The Unspoken Word นิทรรศการแห่งความเสียดายที่อาจทำให้คุณเสียน้ำตา

Highlights

  • The Unspoken Word คือนิทรรศการว่าด้วยความเสียดายของผู้คน 16 ชีวิต โดย ตาล–อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ศิลปินเจ้าของงานนำเรื่องราวของพวกเขามาพิมพ์ลงในสมุดกระดาษเหลืองและจัดวางพร้อมภาพถ่ายสิ่งของที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของแต่ละคน
  • กว่าจะมาเป็นนิทรรศการนี้ ตาลให้ผู้คนตอบคำถามเรื่องความเสียดาย ก่อนสรุปได้ว่าคนส่วนมากมักเสียดายกับสิ่งที่ 'ไม่ได้ทำ' มากกว่าสิ่งที่ 'ทำผิดพลาด' และเรื่องที่คนทุกเพศทุกวัยเสียดายมากที่สุดคือ เรื่องความรักและความสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว
  • นอกจากนิทรรศการ ตาลยังจัดกิจกรรม '10 Years Time Capsule Project' ที่ชวนทุกคนมาเขียนจดหมายถึงตัวเองใน 10 ปีข้างหน้า และปิดผนึกไว้ในแคปซูลจนกว่าจะถึงเวลาเปิด และยังมีแผนสร้างคลังออนไลน์เพื่อเก็บความเสียดายของผู้คนด้วย

‘คุณมีเรื่องที่รู้สึกเสียดายไหม?’

คือคำถามที่ถูกแปะอยู่ด้านหน้านิทรรศการ The Unspoken Word ของ ตาล–อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ศิลปินและภัณฑารักษ์แห่ง Kinjai Contemporary คำถามที่ว่าจุดชนวนให้เกิดนิทรรศการศิลปะว่าด้วย ‘ความเสียดาย’ อย่างสุดซึ้งในชีวิตของคน 16 คน

ตาลนำเรื่องราวความเสียดายมาเล่าใหม่ผ่านรูปภาพสิ่งของที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวแสนเศร้า เพื่อหวังจะสะกิดให้ใครบางคนตั้งคำถามกับชีวิตตัวเอง หรือหากแรงกระเพื่อมมากพอมันอาจเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งไปเลยก็ได้

The Unspoken Word

ความมืดและแสงสลัวในห้องจัดแสดงทำให้เราก้าวเท้าอย่างระแวงระวังกว่าที่เคย เสียงเข็มนาฬิกาเดินเป็นจังหวะดังก้องทั่วห้องทำเอาอึดอัด ความรู้สึกกระอักกระอ่วนมวนท้องอย่างบอกไม่ถูกค่อยๆ ก่อตัว เราค่อยๆ ไล่สายตาอ่านเรื่องเล่าความเสียดายของแต่ละคนผ่านสมุดโน้ตที่กางอยู่ บางเรื่องราวเป็นเรื่องรัก ครอบครัว การงาน บ้างเสียดายความสัมพันธ์ที่บิ่นร้าว ฯลฯ แต่สิ่งที่ยึดโยงเรื่องราวทั้งหมดไว้คือเวลาที่หวนกลับมาไม่ได้อีกแล้ว

เราอดรู้สึกไม่ได้ว่ากำลังแอบอ่านไดอารีของคนแปลกหน้า ขณะเดียวกันก็คล้ายกำลังอ่านเรื่องสั้นที่เจ้าของเรื่องไม่ยินดีให้ตีพิมพ์และตั้งใจเก็บใส่ลิ้นชักปิดตาย

ศิลปินสาวเจ้าของงานเข้ามาพอดีพร้อมทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มขัดกับคอนเซปต์หนักอึ้ง ก่อนจะเริ่มต้นพาทัวร์นิทรรศการแห่งความเสียดาย

ขอเตือนว่านิทรรศการนี้อาจทิ้งคำถามหนักอึ้งและแถมน้ำตากลับบ้านไป

แด่จุดเริ่มต้นและกาลอวสาน

ก่อนจะมาเป็นนิทรรศการ The Unspoken Word ตาลเล่าย้อนกลับไปถึงนิทรรศการชื่อ ‘For the Last and First Time’ ของศิลปินชาวฝรั่งเศส Sophie Calle ที่เป็นเหมือนหัวเชื้อตั้งต้นให้แรงบันดาลใจและเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เธออยากลงมือทำนิทรรศการของตัวเอง

“ก่อนจะมาเป็นนิทรรศการนั้น ศิลปินเขาสัมภาษณ์คนตาบอดเป็นร้อยๆ คนว่า ‘ความงามคืออะไร’ และนำภาพพอร์เทรตของคนตาบอดและภาพของที่เขาบอกว่าสวยมาจัดแสดง เช่น หญิงตาบอดคนหนึ่งตอบว่าความงามคือเรือนร่างและลูกกระเดือกของผู้ชาย เด็กตาบอดตอบว่าความงามคืออาหาร เพราะสามารถลิ้มรสชาติได้ หรือชายตาบอดตอบว่าความงามไม่มีความหมายอะไร เพราะเขาเสพความงามไม่ได้

“ก่อนจบนิทรรศการ ศิลปินฉายวิดีโออาร์ตที่บันทึกภาพคุณตาคุณยายแก่ๆ ที่ไปทะเลครั้งแรกในชีวิต ได้สัมผัสไอเค็มความเหนียวเหนอะ เราเห็นคนตาบอดร้องไห้แล้วเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง พอเดินออกมาจากนิทรรศการ เรารู้เลยว่าเราอยากจะทำงานที่คนมาดูแล้วรู้สึกอย่างรุนแรงและได้ความรู้สึกกลับไปเหมือนงานที่เราไปดูในวันนั้น”

จากงานนั้น บัณฑิตจิตรกรรมฯ รั้วศิลปากรตัดสินใจไปเรียนด้านภัณฑารักษ์ร่วมสมัย (Contemporary Curating) ถึงมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และหิ้วโจทย์ที่ติดอยู่ในใจไปด้วย นั่นคืองานศิลปะเชิงมนุษยศาสตร์ที่ใช้การสัมภาษณ์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน

เมื่อใกล้เรียนจบ ตาลเลือกทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่อง ‘ความเสียดาย’ ในชีวิตคน หัวข้อที่แตะหัวใจอันเปราะบางของมนุษย์และทำให้ผู้คนต้องรื้อฟื้นความทรงจำที่ปรารถนาจะทิ้งร้างไว้เบื้องหลัง

“สำหรับเรา เรื่องที่เสียดายเรื่องแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาคือเรื่องของคุณตา คุณตาเป็นทหารผ่านศึกหน่วยเสนารักษ์ช่วงสงครามเกาหลี ตอนเรายังเด็ก คุณตาจะเล่าให้ฟังว่าเขาต้องแบกศพเพื่อนทหารข้ามภูเขา หรือเล่าเรื่องที่คนนึกว่าคุณตาตายไปแล้ว เราจำได้ว่าแต่ละเรื่องสนุกมาก แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้คุยกันเหมือนแต่ก่อน”

ตาลสูดหายใจเข้าลึกๆ ก่อนค่อยๆ เล่าถึงคุณตาผู้เป็นที่รักต่อ

“พอเริ่มทำวิทยานิพนธ์ เราต้องรีเสิร์ชเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ทหารและเริ่มอินเรื่องสงคราม เราก็ยิ่งเสียดายที่ไม่ค่อยได้คุยกับคุณตา ตอนคุณตาเสียก็ไม่ได้กลับไปดูใจท่านเพราะเราไปเที่ยวกับเพื่อน เรารู้สึกเหมือนปล่อยให้คนที่เรารักตายอย่างโดดเดี่ยว ทั้งเสียดายและเสียใจว่าเราดูแลเขาได้ดีกว่านี้แต่ก็ไม่ได้ทำ เราฝันเห็นคุณตาบ่อยมาก มันเหมือนเรื่องนี้ยังติดอยู่ในใจเสมอ”

จากวิทยานิพนธ์ของตัวเองสู่งานศิลปะเพื่อทุกคน

ตอนทำวิทยานิพนธ์ ตาลใช้วิธีส่งแบบฟอร์มออนไลน์ให้คนเขียนเล่าเรื่องความเสียดายที่สุดในชีวิตหนึ่งเรื่อง พร้อมให้ส่งภาพถ่ายสิ่งของที่สื่อถึงเหตุการณ์นั้นได้ดีที่สุดมาด้วย 1 รูป

“ตอนแรกเราตั้งใจจะไปสัมภาษณ์คน แต่อาจารย์บอกว่าไม่ควร เพราะความเสียดายในชีวิตคนเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ไม่มีใครกล้าเล่าให้คนที่ไม่สนิทฟัง และไม่ค่อยมีคนกล้าถามกันหรอก เราเลยใช้วิธีส่งแบบสอบถามให้กรอกออนไลน์แทน

“ปรากฏว่าแบบสอบถามของเราไปไกลกว่าที่คิด มีคนส่งเรื่องราวมาเป็นร้อย หลากอายุ หลายอาชีพ เช่น วิศวกร ทหารเรือ ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักศึกษา ข้าราชการเกษียณ ภัณฑารักษ์ ครู นักเขียน แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ มีทั้งคนไทยและต่างชาติ เราเลยแปลเรื่องที่เขาส่งเข้ามาเป็น 2 ภาษาคือไทยและอังกฤษ”

เมื่อคิดต่อยอดวิทยานิพนธ์เป็นนิทรรศการ ‘The Unspoken Word’ ด้วยพื้นที่แกลเลอรีที่จำกัด ตาลจึงคัดสรรเรื่องราวนับร้อยที่คนส่งเข้ามาให้เหลือเพียง 16 เรื่องที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัยและน่าจะเชื่อมโยงกับคนได้ดีที่สุด เธอตีพิมพ์เรื่องราวของทุกคนในสมุดกระดาษเหลืองกรอบ ท้ายเรื่องระบุไว้แค่ชื่อย่อ อายุ และอาชีพ จัดแสดงพร้อมภาพสิ่งของที่เกี่ยวพันกับความเสียดายของคนคนนั้น

The Unspoken Word

“เราเลือกใช้ฟอนต์พิมพ์ดีดเพราะต้องการเลียนแบบการพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดจริงๆ ที่พอตัวเหล็กประทับลงไปบนหน้ากระดาษแล้วมันแก้ได้ยาก เราเปรียบสมุดเป็นเหมือนชีวิตคนและเป็นหน้าตรงกลาง เพราะเรื่องราวนี้เป็นแค่จุดหนึ่งของชีวิตเขาเท่านั้น ยังไม่สิ้นสุด” ตาลพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เมื่อเดินมาเรื่อยๆ ภาพกล้องดูดาวก็ปรากฏตรงหน้าเรา

ภาพธรรมดาๆ นี้บรรจุเรื่องราวของเจ้าหน้าที่รัฐผู้แอบรักข้างเดียวมาตลอดชีวิต สิ่งของที่สะกิดให้เขานึกถึงเธอคือกล้องดูดาว เรื่องราวนี้ประทับใจตาลมากที่สุดถึงขั้นที่สะกิดให้เธอน้ำตาซึมตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน

 

ไม่มีโอกาสบอกรักผู้หญิงที่แอบรักมาตลอดชีวิต
อายทุกครั้ง ไม่กล้าจริงๆ
ปีที่แล้วทราบเรื่องมาว่าเขาตายในอุบัติเหตุรถชน
เกลียดตัวเองมากที่ไม่ได้รวบรวมความกล้าไปบอกเขาตอนที่ยังมีโอกาส
ชอบดูดาวมาก
ทุกครั้งที่ดูจะปล่อยใจให้จินตนาการคิดถึงผู้หญิงคนนี้

–ส. ร, 52, เจ้าหน้าที่รัฐ

 

ความเสียดายสามัญประจำบ้าน

หลังจากผ่านเรื่องราวความเสียดายตลอดจนความเสียใจของผู้คนนับร้อย ตาลสรุปให้เราเห็นภาพคร่าวๆ ว่า ความเสียดายในชีวิตจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัยและประสบการณ์

“เท่าที่ได้อ่าน คนช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไปทุกคนเสียดายในสิ่งที่ ‘ไม่ได้ทำ’ มากกว่า ‘สิ่งที่ทำไปแล้ว’ มันค่อยๆ กัดกินพวกเขาทีละน้อย แต่ยาวนานและตราตรึงกว่าสิ่งที่เคยทำผิดพลาด เพราะเราไม่มีทางรู้ผลของการกระทำนั้นได้เลย”

ส่วนหัวข้อยอดนิยมที่ย้อนกลับไปแตะทีไรก็นึกเสียดายอยู่ร่ำไปหนีไม่พ้นเรื่องความรัก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น เรื่องราวของนักเขียนที่เลือกรูปรอยสักบนหน้าอกข้างซ้ายแทนความเสียดายที่แน่นอยู่เต็มหัวใ

The Unspoken Word

 

ไม่ได้บอกรักแม่ในตอนสุดท้ายของชีวิต
เรามีรอยสักชื่อของแม่ที่กลางหน้าอกข้างซ้าย
ที่เราตัดสินใจไปสักมาเพื่อย้ำเตือนว่าแม่จะอยู่กับเราไปตลอดจนเราตายจากโลกใบนี้
มีทั้งความเศร้า ความคิดถึงความห่วงหาอาทร และความสุขไปพร้อมๆ กัน
เพราะเราโศกเศร้ากับความสูญเสีย
แต่มีความสุขที่แม่ไม่ต้องทนทรมานอีกนานๆ

–ส. พ, นักเขียนคอนเทนต์ทางอินเทอร์เน็ต

 

The Unspoken Word

หรือเรื่องราวของทหารเรือนายหนึ่งที่มีเพียงสามบรรทัด แต่สัมผัสได้ว่าคนเล่าแบกความรู้สึกผิดไว้ในใจมากมายเหลือเกิน

 

เคยทะเลาะกับพี่ชายครั้งหนึ่ง
ทะเลาะกันรุนแรงมาก
รู้สึกเสียใจจริงๆ เพราะพี่ชายสติไม่สมประกอบ

–บ. ท, 49, ทหารเรือ

 

“เราเสียดายที่ไม่สามารถแสดงได้ครบร้อยเรื่องในที่เดียว เพราะเรื่องของทุกคนมีความหมายและเสน่ห์เฉพาะตัว” ตาลเล่าให้ฟังขณะที่เดินดูนิทรรศการและยกตัวอย่างเรื่องที่ไม่ได้เอามาจัดแสดงของสาวคนหนึ่งที่เกือบจะมีโอกาสได้ทำงานในวงการบันเทิงที่น่าจะช่วยให้เธอมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้

 

มีโอกาสที่จะได้รับงานในวงการบันเทิงตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่มั่นใจ กลัว
ไม่ภูมิใจในตัวเองมากพอที่จะกล้าตัดสินใจรับงานและเผชิญหน้ากับคนใหม่ๆ ได้
จึงเป็นการตัดโอกาสไปตลอดและไม่มีโอกาสเท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว
หากว่าได้รับโอกาสนั้นจริงๆ ก็อาจจะทำให้ครอบครัวไม่ลำบากเท่ากับที่เป็นอยู่
มีโช้กเกอร์ เป็นชิ้นเครื่องประดับที่เรากล้าๆ กลัวๆ ที่จะใส่
แม้ว่าจะชอบมันมากๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ใส่มัน
แต่ก็มีเก็บไว้ต่างหน้า รู้สึกขาดความมั่นใจ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าเวลาที่นึกถึงเรื่องนี้

–อ. ร, 22, นักศึกษา

 

The Unspoken Word

ออกแบบความบีบคั้นให้บรรยากาศ

นอกจากเรื่องราวความเสียดายที่ชวนให้เราครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิตตัวเองแล้ว ในฐานะศิลปินและภัณฑารักษ์ สิ่งที่ตาลต้องจัดการมากไปกว่าการคัดเลือกเรื่องมาเล่าคือ การออกแบบสเปซและออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ชม

ตั้งแต่ทางเข้านิทรรศการ ตาลนำนาฬิกาไปวางไว้ตามทางเดิน ขั้นบันได และตามซอกมุมต่างๆ จนเสียงเข็มนาฬิกาดังก้อง สิ่งนี้ ศิลปินสาวบอกว่ามาจากการตีความ ‘เวลา’ ร่วมกับ ‘ความเสียดาย’

“ความเสียดายมีเวลาของมัน ทุกอย่างถูกผูกไว้กับเวลา ชีวิตคนมีคุณค่าก็เพราะมีเวลาจำกัด เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เชื่อมโยงทุกคนไว้คือเวลา นาฬิกาที่เห็นและเสียงที่ดำเนินไปไม่สิ้นสุดจึงเป็นสิ่งแทนคำถามของตาลว่า คุณใช้เวลาที่มีอยู่ตอนนี้คุ้มค่าหรือยัง ถ้ายัง คุณจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

“แสงในนิทรรศการก็สำคัญ กับงานนี้เราดีไซน์ให้มีทั้งส่วนที่มืดและสว่าง เพราะเราอยากทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจะระแวดระวังมากขึ้น และค่อยๆ เดิน ค่อยๆ หยุดดู ส่วนที่เป็นแสงไฟสว่างจะทำให้คนโฟกัสมากขึ้น ถ้าลองอ่านแต่ละเรื่องจะรู้สึกเหมือนได้เจอเขาอยู่ตรงหน้าเลย เรารู้จักอีกด้านที่สำคัญในชีวิตเขา พอมีทั้งความมืดและความสว่าง เราจึงเหมือนโดนเรียกสติกลับมา”

เมื่อเดินดูจนใกล้จบนิทรรศการ ตาลหันมาบอกเราว่านี่ไม่ใช่ตอนจบที่แท้จริง เพราะในอนาคตเธอยังมีแผนจะทำคลังเก็บเรื่องราวความเสียดายในรูปแบบออนไลน์เพิ่มด้วย

“นิทรรศการนี้เป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตของเรา เราถือว่าทำสำเร็จแล้วที่วิทยานิพนธ์ในวันนั้นกลายมาเป็นนิทรรศการศิลปะในวันนี้ ถึงอย่างนั้นพอเริ่มทำจริงๆ เรามองเห็นสิ่งที่อยากทำอีกหลายอย่าง มันตอกย้ำว่าเราอยากทำสิ่งนี้ไปตลอดชีวิตจริงๆ และถ้าไม่ได้ทำงานนี้ เราคงเสียใจและเสียดายไปตลอดชีวิตแน่ๆ”


ใครอยากระบายความเสียใจและความเสียดายที่อัดอั้นมานาน เราขอชวนไปชมนิทรรศการ ‘The Unspoken Word’ วันที่ 15 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2562 ที่ Kinjai Contemporary เปิดวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 10:30-19:00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09:30-19:00 น. (ปิดวันจันทร์)

ระหว่างช่วงที่จัดนิทรรศการ The Unspoken Word ตาลยังมีโปรเจกต์ ’10 Years Time Capsule Project’ ที่ชวนผู้คนมาร่วมบันทึกเรื่องราว ส่งต่อบทเรียนถึงตัวเองหรือคนรักในอนาคต หรือบันทึกความเป็นไปในสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ เรื่องราวเหล่านี้จะถูกปิดผนึกไว้เป็นเวลา 10 ปี ก่อนจะนัดเปิดอ่านพร้อมอีกครั้งไม่ว่าแต่ละคนจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้

กิจกรรม 10 Years Time Capsule Project จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2562 (มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม 300 บาท)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย