ต่อนยอนแอ่ว ‘โหล่งฮิมคาว’ ชุมชนฮักงานคราฟต์ที่อยู่กั๋นแบบครอบครัวใหญ่ ม่วนอกม่วนใจ๋

Highlights

  • 'โหล่งฮิมคาว' คือชุมชนงานคราฟต์ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ชักชวนเพื่อนฝูงและพี่น้องที่มีใจรักงานฝีมือ ศิลปะ ชีวิตแบบแช่มช้า และวัฒนธรรมล้านนา มาสร้างหมู่บ้านและเปิดบ้านเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของตนอย่างน่ารัก
  • ร้านค้าที่อยู่ที่นี่มีทั้งร้านขายของและร้านอาหาร เช่น มีนา (Meena Rice Based Cuisine) ทั้งยังมีตลาดนัดกาดฉำฉาทุกสุดสัปดาห์, มีตลาดนัดงานคราฟต์กาดต่อนยอนทุกสิ้นปี และมีเวิ้ง Heart Space ซึ่งเป็น co-working space และพื้นที่ทำกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ด้วย
  • ความตั้งใจของโหล่งฮิมคาวคือการเป็นชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยมีความสุขและพร้อมถ่ายทอดความสุขให้กับทุกคนที่มาเยือนชุมชนของพวกเขา

​ใครก็ตามที่มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะบริเวณอำเภอสันกำแพงในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา คงรู้จัก ‘มีนา’ (Meena Rice Based Cuisine) ร้านอาหารใต้ยุ้งข้าวโบราณที่โดดเด่นด้วยข้าวสวย 5 สีเป็นอย่างดี หากมาวันเสาร์-อาทิตย์ บริเวณใกล้ๆ กันยังมี ‘กาดฉำฉา’ ตลาดนัดใต้ต้นฉำฉาใหญ่ให้ร่มเงาเย็นสบาย นอกจากนี้ช่วงปลายปี หลายคนอาจเคยมาเดิน ‘กาดต่อนยอน’ ตลาดนัดครั้งใหญ่ประจำปีที่บ้านทุกหลังพากันเปิดประตูต้อนรับผู้คนให้เข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าทำมือของพวกเขาอย่างคึกคัก ทั้งยังเชื้อเชิญแบรนด์ของทำมือชื่อดังจากทั่วเชียงใหม่มาเปิดขายของกันตลอดริมทาง

โหล่งฮิมคาว

โหล่งฮิมคาว

​กิจกรรมและสถานที่เหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนที่เรียกขานตัวเองว่า โหล่งฮิมคาว ย่านสร้างสรรค์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนฝูงศิลปินและเจ้าของแบรนด์ผ้าระดับโอท็อปที่หลงรักในงานหัตถกรรม ธรรมชาติ ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา เมื่อรักในสิ่งเดียวกันแล้ว พวกเขาจึงตัดสินใจลงขันซื้อที่ดินร่วมกัน แบ่งสรรปันพื้นที่ของตัวเองเพื่อสร้างเรือนล้านนาเป็นบ้านอยู่อาศัย เป็นหน้าร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ และอยู่รวมกันฉันครอบครัว

เป็นโชคดีของเราที่วันนี้ประธานชุมชนอย่าง ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หรือพี่ชัช ครูชัช ลุงชัช ของคนในชุมชน สามารถผละจากภารกิจจำนวนมากมาคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กลุ่มคนที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ภารกิจของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนที่เชื่อมโยงพ่อครูแม่ครูที่มีภูมิปัญญาสาขาต่างๆ เข้าด้วยกันและส่งต่อองค์ความรู้สู่ลูกศิษย์จำนวนมากซึ่งลุงชัชเป็นผู้ก่อตั้ง หรืองานของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกที่เขานั่งเก้าอี้ตำแหน่งเลขาธิการ และกิจกรรมอีกมากที่ขับเคลื่อนเชียงใหม่ไปข้างหน้า 

โหล่งฮิมคาว

ลุงชัชลงจากรถแล้วเดินมาหาเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ระหว่างทางเขาแวะทักผู้คนในชุมชนที่เดินผ่านอย่างไม่ถือตัว ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเล็กน้อยก่อนนั่งลงสนทนากับเราอย่างเป็นกันเองถึงความเป็นมาและทิศทางที่โหล่งฮิมคาวกำลังมุ่งไป 

ล้อมวงเข้ามาใกล้ๆ ลุงชัชกำลังจะเล่าเรื่องราวที่เหมือนนิทานแต่เกิดขึ้นจริงที่นี่ให้เราฟัง

 

สวนธรรมดากับลุงมาเลี้ยงควาย

​“เรื่องราวของโหล่งฮิมคาวสามารถแบ่งได้เป็นยุคต่างๆ สำหรับยุคแรกเริ่มผมเรียกว่าเป็นยุคสวนธรรมดากับลุงมาเลี้ยงควาย

“ประมาณปี 2529 ที่นี่นับว่าอยู่ไกลจากตัวเมืองและไม่มีอะไรเลย เงียบสนิท พื้นเป็นดินลูกรัง สองข้างทางเป็นป่าสำหรับเลี้ยงควายและทำนา ยุคนั้นผมได้ไปเรียนรู้แนวคิดเรื่องวนเกษตรที่ฉะเชิงเทรากับผู้ใหญ่ฯ วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดินที่พัฒนาการทำวนเกษตรจนสามารถผลักดันเข้าเป็นนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้นจนสำเร็จ ผมทำงานกับเขาอยู่พักใหญ่กระทั่งมีความฝันเล็กๆ ว่าอยากจะทำสวนของตัวเอง

“พอย้ายมาเชียงใหม่ผมได้มาเห็นพื้นที่ตรงนี้ของคนชื่อลุงมา แกทำสวน ทำไร่นา และเลี้ยงควาย ผมก็ไปแบ่งซื้อที่จากแกเพื่อทำสวนวนเกษตร ตั้งชื่อว่าสวนธรรมดา มีสวนผลไม้ มะม่วง ลำไย ขุดบ่อปลา ทำสวนไป คุยกับลุงมาไป จนได้ความรู้จากแกมามากมาย นอกจากสวนของผมกับลุงมาตรงนี้ก็ไม่มีบ้านคนอีกเลย เพราะที่ดินส่วนใหญ่ขายให้กับคนกรุงเทพฯ หมดและถูกปล่อยให้รกร้าง ไม่มีใครดูแล”

 

รวมพลคนซื้อที่

​“หลังทำสวนธรรมดามาหลายปี เมื่อ 15 ปีที่แล้วเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ตัดสินใจขายที่ริมถนนฝั่งเดียวกับร้านมีนา ผมเลยชวนคนรู้จักรวมๆ 9 คนมาซื้อที่กัน แบ่งกันคนละแปลง ถัดมาอีก 2 ปี เจ้าของที่อีกฝั่งของถนนก็ขายที่เหมือนกัน ผมก็ไปชวนคนมาซื้อที่อีก เป็นยุคที่ 2 เรียกว่ายุครวมคนมาซื้อที่แล้วกัน

โหล่งฮิมคาว

โหล่งฮิมคาว

​“หลักการชวนคนของผมคือเลือกจากคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน เป็นคนที่มีพื้นฐานรักธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม และมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนฝูงที่รู้จักสนิทชิดเชื้อกันดั่งญาติมิตรมานานแล้ว อย่างน้าต่าย (แสงอรุณ ไชยรัตน์) เจ้าของร้านเฮือนเปิงใจ๋ เป็นคนแม่แจ่ม มาเรียนเย็บและทอผ้าที่เชียงใหม่ ขณะที่เรียนผมเปิดร้านขายผ้าปกาเกอะญอกับภรรยาที่ไนต์บาซาร์และมีลูกคนแรก เราก็ชวนเขามาเป็นพี่เลี้ยงลูก พอมีลูกคนต่อมาเราก็ชวนเฮือนบ้านฝ้ายมาช่วยเลี้ยง 

“เรามีความสัมพันธ์กันแบบนี้ ระหว่างที่ผมกับแฟนทำงานก็ได้พวกเขาเหล่านี้ที่มาช่วยดูแลลูกของเรา กลายเป็นความผูกพันราวพี่น้อง ต่ายเองก็ชวนเพื่อนของเขามาสร้างร้านที่นี่ แฟนเราก็ชวนเพื่อนๆ มา เราสนิทกันหมด เป็นเพื่อนๆ ญาติๆ พี่น้องกัน”

สร้างบ้านแปงเฮือน ‘ชราวิลล่า’

​“พอแบ่งที่ดินกันเสร็จ พวกเราก็ค่อยๆ สร้างบ้านทีหลัง เราตกลงกันเบื้องต้นว่าอยากให้บ้านภายในชุมชนเป็นบ้านที่มีอัตลักษณ์และกลิ่นอายแบบล้านนา มีต้นไม้ มีการออกแบบที่น่าสนใจ และแต่ละหลังต้องมีเอกลักษณ์ของเจ้าของ แต่ด้วยความที่แต่ละคนไม่มีประสบการณ์สร้างบ้าน ผมเลยกลายเป็นที่ปรึกษาเรื่องแบบเพราะเคยสร้างมาก่อนและพอเข้าใจสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เจ้าของบ้านจะเป็นคนออกแบบในใจว่าลักษณะและทรงเป็นแบบไหน มีกี่จั่ว ระเบียงแบบไหน หลังจากนั้นผมก็จะมาหาคนช่วยเขียนแบบก่อสร้างให้

​“ยุคที่เราสร้างบ้านใช้เวลานานมากเพราะต้องใช้ทุนเยอะ ใครพร้อมก็มาสร้าง ทยอยสร้างทีละหลังสองหลัง ใช้เวลาหลายปีทีเดียว โดยหลังแรกที่สร้างเสร็จคือบ้านของอุษา น้องสาวของผม บ้านเขาอยู่ติดกับสวนธรรมดาหรือที่ปัจจุบันกลายเป็นร้านมีนา ต่อมาแฟนของอุษาก็มาช่วยดูแลเรื่องการก่อสร้างบ้านหลังอื่นๆ ในชุมชนโหล่งฮิมคาวเกือบทุกหลัง

​“ส่วนเฮือนสบู่เป็นเพื่อนสนิทของเราตั้งแต่สมัยเรียนธรรมศาสตร์ วันหนึ่งเขาโทรมาเล่าให้ฟังว่าพื้นที่บ้านเขาในกรุงเทพฯ กำลังจะถูกเวนคืน แต่บ้านเขาสวยมาก เป็นเรือนหอตั้งแต่รุ่นพ่อเขา เรารู้สึกเสียดายมาก พอเขามาปรึกษาว่าให้ช่วยหาที่ให้หน่อย เราเลยตัดสินใจเอาช่างในหมู่บ้านไปรื้อที่กรุงเทพฯ แล้วขนมาประกอบใหม่โดยประยุกต์นิดหน่อยจนกลายเป็นเฮือนสบู่เช่นวันนี้

​“ตอนนั้นเราไม่ได้คุยกันเลยว่าจะสร้างบ้านแต่ละหลังให้มีหน้าร้าน เพราะเดิมเราตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็นที่อยู่อาศัยตอนเฒ่า อยู่กันอย่างสงบๆ หนีจากความวุ่นวาย เราเลยเรียกที่นี่กันเล่นๆ ว่าชราวิลล่า”

 

จากเฮือนสู่ฮ้าน

​“ความคิดที่จะให้บ้านแต่ละหลังเปิดหน้าร้านขายผลิตภัณฑ์ของตนเองเริ่มต้นจากร้านมีนา ร้านอาหารของลูกสาวผม ตอนนั้นเขาจะแต่งงานและย้ายไปเปิดร้านอาหารกับแฟนที่ออสเตรเลีย แต่ผมรู้สึกว่าออสเตรเลียมันไกลเลยบอกเขาว่าเอาอย่างนี้ ลองไปดูสวนธรรมดาของพ่อสิว่าเปิดร้านได้ไหม ถ้าสามารถทำได้พ่อยกให้เลย ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาแบบเห็นแก่ตัวคือเราก็อยากให้ลูกอยู่ใกล้ๆ 

“พอได้ไปดูที่เขาก็ตัดสินใจลองเปิดร้านดู ตอนแรกก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่เพราะมันอยู่ลึกมาก แถมพื้นที่จากที่เป็นวนเกษตร ช่วงหลังๆ ผมไม่ค่อยมีเวลาดูแลเลยกลายเป็นเกษตรปล่อยปละ เป็นป่ารก ลูกชายคนเล็กของผมเขาเลยเสนอว่าพี่สาวน่าจะจัดงานแต่งบริเวณที่จะเปิดร้านไปเลย จะได้ชวนคนมาเห็นพื้นที่ไปในตัว พวกเขาก็เลยเข้าไปทำความสะอาด จัดแต่งที่ต่างๆ จากป่าก็ถูกเนรมิตให้เป็นสถานที่จัดงานแต่ง สวยมากๆ เลย ลูกสาวผมก็ประกาศในงานแต่งว่า ต่อจากนี้ไปที่แห่งนี้จะกลายเป็นร้านอาหารชื่อว่ามีนา

โหล่งฮิมคาว

โหล่งฮิมคาว

​“ช่วงแรกต้องยอมรับว่าร้านมีนายังไม่เป็นที่รู้จัก ก็มีเพื่อนๆ ของคนในชุมชนนี่แหละที่ชวนกันไปกิน ผมมองว่าเจ้าของบ้านแต่ละหลังต่างก็มีของดีของตัวเอง เลยคิดขึ้นมาว่าเรามองกลับมาที่ชุมชนกันไหม ช่วยกันดึงคนมาที่ชุมชน เพราะขนาดมีนาอยู่ลึกขนาดนี้ก็ยังมีคนมาได้ แถมแต่ละคนในชุมชนก็มีผลิตภัณฑ์ของตัวเองวางขายอยู่ที่อื่นๆ บางคนก็ต้องเสียค่าพื้นที่ ค่าฝากวาง เลยเกิดเป็นยุทธการชวนกันกลับมาเปิดร้านที่บ้าน จากหนึ่งเพิ่มเป็นสองและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตลักษณ์ชุมชนก็เริ่มชัดเจน

​“ทีนี้เราจะทำยังไงดีให้คนเข้ามาที่นี่ มันเป็นกระบวนการที่ไม่ง่ายเลย ทุกคนก็มาช่วยกันคิด นอกจากมีนาที่ช่วยดึงคนอยู่แล้ว พวกเราจะทำอะไรได้บ้าง สักพักก็เกิดไอเดียจัดตลาดนัดร่วมกัน ใครมีอะไรก็เอามาขายในพื้นที่ร้านมีนา ตั้งชื่อว่า ‘โละครัวฮอมตอมครัวฮัก’ คือบ้านไหนมีอะไรก็โละมาขายแล้วเชิญคนมาตอม มาซื้อ เป็นของเก่าบ้าง เสื้อผ้าบ้าง งานหัตถกรรมบ้าง คนให้ความสนใจเยอะมากเพราะมาแล้วได้ทั้งเดินซื้อของและกินอาหาร บรรยากาศก็น่ารักมากเพราะจัดภายใต้ต้นไม้ที่ร่มรื่นในบริเวณร้านมีนา

​“จัดงานไปได้ 2 ครั้ง คนก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ร้านมีนาเองก็เริ่มเป็นที่รู้จัก มีลูกค้าเยอะขึ้น เราก็รู้สึกว่าร้านมีนาไม่น่าจะสามารถจัดได้แล้วเพราะไปรบกวนพื้นที่จอดรถของลูกค้า จึงตัดสินใจขยับมาจัดงานข้างนอก ให้คนมาเดินเล่นบนถนนในชุมชน บ้านแต่ละหลังเลยค่อยๆ ทยอยปรับบ้านของตัวเองให้มีหน้าร้านโชว์สินค้าและชวนเพื่อนๆ ที่ขายของแฮนด์เมด ทำงานคราฟต์เหมือนกัน มาวางขายกันตลอดถนน

“เราจัดแต่งชุมชนให้สวยงาม แต่ละหลังเขาก็มีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความเป็นศิลปินในตัวชัดเจน ไม่เหมือนกัน มันเลยน่าสนใจ และชวนให้เดินเข้าชม พอหน้าร้านพร้อม ตอนหลังจึงเกิด ‘กาดต่อนยอน’ ตลาดนัดงานฝีมือ งานใหญ่ของชุมชนที่จัดขึ้นปีละครั้งต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว

“ตอนนั้นเรามาระดมความคิดกันว่าจะตั้งชื่อตลาดว่าอะไรดี บรรยากาศสนุกมาก แต่ละคนช่วยกันเสนอชื่อแล้วโหวต ทีนี้ลูกสาวของผมเขาเคยไปอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน และเห็นถึงความรวดเร็ว การแข่งกันกินแข่งกันใช้ซึ่งไม่ใช่วิถีที่เขาชอบ เลยรู้สึกอยากจะรณรงค์เรื่องความช้า วิถีดั้งเดิม อีกคนก็เสนอว่าให้ตั้งชื่อตามแนวคิดนี้แหละ แต่ใช้ภาษาคำเมือง กาดต่อนยอนเลยเกิดขึ้น”

 

โหล่งฮิมคาว ชุมชนม่วนใจ๋

​“ชื่อชุมชนทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าอยากใช้ชื่อภาษาเมือง เราก็มาวิเคราะห์กันว่าเราตั้งหลักแหล่งกันอยู่ริมน้ำแม่คาว ใช้คำว่า ‘ชุมชนริมคาว’ ดีไหม ทีนี้ผมจำได้ว่าชาวบ้านแถวนี้ที่เขาอยู่มาก่อนเรียกที่บริเวณนี้ว่า ‘โหล่งฮิมคาว’ มานานแล้ว โหล่งก็คือที่โล่ง จากเดิมที่สมัยก่อนเป็นแค่ทุ่งนา ฮิมก็คือริม คาวก็คือแม่น้ำคาว พอพูดชื่อนี้ไปทุกคนก็โอเค

​“ส่วนสโลแกนเรานำเอาคอนเซปต์สโลว์ไลฟ์กับกาดต่อนยอนมาตีความ จนเกิดเป็นสโลแกน ‘เดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ อู้จ๋ากันม่วนๆ’ ซึ่งได้มาจากลักษณะพิเศษของชุมชนที่เป็นที่อยู่อาศัยด้วย เราอยากจะอยู่กันอย่างมีความสุข สงบ อยู่กันแบบพี่น้อง มีอะไรก็เดินมาปรึกษาหารือกัน และยังเป็นชุมชน 3 ธรรมคือ หน้าปากซอยเรามีวัดป่าศรีมารามเป็น ‘ธรรมะ’ พวกเราทุกคนในชุมชนรักต้นไม้ อยากให้ชุมชนเป็นพื้นที่สีเขียว ก็คือ ‘ธรรมชาติ’ และธรรมที่ 3 คืออีกอย่างที่พวกเรารัก นั่นคือ ‘ศิลปะและวัฒนธรรม’

“สิ่งสำคัญสำหรับผมคือไม่ว่าจะยังไงพื้นที่นี้ต้องเป็นความสุขของคนในชุมชน ที่นี่คือสิ่งที่พวกเราอยากเห็น อยากอยู่ และอยากเป็นมานานมากแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะยังสร้างมันไม่ได้ด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น การพัฒนาที่คิดเรื่องกำไรมากเกินไป มีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป มีวิธีคิดแบบเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนแล้วนำไปหากำไร ผู้คนไม่สนใจกัน ทิศทางชีวิตเป็นไปแบบไม่ยั่งยืน เราไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้และไม่เข้าใจว่ามันจะทำให้ผู้คนมีความสุขได้ยังไง มันบ่ม่วน ฉะนั้นการมาอยู่ที่นี่คือการสร้างชุมชนที่เราอยากจะเป็น ทั้งอยู่แบบพี่น้อง อยู่กับธรรมชาติ และอยู่ได้ในเชิงเศรษฐกิจด้วย

เรามองว่าโหล่งฮิมคาวเป็นชุมชนสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่มาซื้อ มาขาย แล้วก็กลับ แต่มาแล้วมีความสุข ได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เราพยายามให้บ้านแต่ละหลังดึงความรู้ออกมาเผยแพร่ อาจจะเป็นเวิร์กช็อปก็ได้ พัฒนาให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ไปด้วย

“สำหรับคนภายนอก เราอยากให้เขาเห็นคุณค่าของชุมชน เห็นศิลปวัฒนธรรมที่เราตั้งใจรักษาและนำเสนอ เห็นวิถีชีวิตแบบช้าๆ ของพวกเรา เราอยากให้เขามาซื้อ มากิน มาใช้ชีวิตที่นี่สักพัก และนำสิ่งที่ได้จากชุมชนกลับไป ไปช่วยกันรักษาธรรมชาติ ช่วยกันรักษาศิลปะ วัฒนธรรม ช่วยกันสร้างชุมชนแบบนี้ให้เกิดขึ้นเยอะๆ ต่อไปในที่อื่นๆ

 

ชุมชนแห่งวันพรุ่งนี้

​“หลังจากเกิดกาดต่อนยอนประมาณปีที่ 4 ลูกๆ หลานๆ ของเราเริ่มเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็เริ่มกลับมาพัฒนาชุมชนกัน พวกเขาบอกว่ากาดต่อนยอนนั้นจัดแค่ปีละครั้ง มันช้าไปกว่าจะวนมาอีกรอบ เขาเลยคิดจะจัดกาดฉำฉาสัปดาห์ละครั้ง เป็นตลาดนัดขายของใต้ต้นฉำฉา เริ่มต้นจากทุกวันเสาร์ ตอนแรกพวกเราก็รู้สึกว่ามันยากนะ แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาทำได้ เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจและน่าชื่นชมมากๆ แรกๆ พวกเราในชุมชนก็มาช่วยกันขาย กระทั่งเริ่มมีร้านค้าต่างๆ สนใจเข้ามาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนมันอยู่ได้และขยายตลาดเป็นจัดทุกเสาร์-อาทิตย์

​“ต้องยอมรับว่าพวกเขาเก่งเรื่องการใช้สื่อออนไลน์กว่าพวกผู้ใหญ่มาก ตัวกาดฉำฉามียอดติดตามบนเฟซบุ๊กมากกว่าโหล่งฮิมคาวเยอะมาก (หัวเราะ)

“ในที่สุดเวิ้งตรงนั้นก็กลายเป็นอีกที่ของชุมชนที่คนรู้จักและยังช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าร้านมีนาคนเยอะเขาจะชวนให้ไปเดินเล่นที่กาดฉำฉาก่อนนะ เช่นเดียวกันคนที่มาเดินเล่นในเวิ้งฉำฉาก็จะได้รับคำแนะนำให้ไปลองเดินเล่นในชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งถนนและบ้านแต่ละหลังมากขึ้น

​“พอกาดฉำฉาเกิดก็มีการวิเคราะห์กันอีกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าวันธรรมดายังคงไม่มีกิจกรรม พอดีเราได้ตู้คอนเทนเนอร์และงบจาก TCDC มาเพราะเขามองว่าที่แห่งนี้เป็นย่านสร้างสรรค์เล็กๆ ที่น่าสนใจ เลยเกิดการพัฒนา co-working space และมีห้องให้เหล่า young start up ใช้ทำงาน พวกเขาชักชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาช่วยกันจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มีเวิร์กช็อป มีโซนดนตรีที่ใครอยากจะเล่นก็สามารถมาแจมได้ มีกิจกรรมอย่าง Folk for a While เป็นคอนเสิร์ตดนตรีโฟล์กเล็กๆ บรรยากาศใต้ต้นฉำฉาที่นำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือกิจกรรมสร้างสรรค์ให้สังคมต่อไป เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาแล้วเกิดความสุขต่อหัวใจ จนเกิดเป็นที่มาของชื่อเวิ้งว่า Heart Space

​“การให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นแบบนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น เราคุยกันในชุมชนแล้วว่าคนรุ่นเก่าทำงานกาดต่อนยอนมา 6 ครั้งแล้วนะ ต่อไปเราอยากจะเห็นบทบาทของทีมคนรุ่นใหม่ในชุมชนมารับช่วงต่อบ้าง ค่อยๆ ส่งไม้ต่อให้กับพวกเขาเพราะการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าอย่างลงตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก มันจะทำให้การคิดค้นอนาคตมีมิติมากขึ้น และเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องคิดค้นและสร้างสรรค์ต่อไปโดยมีผู้ใหญ่ทำหน้าที่สนับสนุนให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่”


แอ่วโหล่งฮิมคาว

​ชุมชนโหล่งฮิมคาวมีร้านค้าตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งถนน สามารถเดินเลือกชมและซื้อของจากเจ้าบ้านได้ยาวตลอดทั้งแนว วันนี้เราเลยจะขอยกตัวอย่าง เรือนต่างๆ รวมถึงร้านค้าภายในชุมชนให้ได้รู้จักกับพวกเขากันคร่าวๆ และนอกจากร้านเหล่านี้ ที่นี่ยังมีร้านค้าอื่นๆ อีกนะที่เราอยากชักชวนให้ไปรู้จักด้วยตนเอง

 

1. มีนา (Meena Rice Based Cuisine)

​ร้านอาหารใต้ยุ้งข้าวบรรยากาศในสวนเริ่มต้นขึ้นจากแนวคิด ‘เพราะมีนาจึงมีข้าว’ โดยตั้งใจนำเสนอคุณค่าของนาและข้าวที่มีคุณประโยชน์มากมายต่อผู้คน นำเสนอออกมาผ่านเมนูหลักของร้านอย่าง ‘ข้าว 5 สี’ ที่นำข้าว 5 ชนิด 5 สี มาเสิร์ฟคู่กับกับข้าวต่างๆ ที่มีข้าวหลากชนิดเป็นส่วนประกอบในการปรุง เช่น กุ้งชุบข้าวทอด ซี่โครงหมูอบข้าวไรซ์เบอร์รี ฯลฯ โดยทั้งหมดเป็นอาหารไทยที่พัฒนาจากความทรงจำสมัยที่ผู้ใหญ่เคยทำให้ทานตอนเด็กๆ

 

2. เฮือนสบู่

​เฮือนของแบรนด์สบู่ทำมือออร์แกนิกที่ก่อตั้งขึ้นจากความเป็นห่วงผู้ใช้สบู่ตามท้องตลาดซึ่งมีสารเคมีตกค้างจำนวนมากจนส่งอาจผลเสียในระยะยาวได้ เฮือนสบู่จึงผลิตสบู่จากวัตุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติบำรุงผิว เช่น ข้าว น้ำมันมะพร้าว สับปะรด เกลือชมพู กาแฟคั่ว และไม่ให้เหลือสารเคมีระหว่างกระบวนการผลิตตกค้างแม้แต่นิด

 

3. เฮือนเปิงใจ๋

​ร้านผ้าฝ้ายลายด้นและปักมืออันเป็นเอกลักษณ์ เกิดขึ้นจากวัยเด็กของเจ้าของร้านที่ได้รับภูมิปัญญาการปั่นฝ้าย การทอฝ้าย และการตัดเย็บเสื้อผ้า มาจากครอบครัว เมื่อเวลาผ่านไปนั่นยังคงเป็นความทรงจำที่ดี น่าภาคภูมิใจ เธอจึงนำความรู้สึกนี้มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เสื้อผ้า ‘เปิงใจ๋’  ที่ต่อยอดภูมิปัญญาเป็นแพตเทิร์นร่วมสมัย ทั้งยังนำความทรงจำที่มีต่อเรือนที่เคยวิ่งเล่นมาสร้างใหม่กลายเป็นเฮือนเปิงใจ๋เช่นทุกวันนี้

 

4. บ้านอุษา

​บ้านหลังแรกที่สร้างเสร็จภายในชุมชนโหล่งฮิมคาว ทั้งยังเป็นบ้านแรกๆ ที่เปิดเป็นหน้าร้าน โดยนำเสนอเสื้อผ้าย้อมครามทรงร่วมสมัย ออกแบบและปักด้วยลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์จากมือของอุษา ทองดีเลิศ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน นอกจากนั้นยังมีเครื่องเงินและกระเป๋าจากชนเผ่าต่างๆ ให้ได้เลือกอีกจำนวนมากในราคาย่อมเยา

 

 

5. บ้านกิ๊ก

​บ้านสีสันสดใสตกแต่งสไตล์อินเดียที่ใครเดินผ่านเป็นต้องสะดุดตา คือที่ตั้งของร้านขายเสื้อผ้า กระเป๋า ลวดลายน่ารัก ที่เกิดจากการที่คุณแม่กิ๊กนำเอาลวดลายที่ลูกๆ เคยวาดเล่นตอนยังเด็กมาถ่ายทอดด้วยการปักลงเป็นลายผ้าต่างๆ กลายเป็นทั้งลวดลายที่ทั้งสวยงาม น่ารัก แถมยังได้แสดงให้เห็นมุมมองของเด็กๆ 

 

6. เฮือน ณ ใจ๋

​เฮือน ณ ใจ๋ คือเฮือนที่เจ้าของร้านนำแบบบ้านเก่าจากอ.แม่แจ่มมาสร้างที่ชุมชนและจำหน่ายสินค้าที่มีกลิ่นอายบอกเล่าความเป็นแม่แจ่มไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าตีนจกแบบแม่แจ่ม, งานปักมือสไตล์ชาติพันธุ์, งานผ้าย้อมธรรมชาติ และงานเย็บมือลวดลายต่างๆ ซึ่งจัดแสดงให้ได้เลือกซื้ออยู่บริเวณชั้นบนของบ้านด้านล่างเปิดเป็นร้านคาเฟ่บริการเครื่องดื่ม ส่วนชื่อเฮือนน่ารักๆ ตั้งขึ้นตามชื่อของลูกสาวเจ้าของเฮือนอย่างณฤทัย ไชยรัตน์ นั่นเอง

 

7. Slowstitch

​สตูดิโอออกแบบและผลิตงานผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคนิคมัดย้อม ‘ชิโบริ’ หรือการย้อมครามของประเทศญี่ปุ่น โดยยึดคติการออกแบบที่เน้นถึงคุณค่าของงานฝีมือ การใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นสำคัญ และต้องดูร่วมสมัย จนเกิดเป็นสีสันและลายผ้าที่สวยงาม 

 

8. อันดามันมัดย้อม

​เรือนแห่งนี้ใครเดินผ่านก็จะเห็นความโดดเด่นของผ้ามัดย้อมสีครามจำนวนมากที่แขวนอยู่เต็มพื้นที่ ตั้งแต่บริเวณลานหน้าบ้านไปจนใต้ถุน ให้บรรยากาศราวกับมาเลือกซื้อของแบบง่ายๆ ที่บ้านเพื่อน ​แถมใครอยากลองทำผ้ามัดย้อมด้วยตัวเองก็สามารถสมัครร่วมเวิร์กช็อปที่นี่ได้ด้วย 

 

9. ล้านฝ้ายงาม

​ด้วยสายเลือดของบรรพบุรุษชาวลัวะที่ส่งต่อภูมิปัญญาการทอผ้าเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวิถีชีวิต ความผูกพันต่อภูมิปัญญาการทอผ้าจึงถ่ายทอดออกมาสู่เสื้อผ้าของล้านฝ้ายงาม ทั้งยังมีการนำเสนอผ้าตีนจกของอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นถิ่นฐานของพวกเขาภายในร้านอีกด้วย


ผู้เขียนขอแสดงความนับถือต่อคุณอุษา ทองดีเลิศ เจ้าของบ้านอุษา พี่ เพื่อน แม่ และป้า ของคนในชุมชนโหล่งฮิมคาวผู้ล่วงลับขณะที่กำลังจัดทำบทความนี้

AUTHOR