ฉันเคยเชื่อมาตลอดว่าการมองเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหว คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการแสดงละคร
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้การมาดูละครเวทีในวันนี้ของฉันตื่นเต้นกว่าครั้งไหนๆ เพราะงานแสดงละครใบ้ Mime Family: New Season ที่จัดโดยคณะละครคนหน้าขาวในวันนี้ มีทั้งผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการมองเห็น และผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ใช้วีลแชร์ มาร่วมเล่นละครบนเวทีเดียวกับคนทั่วไปอย่างเรา
นักแสดงที่หลากหลายจะทำให้ละครจะออกมาเป็นแบบไหน คนดูจะคิดยังไง จะรู้สึกสงสารหรือเศร้าหรือเปล่า ใจฉันได้แต่จินตนาการไปต่างๆ นานาพร้อมแอบกังวลเงียบๆ คนเดียว
แต่เมื่อมาถึงสถานที่จัดการแสดง บรรยากาศของกิจกรรมต่างๆ ก็ปัดเป่าความกังวลของฉันทิ้งไปจนหมด
พื้นที่หน้าหอประชุมเล็กของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเต็มไปด้วยสีสันของซุ้มกิจกรรมการเพนต์หน้า การทำงานศิลปะแบบให้ปิดตาวาดรูปเพื่อทดลองเป็นผู้พิการทางสายตา และการแสดงละครใบ้ท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงหัวเราะร่าเริงของเด็กๆ และผู้ปกครอง ฉันเริ่มสังเกตเห็นผู้ร่วมงานที่มีทั้งผู้พิการทางสายตาและผู้ใช้วีลแชร์เดินปะปนอยู่ในฝูงชนอย่างกลมกลืน
รอยยิ้มและความเป็นธรรมชาติของพวกเขาคล้ายกำลังบอกใบ้ฉันว่านี่คือความหลากหลายของสังคมและมันเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา
พิธีกรประกาศว่าอีกไม่นานละครจะเริ่ม ฉันรีบจ้ำเท้าฝ่าฝูงชนเพื่อไปคุยกับหนึ่งในนักแสดงคนสำคัญ
ฉากที่ 1 พลังพิเศษ [ในห้องแต่งตัวนักแสดง]
เล็ก-อานันท์ ฉันทันต์ คือหนึ่งในทีมนักแสดงที่พิการด้านการเคลื่อนไหวตั้งแต่เด็กเล่าให้เราฟังว่า การแสดงของคณะละครใบ้คนหน้าขาวแบบนี้จัดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการชวนผู้พิการหลากหลายประเภทมาร่วมแสดงเพราะ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ หนึ่งในทีมผู้กำกับเคยทำงานกับนักแสดงผู้พิการทางสายตามาก่อน เขาจึงมั่นใจว่านักแสดงพิการมีศักยภาพและทำอะไรได้มากกว่าที่หลายคนคิด
แม้ผู้กำกับจะเชื่อมั่นแต่การแสดงครั้งนี้ก็เป็นการขึ้นเวทีครั้งแรกของเล็ก ฉันสงสัยว่าอะไรที่ทำให้คนนั่งวีลแชร์อย่างเขามั่นใจว่าตัวเองจะเล่นละครได้
“เราต้องลองเปิดโอกาสให้ตัวเองก่อนต้องเชื่อก่อนว่าเราทำได้แล้วมันจะมีแรงผลักดัน” เล็กบอกเราพร้อมเล่าให้ฟังต่อว่าก่อนที่จะมาแสดงละครเวที เขาเคยลองทำส่ิงต่างๆ มากมายที่ไม่มีใครคิดว่าคนพิการจะทำได้ทั้งการดำน้ำแบบสกูบ้า การนั่งพารามอเตอร์ และการวิ่งมาราธอน
“ผมใช้ชีวิตให้เป็นปกติเลยครับ แต่ก่อนเวลาไปไหนแต่ไม่มีรถตู้ ผมก็คลานขึ้นรถ บขส.มาแล้วถ้าเราอยากไปซะอย่าง เราจะทำได้ถ้าเราเชื่อในตัวเองปุ๊บทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด” เล็กเล่าด้วยเสียงราบเรียบแต่ฉันกลับรู้สึกว่ามันช่างทรงพลังเหลือเกินเมื่อคำพูดนี้ออกจากปากของชายผู้ก้าวไปข้างหน้าด้วยสองมือ
“เคยคิดไหมคะว่าการต้องนั่งวีลแชร์คือข้อจำกัดที่ทำให้คุณแสดงได้ไม่เต็มที่” ฉันถาม
“ผมมองเป็นความพิเศษมากกว่า ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องเด่นเราจะไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองมีปมด้อย” เล็กตอบ
ฉากที่ 2 พูดได้โดยไม่ต้องใช้ดวงตา [เวทีการแสดง, ม่านเปิด]
พอได้เวลาเริ่มแสดง หอประชุมปิดไฟมืด ผู้ชมเงียบกริบ สายตาจับจ้องไปที่กลางเวทีที่มีเพียงเล็กนั่งอยู่บนวีลแชร์กลางแสงสปอตไลต์ การแสดงของเล็กเริ่มต้นขึ้นด้วยการขยับมือเพียงเล็กน้อยเล็กทำให้เรามองเห็นดอกไม้ค่อยๆ ผลิบาน ผีเสื้อตัวน้อยบินไปมาแล้วดอกไม้ดอกเดิมก็ค่อยๆ เหี่ยวเฉาลงไปต่อหน้าต่อตา
แสงไฟมืดลงอีกครั้งแล้วเสียงปรบมือของผู้ชมรอบตัวก็ช่วยยืนยันว่าไม่ได้มีฉันแค่คนเดียวที่หลงรักการแสดงของเขา
นอกจากการแสดงของเล็กยังมีละครสั้นอีกตอนที่มีชื่อว่า City Sense เป็นเรื่องราวว่าด้วยการพบกันและความสัมพันธ์ของนักแสดงละครใบ้และผู้พิการทางสายตาที่แสดงโดยนักแสดงที่พิการตัวจริง เรื่องมีอยู่ว่าทั้งสองได้พบกันด้วยความบังเอิญแล้วมิตรภาพที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งสองเริ่มหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงดิน จนค่อยๆ เติบโตเป็นดอกไม้หอมที่ทำให้หัวใจของผู้พิการทั้งสองเบ่งบานท่ามกลางเมืองที่แสนวุ่นวาย
เล็กเล่าให้ฟังว่า ท๊อฟฟี่-โสภณ ทัพกลอง นักแสดงนำที่เป็นผู้พิการทางสายตาต้องซ้อมหนักกว่าคนทั่วไปหลายเท่าเพราะเขาไม่รู้ว่าแต่ละท่าทาง ร่างกายต้องไปทางไหน ตอนซ้อมจึงต้องมีคนสอนทำท่าซ้ำๆ จนร่างกายจดจำไปเอง นี่ยังไม่นับว่าการแสดงบนเวทีสูงเป็นเรื่องอันตรายสำหรับผู้พิการทางสายตา ทุกครั้งที่เจอเวทีใหม่ท๊อฟฟี่จึงต้องเดินวัดระยะของเวทีก่อนทุกครั้ง
แม้จะไม่สามารถสื่อสารผ่านดวงตา แต่ดูจากสีหน้าท่าทางก็พอเดาได้ว่าความสุขที่ได้จากการขึ้นเวทีคุ้มค่าแค่ไหนกับความเหนื่อยยากทั้งหมดนี้
ฉากที่ 3 โลกคือละคร [เวทีการแสดง]
นอกจากละครที่เล่าเรื่องผู้พิการการแสดงครั้งนี้ ยังมีอีก 6 เรื่องสั้นที่บอกเล่าปัญหาชีวิตและสังคมที่หลากหลายได้อย่างน่าฟัง อย่างละครเรื่อง Life Time ที่เล่าชีวิตตั้งแต่เกิดจนแก่ของชายคนหนึ่งผ่านการวิ่งทางไกล ชายหนุ่มได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ ทั้งดี-ร้ายบนเส้นทางวิ่งอันไม่สิ้นสุด
ละครเรื่อง PLEASE เป็นอีกเรื่องที่เล่าความวายป่วงของการขนส่งสาธารณะได้อย่างเจ็บแสบ ตัวเอกของเรื่องคือคุณยายผู้น่าสงสารที่ต้องผจญกับเหล่าผู้โดยสาร กระเป๋ารถเมล์ และคนขับสุดเพี้ยน ที่ทำให้คนดูอย่างเราต้องลุ้นจนตัวโก่งว่ารถเมล์จะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยหรือไม่
ส่วนเรื่องที่เราขอบที่สุดต้องยกให้ OldMan เรื่องราวของคุณลุงผู้น่ารักในคืนคริสต์มาสกับแว่นตาและหนังสือเจ้าปัญหาที่ไม่เคยอยู่ที่เดียวกัน ทำให้คุณลุงต้องเหนื่อยเดินไปมาจนอ่านหนังสือไม่ได้ซักทีจนความหวังสุดท้ายของคุณลุงคือการพึ่งพี่คนดูใจดีที่ขึ้นเวทีมาช่วยอ่านข้อความในหนังสือให้เราฟังว่า..
“ฉันเป็นคนแก่ที่ไม่มีลูกหลานมาอยู่ด้วยในคืนคริสมาสต์ ฉันแค่ต้องการใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อนก็เท่านั้น พวกเธอจะร้องเพลงให้ฉันฟังได้ไหมล่ะ” พอสิ้นเสียงท่วงทำนองเพลงคริสต์มาสก็ดังขึ้นแล้วทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ช่วยกันร้องเพลงคริสต์มาสพร้อมกันดังลั่นหอประชุม
ชั่วพริบตานั้นเวทีการแสดงละครใบ้ที่เคยเงียบสนิทก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะที่ปนมากับเสียงเพลง
ขณะกำลังร้องเพลงฉันนึกย้อนไปถึงบทสนทนาที่เพิ่งคุยกับเล็กเมื่อครู่
“เรารู้สึกว่าการได้มาแสดงที่นี่คือการได้รับโอกาส แต่พอมาตรงนี้แล้วเราไม่อยากเป็นผู้รับอย่างเดียว อยากเป็นผู้ให้ด้วย เราอยากทำให้ผู้ชมมีความสุขและสนุกไปกับเรา เราต้องทำให้มันเจ๋งให้ได้” เล็กพูดต่อท้ายด้วยแววตามุ่งมั่น
ละครทั้ง 7 เรื่องจบลงไปแล้ว เสียงปรบมือและรอยยิ้มบนใบหน้าผู้ชมทั้งหมดคล้ายกำลังตอบเล็กว่าพวกเขาทำได้จริงๆ
2 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ฉันยังนึกสงสัยว่าละครเวทีที่เล่าความจริงเรื่องความพิการหรือความชราจะทำให้ผู้ชมมองโลกเป็นสีหม่นลงไหม แต่เรื่องราวบนเวทีทำให้ฉันเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องเศร้าหรือน่าสงสารอย่างที่เล็กพูด มองในอีกมุม มันคือความพิเศษ
เมื่อมองเห็นความพิเศษในตัวคนที่แตกต่างเมื่อนั้นเราจะเริ่มเข้าในความสวยงามของความหลากหลายในสังคม
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากดูละครใบ้แบบนี้บ้าง เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ คณะละครคนหน้าขาวจะมีอีเวนต์ใหญ่ระดับนานาชาติคือ ‘เทศกาลคนรักละครใบ้’ ติดตามข่าวสารได้ที่แฟนเพจ คนหน้าขาว/konnakhao นะ
ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล