ไม่มีปลาดิบซาชิมิ ไม่มีราเมน แต่มีเต้าหู้สดใหม่ที่ค่าย Smallroom พร้อมเสิร์ฟให้ทุกคน!
ประโยคข้างต้นนี้ ค่าย Smallroom ไม่ได้จะมาทำอาหารแต่อย่างใด แต่หมายถึง TOFU วงน้องใหม่เจ้าของเพลงฮิตภาษาสวยอย่าง ‘WE ALWAYS KNEW’ ที่สร้างไวรัลไปทั่วโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่าหลายคนชื่นชอบและรู้จักพวกเขาจากเพลงนั้น แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเป็นเพลงของคนไทย!
เราขอเล่าสั้นๆ ว่า TOFU (โทฟุ) คือวงอัลเทอร์เนทีฟประกอบด้วยสี่หนุ่มจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ชอบแนวดนตรีไม่เหมือนกันเลยคือ บิ๊ง-วฐา อุ่นอัมพร (ร้องนำ/กีตาร์), โบ-วรรธนะ ธราวัฒนธรรม (กีตาร์), ออม-ธิติสรร ภูคงนิน (กลอง) และ พีซ-ภูริภัทร์ กลั่นเรืองแสง (เบส)
ส่วนที่มาของชื่อวงเกิดมาจากการทำเพลงของพวกเขาที่สามารถปรุงแต่งได้หลากหลายแนวและมีความแปลกใหม่อยู่เสมอ เปรียบเหมือนกับเต้าหู้ ที่ดูเหมือนรสชาติจืดชืด แต่ก็สามารถไปผสมได้ในทุกเมนูอาหาร พร้อมเรื่องราวเบื้องหลังอย่างแท้จริงว่า เป็นชื่อที่สุ่มตั้งขึ้นมามั่วๆ แล้วค่อยมาหาความหมายและคำนิยามกันทีหลัง
หลายคนอาจจะเคยรู้จักพวกเขาตั้งแต่ช่วงทำเพลงแรกๆ และจับตาเอาใจช่วยมาตลอด 4 ปี วันนี้พวกเขาเปิดตัวในฐานะวงน้องใหม่ของค่าย Smallroom นอกจากความอร่อยในความหลากหลายของแนวเพลง และพวกเขาเลือกที่จะทำเพลงที่แตกต่างมารวมกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มคนฟังในบ้านเรามากขึ้น เรารับประกันว่า ถ้าคุณได้ลองชิมแล้วอาจจะเป็นรสชาติที่คาดไม่ถึง
รสชาติที่ว่าจะเป็นยังไง ประตูค่ายห้องเล็กเปิดรอให้ทุกคนก้าวเข้ามาชิมพร้อมๆ กันถึงก้นครัว
เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จักที่มาที่ไปของ TOFU เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
โบ : เริ่มจากผมอยากทำวงดนตรีขึ้นมา ผมก็ไม่รู้จะชวนใคร ก็เจอแต่เพื่อนที่เรียนด้วยกัน (ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) คือพีซกับออม แต่ก็ยังขาดตำแหน่งนักร้อง ผ่านไปปีหนึ่ง ก็มีบิ๊งที่เป็นรุ่นน้องเข้ามา ตอนนั้นผมเห็นบิ๊งเขียนเพลง ก็เลยชวนเล่นๆ ว่าลองมาทำวงด้วยกันไหม
ทำไมถึงตั้งชื่อวงว่า TOFU
โบ : ผมสุ่มชื่อขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผลเลยครับ ตอนแรกตั้งใจจะคิดหลายๆ ชื่อ แต่มันคิดไม่ออก ก็เลยสุ่มคำว่า TOFU ขึ้นมา เน้นจำง่าย แต่พอมาคิดดูจริงๆ เต้าหู้ก็มีความคล้ายพวกเราเหมือนกัน เต้าหู้มันจืดชืด แต่ก็สามารถเอาไปผสมอะไรก็ได้ เหมือนดนตรีพวกเราที่ทำตัวให้เข้ากับทุกรสชาติได้ อยู่ในเมนูไหนก็ได้ แล้วก็เป็นสีสันของเมนูอาหารนั้นๆ
จริงๆ แล้วแนวเพลงของวง TOFU เป็นแบบไหน
โบ : เรานิยามว่า Alternative ครับ เพราะมันกว้างมากๆ ผมเชื่อว่าหลายศิลปินก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันคืออะไร เราแค่รู้ว่าเราอยากทำอะไร
บิ๊ง : แนวดนตรีที่วงเราทำมันก็จะมีกลิ่นของบลู แจซ-บลู ซินธ์ป็อป ฟังก์ร็อก ซาวนด์วินเทจ ร็อกวินเทจ มีหลายๆ อย่างรวมกัน มันมาจากความชอบของแต่ละคนที่มันไม่เหมือนกัน เราฟังคนละอย่างกันหมดเลย สรุปง่ายๆ คือวงเราไม่ใช่อะไรเลย แต่เราจะหยิบกิมมิกแต่ละส่วนที่เราชอบในแต่ละแนวมารวมกัน
รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากเรียนดนตรี
โบ : ผมเริ่มเล่นดนตรีด้วยความไม่ตั้งใจ ผมเป็นเด็กที่มือไม้อ่อนแรง หยิบจับอะไรของก็ตกหมดเลย หมอบอกว่าถ้าไม่กายภาพมือก็ต้องเล่นดนตรี แม่หาทางออกให้ผมโดยการจับไปเล่นดนตรี ตอนนั้นแม่ให้เลือกว่าจะเล่นเปียโนหรือกีตาร์ แต่ผมเลือกไวโอลิน เพราะชอบดูมาสค์ไรเดอร์ (หัวเราะ) เนื้อเรื่องคือ พ่อพระเอกและพระเอกเล่นไวโอลิน เรารู้สึกอยากเล่นให้ได้บ้าง มันเท่ดี หลังจากนั้นก็เล่นมาเรื่อยๆ เพราะชอบ
ช่วงม.ต้นผมก็อยู่วงออร์เคสตรา ครูที่สอนผมเขาเล่นเครื่องดนตรีได้หมดทุกเครื่องเลย ผมก็เล่นตามทุกอย่าง แต่เริ่มมาเล่นกีตาร์จริงจังช่วงประมาณ ม.5 ผมฝึกด้วยตัวเอง อาศัยครูพักลักจำ หลังจากนั้นก็ได้ไปประกวด Hotwave ตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าจะเรียนดนตรี รู้สึกว่าสาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ที่ศิลปากรมันน่าสนใจดี เพราะเป็นการเรียนเพื่อเป็นโปรดิวเซอร์ ทำเพลง โฆษณา ทำทุกอย่างเกี่ยวกับเสียง แล้วก็ยังอยากทำวงตามความฝันเหมือนตอนประกวด Hotwave
บิ๊ง : ผมชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก ช่วงม.ต้นขอแม่เรียนกีตาร์คลาสสิกแถวบ้าน เรียนไปได้สักพักก็ลงคลิปในโซเชียลฯ เพื่อนเห็นว่าผมเล่นได้เลยชวนทำวง หลังจากนั้นก็ได้ไปแข่งดนตรีกับเพื่อน รู้สึกว่าสนุกดี อยากลองสอบมหิดลดู หลังจากนั้นก็ไปเรียนทฤษฎีดนตรี ผมสอบ TIME (ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย) ผ่าน ทำให้ได้เข้าไปเรียนกีตาร์แจซที่มหิดลตอนม.ปลาย
แต่พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ ก็มีความกดดันหลายอย่าง ผมไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมที่ทุกคนเก่งหมดเลย ผมมีความรู้แค่เบสิก ทำให้เราต้องพยายามฝึกซ้อมกีตาร์ให้มากขึ้น พยายามหาว่าอะไรคือเรา เพราะถ้าเรายังหาตัวเองไม่เจอก็อาจจะถูกจมไปกับสังคมรอบข้างได้
สุดท้าย ผมหาตัวเองเจอด้วยการลองเขียนเพลงตอนม.4 ครั้งแรก มีคนที่มหิดลเขาเห็นผมเขียนเพลงได้ก็เลยให้ไปเขียนให้วง LingRom (ลิงรมย์) หลังจากนั้นพี่ออฟ บิ๊กแอส ติดต่อมาว่าอยากให้เราเขียนเพลงให้แกรมมี่ แต่ผมเขียนไปได้แค่เพลงเดียว รู้สึกว่าไม่ใช่ทาง เพราะผมไม่ใช่คนที่เขียนเพลงไปกับกระแสนิยมขนาดนั้น
สมมติว่าเขาจะให้เขียนเพลงรัก ในมุมผมอาจจะพูดถึงหมา พูดถึงครอบครัว พูดถึงอะไรก็ได้ในชีวิต แต่เรามักจะโดนบรีฟว่าความรักต้องเป็นผู้หญิงกับผู้ชาย เด็กมัธยม เขาอยากได้ตาม Target เรารู้สึกว่าอาจจะไม่เหมาะกับการเขียนของเรา ยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเองก็เลยเลิกทำไป พอจบม.6 ได้มาเจอกับโบ ก็เลยเริ่มทำวงของตัวเอง
พีซ : ผมเริ่มชอบดนตรีตั้งแต่ป.5 เพราะเห็นอาเล่น ผมก็ให้อาสอนแต่ก็จำได้แค่ไม่กี่คอร์ด แม่ก็เลยให้ไปเรียน ผมเรียนก็เล่นได้เพลงนึงแล้วก็ไม่เล่นอีกเลยจนกระทั่ง ม.2 ตอนนั้นเพื่อนกำลังหามือเบสพอดี ก็เลยได้เล่นด้วยกันจนถึงม.3 แล้วก็แยกกันไป
หลังจากนั้นครูผู้ช่วยห้องจะทำวงอีสาน เขาก็เลยดึงตัวเราไปเล่น ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจว่ามันสนุกยังไงวะ ช่วงแรกก็เลยไม่ค่อยไปซ้อม แต่ด้วยความที่เพลงเป็นแนวเต้นๆ หน่อย สามช่า โปงลาง พอได้เล่นไปเรื่อยๆ ทุกคนดูเอนจอยกันเวลาได้ไปเล่นให้คนอื่นฟัง คนฟังก็สนุก ทำให้เรารู้สึกสนุกไปด้วย
พอถึงช่วงจะเข้ามหาลัย ตอนแรกผมจะไปเรียนวิศวะฯ แต่ก็รู้สึกว่ามันน่าจะไม่สนุกแน่เลย เพราะตอนนั้นผมอยู่กับดนตรีตลอดเวลา รู้สึกว่าตัวเองทำดนตรีได้ดีที่สุดแล้ว หลายคนพูดว่าเรียนดนตรีถ้าใจไม่รักจริงมันเรียนไม่ได้ แต่ผมคิดแค่ว่าอยากจะเข้าไปเอาสังคม หาคนประเภทเดียวกัน ฟังเพลงเหมือนกัน
ออม: ผมเป็นเด็กหลังห้องที่ชอบดนตรี ชอบฟังเพลงตั้งแต่ม.ต้น แต่แม่อยากให้เรียนวิศวะฯ ก็เลยไปเรียนสายวิทย์-คณิต ช่วงม.6 ก็ลองไปสอบ Pre-Test แต่ก็สอบไม่ผ่าน คะแนนแม่งแย่มาก เราก็เลยบอกเขาตรงๆ ยื่นคะแนนให้พ่อแม่ดูว่ามันไม่ได้จริงๆ นะสิ่งที่เขาอยากให้เราเรียน
หลังจากนั้น ก็มานั่งนึกกับตัวเองว่ามีสิ่งไหนที่เราชอบและน่าจะตั้งใจเรียนให้จบได้ก็เลยมองเป็นดนตรี แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะได้มีวงเป็นของตัวเองในมหาลัย เพราะทุกคนในวงไม่สนิทกันเลย จนถึงตอนนี้ยังไม่เข้าใจอยู่เลยว่ามารวมวงได้ไง รู้ตัวอีกทีก็มีกันอยู่ 4 คน เป็นการรวมวงแบบงงๆ ตอนนั้นมันเป็นช่วงโควิดด้วย ทุกอย่างเลยดูผ่านไปเร็วมาก
เรียนไปด้วย ทำวงไปด้วย แบ่งเวลาซ้อมด้วยกันยังไง
พีซ : เราไม่เคยซ้อมด้วยกันเลยปะวะ (หัวเราะ)
บิ๊ง : เราไม่เคยซ้อมเลยครับ มาถึงก็ทำเพลงเลย ไปบ้านโบแล้วก็เริ่มคิดคอร์ดขึ้นมา ผมก็ลองเขียนเนื้อด้นสดไปตรงนั้น
โบ : วิธีการทำเพลงของเราจะมีสามแบบ แบบแรกคือบิ๊งขึ้นเพลงดิบมากับคอร์ดกีตาร์ แบบที่สองคือเราขึ้นบีตกันก่อน ทำดนตรีขึ้นมา แล้วค่อยมานั่งแต่งกัน แบบที่สามคือมาแจมกันในห้องซ้อมแล้วก็ขึ้นกันสดๆ เลย พวกเราเริ่มฟอร์มวงตอนโควิดระลอกแรก การจะออกไปซ้อมมันยากมาก ก็เลยนัดรวมตัวกันที่บ้านผม ขึ้นเพลงๆ นึงขึ้นมา นั่นก็คือเพลงคำลา เป็นเพลงแรกของวงที่ปล่อยไป ซึ่งฟีดแบคเกินที่คาดหวังไปมากเลย เพราะตอนนั้นเราโนเนม เราเพิ่งฟอร์ม ตอนนั้นยังคิดอยู่เลยว่าอาจจะต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่างกว่าเพลงมันจะมา แต่ว่าพอปล่อยเพลงแรกออกไปสื่อก็ให้ความสนใจเยอะ ตอนนั้นก็ตกใจ
คิดว่าทำไมสื่อถึงให้ความสนใจเพลง ‘คำลา’ เยอะ
โบ : ส่วนตัวผมคิดว่าช่วงนั้นมีวง Dream Pop เยอะ ซาวนด์แบบว่าฟุ้งๆ เอฟเฟกต์แกว่งๆ เยอะๆ ตอนแรกเราก็อยากจะทำเพลงแนวนั้นนะ แต่พวกเราก็สวนกระแสมาก พวกเราเสียงแตกมาแนว Alternative เลย
บิ๊ง : ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะซาวนด์ สไตล์เพลง แล้วก็ภาษาด้วยมั้ง ช่วงนั้นวงเขียนไขและวานิชกำลังดัง วง Anatomy Rabbit ก็กำลังมาเลย เพลงก็จะใช้ภาษากวีๆ หน่อย ผมก็เลยเขียนเพลงให้ติดหูในท่อนฮุก แต่ท่อน Verse ก็จะใช้การเล่าแบบวรรณกรรม อย่างเช่นตรงท่อนที่บอกว่า “เมื่อราตรีแห่งความเงียบงันสิ้นสุด ต่างคนจะลืมว่าเคยมีรักในใจ” มันให้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือ อ่านวรรณกรรม คนก็เลยน่าจะชอบกัน
ผมรู้สึกว่าแฟนเพลงวง TOFU มันกว้างมากเลย มีกลุ่มคนฟังที่ชอบเพลงป็อปน่ารักๆ น่าจะเริ่มมาจากเพลงน้ำเต้าหู้ เพราะเป็นเพลงอะคูสติกส์ ฟังง่าย ไม่ได้มีดนตรีหวือหวาอะไร แค่คอร์ดกีตาร์แล้วก็ร้อง และอีก Target ที่ได้มาจากเพลง ‘WE ALWAYS KNEW’ เป็นกลุ่มคนฟังเพลงสากล
ศิลปินบางคนที่ใช้ภาษาสวยๆ ในการเขียนเพลง เพราะอ่านวรรณกรรม ปกติคุณอ่านหนังสือด้วยไหม
บิ๊ง : อ่านครับ เมื่อก่อนอ่านเยอะมาก ช่วงม.ปลายเป็นโลกที่กดดันมากสำหรับผม ตอนนั้นอยากพัฒนาตัวเองด้วยก็เลยต้องหาหนังสือมาอ่าน หนังสือของคาลิล ยิบราน หนังสือเกี่ยวกับ Journey หรือวรรณกรรมไทยอย่าง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เป็นหนังสือของพ่อที่ผมอ่านแล้วชอบมาก เป็นแนวการเล่าเรื่องที่ค่อนข้าง High-Concept ผมก็หยิบเอามาใช้ในการเขียนเพลงทุกวันนี้ด้วย ซึ่งเพลงที่ผมเขียนก็จะมาจากทั้งเรื่องตัวเอง เรื่องคนอื่น เรื่องรอบตัว ปรัชญา การตั้งคำถาม หรืออะไรหลุดๆ ก็มีครับ
อย่างคอนเซปต์ของเพลงในวันเก่า ก็มาจากที่เราสมมติขึ้นมาว่ามีวินมอเตอร์ไซค์ทำงานอยู่ข้างตึกๆ หนึ่ง เป็นค่ายที่ทำเกี่ยวกับดนตรี วินคนนี้เขาเห็นศิลปินเดินเข้าออกตึกอยู่บ่อยๆ ก็รู้สึกอยากเป็นแบบนั้นบ้าง เพราะเขาเป็นคนมีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักดนตรี เป็นศิลปิน ตอนนี้ชีวิตเขาเป็นคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ยังไม่ลืมความฝันของตัวเอง ยังนึกอยู่เสมอว่าจะพยายามเป็นในสิ่งที่อยากเป็นให้ได้ ในเพลงก็จะบอกว่าไม่ต้องกังวล มันไม่เป็นไรที่อยู่ตรงนี้
คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
บิ๊ง : คิดขึ้นมาเองเลยครับ อาจจะเป็นเพราะว่าตั้งแต่เด็กผมนั่งวินบ่อยไปหน้าปากซอย เห็นเขาทำงานหาเช้ากินค่ำ ก็เกิดคำถามว่าคนเหล่านี้เขามีความฝันมั้ยวะ ลองคิดขึ้นมาว่าถ้าวินมอเตอร์ไซค์คนนั้นมีความฝัน อยากเป็นศิลปิน ถึงมันจะดูเป็นไปไม่ได้หรือดูเป็นไปได้แค่เล็กน้อย แต่มันก็คือความหวัง
พีซ : แต่จริงๆ ผมมองว่าเพลงที่บิ๊งเขียนมันกว้าง แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนที่เจอว่าจะตีความเป็นแบบไหน
ย้อนกลับไปช่วงรวมวง คิดตั้งแต่แรกเลยไหมว่าจะอยู่ในค่าย
โบ : ตอนแรกเรายังเด็กๆ ก็เลยยังไม่ได้มองไปถึงขนาดนั้น แต่พอทำอิสระไปได้สักพักบวกกับเราที่กำลังโตขึ้นก็เลยทำให้ต้องคิดเรื่องนี้
บิ๊ง : ตอนนั้นเป็นเรื่องแพชชันที่อยากไปเล่นต่างประเทศ ถ้าเราทำกันเองมันยากที่จะไปได้
โบ : แน่นอนว่ามันเป็นปัญหาของวงอินดี้ทุกวง มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันเป็นเรื่องแพชชันด้วย เราอยากให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารไปถึงคนวงกว้างให้ได้มากที่สุด ถ้าเราทำกันเองก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำกันถึงไหม การมีค่ายก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่พวกเราจะตัดสินใจกันได้
ทำไมตัดสินใจมาอยู่ค่าย Smallroom
โบ : เริ่มจากผมรู้จักกับพี่แดน (Daniel Ryn) มานานแล้ว ตอนนั้นมือกีตาร์ของพี่แดนคือพี่ซัน มือกีตาร์วง Door Plant เขาไม่ว่างเพราะไปทัวร์กับวงที่สิงคโปร์ ผมก็เลยมาช่วย ซึ่งก็มีช่วงที่ต้องเข้ามาซ้อมที่ Smallroom ตอนนั้นผมก็เปิด Demo เพลงใหม่ให้พี่แดนฟัง แล้วจู่ๆ พี่รุ่งเดินมาจากไหนไม่รู้ เขาก็ได้ฟังด้วย แล้วก็รู้สึกสนใจ บอกให้ผมลองไปทำมาอีกสามเพลง
ต้องบอกว่าจริงๆ เรามี demo ของอัลบั้มที่ทำไว้แล้วเซตหนึ่ง ซึ่งเพลงนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในอัลบั้ม อย่างที่บอกว่าวงเราเป็นวงหลายแนว เพลงนี้เป็นแนวไซเคเดลิกร็อก เราก็เลยทำมาแค่เพลงเดียว แต่พี่รุ่งเขาอยากฟังทางไซเคเดลิกป๊อบ อยากให้เราลองไปทำแล้วเอามาเสนอค่ายดู ผมกับเพื่อนๆ ก็ลองไปทำ แต่สุดท้ายก็ออกมาได้แค่เพลงเดียว เราไม่ทำต่อเพราะรู้สึกว่าเราไม่ใช่วงไซเคเดลิก เรามีกลิ่นไซเคเดลิกได้ แต่เราไม่ใช่ไซเคเดลิกซะทีเดียว
ผมก็ได้กลับมาที่ Smallroom อีกรอบนึง พี่รุ่งก็ทวงผมว่าเพลงเป็นไงแล้วบ้าง ผมก็นึกว่าจะจำไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) ผมก็บอกแกว่าเสร็จแค่เพลงเดียวนะ เพราะวงผมไม่ใช่แนวทางนี้โดยเฉพาะ แต่ผมกำลังจะมีแพลนปล่อยอัลบั้ม ตอนนั้นก็เลยเปิดเพลงที่เหลือให้แกฟัง แกก็หายไปสักพักแล้วก็เดินมาคุยกับผมว่าสนใจอยากจะอยู่ที่นี่ไหม ผมก็เลยเรียกเพื่อนๆ มา แล้วก็ตัดสินใจอยู่ที่นี่
ตอนนั้นมีความลังเลไหม
ทุกคน : โหหหห (หัวเราะ)
บิ๊ง : ที่ผ่านมาก็มีคนจีบเราเยอะนะ
โบ : ค่ายเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทยก็มากันเกือบครบ เหมือนโม้เลย (หัวเราะ) พวกเราขอบคุณทุกค่ายที่มองเห็นคุณค่าในตัวพวกเรา แต่พวกเราก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าแบรนดิ้งของวงหรือทิศทางแนวเพลงไปด้วยกันกับค่ายได้ไหม
บิ๊ง : เราเลือก Smallroom เพราะแต่ละวงในค่ายแนวเพลงไม่เหมือนกันเลย ศิลปินมีอิสระในความคิด เราเสพผลงานเพลงมาตั้งแต่ยุค เดธ ออฟ อะ เซลส์แมน สิ่งที่อาจจะทำให้พี่รุ่งสนใจวงเรา ผมคิดว่าเพลงของเราไม่เหมือนใครในค่าย ทางของวงเรามันกว้าง ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่เป็นอะไรที่เราก็คิดว่าไม่ค่อยมีใครกล้าทำเหมือนกัน ที่จะทำหลายๆ แนวทีเดียว อีกอย่างคือเราชอบค่ายที่เป็นฟีลบ้าน ฟีลครอบครัวมากกว่า
โบ : ตอนแรกผมกังวลนะว่าที่นี่จะไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรกันอยู่ แต่พี่รุ่งก็เข้าใจในสิ่งที่ผมทำ สิ่งที่โอเคที่สุดของค่ายนี้คือเคารพการตัดสินใจของวง ยึดตัวศิลปินเป็นหลักก่อน ถ้าศิลปินโอเคค่ายก็ไม่ติดอะไร
เพลงที่ดีสำหรับวง TOFU เป็นยังไง
บิ๊ง : ผมมองว่าดีหรือไม่ดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมคือเพลงที่มีคอนเซปต์ชัดเจน เพลงที่รู้ว่าเราจะทำอะไร ต้องการจะสื่อสารอะไร เสียงเป็นยังไง เพลงที่ปล่อยออกมามันตรงกับสิ่งที่เราคิดไว้ในหัวรึเปล่า ถ้าทำออกมาได้นั่นคือเพลงที่ดีสำหรับผมแล้ว
ออม : ผมมองเป็นเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นคำร้องหรือดนตรีก็ตาม เราต้องสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเรากำลังสื่อสารถึงอะไร อย่างเช่น เสียงดนตรีผู้ฟังก็ต้องรู้แล้วว่าเราจะสื่อซาวนด์ลุกไหน คำพูดแบบนี้หมายถึงอะไร เราต้องสื่อสารให้ดี
พีซ : สำหรับผมจะเป็นเรื่องการใส่ใจมากกว่าว่าเราใส่ใจกับเพลงนั้นมากพอไหม เราให้ความสำคัญกับมันมากพอรึเปล่า
โบ: สำหรับผมคือทำอะไรก็ได้ ขอแค่ไม่โกหก ขอแค่อย่างน้อยต้องมีความจริงใจกับทุกๆ เพลง ถ้าปลอมมันก็อาจจะไม่ใช่ รู้สึกว่าเราไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นอะไร
เล่นดนตรีด้วยกันมา 4 ปีแล้ว คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของความเป็นทีมเวิร์ก
บิ๊ง : จริงๆ ความทีมเวิร์กก็ยังสะเปะสะปะอยู่ ก็ยังไม่ได้เวิร์กขนาดนั้น แต่ตอนนี้เราก็เริ่มจูนได้แล้ว เริ่มโตขึ้นมานิดหน่อย
พีซ : เราทั้ง 4 คนไม่เหมือนกันเลย ทั้งวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์คนละทางเลย ทุกคนก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน ยิ่งช่วงตอนแรกเราเด็กด้วย จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้
โบ: แต่สิ่งที่ทำให้เราทำอะไรแล้วมันสำเร็จได้ คือความจริงจังที่เท่ากัน หมายถึงความตั้งใจในผลลัพธ์ที่จะออกไปแบบเดียวกัน บางอย่างมันก็ยังสะเปะสะปะอยู่ แต่ความจริงจังมันนำพาให้เรามายืนอยู่ตรงนี้ได้
จุดที่วงฝันคืออะไร
พีซ : ผมอยากทำแบบวงต่างประเทศ ไม่รับงานสองปีเพื่อทำอัลบั้มแล้วก็ออกทัวร์ แต่ก็มองว่าไม่น่าเวิร์กถ้าเป็นประเทศไทย น่าจะไม่ไหว
บิ๊ง : เพราะแนวทางของเราด้วย มันยากที่ผู้ชม กลุ่มใหญ่จะฟัง เหมือนเราต้องทำเพลงน้ำเต้าหู้เป็น 10 เพลงในอัลบั้มเดียวถึงจะรอด แต่ในแบบของเรามันยากที่จะหยุดไปสองปีไม่ทำไรอะไรเลย อย่างน้อยคือต้องมีงานประจำทำ แต่ดูแต่ละคนแล้วไม่มีความเป็นไปได้ที่จะหางานประจำทำ (หัวเราะ)
ทำไมถึงทำเพลงภาษาอังกฤษด้วย
บิ๊ง : นั่นแหละครับ คือความจริงจังของเราที่อยากไปเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่คิดจะทำวงเลย มันเป็นความฝันของพวกเรา ถ้าเราทำกันเองมันยากที่จะไปได้ หลักๆ เลยคือมันขึ้นอยู่กับคนฟังว่าเขาอินกับเรามากน้อยแค่ไหน
พีซ : ผมคิดว่าที่วงต่างประเทศเขาทำได้ อาจจะเป็นเพราะว่ามัน World Wide เขามีทุน มีฐานคนฟังทั่วโลกเพราะมันเป็นสากล ผมไม่ได้มองว่าวงเราทำไม่ได้เลย แต่แค่คิดว่ามันน่าจะมีโอกาสน้อย อย่างวงต่างประเทศเองก็ไม่รู้ว่าช่วงแรกเป็นยังไง กว่าจะมาอยู่จุดนั้นได้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง คิดว่าน่าจะต้องลองดูเองมากกว่า เราแค่คิดว่าอยากจะทำแบบนั้น ถ้าไปถึงจุดๆ นั้นได้น่าจะแฮปปี้
โบ: ต้องกลับมาถามอีกรอบหนึ่งหลังจากผ่านไปประมาณห้าปี (หัวเราะ)
สุดท้าย ขายวงตัวเองหน่อย
โบ : วงเรามีสัญลักษณ์มือแบบนี้นะครับ 🖖🏼
บิ๊ง : มันมาจากผมที่ชอบดู Star Trek เขาจะชอบทักทายแบบนี้ ก็รู้สึกเท่ดี แล้วก็ยังไม่มีวงไหนทำ
โบ : มีความหมายมงคลว่า Live Long and Prosper ขอให้ยั่งยืนและรุ่งเรือง ขอให้เฮงๆ นะ แอบมูนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ความท้าทายคือมันต้องทำให้ได้สองข้าง ตอนนี้คนในคอนเสิร์ตก็เริ่มทำตามแล้ว ใครที่ทำไม่ได้ต้องไปฝึกมาครับ