มีคนบอกว่า ความรักก็เหมือน ‘กุหลาบ’ แม้จะงดงามและหอมหวาน แต่ก็มีหนามแหลมที่ต้องระวัง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ความใคร่อยู่เหนือความรัก ศีลธรรมที่เคยยึดถืออาจกลายเป็นฝุ่นผงที่ปลิวหายไปในทันควัน
วาเลนไทน์ปีนี้ เราอยากพาชาวคลั่งรักไปสัมผัสอีกหนึ่งรสชาติของความรักที่ไม่ได้อ่อนหวานเหมือนช็อกโกแลตที่คุ้นเคย แต่กลับจัดจ้าน เผ็ดนัว ผ่านงานศิลปะที่ได้ฉายาว่า ‘ภาพโป๊แห่งยุคโรโคโค’ อย่าง ‘The Swing’ (1767) จาก ฌ็อง-ออนอเร ฟราโกนาร์ (Jean-Honoré Fragonard) ที่รับประกันความติดเรตไม่แพ้ภาพเปลือยไหนๆ
เพราะภายใต้สีพาสเทลชวนฝัน และแปรงพู่กันที่นิ่มนวลอ่อนช้อย ได้ซ่อนนัยทางกามอารมณ์ไว้ทุกส่วนของภาพ ชนิดที่ว่าถ้าได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังแล้ว ภาพธรรมชาติในสวน จะกลายเป็นห้องนอนที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนในทันที แถมนอกจากความโป๊เปลือยแบบมีกิมมิกแล้ว ภาพนี้ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงเรื่องราว Gossip ของแวดวงชนชั้นสูงในสมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกด้วย
ชวนทุกคนแหวกม่านละคร (ไม่) คุณธรรมนี้ไปพร้อมๆ กัน

เหตุเกิดจากความรักลับๆ ที่ขอรู้กัน 2 คน
วลี ‘จิตรกรไส้แห้ง’ ดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้กับศิลปินในยุคโรโคโค (Rococo) เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งความฟูฟ่าอลังการของศิลปะโดยเฉพาะในรั้วราชวังแวร์ซายส์ ที่เหล่าขุนนางชั้นสูงมักจะอุปถัมป์ศิลปิน เพื่อซื้อตัวมาวาดภาพชีวิตประจำวันที่แสนจะอภิรมย์ของตัวเอง

หนึ่งในศิลปินที่ตกถังข้าวสาร ได้เข้ามาทำงานในราชสำนักฝรั่งเศสคือ ‘ฌ็อง-ออนอเร ฟราโกนาร์’ อดีตชาวปารีสชนชั้นกลางที่รักในการวาดภาพ จนมีโอกาสได้ไปศึกษาศิลปะที่อิตาลี และรับเอาอิทธิพลของผลงานยุคบาโรกกลับมาปรับใช้กับชิ้นงานตัวเอง
ภาพทิวทัศน์ที่อ่อนช้อยสวยงาม คือจุดแข็งที่ทำให้ผลงานของเขาไปเตะตาเหล่าชนชั้งสูงและได้รับการอุปถัมป์มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีชื่อเสียงในแวดวงมาอยู่แล้ว แต่ภาพวาดที่ทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตก ขึ้นแท่นศิลปินตัวท็อปแห่งยุค คือ The Swing ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเคยเกือบเป็นภาพของศิลปินคนอื่นมาก่อน
จุดเริ่มต้นของภาพสุดวาบหวามนี้ มาจาก ‘มองซิเออร์ เดอ แซง-ฌูเลีย’ ขุนนางฝรั่งเศสท่านหนึ่ง ที่อยากจ้างศิลปินให้วาดภาพเหมือนของอนุภรรยา กำลังไกวชิงช้า โดยที่มีตนเองนั่งแอบมองใต้กระโปรงอยู่ เรียกว่าเป็นบรีฟที่มาน้อยแต่ต่อยหนัก แถมยังผิดต่อศีลธรรมแบบสุดๆ จึงไม่แปลกที่ Gabriel François Doyen ศิลปินคนแรกที่ถูกว่าจ้างจะปฏิเสธงานคอมมิชชันนี้ในทันที
โชคจึงไปตกอยู่กับฟราโกนาร์ จิตรกรชาวปารีส ที่ขอท้าทายตัวเองโดยการรับโจทย์สุดหิน และเปลี่ยนบรีฟที่หลุดโลก ให้ดูโรแมนติกขึ้น ด้วยองค์ประกอบที่งดงามอ่อนช้อย และซ่อนสัญญะ 18+ ไว้ตามพุ่มของต้นไม้ แทนที่จะตะโกนออกมาแบบโต้งๆ ตามที่ขุนนางคนนั้นต้องการ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของภาพ ‘Les hasards heureux de l’escarpolette’ หรือ ‘The Happy Accidents of the Swing’ ที่แปลไทยได้สวยๆ ว่า ‘ความบังเอิญอันน่าอภิรมย์แห่งชิงช้า’
สัญญะเครื่องเพศที่ซ่อนในภาพ
The Swing (1767) ภาพของหญิงสาวชนชั้นสูงที่กำลังแกว่งไกวชิงช้าอยู่ในสวนหลังพระราชวังที่ร่มรื่น พร้อมด้วยชายสูงศักดิ์ที่คอยมองเธออยู่ด้านล่าง และรูปปั้นของกามเทพที่เป็นพยานรักองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยธรรมชาติแบบนี้ ดูยังไงก็ไม่น่าจะไปตีความเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากความสงบสุขและร่มเย็น แต่ฟราโกนาร์ทำได้ เขาเปลี่ยนสวนหลังพระราชวังให้กลายเป็นห้องเชือดสีแดงฉานแบบ Fifty Shades of Grey
ถ้าสังเกตดูดีๆ เราจะเห็นความผิดปกติหลายอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลในภาพ เริ่มตั้งแต่ตัวเอกอย่างหญิงสาวบนชิงช้า ที่สวมชุดสีชมพูหวานมีริ้วระบายกรุยกราย มองรอบแรกอาจคิดว่าเป็นแฟชั่นธรรมดาของยุคนั้น แต่แท้จริงแล้วเป็นความตั้งใจของศิลปินที่อยากใช้ชุดฟูฟ่องนั้นแทน ‘เครื่องเพศ’ ของผู้หญิง ที่มีลักษณะเป็นกลีบและมีสีชมพูอ่อนที่ใกล้เคียง

ยังไม่รวมถึงท่าทางของเธอขณะไกวชิงช้า ที่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ สนุกสนาน และไม่ได้สนใจจะจับกระโปรงที่บานออกแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าเธอเต็มใจที่จะให้ผู้ชายด้านล่างได้มองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้นั้นอย่างชัดเจน ในส่วนของตัวหลักอีกคนอย่างชายสูงศักดิ์ แทนที่จะยืนข้างๆ หรือนั่งบนม้านั่งดีๆ เขากลับนอนมองเธอไกวชิงช้า ซึ่งตำแหน่งสายตาล่อแหลมตรงกับใต้กระโปรงพอดิบพอดี
แม้ The Swing จะไม่ได้มีการเปลือยกายเหมือนภาพนู้ดทั่วๆ ไป แต่กลับมีส่วนที่เปลือยอย่างตั้งใจ ก็คือเท้าของผู้หญิง และศีรษะของผู้ชายนั่นเอง ซึ่งบริบทสังคมในยุคนั้น การเปิดเปลือยอวัยวะ 2 อย่างนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและผิดกาลเทศะ นอกจากนั้นรองเท้าที่หลุดออกมายังเป็นตัวแทนของ ‘อวัยวะเพศหญิง’ และหมวกที่ถูกยื่นก็เป็นสัญญะของ ‘อวัยวะเพศชาย’ อีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ กิจกรรมหลักอย่างการไกวชิงช้า ยังแทนการเข้าจังหวะระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งบนอกของผู้หญิงยังมีเข็มกลัดสีฟ้าของผู้ชาย ในขณะที่อกของผู้ชายก็มีเข็มกลัดสีชมพูหวานติดอยู่เช่นเดียวกัน นี่คือการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว
แถมเจ้ารูปปั้นกามเทพยังทำท่าจุ๊ปาก บอกให้เงียบเสียงลง แทนความรักแบบลับๆ ที่ต้องการปกปิดอีกด้วย
แต่การไกวชิงช้านี้ไม่ได้มีผู้ร่วมเหตุการณ์แค่ 2 คน เพราะยังมีชายสูงวัยที่โล้ชิงช้าอยู่ด้านหลัง ซึ่งมีข่าวลือมาว่า อาจเป็นสามีหรือชู้อีกคนของอนุภรรยาท่านขุนนางก็เป็นได้ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญะของการร่วมเพศหมู่ หรือ Swinging ที่ดันคล้ายกับชื่อผลงานก็เป็นได้
ความฟุ้งเฟ้อที่ไม่รู้จบของชาวฝรั่งเศส
แม้ The Swing จะมีจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้าง ‘แตกต่าง’ จากผลงานระดับโลกชิ้นอื่นๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพโป๊ที่ไม่เปลือยนี้ ได้สะท้อนบริบทสังคมของราชวงศ์ฝรั่งเศสในรั้วพระราชวังแวร์ซายส์ได้อย่างถึงพริกถึงขิง ชนิดที่ต่อให้ไม่ได้เกิดในยุคนั้น ก็รับรู้ได้ถึงความแซ่บผ่านรูปได้เลย
ต้องเท้าความก่อนว่าผลงานชิ้นนี้ถูกจัดอยู่ในยุคศิลปะโรโคโค (Rococo) ที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 (ราวปี ค.ศ. 1700 – 1780) นี่คือยุคแห่งความหรูหราฟู่ฟ่า มีพระราชวังแวร์ซายส์เป็นศูนย์กลางของความรื่นรมย์ เหล่าคนชนชั้นสูงต่างใช้ชีวิตโดยยึดหลัก ‘ความสุข’ (Joie de vivre) เป็นที่ตั้ง และเสพความสุนทรีย์ผ่านดนตรี งานเลี้ยง และศิลปะเป็นงานอดิเรก

ด้วยบริบทที่เต็มด้วยสิ่งยั่วยวนใจ ทำให้งานศิลปะในยุคนั้น สะท้อนภาพความบันเทิงตามไปด้วย ผลงานส่วนใหญ่มักถ่ายทอดไลฟ์สไตล์สุดเก๋ไก๋ของคนในรั้วราชวัง ไปจนถึงการวาดภาพรักๆ ใคร่ๆ ของเหล่าขุนนาง โดยมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของภาพวาด ซึ่ง The Swing ก็เป็นหนึ่งในศิลปะที่ถ่ายทอดยุคโรโคโคออกมาได้อย่างไร้ที่ติ
แต่แน่นอนว่าทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ ใครจะรู้ว่าภายใต้ความหรูหราของแวร์ซายส์ หลังกำแพงวังกลับเต็มไปด้วยความแร้นแค้นอดอยากของราษฎร เมื่อถูกบีบบังคับด้วยการจ่ายภาษีที่ไม่เป็นธรรม พวกเขาจึงตัดสินใจลุกฮือ และก่อการ ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’ ขึ้น นี่ก็คือจุดสิ้นสุดของยุคศิลปะโรโคโค และศิลปินอย่างฟราโกนาร์ด้วยเช่นกัน
แม้ยุคโรโคโคจะผ่านไปหลายร้อยปีแล้ว แต่ความคลาสสิกของ The Swing ยังคงอยู่ในใจของผู้เสพงานศิลป์แทบทุกยุคทุกสมัย ภาพผู้หญิงแกว่งชิงช้า กลายเป็นไอคอนของฉากกามอารมณ์ ที่สื่ออีโรติกยกขึ้นหิ้ง รวมถึงมีอิทธิพลในวงการอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งภาพยนตร์ Frozen กับฉากเจ้าหญิงอันนาร้องเพลง For the First Time in Forever และทำท่าไกวชิงช้าเช่นเดียวกับภาพ หรือแม้กระทั่งวงการแฟชั่นอย่างแบรนด์ Christian Dior และ Alexander McQueen ที่เคยนำภาพนี้ไปออกแบบเป็นลวดลายบนเดรสและผ้าคลุม
รวมไปถึงบริบทในการรณรงค์เรื่องเฟมินิสต์ โดยถูกยกย่องให้เป็นภาพที่แสดงถึง ‘เสรีภาพทางเพศ’ ที่ผู้หญิงมีอิสระในการแสดงความรัก โดยที่ไม่จำเป็นต้องปิดบังใดๆ เหมือนเช่นผู้หญิงบนชิงช้าที่เป็นผู้คุมเกมรักอันดุเดือดในครั้งนี้
“The Swing is not just a painting;
it’s a whispered secret between lovers,
caught in the golden light of decadence.”