Super Premium Soft Double Vanilla Rich : สังคมสะดวกซื้อ แน่หรือว่าอยู่สบาย?

เขียนบทและกำกับการแสดง: โทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada)
สถานที่: โรงละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อิรัชชัยมาเซะ~

เสียงเอ่ยต้อนรับของพนักงานที่เราคุ้นหูกันดีเวลาเดินเข้าร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อที่แดนปลาดิบ (ลามเลยมาถึงร้านอาหารญี่ปุ่นในแดนสยามเราเช่นกัน) เมื่อได้ยินจนชิน หลายครั้งเราก็ปล่อยให้เสียงนั้นลอยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ในฐานะที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น และยังไม่เคยมีประสบการณ์เป็นพนักงานร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไหนๆ เราเลยเดาไม่ค่อยออกว่าในแต่ละวันที่เหล่าพนักงานต้องเอ่ยคำทักทายนี้ซ้ำๆ เขาเปล่งเสียงออกมาด้วยความรู้สึกแบบไหนกันบ้าง?

ละครเวทีชื่อยาวแถมออกเสียงสำเนียงญี่ปุ่นยาก Super Premium Soft Double Vanilla Rich ผลงานการเขียนบทและกำกับของโทชิกิ โอกาดะ ในนามคณะละครเชลฟิตช์ (Chelfitsch) คือการแสดงที่ทำให้เราเริ่มฉุกคิดถึงคำถามข้างต้น งานชิ้นนี้หยิบเอาร้านสะดวกซื้อหรือ ‘คมบินิ’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัยมาเป็นฉากหลังและตัวละครหลัก ก่อนจะใส่เรื่องราวจากตัวละครทั้ง 7 ที่มีตั้งแต่พนักงานพาร์ทไทม์หลากคาแรกเตอร์ ผู้จัดการร้านสุดนอบน้อม ซูเปอร์ไวเซอร์จากสำนักงานใหญ่เจ้าของแฟรนไชส์ ลูกค้าชายขี้บ่นและสาวน้อยที่ตามหาไอศครีมซอฟต์วานิลลาที่ไม่วางขายอีกต่อไป เข้ามาสร้างบทบาทอลวนชวนหัวเราะในมุกตลกร้ายตลอดสองชั่วโมง

ละครพูดผสมการแสดงด้วยท่วงท่าของร่างกายอันยวบยาบ ย้ำซ้ำ และเหนือจริง คือจุดเด่นในงานทุกชิ้นของโอกาดะที่ไม่เพียงเปิดโลกการชมละครแบบใหม่ให้เรา แต่ยังสื่อความหมายลึกไปถึงการวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นที่แสนเคร่งเครียดและเต็มไปด้วยกฎระเบียบ รวมถึงจิตใจแสนเหลวเป๋วของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับสังคมนี้ในทุกจังหวะท่าทาง

การออกแบบตัวละครให้มีตั้งแต่พนักงานที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ตั้งใจจะบริการลูกค้าอย่างเต็มที่ พนักงานที่คอยต่อต้านระบบและยุยงให้คนอื่นทำตาม แต่ตัวเองก็ยังต้องยอมจำนนต่อระบบ หรือแม้แต่ลูกค้าที่เข้ามาในร้านแล้วไม่ยอมซื้ออะไรกลับไปนอกจากบ่นและวิจารณ์การมีอยู่ของร้านสะดวกซื้อ Smile Factory คือภาพจำลองที่โอกาดะฉายภาพบุคคลและสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันออกมาได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความให้ซับซ้อน เมื่อบวกกับการแสดงเล่นใหญ่เกินร้อยของนักแสดงทุกคน ผลลัพธ์ที่ได้คือเสียงหัวเราะจากเราที่นั่งนิ่งงัน เพราะประเด็นมันช่างแทงใจดำเสียจริง

คำพูดวกวน ถ่อมตน อ่อนหวานหรือเต็มไปด้วยความเกรงใจ เป็นสิ่งที่เราพบได้บ่อยในระหว่างการสนทนากับชาวญี่ปุ่น ชนชาติที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการเก็บงำอารมณ์ หากแต่ท่าทางแปลกประหลาดน่าขันที่ตัวละครแต่ละคนแสดงออกมาประกอบเสียงดนตรีคล้ายวิดีโอเกมต่างหาก คือกระจกสะท้อนความรู้สึกแท้จริงที่พวกเขาไม่สามารถระเบิดออกมาให้คนอื่นเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นใจ ความสับสนจนเสียศูนย์ ความโมโห หรือความอับอายต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ไม่ว่าจะรู้สึกแบบนั้นมากแค่ไหน สิ่งที่คนญี่ปุ่นเลือกทำคือก้มหัวยอมจำนนต่อระบบสังคมที่ตนเติบโตมา และข่มความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายนั้นให้สลายหายไปคล้ายว่ามันไม่เคยเกิดขึ้่นจริง

นอกจากการวิพากษ์ในระดับปัจเจกบุคคล Super Premium Soft Double Vanilla Rich ยังแอบเสียดสีสังคมทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและดิ้นรนเอาตัวรอด หลายฉากตอนและบทสนทนาในเรื่องมีพูดถึงสินค้าที่ขายไม่ออกในร้านสะดวกซื้อซึ่งกลายเป็นสิ่งของธรรมดาที่ไม่ว่าจะสแกนบาร์โค้ดกี่สิบครั้งก็ไม่มีมูลค่าปรากฏ หรือระบบการหมุนเวียนสินค้าใหม่ที่สำนักงานใหญ่จะส่งมาเปลี่ยนกับสินค้าตกรุ่นทุกวันจันทร์ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% จนทำให้ตัวละครในเรื่องตั้งคำถามกับตัวเอง – รวมถึงคนดู – ว่าหากลองแทนที่สินค้าเป็นพวกเขาดู เขาจะอยู่ในกลุ่ม 70% หรือ 30% กันแน่? ส่วนตัวเราชอบฉากสั้นๆ นี้มากเพราะเชื่อมโยงกับชีวิตที่ทุกวันนี้เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นหมากให้ใครอยู่หรือเปล่า เพียงเพราะความเคยชินบอกให้เราทำอย่างนั้น เพียงเพราะเราคิดว่าการเชื่อฟัง ปฏิบัติตามไปเถอะ แล้วมันจะดี

ฉากสั้นๆ นี้โยนคำถามใส่เราว่า ถูกต้องแล้วหรือที่เราจะถูกกำหนดให้อยู่รอดหรือไปต่อได้ในสังคมที่คนเพียงกลุ่มเดียวกำลังควบคุมชีวิตเรา?

ไม่มีมนุษย์คนไหนมีค่าเท่าสินค้าโชว์บนชั้นวางของ และเราน่าจะรู้ดีว่าคุณสมบัติของการจะเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่แค่มีชีวิต แต่ได้ใช้ชีวิตคืออะไร

การใช้ความรู้สึกให้เป็นคือคำตอบ

ถ้าทำผิด ก็ยอมรับผลการกระทำของตัวเองและเอ่ยขอโทษอย่างบริสุทธิ์ใจ ถ้ารู้ตัวว่าโกรธจนทนไม่ไหว บางครั้งตะโกนเสียงดังออกมาบ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือถ้าผิดหวังเสียดายก็ร้องไห้ออกมาบ้าง

เพราะนั่นหมายถึงว่าเรากำลังยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในตัวเรา

และเรากำลังเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ถูกป้อนคำสั่งอัตโนมัติไปวันๆ

อาริงาโตะโกไซมาชิตะ~

Super Premium Soft Double Vanilla Rich จัดแสดงอีก 3 รอบการแสดง คือวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม เวลา 14.00 น. และ 19.30 น. และวันที่ 12 มีนาคม เวลา 14.00 น. ราคาบัตรบุคคลทั่วไป 600 บาท นิสิตนักศึกษา 300 บาท จองบัตรได้ที่ www.bangkokstudio41.com หรือโทร. 081-5597252. 02-2184802

ภาพ เจแปนฟาวนด์เดชั่น กรุงเทพฯ

AUTHOR