Gulliver’s Egg : ไข่ที่ไม่เหมือนใครของกัลลิเวอร์

ผู้กำกับการแสดง : สิริกาญจน์ บรรจงทัด
สถานที่ : Syrup The Space

สิ่งที่เราชอบที่สุดเกี่ยวกับการ์ตูนแอนิเมชันคือการที่ชั่วขณะหนึ่งเราลืมไปว่าตัวละครเป็นแค่โครงร่างและสีสันในหน้าจอ
และเชื่อจริงๆ ว่าพวกเขามีชีวิตจิตใจ ละครหุ่นทำงานกับเราด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน ด้วยผ้า
กระดาษ ไม้ และอุปกรณ์ประดิษฐ์ประกอบกัน
เราก็หลุดเข้าไปในโลกอีกใบที่หุ่นใช้ชีวิตและมีความรู้สึกไม่ต่างจากมนุษย์

สิริกาญจน์
บรรจงทัด
คือนักทำหุ่นและอาจารย์สอนการประดิษฐ์หุ่นฝีมือดีที่ใครๆ
ต้องการตัว หุ่นที่เธอสร้างในละครเรื่องก่อนๆ เช่น The Little
Prince
และ Fishy Clouds เกิดจากอุปกรณ์และกลไกที่ดูเรียบง่าย
แต่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนและน่ารักจับใจ เราเคยเห็นการเชิดหุ่นของเธอที่ทำให้คนตัวเล็กๆ
ในมือมีลมหายใจขึ้นมา เมื่อเธอสวมหมวกคนเขียนบท ผู้กำกับ และนักสร้างหุ่นใน Gulliver’s
Egg
โลกสมมติที่เราเห็นกว้างใหญ่และอลังการกว่าที่คิดไว้มากทีเดียว

ไข่ของกัลลิเวอร์
หยิบยืมไอเดียเด็กชายท่องโลกจากนวนิยาย กัลลิเวอร์ผจญภัย ของ Jonathan Swift และเก็บกลิ่นอายการวิพากษ์วิจากพฤติกรรมมนุษย์ไว้เต็มเปี่ยม เราชอบฉากเปิดในโรงละครเล็กๆ
ใหม่เอี่ยมชื่อ Syrup The Space กวิน พิชิตกุล, สุรัตน์ แก้วสีคร้าม และ สุวิชาน มีเค้า กะเทาะตัวออกจากไข่ฟองยักษ์
ตัวอ่อนทั้งสามเรียนรู้จะใช้ชีวิต หัดคลาน หัดยืน หัดหาอาหาร
จนกลายเป็นมนุษย์เต็มตัวเมื่อหัดทะเลาะและเลือกข้าง เรื่องราวเปลี่ยนบท กระโดดข้ามมาที่มนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเจอผู้ยิ่งใหญ่หลายคนที่แข่งกันทำตัวเหนือกว่าและกดดันให้เลือกเชื่อตนเอง
ถึงเนื้อเรื่องจะดำเนินโดยภาษากายและเสียงพูดที่ไร้ความหมาย แต่สร้อย ป้าย และสีสันที่หุ่นตัวเล็กๆ
รับมาประดับร่างกายที่เคยว่างเปล่า เหมือนตัวเราที่สร้างอัตลักษณ์จากความเชื่อทางสังคม
การเมือง และศาสนา

กัลลิเวอร์เกิดในครอบครัวของชายคนนี้ ในวันที่กฎและขนบต่างๆ มหาศาลจนเราไม่มีโอกาสค้นหาสิ่งที่เชื่อ
เลือกสิ่งที่ศรัทธา เด็กชายที่ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ถูกจับได้ว่าแตกต่าง เขาถูกขับไล่ออกจากชุมชน
ผจญภัยจนไปพบรังนกและไข่ใบเล็กๆ ที่ไม่เหมือนไข่สีขาวบริสุทธิ์ฟองอื่นๆ
ชีวิตที่ยังไม่เกิดมาถูกโลกปฏิเสธ ไม่ต่างอะไรจากตัวเขา

ผู้ชมเด็กๆ
จำนวนมากในรอบนั้นสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจไปกับหุ่นและพร็อพนานา แต่ยิ่งเรื่องราวดำเนินไป
สิ่งที่ Gulliver’s Egg สื่อสารกับผู้ใหญ่ก็เศร้าและจริงขึ้นเรื่อยๆ
ละครออกจะยาวและหน่วงในช่วงกลางและปลายเรื่องไปบ้าง
และการร้อยเรียงแต่ละฉากก็ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก ถึงอย่างนั้นเอง เราก็สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นเกินร้อยของนักแสดง
และเจตนาชัดเจนของผู้กำกับที่ตั้งใจพูดถึงเรื่องร้ายๆ ของโลกด้วยวิธีการที่นุ่มนวลและเห็นอกเห็นใจ
เมื่อใจจดจ่อเดินทางไปกับกัลลิเวอร์ ใบหน้าเปเปอร์มาเช่และถุงกระดาษทำให้เราตระหนักได้อีกครั้งว่าโลกนี้คือละคร
และชีวิตเราคือหุ่นบอบบางที่ถูกชักเชิดไปตามเนื้อเรื่องเท่านั้นเอง

ลองไปผจญภัยกับ Gulliver’s
Egg ได้อีกในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่ 10 – 12 และ 17 – ,19 มีนาคม เวลา
19.30 และ 14.00 น.(เฉพาะเสาร์-อาทิตย์)ที่ Syrup The Space อาคารลิเบอร์ตี้
(ท้ายซอยทองหล่อ) สุขุมวิท 55 บัตรราคาผู้ใหญ่ 450 บาท (โอนล่วงหน้า 390 บาท) และบัตรราคาเด็กอายุ 7 – 12 ขวบ 200 บาท ติดต่อจองบัตรและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้
ที่นี่เลย

ภาพ Gulliver’s Egg

AUTHOR