The Mitchells vs. the Machines : เพราะโลกมันกว้าง คนที่บ้านจึงสำคัญ

ตั้งแต่จำความได้ ฉันไม่ค่อยได้มี deep talk กับพ่อบ่อยเท่าไหร่ พ่อของฉันเป็นคนพูดไม่เก่ง ชอบแสดงออกทางการกระทำมากกว่า ประกอบกับช่วงอายุของเราที่ห่างกันกว่า 30 ปี ทำให้บางเรื่องยิ่งพูดยาก การเปิดใจบอกว่าฉันเป็น LGBTQ+ นั่นก็เรื่องหนึ่ง 

บางครั้งฉันรู้สึกว่าพ่อมีชุดความเชื่ออีกแบบที่ขัดกับชุดความเชื่อของฉัน สุดท้ายเราก็ไม่ได้คุยกันเพราะรู้เลยว่าเราต้องทะเลาะกันแน่ๆ บางเวลาฉันก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเราเป็นเรื่องที่ยากลำบากจริงๆ

เพราะเคยมีประสบการณ์แบบนั้น ฉันจึงอินกับ The Mitchells vs. the Machines แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดจากค่าย Sony Pictures Animation เป็นพิเศษ และคิดว่าใครที่เคยรู้สึกห่างเหินกับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ก็คงอินตามได้ไม่ยาก

เพราะพ้นไปจากพล็อตเรื่องสุดคลิเช่อย่าง ‘อะไรจะเกิดขึ้นถ้าโลกทั้งใบตกอยู่ในกำมือของหุ่นยนต์ชั่วร้าย และคนที่สามารถช่วยโลกได้มีแค่ครอบครัวสุดเพี้ยนครอบครัวหนึ่งเท่านั้น?’ หัวใจของมันคือการลงไปสำรวจความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อกับลูกอย่างลึกซึ้ง

The Mitchells vs. the Machines

ครอบครัวสุดเพี้ยนที่กู้โลกด้วยลูกบ้าและความ(น่า)รัก

เกริ่นมาขนาดนี้ ขอจั่วหัวแรงๆ ว่านี่ไม่ใช่แอนิเมชั่นแนวดราม่าน้ำตาท่วมแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ในความยาวเกือบ 2 ชั่วโมงของ The Mitchells vs. the Machines หนังกลับมอบความบันเทิงให้เราอย่างเต็มแมกซ์ แม้จะเป็นงานแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของสองผู้กำกับอย่าง Michael Rianda และ Jeff Rowe แต่ภายใต้การดูแลของโปรดิวเซอร์ Phil Lord และ Christopher Miller ผู้เคยปลุกตัวต่อเลโก้ให้มีชีวิตได้อย่างสนุกสนานใน The Lego Movie (2014) ชื่อของทั้งคู่ก็การันตีว่างานนี้น่ะไว้ใจได้

“ผมพยายามจะนำสิ่งที่ผมแคร์มากที่สุดในโลก ซึ่งก็คือครอบครัวสุดเพี้ยนของผม ไปมิกซ์กับสิ่งที่ผมแคร์ในวัยเด็กอย่างหุ่นยนต์นักฆ่า” ไมเคิล หนึ่งในผู้กำกับเล่าให้ L.A. Times ฟัง 

จากไอเดียนั้นถูกต่อยอดจนกลายเป็นเรื่องราวของครอบครัว Mitchell ซึ่งประกอบไปด้วย Rick พ่อขี้กังวลที่ไม่เก่งเรื่องการใช้เทคโนโลยี, Linda แม่เสพติดโซเชียลฯ ผู้ชอบส่องอินสตาแกรมเพื่อนบ้านสุดเพอร์เฟกต์ที่เธออิจฉาอยู่ลึกๆ, Katie ลูกสาวคนโตของบ้านผู้รักการทำหนังเป็นชีวิตจิตใจ เธอมักใช้ Monchi สัตว์เลี้ยงที่แยกไม่ออกว่าเป็นหมา หมู หรือขนมปัง (?) มาเป็นดารานำในหนัง และ Aaron ลูกชายคนเล็กผู้คลั่งไคล้ไดโนเสาร์เป็นที่สุด

The Mitchells vs. the Machines

ฟังดูเป็นครอบครัวอเมริกันชนธรรมดา แต่เหล่ามิตเชลล์ก็มีปัญหาในบ้านที่ไม่ต่างจากหลายๆ ครอบครัว ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ที่พ่อกับลูกสาวรู้สึกไม่ลงรอยกัน ทั้งที่เมื่อก่อนพวกเขาเคยรักและสนิทกันมาก ริกรู้สึกว่ายิ่งเคที่โตขึ้นแล้วเธอก็ยิ่งเข้าถึงได้ยาก เขาไม่เคยเข้าใจว่าทำไมลูกถึงหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีและการทำหนังนัก ยิ่งลูกสาวมาบอกว่าจะเรียนต่อด้านการทำหนังเขาก็ยิ่งเป็นห่วง ในขณะที่เคที่มองว่าการทำหนังคือการหลบหนีจากโลกความจริงที่ไม่มีใครเข้าใจเธอ โดยเฉพาะคนที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างพ่อ

พวกเขาทะเลาะกันมาตลอด จนถึงจุดที่รุนแรงที่สุดคือหนึ่งวันก่อนที่เคที่จะย้ายออกจากบ้านไปเรียนต่อ ริกรู้ตัวว่าทำผิดพลาด เขาอยากซ่อมแซมความสัมพันธ์นี้ก่อนจะไม่มีโอกาส จึงปิ๊งไอเดียโร้ดทริปเฉพาะกิจของบ้านมิตเชลล์ที่ขนคน 4 คนกับน้องหมา 1 ตัวไปส่งเคที่ที่มหา’ลัย

แต่ก่อนจะถึงปลายทาง อยู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์กองทัพหุ่นยนต์ที่พยายามจะครองโลกด้วยการจับคนไปขังไว้ในคุกอวกาศ เหลือเพียงพวกเขาเท่านั้นที่ช่วยโลกได้! นำมาซึ่งแผนการสุดเพี้ยนที่ใช้ลูกบ้า (แบบที่คนธรรมดาจะไม่ทำแน่ๆ) ซึ่งนอกจากจะทำให้ลุ้นจิกเบาะ มันยังเรียกเสียงหัวเราะและน้ำตาได้อย่างน่าประทับใจ 

ปั่นให้สุดและหยุดที่เสียงพากย์ของหมา

หนึ่งในจุดเด่นที่ทำให้ The Mitchells vs. the Machines มีเสน่ห์คือความ ‘ปั่น’ ของมันนี่แหละ ด้วยตัวเอกอย่างเคที่เป็นเด็กฟิล์ม เธอชอบทำหนังสั้นปั่นๆ ที่มีการตบมุกด้วยจังหวะตัดต่อฉึบฉับ การใส่กราฟิกสีสันโดดเด้ง หรืออยู่ๆ ก็แทรกคลิปอะไรก็ไม่รู้เข้ามาแต่บันเทิงชิบเป๋ง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ในหนังตลอดทั้งเรื่อง

“หนังเรื่องนี้เหมือนหนังของเด็กฟิล์มที่อยู่ๆ ก็ได้งบก้อนบิ๊กเบิ้มมาทำหนัง” ไมเคิลบอก “เพราะเคที่เป็นคนทำหนัง เราจึงอยากให้หนังทั้งเรื่องให้ความรู้สึกเหมือนเคที่กำลังตัดต่อหนังเรื่องนี้อยู่ ทุกอย่างที่ใส่เข้ามาทำให้คนดูรู้สึกใกล้ชิดกับคาแร็กเตอร์ของเธอมากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกว่า ‘โอ้ว ที่ดูมาทั้งเรื่องนี่มันมาจากมุมมองของเธอนี่หว่า’” นอกจากนี้ โซนี่ยังใช้เทคนิคภาพแบบ 2D ผสมกับ 3D ที่เคยใช้กับหนังเรื่องก่อนอย่าง Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) มาสร้างสีสันให้หนังเรื่องนี้อีกด้วย

The Mitchell vs the Machines
ผู้กำกับ Michael Rianda กับเหล่ามิตเชลล์

และพอมันเป็นหนังว่าด้วยการครองโลกของหุ่นยนต์ แต่เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ตัวร้ายของเรื่องนี้เสมอไป อันที่จริง ไมค์กับเจฟฟ์ต้องการสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีในทุกด้าน ทั้งการที่มันกลืนกินเวลาชีวิตของเราไป และการที่ตัวละครอย่างเคที่ใช้มันสร้างหนังของเธอได้อย่างน่าชื่นชม

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ยัง ‘ไปสุดทาง’ ในแง่ของการพากย์เสียง ซึ่งสองผู้กำกับมองว่าเสียงพากย์ที่ดีที่สุดนั้นคือเสียงที่เหมาะสมกับคาแร็กเตอร์ที่สุด ไม่ใช่เสียงพากย์ของดาราดังที่สุดเหมือนที่แอนิเมชั่นหลายๆ เรื่องทำ และนั่นรวมถึงตัวละครหมา ‘มอนชิ’ ที่ได้หมาเซเลบอย่าง Doug The Pug มาให้เสียงพากย์

“มันเห่าและกรนใส่ไมโครโฟนประมาณ 45 นาที เราได้ยินเสียงเห่าครั้งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ‘นั่นแหละเสียงเห่าที่ใช่ เราจะใช้อันนั้น’ และเราใช้เสียงเห่าเดิมในหนังประมาณ 28 ครั้ง” ผู้กำกับเล่า

The Mitchell vs the Machines

ครั้งแรกที่เควียร์ได้เป็นตัวเอก

สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการมีตัวละคร LGBTQ+ ในเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ตัวประกอบไก่กา แต่เป็นตัวละครหลักอย่างเคที่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่สตูดิโอใหญ่ๆ ผลักดันให้ชาว LGBTQ+ เป็นตัวละครหลัก แต่นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ตัวละครนั้นยอมรับกับคนดูอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา

เคที่นั้นผ่านประสบการณ์ที่ชาวเพศหลากหลายหลายคนน่าจะเคยมีเหมือนกัน นั่นคือความรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองเป็นอะไร “พ่อแม่ของฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นอะไร” เธอบอกในช่วงแรกๆ ของหนัง อธิบายความรู้สึกแปลกแยกของตัวเองกับคนรอบข้าง “อันที่จริง ฉันก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าตัวเองเป็นอะไร” และการไปเจอสังคมใหม่ๆ ในมหา’ลัยก็ทำให้เธอได้คำตอบจนยอมรับกับพ่อแม่ว่าเดตกับผู้หญิงชื่อ Jade ในตอนจบ

“ฉันรักที่เคที่เป็นเควียร์” Abbi Jacobson ผู้ให้เสียงพากย์เปิดเผยกับเว็บไซต์ PRIDE “ฉันเป็นเควียร์ เพราะฉะนั้นมันจึงรู้สึกดีมากๆ ที่ได้ให้เสียงพากย์เป็นตัวละครวัยรุ่นที่เป็นเควียร์ในหนังแอนิเมชั่น…ฉันไม่ได้เติบโตมากับการดูหนัง (ที่มีตัวเอก) แบบนี้ และฉันคิดว่ามันสำคัญสำหรับคนดูรุ่นใหม่ๆ มากเลยล่ะ”

สำหรับแอบบี้แล้ว ภาพแทนของตัวละครหลักที่เป็นเควียร์อาจทำให้เด็กหลายคนที่ยังสับสนในตัวเองนั้นมีแรงบันดาลใจ พวกเขาสมควรที่จะได้มองเห็นคนที่เหมือนกับพวกเขาในจอใหญ่ เป็นเจ้าของเรื่องราวของตัวเอง–เหมือนเคที่ มิตเชลล์ 

เพราะโลกมันกว้าง คนที่บ้านจึงสำคัญ

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ฉันชอบที่สุดใน The Mitchells vs. the Machines คือหนังทำให้คนดูได้กลับมาตั้งคำถามกับนิยามและความสำคัญของครอบครัวอีกครั้ง

“มันเริ่มจากการเป็นหนังเกี่ยวกับคนที่พยายามจะหยุดทะเลาะกัน (เคที่กับริก) จนกลายเป็นหนังของผู้คนที่พยายามจะปรับตัวเข้าหากันอีกครั้ง ผมว่านั่นเป็นหนังที่มีความหมายนะ” ฟิลล์ โปรดิวเซอร์ของหนังตอกย้ำเมสเซจสำคัญของเรื่องนี้

เคที่กับริกอาจเหมือนฉันกับพ่อ ความเชื่อที่แตกต่างกันทำให้เธออยากตัดขาดความสัมพันธ์ หนีไปจากบ้าน ทั้งที่หากถอยกลับมามองแล้ว ทุกอย่างเกิดจากความรักและห่วงใยกันทั้งนั้น เพราะริกห่วงเคที่เกินไปโดยไม่ฟังว่าจริงๆ แล้วเธอต้องการอะไร บทสนทนาของพวกเขาจึงนำไปสู่การทะเลาะได้ทุกครั้ง ซึ่งถ้าเขาตั้งใจฟัง เขาอาจได้ยินว่าเธอไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าการสนับสนุนจากเขา การที่เขายอมรับ เชื่อใจในทุกทางเดินที่เธอจะเลือก แม้ทางนั้นจะเป็นทางที่ดูไกลตัวเขาหรือคนรุ่นเขามากก็ตาม

บางทีเราก็ต้องการแค่คนที่ซัพพอร์ตเราไม่ว่าจะทำอะไรหรือเลือกเป็นอะไร คนที่จะคอยมองเราเมื่อเราออกเดินทางในโลกที่กว้างใหญ่ คนที่มอบความรู้สึกอุ่นใจว่าเรามีบ้านให้กลับ

บ้านที่ไม่ได้จำกัดนิยามอยู่แค่สิ่งก่อสร้าง และครอบครัวก็ไม่ได้หมายถึงคนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด แต่คือคนที่หนุนหลังเราอยู่ตลอดเวลาต่างหาก

แน่นอน ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเป็นครอบครัวแบบนี้ ฉันว่ามันก็คุ้มที่จะเหนื่อยเพื่อรักษากันและกันไว้


อ้างอิง

distractify.com

latimes.com

nbcnews.com

pride.com

slate.com

AUTHOR