THE SUBTITLER

เพิ่งจบจากการประกาศผลรางวัลออสการ์ไปหมาดๆ หลังหลายคนปาดน้ำตาให้กับการรอคอยกว่า 22 ปีของพ่อหนุ่ม Leonardo DiCaprio กันเรียบร้อย (ฮา) คงได้เวลาที่จะถึงฤดูกาลของการตามล่าหนังออสการ์มาดูกันให้เต็มอิ่ม แต่นี่มันคือรางวัลระดับโลก! หนังแต่ละเรื่องก็พ่นอังกฤษกันรัวๆ ทั้งนั้น สิ่งที่เราตั้งตารอคอยก็คงหนีไม่พ้นซับไตเติลภาษาไทยที่แปลมาให้เราดูกันแบบเข้าใจเรื่องราว เต็มอิ่มเต็มอารมณ์

ดูหนังกันมาก็หลายเรื่อง เคยสงสัยกันไหมว่าการทำซับไตเติลนี่มันมีขั้นตอนยังไงบ้าง และคนทำซับไตเติลเขาทำงานกันยังไง job anatomy ตอนนี้ a day จะพาไปดูเรื่องเบื้องหลังของนักทำซับไตเติล ผู้ปิดทองหลังพระเพื่อความบันเทิงของคอหนัง จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย

1. ถึงจะเป็นงานแปล แต่การแปลหนังก็ไม่เหมือนกับการแปลแบบอื่นๆ นะ
การแปลซับไตเติลอาจดูเหมือนกับการแปลหนังสือนิยายทั่วไปที่มีบทพูดและตัวละครมาให้ แต่ศาสตร์การแปลของภาพยนตร์กับหนังสือต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะหนังสือเปิดกว้างให้ผู้แปลใช้ความสามารถด้านภาษาและคลังคำในหัว เรียบเรียงออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างอิสระ เติมแต่งให้อ่านได้ลื่นไหล ในขณะที่การแปลซับไตเติลมีทั้งภาพ เสียง คำพูดแบบเป๊ะๆ มาให้แล้ว สิ่งที่นักทำซับไตเติลต้องทำจึงเป็นการแปลเพื่อส่งสารให้คนดูเข้าใจฉากต่อฉาก ไม่เหมือนการแปลหนังสือที่เป็นการแปลงสารให้อ่านอย่างมีอินเนอร์มากกว่า

2. หนังเลือกเรา ไม่ใช่เราเลือกหนัง
นักแปลซับไตเติลบางคนอาจได้งานจากความชอบดูหนังเป็นทุนเดิม บวกกับความสามารถด้านภาษาที่เตะตาคนในวงการ สำหรับค่ายหนังบางค่าย ฝ่ายดูแลคุณภาพซับไตเติล (เรียกสั้นๆ ว่า QC) จะเป็นคนติดต่อนักแปลที่เหมาะกับหนังแนวนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเก็บเลเวลอัพอาชีพกันเหมือนในเกมออนไลน์เลย เช่น ถ้าเริ่มจากหนังตลก แปลฮาโดนใจ เรื่องหน้าก็อาจได้แปลหนังตลกอีก แต่ถ้าเรื่องต่อมาได้ลองหนังดราม่าแล้วซับไตเติลอ่านแล้วน้ำตาแตก เรื่องต่อๆ ไปก็จะได้รับการติดต่อถ้ามีหนังดราม่าเข้ามาอีก เป็นที่รู้กันว่าคนนี้แหละสายหนังดราม่า

3. ได้ดูหนังก่อนใครใช่ว่าจะมีความสุข
จะแปลซับหนังออกมาได้อรรถรส นักแปลก็ต้องดูหนังไปพร้อมๆ กัน แต่อย่าหวังจะอิจฉาว่าพวกเขาได้ดูหนังก่อนใครเพื่อน เพราะไฟล์หนังที่ค่ายส่งมาน่ะไม่ได้น่าดูสักเท่าไหร่ มีทั้งลายน้ำ แถบคาด ภาพขาวดำ มีภาพแตกให้อีก (บางทีผสมกันหมดทุกอย่างในเฟรมเดียว) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพื่อป้องกันคนแปลเอาหนังไปปล่อยก่อนจะเข้าฉาย นักแปลบางคนถึงกับบอกว่า “ดูแล้วไม่มีความสุขเลยค่ะ”

4. Dialogue List ของคู่กายสำหรับนักแปลซับฯ
อุปกรณ์ทำงานของชาวนักแปลซับฯ นอกจากดิกชันนารี ก็มีสิ่งที่เรียกว่า Dialogue List ซึ่งจะส่งมาพร้อมกับไฟล์หนังเพ่ื่อใช้แปล ในนี้จะมีทั้งบทพูดอย่างละเอียดของแต่ละเฟรม (หนังความยาวปกติจะมีประมาณ 800 – 1,200 ไลน์ที่ต้องแปล-ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 7 วัน) คำอธิบายศัพท์เฉพาะบางคำ ที่ขาดไม่ได้คือรายละเอียดของภาพในเฟรมนั้นในภาษาหนัง เช่น ภาพโคลสอัพ ฉากกลางคืน ตัวละครอยู่ที่ไหน ส่วนนี้จะช่วยให้นักแปลเริ่มทำงานได้ก่อน เพราะบางครั้งไฟล์หนังก็ยังมาไม่ถึง รายละเอียดภาพจะช่วยให้จินตนาการได้คร่าวๆ จะได้แปลไม่เพี้ยน (แต่ก็ยังต้องเอามาเช็กกับหนังจริงๆ อยู่นะ)

5. เลือกคำนั้นสำคัญไฉน
ไม่ใช่สักแต่ว่าแปลให้ตรงความหมาย เพราะซับไตเติลถูกสร้างมาเพื่อให้คนอ่านทันกับหนังที่กำลังดำเนินไป ดังนั้นคำที่ใช้เมื่อมาอยู่บนจอจะต้องแน่ใจว่าคนดูอ่านทันก่อนมันจะแวบหายไป การแปลซับฯ จึงมักมีการรวบคำให้กระชับ แม้จะไม่เป๊ะก็ต้องยอม แต่ถึงจะเปลี่ยนคำยังไงก็ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่ไปเปลี่ยนความหมายที่ตัวละครพูด เพราะนั่นคือสิ่งที่ผิดมหันต์!

6. อย่าอยู่อย่างหยาบ
หนังบางเรื่องถึงจะพ่นฟักพ่นแฟงออกมาแค่ไหน แต่นักแปลก็ต้องคอยระวังไม่ให้แปลมันจนเกินงาม (ถึงใจจริงจะอยากทำเพื่ออรรถรสของผู้ชมก็ตาม) นั่นก็เพราะซับไตเติลภาษาไทยมีผลกับการจัดเรตติ้งภาพยนตร์อย่างมาก ถึงตัวละครด่าภาษาอังกฤษกันไฟแลบ แต่ถ้าแปลออกมาไม่หยาบ เรตที่ได้ก็ไม่แรง ทำให้ได้ฐานคนดูมากขึ้น ค่ายหนังก็แฮปปี้ ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นคำหยาบในซับไตเติลกันเท่าไหร่

7. มันคงเป็นความรัก ที่กลายมาเป็นแฟนซับฯ ให้ฉันยืนอยู่ตรงนี้
นอกจากนักแปลซับฯ ที่ทำเป็นอาชีพ ยังมีกลุ่มคนที่แปลซับฯ กันแบบฟรีๆ ด้วยพลังแห่งความรัก นั่นก็คือบรรดาบ้านแฟนซับฯ ของศิลปินเกาหลี ทั้งดารานักร้อง พวกเขาล้วนมาแปลกันด้วยใจ ไม่จำกัดวัยและอาชีพ มีตั้งแต่วัยรุ่นนักเรียน ไปจนถึงครูบาอาจารย์ ยุคนี้อาจจะง่ายหน่อย เพราะไปดาวน์โหลดไฟล์รายการ ละคร เพลง ที่เรียกว่าไฟล์ RAW และดาวน์โหลดซับไตเติลภาษาอังกฤษ (จากแฟนคลับเกาหลีฝั่งตะวันตก) มาเปิดในโปรแกรมแปลก็เรียบร้อย แต่สมัยก่อนก็จะมีคนที่แปลมาจากภาษาเกาหลีกันเลย

8. งานเนี้ยบมีคุณค่ากว่าปล่อยเร็ว
ชุมชนคนทำแฟนซับฯ เกาหลียุคก่อนขึ้นชื่อเรื่องความประณีตในการแปลและการตกแต่งซับไตเติลให้ออกมาสวยงาม (ยิ่งพวกตัวอักษรที่ลอยบนจอ บางบ้านก็เปลี่ยนสีให้ตรงกันกับของจริงด้วย) เพราะไม่จำเป็นต้องแข่งกัน แต่ละบ้านจะมีการจองตอนเอาไว้ในแต่ละรายการว่าตอนนี้ใครจะเป็นคนแปล แต่ปัจจุบันนี้กลับแข่งกันที่ความไว ใครแปลเร็ว ปล่อยเร็ว ไลก์เยอะ คนนั้นชนะ คุณภาพเลยแปรผกผันกันตามไปด้วย จนตอนนี้นักทำแฟนซับฯ รุ่นแรกๆ ต่างทำเป็นรายสะดวกกันไปเกือบหมดแล้ว

9. ไม่เหนื่อยก็ไม่ใช่ THE SUBTITLER
ถึงนักแปลซับไตเติลหนังกับนักแปลแฟนซับฯ มือสมัครเล่นอาจจะต่างกันในเรื่องรายได้และวิธีการทำงาน แต่ทั้งสองแบบนอกจากจะเป็นการแปลเพื่อสื่อสารกับคนดู สิ่งที่ทั้งคู่ต้องมีไม่แพ้กันคือความรักในสิ่งที่ทำ เพราะต้องอยู่กับหนังหรือรายการเดิมๆ ดูวนซ้ำไปซ้ำมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นอีกหนึ่งภาษา หรือจะเรียกว่าเป็นพิราบสื่อสารที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อความสุขบนจอของพวกเราก็คงได้

คราวหน้าถ้าดูหนังหรือซีรีส์เกาหลีก็อย่าลืมสังเกตชื่อคนแปลคำบรรยายกันล่ะ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา หนังและละครที่เราดูคงขาดอรรถรสไปเยอะเลยนะ จริงไหม

ขอขอบคุณ
วรรษชล ศิริจันทนันท์
freerizing จากเพจ freerizingTHSub

AUTHOR