบกีตาร์มาให้วงเรายืม แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ใช้นะคะ เพราะบังเอิญว่ามันดังพอดี แต่ตอนนั้นเรามองว่าสิ่งนี้คือมิตรภาพที่ดีมากๆ เลย ซึ่งช่วงที่เข้าค่าย THE POWER BAND MUSIC CAMP วงเราสนิทกับวง Chada Band ด้วย

เจสัน : ตอนแข่งรอบไฟนอลผมก็สีผิด คือพวกเราตื่นเต้นกันมาก เพราะได้เล่นเป็นวงสุดท้ายด้วย แล้วก็ต้องเห็นพวกปีศาจเก่งๆ เล่นก่อนหน้าเรา ตอนนั้นก็คิดว่าจะเอาอะไรไปชนะเนี่ย (หัวเราะ) ขนาดลงมาจากเวทียังไม่มั่นใจกันเลย โดยเฉพาะวงโปเตเต่า กับ New Cluster น่ากลัวมาก แต่พอผลออกมาก็เกินคาดมากๆ

ด่านที่ 4 : แค่มีเธอตรงนี้

ถึงแม้ว่าพวกเขามักจะพูดติดเล่นบ่อยๆ ว่าผ่านเข้ารอบเพราะโชคช่วย แต่ในวันที่เราบุกไปถึงห้องซ้อมเพื่อสัมภาษณ์และมีโอกาสได้ดูวงเตรียมอุดมศึกษาเล่นสดเป็นครั้งแรก เรามั่นใจว่าไม่ใช่เพราะโชคช่วยแน่ๆ แม้ว่าก่อนซ้อมพวกเขาจะวุ่นวายเหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่เมื่อถึงสัญญาณบรรเลงเพลงทุกคนก็ตั้งใจและทำออกมาได้ดีระดับมืออาชีพ

อย่างที่รู้กันว่าความพิเศษของ SEASON 3 คือ วงที่ชนะจะได้ทำเพลงตัวเองกับค่าย Muzik Move แน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้คือสิ่งที่ทุกคนในวงตั้งใจทำและพยายามเขียนเพลงด้วยตัวเอง เพื่อเก็บเป็นความทรงจำชีวิตในช่วงมัธยมร่วมกัน

กาย : ผมรู้สึกว่าสมัยนี้ทำเพลงไม่ยาก แต่ทำให้ดังมันยาก ด้วยความที่ยุคนี้เพลงมันทำง่ายกว่าเมื่อก่อน หลายคนก็ทำกันไปหมดแล้ว อีกอย่างคือคนสมัยนี้เบื่อง่าย ฟังแนวนี้สักพักเขาก็เปลี่ยนแนว ผมก็เลยรู้สึกว่ามันยาก

ตี้ : วิธีที่วงเราทำคือนำเสนอเพลงในหลายๆ แพลตฟอร์ม อย่างเช่น ช่วงนี้คนฮิตทำคอนเทนต์ใน TikTok เราก็ทำด้วย แล้ววงเราก็มีดนตรีไทยผสมผสานก็เลยทำให้มันมีความยูนีกและแตกต่างที่ทำให้คนชอบ เพราะคนส่วนใหญ่ชอบอะไรใหม่ๆ

เหม่ยหลิน : ด้วยแนวเพลงที่มันเกี่ยวกับความรัก หนูก็เลยดึงคำที่มันหวานๆ มาใส่ในเพลง หนูรู้สึกว่าความรักมันหลายอย่างมาก ทั้งจากครอบครัว เพื่อน หรือคู่รักก็ได้ แล้วหนูก็อยากแซมภาษาอังกฤษไปด้วยให้มันดูมีความเก๋ หลังจากแต่งเนื้อเสร็จแล้ว จีนส์ก็จะเป็นคนแต่งคอร์ด พอจีนส์ให้คอร์ดเสร็จเราทุกคนก็มานั่งเขียนเพลงด้วยกัน ใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ค่ะ 

จีนส์ : หลักๆ ผมได้ inspiration จาก OST ของซีรีส์เกาหลี อย่างพวกสำเนียง เมโลดีร้อง เราทำแค่ท่อนคอร์ด เนื้อร้องไปให้ทางโปรดิวเซอร์ซึ่งก็คือพี่ติ๊ก Playground พี่เขาก็จะมีการบ้านให้เราทำส่งไป แล้วเขาก็ทำดนตรีเพิ่มมาให้ พอได้ไฟล์เพลงมาเราก็แค่ซ้อมท่อนของตัวเอง อัดแยกๆ แล้วเอามามิกซ์รวมกันแล้วก็ได้ไฟล์มาสเตอร์ จริงๆ เราเพิ่งซ้อมรวมกันวันนี้เป็นวันแรกด้วยครับ (หัวเราะ)

ด่านที่ 5 : มิตรภาพและความทรงจำ

ในอนาคตอาจไม่มีอะไรการันตีแน่นอนว่าพวกเขาจะได้กลับมารวมตัวเล่นกันอีกครั้งเมื่อไหร่ ด้วยความที่สมาชิกในวงที่อายุต่างกันและต้องแยกย้ายกันไปเติบโต การแข่งขัน THE POWER BAND SEASON 3 จึงเป็นเวทีส่งท้ายให้กับพี่ๆ ม.6 อีกด้วย แต่การมาเจอพวกเขาในวันนี้ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าบันทึกการเดินทางที่ทุกคนสู้มาด้วยกันในรูปแบบของบทเพลงแค่มีเธอตรงนี้ จะอยู่ตรงนี้ไปอีกนาน

ครูไบร์ท : ในมุมของผู้สอนรู้สึกภูมิใจมากๆ ไม่ใช่เพราะว่าชนะรายการนี้ แต่มันเหมือนนาฬิกาย้อนกลับหลังว่าเราผ่านมายังไงบ้าง ตั้งแต่ซ้อม ถอดใจ แพ้เวทีอื่น วงจะแตก นักเรียนมีปัญหากันเอง จนมีวันที่ทุกคนสู้ด้วยกันแล้วชนะมันเลยค่อนข้างรู้สึกเยอะนิดนึง

หนูมา : ความรู้สึกที่ได้มาแข่งเวที THE POWER BAND เหมือนได้ติ๊กอีกหนึ่งเช็กลิสต์ความสำเร็จของตัวเองว่า ชีวิตนี้เราทำอะไรสำเร็จไปอีกหนึ่งอย่างแล้วนะ แล้วเราก็มีมิตรภาพดีๆ ที่จะจำไปจนวันตายเลยค่ะ

วินเทอร์ : เราได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตัวเองที่มีบนเวทีให้ทุกคนได้เห็น สุดท้ายเราก็ได้รางวัลชนะเลิศ และได้เปลี่ยนแนวทางการเล่นดนตรีด้วย จากการเล่นแนวคลาสสิกก็ต้องปรับเปลี่ยนการเล่นนิดหนึ่งเพื่อเข้ากับวงได้

แชร์ : ใครที่อยากมาสมัคร มาเลยค่ะไม่ต้องกลัว ผลแพ้ชนะมันไม่ได้สำคัญอะไร จริงๆ หนูเองก็มีพี่น้องที่เล่นดนตรีได้ แต่พวกเขาก็มีความกลัวนั่นนี่ หนูก็บอกว่ามันไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว เพราะเราได้เล่นดนตรี แค่มีความสุขมันก็พอแล้ว THE POWER BAND เป็นรายการที่ดีค่ะ หนูไม่ลังเลเลยที่จะสมัคร

เจสัน : ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะว่าเวที THE POWER BAND จะมีแมวมองเยอะมากๆ จากค่ายเพลงต่างๆ คือถ้าคุณเจ๋งจริงแล้วเขาเห็นคุณ คุณก็อาจจะดังได้เลย เขาอาจจะปั้นคุณได้เลย อย่างเช่น วงเพื่อนผมก็มีแมวมองจากเวทีนี้เหมือนกัน แล้วตอนนี้ก็ได้เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วครับ

เฟรม : เวทีนี้เปิดโอกาสให้คนที่มีใจรักในดนตรีมาทำด้วยกัน มันไม่สำคัญว่าเราจะแพ้หรือชนะ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะได้กลับไปแน่นอนคือประสบการณ์และมิตรภาพที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน เรารู้สึกว่า THE POWER BAND มันคุ้มมากจริงๆ ที่พวกคุณจะลองทำตามความฝันของตัวเองสักครั้ง

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่มีความฝันและใจรักในเสียงดนตรีอย่ารอช้า เพราะตอนนี้ทาง THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เปิดรับสมัครแล้ว ภายใต้คอนเซปต์ ‘Let The Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี’ ชิงรางวัลรวมกว่า 2 ล้านบาท! พร้อมร่วมทำซิงเกิลกับโปรดิวเซอร์มืออาชีพ และโอกาสในการร่วมแสดงในเทศกาล ดนตรีระดับประเทศ

สามารถสมัครได้ทาง : www.music.mahidol.ac.th/thepowerband ตั้งแต่วันนี้ ถึง 2 สิงหาคม 2567

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream