พอพูดถึงย่านแฮงเอาต์ของชาวสิงคโปร์ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงนึกถึงย่านริมน้ำ Clarke Quay หรือไม่ก็ Boat Quay
สำหรับคนหนุ่มสาวที่อยู่ในแวดวงสร้างสรรค์ หากไม่ใช่อีเวนต์ที่จัดตามแกลเลอรีหรืออาร์ตสเปซ แน่นอนว่าการหาโอกาสพูดคุยหรือพบปะกับพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย
มาเยือนสิงคโปร์คราวนี้ เราแอบเดินสำรวจถนน McCallum Street ย่าน Telok Ayer เชื่อไหมว่าท่ามกลางตึกออฟฟิศตั้งตระหง่าน พื้นที่ตรงนี้มีสถานที่เซอร์ไพรส์เรานับไม่ถ้วนทั้งวัดวาอารามเก่าแก่ ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์น่านั่งแทรกตัวอยู่ตามซอกซอยเล็กๆ แถมยังใกล้กับ China Town ย่านที่เต็มไปด้วยชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากที่สิงคโปร์
ริมถนนที่คลาคล่ำไปด้วยพนักงานบริษัทที่ใส่สูทผูกไท เราพบเข้ากับ Telok Ayer Arts Club ร้านมัลติคอนเซปต์น้องใหม่ที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวสิงคโปร์ที่รักการชื่นชมสุนทรีในงานศิลปะ
ไม่ใช่เพียงแค่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ทำให้โลเคชั่นของร้านนี้น่าสนใจ ไอเดียและคอนเซปต์ของร้านที่อยากรวบรวมงานศิลปะ เครื่องดื่ม อาหาร และเสียงดนตรีมาไว้ในที่ที่เดียวต่างหากที่ทำให้ Telok Ayer Arts Club พิเศษกว่าใคร
หลังจากรับคำทักทายจากบาร์เทนเดอร์หนุ่มผู้ประจำการหลังบาร์ตัวยาวด้านหน้าร้าน เราพบกับ Anmari van Nieuwenhove เธอคือหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของร้าน ด้วยชื่อตำแหน่ง Art Manager งานของเธอคือการคัดเลือกและเชิญชวนศิลปินในแขนงต่างๆ มานำเสนอผลงานที่นี่อย่างไม่ต้องสงสัย
หญิงสาวในชุดสีเหลืองสดใสชวนเรานั่งตรงโต๊ะตัวสูงสีขาวด้านในร้าน มองอย่างผิวเผินที่นี่อาจไม่ต่างอะไรกับร้านนั่งชิลล์ทั่วไป เรากวาดสายตามองรายละเอียดโดยรอบ ผนังสีเขียวเข้มในวันนี้ดูว่างเปล่า หากเทียบกับภาพถ่ายในเดือนก่อนมันมีภาพวาดถูกแขวนอยู่เต็มไปหมด
“ที่นี่เป็นทั้งพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เป็นทั้งบาร์ และร้านอาหาร เราทำงานกับศิลปินหลากหลายแขนง มันจำเป็นมากๆ ที่ต้องทำให้พื้นที่ตรงนี้รองรับกิจกรรมได้หลายรูปแบบ บางครั้งเราก็แสดงงานบนผนังเป็นนิทรรศการปกติ บางครั้งเราก็มีงานแสดงดนตรีสด หรือมีเวิร์กช็อปวนเวียนกันไป
“สิ่งสำคัญคือเราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าอาร์ตคลับของเราเป็นเหมือนกับบาร์และร้านอาหารปกติทั่วไปที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาร่วมกิจกรรม ร่วมสังสรรค์กันได้”
ราวกับ Anmari รู้ในสิ่งที่เรากำลังสงสัย เธอจึงเริ่มต้นเล่าความพิเศษของพื้นที่ที่เธอมีส่วนช่วยปลูกปั้นให้เราฟังอย่างยินดี และนี่คือโลกใบใหม่ที่จะพาเราทุกคนไปรู้จักและเข้าใจชีวิตหนุ่มสาวสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น
จุดเริ่มต้นของ Telok Ayer Arts Club
“ความจริงร้านของเราเปิดมาได้ 4 เดือนเองค่ะ เริ่มต้นจากคุณ Sue-Shan Quek เจ้าของร้านและเจ้านายของฉัน เธอมีบริษัทชื่อ SPRMRKT Company ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เรารู้สึกว่าจังหวะการใช้ชีวิตของเรามันเร็วมาก เราเลยคุยกันว่าอยากทำอะไรที่แตกต่างออกไป ลึกๆ เธอเป็นคนที่สนใจงานศิลปะอยู่แล้วด้วย ฉันเองก็ชอบจัดนิทรรศการศิลปะ เธอจึงนึกไอเดียการสร้างอาร์ตคลับที่มีบาร์ขึ้นมาเพื่อทำอะไรให้กับสังคมเร็วๆ ของพวกเรา
“แล้วเธอก็ชวนพาร์ตเนอร์อีกคนชื่อ Hasnor Sidik เขาเป็น music director ที่ชอบจัดปาร์ตี้ หลังจากนั้นก็ชวนคุณ Din Hassan มาเป็น bar manager และเชฟ Bertram Leong มาเป็น head chef จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นก็ค่อยๆ ลงตัว เราพยายามสร้างทีมขึ้นมาเพื่อทำอาร์ตคลับให้เป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น ในบางวีคที่เราไม่มีงานบนผนังก็จัดปาร์ตี้แทน อย่างน้อยๆ ทุกเดือนต้องมีกิจกรรมที่ทำให้คนเข้ามาพูดคุย ทำความรู้จักกัน”
ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อของคนรักงานศิลปะ
นอกจากจะควบรวมศิลปะ อาหาร เครื่องดื่ม และเสียงดนตรี มาไว้ในที่เดียวอย่างไม่มีเส้นแบ่งแล้ว อีกหนึ่งจุดมุ่งหมายของพวกเขาที่เท่ไม่เบาคือการพยายามจัดสรรสเปซ สร้างบรรยากาศสบายๆ เพื่อให้คนทั่วไปที่เข้ามาในร้านรู้สึกว่า ‘ศิลปะเป็นสิ่งที่คนทุกคนเข้าถึงได้’
“เราไม่ได้โฟกัสแค่คนที่เป็นศิลปินหรือคนทั่วไปที่สนใจในงานศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น จริงๆ เราตั้งใจเข้าหาผู้คนที่ใช้ชีวิตกันในชุมชนละแวกนี้ด้วย เราเลยตัดสินใจเอาชื่อย่าน Telok Ayer มาเป็นชื่อร้าน
“ฉันมองว่าการที่เรานำงานศิลปะมาวางอยู่ในสเปซที่เป็นบาร์ หรือร้านอาหารแบบนี้มันช่วยให้คนไม่กลัวศิลปะ ลองสังเกตดูว่าแกลเลอรีส่วนใหญ่มักทำทุกอย่างให้เป็นสีขาว บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองทำตัวไม่ถูก เหมือนมีแรงกดดันบางอย่างทำให้คุณรู้สึกเกร็ง แต่ถ้าเป็นที่นี่คุณสามารถทำตัวตามสบาย เดินถือเครื่องดื่มสักแก้ว ดื่มไปด้วยชมงานศิลปะไปด้วย ปล่อยตัวเองเพลิดเพลินกับทั้งสองสิ่งได้ในเวลาเดียวกัน”
ศิลปะนอกกรอบที่คนทุกคนอินไปกับมันได้
“หลายคนถามว่าเราเลือกศิลปินอย่างไร จริงๆ มันเกิดขึ้นง่ายมากเลยค่ะ บางคนเป็นคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีหลายๆ คนที่เขาติดต่อเข้ามาว่าอยากทำงานกับพวกเรา จริงๆ เราไม่ได้วางตัวว่าเราเป็นแกลเลอรี เพราะเราเองก็ไม่ได้มีทรัพยากรที่เอื้อกับการสร้างงานศิลปะมากมายนัก แต่เรามีความแข็งแรงในแบบของเราคือการพยายามเข้าหาคนทั่วไปที่ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่สนใจงานศิลปะ”
ปลายปีที่แล้วที่นี่มี artist in residence คือศิลปินสาว Goh Abigail ที่จะเข้ามาอยู่ในร้านทุกบ่ายวันอังคาร ทำสิ่งต่างๆ ที่เธออยากทำ เช่น บางทีก็นั่งสเกตช์ภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในร้าน บางทีก็นั่งฟังเพลงแล้ววาดภาพภาพหนึ่งขึ้นมา ใครที่มีข้อสงสัยว่าศิลปินทำงานกันอย่างไรก็สามารถมาดูและพูดคุยกับเธอได้ พอจบงานทางร้านก็เอาผลงานของเธอมาแขวนโชว์ Anmari เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในร้านว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปะ
“สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญมากที่สุดคือความหลากหลายของโปรแกรมงานที่จัด Telok Ayer Arts Club อยากทำงานร่วมกับศิลปินที่อยากทำอะไรนอกกรอบ
“อย่างนิทรรศการ 11 ของ Dawn Ng ที่เราเพิ่งจัดไปเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีมากเลย เธอไม่ได้อยากทำงานศิลปะที่แขวนผนังไว้แล้วรอให้คนมาดูและตีความว่ามันหมายความว่าอะไร เธอเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง เธอจึงดีไซน์งานแสดงของเธอออกมาเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้ร่วมงานมาเวียนอ่านบทที่เธอเขียนขึ้น 11 ชิ้นให้กับผู้ร่วมงานอีกคนฟัง มันคล้ายๆ กับการจัด speed dating ที่คุณมีเวลาเพียงแค่สามนาทีในการอ่านบทชิ้นนั้นๆ
“บทที่เธอเขียนขึ้นมาทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่มาจากอินไซต์ของคนสิงคโปร์ มันมีทั้งเรื่องอารมณ์ขัน ความรัก ความสูญเสียที่ไม่ซ้ำกันเลย พอหมดเวลา 45 นาทีก็เหมือนกับพวกเขาได้ลองเป็นคน 11 คน มันน่าทึ่งตรงที่บทของ Dawn ทำให้ใครหลายคนหัวเราะและร้องไห้ออกมา เป็นผลตอบรับที่เธอและเราภูมิใจกับมันมากๆ”
เมนูพิเศษ กิมมิกน่ารักที่ทำให้คนสนุกกับงานอาร์ตมากขึ้น
อาร์ตคลับของหนุ่มสาวสิงคโปร์ไม่ได้มีความเจ๋งเพียงเท่านี้ ทุกครั้งที่มีงานจัดแสดงเชฟและบาร์เทนเดอร์มักจะคิดกิมมิกเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่ล้อไปกับนิทรรศการที่จัดขึ้นในร้านด้วย พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าเมนู Arts Club Special
“เชฟและบาร์เทนเดอร์ของเราจะคุยกับศิลปินเจ้าของงานเพื่อหาไอเดียทำเมนูเหล่านั้นค่ะ อย่างง่ายที่สุดพวกเขาอาจจะเลือกทำเมนูที่ศิลปินชื่นชอบเป็นพิเศษ เช่น เราเคยทำงานกับศิลปินจากลอนดอนชื่อ Ashidiq Ghazali เขาวาดภาพแนวกราฟิกเป็นบล็อก เป็นตาราง ตอนแรกเราก็ลังเลว่าเราควรจะเอาวิชวลงานของเขามาดัดแปลงหรือเปล่า แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกันเราก็ได้รู้ว่า Ashidiq เป็นคนสิงคโปร์โดยกำเนิด เราเลยเลือกที่จะสร้างสรรค์เมนูง่ายๆ ที่ทำให้นึกถึงบ้านเกิดของ Ashidiq
“อย่างในงาน 11 ค็อกเทลและอาหารพิเศษของงานนี้คือ Penici11in และ Chi11i Crab ทั้งสองนี้เป็นเมนูโปรดของ Dawn แล้วมันก็บังเอิญมากที่เราสามารถใช้เลข 11 แทนตัวสะกด double l ได้ บางทีมันอาจจะเป็นแค่กิมมิกเล็กๆ ที่ทำให้เมนูในร้านมันสนุกมากขึ้นเท่านั้นเองค่ะ”
ประสบการณ์ใหม่กับการทดลองที่ไม่หยุดนิ่ง
“ภาพร้านอาหารและบาร์ที่จัดอีเวนต์ศิลปะและดนตรีแบบไม่ซ้ำกันเลยถือว่าเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ไม่เคยมีมาก่อน คนสิงคโปร์หลายคนแปลกใจที่เรากล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรแบบนี้ จริงๆ การจัดงานศิลปะมีรายละเอียดเยอะมากเลยนะ โดยเฉพาะการจัดการเรื่องเงินซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหมือนกัน แต่พวกเรายังยืนยันที่จะทำมันต่อเพราะเราอยากทำมันจริงๆ
“การที่เราปล่อยให้มีการทดลองเกิดขึ้นมากมายบนสเปซแห่งนี้ มันทำให้พวกเราเห็นว่ายังมีศิลปินอีกมากมายที่ต้องการพื้นที่แสดงงานสร้างสรรค์ของพวกเขา คงจะดีไม่น้อยหากพื้นที่ในการจัดงานศิลปะในสิงคโปร์ขยับขยายมายังพื้นที่อื่นๆ บ้างที่ไม่ใช่แค่การกระจุกตัวอยู่ตามแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์
“ตอนนี้ Telok Ayer Arts Club ของเรามีอายุเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้นเอง การที่เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนทำงานศิลปะ สำหรับฉันถือว่าเป็นผลตอบรับที่น่าพอใจมาก ฉันดีใจเสมอเวลาที่มีคนเดินมาบอกว่าเขาชอบสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเราสร้าง จริงๆ ตอนนี้ฉันมีแพลนจัดงานยาวไปถึงปีหน้าแล้ว (ยิ้ม) และหวังไว้ว่าต่อจากนี้เราจะทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ”
Telok Ayer Arts Club อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่พาพวกเราไปเปิดประสบการณ์กับโลกอีกใบของสิงคโปร์ นั่นก็คือโลกแห่งศิลปะที่ซ่อนตัวอยู่แทบทุกซอกมุมของเมือง โลกที่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน
Telok Ayer Arts Club
address: 2 McCallum Street (892.69 mi) Singapore
hour: 13:00 – 23:00 น.
tel. +65 6221 0712
facebook: Telok Ayer Arts Club
ภาพ Telok Ayer Arts Club, ธนดิษ ศรียานงค์