คนรักดอกไม้ทั่วไป อาจแสดงออกถึงความรักนั้นด้วยการปลูกดอกไม้ เลี้ยงและดูแลมันจนเติบใหญ่ ออกดอก และเบ่งบาน หรือไม่ก็เก็บรักษาไว้ด้วยการทับลงสมุดบันทึก แต่บอล–นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ กลับเลือกวิธีการที่ต่างออกไป เขาเลือกแสดงความรักนั้นด้วยงานศิลปะ
งานของบอลจึงมีเอกลักษณ์หนึ่งที่เด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพถ่าย หรือศิลปะจัดวาง (installation art) ดอกไม้จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่ผลงานของเขาเสมอ
1.
“เพราะดอกไม้พรีเซนต์ความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด” บอลเปรยให้ฟังถึงเหตุผล แล้วอธิบายเพิ่มว่าตั้งแต่เริ่มจำความได้ ดอกไม้ก็เติบโตท่ามกลางใจเขาเสียแล้ว เพราะไม่ว่าแม่จะพาไปวิ่งเล่นที่ไหน สิ่งที่บอลมักจะทำเสมอคือการพุ่งตัวไปดู ไปดม จดจำว่าดอกไม้ชนิดนั้นชื่ออะไร มีสีสันอย่างไร
ถึงอย่างนั้นความชอบนี้ก็ถูกซุกซ่อนอยู่ในตัวโดยที่เขาไม่ได้ใส่ใจ จนกระทั่งวันหนึ่งการเรียนศิลปะเปิดโอกาสให้เขาได้ย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา
“เรากลับไปค้นรูปตัวเองตอนสมัยเด็กๆ เพราะอาจารย์ถามว่าคิดว่าตัวเองเป็นดอกไม้อะไร มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มคิดได้ว่าดอกไม้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราอยู่ด้วยมาตั้งแต่เด็กจนโต คาบเกี่ยวกัน เหมือนเขาเห็นเรา เราเห็นเขามาโดยตลอด เขารู้จักเรามากพอๆ กับที่เรารู้จักกับเขา ไม่ได้ชอบแค่เพราะมันหอม มันสวย แต่เราจำชื่อ จำกลิ่น จำความพิเศษ หรือจำได้กระทั่งความทรงจำที่เกิดขึ้นตอนที่เจอดอกนั้นได้ ชอบเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้จักตัวตนของตัวเอง รู้ว่าเราเป็นเพศอะไร”
2.
หากสังเกตงานที่ผ่านมาของเขาจะพบว่าประเด็นเรื่องเพศ เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะอยู่บ่อยๆ นั่นเพราะความทรงจำหรือเรื่องราวส่วนตัว คือสิ่งที่บอลนำมาใช้เป็นไอเดียตั้งต้นในการทำงาน
“ตั้งแต่เด็กจนโต มีช่วงที่เราเจอปัญหาหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องเพศ เรื่องสังคม
“ตอนเด็กๆ เราจะเป็นคนที่เพื่อนสงสัยว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่า ทำให้เวลามีการจับกลุ่มทำงาน เราจะเป็นเศษ ไม่มีใครรับเข้ากลุ่มด้วย ทุกครั้งเวลาอาจารย์บอกให้จับกลุ่มทำงาน เราจะกังวลว่าจะไปอยู่ในกลุ่มไหนดี หรือจะมีใครให้เราอยู่ด้วยบ้างไหม มันเลยกลายเป็นปมว่า ถ้าเราอยากเป็นคนสำคัญก็ต้องทำงานให้เก่งมากๆ ให้เพื่อนมองข้ามในเรื่องนี้ และรับเราไปทำงานได้” เพราะปัญหาที่ว่ามานี้ เขาจึงพัฒนาและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นผลงานชุด Perfect Flower หรือดอกสมบูรณ์เพศ
“เราใช้ดอกชบา ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน มานำเสนอเรื่องของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกไปถ่ายดอกชบาตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ แล้วเอารูปดอกไม้เหล่านั้นมาวางเรียงให้คนดู และถามเขาว่าดอกชบาแต่ละภาพนั้นมีความแตกต่างกันหรือเปล่า
“เชื่อไหม ไม่มีใครบอกเลยว่ามันต่างกัน มีแต่คนบอกว่านี่คือดอกชบา ไม่มีใครเรียกดอกไม้พวกนั้นว่า ดอกตุ๊ด ดอกเกย์ หรือดอกกระเทย เลยทำให้รู้สึกว่าในเมื่อคนทั่วไปยังไม่แบ่งแยกเพศสภาพของดอกไม้ แล้วทำไมจึงต้องพยายามหาคำจำกัดความมาบอกว่าเราเป็นเพศอะไร”
“งานช่วงแรก เป็นงานที่เราใช้เรื่องราวของตัวเองมาบอกเล่ามากที่สุด เพราะรู้สึกว่าเรารู้จักเรื่องราวของตัวเราเองมากกว่าใคร เราเลยสามารถบอกเรื่องราวนั้นได้อย่างมั่นใจ แต่พอได้ทำงานศิลปะเยอะเข้า ก็เริ่มทำให้คิดว่าคนอื่นจะรู้จักงานของเราจากเรื่องราวของตัวเองเพียงอย่างเดียวไม่ได้
“การทำงานศิลปะเหมือนเป็นการบำบัดตัวเอง การที่เราได้เล่า ได้พูดถึงงานศิลปะมันช่วยให้เราได้ระบายออกมาก็จริง แต่เรารู้สึกว่างานของเราควรจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวของคนอื่นให้มากขึ้น เลยพยายามหาจุดที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างเรื่องของเราและเรื่องของคนในสังคมที่มันมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากเรื่องของเพศสภาพด้วย มันเลยกลายมาเป็นงานชุด Only for “the Death on Duty” หรืองานชุดดอกไม้หน้างานศพ
“เพราะการเรียนทหารมันไม่ใช่เรื่องของการแสดงออกว่าผู้ชายแมนหรือไม่แมน การโดนบังคับให้เรียน รด.ทำให้รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วชีวิตเราเป็นของใครกันแน่ เรายังมีสิทธิในการใช้ชีวิตของเราอยู่หรือเปล่า หรือว่าสังคมพรากชีวิตของเราไปหมดแล้ว งานชุดนี้จึงเป็นงานที่เราได้ช่วยบ่งบอกเรื่องราวของครอบครัวบางครอบครัว ที่เขาอาจจะไม่ได้มีลูกชายที่เป็นเพศสภาพแบบเรา แต่เขาเกิดปัญหาจากการที่เป็นทหารเหมือนกัน เราอาจโชคดีหน่อยตรงที่เราไม่ตาย แต่บางคนเขาตายไปแล้ว และอาจไม่ได้รับความยุติธรรมอะไรเลย”
3.
แต่ถ้าพูดถึงงานที่เขาชอบและเป็นตัวเองที่สุด อย่างไรแล้วก็คงเป็นงานชุด Gushing out my confession งานที่มาจากเรื่องราวส่วนตัวของเขา เป็นจุดเริ่มต้นให้เผยตัวตนออกมาและมีความกล้ามากขึ้น
“มันเกิดจากว่าเราตัดสินใจบอกพี่ที่ทำงานด้วยกันคนหนึ่งว่าเราเป็นเกย์ แต่วันรุ่งขึ้นเขากลับเอาเรื่องของเราไปบอกทุกคน มันทำให้เรารู้สึกว่า เราเชื่อใจเขานะ แต่ทำไมเขาถึงเอาเรื่องของเราไปบอกเล่าอย่างตลกขบขัน เขาจะรู้หรือเปล่าว่าเขาเป็นคนแรกที่เราเลือกจะบอกเล่าเรื่องนี้อย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ
“พอเจอแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าเราบอกทุกคนเรื่องนี้ไม่ได้จริงๆ ด้วย และในเมื่อไม่สามารถบอกใครแบบตรงๆ ได้ เราก็ขอย้อนกลับไปหาคนที่เรามีความรู้สึกดีๆ ที่เขาพร้อมจะรับฟังเรื่องนี้ของเราดีกว่า งานชุดนี้จึงเป็นชุดที่ทำให้เราได้กลับไปเจอเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยม อาจารย์ที่สอนมหาวิทยาลัย และหลายๆ คนที่อยู่ในชีวิตเรา การที่เขาเชื่อใจที่จะเปลือยกลายต่อหน้าเรามันคือที่สุดแล้ว มันทำให้รู้ว่าเขาเชื่อใจเราจริงๆ เช่นเดียวกันคือขณะทำงานนี้เราก็ได้บอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟังด้วย เหมือนเพื่อนเปลือยกาย แต่เราเปลือยใจ
“ตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้มีความกล้าพอที่จะบอกว่าเราเป็นเพศอะไร แต่เรารู้สึกว่าการที่เรากล้าที่จะทำงานชุดนี้ออกมาคือจุดเริ่มต้นที่ดีมากที่เราจะเปิดตัวตนของเราทีละนิดๆ”
4.
“จริงๆ แล้วเวลาทำงานศิลปะ เราไม่ได้มองว่าทำแล้วงานชิ้นนี้จะต้องถูกแสดงงาน หรืองานชิ้นนี้จะต้องดีแน่นอน มันเริ่มจากการสเก็ตช์และพัฒนาไปเรื่อยๆ มากกว่า เริ่มจากการสเก็ตช์ประเด็นบางอย่างที่เกิดจากตัวเราก่อน เพราะสิ่งที่เราอยากนำเสนอ จริงๆ แล้วคือแก่นของเรื่องราว เหมือนศิลปินหลายๆ คนที่มักจะมีแสง มีนางแบบ มีการจัดวางองค์ประกอบภาพเป็นของตัวเอง เราก็มีเรื่องราวของตัวเราเองในการบอกเล่าผ่านภาพถ่าย และการจัดดอกไม้เป็นเหมือนสิ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้มันชัดเจนขึ้น
“ดังนั้นถ้าเกิดใครดูงานเราแล้วไม่เข้าใจ เราก็อยากให้เขาเข้ามาถามกับเราตรงๆ เลย เราพร้อมที่จะเสียเวลากี่ชั่วโมงก็ได้อธิบายงานให้เขาฟังตั้งแต่ต้นจนจบ และไม่ว่าเขาจะมีคำถามมากมายขนาดไหน เราก็ยินดีที่จะตอบ
“ชอบมีคนมาถามว่า ‘เฮ้ย ซื้อดอกไม้ทำงานศิลปะเพื่ออะไร มันได้เงินเหรอ’ หรือ ‘แสดงงานทำไม มันขายได้เหรอ’ เราเลยบอกไปว่าบางอย่างเราไม่ได้ทำเพื่อหาเม็ดเงิน หรือรายได้จากมัน แต่มันคือสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงสภาพจิตใจเราให้มีความสุขได้จนถึงทุกวันนี้ เรารู้สึกว่าการทำงานประจำทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ เพราะเราต้องทำงานตามคำสั่งของคนอื่น เหมือนเป็นเครื่องจักรในโรงงาน แต่กับงานศิลปะ มันคือสิ่งที่เราอยากสร้างมันมาจากความบริสุทธิ์ใจของเราจริงๆ มันคือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของรายได้
“เราดีใจที่มีคนเห็นงานเราแล้วเขาชอบ ติดตาม และเข้าใจประเด็นที่เราต้องการจะสื่อ สิ่งเหล่านี้สร้างพลังอย่างมากที่สุดแล้วให้เรา คุณไม่ต้องมาซื้องานเรา หรือไม่ต้องให้ความสำคัญก็ได้ แค่คุณเข้าใจมัน คุณเอางานของเราไปบอกเล่าต่อ พูดถึงประเด็นของมัน แค่นี้ก็รู้สึกว่าเราคอมพลีตกับการทำงานศิลปะแล้ว”
5.
“ทุกวันนี้มันยังมีอีกหลายปม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสภาพของเรา ที่มันยังถูกคลายไม่หมด และเราว่ามันคงจะดีไม่น้อย ถ้าเราสามารถเอาเรื่องราวทั้งของเราและของคนที่มีปมเรื่องเพศสภาพเหมือนกันมาอยู่ในเรื่องราวเดียวกัน ช่วยคลี่คลายมันไปด้วยกันได้ เราอยากให้เขารับรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวนะ เขายังมีคนแบบเขาอยู่ และคนแบบเขานี่แหละ จะพยายามสร้างงานศิลปะ เพื่อที่จะคลี่คลายปมที่คล้ายคลึงกันของเราไปด้วยกัน”