Blissfully Blind : สว่างไสวแต่มืดบอด

กำกับการแสดง: ดุจดาว วัฒนปกรณ์
นักแสดง: วิทุรา อัมระนันทน์, นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์, อมรศรี พัฒนศิษฎางกูร, พุทธิพร สุทธิมานัฎ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Lighting Installation: ZIEGHT
สถานที่: BANGKOK CITYCITY GALLERY

‘ผมมันคนขี้กลัว’

แวบหนึ่ง ความคิดนี้พุ่งขึ้นมาระหว่างที่ผมกำลังชม
Blissfully Blind การแสดงที่กำกับโดย ดาว-ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว (Dance Movement Psychotherapist) นักสื่อสารองค์กรประจำโรงพยาบาล และบทบาท ‘ศิลปิน’ ที่กลุ่มผู้ชมละครเวทีร่วมสมัยรู้จักเธอมานานกว่า 10 ปี

ย้อนกลับไป ผลงานการกำกับชิ้นก่อนหน้าของเธอคือ
Secret Keeper ในปี 2558 การแสดงที่ใช้พื้นที่และความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นวัตถุดิบปรุงรส หลายคนยกการแสดงนี้ว่ายังตราตรึงใจจนถึงทุกวันนี้ ครั้งนั้นศิลปินสาวรับหน้าที่เป็นผู้กุมความลับของผู้ชมที่ยินยอมเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้เธอฟัง และล่าสุดกับการแสดงชิ้นนี้ Blissfully Blind เธอยกนักแสดงชุดเก่ากลับมาครบและเพิ่มนักแสดงใหม่อีก 1 คน

การแสดงของดุจดาวถูกนิยามเป็น Experiential Performance ที่ไม่ใช่แค่การให้ผู้ชมนั่งดูแล้วตัดพวกเขาออกจากการเล่าเรื่อง แต่เป็นการแบ่งปันประสบการณ์กันในพื้นที่ ณ เวลานั้น แน่นอน ดุจดาวจะกระตุกจิตใจคุณให้คิดและทบทวนประเด็นภายใต้คอนเซปต์ของเนื้อเรื่อง ผ่านการได้เห็น ได้ยิน และได้สัมผัส ซึ่งปรากฏเป็นก้อนความคิดและความรู้สึกที่โผเข้าโอบรัดประสาทสัมผัสของผู้ชมอย่างเข้มข้น

Blissfully Blind ประกอบไปด้วยนักแสดงสาว 5 คนที่ออกมาเต้นและแสดงออกผ่านร่างกายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปภายในพื้นที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงในแกลเลอรี่ครั้งแรกของดุจดาวและทีมงาน โดยเธอใช้สอยห้องสี่เหลี่ยมเพดานสูงด้วยวิธีแบ่งห้องออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนนอก ส่วนกลาง และส่วนใน

ส่วนนอกและส่วนในแบ่งนักแสดงออกเป็นส่วนละ 2 คน แต่ในบริเวณส่วนกลางคือผลงาน Lighting Installation ขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนสีและระดับแสงไปตามจังหวะของเรื่อง ที่สำคัญมันเป็นที่ขังตัวของดุจดาว เธอเป็นเพียงคนเดียวที่จะทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด ขณะที่อีก 4 คนสามารถวิ่งพล่านและแสดงออกสิ่งที่ตัวเองรู้สึกได้ทั่วทุกมุมห้อง ผลัดกันนัวเนีย ช่วยกันหาควานหาบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งทำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจับต้องได้

จุดเด่นของการแสดงชิ้นนี้คือการสำรวจเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะเรื่องความคิด ความรู้สึก ผ่านรูปแบบการแสดงที่ต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ด้วยการเปิดพื้นที่ยอมรับให้คนดูเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งอย่างอิสระ และเป็นองค์ประกอบของการดำเนินเรื่อง

ผู้ชมจึงมีสิทธิ์เลือกว่าจะนั่งหรือยืนดูตรงไหนก็ได้ และนี่สะท้อนว่าทุกการเคลื่อนไหว การวางตำแหน่งร่างกาย หรือแม้แต่ท่านั่ง เป็นการเลือกที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังเลือก แต่ถึงอย่างนั้นทุกการตัดสินใจต่างมีที่มา และทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย้ำกับเราว่าทุกอย่างไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวหรือมุมมองเพียงระนาบเดียวเท่านั้น

สำหรับผม เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ซ่อนตัว ไม่มีมุมให้ตัวเองเป็นผู้สังเกตการณ์บนที่นั่งในโรงละครเงียบๆ สิ่งนี้เป็นความท้าทายทั้งตัวผู้ชมและนักแสดงที่อาจเดินเฉียดหายใจรดต้นคอ กำกับทิศทางกันได้ยาก ผมกลัวการถูกนักแสดงรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง ผมกลัวที่จะไม่รู้ว่าอีกฟากของห้องเกิดอะไรขึ้น สภาพพื้นที่ทำให้เราพยายามสอดส่องความเป็นไป และบีบดันให้ทุกคนขยับมาสู่จุดศูนย์กลางของเรื่องที่จะทำให้คุณขนลุกชูชัน

เนื้อหาของ Blissfully Blind พูดถึงประเด็นเชิงสังคมระดับโครงสร้าง พูดถึงภาพกว้างผ่านสถานที่เล็กๆ และคนจำนวนหนึ่งที่เหตุการณ์ดำเนินไปราวกับไม่รู้จักคำว่าจบสิ้น ไม่มีลำดับเรื่องราวชัดเจน แต่ความรู้สึกนั้นชัดมาก จากที่สังเกต ดุจดาวถนัดงานที่จับจ้องกับความนึกคิดของปัจเจก แต่เป็นปัจเจกที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์และสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ Blissfully Blind จึงเป็นการแสดงผลลัพธ์เพียงบางส่วนจากเรื่องใหญ่หลวงในสังคมที่ทั้งกดดันและเจ็บปวดรวดร้าว แม้ไม่ได้แสดงออกชัดเจนว่าพูดเรื่องอะไรอยู่ แต่เรารับรู้ได้ว่าทั้ง 5 ตัวละครมีปัญหา แม้ไม่เห็นปัญหาเชิงรูปธรรมแต่สุดท้ายก็รับรู้ได้ถึงความเจ็บที่ไล่ระดับจากความงุนงงในตอนต้น นำไปสู่ระดับที่รุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ในรอบรั้วสี่เหลี่ยมคือสังคมที่มืดบอด เรามีความมั่นใจในตัวเองต่ำเพราะถูกลดค่าให้เชื่อว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่เห็นอะไรในตัวเอง โฟกัสไปที่จุดอื่นโดยเฉพาะคนที่ดีกว่าและมีอำนาจเหนือกว่าเรา หลังดูจบเราได้ข้อสรุปว่าเราคือคนที่อยู่พื้นที่ตรงกลาง ไม่เห็นเหตุการณ์ทั้งสองฝั่งแต่ได้รับผลกระทบ ได้ยินคำบอกเล่าหลากแง่มุม สุดท้ายเราเจ็บปวดและอัดอั้นตันใจ คุณจะเชื่อใครในเมื่อมีชุดข้อมูลข่าวสารมากมายประดังเข้ามา คุณจะเชื่อได้ยังไงว่าคุณรู้จักมันจริงๆ หรือท้ายที่สุดแล้วยิ่งคุณรู้มาก คุณจะยิ่งกลายเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลยกันแน่

ใช่ เพราะอย่างนี้ไง ผมโตมาในสถานที่ที่สอนให้เรากลัว


เล็กๆ น้อยๆ ก่อนไปดู Blissfully Blind

  • ดุจดาวตั้งใจสังเกตกลไกมนุษย์มากว่า 3 ปี เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านผลงานชุดล่าสุด
  • เธอพบว่าการ Blind คือกลไกที่เราใช้เพื่อจัดการกับความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เพียงไม่รับรู้หรือเลือกรู้ข้อมูลเพียงบางส่วนเพื่อดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข
  • แต่ความปกติสุขจากการไม่รู้ไม่เห็นคือปัจจัยที่เป็นอันตรายต่อปัจเจกและสังคม เพราะเราจะมองไม่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว
  • ข้อคิดที่ดีจากผลงานชิ้นนี้คือ คนมักคุ้นชินกับแสงสว่างจนเราไม่รู้จักการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่มองเห็นอีกเลย
  • การแสดงชุดนี้นำมาสู่คำถามว่าอาการมืดบอดทางสังคมเกิดจากความจงใจหรือเป็นเพียงเรื่องบังเอิญกันแน่
  • การชมการแสดงจากคนละมุมจะทำให้ผู้ชมตระหนักว่าคนเราไม่ได้เห็นมุมเดียวกันหมด สุดท้ายความจริงคืออะไร ในเมื่อข้อมูลมีหลายชุด
  • ดุจดาวเป็นนักแสดงในกลุ่ม B-Floor กลุ่มละครที่ถนัดงานเล่าเรื่องเชิงสังคมและการเคลื่อนไหวร่างกายแบบสุดพลัง
  • ศิลปิน ZIEGHT รับหน้าที่ทำ Lighting Installation ขนาดใหญ่ ที่เป็นเหมือนตัวละครสำคัญของเรื่อง
  • เสียงประกอบที่ปล่อยออกมาแต่ละมุม ผู้ชมจะได้ยินรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่เหมือนกัน ไม่ต่างจากภาพที่คุณเห็น คนดูจะถูกดึงสมาธิได้จากข้อมูลที่พวยพุ่งมาจากทุกส่วนจนรับแทบไม่ทัน
  • ถือเป็นครั้งแรกที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY เปิดพื้นที่ให้แสดงละครอย่างเต็มรูปแบบ

Blissfully Blind เริ่มทำการแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กรกฎาคม 2560 (ยกเว้นวันอังคารและพุธ) เวลา 19.30 น. ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY (สาทร ซอย1) บัตรราคา 700 บาท (ราคาโอน 600 บาท)

นักเรียน, นักศึกษา บัตรราคา 450 บาท และสามารถเข้าชม Light Installation Exibition ได้ฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนกรกฎาคมนี้ ตั้งแต่ 13.00 – 17.00 น.

map

ภาพ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

AUTHOR