เราลืมนับใครในการพัฒนา The Ministry of Utmost Happiness อินเดียและเดลีในสายตา ‘อรุณธตี รอย’

Highlights

  • อรุณธตี รอยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อ The God of Small Things นวนิยายเล่มแรกของเธอคว้ารางวัล Man Booker มาได้ แต่แทนที่รอยจะเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ เธอกลับหันไปวิพากษ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอินเดีย
  • 20 ปีผ่านไป นับจากที่รอยห่างหายจากวงการวรรณกรรม ในที่สุด The Ministry of Utmost Happiness นวนิยายเล่มที่สองของเธอก็ปรากฏสู่ท้องตลาด
  • The Ministry of Utmost Happiness คือนวนิยายที่สะท้อนให้เห็นมุมมองที่รอยมีต่ออินเดียในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่ยังคงปรากฏชัดในสังคมทุกวันนี้ รอยเริ่มต้นจากเรื่องราวของฮิจราคนหนึ่ง แล้วขยายภาพกว้างให้เห็นถึงความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ในทุกหย่อมหญ้าของอินเดีย ความรุนแรงอันเกิดจากแนวคิดการพัฒนาที่เรามักมองว่าดี

ในปี 1997 ชื่อของ อรุณธตี รอย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อ The God of Small Things นวนิยายเล่มแรกของเธอคว้า Man Booker Prize มาได้ แม้ว่าจะกลายเป็นที่โจษจันเพราะงานวรรณกรรม หลังจากที่ The God of Small Things โด่งดัง แทนที่รอยจะเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ เธอกลับหันไปวิพากษ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอินเดีย และสวมบทบาทเป็นแอ็กทิวิสต์เต็มตัว

หลังจากที่ได้ Man Booker Prize รอยมอบเงินรางวัลที่ได้ให้กับ Narmada Bachao Andolan (NBA) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มุ่งต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนในอินเดียอันเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านนับล้านๆ ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย รอยหักเหความสนใจจากโลกของวรรณกรรมมาสู่ขบวนการภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ระหว่างชาวแคชเมียร์กับกองทัพอินเดีย และการสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ในการพิทักษ์ผืนแผ่นดินของพวกเขา รอยยังเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลอินเดีย อีกทั้งวิพากษ์กรณีที่สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้าสู่ประเทศอัฟกานิสถาน

20 ปีผ่านไป นับจากที่รอยห่างหายจากวงการวรรณกรรม ในที่สุด The Ministry of Utmost Happiness นวนิยายเล่มที่สองของเธอก็ปรากฏสู่ท้องตลาด

อย่างคร่าวๆ เรื่องราวของ The Ministry of Utmost Happiness หรือ กระทรวงสุขสุดๆ ในชื่อภาษาไทย เริ่มต้นด้วยชีวิตของอัญจุมฮิจรา (เพศที่สามในสังคมอินเดีย อันหมายถึงบุคคลที่มีลักษณะเป็นชาย แต่มีจริตจิตใจเป็นผู้หญิง และดำเนินชีวิตแบบผู้หญิง) ในมหานครเดลี เมื่อแรกเกิดอัญจุมไม่ได้ใช้ชื่อนี้ หากชื่อว่าอาฟตาบอันเป็นชื่อที่บิดามารดาปรารถนาจะตั้งให้กับลูกชาย

เช้าวันรุ่นขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ห้องอุ่นสบาย เธอเปลื้องผ้าอ้อมของอาฟตาบ สำรวจร่างกายน้อยๆ ตา จมูก ศีรษะ คอ รักแร้ นิ้วมือ นิ้วเท้าปลื้มใจ แต่ไม่รีบร้อนนัก แล้วพบว่าใต้อวัยวะเพศชายของลูก มีอวัยวะเพศหญิงเล็กๆ ที่ยังไม่เป็นรูปร่าง แต่เป็นอวัยวะเพศหญิงอย่างไร้สงสัย” 

ในภาษาอูรดูภาษาเดียวที่เธอรู้นั้น ทุกสิ่ง ใช่แต่สิ่งมีชีวิต แต่ทุกสิ่งพรมปูพื้น เสื้อผ้า หนังสือ ปากกา และเครื่องดนตรีล้วนมีเพศ สิ่งทั้งหลายถ้าไม่เป็นชายก็เป็นหญิง บุรุษหรือสตรี ทุกสิ่งนอกจากลูกของเธอ แน่นอน เธอรู้ว่ามีคำใช้เรียกคนอย่างเขา ฮิจรา” 

อาฟตาบเกิดมาพร้อมสองอวัยวะเพศและนั่นเป็นสาเหตุให้มารดาของเขากลัดกลุ้มใจ แม้ว่าหล่อนจะพยายามฝึกฝนหรือกระทั่งเสาะหากลวิธีให้เขาเป็นผู้ชายสักเท่าไหร่ ทว่ายิ่งอาฟตาบเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ยิ่งมั่นใจว่า ตนเองคือผู้หญิง ไม่อาจเป็นผู้ชายอย่างที่มารดาปรารถนา

เช้าฤดูใบไม้ผลิวันหนึ่ง อาฟตาบเห็นผู้หญิงร่างสูงสะโพกลีบ ทาปากสีสด สวมรองเท้าส้นสูงสีทอง แต่งชุดซัลวาร์ กะมีซ กระโปรงยาวคลุมกางเกงผ้าซาตินสีเขียววับวาว… อาฟตาบไม่เคยเห็นใครเหมือนผู้หญิงร่างสูงทาปากคนนี้มาก่อน เขาวิ่งลงบันไดสูงชัน ถลันไปที่ถนน เดินตามผู้หญิงคนนั้นไปเงียบๆ ตลอดเวลาที่เธอซื้อขาแพะติดผม ผลฝรั่ง และนำรองเท้าไปซ่อม เขาอยากเป็นอย่างเธอ” (หน้า 29)

ทว่าผู้หญิงที่อาฟตาบติดตามไปแท้จริงแล้วคือฮิจรา และนั่นก็ได้นำพาเขาไปสู่ขวาบกาห์บ้านโบราณประตูสีฟ้าอันเป็นที่อยู่ของฮิจรากลุ่มหนึ่ง อาฟตาบตัดสินใจเดินออกจากบ้านหลังเดิมและชีวิตเดิมๆ ของเขา เปลี่ยนชื่อเป็นอัญจุม ย้ายเข้ามาอยู่ในขวาบกาห์ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะฮิจรา

เรื่องราวของอัญจุมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ กระทรวงสุขสุดๆ  นั่นเพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยึดติดอยู่กับชีวิตของอัญจุมเพียงคนเดียว ทว่าแตกกระจายไปยังชีวิตอื่นๆ ที่หลากหลาย ในพื้นที่อันกระจัดกระจายของประเทศอินเดีย ทว่าบทความชิ้นนี้จะขอโฟกัสแค่ส่วนของอัญจุมเท่านั้น

ผมคิดว่าความโดดเด่นหนึ่งของ กระทรวงสุขสุดๆ อยู่ที่ฉากหลัง กล่าวคือขณะที่เรื่องราวของ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ เกิดขึ้นที่รัฐเคราลา ประเทศอินเดีย ซึ่งมีลักษณะเป็นชนบท แต่กับนวนิยายเล่มที่สอง รอยเลือกจะนำเสนอภายใต้บริบทแวดล้อมของมหานครขนาดใหญ่อย่างเดลี

ภายหลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ เมืองในอินเดียมีสถานะเป็นดั่งพื้นที่ครึ่งๆ กลางๆ’ (ambivalent space) ภายใต้วาทกรรมของความเป็นชาติเดียว (national identity) ทว่าสำหรับรอยแล้ว เธอกลับเห็นว่า

“(กระทรวงสุขสุดๆ) เป็นดั่งเมืองมันมีรูปแบบ และรูปแบบที่ว่าก็ซุ่มซ่อนอยู่ แต่มันยังมีรูปแบบ มันไม่ใช่การพอกพูนไปเรื่อยๆ แต่เป็นการโคจรรอบๆ ตัวเอง มันมีโครงสร้างอยู่ มันคือเมืองอินเดีย เมืองแห่งอาณานิคมเล็กๆ ไร้ชื่อ เมืองแห่งแรงงานผิดกฎหมาย มีฝูงวัว สรรพสัตว์ และฝูงค้างคาว คือเมืองอันเต็มไปด้วยรูพรุนด้วยแผนผังของมันเอง

พูดอีกอย่างคือ สำหรับรอย เมืองเป็นพื้นที่อันยุ่งเหยิงมากกว่าจะเป็นพื้นที่แห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นพื้นที่กระจุกตัวรวมกันของความแตกต่างหลากหลายมากกว่าจะเป็นพื้นที่ของคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในแง่นี้ แม้ว่าฉากหลังของ กระทรวงสุขสุดๆ คือเดลี เมืองใหญ่อันเป็นภาพลักษณ์ของประเทศอินเดีย ทว่ารอยกลับเลือกจับจ้องไปยังพื้นที่ชายขอบของเมืองนี้ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในยุคปัจจุบัน นั่นคือ ‘Shahjahanabad’ หรือที่รู้จักกันในชื่อเดลีเก่า’ (Old Delhi) ชุมชนมุสลิมทางตอนเหนือของเดลีที่เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิมุคัล ทว่าปัจจุบันภายใต้การปกครองประเทศของรัฐบาลพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party) อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์เชื่อมโยงอยู่กับกลุ่มชาตินิยมฮินดู เดลีเก่าในฐานะพื้นที่ของชาวมุสลิมจึงยิ่งจะถูกผลักให้เป็นชายขอบมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเป็นชายขอบของชุมชนมุสลิมในเดลีเก่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสภาวะชายขอบที่ปรากฏใน กระทรวงสุขสุดๆ เพราะสอดคล้องไปกับลักษณะทางกายภาพของเมืองเดลี รอยเชื่อมโยงประเด็นนี้เข้ากับสถานะของฮิจราที่เติบโตขึ้นในสังคมมุสลิมของอัญจุม ทว่าการรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่มของฮิจราที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาจากอดีตกาล ดังที่ตัวละครหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

ตอนที่ชฮันชาห์ จฮาน ทรงสร้างป้อมแดงกับมัสยิดจามา ตอนที่โปรดให้สร้างนครในกำแพงล้อมนี้ พระองค์โปรดให้สร้างเคหาสน์หลังน้อยนี้ของพวกเราด้วย ให้พวกเราทุกคน จงจำไว้เสมอ เราไม่ใช่ฮิจราทั่วไปจากที่ต่างๆ ทั่วไป แต่เราเป็นฮิจราของชาห์ญฮานาบาดผู้ปกครองไว้ใจให้พวกเราดูแลรานีและมารดาของพวกท่าน ครั้งกระโน้นเราเดินตามสบายในเขตหวงห้ามของป้อมแดง ตอนนี้ทุกอย่างผ่านไป ไม่เหลือพระจักรพรรดิพระราชินีแล้ว แต่เรายังอยู่ที่นี่

ภายใต้สถานะของบุคคลข้ามเพศในสังคมฮินดูมุสลิมที่กว้างขวางเกินกว่ากลุ่มเล็กๆ ของพวกเขา ฮิจรากลับเป็นภาพแทนอันชัดแจ้งของความความรุนแรงในสังคมอินเดียที่กระทำต่อมนุษย์ที่เพศภาวะ (gender) ขัดแย้งและไม่ลงรอยกับนิยามของเพศที่ระบุไว้ในความเชื่อทางศาสนา คุณค่าทางสังคม และระเบียบทางการเมือง ในทางหนึ่งร่างกายของฮิจราคือพื้นที่แห่งการปะทะของหลายๆ อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจปิตาธิปไตยที่คอยแต่จะปฏิเสธความเป็นไปได้ของการกลายเป็นอื่นผ่านสถานะของฮิจรา หรืออำนาจของศาสนาที่กำหนดรหัสไว้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์มีเพียงสองเพศคือผู้ชายกับผู้หญิง แต่พ้นไปจากอำนาจเหล่านี้ รอยเลือกเชื่อมโยงลักษณะร่างกายของฮิจรากับกายภาพของมหานครเดลีที่ดำรงอยู่ภายใต้การปะทะกันของอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของทุน อำนาจของรัฐ หรืออำนาจของศาสนา ที่เปลี่ยนแปลงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองนี้ไปเรื่อยๆ

รอบๆ ตัวเธอคือนครใหญ่ที่กระจายตัวกว้างไกลหลายไมล์ แม่มดอายุพันปียามนี้โงกง่วงแต่ไม่หลับ ถนนลอยฟ้าสีเทาเลื้อยจากกะโหลกเมดูซ่า ทั้งนังนึงและเคลื่อนคลายใต้แสงไฟโซเดียมสีเหลือง คนไร้บ้านนอนเหยียดยาวรายเรียงบนทางเท้าสูงๆ แคบๆ ไกลสุดตา ความลับแก่เก่าถูกม้วนเก็บไว้ใต้ผิวแห้งเหี่ยวหย่อนยาน รอยย่นคือถนนหนึ่งสาย ถนนแต่ละสายคืองานฉลองหนึ่งงาน ข้อที่ปวดเมื่อยแต่ละข้อคือโรงละครกลางแจ้งทรุดโทรม ที่เรื่องราวของความรัก ความบ้าคลั่ง ความโง่เขลา ความยินดี และความเหี้ยมเกรียมสุดที่จะกล่าว ได้โลดแล่นมาตลอดหลายศตวรรษ

สำหรับรอย เดลีจึงไม่ต่างอะไรกับหญิงชราอายุนับพันปี ที่แม้ว่าเรือนกายของแม่มดเฒ่าผู้นี้จะประดับประดาไปด้วยเพชรนิลจินดาระยิบระยับจากดวงไฟนับล้านๆ พาดผ่านด้วยเส้นสายของถนนลอยฟ้า

แต่ยามนี้คืออรุโณทัยแห่งการฟื้นคืนชีพ นายใหม่ของเธอต้องการซ่อนเส้นเลือดขอดปูดโปนไว้ใต้ถุงน่องตาข่ายจากต่างประเทศ ยัดเต้าเหี่ยวยานไว้ในยกทรงบุฟองน้ำ ยัดเท้าเจ็บระบมไว้ในรองเท้าส้นเข็มหัวแหลม พวกเขาอยากให้สะโพกแก่แข็งทื่อของเธอยักย้ายส่ายไหว ปรับรอยยิ้มเสียใหม่จากยิ้มแฉ่งแช่มชื้น เป็นรอยยิ้มเปล่าว่างร้างความรู้สึก นี่คือฤดูร้อนที่ยายกลายเป็นกะหรี่

แม้ว่าเดลีจะแผ่ขยายพรมแดนของเมืองไปอย่างไพศาลเพียงใด รอยกลับชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความพยายามที่จะกลบฝังความเป็นจริงอันฟอนเฟะของเมืองภายใต้ภาพลักษณ์ของการพัฒนา สำหรับรอยแล้วทุนนิยมคือพลังสำคัญที่คอยกำหนดคุณลักษณะของเดลี นั่นเท่ากับว่าพื้นที่ต่างๆ ในเมืองจึงเปลี่ยนแปลงไปเพื่อผลประโยชน์ของทุนและนายทุน ไม่ใช่เพื่อประชาชนแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เดลีจึงไม่ต่างอะไรกับโสเภณีแก่หงำ แทบไม่มีปากเสียงเป็นของตัวเอง แล้วร่างกายของยายเฒ่าก็จะยิ่งเน่าเฟะลงทุกทีจากกระแสของการพัฒนาที่ประชาชนตัวเล็กๆ แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ

แน่นอนว่าถ้ามองผ่านกระแสของการพัฒนาเมือง ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะถูกพัฒนาไปพร้อมกัน เพราะภายใต้สายตาของทุน พื้นที่หนึ่งย่อมจะมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้มากกว่าอีกพื้นที่หนึ่งเสมอ

สำหรับผมแล้ว กระทรวงสุขสุดๆ จึงเป็นนวนิยายที่สะท้อนให้เห็นมุมมองที่รอยมีต่ออินเดียในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่ยังคงปรากฏชัดในสังคมทุกวันนี้ รอยเริ่มต้นจากเรื่องราวของฮิจราคนหนึ่ง แล้วขยายภาพกว้างให้เห็นถึงความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ในทุกหย่อมหญ้าของอินเดีย ความรุนแรงอันเกิดจากแนวคิดการพัฒนาที่เรามักมองว่าดี

เปล่าเลย ไม่ใช่ว่าการพัฒนาเป็นเรื่องไม่ดี เพียงแต่ว่าการพัฒนาที่พร่ำพูดกันอยู่นี้ เรากำลังนับแค่เฉพาะใคร เพศภาวะใด หรือศาสนาใดอยู่หรือเปล่า

มีใครตกหล่นไปภายใต้กระแสของการพัฒนาหรือเปล่า

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone