หลังประสบความสำเร็จจากแอนิเมชั่นในตระกูลเจ้าหญิงอย่าง สโนไวท์ (1938) ซินเดอเรลล่า (1950) และ เจ้าหญิงนิทรา (1959) หลายคนอาจมองว่าผลงานแอนิเมชั่นเรื่องดังลำดับต่อไปอย่าง The Little Mermaid (หรือชื่อเรียกในภาษาไทย ‘เงือกน้อยผจญภัย’) คงได้รับความสนใจและเงินทุนจากผู้ผลิตอย่างท่วมท้น อันที่จริง The Little Mermaid เป็นผลงานชี้เป็นชี้ตายของทีมแอนิเมชั่นดิสนีย์ หลังวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในปี 1966
ดิสนีย์ประสบปัญหาไร้ทิศทางและผลงานที่ผลิตออกมาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น The Aristocats (1970), Robin Hood (1973) และ Pete’s Dragon (1977) ไม่สามารถสร้างกำไรจนทำให้บริษัทอยู่ในภาวะล่อแหลม มีการจ้างผู้บริหารคนใหม่และตั้งใจปรับเปลี่ยนทิศทางบริษัท จากการผลิตแอนิเมชั่นที่ต้องใช้ทุนและเวลามาก ไปสู่หนังคนแสดงที่สามารถควบคุมต้นทุนและเวลาได้มากกว่า
ทีมแอนิเมชั่นดิสนีย์รู้ดีว่าผลงานชิ้นต่อไปอาจเป็นโปรเจกต์ต่อลมหายใจครั้งสุดท้ายจึงได้หันไปใช้การนำเสนอเรื่องราวแบบใหม่ในลักษณะของละคร Broadway โดยหากเปรียบเทียบกับแอนิเมชั่นเรื่องก่อนอย่าง สโนไวท์หรือซินเดอเรลล่า บทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาเป็นเพียงองค์ประกอบรอง หากตัดออกไปผู้ชมก็ยังสามารถเข้าใจเนื้อหาได้แทบทั้งหมด แต่ใน The Little Mermaid นั้น มีการใช้เพลงเพื่อเล่าเรื่องและแนะนำตัวละคร หากดูแอนิเมชั่นเรื่องนี้แบบตัดเพลงออกจะส่งผลกระทบใหญ่ต่อเนื้อหา
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า The Little Mermaid ประสบความสำเร็จอย่างงดงามและทีมงานแอนิเมชั่นได้รับไฟเขียวให้ผลิตผลงานชิ้นต่อมาอย่าง โฉมงามกับเจ้าชายอสูรและ อะลาดิน แต่สิ่งที่ทำให้ The Little Mermaid ครองใจผู้ชมร่วมสมัย นอกจากการดำเนินเนื้อเรื่องแบบใหม่ ยังเป็นเพราะผลงานเรื่องนี้ฉีกกรอบความคิดของเจ้าหญิงในยุคก่อนที่เน้นเรื่องความรักโรแมนติกของหนุ่มสาว ไปสู่การพูดถึงประเด็นสำคัญในสังคมเช่นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การตามหาตัวตนของวัยรุ่น ไปจนถึงประเด็นเรื่องเพศทางเลือกซึ่งกำลังคุกรุ่นอยู่ในสังคมอเมริกันยุค 80s
The Little Mermaid ในเชิงสัญลักษณ์ ว่าด้วยข้อความระหว่างบรรทัดจากผู้ประพันธ์สู่ผู้อ่าน
The Little Mermaid ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์นำโครงเรื่องมาจากบทประพันธ์ของนักเขียนชาวเดนมาร์กนามว่า ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ในบทประพันธ์ต้นฉบับ กล่าวถึงอาณาจักรใต้ท้องทะเลซึ่งพ่อของเงือกน้อยเป็นผู้ปกครอง เงือกน้อยเป็นลูกคนเล็กของบ้าน เธอมีพี่สาว 5 คน แต่ละคนอายุห่างกัน 1 ปี อาณาจักรแห่งนี้มีกฎว่า เงือกที่มีอายุครบ 15 จึงจะสามารถว่ายไปบนผิวน้ำเพื่อมองเห็นโลกของมนุษย์ เงือกน้อยที่เป็นน้องคนสุดท้อง คอยฟังเรื่องราวของพี่ๆ และมีความฝันอยากเห็นโลกที่แสนสวยงามสักครั้งด้วยสายตา
เมื่อเงือกน้อยมีอายุครบ 15 ปี เธอว่ายขึ้นไปบนผิวน้ำและได้เห็นงานเลี้ยงของเจ้าชายที่เต็มไปด้วยสิ่งของแสนตระการตา เงือกน้อยตกหลุมรักเจ้าชายแต่แรกพบ และเมื่อพายุพัดเข้าทำลายเรือของพระองค์จนสิ้นซาก เงือกน้อยก็ได้เข้าช่วยชีวิตเจ้าชาย พาพระองค์ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยและได้แต่แอบดูอยู่ห่างๆ กระทั่งหญิงสาวคนหนึ่งผ่านมาพบพระองค์เข้า เจ้าชายเข้าใจผิดคิดว่าหญิงคนนี้คือผู้มีพระคุณทำให้เงือกน้อยรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก
เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เงือกน้อยตั้งคำถามถึงการมีชีวิตและได้ถามเงือกชราว่ามนุษย์นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน เงือกชรากล่าวว่าเงือกอย่างเรามีชีวิตที่ยืนยาวกว่ามนุษย์ แต่เมื่อมนุษย์ตายลง วิญญาณของพวกเขาจะคงอยู่ตลอดไป ในขณะที่เงือกอย่างเราไม่มีวิญญาณ ตายไปก็กลายเป็นแค่เพียงฟองคลื่น เงือกน้อยได้ยินดังนั้นจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะกลายมาเป็นมนุษย์ เธอไปพบแม่มดแห่งท้องทะเลเพื่อขอเปลี่ยนหางเป็นขา แม่มดเตือนว่าเธอจะเจ็บปวดเป็นอย่างมากเมื่อต้องเดินบนขาแบบมนุษย์ และหากฝ่ายชายไม่ได้มอบความรักตามที่คาดหวัง หัวใจของเงือกน้อยจะแตกสลายและเธอจะกลายเป็นฟองคลื่น
เงือกน้อยไม่กลัวความเจ็บปวดและยังยืนยันในความตั้งใจเดิม แม่มดตกลงจะเปลี่ยนเธอให้เป็นมนุษย์ใต้เงื่อนไขว่าเงือกน้อยจะต้องแลกเสียงของตนกับขา เงือกน้อยได้พบกับเจ้าชายอีกครั้งโดยเขาพาเธอมาอยู่ด้วยกันที่ปราสาท แต่กลับไม่ได้มอบความรักให้ฝ่ายหญิงดังที่คาดหวัง เจ้าชายดูแลเธอเหมือนเป็นเด็กเล็กๆ มอบเสื้อผ้าสวยงาม อนุญาตให้เงือกน้อยนอนอยู่หน้าประตูห้องนอน บนเบาะกำมะหยี่ เงือกน้อยติดตามเจ้าชายไปทุกที่ ทุกก้าวที่เธอเหยียบย่าง นำมาซึ่งความเจ็บปวดแสนทรมานดังที่แม่มดได้กล่าวไว้ เงือกน้อยฝืนยิ้มอยู่เสมอ เธอรักเจ้าชายมากขึ้นทุกวัน แต่ฝ่ายชายนั้นคิดกับเธอแค่น้องสาว
วันเวลาผ่านไปเมื่อเจ้าชายจำเป็นต้องเข้าพิธีแต่งงาน พระราชาคาดหวังให้ลูกชายสมรสกับเจ้าหญิงในอาณาจักรข้างเคียง เมื่อเจ้าหญิงปรากฏตัวขึ้น เจ้าชายจำได้ในทันทีว่าหญิงสาวคนนี้คือผู้มีพระคุณที่ได้ช่วยตนไว้ทรงมอบความรักให้หญิงผู้นั้นและตัดสินใจแต่งงานกับเธอในวันต่อมา เงือกน้อยรู้ดีว่าเมื่อเจ้าชายตัดสินใจเข้าสู่พิธีวิวาห์ หัวใจของเธอจะแตกสลายและตายในทันที บรรดาพี่สาวของเงือกน้อยต้องการช่วยน้องจึงไปพบแม่มดอีกครั้ง ยอมแลกเส้นผมของพวกเธอกับมีดวิเศษ ซึ่งหากเงือกน้อยปลิดชีพของเจ้าชายด้วยมีดอันนี้ และนำเลือดของพระองค์มาอาบขา เธอจะได้กลับไปเป็นเงือกและอยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง
เงือกน้อยไม่อาจตัดใจสังหารชายผู้เป็นที่รัก เธอรอให้แสงอาทิตย์ของวันใหม่สาดส่อง แตกสลายกลายเป็นฟองคลื่นในทะเล แต่ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ของเธอ เงือกน้อยจึงได้รับวิญญาณอมตะดังเช่นมนุษย์
บทประพันธ์ต้นฉบับของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์และตอนจบที่ไม่สมหวัง (ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงในเวอร์ชั่นของดิสนีย์) โดยเหตุที่นิทานเรื่องนี้มีตอนจบที่แสนเศร้า มาจากความจริงที่ผู้ประพันธ์ผลงาน ได้แต่งนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงปี 1836 หลังเพื่อนรักของเขา – เอ็ดเวิร์ด คอลินส์ ตัดสินใจเข้าพิธีแต่งงานกับหญิงสาวตามความคาดหวังของครอบครัว
แอนเดอร์เซนมีความรักให้เพื่อนหนุ่มมาอย่างยาวนาน เขาเขียนจดหมายบรรยายความในใจหลายฉบับ กล่าวว่าคอลินส์ทำให้เขารู้สึกเหมือนได้เป็นผู้หญิง จดหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งไปถึงผู้รับ คอลินส์ปฏิเสธความรักของเพื่อนหนุ่ม ตัดสินใจเดินตามเส้นทางซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่า แอนเดอร์เซนใจสลาย และบทประพันธ์ของเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างแยบคาย
เงือกสาวที่กำลังตามหาตัวตนและต้องการเข้าไปอยู่ในโลกเดียวกับกับฝ่ายชาย นำเสนอความสับสนของแอนเดอร์เซนที่รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับโลกในยุคร่วมสมัย ที่ซึ่งบุคคลรักร่วมเพศไม่ได้รับการยอมรับ เมื่อเงือกน้อยเสียสละหางเพื่อแลกกับขา เธอถูกพรากเสียงไป เปรียบเสมือนตัวผู้ประพันธ์ที่ต้องฝืนใจใช้ชีวิตตามความคาดหวังของสังคม ทุกก้าวที่เหยียบย่างเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เขาสูญเสียเสียงของตัวเองไปจึงไม่สามารถบอกความในใจให้ใครได้ฟัง
แอนเดอร์เซนกล่าวถึงประเด็นทางศาสนาด้วยเช่นกัน เขาถูกเลี้ยงดูมาในบ้านที่เคร่งศาสนาและถูกพร่ำบอกว่าบุคคลรักร่วมเพศไม่เป็นที่ต้อนรับในอาณาจักรของพระเจ้า พวกเขาไม่มีวิญญาณ ดังเช่นเงือกทั้งหลายที่กลายเป็นเพียงฟองคลื่นหลังจบชีวิตไป เงือกน้อยพยายามอย่างหนักที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เธอรัก เธอโหยหาความรักและการยอมรับจากเจ้าชาย ไม่ต่างจากความรู้สึกของผู้ประพันธ์ที่มีต่อสังคมในยุคเดียวกัน
ดิสนีย์กับเงือกน้อย การเปลี่ยนนิทานใจสลายเพื่อสร้างหมุดหมายทางสังคม
The Little Mermaid ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ ได้มีการขยายตัวตนของเงือกน้อยให้กว้างขวางขึ้น ไม่เพียงแต่กลุ่ม LGBTQ เท่านั้น แต่รวมไปถึงวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-16 ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องตัวตน การไม่เป็นที่ยอมรับ และการถูกบังคับทำตามความคาดหวังของครอบครัว เมื่อเงือกน้อย (ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ใช้ชื่อว่าแอเรียล) บอกเพื่อนฝูงและครอบครัวเกี่ยวกับความฝันของเธอซึ่งต่างจากค่านิยมในสังคม พวกเขามีท่าทีต่อต้าน บิดาของแอเรียลถึงขั้นใช้วิธีรุนแรง ทำลายของสะสมของลูกสาวจนทำให้แอเรียลหันไปพึ่งเออร์ซูล่าเพื่อเป็นการต่อต้านครอบครัว
เออร์ซูล่าเป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากทีมงานดิสนีย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงอย่าง Divine นักแสดงชายชาวอเมริกันที่โด่งดังจากการแสดงแบบแต่งกายข้ามเพศ (cross-dressing performance) ลอร่า เซลส์ นักวิชาการท่านหนึ่งได้เคยเขียนบทความวิเคราะห์และเสนอว่าเพลง Poor Unfortunate Souls ซึ่งเป็นเพลงของเออร์ซูล่าขณะพยายามสอนแอเรียลให้พิชิตใจชายโดยไม่จำเป็นต้องใช้วาจา (แต่ใช้หน้าตาและภาษากาย) ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากแดร็กโชว์
เออร์ซูล่าแสดงท่าทางการแต่งหน้า โยกย้ายส่ายสะโพก โดยกล่าวว่าการเป็นผู้หญิงในโลกของผู้ชายนั้นไม่จำเป็นต้องเปล่งวาจา เพียงแต่แสดงท่าทางให้เป็นที่พอใจก็เพียงพอ และเมื่อฝ่ายหญิงสามารถแสดงได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถควบคุมผู้ชายให้เป็นได้ดั่งที่เธอต้องการ ‘บทบาทของเออร์ซูล่าคือการสอนให้เเอเรียลรู้เข้าใจความเป็นเพศหญิง ซึ่งไม่ใช่หมวดหมู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นการแสดงออก’ เซลส์กล่าว เออร์ซูล่า – ในมุมมองของเซลล์ คือตัวแทนของสตรีนิยม ความลื่นไหลของเพศ และอำนาจต่อรองของสตรี อย่างไรก็ดี ตัวละครอย่างเออร์ซูล่าถูกนำเสนอในฐานะสุภาพสตรีชั่วร้ายและถูกทำลายโดยอำนาจของบุรุษ (พ่อของแอเรียล)
มองในมุมหนึ่ง The Little Mermaid ซึ่งถูกนำออกฉายในปี 1989 ได้ฝากเสียงสะท้อนหลายอย่างซึ่งเป็นตัวแทนค่านิยมในยุคนั้น วัยรุ่นผู้สับสนกับการตามหาตัวตน ความรักและเข้าใจของครอบครัวซึ่งเป็นพลังสำคัญ ถึงอย่างนั้นทางเลือกที่ทำให้แอเรียลได้พบตอนจบที่ happy ending ก็ยังผูกกับค่านิยมของสตรีที่ต้องกลับไปคืนดีกับครอบครัว แต่งงานกับผู้ชายที่รัก รับบทบาทเป็นภรรยา น่าสนใจว่า The Little Mermaid ในรูปแบบ Live-Action ของดิสนีย์ จะมีการตีความตัวละครเออร์ซูล่าออกมาในรูปแบบไหน
The Little Mermaid ในบริบททางประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าที่ว่าน่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนในความเป็นจริง
ต่างจากแอนิเมชั่นเจ้าหญิงยุคก่อนหน้า The Little Mermaid ไม่ได้อ้างอิงยุคสมัยในประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนนัก เนื่องจากเจ้าของบทประพันธ์เป็นชาวเดนมาร์ก คนส่วนใหญ่จึงมองว่าท้องเรื่องของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ก็ควรจะอ้างวัฒนธรรมของเดนมาร์กเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีทีมงานของดิสนีย์ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า พวกเขาเลือกนำเสนอฉากต่างๆ ใน The Little Mermaid อ้างอิงจากภูมิประเทศในแถบเมดิเตอเรเนียนซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่า
เนื่องจากบทประพันธ์ต้นฉบับเขียนขึ้นในปี 1836 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าชุดของเเอเรียลในแอนิเมชั่นอาจอ้างอิงแฟชั่นยุโรปในยุคนั้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในทศวรรษที่ 1830s นิยมชุดที่มีแขนพองขนาดใหญ่ ส่วนกระโปรงนั้นก็บานออกเป็นอย่างมาก ซึ่งค่อนข้างตรงกับชุดสีชมพูที่เเอเรียลสวมใส่ในแอนิเมชั่น อย่างไรก็ดีความถูกต้องตามประวัติศาสตร์อาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้นเพราะเครื่องแต่งกายอื่นๆ ในเรื่อง – ไม่ว่าจะเป็นชุดของเจ้าชายเอริก หรือชุดของแอเรียลในตอนท้ายเมื่อเธอเดินขึ้นมาจากน้ำในชุดวิบวับสีเงิน ก็ไม่ได้เป็นไปตามแฟชั่นของยุคสมัยเดียวกัน
เป็นไปได้เหมือนกันที่แขนเสื้อแบบพอง อ้างอิงมาจากแฟชั่นยุค 80s ซึ่งแขนเสื้อแบบนี้กลับมาเป็นที่นิยมในช่วงที่แอนิเมชั่นถูกสร้าง ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป The Little Mermaid ของดิสนีย์ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจเกาะเกี่ยวกับคอนเทกซ์ทางประวัติศาสตร์ แต่เน้นไปที่การนำเสนอเนื้อหาแบบร่วมสมัย ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจาก สโนไวท์ ซินเดอเรลล่า และ เจ้าหญิงนิทรา
การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการกล้าที่จะคิดนอกกรอบสร้างความสำเร็จครั้งใหญ่ให้กับดิสนีย์ ผลกำไรจาก The Little Mermaid ทำให้บริษัทกลับมาตั้งมั่นอย่างมั่นคงและสามารถขยายธุรกิจในแทบทุกด้าน ศาสตราจารย์ลี อาร์ทซ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสาร Purdue University Northwest ถึงขั้นกล่าวว่า ดิสนีย์ในยุคต่อจากนี้กลายมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการผลิตและเผยแพร่วัฒนธรรมตามสมัยนิยม ‘ไม่มีใครท้าทายดิสนีย์ แอนิเมชั่นของพวกเขาไม่เพียงสร้างความคึกคักในทางเศรษฐกิจแต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากในเชิงวัฒนธรรม’
References:
‘The Little Mermaid’ Was Way More Subversive Than You Realized https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/little-mermaid-was-way-more-subversive-you-realized-180973464/
QUEERNESS, HANS CHRISTIAN ANDERSEN, AND THE LITTLE MERMAID https://bookriot.com/queerness-little-mermaid/
The Little Mermaid: Origin & Story Summary https://study.com/academy/lesson/the-little-mermaid-origin-story-summary.html
The Little Mermaid by Hans Christian Andersen (1836) http://hca.gilead.org.il/li_merma.html
Rating Disney Princess Dresses on Historical Accuracy (Part One)https://www.youtube.com/watch?v=UeRa9bEhgXg&t=735s
The True History of The Little Mermaid | Fairy Tales with Jen https://www.youtube.com/watch?v=PuSqIpqJ-Xc