The Grimm Variations : นิทานพี่น้องกริมม์ฉบับอนิเมะ ที่ทั้งเก๋สุด บ้งสุด และเบียวสุด

ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักนิทานอย่าง ซินเดอเรลล่า, หนูน้อยหมวกแดง หรือ ฮันเซลกับเกรเทล ไม่ว่าจะจากการอ่าน ดูแอนิเมชัน หรือภาพยนตร์ดัดแปลง เอาเข้าจริงแล้วนิทานเหล่านี้มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีการเล่าต่อและดัดแปลงมาเรื่อยๆ จนแทบจะสืบสาวถึงต้นกำเนิดได้ยาก เช่น หนูน้อยหมวกแดงนั้นมีหลายเวอร์ชันมาก ทั้งแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่นางเอกกับคุณยายถูกช่วยออกมาจากท้องหมาป่าได้ และแบบหดหู่ที่ทั้งสองถูกจับกิน

บุคคลผู้มีบทบาทอย่างมากต่อนิทานและเทพนิยายก็คือ พี่น้องตระกูลกริมม์ (ยาค็อบ และ วิลเฮล์ม กริมม์) นักวิชาการชาวเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ทำการรวบรวมและเรียบเรียงเรื่องเล่าต่างๆ จนกลายเป็นหนังสือ Children’s and Household Tales ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1812 เช่นนั้นแล้วพี่น้องกริมม์จึงไม่ใช่ ‘นักแต่งนิทาน’ หากมีสถานะเป็น ‘นักเล่านิทาน’

ในโลกสมัยใหม่ นิทานของพี่น้องกริมม์ถูกประเมินคุณค่าใหม่ในหลายแง่ เช่น มันโหดร้ายเกินกว่าจะให้เด็กอ่านหรือไม่ เพราะหลายเรื่องมีฉากรุนแรง (ราชินีในเรื่องสโนไวท์ถูกบังคับให้ใส่รองเท้าเหล็กร้อนและเต้นรำจนขาดใจตาย) หรือมีคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวละครหญิงในนิทานกริมม์มักถูกทรมาทรกรรม ไม่ก็เป็นหญิงบ้าโหดเหี้ยม บางคนเลยหัวร้อนว่า เอ๊ะ นี่เหยียดเพศหรือเปล่า แต่อีกฝั่งก็ปรามว่าใจเย็นก่อนโยม พี่น้องกริมม์เขาแค่เอาเรื่องเล่ามาร้อยเรียง ไม่ได้แต่งเอง และแก่นหลักของทุกเรื่องคือสุดท้ายแล้วคนที่มีจิตใจดีงามจะเป็นผู้มีความสุข

ในช่วงศตวรรษที่ 21 นิทานกริมม์ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แบบตีความใหม่หลายเรื่อง อาทิ A Cinderella Story (2004 – ซินเดอเรลล่าแบบหนังรอมคอมวัยรุ่น) หรือ Red Riding Hood (2011 – หนูน้อยหมวกแดงแบบสยองขวัญ) และล่าสุดคือ The Grimm Variations (2024) แอนิเมชันญี่ปุ่น 6 ตอนที่เพิ่งฉายทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา

จุดที่น่าสนใจของ The Grimm Variations คือการออกแบบตัวละครโดยกลุ่มนักเขียนชื่อดังอย่าง Clamp (เจ้าของผลงานดัง Magic Knight Rayearth และ Cardcaptor Sakura) ส่วนสตูดิโอผู้รับผิดชอบแอนิเมชันชุดนี้คือ WIT Studio ที่มีชื่อเสียงจาก Attack on Titan สามซีซันแรก นอกจากนั้นทั้ง 6 ตอนยังกำกับโดยผู้กำกับหกคน ทำให้มีสไตล์ที่หลากหลายดังนี้

ตอนที่ 1 Cinderella : ซินเดอเรลล่าฉบับญี่ปุ่นย้อนยุค พล็อตเรื่องคล้ายกับต้นฉบับที่ว่าด้วยนางเอก, แม่เลี้ยง และพี่สาวทั้งสอง หากแต่ซินเดอเรลล่าเวอร์ชันนี้อาจจะไม่ใช่เหยื่อใสซื่ออย่างที่เราคุ้นชิน อีพีนี้โดดเด่นด้วยบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจและตัวละครที่ดูหลอนๆ เสียแต่ว่า เดาเรื่องง่ายไปหน่อย ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์นัก

ตอนที่ 2 Little Red Riding Hood : อีพีสองมีเซ็ตติงที่กิ๊บเก๋ เป็นโลกยุคอนาคตที่ทุกอย่างแปรสภาพเป็นดิจิทัลและความเป็นจริงเสมือน (VR) หากแต่ยังมีมนุษย์บางกลุ่มที่โหยหาความจริงจับต้องได้ ตัวเอกเป็นเศรษฐีร่ำรวยล่อลวงหญิงยากไร้มาฆ่า เพราะเขาถวิลหาเนื้อและเลือดสดๆ ถือเป็นตอนที่รุนแรงสุดของซีรีส์ชุดนี้ (จนบางครั้งแอบคิดว่ามันต้องโหดขนาดนั้นเลยหรือ) แต่คอนเซปต์นั้นถือว่าน่าสนใจ

ตอนที่ 3 Hansel and Gretel : ยังเป็นเรื่องราวสองพี่น้องเจอบ้านกลางป่าเต็มไปด้วยขนมหวานแบบที่เราคุ้นชิน แต่เด็กสองคนนี้กลับอยู่ในโรงเรียนประจำที่มีบรรยากาศเคร่งครัดน่าขนลุก (ซึ่งบรรยากาศเหมือนกับนิยายเรื่อง Never Let Me Go ของคาสึโอะ อิชิงุโระ มากไปหน่อย) และอีพีนี้ก็หักมุมในทิศทางที่ไม่เกินคาดเดานัก

ตอนที่ 4 The Elves and the Shoemaker : ถือเป็นอีพีที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด จากเรื่องราวของภูตจิ๋วที่ช่วยทำรองเท้า กลายมาเป็นนักเขียนที่ได้พบกับเด็กสาวลึกลับ จากนั้นก็มีต้นฉบับปริศนาวางอยู่บนโต๊ะทุกเช้า ช่วงแรกเขายังตั้งคำถามถึงที่มา แต่จากนั้นก็หลงระเริงไปกับความสำเร็จที่ได้มาจากงานอันไม่ได้ทำเอง เป็นการตั้งคำถามถึงศักดิ์ศรีของศิลปินและมนุษย์อย่างเจ็บปวด ทำให้เห็นว่าประเด็น Existential Crisis เป็นเรื่องคลาสสิกเสมอ

ตอนที่ 5 The Town Musicians of Bremen : เป็นนิทานที่ชาวไทยอาจไม่คุ้นสักเท่าไร ต้นฉบับจะว่าด้วยลา หมา แมว ไก่ ที่ช่วยกันต่อตัวเป็นเงาประหลาดเพื่อไล่โจร ฉบับอนิเมะดัดแปลงให้เป็นแนว Neo-Western (หนังคาวบอยร่วมสมัย) เล่าถึงผู้หญิง 4 คนที่ต้องต่อสู้กับเหล่าโจร แต่อีพีนี้ค่อนข้างจะทำเอามันจนไม่ค่อยเหลือความลึกซึ้งอะไร แม้จะพยายามชูเรื่องเฟมินิสต์ก็ตาม

ตอนที่ 6 Pied Piper of Hamelin : ถือเป็นอีพีปิดท้ายที่ดี เพราะเป็นการดัดแปลงแบบไม่แคร์ต้นฉบับเท่าไร นักเป่าปี่มีบทบาทเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนเรื่องราวหลักคือหมู่บ้านประหลาดที่ใช้ชีวิตแบบสังคมปิด มีหญิงชราเป็นผู้นำและคุมกฎเกณฑ์ทุกอย่าง เธอพยายามจับหลานสาวแต่งงานเพื่อจะสร้างครอบครัวและสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อไป แล้วยังมีตัวละครครูหนุ่มที่หลงใหลในนางเอก แต่ก็ต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจตัวเอง จุดเด่นของอีพีนี้คือทุกตัวละครล้วนเป็นสีเทา มีดีมีชั่วปนกันไป เสียดายแค่ว่าตอนจบออกจะหลุดโลกจนเบียวไปสักหน่อย

โดยสรุปแล้ว The Grimm Variations อาจไม่ใช่การตีความนิทานกริมม์ที่แปลกใหม่หรือออริจินอลมากนัก แต่ดูจนจบทั้งหกตอนก็เพลิดเพลินพอประมาณ ไม่ได้รู้สึกเสียเวลาชีวิตจนเกินไป และอย่างน้อยที่สุดหากพี่น้องกริมม์มีโอกาสได้ชม พวกเขาก็คงไม่หงุดหงิด ไม่หัวร้อน ไม่กำหมัด (เดาเอานะ) 

ที่มารูปประกอบ

https://twitter.com/NetflixAnime

AUTHOR