แก่อย่างไรให้เท่สุดๆ ไปเลย! คุยกับครีเอทีฟโปรเจกต์ BENNETTY ถึงวิธีเล่าเรื่องคนแก่ยังไงให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

หญิงชราผมขาวร่ายรำอยู่หน้าเมรุเผาศพ ยาเม็ดนับร้อยร่วงหล่นลงบนหัวชายแก่ ชายชราอีกคนถูกล็อกข้อมือไว้กับเก้าอี้โยก และนักดนตรี 6 คนอายุรวมกว่า 400 ปีคล้องพวงหรีดไว้ที่คอ พร้อมเสียงดนตรีเท่ๆ แบบเพลงร็อกอินดี้สมัยใหม่ คือเหตุผลที่ทำให้เรารักเอ็มวีเพลง จุดเดิม ของวง BENNETTY เข้าอย่างจัง

จนถึงตอนนี้คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก BENNETTY วงดนตรีสุดเก๋าที่มีจุดเด่นคืออายุสมาชิกทุกคนผ่านพ้นวัยเกษียณมาแล้วทั้งสิ้น แต่ความพลิ้วในการเล่นดนตรีไม่แพ้คนรุ่นลูกหลานเลยสักนิด ที่สำคัญ ในเอ็มวี พวกเขาเล่นเพลงเปรี้ยวๆ กันในชุดคุณตาแสนธรรมดาที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปด้วยซ้ำ แต่ทำไมเมื่อบวกกับวิชวลที่ท้าทายความแก่ทั้งหลาย ดูไปดูมา คุณปู่ คุณตาวงนี้ถึงเท่สุดๆ ไปเลย

นี่คือความตั้งใจของ กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร ครีเอทีฟจากเอเจนซีชูใจ กะ กัลยาณมิตร เจ้าของโปรเจกต์วงดนตรีวงนี้ที่อยากเล่าเรื่องผู้สูงวัยให้ใกล้ตัวแต่โคตรเท่ เขาจึงเปิดออดิชั่นนักดนตรีเกษียณอายุเพื่อฟอร์มวงกันขึ้นมาจริงๆ และทำเพลงออกมาจริงๆ จนได้เป็นโปรเจกต์ที่พูดเรื่องผู้สูงวัยแบบที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แถมยังชวนให้เราโยกหัว ตบเท้า และสนุกไปกับมันได้ด้วย

เพราะ BENNETTY น่าสนใจขนาดนี้ รู้ตัวอีกทีเราจึงมานั่งคุยกับกิ๊บที่ออฟฟิศชูใจถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ การเดินทางของทีมงานรุ่นหนุ่มสาวกับนักดนตรีรุ่นพ่อจนถึงรุ่นปู่ทั้ง 6 และเคล็ดลับการเล่าเรื่องคนแก่ยังไงให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

อนุญาตให้หาวได้เต็มที่หนึ่งครั้งตรงนี้ แล้วเราไปฟังกิ๊บเล่ากัน


หลายคนอาจยังงงๆ ตอนที่ BENNETTY ปล่อยเพลงออกมาว่าโปรเจกต์นี้คืออะไร นี่คืองานที่มีลูกค้าหรือเปล่า

ไม่มี เราเข้าไปนำเสนอกับทาง สสส.ว่าอยากจะทำโปรเจกต์รวมผู้สูงวัยที่ดูไม่เป็นโฆษณา เพื่อพิสูจน์ว่าผู้สูงวัยกับคนรุ่นใหม่ทำงานด้วยกัน จูนเข้าหากัน และทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้สังคมยุคใหม่ยอมรับได้ เราคิดว่าปัจจุบันเวลาคนแก่ตัวลง พอรัฐบาลให้เงินค่ายังชีพแล้วเขาก็อยู่บ้านเฉยๆ ลูกหลานก็ให้พัก แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วชีวิตหลังเกษียณน่าจะมีหน้าที่หรือพื้นที่ให้เขาได้มีคุณค่าหรือทำอะไรต่อไป

โปรเจกต์แรกที่เราทำเรื่องผู้สูงอายุคือเมื่อสี่ปีที่แล้วกับ สสส.นี่แหละ ตอนนั้นเราตั้งพรรคคนแก่ชื่อ ‘พรรคพลังสูงวัย’ ขึ้นมาตอนช่วงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เพื่อชิงกระแส มีอาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรค อ.ยงยุทธเขาพูดขึ้นมาว่า ‘ต้นไม้น่ะ ให้มันแก่ยังไงมันก็ยังมีหน้าที่ให้ออกซิเจน ถ้าวันหนึ่งมันไม่ได้ให้ออกซิเจนก็เท่ากับมันหมดหน้าที่ มันตาย’ เหมือนเวลาที่คนเราหมดประโยชน์ก็เท่ากับตายไปแล้ว เราก็เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น

ย้อนไปตอนทำโปรเจกต์พรรคพลังสูงวัยเราก็มีไอเดียเรื่องการทำวงดนตรีอยู่แต่เราไม่ได้นำเสนอเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเลือกตั้ง มันเหมาะสมที่จะทำเรื่องพรรคมากกว่า ไอเดียวงดนตรีก็เลยค้างในหัว


ทำไมคุณเลือกจะพิสูจน์คุณค่าของคนแก่ด้วยวงดนตรีล่ะ

หนึ่ง เราชอบดนตรี ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าการที่ผู้สูงวัยจะก้าวมาสู่พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่ยอมรับความไม่เท่ มองเห็นความเป็นโรลโมเดล และรู้สึกถึงความคลาสสิก ซึ่งเราทำผ่านเพลงได้ สังเกตว่านักร้องต่างประเทศอย่าง Arrowsmith หรือวง The Beatles เขาจับกีตาร์เมื่อไหร่มันเท่ ไม่แก่ มันทำให้คนไม่มีอายุขัย

สอง เราว่าดนตรีค่อนข้างไม่มีฟังก์ชั่น มันเป็นอาร์ต เป็นมู้ด แล้วก็เข้าถึงคนได้ทุกรุ่น อีกอย่าง เราคิดว่าเราน่าจะหาผู้สูงวัยที่มีความถนัดด้านนี้ได้ไม่ยากนัก

สาม คือในบ้านเรายังไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับผู้สูงวัยในเวทีดนตรีวัยรุ่น เรารู้สึกว่านี่คือชาเลนจ์ที่ค่อนข้างใหญ่ ในเชิงครีเอทีฟก็น่าจะมีภาพอิมแพกต์ดี


พอวงนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อโฆษณาอะไร คุณมีวิธีทำงานกับวงยังไง

วิธีคิดโปรเจกต์นี้เราคิดเหมือนการสร้างศิลปินเลยว่าจะฟอร์มวงดนตรีขึ้นมาวงหนึ่ง ต้องมีเงื่อนไขการคัดเลือกยังไงบ้าง ทำเพลงจริง ปล่อยเพลงออกไปจริงๆ คิดไปถึงขั้นการเล่นคอนเสิร์ตเลย ตอนแรกเราวางแผนว่าจะไปขึ้นเวทีที่งาน Cat Festival ฝันเลยว่าเราขึ้นไปขอเล่นสองเพลงแล้วก็ลง แต่มันก็ยังมีกำแพงนิดหนึ่งว่าถ้าเราจะไปให้ถึงตรงนั้นเราต้องซ้อมเยอะกว่านี้ มาใช้เวลาด้วยกันมากกว่านี้


เพลงของ BENNETTY มีความเปรี้ยวเท่มาก คุณให้คนแก่ทำเพลงคลาสสิกไม่ได้เหรอ

ที่เราบรีฟให้เล่นท่ายากเพื่อให้เห็นความก้าวกระโดดอย่างแรงของผู้สูงวัย ทำให้คนตะลึง คือถ้าเราทำเพลงอย่างเพลงแกรมมี่หรืออัสนี วสันต์ เราว่ามันปกติ เพราะฉะนั้นตอนที่เราบรีฟพี่เจ (เจ-เจตมนต์ มละโยธา โปรดิวเซอร์ของวง BENNETTY) เราก็บอกเขาว่าขอแบบสุดติ่งเลยนะ ถ้าไปฟังเพลงทุกคนจะมีโรลของตัวเอง เราจะรู้ว่าแมตช์ไหนของกีตาร์วะ เสียงร้อง มือเบส กลอง เครื่องดนตรีทุกชิ้นจะมีลูกของมันอยู่ แล้วท่อนโซโล่ก็จะยากโคตรๆ เลย ให้คนรุ่นเราเล่นก็ยังยาก


ทำงานกับคนสูงวัยนี่ยากไหม

ยากเลยแหละ จริงๆ เราคิดถึงความยากของการทำงานระหว่างคนสองเจเนอเรชั่นไว้อยู่แล้ว คือเวลาเราทำงานกับคนรุ่นเดียวกันมันก็รู้คอกันน่ะ เฮ้ย เสื้อผ้าแบบนี้ดีกว่า เพลงแบบนี้ดีกว่า แต่พอเป็นคนแก่ แค่เปิดเพลงฟังเราก็ฟังคนละเพลงแล้ว ความไพเราะของฉันกับเธอก็เป็นคนละอย่าง

ความยากอีกอย่างคือคุณลุงทั้งหกคนเขาต้องปรับตัวมาก เพลงที่เราให้เขาเล่นเขาก็ไม่ถนัด ไม่ชอบ อย่างคุณอาวัชระที่เป็นนักร้องนำ ปกติเขาก็ฟังเพลง Tony Bennett หรือ Frank Sinatra อย่างนี้ เขาก็ต้องปรับวิธีการปล่อยเสียง หรือแม้แต่วิธีการเล่นกีตาร์ จังหวะ ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย ตอนแรกเขาก็รู้สึกว่านี่มันเพลงอะไรวะ

แต่นั่นก็คือโจทย์ที่ปกติ เพราะการที่คุณจะอยู่ร่วมกับปัจจุบันได้คุณก็ต้องอัพเดต ต้องรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายเราก็เชื่อว่าดนตรีไม่ค่อยมีขอบเขต วันหนึ่งเราก็จะหาเสน่ห์ของมันได้ สุดท้ายคุณลุงทุกคนเขาก็ชอบเพลงนี้กันนะในฝั่งทีมงาน พี่เจก็ต้องปรับตัวเยอะมากเพราะว่าผู้สูงอายุแต่ละท่านแทบไม่เคยเข้าห้องอัด การเข้าห้องซ้อมตอนแรกๆ เลยค่อนข้างจะเละเทะ แต่พี่เจก็ใจเย็น คือการทำงานกับผู้สูงวัยนี้ต้องใจเย็นเพราะสปีดเรากับสปีดเขาไม่เท่ากัน


คุณมีวิธีเล่าเรื่องนี้ยังไงให้แตกต่างในยุคนี้ที่เราก็เห็นคนพูดเรื่องคนแก่เยอะเหมือนกัน

ทุกคนอาจตีโจทย์ว่าถ้าอยากให้คนแก่ดูร่วมสมัยต้องทำให้เขาเป็นวัยรุ่น แต่งตัวแบบวัยรุ่น แต่เราว่าถ้าเป็นวัยรุ่นแล้วจะตลกเลย มันไม่ใช่ว่าเขาผิดนะ มันก็เป็นทางหนึ่ง แต่เราคิดว่าบ้านเรายังไม่มีใครทำคนแก่ให้ออกมาเท่ แบบที่เราไม่ได้มองความสูงอายุของเขาเลยว่ะ เรามองแต่เสียงที่เปล่งออกมา ท่าทาง แววตา โอ้โห มันเท่ไปหมด เราเห็นภาพแบบนี้และคิดว่าเป็นจุดที่ยังไม่ค่อยมีใครเห็นในบ้านเรา

เราทำให้วงนี้ดูเป็นคุณตา เป็นอากงจริงๆ ชุดที่เราให้ใส่ในเอ็มวีเลยจะเป็นชุดที่เราเคยเห็นกัน ที่เราจะรู้สึกว่านี่แหละคือคนแก่ทั่วไป ซึ่งจริงๆ วงนี้ก็ไม่ได้แต่งตัวแก่นะ (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราผลักวิชวลไปให้สุด เราจะรู้สึกว่าไอ้วงนี้แม่งแก่สุดๆ แต่เขาเท่สุดๆ เลยว่ะ

อีกอย่างดนตรี ไม่เคยมีใครเอาคนแก่มาเล่นดนตรีแบบนี้มาก่อน คือเราว่าเราคุ้นกับคนแก่ร้องเพลงลูกทุ่ง ร้องเพลงเพื่อชีวิต อย่างมากก็เป็นเพลงอัสนี วสันต์ มันยังดูเมนสตรีมอยู่ แต่ยังไม่มีใครทำเพลงอินดี้กับคนแก่ เราอยากใช้ดนตรีนอกกระแสเป็นตัวสื่อสาร


ยากไหมที่จะทำเรื่องคนแก่ให้สนุก

เราว่าไม่ยากนะ แต่มันต้องอาศัยความร่วมมือของผู้สูงวัยมากกว่า ความยากอยู่ระหว่างทางมากกว่า คือพอทำไปสักพักเราจะเจอว่าเรายังขาดอะไร อย่างมิวสิกวิดีโอตอนแรกก็จะไม่เป็นแบบนี้นะ ตอนแรกเราจะถ่ายเขาเล่นดนตรีกันแบบปกติแล้วก็ตัดภาพไปที่ผู้สูงวัยคนอื่นๆ ที่กำลังใช้ชีวิตตามปกติแต่เรารู้สึกว่ายังไม่พอ ยังไม่สนุก เนื้อหาดูเป็นคนแก๊คนแก่ เราเลยทำให้มันสนุก เปรี้ยว และรุนแรงขึ้น ก็เลยนำมาซึ่งมิวสิกวิดีโอแบบนี้


ไม่กลัวว่าจะเล่นกับความสูงวัยแรงไปเหรอ

สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่สังคมไทยกลัว ไม่กล้าเอามาเล่นกับผู้สูงวัย แต่เรากลับมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกลัว แต่เป็นเรื่องที่เราต้องก้าวข้ามและทำความเข้าใจ เราถึงจะลุกไปทำบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะติดอยู่กับความหม่นเศร้า รู้สึกว่าเดี๋ยวก็ตาย เหมือนเราไม่มีความหวัง เพราะฉะนั้นนี่คือเมสเสจที่เราอยากส่งผ่านไปให้ผู้สูงวัยและลูกหลานของเขาเห็น

กว่าจะทำเอ็มวีนี้ได้เราก็ต้องอธิบายคนเยอะมากนะ หนึ่ง อธิบายนักเต้นคือครูอุ๋ย (ศ.พรรัตน์ ดำรุง) ครูอุ๋ยเป็นถึงศาสตราจารย์ที่คณะอักษร จุฬาฯ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ ตอนแรกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการไปเต้นที่เมรุ แต่เราก็อธิบายว่าเราอยากให้คอนเซปต์การเต้นของครูอุ๋ยมันเยาะเย้ยความตาย ไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย เราบรีฟถึงสองสามครั้งแน่ะ ครูถึงจะเข้าใจว่าเราอยากได้อะไรและทำทำไม

หรือกับช็อตของคุณลุงในวงทั้งหกท่าน อย่างพวงหรีดที่เราไม่ได้ใส่เข้ามาตั้งแต่แรก เราคิดได้ก่อนที่จะถ่ายหนึ่งวันว่าอยากจะได้พวงหรีดไปคล้องคอคุณลุง ทีมงานก็ไม่เห็นด้วยมากเพราะมันก็ค่อนข้างแรง เหมือนแช่งเลย แต่เราว่ามันต้องมี ก็ต้องโทรไปหาแต่ละท่าน อธิบายและขออนุญาต ซึ่งเขาก็น่ารักและโอเคกันหมด แม้กระทั่งคุณอาสิริที่เขาเป็นมุสลิมเขาก็ยังให้คล้องพวงหรีดได้ คือเขาน่ารักมากจริงๆ


ระหว่างทำงานคุณเจอสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนไหม

สิ่งที่ไม่คาดคิดคือเราไม่คิดว่าการร้องจะเป็นปัญหาได้ คือคุณลุงวัชระเขาเสียงดีมากแต่เขาร้องแจ๊สมาก่อน เขาเลยจะมีจังหวะการเว้นคำ มีลูกเอื้อนที่แตกต่างจากคนรุ่นเรา เพราะฉะนั้นการปล่อยคำมันก็จะไม่เหมือนเดโม่ที่เราทำออกมา เพราะฉะนั้นก็ต้องปรับตัวมหาศาลเลย หรือแต่ละคนจะเล่นสดได้ไม่เป๊ะ เพราะทั้งวงมีแค่มือเบส มือกลอง และมือกีตาร์ที่เขาผ่านการเล่นเป็นวงดนตรีมาก่อน ส่วนคนอื่นนี่ไม่เคยเล่ยเป็นวงเลย ดังนั้นนี่เลยเป็นสิ่งใหม่ เป็นโจทย์ที่ยากกว่าการเข้าห้องอัดอีก

เอาจริงๆ เราคิดว่าการทำงานจะยากกว่านี้ เพราะเราก็เคยทำงานกับผู้สูงวัยมาแล้ว เรารู้ว่าการทำงานกับผู้สูงอายุนี่มันไม่ง่าย คือท่านอายุปูนนี้แล้วเราจะไปทำลายอีโก้เขาน่ะมันยาก ตอนก่อนทำโปรเจกต์ผู้ใหญ่หลายคนเขาก็เตือนเหมือนกันว่ามันยาก ซึ่งสิ่งที่เซอร์ไพรส์คือผู้สูงวัยหกท่านน่ารักหมดเลย แล้วก็ยอมทุกอย่างที่จะทำให้งานออกมาดี


จากที่ทำโปรเจกต์นี้มาปีครึ่ง คุณได้ข้อสรุปเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนสองวัยหรือยัง

เราได้ข้อสรุปว่าจริงๆ แล้วคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ถ้าเราอยากจะอยู่ร่วมกันและถ้าต่างคนต่างมีหน้าที่บางอย่าง เราว่าในปัจจุบัน การขับเคลื่อนสังคมมันไปอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ คนที่เขาเดินผ่านช่วงวัยนี้ไปแล้วเขาเลยไปหยุดอยู่ที่ปลายทาง เหมือนไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าเรานำคนเหล่านั้นกลับมาเป็นฟันเฟืองบางอย่างในสังคม ทุกคนก็จะได้ประโยชน์บางอย่าง

ทำไมคนที่เคยเก่งเรื่องก่อสร้างในปัจจุบันเขาต้องอยู่บ้านเฉยๆ ทำไมคนที่เคยเป็นอาจารย์ตอนนี้ต้องอยู่บ้านเฉยๆ โอเค เขาอาจจะไม่ได้ทำงานหนักเท่าตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่การทำงานของเขาต้องเกิดประโยชน์แน่ๆ อย่างเรื่องประสบการณ์เราแข่งกับเขาไม่ได้ โปรเจกต์นี้มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้ บนพื้นฐานที่ว่าเราพร้อมจะปรับตัวเข้าหากัน และเรามีเวทีกลางบางอย่างที่ทำให้เราได้ประโยชน์ร่วมกัน


ภาพ
ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก