เปลือยเบื้องหลัง ‘ฟอนต์ปรารถนา’ : ตัวอักษรประกอบหนังสือ ร่างของปรารถนา

สิ่งแรกที่เราสะดุดตาบนหน้าปก
ร่างของปรารถนา นวนิยายเล่มล่าสุดของ อุทิศ เหมะมูล ไม่ใช่ลายเส้นกราฟิกสีฉูดฉาด แต่เป็น ‘ตัวอักษร’ ที่พาดเรียงกันเป็นชื่อเรื่อง เส้นโค้งตวัดของอักษรดูคล้ายร่างกายมนุษย์
หากเพ่งมองอย่างใกล้ชิดก็จะเห็นเป็นเส้นโค้งเว้าคล้ายสรีระของหญิงเปลือย เผยให้เห็นส่วนก้นและหน้าอก ส่วนเส้นที่ตวัดม้วนเป็นหัวตัวอักษรดูคล้ายยอดปทุมถันและลึงค์ เพียงแค่เห็นตัวอักษรบนหน้าปกก็ชวนให้ฟุ้งซ่านและวาบหวามไม่น้อย

เราจึงไม่รอช้าที่จะชวน อุทิศ เหมะมูล ผู้เขียน ร่างของปรารถนา ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการออกแบบตัวอักษรสุดอีโรติกนี้มาจากท่วงท่าและอวัยวะของทั้งเพศชายและเพศหญิง อุทิศชักชวน สมิชฌน์
สมันเลาะ
นักออกแบบตัวอักษรแห่ง บริษัท
คัดสรร ดีมาก จำกัด มาร่วมกันก่อร่างสร้างฝัน
ต่อยอด และพัฒนา ให้แบบร่างออกเป็นฟอนต์ที่ใช้งานได้จริง
เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดหารือ ขั้นตอนการร่างแบบซึ่งลดทอนภาพของร่างกายให้คลี่คลายเป็นเส้นพยัญชนะและสระ ไปจนถึงกระบวนการปรับปรุงตัวอักษรตามปัญหาที่เกิดจนนำไปใช้ได้จริงทั้งบนปกและในเนื้อหาของนวนิยาย

01 ตัวอักษรที่ไม่ใช่แค่พระรอง และก็ไม่ได้เป็นแค่ภาพประกอบ

อุทิศ: ความคิดเรื่องการทำฟอนต์เข้ามาช่วงเขียนนิยาย
ร่างของปรารถนา ไปได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว เราไม่อยากใช้รูปวาดเป็นภาพประกอบของนิยาย
อยากให้การใช้งานของตัวอักษรเป็นมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบของกันและกัน ความคิดเรื่องการทำฟอนต์ก็เข้ามา
คือจะมีทั้งฟอนต์ปกติที่เราใช้อ่านแล้วก็มีฟอนต์ ‘ปรารถนา’ แทรกเข้ามาเพื่อสื่อนัยหรือความหมายพิเศษในนิยายเล่มนี้ด้วย ไม่ได้เป็นแค่ตัวอักษรเฉยๆ
เราเลยลองร่างแบบตัวอักษรขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้คิดว่าบทบาทหรือฟังก์ชันจะเทียบเท่ากับภาพประกอบ

สมิชฌน์: ปกติแล้วฟอนต์ทำหน้าที่เป็นตัวประกอบ ฟอนต์ที่เราใช้งานอยู่ทุกวันนี้เป็นเหมือนอากาศ คนไม่ค่อยรู้ว่ามันมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีเราก็หายใจไม่ได้และตาย ถ้าตัวหนังสือหายไปจะไม่มีอะไรให้อ่าน
การทำฟอนต์ ‘ปรารถนา’ ออกแบบมาเพื่อรับใช้เนื้อหา ทำให้กลมกล่อม และดึงมิติของนิยายให้เด่นชัดขึ้น
ความพิเศษอีกอย่างคือการนำฟอนต์ที่ใช้เป็นชื่อเรื่องมาใส่ในเนื้อหาหนังสือเลย พลิกบทบาทของฟอนต์จากที่แต่เดิมเป็นแค่ตัวประกอบให้กลับมาโดดเด่น
ขณะที่เราอ่าน ถ้าสังเกตฟอร์มของตัวหนังสือด้วยจะเห็นทั้งอวัยวะเพศ สรีระ ท่วงท่าที่สื่อถึงความอีโรติกในตัวฟอนต์
ก็น่าจะได้อารมณ์ร่วมกับนิยายมากขึ้น

02 ตัวอักษรที่เล่นกับประสาทสัมผัสและจิตใต้สำนึก

อุทิศ: ผมตั้งใจให้ฟอนต์ ‘ปรารถนา’ สะดุดตาขึ้นมาเป็นระยะ
คือไอเดียนี้ได้มาจากตอนดูหนังเรื่อง Fight club ที่ตัวเอกไปตัดต่อฟิล์มหนังโป๊ลงในฟิล์มหนังปกติ
ในหนึ่งวินาทีของม้วนฟิล์มมี 24 เฟรม แล้วใส่เข้าไปหนึ่งเฟรม
เราก็เลยเอาความคิดนี้มาต่อยอดและปรับใช้เป็นตัวฟอนต์สำหรับนวนิยายเล่มนี้ มองตัวอักษรในฐานะที่เป็นสารบางอย่างซึ่งแฝงไปในการรับรู้ปกติ เรียกว่าแทรกเข้าไปในจิตใต้สำนึก คือจะมีทั้งฟอนต์ปกติที่ใช้อ่าน
แล้วก็มีฟอนต์ ‘ปรารถนา’ แทรกเสมือนการกะพริบในฟิล์มหนัง เป็นส่วนที่แวบๆ
เข้ามาบ่อยๆ เพื่อให้คนสะดุด ชะงัก หรือเกิดเอะใจ ว่าทำไมมันมีฟอร์มประหลาดแทรกอยู่ในการอ่าน
ทำให้เกิดการเพ่งมองใกล้ชิด จ้องดูต่อไปว่าไอ้ตัวแปลกปลอมนี้ที่ในภาพรวมดูราบรื่นสวยงาม
ทำไมมีตำหนิ ทำไมมีรอยแผล ถูกใช้ในคำหรือบริบทใด

03 สร้างพื้นที่ทดลองใหม่ๆ ท้าทายสิ่งที่สังคมเซ็นเซอร์

อุทิศ: เราพยายามเสนอพื้นที่ที่เรียบง่ายที่สุด เอาเรื่องเพศมาใส่ในวรรณกรรม
ให้มาอยู่ในตัวอักษรแล้วก็ทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์มาก
เป็นสิ่งสำคัญแต่คนกีดกันออกไปจากภาษามานาน เกิดการเซ็นเซอร์ในพื้นที่ภาษาหรือพื้นที่ intellectual ครอบใส่ด้วยความคิดที่ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต่ำ
ไร้ศีลธรรม สกปรกโสมม นิยายเล่มนี้จะเป็นการเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ไม่พูดถึง หรือกระมิดกระเมี้ยนเลี่ยงใช้ภาษาแบบอื่น
มาอยู่ในนิยายเล่มนี้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น ทำไมต้องเซ็นเซอร์มันอยู่ตลอด

สมิชฌน์: ผมว่าฟอนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อซัพพอร์ตความรู้สึกต่างๆ โดยธรรมชาติ
เรื่องเพศก็เหมือนกัน อย่างในฟอนต์ชุดนี้ก็ใส่ทรวดทรง สรีระ และความเป็นอีโรติกเข้าไป แน่นอนว่ามันก็สร้างการทดลองให้กับคนอ่านเพราะว่าตัวอักษรอ่านยาก (หัวเราะ) แล้วข้อจำกัดเรื่องรูปแบบเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของนักออกแบบ ผมมองว่าตัวอักษรมันเหมือนเสื้อผ้า
มันไม่ได้มีน้ำเสียงเดียวเหมือนที่เราไม่ได้มีเสื้อผ้าชุดเดียว ในอนาคตตัวอักษรก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นและมีหน้าตาฟรีฟอร์มกว่าในปัจจุบัน หรือช่วยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ดีขึ้นโดยที่ยังคงอ่านได้ง่ายด้วย

04 ร่างเส้นให้เป็นสรีระมนุษย์

อุทิศ: เราพยายามเสนอภาพทางเพศ
นำเสนอท่วงท่า สรีระ เรือนร่าง รวมถึงอวัยวะของทั้งเพศชายและเพศหญิง แล้วเริ่มลดทอนฟอร์มให้คลี่คลายออกมาเป็นเส้น ถอดถ่ายมันออกมาผ่านตัวอักษรทั้งสระและพยัญชนะ เริ่มจากการร่างด้วยดินสอ
พยัญชนะแต่ละตัวมีแบบร่างไว้สองสามแบบ แล้วเลือกดูว่าอันไหนที่ลงตัวถึงส่งให้สมิชฌน์ไปพัฒนาต่อ

ตัวอักษรจากแบบร่างดินสอ

05 แปลงเส้นสายเป็นไฟล์เวกเตอร์

สมิชฌน์: พอได้แบบร่างมาเราก็ลงมือแปลงแบบร่างดินสอนั้นเป็นเส้นลงในคอมพิวเตอร์ ตอนแรกที่ได้รับแบบแทบมองไม่ออกว่าจะกลายมาเป็นตัวอักษรได้ยังไง
เพราะพี่อุทิศวาดโดยใช้ท่าทางและอวัยวะส่วนต่างๆ ของคน และด้วยความที่เป็นเส้นดินสอก็จะมีความพร่าเบลอบางอย่างอยู่ เราทำให้คมชัดขึ้นเป็นเส้นกราฟิกที่เรียกว่าไฟล์เวกเตอร์

06 รักษาตามอาการ

สมิชฌน์: กว่าจะลงตัวต้องคอยปรับแก้ตลอดทาง พอลองลงมือวาดจริงจากแบบร่างของพี่อุทิศก็เกิดปัญหาว่าเส้นบางมาก พอค่าน้ำหนักของเส้นน้อยไปก็จะใช้พิมพ์ข้อความขนาดยาวไม่ได้
ต้องมาปรับให้ความหนาของเส้นเพิ่มขึ้นจากแบบร่างดินสอ

ปัญหาต่อมาที่พบคือเมื่อออกแบบให้เส้นหนาขึ้น รายละเอียดจะหาย เพราะว่าเส้นร่างดินสอจะมีรายละเอียดเยอะ
เลยต้องใช้เป็นเส้น brush หรือพู่กัน
เพราะให้เส้นหนาบางได้และเก็บรายละเอียดได้ใกล้เคียงกับแบบร่างมากที่สุด พอเก็บรายละเอียดตรงนี้เสร็จก็เจอปัญหาอีกว่าผมเรียนการออกแบบมา
ไม่ค่อยรู้เรื่องสัดส่วนรูปร่างมนุษย์ ก็ต้องศึกษาเรื่องนี้ พยายามวาดรูปร่างมนุษย์ให้ดูสมส่วน
ไม่ดูเป็นการ์ตูนหรือดูเบี้ยว

แต่ทีนี้ก็เกิดปัญหาคือตอนพิมพ์เป็นตัวๆ
ออกมาดีมากเลย แต่พอพิมพ์เป็นประโยคขึ้นมามันกลายเป็นฟอนต์ผีครับ (หัวเราะ)
นึกออกไหมที่จะเป็นหมึกย้อยๆ ก็ต้องมารื้อระบบใหม่ เก็บรายละเอียดที่เป็นรอยแปรงอีกทีให้เป็นเส้นตรงขึ้น ย้อนกลับไปเอาศาสตร์ของการออกแบบตัวอักษรเอามาใช้ คือปลายจบสองแบบคือแบบตัดตรงและปลายแหลม
ทำให้เส้นไม่ดูน่ากลัวจนเกินไป

ตัวอักษรที่มีปลายจบแหลม ทำให้ดูเหมือนฟอนต์ผี

 

ปรับให้ตัวอักษรมีปลายจบสองแบบ
คือแบบปลายแหลมและตัดตรง

07 เชื่อมอักษรแต่ละตัวให้สัมพันธ์กัน

สมิชฌน์: แม้ว่ารูปแบบของฟอนต์ ‘ปรารถนา’ ค่อนข้างอิสระมาก แต่ต้องมีสิ่งที่เชื่อมโยงตัวอักษรแต่ละตัวไว้ด้วยกัน
ในการออกแบบตัวอักษรจะมีวิธีการ apply รูปแบบในชุดอักษรเดียวกันหรือที่เรียกว่าชุดอักษรสัมพันธ์ อย่างตัว
ฦ จะใช้รูปแบบซ้ำกัน วิธีนี้จะทำให้ฟอนต์แต่ละตัวเชื่อมโยงกัน อีกอย่างคือรูปร่างของตัวอักษรในชุดนี้จะมาจากอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายคน
นอกจากนี้ยังมีความสม่ำเสมอของเส้น ถ้าสังเกตดูที่ตัวฟอนต์จะมีเส้นที่มันย้วยๆ
บางอย่างที่คล้ายๆ กัน พอดูองค์รวมของทั้งหมดเลยทำให้ตัวอักษรทุกตัวดูเป็นชุดเดียวกัน

08 หาสมดุลระหว่างความงามและการอ่าน

อุทิศ: บอกกับสมิชฌน์เสมอว่าฟอนต์นี้ตั้งใจใช้เป็นเนื้อหาข้างในเลย
ไม่ใช่แค่เฉพาะหน้าปก เราเลยคำนึงถึงการอ่านง่ายเป็นอันดับแรก แต่ฟอนต์นี้ไม่เชิงว่าอ่านง่ายสบายตาไปเสียทีเดียว
เพราะเราอยากจะให้เอะใจ เกิดการสะดุดเมื่อฟอนต์เหล่านี้โผล่เข้ามา เลยต้องหาสมดุลให้ทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกันได้
แต่ในภาพใหญ่ควรสบายตา อ่านเรื่อยๆ ได้ ไม่สร้างความอึดอัดรำคาญใจให้คนอ่านมากนัก
เพราะว่าตัวอักษรไม่ควรเรียกร้องความสนใจมากจนคนอ่านรู้สึกว่าต้องยอมแพ้ คือต้องมีทั้งความวิจิตรแล้วต้องอ่านง่ายด้วย

 

สมิชฌน์: ถ้าสังเกตฟอนต์ชุดนี้จะมีปลายจบของตัวอักษร 2 แบบ คือผสมผสานทั้งปลายจบแบบตัดตรงและปลายจบที่เป็นปลายแหลม บางตัวต้องเป็นปลายตัดแบบเส้นตรงเพื่อลดความน่ากลัวของปลายแหลมๆ
และให้อ่านง่าย แต่ก็มีบางจุดที่ต้องค่อยๆ ทำให้บางลงเพื่อที่จะเก็บรายละเอียด ผมพยายามประนีประนอมระหว่างโลกของ ‘งานภาพ’ และ โลกของ ‘การออกแบบตัวอักษร’ ต้องหาค่าเฉลี่ยกึ่งกลางเพื่อให้มันเป็นรูปร่างคนได้และยังอ่านเป็นตัวหนังสือได้ด้วย

09 เพิ่มช่องไฟให้อ่านง่ายสบายตา

สมิชฌน์: ปกติแล้วการทำฟอนต์ ช่องไฟสำคัญมากเพื่อให้อ่านได้และดูสวยงาม ฟอนต์ชุดนี้รายละเอียดเยอะมาก
ถ้าใช้ช่องไฟเท่ากับฟอนต์ปกติจะอ่านไม่ได้ สุดท้ายเราเลยต้องเพิ่มช่องว่างระหว่างตัวอักษรอีกเท่าหนึ่งจากฟอนต์ปกติ
จะเห็นว่าแต่ละตัวมีระยะห่างกว่าปกติเยอะมากเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น

10 ทดสอบก่อนใช้ฟอนต์จริง

สมิชฌน์: ขั้นสุดท้ายคือนำฟอนต์ที่สร้างขึ้นไปทดสอบกับโปรแกรมต่างๆ ซึ่งปกติฟอนต์ที่เราเห็นทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การวาดรูปเปล่าๆ
เปลือยๆ เพราะมีเรื่องของระบบด้วย มันเป็นเหมือนแอพพลิเคชันกลายๆ ในตัวฟอนต์
เช่นเราพิมพ์ ‘ปี’ ต้องเป็นสระ ‘อี’ ที่เป็นตัวหลบหาง เราต้องใส่โค้ดกำกับซึ่งจะมีคนที่ทำโปรแกรมโดยเฉพาะ
พอทำเสร็จต้องมาดูว่าพอมาใช้กับฟอนต์ชุดนี้แล้วเป็นยังไง ฟอนต์ปรารถนาไม่ได้ตัวตรงเหมือนฟอนต์ปกติสักเท่าไหร่ด้วย
พอใส่โค้ดแล้วก็ทดสอบกับโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้ออกมาใช้งานได้ ใช้พิมพ์ได้ จะได้เป็นหน้าตาอย่างที่เห็น

ภาพ อุทิศ เหมะมูล, สมิชฌน์ สมันเลาะ

AUTHOR