จิตวิทยาของ Alice in Wonderland วรรณกรรมอายุกว่า 100 ปีที่หยิบมาทำกี่ทีก็ประสบความสำเร็จ

อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland) เป็นนวนิยายชิ้นโบแดงที่ประสบความสำเร็จแทบทุกทางไม่ว่าจะในฐานะวรรณกรรมสำหรับนักอ่าน แอนิเมชันสำหรับเด็ก หรือไลฟ์แอ็กชันสำหรับผู้ชมทั่วไป อลิซในดินแดนมหัศจรรย์เป็นความฝันของวอลต์ ดิสนีย์ เจ้าของสตูดิโอที่อยากนำวรรณกรรมเรื่องนี้มานำเสนอในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว และในอีกหลายปีต่อมา แอนิเมชันเรื่องเดียวกันก็กวาดรายได้ในฐานะไลฟ์แอ็กชันจนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญให้ดิสนีย์หันกลับมาทำภาพยนต์คนแสดงหลังหยุดทำไปนานร่วม 10 ปีเพราะผลตอบรับของภาพยนต์ 101 Dalmatians (1996) ไม่ได้ออกมาดีนัก อะไรคือเวทมนตร์เบื้องหลังความสำเร็จของ Alice in Wonderland? 

แรงบันดาลใจจากเด็กหญิงที่มีตัวตนอยู่จริง 

ลูอิส แคร์รอล (นามปากกาของ ชาร์ลส์ ดอดจ์สัน นักเขียนชาวอังกฤษ)

Alice’s Adventures in Wonderland หรือ Alice in Wonderland เป็นผลงานของ ลูอิส แคร์รอล (นามปากกาของ ชาร์ลส์ ดอดจ์สัน นักเขียนชาวอังกฤษ) ว่ากันว่าแคร์รอลเขียนนิยายเรื่องนี้โดยนำแรงบันดาลใจมาจากเด็กหญิงที่มีอยู่จริงคือ อลิซ ลิดเดลล์ ลูกสาวของ เฮนรี ลิดเดลล์ คณบดี Christ Church College ของมหาวิทยาลัย Oxford 

แคร์รอลสนิทสนมกับครอบครัวลิดเดลล์เป็นพิเศษ เขามีความสนใจในการถ่ายภาพและได้รับอนุญาตจากครอบครัวลิดเดลล์ให้บันทึกภาพลูกสาวสามคนของครอบครัวนี้คือ ลอริน่า อีดิธ และ อลิซ สภาพความเป็นอยู่ในอ็อกซ์ฟอร์ดค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับเด็กหญิงทั้งสาม ดังนั้นแคร์รอลจึงพาเด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ รวมถึงการพายเรือเพื่อชื่นชมธรรมชาติ​ ในระหว่างกิจกรรมเหล่านี้ แคร์รอลได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กสาวที่หลบหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงผ่านทางโพรงกระต่าย เข้าไปสู่โลกอีกใบที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์โดยมอบชื่อของตัวละครเอกในเรื่องนั้นว่าอลิซ 

อลิซ ลิดเดลล์ เด็กหญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครอลิซ

แม้เรื่องราวการผจญภัยของอลิซจะถูกแต่งขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับเด็กหญิงวัยเยาว์ แต่ต่อมาเมื่อเขาได้รวบรวมเรื่องเล่าเป็นรูปเล่มและนำไปจัดพิมพ์ (ด้วยการสนับสนุนของคุณพ่อของอลิซ) หนังสือกลับได้รับความสนใจสูงมาก กลายเป็นวรรณกรรมเรื่องโปรดของนักเขียนชื่อดังอย่าง ออสการ์ ไวลด์ ไปจนถึงประมุขคนสำคัญอย่างควีนวิกตอเรีย 

ความสำเร็จของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์มาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เรื่องเล่าของแคร์รอลแปลกใหม่และเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างมาก โลกของเขาแปลกประหลาด ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ร่างกายของอลิซเปลี่ยนแปลงไปมา เดี๋ยวหดเล็ก เดี๋ยวขยายใหญ่คล้ายจะเป็นการเปรียบเปรยการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของเด็กหญิงอลิซในวัย 8 ขวบ 

ก่อนหน้าวรรณกรรมเรื่องนี้ นักอ่านชาวอังกฤษไม่คุ้นกับเรื่องราวในโลกมหัศจรรย์ที่มีตัวเอกเป็นเด็กหญิงตัวน้อย ส่วนบทสนทนาของอลิซก็มีความแปลกใหม่ มีทั้งความสงสัย ความกล้าหาญแบบเด็กๆ แต่ก็ดูฉลาดเฉลียวไปพร้อมๆ กัน 

ท่านดัชเชส งานภาพประกอบจากจอห์น เทนนิล นำแรงบันดาลใจจากภาพวาด The Ugly Duchess ภาพวาดชิ้นดังจาก The National Gallery กรุงลอนดอน

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้อลิซถูกอกถูกใจผู้อ่านมาจากผลงานภาพประกอบโดย จอห์น เทนนิล (John Tenniel) ที่ถ่ายทอดโลกสุดประหลาดออกมาได้อย่างน่าตกตะลึง ตัวละครบางตัวของเทนนิล เช่น ท่านดัชเชส ซึ่งอลิซได้พบในโลกมหัศจรรย์โดยกล่าวว่าเธอนั้น “น่าเกลียดเป็นอย่างมาก” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาด The Ugly Duchess ภาพวาดชิ้นดังจาก The National Gallery กรุงลอนดอน 

ผลงานชิ้นนี้เป็นของศิลปินจากเบลเยียมชื่อ เควนติน แมตซิส วาดในปี 1513 นำเสนอภาพของสตรีสูงวัยที่สูงศักดิ์ ร่ำรวย แต่อัปลักษณ์ ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบว่าบุคคลในภาพมีตัวตนจริงหรือไม่ และอาจเป็นผลงานแนวตลกขบขัน เสียดสีสังคม การนำภาพวาดที่คนอังกฤษรู้จักและเข้าใจเรื่องราวเบื้องหลังมาใช้ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจมุขตลกของเรื่องได้ง่ายขึ้น 

การผจญภัยของอลิซเป็นเรื่องราวชวนหัวของคนปกติดีในโลกที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง เด็กคนไหนที่เคยเบื่อกับการเจอผู้ใหญ่ทะเลาะกันวุ่นวาย คุณครูเจ้าระเบียบบ้าอำนาจที่ชอบกลั่นแกล้งเด็กในชั้น หรือกระทั่งโรงเรียนที่เต็มไปด้วยกฎบ้าๆ บอๆ ก็อาจจะเข้าใจอลิซและมีความรู้สึกร่วมกับเธอได้ไม่ยาก ส่วนผู้ใหญ่ที่อยากหลบหนีความจริงเข้าสู่โลกไร้เหตุผลหลังโพรงกระต่าย ก็อาจพบว่าเรื่องราวของอลิซทำให้พวกเขาหัวเราะได้ไม่น้อยไปกว่ากัน 

อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ผลงานในฝันของวอลต์ ดิสนีย์ 

คอนเซ็ปต์อาร์ตของอลิซเวอร์ชันปี 1951
คอนเซ็ปต์อาร์ตของอลิซเวอร์ชันปี 1951

การนำวรรณกรรมชิ้นนี้มาสร้างใหม่เป็นแอนิเมชันเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับดิสนีย์ เพราะแม้ว่าหนังสือเรื่องนี้จะเป็นที่นิยมและคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่เสน่ห์ของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์อยู่ที่การเขียนและภาพประกอบ หากจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้จะต้องอาศัย Concept Art ที่น่าตื่นตา รวมไปถึงบทสนทนาและการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ วรรณกรรมเล่มนี้ไม่ได้จับหัวใจอย่างงานคลาสสิกเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กวางน้อยแบมบี้ ช้างน้อยดัมโบ้ หรือเจ้าหุ่นพิน็อกคิโอ หัวใจของการสร้างอลิซในดินแดนมหัศจรรย์คือการเล่าเรื่องระหว่างทางให้น่าตื่นเต้นและชวนติดตาม 

มิกกี้ในปี 1930 เมื่อเขาเข้าไปในโลกกระจกและเจอกับบรรดาไพ่

ในปี 1930 ดิสนีย์ผลิตตอนหนึ่งของแอนิเมชันมิกกี้เมาส์ เล่าเรื่องของมิกกี้ที่หลุดเข้าไปในโลกหลังกระจกแล้วต้องผจญภัยกับบรรดาไพ่ทั้งหลาย เราพบว่าดิสนีย์มีแผนที่จะสร้างอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ในรูปแบบแอนิเมชันตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930s แต่ยังหาแนวทางที่ถูกใจไม่ได้ ภายหลังเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โปรเจกต์นี้ถูกพับเก็บไปนานถึง 20 ปี กว่าดิสนีย์จะตัดสินใจนำผลงานชิ้นนี้มาทำใหม่กลายเป็นแอนิเมชันอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ที่ออกฉายกันในปี 1951 

ฉากเดินขบวนของทหารไพ่ มีการเลือกใช้ท้องฟ้าสีเทากับพื้นดินสีมรตกเพื่อดึงให้สีของทหารไพ่สีขาวแดงดูโดดเด่นและน่าตื่นตา

ในเวอร์ชันนี้ ดิสนีย์ได้ Concept Artist ฝีมือดีอย่างแมรี แบลร์ เข้ามาช่วยทำคอนเซ็ปต์ตัวละครให้ เธอยังเป็นผู้กำหนด Colour Palette ซึ่งจะบอกว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ควรใช้สีเพื่อสื่อสารอารมณ์ในทิศทางไหน หากเรามองผลงานชิ้นนี้ให้ดีจะพบว่าการใช้สีของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์เวอร์ชันปี 1951 มีความคอนทราสต์เป็นอย่างมาก นอกจากสีสันฉูดฉาด ยังมีการตัดสีที่เป็นเอกลักษณ์เช่นในฉากเดินขบวนของทหารไพ่ มีการเลือกใช้ท้องฟ้าสีเทากับพื้นดินสีมรตกเพื่อดึงให้สีของทหารไพ่สีขาวแดงดูโดดเด่นและน่าตื่นตา 

ในส่วนของการนำเสนอเนื้อหา ดิสนีย์ปรับให้เรื่องเล่าในเวอร์ชันของเขามีความเป็นมิวซิคัลมากขึ้น มีการแต่งเพลงประกอบเรื่องมากกว่าผลงานในยุคเดียวกัน และที่สำคัญ การวาดตัวละครในรูปแบบแอนิเมชันได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแสดงของบุคคลจริง แคธริน โบมอนต์ เลอวีน – ผู้ให้เสียงอลิซ ต้องสวมบทบาทเป็นอลิซจริงๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักวาด แต่ฉากที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุด คือการแสดงของเธอร่วมกันกับ เอ็ด วินน์ – ผู้ให้เสียงแมด แฮตเตอร์ (Mad Hatter) ในฉากงานเลี้ยงน้ำชา เพราะปรากฏว่าเสียงสดที่ใช้ในการแสดงถูกนำมาใช้จริงในแอนิเมชัน เนื่องจากเข้าถึงอารมณ์มากกว่างานอัดในห้องเสียง 

แคธริน โบมอนต์ เลอวีน – ผู้ให้เสียงอลิซ ต้องสวมบทบาทเป็นอลิซจริงๆ
แมด แฮตเตอร์ หรือช่างทำหมวกบ้า ให้เสียงโดยเอ็ดวินน์

แมด แฮตเตอร์ หรือช่างทำหมวกบ้า เป็นตัวละครที่โดดเด่นมีสีสันมากเพราะนอกจากบุคลิกจะแปลกประหลาดยังมีบทพูดและการเรียกร้องความสนใจที่แหวกแนว ที่มาของชื่อ แมด แฮตเตอร์ มาจากสำนวนอังกฤษที่มีอยู่แล้วคือ Mad as a hatter เนื่องจากหมวกเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมมากในช่วงศตวรรษที่ 18-19 แต่อุตสาหกรรมนี้ใช้สารปรอทไนเตรตเป็นส่วนหนึ่งในการแปรรูปขนสัตว์ให้สามารถนำมาติดกับหมวกได้ สารที่ว่านี้มีความเป็นพิษสูงทำให้ช่างทำหมวกมีอาการหลอนประสาท พูดจาติดขัด ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ กลายเป็นที่มาของสำนวน บ้าเหมือนช่างทำหมวก (Mad as a hatter)

ทิม เบอร์ตัน กับการพาอลิซในดินแดนมหัศจรรย์สู่ไลฟ์แอ็กชันที่ประสบความสำเร็จ

“เป้าหมายหลักคือการสร้างภาพยนต์ให้สื่อสารกับผู้ชม เป็นการนำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปแต่ยังรักษาความคลาสสิกไว้ ผู้ชมต้องสามารถสัมผัสถึงจิตวิทยาของเรื่อง” ทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับชาวอเมริกันกล่าวไว้เช่นนี้เกี่ยวกับการนำวรรณกรรมคลาสสิกมาถ่ายถอดใหม่เป็นภาพยนตร์เวอร์ชันคนแสดงเมื่อปี 2010 

นิตยสาร Philosophy Now กล่าวถึงอลิซในเวอร์ชัน ทิม เบอร์ตัน ที่พยายามใส่แนวคิดจิตวิทยา รวมไปถึงประเด็นเฟมินิสต์เข้าไปในตัวหนังโดยสะท้อนผ่านตัวละครอลิซซึ่งมีความคิดไม่เหมือนสตรีทั่วไปในยุคเดียวกัน มีความขัดแย้งกับแม่ แต่มองพ่อเป็นต้นแบบของชีวิต เธอปฏิเสธการแต่งงาน หลบหนีไปยังโลกมหัศจรรย์ที่ซึ่งการค้นหาตัวตนของเธอนำไปสู่ตอนจบที่น่าประทับใจ

ในภาพยนต์เวอร์ชันนี้เรายังได้รู้จักตัวละครผู้หญิงสองท่านที่นำเสนอบุคลิกที่แตกต่าง ราชินีสีแดง (The Red Queen) เป็นตัวแทนสังคมเผด็จการ เธอปกครองด้วยความกลัวจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นทรราช ประชาชนใต้ปกครองของราชินีต้องทำตามกฎที่ไม่มีที่มา ใครขัดความคิดของราชินีจะต้องถูกตัดหัวสถานเดียว บุคลิกเช่นนี้สะท้อนความคิดที่อลิซมีต่อมารดา 

Red Queen ปกครองแบบเผด็จการ
White Queen ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระปราศจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับทั้งหลาย

ในขณะที่ราชินีสีขาว (The White Queen) ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระปราศจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับทั้งหลาย นิตยสาร Philosophy Now อธิบายว่าราชินีสีขาวนำเสนอเฟมินิสต์ที่ไม่ถูกกดทับโดยสังคมปิตาธิปไตย อลิซมองเห็นราชินีพระองค์นี้ว่าอยู่ในรูปลักษณ์ที่เหมาะสม ไม่ตัวเตี้ยเกินไป ไม่มีหัวที่ใหญ่เกินไป แต่เป็นความพอดี และที่สำคัญ ราชินีสีขาวเป็นตัวละครที่สนับสนุนอลิซให้เป็นสิ่งที่เธอต้องการ 

อลิซและดาบของเธอในภารกิจสุดท้าย

เป้าหมายของอลิซคือการเอาชนะราชินีสีแดงและช่วยเหลือราชินีสีขาวให้สามารถกลับมาครองบัลลังก์ แต่ในภารกิจครั้งนี้อลิซจะต้องตามหาดาบวิเศษ ดาบในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา หากไม่มีปัญญา แม้จะมีความกล้าหาญเพียงใดก็ไร้ผล สถานการณ์ที่อลิซต้องฝ่าฟันคือการหาคำตอบให้เจอว่าทำไมเธอถึงไม่พอใจสถานการณ์ในชีวิต และหากต้องการเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เธอจะต้องตัดสินใจอย่างไร 

เมื่ออลิซเอาชนะการต่อสู้ทั้งหลายเธอจึงมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่เธอต้องการ เธอสามารถปฏิเสธบทบาทตามจารีต มุ่งหน้าสู่การผจญภัยครั้งใหม่ อลิซเริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังเป็นผู้หญิงคนเดิมที่มีจิตใจงดงาม ฉลาด กล้าหาญ และโอบอ้อมอารี การผจญภัยของอลิซทั้งหมดนี้นำพาอลิซไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์แบบและสง่างาม


อ้างอิง:

Local Lives – Alice Liddell

Reflections On Alice | A Making of Alice in Wonderland (1951)

Alice in Wonderland

Why Cinderella is Disney’s Only Good Live-Action Remake

10 things you didn’t know about Alice in Wonderland

Alice in Wonderland: 150 years on, what’s the secret of its success?

Where did the phrase “mad as a hatter” come from?

AUTHOR