นับเป็นการกลับมาที่คุ้มค่าแก่การรอคอย ‘Moana 2’ เล่าถึงการผจญภัยครั้งใหม่ในท้องทะเลของ ‘โมอาน่า’ หญิงสาวผู้กล้าหาญที่เติบโตขึ้น และพร้อมพาหมู่เกาะโมทูนุยก้าวไปข้างหน้า โดยภาคนี้สามารถสร้างรายได้เกือบ 50 ล้านบาท หลังเปิดตัวไปเพียงสัปดาห์แรก ทั้งยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ซึ่งหนึ่งในความโดดเด่นของแอนิเมชัน Moana 2 คืองานภาพที่งดงามตระการตา และอลังการยิ่งกว่าภาคแรก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานภาพ (Visual) คือองค์ประกอบสำคัญของหนังทุกเรื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยสื่อสารเรื่องราวแล้ว ยังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่การเนรมิตโลกจินตนาการในภาพยนตร์แอนิเมชันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสร้างสรรค์ภาพ 3 มิติเสมือนจริง จากบทภาพยนตร์และ Storyboard ที่เป็นเพียงตัวอักษรหรือภาพร่าง 2 มิตินั้น ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงเทคนิคพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญอย่างตำแหน่ง Layout Artist
หนึ่งในทีมงานเบื้องหลังคนสำคัญของโปรเจกต์ Moana 2 คือ ‘ธิดา-ถิรดา กังวานเกียรติชัย’ จากเด็กที่ชื่นชอบการถ่ายภาพและวาดรูป สู่ Layout Artist ชาวไทยแห่ง Walt Disney Animation Studios บริษัทผลิตภาพยนตร์ระดับโลก แต่กว่าจะได้มายืนอยู่จุดนี้ เธอต้องสั่งสมประสบการณ์เกือบ 7 ปี ครั้งนี้เราจึงชวนเธอมาบอกเล่าเส้นทางการทำงานในตำแหน่ง Layout Artist เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่มีความฝันอยากจะทำงานด้านนี้
จุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับ Walt Disney Animation Studios เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ก่อนหน้านี้ ธิดาทำงานเป็น Layout Artist ในเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดาอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับที่ Disney Animation Studios มาเปิดสตูดิโอสาขาใหม่ที่เมืองนี้ในปี 2022 เราจึงลองยื่นใบสมัครไป เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ถือว่าโชคดีมากที่ทาง Disney กำลังพัฒนาโปรเจกต์ Moana 2 พอดี
คิดว่า Walt Disney Animation Studios เล็งเห็นอะไรในตัวคุณ
น่าจะเป็นความสามารถในสายงานนี้ เพราะธิดาสะสมประสบการณ์ตำแหน่ง Layout Artist เกือบ 7 ปี ทาง Disney จึงเล็งเห็นว่า ทักษะการทำงานของเราสามารถเติบโตไปกับบริษัทได้ รวมถึงนิสัยส่วนตัวของเราค่อนข้างร่าเริง เป็นตัวของตัวเอง และเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ซึ่งเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture)
ในฐานะที่คุณทำงานเป็น Layout Artist มาเกือบ 7 ปี คิดว่าตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อการสร้างแอนิเมชันอย่างไรบ้าง?
ตำแหน่ง Layout Artist มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างงานแอนิเมชัน เพราะเปรียบเสมือนรากฐานในการบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพ ผ่านการสร้างวิสัยทัศน์ของหนังให้มีชีวิตขึ้นใน 3D Space พร้อมทั้งกำหนดมุมกล้อง องค์ประกอบ และการเคลื่อนไหวภายในฉาก ซึ่งส่งผลให้การถ่ายทอดเนื้อเรื่องและอารมณ์ต่างๆ เข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น
หากไม่มีการจัดวาง Layout ที่ชัดเจน ภาพยนตร์จะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ Layout ต้องเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างแนวคิด (Idea) และภาพ (Visual) เพื่อให้ทุกองค์ประกอบสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
การออกแบบงานศิลป์ในแอนิเมชัน Moana 2 เป็นอย่างไรบ้าง
การออกแบบงานศิลป์ใน Moana 2 ต้องสอดคล้องกับภาคแรก และอยู่ภายในโลกเดียวกัน ผ่านการจัดวางองค์ประกอบของภาพและมุมกล้อง เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครสู่ผู้ชมให้ดีที่สุด โดยไม่ได้เน้นเพียงการสรรค์สร้างภาพเท่านั้น แต่ยังต้องสื่อสารให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงโลกจินตนาการนี้ได้ด้วย
ใน Moana ภาค 2 จะมีสิ่งแวดล้อมและสถานที่ที่มากกว่าเดิม ซึ่งแต่ละฉากจะใช้แสง สี และเอฟเฟกต์ที่แตกต่างกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครต่างๆ ที่มี Mood & Tone ไม่เหมือนกัน โดยตำแหน่ง Layout Artist จะจัดมุมกล้องและแสงไฟในภาพรวม เพื่อนำเสนอต่อผู้กำกับว่า 3D แต่ละฉากจะออกมาเป็นอย่างไร
ในส่วนของการออกแบบภาพเคลื่อนไหว คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากที่สุด
สำหรับการออกแบบมุมกล้อง และการเคลื่อนไหวต่างๆ ธิดาจะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หลักที่เกิดขึ้นในฉากนั้น อย่างเช่น ความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้คือฐานข้อมูลสำคัญของการออกแบบ Visual ให้ส่งเสริมเนื้อเรื่อง โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจังหวะ มุมมอง วิธีการวางกล้องต่อสภาพแวดล้อมในฉาก และความชัดลึกของแสง เพื่อดึงความสนใจจากผู้ชม
นอกจากนี้ การเลือกใช้เทคนิคมุมกล้องแต่ละแบบก็ต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาของฉากนั้นด้วยเช่นกัน เพราะในซีนอารมณ์จะวางมุมกล้องแตกต่างจากซีนผจญภัย เช่น ในซีนต่อสู้จะเคลื่อนไหวกล้องให้ลื่นไหลไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของตัวละคร ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ตัวละครกำลังอยู่บนผืนน้ำจริงๆ หรือในซีนอารมณ์จะใช้เทคนิคภาพนิ่ง เพื่อเน้นความตึงเครียด และถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครอย่างลึกซึ้ง
วิธีถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาพ สำหรับ Layout Artist เป็นอย่างไร?
ธิดามีโอกาสสร้างฉากเปิดตัวครั้งแรกของ ‘มาวี’ ในภาพยนตร์เรื่อง Moana 2 ซึ่งไม่เคยปรากฏในภาคแรก จึงถือเป็นฉากมาสเตอร์พีซสำหรับเรา โดยในฉากนี้ ตัวละครมาวีจะยืนอยู่ในสถานที่ลึกลับ และมีภาพด้านหลังเป็นเงาทรงกลมเรืองแสง
ในฐานะ Layout Artist ต้องพยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความลึกลับของทรงกลมนั้น ผ่านการจัดองค์ประกอบภาพ ‘ทรงกลม’ ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของหน้าจอ ในขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวกล้องตามการเคลื่อนไหวของตัวละคร และใช้มุมมองบุคคลที่ 3 จำกัดมุมมอง (Third-person Limited Point of View) เพื่อเพิ่มความลึกลับของฉากนี้
ในมุมมองของคุณ คิดว่าจุดเด่นด้านงานศิลป์ของ Moana 2 คืออะไร?
เอกลักษณ์ด้านงานศิลป์ที่โดดเด่นของ Moana 2 คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อม ฉากหมู่เกาะ น้ำทะเล ทราย และต้นไม้ต่างๆ อย่างเสมือนจริง แต่ยังคงความเวทมนต์ของแอนิเมชัน โดยเฉพาะภาคนี้มีตัวละครร้ายคือ ‘เทพเจ้าแห่งพายุ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีความยิ่งใหญ่ จึงจำลองค่อนข้างยาก
ด้วยความที่ Moana ภาคแรกได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก สำหรับคุณ การสร้างผลงานในภาคต่อมีความท้าทายอย่างไรบ้าง?
เนื่องจากภาคแรกประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้มีแฟนคลับชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างล้นหลาม การสร้างภาค 2 จึงถือเป็นความท้าทาย เพราะต้องสร้างผลงานให้มีคุณภาพสมกับการรอคอยของผู้ชม
Moana ภาคแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘โมอาน่า’ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีต และการตามหาตัวตนของโมอาน่า แต่ภาค 2 จะนำเสนอเส้นทางการก้าวไปสู่อนาคตของโมอาน่า รวมถึงผู้คนในชุมชนหมู่เกาะโมทูนุย จึงไม่ได้เล่าเพียงแค่การผจญภัยของโมอาน่า แต่ยังมีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มอรรถรสด้วย ทีม Layout Artist จึงมีโอกาสได้จัดแสดงสภาพสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ในเกาะโมทูนุย เช่น โรงต่อเรือแคนู และไร่เผือก ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดโลกของ Moana ที่กว้างขึ้น
นอกจากการผจญภัยต่อสู้ที่จัดจ้าน ทั้งบนบกและในทะเลแล้ว ยังมีส่วนของละครเพลง (Musical) ผสมร่วมด้วย ทำให้การจัดวางหรือเคลื่อนไหวกล้องในบางฉากต้องมีความสอดคล้องต่อดนตรี เพื่อให้ภาพ (Visual) ลื่นไหลไปพร้อมกับจังหวะและเนื้อหาของภาพยนตร์
การพูดคุยกับ ‘ธิดา ถิรดา’ ในครั้งนี้ ทำให้เราได้สัมผัสแพสชันของ ‘คนมีฝัน’ ซึ่งทำสิ่งที่รักอย่างเต็มที่ แน่นอนว่า การไปทำงานใน Walt Disney Animation Studios หรือองค์กรระดับโลกนั้นเป็นเรื่องยากที่หลายคนไม่กล้าใฝ่ฝัน แต่ธิดาไม่เคยย่อท้อต่อเส้นทางเดินนี้ เธอยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานให้มากที่สุด เพื่อรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสม และ ‘โอกาส’ ที่เป็นของเธอจริงๆ
อย่ายอมแพ้ที่จะไขว่คว้าความสำเร็จ เพราะไม่มีอะไรได้มาด้วยความบังเอิญ