“น้องได้กลิ่นมะลิ น้องนึกถึงอะไร” ผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นตรงหน้าถาม ฉันใช้ความคิด คำตอบคือความสงบและภาพของพ่อ
เวลาได้กลิ่นอะไรสักอย่าง มันจะมาพร้อมกับความรู้สึก บางครั้งทำให้เกิดจินตนาการ หรือแม้กระทั่งรำลึกถึงความทรงจำบางอย่าง ที่สำคัญคือมันทำงานกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พลังลึกลับนี้เองทำให้กลิ่นถูกนำมาใช้เป็นจุดตั้งต้นของโปรเจกต์ศิลปะชื่อ The Nose Project
แต่นี่ไม่ใช่โปรเจกต์ศิลปะที่เราคุ้นเคยกัน เพราะผู้ร่วมทำงานศิลปะที่พวกเขามองหาคือผู้พิการทางสายตา
ทุกวันนี้มีหลายเรื่องที่เราคิดว่าคนตาบอดทำไม่ได้ ขนาดการใช้ชีวิตทั่วไปยังมีข้อจำกัด แล้วพวกเขาจะทำงานศิลปะได้อย่างไรในเมื่อมองไม่เห็น แต่สำหรับสมาชิกผู้ริเริ่ม The Nose Project ทั้ง 4 คนอย่าง หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์, ก้อย-ชลิดา คุณาลัย, ทราย-พรไพลิน ตันเจริญ และ ป๊อป-มาริสา ธเนศวงศ์ ไม่ได้คิดเช่นนั้น พวกเขาเชื่อในพลังของศิลปะที่จะช่วยสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิต พร้อมทั้งบริหารใจให้แข็งแรงไปพร้อมกัน
และวิธีการทำงานศิลปะของพวกเขาก็สนุกและน่าสนใจจนเราต้องมาเล่าให้ฟังนี่แหละ
คนตาบอดไม่ใช่แค่คอลเซนเตอร์และคนขายลอตเตอรี่ พวกเขาเป็นศิลปินได้
ตัวละครในกลุ่ม The Nose มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นอย่างก้อย นักศิลปะบำบัดอย่างทราย ผู้ริเริ่ม The Blind Theatre หรือละครสำหรับคนตาบอดอย่างหลุยส์ และผู้บริหารจัดการมือฉมังอย่างป๊อป ทุกคนมีความสามารถต่างกันแต่มีจุดร่วมคือความตั้งใจที่อยากให้คนตาบอด ‘เป็น’ และ ‘ทำ’ อะไรได้อีกมากมาย
“เราไปเห็นคลิปที่เด็กคนหนึ่งทำโปรเจกต์เล็กๆ ของเขา เขาอยากให้เพื่อนคนตาบอดทำงานศิลปะได้ก็เลยใส่กลิ่นลงไปในสี พอส่งให้หลุยส์ดูเขาก็บอกน่าสนใจมาก เราเลยไปเริ่มต้นทดลองคลาสที่สตูดิโอของทราย ให้น้องท็อฟฟี่ (นักแสดงละครเวที The Blind Theatre) มาแชร์ความคิดเห็น เพราะการให้คนตาดีมาคิดให้คนตาบอดเฉยๆ มันก็ไม่ถูก ต้องรับฟังเขาด้วย” ก้อยเล่าจุดเริ่มต้น
“พวกเราคุยกันว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แล้วก็ตกผลึกว่าโลกงานศิลปะเป็นโลกที่ทำเพื่อคนตาดี เราใช้ตาทั้งสร้างทั้งเสพ ตัดสินว่าสวยไม่สวย คนตาบอดเลยไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาในโลกของศิลปะด้วยซ้ำ กระบวนการที่เราทำจะเป็นการทดลองว่า เราจะสร้างสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ และวิธีการทำงานศิลปะที่จะดึงความสามารถของคนตาบอดออกมาได้ไหม ถ้าทำสำเร็จพวกเขาก็มีอาชีพเพิ่ม เป็นดีไซเนอร์ได้ เป็นครูสอนศิลปะได้ เอาผลงานไปสร้างแพตเทิร์นได้” ป๊อปเล่าอย่างกระตือรือร้น
สร้างสรรค์งานด้วยความรู้สึกพื้นฐานในใจมนุษย์
ทรายเริ่มสอนสมาชิกผู้เข้าร่วมตั้งแต่ทฤษฎีสีในทางบำบัดที่มีสีร้อนสีเย็น การเลือกสีเพื่อปรับความรู้สึกในตัวเอง เพื่อให้คนตาบอดเลือกใช้สีสันได้ตรงใจ ทีมงานต้องจับคู่สีเข้ากับกลิ่นให้ตรงความรู้สึกที่สุด กระบวนการส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ก้อยที่รับไม้ต่อด้วยการสร้างกลิ่นนั้นจากหัวน้ำหอมขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยเริ่มทดลองจาก 5 สีพื้นฐานได้แก่ ขาว ดำ เหลือง น้ำเงิน แดง
“กลิ่นมันเกี่ยวกับว่าเรามีบริบททางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา มายังไง ชีวิตแต่ละคนรับรู้อะไรมาบ้าง กลิ่นเดียวกันก็จริงแต่คนอาจคิดไม่เหมือนกัน การจะออกแบบกลิ่นจึงต้องเข้าใจบริบทก่อน สมมติเราจะออกแบบกลิ่นสีขาว ทุกคนจะคิดว่ามันบริสุทธิ์ เราเลยใช้กลิ่นที่เบาบาง หรือถ้าเป็นสีดำ มันคือความอึน ทะมึน อึดอัด” ก้อยเล่าอย่างสนุก
และผลลัพธ์ที่น่าประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อผู้ร่วมการทดลองเลือกสีได้ถูกต้อง ทั้งยังบอกแนวคิดนามธรรมของสีสันได้อย่างน่าสนใจไม่ต่างจากคนตาดี
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ไม่ว่าเครื่องมือในร่างกายมันจะขาดตรงไหนไป แต่ความรู้สึกในใจมันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าเราจับคู่สีและกลิ่นที่มีพลังในการสร้างความรู้สึกเหมือนกัน เด็กก็สร้างงานศิลปะได้ มันจะเป็นงานที่สร้างจากความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่สร้างจากการรับรู้หรือการตัดสินจากภายนอก และเมื่อสร้างงานได้แล้ว เราต้องทำให้คนสามารถเสพงานศิลปะโดยใช้ใจเสพ ใช้ความรู้สึกอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ดวงตาด้วย”
และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คลาสศิลปะของ The Nose Project มีทั้งคนตาบอดและคนตาดี (ที่ใส่ผ้าปิดตา) มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน
จากงานศิลปะต่อยอดสู่การบริหารใจ
“หลักสูตรเราสอนเหมือนคนตาดีโดยดึงมาจากแนวคิดศิลปะทางมนุษยปรัชญา คนตาบอดเริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ไม่มั่นใจในตัวเอง หนูมองไม่เห็นหนูจะดูภาพยังไง เราเลยเริ่มทำงานที่ตัวตนเขาก่อน ทำให้เขาเชื่อก่อนว่าเขาทำได้ทุกอย่าง โดยเริ่มต้นที่งานศิลปะนี่แหละ” นักศิลปะบำบัดของทีมอธิบาย
นอกจากเรื่องกลิ่น ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกที่พวกเขาออกแบบเพื่อให้คนตาบอดทำงานได้สะดวก เช่นว่า การจะวาดรูปได้ต้องรู้ขอบเขตกระดาษ ส่วนที่เกินกระดาษจึงถูกรองด้วยฟอยล์ เมื่อสัมผัสลงไปก็จะมีเสียงให้รู้ หรือแทนที่จะใช้พู่กัน ทุกคนจะได้ใช้ ‘เครื่องมือ’ ที่มีอยู่ในตัวเองอย่างนิ้วมือ
“พอเขาเริ่มวาดเป็น เริ่มเชื่อมั่นในตัวเอง เราจะสอนอะไรเขาก็ได้แล้ว อย่างเช่นสอนปั้นดินเราก็ให้เขาจับหน้าเพื่อน วัดสัดส่วนโดยใช้ไม้บรรทัดธรรมชาติคือนิ้วมือของเขา ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็ทำได้กันหมด จับคาแร็กเตอร์เพื่อนได้โดยไม่ต้องใช้ตา กลายเป็นว่าเราเจอความพิเศษของคนตาบอดที่คนตาดีทำไม่ได้” ทรายเล่ายิ้มๆ
แม้จะเริ่มจากกลิ่น แต่คลาสศิลปะของ The Nose Project นำเรื่องสัมผัส เสียงเพลง อาหาร หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวร่างกายมาใส่ในชั้นเรียน เพื่อให้ผู้ร่วมคลาสเกิดประสบการณ์และแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ทำงานศิลปะได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อมองดีๆ แล้ว พวกเขาใช้เครื่องมือที่มีในตัวได้คุ้มค่ากว่าเราเสียอีก เราต่างหากที่พอจะวาดอะไรก็จินตนาการเป็นภาพขึ้นมาในหัว แล้วพอทำไม่ได้ตามที่นึกก็ไม่พอใจกับตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น คลาสประติมากรรมกระดาษ กระบวนการทำงานเริ่มจากให้เริ่มดมกลิ่น นำความรู้สึกจากกลิ่นนั้นแปรออกมาเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย พอเคลื่อนไหวในท่าซ้ำเดิมจนจำได้ เกิดความรู้สึกและความคิดเมื่อขยับตัว มูฟเมนต์นั้นก็สามารถนำมาใส่ในประติมากรรมกระดาษที่พวกเขาจะลงมือทำเอง เมื่อย้อนกลับมาดมกลิ่นใหม่ คราวนี้สิ่งที่อยู่ในจินตนาการก็จะขยายกว้างไกลขึ้น
แต่ทีมงานไม่ได้หวังแค่ให้มีผลงานดีๆ เกิดขึ้นเท่านั้น แต่อยากให้แต่ละคลาสมีแนวคิดแทรกซึมลงไปในการใช้ชีวิตด้วย
“ในคลาสประติมากรรมกระดาษนั้น เราอยากบอกเขาเรื่องบาลานซ์ คนทั่วไปจะรู้สึกว่าสมดุลคือการยืนตรงๆ ก้าวซ้ายขวา ยืนขาเดียวไม่ล้ม แต่สำหรับนักศิลปะบำบัดอย่างเราคือ ‘ชีวิตตอนนี้สมดุลหรือยัง’ ” ทรายอธิบาย “สิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือร่างกาย เช่นเวลามีคนจะพาไปข้างหน้าเราก็โน้มตัวตามไป เราสังเกตว่าคนตาบอดเขาเชื่อคนง่าย บอกว่ามีบันไดก็เชื่อ ถ้าบอกว่า ‘คุณทำไม่ได้หรอก’ เขาก็เชื่ออย่างนั้น ทั้งที่ตัวเขาเองมีของข้างใน เขาควรเอาตรงนี้มาตั้ง และบาลานซ์ในสิ่งที่ตัวเองจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ซึ่งเราจะบอกเขาผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายนี่แหละ”
ศิลปะที่ทำให้เพื่อนเชื่อมโยงถึงกัน
อย่างที่บอกไปข้างต้น ในคลาส The Nose Project มีทั้งคนตาดีและคนตาบอด ทีมงานเล่าว่าช่วงแรกๆ การปฏิสัมพันธ์ก็ยังเป็นไปไม่ค่อยราบรื่น ต่างฝ่ายต่างทำตัวไม่ถูก แต่พอเวลาผ่านไป ทั้งสองฝั่งต่างคุ้นเคยกัน แม้แต่คนตาดี (ที่ปิดตาอยู่) ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่เพื่อนใช้ในการทำงานศิลปะโดยไม่ต้องมองด้วยซ้ำ
ฉันคิดว่ามันเป็นเพราะกระบวนการที่ทำให้ทุกคนได้สัมผัสใจกันและกัน
ในคลาสสุดท้ายก่อนทีมงานจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองเป็นเวลา 2 เดือน ภายใต้โจทย์ ‘imperfect’ หรือความไม่สมบูรณ์แบบ หลังจากทรายเล่านิทานชวนคิดในธีมที่ว่า ทุกคนก็ได้มานั่งล้อมวงคุยกันเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบในมุมมองของตัวเอง การได้เล่าถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ข้างในใจ ปมบางอย่าง การก้าวผ่าน ทำให้ที่แห่งนี้มีพลังงานของความปลอดภัย ความอบอุ่น และการเกื้อหนุนกัน
และที่น่าสนใจคือ ฉันได้เห็นว่าหัวใจของคนตาบอดที่แท้แล้วเข้มแข็งเพียงใดผ่านเรื่องเล่าเหล่านั้น หลายคนมองเห็นแง่มุมที่แข็งแกร่งของตนเอง ไม่ได้เอาการมองไม่เห็นมาเป็นเงื่อนไขชีวิตสักนิด
หลังจากพูดคุยกันเต็มที่ กระบวนการทำงานศิลปะในคลาสก็เริ่มต้น ทุกคนได้ดมน้ำหอมกลิ่น imperfect ที่ก้อยให้นักออกแบบน้ำหอมจากฝรั่งเศสทำขึ้นโดยเฉพาะ ก่อนจะเริ่มลงมือทำงานศิลปะด้วยกัน ภาพที่ฉันเห็นคือทุกคนกลายเป็นเพื่อนที่เรียนรู้ทั้งเรื่องศิลปะและชีวิตไปพร้อมกัน
“ล่าสุดมีน้องในโปรเจกต์จัดนิทรรศการเป็นโปรเจกต์จบของมหาวิทยาลัย น้องก็ชวนเพื่อนตาบอดไปด้วย คนที่มหา’ลัยก็ตื่นเต้นมาก มีคำถามว่าเขาจะดูงานยังไง แต่ปรากฏว่าสนุกกันมาก ทุกคนช่วยกันอธิบายงาน และน้องคนนั้นก็เป็นทูตรุ่นใหม่ที่ไปบอกเพื่อนว่างานศิลปะไม่ได้จำกัดแค่การใช้ตามอง มันเป็นการหย่อนเมล็ดพันธุ์ว่าการเสพงานก็น่าจะเปิดกว้างขึ้น” ก้อยเล่าอย่างยิ้มแย้ม
เวลานี้โปรเจกต์ The Nose ยังไม่จบลง มีการต่อยอดคลาสสอนศิลปะนี้ไปสู่ที่ใหม่ๆ เพราะเมสเสจที่แท้จริงที่ชั้นเรียนนี้อยากบอกไม่ใช่เรื่องทักษะ แต่คือคำเชิญชวนให้เรามาสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนได้ฉายแสงในแบบของตัวเอง
“เราอยากให้คิดว่าทุกคนมีโอกาสที่จะมองไม่เห็นได้ตลอดเวลา การมองไม่เห็นเพราะอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่คุณลองคิดสภาพว่าวันหนึ่งเราเจอสิ่งที่รักและชอบแต่เรามองไม่เห็น ประเด็นไม่ใช่ว่าคุณจะกลับมาทำหรือไม่ทำ แต่สภาพแวดล้อมนั้นสนับสนุนให้คุณไปทำหรือเปล่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเริ่มสร้างอะไรจากศูนย์ได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมสังคมเพื่อรองรับ” หลุยส์กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
“ตอนนี้คือยุคใหม่แล้ว คนตาบอดเล่นเฟซบุ๊กได้ มีโปรแกรมอ่านออกเสียง เสพคอนเทนต์ได้ทุกอย่าง ทุกวันนี้โลกมันเชื่อมกันแล้ว ถ้าเราเริ่มต้นคิดถึงความหลากหลาย ทำสิ่งเดิม แต่มีเพื่อนใหม่เพิ่มเข้ามา มันจะนำพาเราไปสู่สิ่งใหม่ ถ้ามีคำถามว่าเราจะทำอะไรกับอนาคตของโลกใบนี้ดี สำหรับผม การสร้างความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดแล้ว”
ภาพ The Nose Thailand, พนิดา มีเดช