ประเทศไทยเหลื่อมล้ำที่สุดจริงไหม คุยเรื่องความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทยกับ มาร์ค เจนมานะ

Highlights

  • หลายคนรู้จัก มาร์ค–ธนสักก์ เจนมานะ ในฐานะศิลปิน แต่ในวันที่ความเหลื่อมล้ำเป็นที่พูดถึงกันวงกว้างในประเทศไทย เราอยากชวนคุณมารู้จักเขาในฐานะนักวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดูบ้าง
  • ทำไมไทยถึงกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆ การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย ส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำในบ้านเรา และในฐานะคนรุ่นใหม่ เราจะสามารถทำอะไรกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำอันแสนสาหัสตอนนี้ได้บ้าง ลองไปฟังเขากัน

“ผมว่าคนรุ่นเราโตมาในสังคมไทยที่การเมืองมันแบ่งขั้วรุนแรง เหตุการณ์ทางการเมืองมันเห็นได้ชัดเจนและเราโตมากับมัน ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็มีรัฐประหารปี 2549 พอเจอพวกนี้เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นกับตัวเองโดยอัตโนมัติ”

นี่คือคำตอบของ มาร์ค–ธนสักก์ เจนมานะ เมื่อเราถามว่า อะไรทำให้เขาสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ย้อนกลับไปเมื่อตอนอายุ 15 ปี มาร์คบินไปเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา เขาเองก็บอกว่าไม่รู้โชคร้ายหรือโชคดีที่ได้ไปอยู่ในเมืองที่มีเพียง 2,000 ครัวเรือน มีคนเพียง 4,000 คน และมีซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงร้านเดียว

จากเด็กในเมือง ที่นั่นทำให้เขาเห็นความแตกต่าง และในตอนนั้นเอง มาร์คก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง แม้เพียงผิวเผินแต่นั่นก็เพียงพอให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย

ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี่เองที่ทำให้เขายอมรับว่าตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป โลกใบเดิมของเขาแตกสลาย แต่โลกใบใหม่ก็เกิดขึ้นที่นั่น

“ที่นั่นมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเยอะ เป็นพื้นที่ที่เราตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องห่วงว่าจะไป offend ใคร ซึ่งอันนี้สำคัญ และเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องมีโดยเฉพาะสภาพการเมืองแบบในปัจจุบัน

“พอมีโอกาสตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้ ก็เลยเริ่มมีวิธีคิดแบบใหม่ๆ และด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร เลยอยากทำงานวิจัยเรื่องพวกนี้ เลยกลายเป็นนักวิจัยในท้ายที่สุด”

จากเด็กในเมืองจ๋าและศิลปินที่ออกเพลงมาแล้ว อะไรทำให้เขาหันเหความสนใจไปที่การเป็นนักวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจริงไหม แล้วในสายตานักวิจัย พอจะมีหนทางที่บ้านเราจะแก้ปัญหา ‘รวยกระจุกจนกระจาย’ ได้อย่างไร ให้นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยความเหลื่อมล้ำโลก หรือ World Inequality Lab (WIL) เล่าให้ฟัง

พอเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ อะไรทำให้สนใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเดียวกันนี้ที่ปารีส

ตอนจะขึ้นปี 2 เริ่มมั่นใจแล้วว่าชอบสังคมศาสตร์ ชอบเศรษฐศาสตร์ ชอบการทำวิจัย พอซัมเมอร์ปี 2 ขึ้นปี 3 ก็เริ่มหาที่ฝึกงาน ตอนนั้นก็ไปทำเรื่องการศึกษาที่ตอนนี้ พ.ร.บ.เพิ่งผ่าน ตอนนี้เขาเรียกว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พอไปทำตรงนั้นก็มีโอกาสลงพื้นที่ ไปช่วยเขาดูการสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่แม่ฮ่องสอน หน้าฝนมันเข้าถึงพื้นที่หลายพื้นที่ยากและได้ไปนอนอยู่ที่โรงเรียนกับเด็ก ได้เห็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของไทย พอกลับก็คิดได้ว่างานวิจัย งานวิชาการ งานสร้างความรู้นี่แหละเป็นสิ่งจำเป็น เลยอยากทุ่มเทให้กับตรงนั้น ซึ่งถ้าจะทำได้คือต้องไปเรียนต่อ

 

แล้วไปเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยความเหลื่อมล้ำของโลกได้ยังไง

ตอนไปเรียนปริญญาโทที่ Paris School of Economics สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองอยู่แล้ว แต่พอเข้าไปตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร รู้แค่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง สุดท้ายเลยเข้าไปคุยกับอาจารย์หลายคนเรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์ และได้คุยกับอาจารย์ Thomas Piketty (ผู้เขียนหนังสือ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’)

หลังจากที่เรียนคลาสหนึ่งกับเขา เรารู้สึกว่าข้อมูลสถิติเรื่องความเหลื่อมล้ำไทยมันดูไม่น่าใช่ ตัวเลขทางการก็ออกมาบอกว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำอย่างเช่นเรื่องรายได้มันดีขึ้น แต่เราก็ตั้งคำถามว่ามันดีขึ้นจริงหรือเปล่าเลยอยากทำงานวิจัยเพื่อคำนวณความเหลื่อมล้ำใหม่ ก็ไปคุย เขาก็แนะนำ

สุดท้ายตอนทำปริญญาโทเสร็จตั้งใจจะเรียนปริญญาเอกต่ออยู่แล้ว เลยอยากทำเรื่องนี้เพื่อสำรวจประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่อ เพราะประเทศข้างเคียงก็เจอโลกาภิวัตน์ และประวัติศาสตร์การเมืองภูมิภาคในยุคสงครามเย็นคล้ายๆ กัน เลยรู้สึกว่าน่าเปรียบเทียบระหว่างประเทศก็เลยเข้าไปคุยกับเขา เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเขาเลยให้เราเป็นนักวิจัยก่อนหนึ่งปี จะได้มีเวลาเขียนร่างปริญญาเอกด้วย

ที่นั่นเขาทำงานกันแบบไหน ต้องทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน

ข้อดีของที่ทำงานก็คือมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำของโลกพยายามทำให้มันมีความเป็นนานาชาติ เพราะในการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำและเศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ สุดท้ายไม่พ้นว่าคนที่มาจากบริบทนั้นๆ จะรู้เรื่องดีกว่า เพราะฉะนั้นนักวิจัยในแล็บจึงมาจากหลายประเทศ จากบราซิล ชิลี สเปน จีน อินเดีย ซึ่งค่อนข้างที่จะหายากสำหรับศูนย์วิจัยทางเศรษฐศาสตร์

ผมชอบแล็บที่ผมทำงานมาก เพราะมันแลกเปลี่ยนไอเดียกันเยอะ สมมติผมมีไอเดียเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองยุคสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเชิงหนึ่งประสบการณ์ของประเทศแถบลาตินอเมริกาก็คล้ายเคียงกันกับภูมิภาคเรา มีการปฏิรูปสถาบันทหาร บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ บทบาทของโลกาภิวัตน์ คว้าเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา แต่ที่น่าสนใจคือทำไมผลลัพธ์ของสองภูมิภาคนี้ถึงแตกต่างกัน ซึ่งพอเรามีทีมวิจัยที่มันค่อนข้างนานาชาติ แล้วก็เก่งกันทุกคน การแลกเปลี่ยนความคิดพวกนี้มันเลยเกิดขึ้นเร็ว มีการคุยกันตลอด เวลากินข้าวอะไรแบบนี้ สิ่งแวดล้อมแบบนี้มันเลยทำให้มีคำถามวิจัยหรือระเบียบวิธีวิจัยที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว

 

นอกจากสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้งานวิจัยไปได้เร็ว วัฒนธรรมการทำงานของเขาเป็นยังไงบ้าง

วัฒนธรรมการทำงานก็ค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร เพราะสุดท้ายแล้วนักวิจัยก็มีโปรเจกต์ของตนเองที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นแล้วหลายเรื่องด้วยความที่ว่ามันเป็นงานที่ต้องเข้าถึงข้อมูลที่ปกติคนอื่นเข้าถึงไม่ได้ เช่น ข้อมูลภาษีที่เข้าถึงโคตรยากสำหรับบางประเทศ และด้วยความที่มันเป็นงานประวัติศาสตร์ ใช้เวลาเยอะ เพราะฉะนั้นเราเลยอิสระมาก ไม่มีคนมาเซต agenda ให้เรา นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ สมมติคนเข้างานเที่ยงเลิกเที่ยงคืน ก็แล้วแต่นาฬิการ่างกายตัวเอง ซึ่งผมว่ามัน productive มากกว่า อยากพักตอนไหนก็พัก มีโต๊ะปิงปอง ตีไป 3 ชั่วโมงก็ไม่มีใครว่า ถ้าเกิดเหนื่อยก็พักไป แต่ทำงานให้เสร็จพอ พักหลังๆ ก็มีหลายศูนย์วิจัยที่เป็นอย่างนี้นะ

 

ทำงานที่สถาบันวิจัยความเหลื่อมล้ำโลก แล้วเจอความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานบ้างไหม

มี ในที่ทำงานจะมีแต่ผู้ชาย ซึ่งนี่เป็นปัญหาของสายเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศ ในไทยดูเหมือนว่าจะดีกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ อย่างในแล็บที่ปารีส ในทีมนักวิจัยทั้งหมดประมาณยี่สิบกว่าคน มีผู้หญิงแค่ 2-3 คน ซึ่งในเชิงหนึ่งก็อาจจะสามารถอธิบายสาเหตุที่ว่า ทำไมสถาบันวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำโลกไม่มี gender inequality ในเว็บไซต์ เป็นประเด็นที่ตอนนี้ก็คุยกันอยู่ว่าเราจะทำยังไงเพราะว่ามันก็ต้องกลับไปแก้ข้อมูลใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็มีโปรเจกต์ว่าจะทำวิจัยประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศเพิ่มเข้าไป ก็มีความเหลื่อมล้ำทั้งในจำนวนตัวทรัพยากรบุคคลชาย-หญิงและทั้งในประเด็นการวิจัย

ช่วงตุลาคมปีที่แล้วเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นที่พูดถึงในบ้านเราพอดี ที่ว่าไทยติดอันดับหนึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน

ตอนนั้นโชคดีมาก จริงๆ งานนี้เริ่มตั้งแต่วิทยานิพนธ์เรื่องความเหลื่อมล้ำไทย เราทำก่อนเรื่องนี้เป็นกระแสนานมาก พอทำเสร็จปุ๊บ คุณบรรยง พงษ์พานิช ก็พูดถึงเรื่องนี้และกลายเป็นกระแสในบ้านเราพอดี

งานนี้เดิมเป็นทีสิสปริญญาโท พอมาเป็นนักวิจัยเราเลยทำเพิ่ม ตอนนั้นยังไม่ได้แบ่งรายได้แรงงานกับทรัพย์สิน พอทำเพิ่มเสร็จพบว่ามันออกมาน่าตกใจพอสมควร

 

ที่ว่าน่าตกใจคือยังไง

ความเหลื่อมล้ำไทยในเชิงหนึ่งมีส่วนหนึ่งที่ปรับตัวดีขึ้น ก็คือการกระจายรายได้ที่มาจากการว่าจ้าง พวกค่าแรง พวกเงินเดือน โบนัส อะไรพวกนี้มันกระจายตัวดีขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบรายได้จากทรัพย์สินมันกระจุกมาก คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ รายได้จากทรัพย์สินประมาณเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากทรัพย์สินทั้งประเทศ และมันไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นขนาดนั้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้รายได้โดยรวมทั้งหมดไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น เพราะหลักๆ มาจากการที่รายได้จากทรัพย์สินไม่ลดลง ความเหลื่อมล้ำมันไม่ลดลง

ยิ่งถ้าดูข้อมูลจากปี 2544 จนถึงปัจจุบัน เหมือนว่าส่วนประกอบรายได้ของคนที่รวยที่สุดในประเทศในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์และ 0.001 เปอร์เซ็นต์นั้น ส่วนแบ่งของรายได้จากคนกลุ่มนี้มันเริ่มเอนไปที่รายได้จากทรัพย์สินมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ค่อยมีนโยบายที่แก้เรื่องนี้ได้เพียงพอ เพราะรายได้จากทรัพย์สินหลายส่วนก็ไม่ได้เก็บภาษี และภาษีทรัพย์สินเองก็ไม่ได้เก็บได้ดีขนาดนั้น ภาษีมรดกหลังจากพ่อแม่ตายแล้วส่งให้ลูก ก็ยังเก็บได้ไม่มาก

จากที่ทำวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำมา คิดว่าทำไมไทยถึงกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆ 

สิ่งที่พูดได้คือ ทำไมประเทศไทยถึงเหลื่อมล้ำมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่อธิบายยังไงก็อธิบายได้ไม่ครบ ที่ไทยเหลื่อมล้ำมาก ผมคิดว่ามันเป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ตั้งรากฐานมาตั้งแต่ยุค 50s ยุค 60s นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตมันสร้างโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมอยู่แล้ว คนที่ตัดสินใจ คนที่ออกแบบนโยบาย อยู่บนพื้นฐานสังคมที่ไม่เท่าเทียมมาก

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่รัฐไทยในอดีตไม่เคยสนใจปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสักเท่าไหร่ เหมือนๆ กับประเทศที่กำลังพัฒนายุคนั้น คือสนใจว่าเราจะโตอย่างไร เพราะฉะนั้นโครงสร้างระบบทุนนิยมเศรษฐกิจไทยมันเลยออกมาในรูปแบบที่มีนายทุนใหญ่ๆ ไม่กี่คน รัฐที่สนับสนุนกิจกรรม กิจการใหญ่ๆ เหล่านี้เพื่อการส่งออกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเร็ว ซึ่งพอมันเป็นอย่างนี้มันก็เลยเกิดสังคมที่ค่อนข้างเหลื่อมล้ำมาก 

รัฐบาลไทยเพิ่งเริ่มมีความสนใจเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำจริงๆ หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 นี่เอง ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องปฏิรูปกองทัพอย่างนี้มากกว่า แต่สุดท้ายมันเกี่ยวกันหมด ระบบทุนนิยมไทยมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำสำหรับไทยตอนนี้จะอยู่ในกลุ่มที่ศัพท์ของแล็บที่เรียกว่า World Inequality Frontier ก็คือกลุ่มประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด ซึ่งมีบราซิล อินเดีย ประเทศไทยตอนนี้เหลื่อมล้ำเกือบเท่าอินเดีย เหลื่อมล้ำมากกว่าจีนและสหรัฐอเมริกา

ที่ว่าไปคือสถานการณ์ไทย แล้วสถานการณ์โดยรวมของโลกเป็นอย่างไร

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกตอนนี้คือแย่ลง แต่ในเรตที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ขึ้นอยู่กับสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้นๆ ด้วย

คือโลกตอนนี้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สินกำลังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเอเชีย ยุโรปอเมริกา ลาตินอเมริกา มันเพิ่มขึ้นในเรตที่ต่างกันแต่ที่แน่ๆ คือความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมันเพิ่มขึ้น ภูมิภาคที่เหลื่อมล้ำน้อยที่สุดคือยุโรปอยู่แล้ว คนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ถือครองรายได้ประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลื่อมล้ำที่สุดก็คือตะวันออกกลาง ที่คนรวยที่สุดคือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด 

ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกมันเพิ่มขึ้นหมด แต่ยุโรปก็จะเพิ่มขึ้นช้าหน่อย ส่วนอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเร็วมากหลังจากปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่งในเชิงหนึ่งการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินทั่วโลกมันมาจากแรงผลักให้ public wealth หรือที่เรียกว่าทุนสาธารณะ ทุนรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจลดลง แต่ทุนไพรเวตเพิ่มขึ้น ทำให้ภาษีมันก้าวหน้าลดลงหรือต่ำลง เลยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินที่สูงขึ้น เพราะทุนมันถ่ายโอนไปอยู่ในมือของเอกชน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เก็บภาษี ความเหลื่อมล้ำ รายได้ ทรัพย์สินก็เลยเพิ่มขึ้นแต่ในเรตที่ต่างกัน แล้วแต่ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นยังไง

ทำไมมันถึงแย่ลงไปทั่วโลก

ถ้าเกิดพูดถึงทรัพย์สินก็อย่างที่ว่า คือการถือครองของทรัพย์สินในมือของเอกชน มันไม่มีมาตรการเพียงพอที่จะรับมือเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง ตอนนี้ที่ยุโรปความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินยังต่ำที่สุดอยู่ แต่มันก็เพิ่มขึ้นในเรตที่ช้ากว่าทวีปอื่นๆ อย่างรัสเซียกับจีน หลังจากที่ออกมาจากรัฐบาลที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ ปรับตัวเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมมากขึ้น มันกลายเป็นว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินและรายได้เพิ่มขึ้นแบบรวดเร็วมากและน่ากลัวมาก เพราะมันส่งเสริมให้เอกชนถือทรัพย์สินเยอะ แต่ไม่มีมาตรการในการกระจายรายได้และทรัพย์สินที่เพียงพอ ก็เลยกลายเป็นว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง

 

หมายความว่าทุนนิยมไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมลํ้าลดลง คือเราต้องกลับไปแบบนั้นเหรอ

ไม่ได้หมายความว่าทุนนิยมจำเป็นต้องมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่สูงมากเสมอไป อย่างยุโรปก็คือระบบทุนนิยมทั้งนั้น ไม่ว่าจะนอร์เวย์ ฟินแลนด์ อะไรก็ตามที่คนชอบเชียร์ รัฐสวัสดิการมันคือระบบทุนนิยมที่มีนโยบายกระจายรายได้ที่มันสามารถยับยั้งสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้

 

อย่างการเมืองบ้านเราที่มันไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย มันส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำบ้าง

ผมว่ามันมาพร้อมกัน ในเชิงหนึ่งความเหลื่อมล้ำคือผลลัพธ์ของโครงสร้างระบอบการเมืองไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน มัน reinforce each other คนที่มีอำนาจในการออกนโยบายเศรษฐกิจ คนที่มีอำนาจในการปัดภาษีโน่นนี่ตกก็คือคนที่รวยที่สุดในประเทศ จริงๆ แล้วในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา มันไม่มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ระหว่างการเมืองกับกลุ่มเศรษฐกิจ ชนชั้นต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมันทับกันอยู่ เลยกลายเป็นว่าความเหลื่อมล้ำเลยไปสนับสนุนอำนาจทางการเงินของชนชั้นนำไทย

ทำไมถึงเป็นประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในภูมิภาค ในฐานะคนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ก็จะมองว่ามันไม่น่าใช่บ้านเราเลย

อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศที่ หนึ่ง ค่อนข้างเล็ก สอง ในมุมมองประประวัติศาสตร์การที่จะมาถึงจุดปัจจุบันมันต้องลงทุนกับคน ด้วยความเป็นที่เขาเป็นประเทศเล็กเลยดูแลง่าย มันเป็นกรณีพิเศษ ผมไม่เชื่อว่าสิงคโปร์จะเป็นโมเดลที่ดีสำหรับไทย เพราะจำนวนคนน้อยกว่า ด้วยโครงสร้างของเศรษฐกิจ โครงสร้างของประชากรทำให้เขาจำเป็นต้องลงทุนกับคน ความเหลื่อมล้ำของประเทศสิงคโปร์จึงต่ำกว่าไทย

 

ถ้าเขยิบเข้ามาใกล้กว่านั้นอย่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเรา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเขาเป็นอย่างไรบ้าง

อย่างกัมพูชา ลาว พม่า เขามีสิ่งที่ตกค้างมาจากการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกอยู่ ทำให้ในเชิงหนึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจเขาค่อนข้างยากจนอย่างเท่าเทียมกันพอสมควร ชนชั้นกลางก็เล็ก จะพูดอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเปรียบเทียบกับไทยนะ ด้วยความที่เศรษฐกิจเขาไม่ได้โตเร็วขนาดนั้น เปรียบเทียบกันด้วยช่วงเวลาเดียวกับที่ไทยโตเร็ว มันก็เลยไม่ได้ห่างกันมากเท่าในประเทศไทย

ในฐานะคนรุ่นใหม่คุณคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรกับสถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าอันแสนสาหัสในบ้านเราตอนนี้ได้

สุดท้ายปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง พอไม่พ้นเรื่องการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ทำอะไรได้บ้าง คนรุ่นใหม่ต้องพยายามตั้งคำถามว่าระบบการเมืองที่เราอยากได้เป็นยังไง นโยบายที่เราอยากได้เป็นยังไง เราควรสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำไหม หรือเราควรจะสนใจเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผมบอกไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ควรจะทำอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องของสาธารณะ 

เรื่องความเหลื่อมล้ำนี่มันไม่มีจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ หรือจุดยืนทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าความเหลื่อมล้ำที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่ บางคนก็บอกว่าความเหลื่อมล้ำของไทยตอนนี้มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น คนรุ่นใหม่บางคนก็บอกว่าความเหลื่อมล้ำเยอะจริง สุดท้ายมันเป็นเรื่องการพูดคุยในที่สาธารณะอย่างเดียว มันต้องดีเบตผ่านพื้นที่ทางการเมืองที่มันพูดคุยได้ ซึ่งปัจจุบันมันไม่ใช่

ดังนั้นคำถามที่ว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไรได้ก็ควรเริ่มที่สมรภูมิทางการเมืองมากกว่า ทำให้มันเป็นพื้นที่เปิด ทำให้อย่างน้อยรัฐบาลมี check and balance มากกว่านี้ คือเสียงทางการเมืองหรือเสียง concern ของผู้คนสุดท้ายมันจะสะท้อนไปทีหลังได้ก็ด้วยระบบรัฐที่มันตอบเสียงของคน ซึ่งก็คือผ่านการเลือกตั้ง พอดูจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วสุดท้ายก็ต้องมาคุยเรื่องนี้ แต่ถ้าใครสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ต้องมาพูดเรื่องภาษี ต้องยอมเสียภาษีกัน

เราต้องมองให้ครบทั้งหมด แต่คนเราความเชื่อไม่เหมือนกัน คนที่เลือกพลังประชารัฐก็เชื่ออย่างนั้น คนที่เลือกประชาธิปัตย์ก็เชื่ออย่างนี้ สุดท้ายก็ต้องมีพื้นที่พูดคุยกัน ฟังกันเยอะๆ

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์บางคน ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากๆ ที่ผ่านมาลดได้ด้วย 3 อย่าง หนึ่งคือสงคราม สองคือการปฏิวัติ สามคือภัยพิบัติ นอกจากนี้มันหายากมากที่จะหาเหตุการณ์ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ไม่มีใครอยากให้สังคมมันเหลื่อมล้ำและการเมืองแบ่งขั้วจนถึงจุดแตกหักจนต้องมีคนมาล้มตาย ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เราเหมือนเดินย้อนกลับไปในอดีต เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วเราก็ต้องวกกลับมาคุยกันว่า หน้าตารัฐไทยและการเมืองไทยแบบไหนที่เราอยากได้ แต่ผมก็เป็นแค่นักวิจัยตัวเล็กๆ ก็บอกไม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็ต้องสู้ต่อไป

ที่บอกว่าคนจนที่สุดต้องทำงาน 3.8 เดือนเพื่อให้ได้รายรับเท่ากับหนึ่งวันของคนที่รวยที่สุด ฟังดูไม่มีทางที่จะลืมตาอ้าปากได้เลย

ก็เป็นไปได้ ผมว่าบทเรียนหนึ่งคือเราได้เรียนรู้คือนโยบายสวัสดิการเวิร์กจริง นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเวิร์กจริง อย่างน้อยมันทำให้ความเหลื่อมล้ำหยุดเพิ่มขึ้นได้หลังยุค 2540 แต่ก็ยังไม่พอที่ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยมันปรับตัวดีขึ้น สุดท้ายหนีไม่พ้นนโยบายภาษี ซึ่งในสภาพการเมืองแบบนี้ก็ยาก

 

ทั้งในทางตัวเลขและในทางความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำมันได้สร้างปัญหาอะไรกับคนไทยบ้างนอกจากเรื่องค่าครองชีพและเรื่องความไม่เท่าเทียม

ก็มีเรื่องความมั่นคงของสถาบันทางประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสูงมาก มันมาพร้อมความเหลื่อมล้ำทางการเมืองเสมอ นโยบายที่ออกมาก็ออกเพื่อให้ผลประโยชน์กับนายทุนใหญ่ ให้กับชนชั้นนำ

คิดว่ามีอะไรที่จะสามารถลดรวยกระจุกจนกระจายได้จริงๆ

การที่จะลดรวยกระจุกจนกระจายได้ก็คือ ต้องมองบนแล้วก็มองล่าง มองบนก็คือนโยบายภาษีรายได้ที่มันก้าวหน้ากว่านี้ การเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ที่มันก้าวหน้ากว่านี้ ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเหล่านี้มันเวิร์กจริง ส่วนเรื่องคนจน เราต้องเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณภาพ การให้เสียงของเขาผ่านสถาบันแรงงานต่างๆ อย่างสหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานมีหลายแบบ อย่างญี่ปุ่นก็มีสหภาพแรงงานแบบหนึ่งที่อยู่ในสถานประกอบการ เยอรมนีก็อยู่ในระดับอุตสาหกรรมเลย แล้วแต่บริบท ในเชิงหนึ่งผมไม่เชื่อว่ามีโมเดลประเทศไหนที่มันนำไปใช้ในอีกประเทศหนึ่งได้ เพราะทุกอย่างมันอิงกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศนั้นๆ แต่อย่างน้อยมันมีเครื่องมือบางอย่างที่พิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์กจริง

 

มันจะอีกกี่ปี

บอกไม่ได้เลย ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนี้จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงจะหน้าตาเป็นยังไง จะมาเร็ว จะมาช้า จะรุนแรงหรือไม่ คนจะเสียเลือดเนื้อหรือเปล่า ปัจจัยมันเยอะมาก แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้หลายคนรู้สึกว่าการเมืองไทยไม่มีความหวัง

แล้วจะอยู่ที่นี่ไปทำไมในเมื่อไม่มีความหวัง

ส่วนตัวผมต่อให้ยังไงก็อยากจะทำวิจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ดังนั้นอยู่ไทยคือดีที่สุด แต่ถ้าคนอื่นทนไม่ไหวอยากย้ายไปอยู่นอกประเทศ ถ้าทำได้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ผมว่า identity เรื่องความเป็นไทยสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคน ถ้าเกิดใครรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ต่อไปเพื่อรอดูอนาคต ทนได้ ก็โอเค หรือใครแฮปปี้อยู่นี่ก็โอเค ไม่ต้องไปไล่เขาว่าไม่ใช่คนไทย เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า ได้ไปทำงานต่างประเทศก็เป็นไอเดียที่ดี แต่เรื่องของเรื่องมันมีคนไทยกลุ่มน้อยเท่านั้นแหละที่มีทางเลือกนี้

 

แปลว่าส่วนตัวแล้วคุณอยากกลับมาอยู่ไทย

ใช่ ผมผูกพันกับไทยต่อให้มันร้อนฉิบหาย อยู่ที่นั่นก็แฮปปี้มาก พูดกับเพื่อนตลอดว่าจินตนาการว่าตัวเองอยู่ที่โน่นยันตายได้ แต่อยากกลับมาทำวิจัยเรื่องในไทย แล้วก็อยากกลับมาสอนหนังสือที่นี่ เพราะที่นี่ทำให้ผมเติบโตทางความคิด เหตุผลหลักๆ ก็คือปฏิสัมพันธ์ที่ผมมีกับอาจารย์ กับเพื่อนที่คณะ ผมอยากให้นักศึกษาคนอื่นๆ มีโอกาสคล้ายๆ กัน เราโตมาอย่างนี้ ก็อยากกลับมาให้อะไรคืนบ้าง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน