“หนังสือพิมพ์พวกนี้เก็บไว้ที่นี่เลยก็ได้ครับ มันเก่าแล้ว” คือประโยคบอกลาของชายหนุ่มผู้มาเป็นวิทยากรให้กับชาว a team junior 14 ในวันนี้ กับโครงการ a day school โครงการที่พี่ๆ ชาว a team ชวนวิทยากรมากความสามารถจากสาขาอาชีพต่างๆ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจริงกับพวกเรา เพื่อให้ชาว a team junior 14 ได้เลเวลอัพสกิลของตัวเองและพร้อมที่จะลงสนามการทำงานจริงในอนาคต
เรามองไปที่กองหนังสือพิมพ์เก่าที่เขาคนนั้นได้บอกไว้ ก่อนจะอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเมื่อ 2 ชั่วโมงก่อนที่จะได้มาพูดคุยกับวิทยากรหนุ่มตรงหน้า เราคงเถียงขาดใจว่า แค่วันเดียวมันจะกลายเป็นหนังสือพิมพ์เก่าได้อย่างไร
แต่เมื่อเราได้ฟังที่เขาพูดจนจบ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในใจก็หายไปและยิ่งประโยคนี้เป็นประโยคที่ออกมาจากปากของเขา หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่าง เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชายหนุ่มที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงไปของวงการสื่อไทย ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะอยากรู้ว่า บทบาทของสื่อไทยยุคใหม่ในความเห็นของเขาควรเป็นอย่างไร
คุณจำเป็นที่จะต้องลงไปในพื้นที่จริงเพื่อมองเห็นมิติที่ใหม่และลึกขึ้น
“ในการจะเข้าใจปัญหาจริงๆ ไม่ว่าจะทำงานสื่อหรืออะไรก็ตาม ผมว่าการนั่งอยู่กับโต๊ะหรืออ่านหนังสือไม่มีทางช่วยให้เข้าใจปัญหาเหล่านั้นได้ หลัก 3 อย่างที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างมากสำหรับการเป็นสื่อเลยก็คือ หนึ่ง หน้างานจริง สอง เงื่อนไขที่เกิดจากปัญหาจริง และสาม คนที่เจอกับปัญหาจริง
“3 อย่างนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดกับโครงการรัฐต่างๆ ทั้งเขื่อน โรงไฟฟ้า กฎหมาย ประมงพาณิชย์ มีเรื่องพวกนี้มากมายที่คุณสามารถหาอ่านได้ตามอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่ถ้าเทียบกับการได้ลงไปฟังคนที่โดนผลกระทบจริง ได้เห็นหน้างานจริงแล้ว ผมว่าคุณจะได้เห็นมิติใหม่ๆ ที่ลึกมากขึ้น และนั่นคือเรื่องสำคัญในการเข้าใจปัญหาของประเทศไทยจริงๆ”
“ผมยกตัวอย่างกรณีของหนังสือพิมพ์ Charleston Gazette-Mail ที่ได้รางวัล Pulitzer ประจำปี 2017 สาขาการสอบสวนเรื่องการรายงานการทุจริตยา opioids (ยาระงับความปวด) ในเวสต์เวอร์จิเนีย เมืองนี้ขึ้นชื่อว่ามีสถิติของผู้กินยาและเสพยาเกินขนาดจนตายสูงที่สุดในอเมริกา หลายคนคิดไปเองว่ามันเกิดจากความเครียด พ่อแม่หย่ากัน หรือการตกงาน แต่เมื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์นี้ได้ลงพื้นที่และไปสืบดู ถึงได้รู้ว่าต้นเหตุการเสพยาเกินขนาดของคนในย่านนี้มีสาเหตุมาจากการสมรู้ร่วมคิดกันของบริษัทผู้ผลิตยาชนิดนี้กับโรงพยาบาล มีการสั่งจ่ายยาแก้ปวดเกินความจำเป็นเพื่อให้คนเสพติด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตยาโดยไม่สนใจความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
“ความจริงที่เกิดขึ้นที่นี่มันเป็นอย่างนี้ คุณลองคิดดู ถ้าไม่มีผู้สื่อข่าวคนนี้เข้าไปทำข่าว ผู้คนก็จะคิดว่าที่นี่มีผู้เสพยามากที่สุดในอเมริกา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นผมเลยเชื่อว่าสื่อมวลชนอย่างคุณสามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบต่อสังคมในทางบวกได้”
สื่อมวลชนแคมป์คุณภาพคือคนที่ทำให้ผมสนุกไปกับการสัมภาษณ์
“ถ้าในความคิดของผมนะ ผมว่าเราแบ่งสื่อมวลชนได้ออกเป็น 2 แคมป์ คือที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพ แคมป์ที่ไม่มีคุณภาพคือไม่รู้อะไรเลย อย่างเช่นผมเคยเจอคำถามว่า ‘ทำไมมาทำงานการเมือง’ ผมก็ตอบว่า ‘อยากเปลี่ยนแปลงครับ’
“เขาถามผมมาแค่ประโยคเดียว พอผมตอบเสร็จ เขาก็ข้ามไปคำถามอื่นต่อไป สำหรับผมนี่เป็นการสัมภาษณ์แบบไม่มีมิติ ไม่มีความลึก ไม่มีคุณภาพ และไม่สนุกเลย
“ผมคิดว่าคนที่มาสัมภาษณ์แล้วคุยกันสนุกจริงๆ คือคนที่เตรียมตัวมาดี อ่านและฟังเรามาเยอะ พอเขาได้พูดคุยกับเราเขาจะไม่ถามเราแบบนี้ เขาจะถามคำถามหนักๆ คำถามที่มันดึงความเป็นตัวเราหรือให้เราแสดงความเห็นในเรื่องยากๆ คนสัมภาษณ์พวกนั้นเก่งและคุยสนุก ยิ่งคุย ยิ่งสัมภาษณ์ด้วย ยิ่งมัน สำหรับผมมันเลยเหมือนการพูดคุยกันมากกว่าการให้สัมภาษณ์ซะอีก โดยเฉพาะนักข่าวต่างประเทศพวกนั้นเขาเก่ง เขารู้เยอะมากแถมทำการบ้านมาอย่างดี ฉะนั้นผมคิดว่าพวกเราควรทำการบ้านให้เยอะนะในการออกไปทำงาน”
ผมยอมรับว่า channel สำคัญ แต่ที่สำคัญมากกว่า channel ก็คือ content ยังไง content ก็ยังคงเป็น king
“ย้อนหลังกลับไป 5 หรือ 10 ปีก่อนนั้น การที่คุณจะเป็น distributor ได้มีอยู่แค่ 2 ทางเลือก ถ้าคุณไม่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ คุณก็ต้องเป็นเจ้าของสัญญาณโทรทัศน์ ในอดีตมันเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา มันเลยทำให้คนกลายมา distributor กันอย่างแพร่หลาย อินเทอร์เน็ตจึงมาปลดแอกคอนเทนต์ คุณจะไม่มีวันเห็นซีรีส์อย่าง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ได้เลย ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมแบบเดิม
“ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ distributor เป็นใครก็ได้ คอนเทนต์ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ ในธุรกิจสื่อทั้งหมดอย่างเช่นพวกกลุ่ม FANG (Facebook, Amazon, Netflix และ Google) กลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้เรียกได้ว่าโดนรัฐบาลในประเทศต่างๆ เฝ้ามองอยู่ตลอด มีเพียงบริษัทเดียวที่รอดจากการสอดส่องของรัฐบาล นั่นก็คือ Netflix เพราะรูปแบบโมเดลของเขาไม่ได้เอาข้อมูลของคนมาขาย แต่เป็นโมเดลการ subscription แต่คนไม่รู้เลยว่าจริงๆแล้ว Netflix ลงทุนในคอนเทนต์ของตัวเองมากกว่า BBC ซะอีก”
“และถ้าถามว่าสำหรับสื่อมวลชนไทย เราจะไปทางไหนดีในยุคที่ใครๆก็เป็น distributor ได้ ผมคิดว่ามันอยู่ในช่วง transition ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้มีกำไร ในต่างประเทศเองก็มีหนังสือพิมพ์หลายๆ เจ้าแล้วที่คอนเทนต์ไม่ฟรีอีกต่อไป เช่น The New York Times, Financial Times คอนเทนต์คุณต้องระดับพรีเมียมจริงๆ คนถึงยอมจ่ายตังค์ แต่ถึงต้องจ่ายตังค์แล้ว ก็ยังไม่พอที่จะมาหล่อเลี้ยงองค์กร ตัดมาที่ประเทศไทย ถึงแม้ในตอนนี้เราจะยังหาโมเดลที่ทำให้เราชนะไม่ได้ แต่หนึ่งอย่างที่เราเห็นคือมันมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก อย่าง a day, The Momentum, The MATTER, THE STANDARD เขาก็มีความพยายามที่จะทำเนื้อหาที่มีคุณภาพออกมา สื่อที่เป็นองค์กรกลางเก่ากลางใหม่ที่ไม่ใช่องค์กรธุรกิจแต่เป็นมูลนิธิอย่าง ThaiPublica, ประชาไท เขาก็พยายามทำข่าวที่มีคุณภาพอยู่ เราเห็นความพยายามที่จะทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจากสื่อต่างๆ เหล่านี้ แต่เราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมีใครที่ทำได้ โมเดลธุรกิจที่สร้างคอนเทนต์ที่ดี ในขณะเดียวกันก็สามารถทำกำไรได้ ผมว่าหากใครคนนั้นทำได้ เขาจะกลายเป็นฮีโร่”
บทบาทฐานันดรที่ 4 จะต้องกลับมา คุณจะต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน
“ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิ์ในการพูดของคุณไว้ด้วยชีวิตของผม
“ผมว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ เราเห็นต่างกันได้ แต่สิทธิ์ในการพูดมันต้องมี ทุกวันนี้มันไม่มีนะ เราเห็นวิทยุชุมชนถูกปิดไปโดยไม่มีใครมาปกป้อง เมื่อคนรู้สึกว่าความอยุติธรรมเป็นเรื่องปกติ นี่ต่างหากคือความอันตรายของสังคม เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเห็นว่าความอยุติธรรมไม่ใช่เรื่องแปลก มันจะถูกทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายคุณจะไม่เห็นหรอกว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องความยุติธรรมของคนอื่นมันสำคัญขนาดไหน จนกว่าความอยุติธรรมมันจะเข้ามาหาคุณเอง ดังนั้น ถ้าถามว่าผมอยากจะเห็นอะไรในสื่อไทย พวกคุณไม่ต้องคิดเหมือนกันก็ได้ แต่ผมอยากเห็นสื่อมวลชนไทยยืนยันในเรื่องหลักการอะไรบางอย่างที่ทำให้สื่อเป็นสื่อ จิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียงต้องกลับมา
“10 กว่าปีที่ผ่านมานี้มันมี fake news เต็มไปหมด ข่าวที่ทำให้คนเกลียดชังกันเต็มไปทั่วสังคมไทย ผมว่ามันควรพอได้แล้วกับการสร้างวัฒนธรรมที่เกลียดชังกันในสังคม หน้าที่ของสื่อมวลชนคืออย่าให้ใครสร้างวาทกรรมแบบนี้ขึ้นมาอีก อย่าให้ใครสามารถฆ่าใครด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในสังคมก็ตาม เรื่องพวกนี้เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย และมันใช้เวลานานมากกว่าที่โลกเราจะสถาปนาให้ผู้คนยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ฉะนั้น มันควรพอได้แล้วกับสงครามที่จะต้องฆ่าฟันกัน มันถึงเวลาของคำว่า diversity และการเป็น global citizen แล้วต่างหาก”
สุดท้าย มันอยู่ที่พวกคุณแล้ว
“ว่าคุณกล้าทำอะไรในสถานการณ์ที่มันมืดมิดอยู่ในขณะนี้ มันอาจจะน่ากลัวยามเมื่อคุณยืนกันอยู่แค่ 1 คน หรือ 10 คน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทั้งหมดยืนและหันหน้ากลับไปหาพวกเขา คนที่ควรกลัวคือพวกเขาต่างหาก ไม่ต้องถามผมว่าควรทำยังไง แต่ควรถามคุณว่า คุณควรทำอะไร”
ภาพ นิติพงษ์ การดี