คนค่อมแห่งนอเทรอดาม แอนิเมชันดิสนีย์ที่ดาร์กที่สุด?

เมื่อพูดถึงยุคเรอเนสซองส์ของดิสนีย์หลายคนอาจนึกถึงแอนิเมชันที่โด่งดังและประสบความสำเร็จทั้งในเวทีรางวัลและรายได้ จริงๆ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของแอนิเมชันช่วงทศวรรษที่ 1990s คือการที่ดิสนีย์พยายามนำเสนอประเด็นด้านสังคมสอดแทรกลงไปในเนื้อหาซึ่งหากมองให้ดีจะพบว่าแอนิเมชันสวยงามอย่าง ‘โฉมงามกับเจ้าชายอสูร’ มีประเด็นหนักๆ อย่างการถูกขับออกจากสังคม (ostracism) ‘ไลออนคิง’ พูดถึงการทรยศหักหลังในครอบครัว ‘โพคาฮอนทัส’ พูดถึงการเหยียดเชื้อชาติ ส่วน ‘มู่หลาน’ ก็สร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับสังคมที่ด้อยค่าเพศหญิง (misogyny) โดยประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้ในโลกความเป็นจริง แต่ดิสนีย์ได้นำมาสอดแทรกไว้ในโลกแห่งเทพนิยายและได้ใช้วิธีนำเสนอที่สนุกสนานจนทำให้ผู้ชมอายุน้อยมองเห็นประเด็นเหล่านี้ด้วยวิธีที่ไม่รุนแรงจนเกินไป 

แม้จะประสบความสำเร็จกับแนวทางที่ว่า แต่ก็มีผลงานอยู่หนึ่งชิ้นคือคนค่อมแห่งนอเทรอดาม ที่ดูเหมือนจะพยายามดันเพดานให้สูงขึ้น พาผู้ชมไปสำรวจประเด็นอ่อนไหวหลายอย่างพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่นการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ การปลุกระดมฝูงชน อคติในระบบกฎหมาย ไปจนถึงประเด็นด้านศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศ และความสำคัญของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมของรัฐ กระทั่งมีผู้ปกครองบางท่านรู้สึกผิดหวังกับการพาบุตรหลานไปรับชม เพราะมันซับซ้อนมากไป ไม่เหมาะสมกับเด็กเอาเสียเลย ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เรทเดียวกันกับภาพยนตร์แฟนตาซีโลกสวยอย่างเงือกน้อยผจญภัยและอีกหลายเรื่องก่อนหน้า ดิสนีย์มีความคาดหวังอย่างไรกับแอนิเมชันเรื่องนี้และตำนานคนค่อมแห่งนอเทรอดามเป็นวรรณกรรมในช่วงไหนของประวัติศาสตร์? 

วรรณกรรมเพื่อสถาปัตยากรรม คนค่อมแห่งนอเทรอดามกับความพยายามของวิกตอร์ อูโก

วิกตอร์ อูโก เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดท่านหนึ่งในศตวรรษที่ 19 แม้ว่าเขาจะเข้าเรียนวิชากฏหมาย แต่ก็มีผลงานเขียนออกมาตั้งแต่อายุน้อย บทกวีของอูโกเคยได้รับรางวัลจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 18 และเป็นที่จับตามองมาตั้งแต่ตอนนั้น ในปี 1831 อูโกออกผลงานชิ้นใหม่เป็นนิยายที่ใช้ชื่อน่าสนใจอย่าง The Hunchback of Notre Dame (คนค่อมแห่งนอเทรอดาม) ชื่อนิยายของอูโกบ่งบอกชัดเจนถึงจุดประสงค์สำคัญสองอย่างจากนักเขียน 1.เพื่อกล่าวถึงสุนทรียภาพแบบโรแมนติกที่พูดถึงความสวยงามและความอัปลักษณ์ 2.เพื่อช่วยปลุกกระแสอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในรูปแบบกอธิกที่กำลังถูกทิ้งขว้างและรื้อสร้างเป็นอาคารในรูปแบบทันสมัย อูโก เชื่อว่าพลังของวรรณกรรมจะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความงดงามของศิลปะสไตล์นี้ และได้เลือกเอาวิหารนอเทรอดามเป็นฉากหลัง โดยหากกลับไปอ่านต้นฉบับของนักเขียนฝรั่งเศสผู้นี้ จะพบว่ามีการบรรยายความสวยงามของวิหารอย่างละเอียดและตั้งใจ และได้มีการกล่าวในบทสุดท้ายว่าวิหารแห่งนี้อาจจะต้องสูญหายไปจากพื้นโลกเช่นเดียวกับเรื่องราวของคนค่อม 

สถาปัตยกรรมวิหารนอเทรอดามถูกนำเสนออย่างสวยงามในแอนิเมชัน การนำเรื่องดาร์กๆ และประเด็นด้านศาสนามาเป็นธีมหลักค่อนข้างต่างจากแอนิเมชันเรื่องอื่นในยุคเดียวกันของดิสนีย์
งานเขียนของวิกตอร์ อูโก มีจุดหมายสำคัญเพื่อทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสวยงามของวิหารซึ่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมากในยุคนั้น

งานเขียนของอูโกได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้อ่าน ปลุกกระแสให้ประชาชนหันมาสนใจมหาวิหารที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมเต็มที ต่อมาจึงมีการลงงานเพื่อบูรณะวิหารนอเทรอดามอย่างจริงจังในอีก 11 ปีต่อมา 

อีกหนึ่งประเด็นที่อูโกได้เลือกหยิบมาบอกเล่าคือความสวยงามและความอัปลักษณ์ โดยใช้ฉากหลังเป็นนครปารีสในปี 1482 (ตรงกับปลายรัชสมัยของกษัตริย์หลุยส์ที่ 11) เรื่องราวตามต้นฉบับของอูโกกล่าวถึงชายที่มีรูปร่างผิดปกตินามควาซีโมโดซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในวิหารนอเทรอดาม รับหน้าที่เป็นผู้ตีระฆังบอกเวลา ควาซีโมโดถูกรับเลี้ยงโดยโฟรโล ผู้เป็นนักบวชในคริสตศาสนามีตำแหน่งเป็นอัครพันธบริกร (archdeacon) ตำแหน่งนี้ถือว่ารองจากบิชอป ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมุขนายกในโบสถ์ต่างๆ 

โฟรโลรับเลี้ยงควาซีโมโดที่ถูกนำมาทิ้งไว้ในโบสถ์ เนื่องจากเขานึกถึงน้องชายและได้สอนให้ควาซีโมโดรู้จักการอ่านและเขียน แต่ควาซีโมโดในเวอร์ชันของอูโก นอกจากจะมีรูปร่างผิดปกติ เป็นคนหลังค่อม ตาบอดหนึ่งข้าง ยังมีปัญหาด้านสติปัญญาทำให้ท้ายที่สุดสามารถทำหน้าที่เป็นได้เพียงคนลั่นระฆังของวิหาร

โฟรโลเฝ้าบอกควาซีโมโดว่าโลกภายนอกนั้นโหดร้ายและไม่ต้อนรับผู้มีรูปลักษณ์แปลกไปจากตน แต่ควาซีโมโดไม่เชื่อและแอบออกไปนอกวิหารในวันที่มีงานเทศกาลจำอวด (Festival of Fools) ในงานครั้งนี้มีการประกวดว่าใครแต่งกายได้อัปลักษณ์ทั้งสุด ปรากฏว่าควาซีโมโดได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะ โฟรโลตามมาจนพบควาซีโมโดและยังได้เห็นนางยิปซีสาวสาวชื่อเอสเมอรัลดาซึ่งเข้ามาเต้นรำหาเงินในงาน โฟรโลหลงใหลในตัวเอสเมอรัลดา จึงได้ออกคำสั่งให้ควาซีโมโดลักพาตัวหญิงสาวมาให้เขา โชคดีที่ผู้กองฟีบัสหยุดเหตุได้ทัน ควาซีโมโดถูกจับขึ้นศาล และมีการตัดสินให้โบยในที่สาธารณะ 

ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศจากผู้มีอำนาจในแอนิเมชันเรื่องนี้อาจเทียบได้กับแคมเปญ me too ในยุคปัจจุบัน

ควาซีโมโดมองไปยังโฟรโลเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่โฟรโลไม่สนใจ เป็นเอสเมอรัลดาที่ทนการกระทำรุนแรงไม่ไหว เธอปลอบใจและนำน้ำมาให้ควาซีโมโดซึ่งทำให้เขาประทับใจและหลงรักเธอในที่สุด เอสเมอรัลดาสามารถครอบครองหัวใจของชายสามคนพร้อมๆ กัน คือโฟรโล ควาซีโมโด และผู้กองฟีบัส ปรากฏว่าฝ่ายหญิงมีใจให้ผู้กองฟีบัส ทั้งสองนัดพบกันแต่โฟรโลทราบเข้าและได้ตามไปทำร้ายผู้กองฟีบัสต่อหน้าเอสเมอรัลดา 

เอสเมอรัลดาถูกยัดข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงาน ผู้กองฟีบัสเองก็เชื่อว่าเอสเมอรัลดาและพวกยิปซีของเธอตั้งใจซุ่มทำร้ายหมายเอาชีวิตเขา เอสเมอรัลดาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ก่อนที่จะโดนโทษประหาร ควาซีโมโดโหนเชือกลงมาจากวิหารเพื่อช่วยเอสเมอรัลดา เขาซ่อนเธอไว้ในวิหารและทำการป้องกันไม่ให้ใครเข้าถึงตัวสาวยิปซีได้ ในระหว่างนั้นโฟรโลแอบมาพบเอสเมอรัลดาเพื่อเสนอว่าเขาจะช่วยให้เธอให้พ้นความตาย แลกกับการที่เอสเมอรัลดาจะยอมมาเป็นภรรยาของเขา 

เอสเมอรัลดาปฏิเสธ กว่าควาซีโมโดจะรู้ตัวและตามมาหา เอสเมอรัลดาก็ถูกประหารไปเสียแล้ว เมื่อเห็นร่างของสาวในดวงใจถูกแขวนคอ ควาซีโมโดสติหลุดและได้เข้าโจมตีโฟรโล โยนเขาลงจากวิหาร เมื่อเห็นว่าเอสเมอรัลด้าและโฟรโลเสียชีวิต ควาซีโมโดได้แต่ร้องไห้และกล่าวว่า บุคคลทั้งสองเป็นเพียงสองสิ่งที่เขารัก นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวเมืองปารีสได้เห็นคนค่อมแห่งนอเทรอดาม หลายปีต่อมาเมื่อมีการขุดสุสานแถวนั้น คนขุดสุสานพบร่างของหญิงผู้หนึ่งกับชายที่มีโครงกระดูกผิดรูป เป็นไปได้ว่าควาซีโมโดฆ่าตัวตายหลังจากเหตุในคืนนั้น กลายเป็นจุดจบแสนเศร้าของนิยายที่กินใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก

คนค่อมแห่งนอเทรอดาม จากนิยายสายดาร์กสู่การ์ตูนเด็ก? 

แม้คนค่อมแห่งนอเทรอดามจะเป็นแอนิเมชันเก่าที่ออกฉายมาแล้วกว่า 25 ปี (เรื่องนี้ออกฉายในปี 1996) แต่สื่อหลายสำนักก็ยังยกให้แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นผลงานที่ดาร์กที่สุดของดิสนีย์ แม้จะมีการเปลี่ยนเนื้อเรื่องหลายอย่างให้เหมาะสำหรับเด็ก เช่น การเปลี่ยนตอนจบให้สมหวัง เอสเมอรัลดากับผู้กองฟีบัสได้ครองรักกัน ส่วนควาซีโมโดนั้น แม้จะอกหักจากหญิงสาวแต่ก็อวยพรให้ทั้งสองมีความสุข และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนในปารีส 

ควาซีโมโดอวยพรให้เอสเมอรัลดากับผู้กองฟีบัส รางวัลของพระเอกไม่จำเป็นต้องเป็นความรักเสมอไป

เพื่อไม่ให้แอนิเมชันเรื่องนี้ดูโจมตีศาสนามากเกินไป มีการเปลี่ยนบทของโฟรโลจากนักบวชมาเป็นผู้พิพากษา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีประเด็นหลายอย่างที่ดูไม่ค่อยเหมาะสมกับเด็กเช่นความลุ่มหลงที่โฟรโลมีต่อเอสเมอรัลดา หรือประเด็นด้านการกวาดล้างชาวยิปซีซึ่งถือเป็นคนนอกศาสนาออกจากปารีส โดยดีสนีย์ได้ใช้วิธีบอกเล่าประเด็นเหล่านี้อย่างชาญฉลาดคือการเล่าด้วยเพลงและภาพที่เหมือนจะหลุดออกมาจากจินตนาการ 

อันที่จริงกองเซนเซอร์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีปัญหากับเนื้อหา แต่มีการขอว่าให้ปรับซาวนด์เอฟเฟ็กต์ในแอนิเมชันให้เบาลง เพื่อไม่ให้ผู้ชมที่มีอายุน้อยรู้สึกตกใจ ส่วนเพลงที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดในเรื่องอย่าง Hellfire ซึ่งเป็นส่วนที่โฟรโลสารภาพความในใจต่อพระแม่มารีเรื่องที่เขามีความลุ่มหลงต่อเอสเมอรัลดาและได้โทษว่าเป็นเพราะถูกเธอใช้มนต์ดำล่อลวง ก็ได้มีการตัดคำว่า ‘บาป’ (sin) ออกไป แต่ใช้เอฟเฟ็กต์ดึงเสียงขึ้นมาแทน ผู้ชมพอจะเดาได้ว่าตัวละครกล่าวถึงบาป แต่ไม่ได้มีการใส่คำร้องลงไปเพื่อเลี่ยงกองเซนเซอร์ 

เพลง Hellfire ที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุด แต่กลับไม่ถูกเซนเซอร์ แค่ให้ลดซาวด์เอฟเฟ็กต์ลงเท่านั้น ทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจกับการจัดเรตติ้ง

อย่างไรก็ดี แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีนักจากกลุ่มผู้ชม นำไปสู่ข้อครหาต่อกองเซนเซอร์ว่าทำไมปล่อยให้แอนิเมชันที่มีเนื้อหารุนแรงได้เรท G (General Audiences – หมายถึงภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย) เท่ากับซินเดอร์เรลลาและเงือกน้อยผจญภัย 

หนังสือพิพม์ New York Times เคยทำบทความเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นำไปสู่ข้อสรุปว่ากองเซนเซอร์ในช่วงทศวรรษที่ 1990s ยังไม่ได้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดนัก แต่หากคนค่อมแห่งนอเทรอดามออกฉายในปัจจุบัน ก็คงไม่สามารถได้รับเรท G หากยังมีเนื้อหาและคำพูดในรูปแบบเดิม 

แอนิเมชันที่ดาร์กที่สุดของดิสนีย์?

ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าทำไมดิสนีย์จึงนำวรรณกรรมสุดดาร์กของ วิกตอร์ อูโก มาปรับปรุงใหม่เป็นแอนิเมชัน เป็นไปได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990s แอนิเมชันของดิสนีย์ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก จึงมีช่องว่างให้เกิดการทดลองโครงเรื่องในรูปแบบอื่น 

คนค่อมแห่งนอเทรอดามแม้จะไม่ถูกใจบรรดาผู้ปกครองหรือไม่เหมาะสำหรับเด็ก แต่ได้รับเสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์ในเชิงบวก ตัวเรื่องมีความเคารพต้นฉบับเป็นอย่างมาก การดัดแปลงเนื้อหาเป็นไปอย่างมีเหตุผล ตัวละครมีความเป็นคนซึ่งทำให้เรื่องยิ่งน่ากลัวไปใหญ่เพราะเหมือนเราจะสามารถพบเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางมิชอบและซ่อนความชั่วร้ายของตนไว้ใต้เหตุผลทางกฎหมายได้ในชีวิตประจำวัน 

อีกจุดหนึ่งที่ดิสนีย์ดูจะตีความไปได้ไกลกว่าต้นฉบับ คือการนำเสนอมุมมองของศาสนาซึ่งสามารถถูกใช้เพื่อสร้างหรือทำลายคน อยู่ที่คนผู้นั้นจะตีความเป็นอย่างไร โฟรโลกวาดล้างชาวยิปซีโดยอ้างเหตุผลทางศาสนา แต่นักบวชในเรื่องนี้ก็เป็นผู้ห้ามไม่ให้โฟรโลฆ่าควาซีโมโดตั้งแต่ตอนเป็นทารก  นักบวชประจำวิหารนอเทรอดามยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเอสเมอรัลดาขณะโดนโฟรโลตามจับ เรายังเห็นภาพของประชาชนชาวปารีสที่สวดอ่อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อตัวเอง ตัดสลับกับเอสเมอรัลดาที่สวดภาวนาเพื่อผู้อื่น

บทบาทของนักบวชในเรื่องที่คอยช่วยเหลือผู้ยากไร้

เมื่อเอสเมอรัลดาถามควาซีโมโดว่าผู้ชายใจร้ายอย่างโฟรโลเลี้ยงดูควาซีโมโดให้เป็นคนที่มีจิตใจเอื้ออารีได้อย่างไร ควาซีโมโดกล่าวว่าโฟรโลไม่ใช่คนชั่วช้า และเขาให้ปกป้องดูแลควาซีโมโดในตอนที่ไม่มีใครต้องการ (แน่นอนว่าในตอนนั้นควาซีโมโดยังไม่รู้ว่าโฟรโลเป็นเหตุให้มารดาของตนต้องถึงแก่ความตาย) ควาซีโมโดมองโฟรโลในแง่ดี ซึ่งอาจเป็นข้อความที่แอนิเมชันเรื่องนี้ต้องการส่งต่อ เนื้อแท้ของมนุษย์นั้นไม่อาจเปลี่ยนได้ ควาซีโมโดเป็นคนจิตใจดี และการที่เขาเป็นผู้ลั่นระฆังโบสถ์เป็นการเปรียบเปรยว่าคนค่อมผู้มีใบหน้าอัปลักษณ์มีหัวใจเช่นทูตสวรรค์ ทูตสวรรค์ต่อให้อยู่ในโคลนตมก็ยังมีจิตใจที่ซื่อตรงดั่งทอง 

ควาซีโมโดทำหน้าที่เป็นคนลั่นระฆังและมองปารีสจากด้านบน เทียบได้กับทูตสวรรค์ที่มีจิตใจงดงาม
อย่างไรก็ดี บทบาทของศาสนามีจำกัดและอาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจ

ในตอนท้ายของเรื่องเมื่อโฟรโลตัดสินให้เผาเอสเมอรัลดาทั้งเป็น เราเห็นว่านักบวชประจำวิหารนอเทรอดามปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง เขาพยายามห้ามเหตุตรงหน้าแต่ถูกทหารของโฟรโลห้ามไว้ แสดงให้เห็นว่าบทบาทของศาสนามีอยู่ในพื้นที่จำกัด และหากผู้มีอำนาจต้องการ ก็อาจบิดเบือนศาสนาเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ต่างจากการตั้งตนเป็นพระเจ้า 

โฟรโลไม่เพียงจ้องทำลายเอสเมรัลดาที่ปฏิเสธรักจากเขา เขายังสั่งให้เผาทำลายวิหารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา ปรากฏว่าชาวเมืองทนต่อสิ่งนี้ไม่ไหวอีกต่อไป พวกเขาจับอาวุธเข้าสู้ ปล่อยชาวยิปซีที่ถูกกักขังและเมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดจบลง ประชาชนแห่งปารีสก็ต้อนรับควาซีโมโดซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือเอสเมอรัลดาจากความตาย ประเด็นสุดท้ายที่แอนิเมชันฝากไว้คือการลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับอำนาจและความอยุติธรรม 

เมื่อรวมประเด็นต่างๆ ไว้ด้วยกัน คนค่อมแห่งนอเทรอดามแม้ไม่ใช่หนังที่เหมาะสมสำหร้บเด็กอย่างที่ผู้ปกครองตั้งใจ แต่แอนิเมชันเรื่องนี้ก็ได้ทิ้งข้อคิดหลายอย่าง ซึ่งหากเรากลับไปชมใหม่อีกครั้งในช่วงเวลาและอายุที่ต่างไป ก็อาจพบข้อความน่าสนใจที่ถูกซ่อนไว้ในระหว่างบรรทัด 

References

The Hunchback of Notre Dame

The Hunchback of Notre Dame” is finished

Why ‘The Hunchback of Notre Dame’ is one of Disney’s greatest films

The Hunchback of Notre Dame’ at 25: ‘The Most R-Rated G You Will Ever See

Why The Hunchback of Notre Dame Is Still One of Disney’s Best Movies

The VERY Messed Up Origins of Hunchback of Notre Dame

The Hunchback Of Notre Dame Was Dark, But Disney’s Message Is Important

The Dark Truth About Disney’s The Hunchback of Notre Dame

AUTHOR