ทำไมเราจึงหลงรักความเหลวแหลกแตกสลาย? ว่าด้วยความหลงใหลในซากปรักหักพัง

ทำไมเราจึงหลงรักความเหลวแหลกแตกสลาย? ว่าด้วยความหลงใหลในซากปรักหักพัง

Highlights

  • คำว่า ‘ruinenlust’ ผสมขึ้นจาก ruinen ที่แปลว่าซาก และ lust ที่แปลว่าแรงปรารถนา ความต้องการ ความพึงพอใจ รวมแล้วหมายถึงความพึงพอใจ หลงใหล หรือรู้สึกดึงดูดในซากปรักหักพัง
  • ความสนใจในความงดงามของความผุพังทำให้เกิดกลุ่มความเคลื่อนไหว จนเกิดคำว่า ‘Ruin Porn’ ใช้เรียกนักถ่ายภาพที่ถูกดึงดูดและกระหายที่จะเก็บภาพเมืองร้าง นำมาซึ่งคำถามเชิงจริยธรรมในการท่องเที่ยว
  • แต่ในแง่หนึ่ง ซากปรักหักพังของสถานที่เตือนเราถึงการมีอยู่ของความตาย และในอีกแง่ ซากปรักหักพังก็เตือนให้เรารู้ซึ้งถึงความไม่เท่าเทียมในโลก

เราบางคนหลงใหลและเห็นความงามในซากปรักหักพัง บ้านร้าง เมืองร้าง หรือตึกที่ไร้ผู้คน สถานที่เหล่านี้เคยมีชีวิต เคยกระฉับกระเฉง เต็มไปด้วยกิจกรรม แต่บัดนี้ได้ถูกทิ้งไว้ให้เงียบงัน ค่อยๆ กร่อน ค่อยๆ พัง ไม่ว่าด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเศรษฐกิจ

ในภาษาเยอรมัน มีความรู้สึกอันแปลได้ยาก ใช้คำว่า ‘ruinenlust’ ผสมขึ้นจาก ruinen ที่แปลว่าซาก และ lust ที่แปลว่าแรงปรารถนา ความต้องการ ความพึงพอใจ รวมแล้วหมายถึง ‘ความพึงพอใจ หลงใหล หรือรู้สึกดึงดูดในซากปรักหักพัง ความรู้สึกรัก หลงใหลในสถานที่หรือสิ่งที่พังทลายไปแล้ว เกิดความรู้สึกซาบซึ้งถึงความงามของสถานที่ที่ถูกทอดทิ้ง’

 

Ruin Porn กลุ่มคนเก็บภาพถ่ายซากปรักหักพังอันสวยงาม

เมืองที่เคยเฟื่องฟูในอดีตอย่างดีทรอยต์ เคยคึกคักจากอุตสาหกรรมรถยนต์จนถูกเรียกว่าเป็น Motor City แต่บัดนี้ได้ล้มเหลวจากเศรษฐกิจซบเซาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางส่วนของเมืองเหมือนซากหลังสงคราม เมืองที่คึกคักกลับกลายเป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า ดีทรอยต์กลายเป็นเมืองที่อับเฉา เต็มไปด้วยบ้านร้าง คนว่างงาน สถิติอาชญากรรมสูง และกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดช่างภาพให้ไปเก็บภาพสถานที่ที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ผู้คนหยุดมองสถานที่หรือเมืองที่ตายไปแล้วไม่ได้ พวกเขารู้สึกกระหายและสงสัย

ความสนใจในความงดงามของความผุพังทำให้เกิดกลุ่มความเคลื่อนไหว จนเกิดคำว่า ‘Ruin Porn’ ซึ่งใช้เรียกนักถ่ายภาพที่ถูกดึงดูดและกระหายที่จะเก็บภาพเมืองร้าง จนเกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเสพหนังโป๊แห่งซากปรักหักพัง

ปรากฏการณ์นี้เริ่มต้นในปี 2009 เมื่อบล็อกเกอร์เก็บภาพเมืองดีทรอยต์อันซบเซา จึงเกิดเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ถ่ายภาพสถานที่ร้าง เช่น บ้านร้าง ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานที่ล้มเลิกปิดกิจการ ความสวยงามกึ่งหลอน ความผุกร่อนสลายของวัสดุและสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ชวนให้คิดถึงฉากเมืองร้างในหนังซอมบี้ หลังโรคระบาด หรือวันสิ้นโลกที่เงียบเชียบและว่างเปล่า

ช่างภาพอย่าง Andrew Moore ได้ตีพิมพ์หนังสือ Detroit Disassembled กลายเป็นการจุดประกายและกระพือความเคลื่อนไหวของ Ruin Porn ในฐานะงานศิลปะ ในโลกอินเทอร์เน็ตที่ภาพและสารถูกส่งออกไปอย่างว่องไว ช่วยแพร่กระจายความกระหายและความใคร่ในซากปรักหักพัง

ความกระหายโหยหาความงามของสถานที่ร้างนำมาสู่คำถามว่า ผิดไหม หรือควรไหม เพราะการเข้าไปสำรวจสอดส่องจ้องมองสถานที่ร้างอย่างไร้ขอบเขตมักหมายถึงการบุกรุกเข้าไปในที่ร้างที่อาจผิดกฎหมาย อันตราย และเสี่ยงต่อชีวิต เพราะโครงสร้างของสถานที่นั้นๆ อาจไม่แข็งแรง

ขณะเดียวกัน ดีทรอยต์ยังไม่ได้ตายสิ้นลมหายใจสนิท ชีวิตในเมืองนี้ไม่ได้ถูกกวาดกำจัดด้วยสึนามิหรือระเบิดปรมาณู ยังมีผู้มีชีวิตหลงเหลือและดำเนินชีวิตอยู่ พวกเขายังพยายามต่อสู้เพื่อรอดชีวิต พวกเขายังไม่ตายในเมืองที่ลมหายใจแผ่วเบา การกระจายภาพจำดีทรอยต์ว่าเหลือแค่ซากอาจยิ่งทำร้ายคนที่ยังอยู่และพยายามเอาตัวรอด

ในกรุงเทพมหานครเองก็มีตึกร้างอย่าง ‘สาทร ยูนิค ทาวเวอร์’ ซึ่งดึงดูดนักผจญภัยผู้แสวงหาความตื่นเต้น พานักท่องเที่ยวให้ขึ้นไป ตามมาซึ่งการเกิดแรงบันดาลใจ สู่เรื่องเล่า ตำนาน จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์สยองขวัญอย่าง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย

 

ซากปรักหักพังเตือนให้เรารู้ซึ้งถึงความไม่จีรังของชีวิต

Ruin Porn ไม่ได้เพิ่งเกิดจากความสนใจในการล่มสลายของดีทรอยต์ ความหลงใหลในซากปรักหักพังมีมานานแล้วในประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในยุคเรอเนซองซ์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ศิลปินชาวอิตาเลียนหวนกลับไปหลงใหลในซากอารยธรรมกรีกและโรมัน พยายามรื้อฟื้น และระลึกถึงความสวยงามรุ่งเรืองในอดีตที่จบลงไปแล้ว พร้อมกับหยิบจับส่วนประกอบต่างๆ มาสร้างงานศิลปะ

ในปี 2014 Tate Gallery ที่ลอนดอน ก็มีนิทรรศการ ‘Ruin Lust’ ที่สรรเสริญซากและการทำลาย ซึ่งรวมงานศิลปะที่แสดงภาพซาก สงคราม และการสิ้นโลก จากศตวรรษที่ 17 จนถึงปัจจุบัน

ในแง่การท่องเที่ยว หากเป็นซากอารยธรรมโบราณ นักท่องเที่ยวไม่น้อยที่หลงใหลในการท่องเที่ยวดูซากอารยธรรมโบราณ พิจารณาความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นและดับลง เตือนใจให้ระลึกถึงสถานที่และผู้คนที่เคยมีชีวิตมาก่อนหน้า เช่น ซากภูเขาไฟแห่งเมืองปอมเปอี ณ อิตาลี ที่กิจกรรมและชีวิตถูกแช่แข็งจากภูเขาไฟวิซุเวียสระเบิด ชวนชมวิถีชีวิตและลมหายใจของอดีตที่ถูกแช่แข็ง สิ่งของ ร่างกาย ไปจนถึงหลักฐานการมีอยู่ของชีวิตอันถูกรักษาไว้ด้วยลาวาภูเขาไฟ

ภาพแสดงหายนะจากภูเขาไฟวิซุเวียสแห่งปอมเปอีในผลงานศิลปิน  The Destruction of Pompeii and Herculaneum: John Martin 1789–1854

กิจกรรมของผู้ชื่นชมซากปรักหักพัง การทำลายล้าง ความฉิบหาย นำมาซึ่งคำถามเชิงจริยธรรมในการท่องเที่ยว การส่องดูซากศพเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย รวมถึงความผุพังของโบราณสถานจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทวีความทรุดโทรมเร็วขึ้น ทำให้เมืองที่ตายไปแล้วต้องตายอีกครั้งจากการบุกรุกของคนนอกที่ไม่ระมัดระวัง

 

ซากปรักหักพังเตือนให้เรารู้ซึ้งถึงผีร้ายแห่งความไม่เท่าเทียมในโลก

หากเป็นซากความพังทางเศรษฐกิจและการเมือง นักท่องเที่ยวบางคนมาจากชีวิตที่มีระบบและสาธารณูปโภคที่ปลอดภัย มาจากบ้านที่สบาย มาจากสถานที่ที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี อาชญากรรมเกิดขึ้นตํ่า พวกเขาแสวงหาสถานที่อื่นๆ ในโลกที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็อันตรายกับการที่เราจะโรแมนติไซส์ความพัง ความเสี่ยง ความอันตราย อดีตอันโหดร้าย และความตายของคนจำนวนมาก นั่นทำให้เราตระหนักว่าเราต่างหนีไปจากบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไม่พ้น

จึงน่าตั้งคำถามต่อความกระหายที่พานักท่องเที่ยวจากโลกที่หนึ่งไปสู่เมืองโลกที่สามดิบๆ พังๆ เพื่อสำรวจซากบ้านเมืองต่างถิ่น และมองดูผู้คนที่โชคร้ายในการเมืองและเศรษฐกิจในฐานะความสุนทรี กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Poverty Porn’  คือการมองดูความโชคร้ายของเพื่อนร่วมโลกเพื่อเกิดประสบการณ์ชีวิต

 

Morbid Curiosity ความใคร่สงสัยใน ‘ความตาย’ ของสถานที่

ทำไมเราถึงสนใจภาพเมืองที่กร่อนสลาย คราบฝุ่นสกปรกจากการถูกทอดทิ้ง และเศษซากจากการถูกทำลาย กระจกแตก สนิม สิ่งของที่กำลังเน่าสลาย ภาพที่แสนเศร้าและสกปรกเหล่านี้แสดงถึงเวลา ธรรมชาติ ความตาย และความเป็นไปของโลกที่มีเกิดมีดับ

เรารู้สึกตื่นเต้นสงสัยในความตายของคนและความตายของสถานที่ มนุษย์มีความรู้สึกนี้ที่เรียกว่า ‘Morbid Curiosity’ หรือความกระหายใคร่สงสัยในสิ่งที่ทำให้เราระลึกถึงการมีอยู่ของความตาย ข่าวร้าย และหายนะ ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกสนใจในความเป็นมนุษย์ ประสบการณ์แห่งการผจญภัยในความไม่รู้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดู อยากสัมผัสซากอดีตที่เคยรุ่งเรือง หรือเสี้ยวซากชีวิตของผู้สูญสลายจากหายไปก่อนหน้าเรา  

ซากปรักหักพังอันเกิดจากตำนานเรื่องเล่าในอดีตชวนให้เราสงสัยว่าอะไรที่ทำให้สถานที่ ‘ตาย’ ลง เกิดอะไรขึ้น พวกเขาในตอนนี้เป็นอย่างไร

แต่สถานที่ ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เน่าสลายในเวลาอันรวดเร็ว จึงใช้เวลานานกว่าจะผุกร่อนและถูกธรรมชาติค่อยๆ แทรกซึมและเอาคืน ในความตายของเมือง อีกมุมหนึ่งธรรมชาติได้ฟื้นคืนกลับมา

เมืองเชอร์โนบิลหรือฟูกูชิมะ ซึ่งกลายเป็น no-entry zone จากหายนะจากของปรมาณูรั่วไหล ทั้งพื้นที่ถูกปกคลุมและอยู่ไม่ได้ด้วยค่ากัมมันตภาพรังสีสูงเกินกว่าการดำรงชีวิต เมืองเหล่านี้จึงถูกทิ้งให้รกร้างเงียบงัน กิจกรรมทุกชนิดหยุดลง ผู้คนต้องสละบ้านเรือนและหนีไป และบางคนก็ทิ้งชีวิตบางส่วนไว้ที่นี่

เวลาผ่านไปเมื่อไร้มนุษย์ ผืนป่าและสัตว์ป่าได้ขยายอาณาเขตอีกครั้งจนเกิดสัญญาณชีวิตใหม่ และนำมาสู่การท่องเที่ยว เชื้อเชิญคนที่สงสัยและกล้าเสี่ยงมาส่องดูซากเพื่อเตือนใจให้เห็นผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมนุษย์ในมุม worst case scenario

ซากปรักหักพังของสถานที่เตือนเราถึงการมีอยู่ของความตาย ที่มนุษย์ใคร่ครวญสงสัย ถวิลหา และหยุดจ้องมองดูไม่ได้ ซากปรักหักพังชวนให้ระลึกถึงสิ่งที่เคยมีและดับไป

การมองดูซากปรักพังคอยเตือนเราว่าตัวเราและสถานที่ที่เราอยู่ วันหนึ่งก็คงถึงคราวอวสาน ล่มสลายดับไปให้คนรุ่นต่อไปได้สงสัยและมองกลับมาดู

 

อ้างอิง

30 Years After Chernobyl, Nature Is Thriving | National Geographic

Andrew Moore: Detroit Disassembled

Ruin Lust

The Destruction of Pompei and Herculaneum:  John Martin 1789–1854

The Psychology of Ruin Porn

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ