สำรวจ ‘The Unknown World’ โลกอีกใบของสิงคโปร์กับศิลปินสตรีทอาร์ต Sam Lo & Rukkit

Highlights

  • การเติบโตแบบก้าวกระโดดของสิงคโปร์ชวนให้เข้าใจได้ว่าพวกเขาพยายามกันอย่างหนักเพื่อสร้างชาติของตัวเองให้แข็งแรง ไม่แปลกที่ศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยสุนทรียะอย่างศิลปะถูกจัดเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนสิงคโปร์รุ่นก่อนๆ
  • คนสิงคโปร์รุ่นใหม่มีโอกาสเห็นโลกกว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะมากขึ้นเช่นกัน เมื่อสองสิ่งนี้มาเจอกัน วงการศิลปะของประเทศที่ขึ้นว่า ‘เมื่อได้ทำอะไรแล้วจะลงมือทำอย่างสุดตัว’ จึงเติบโตและขยายตัวขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  • เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนเราสามารถเห็นงานศิลปะกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง มีตั้งแต่ sculpture ฝีมือศิลปินระดับโลก หรือนิทรรศการศิลปะที่จัดตามมิวเซียมและแกลลอรี ไปจนถึงงาน street art ข้างกำแพงอย่าง graffiti

สมมติมีเวลาสองสามวันที่สิงคโปร์ คุณอยากทำอะไร

หากไม่ใช่ช็อปกระจายที่ย่าน Orchard ไปฮอปปิ้งคาเฟ่และบาร์ตามไลฟ์สไตล์วัยรุ่น หรือเดินชมงานศิลปะตามแกลอรีและมิวเซียมชั้นนำ หากสังเกตสองข้างทางที่เราเดินผ่านให้ละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าเมืองที่ดูเป็นแพตเทิร์น ตึกรามบ้านช่องที่หน้าตาดูคล้ายกัน เริ่มมีงานสตรีทอาร์ตเข้ามาเพิ่มสีสันให้กับเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

Sam Lo หรือ SKL0 ศิลปินสตรีทอาร์ตน่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งจากเกาะสิงคโปร์ เอกลักษณ์ของเธอคืองานที่หยิบจับสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งเก่าและใหม่ถ่ายทอดออกมาบนงาน painting และ sculpting กับคนที่มีโอกาสเห็นงานของเธอแบบผ่านตาอาจรู้สึกเหมือนเราว่า นอกจากความจัดจ้านของสีสันและความคมของลายเส้นแล้ว งานของแซม โลยังมีเซนส์ของความร่วมสมัยชัดเจนและโดดเด่นมากไม่แพ้กัน

นับเป็นเรื่องโชคดีของเราที่วันนี้แซม โลยินดีพาเราทำความรู้จักกับสตรีทอาร์ตในบ้านเกิดของเธอ แถมยังใจดี อาสาเป็นไกด์จำเป็นชวนเราออกจากการดูงานอาร์ตแค่ในห้องสี่เหลี่ยม ออกแรงเดินสำรวจงานศิลปะที่ซ่อนตัวอตามซอกมุมเล็กๆ ระหว่างตึกออฟฟิศ ย่านแลนด์มาร์ก สถานที่ท่องเที่ยว หรือในย่านที่อยู่อาศัยของชาวสิงคโปร์

แต่ก่อนอื่นใด เราขอชวนคุณนั่งลง พูดคุยทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของเธอด้วยกันก่อน

Get into the Unknown World

“ก่อนขยับมาทำงานสตรีทอาร์ตเต็มตัว เราทำโปรเจกต์ส่วนตัวชื่อว่า RCGNTN (recognition) เป็นนิตยสารออนไลน์ที่พูดถึงงานของศิลปินสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น กราฟฟิกดีไซน์ มันเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากที่ได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับงานออกแบบและศิลปะเพื่อที่จะได้ออกแบบเว็ปไซต์ของตัวเอง” แซม โลเล่า

TR853-1 (TraseOne) คือศิลปินกราฟฟิตี้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอ โดยเฉพาะงานคอลเลคชั่น Shadow Skaters แทรชวันวาดคนเล่นสเก็ตตามผนังหรือกำแพงต่างๆ ที่ interact กับทิศทางของแสงและเงาที่พาดมายังผนัง ราวกับว่าคนเล่นสเก็ตกำลังเล่นสเก็ตอยู่บนเงาเหล่านั้น นอกจากเรื่องที่เล่าในนั้นแล้ว มันยังเล่นสนุกกับบริบทแวดล้อมได้ด้วย ทำให้แซม โลมองเห็นความเจ๋งของสตรีทอาร์ตมากยิ่งขึ้น

ผลงานของ Trase-1 จาก twistedsifter.com

“เราสังเกตบ้านเมืองและคนรอบตัว วัฒนธรรมสตรีทอาร์ตมันค่อยๆ เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ คือมีกราฟิตี้ มีสติ๊กเกอร์แปะเต็มไปหมดอย่างที่ haji lane เราคิดว่าฉันอยากทำอย่างนั้นบ้างเลยทำสติ๊กเกอร์ของตัวเองไปติดบ้าง เพื่อโปรเมตเว็ปไซต์ตัวเอง อย่างที่คนอื่นๆ เขาทำกัน นี่คือก้าวแรกที่เริ่มมีงานของตัวเองออกไปสู่สาธารณะ”

ในปี 2011 เธอติดสติ๊กเกอร์​ที่มีข้อความเช่น Press Once Can Already, Press Until Shiok หรือ No Need to Press So Many Times และอีกหลายข้อความบนปุ่มกดสัญญาณข้ามถนนหลายแห่งในเมืองสิงคโปร์ รวมทั้งพ่นสีเสปรย์บนถนนความยาวกว่า 170 เมตรด้วยคำว่า My Grandfather  Road โดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพจาก facebook.com/skl0art

ภาพจาก facebook.com/skl0art

การกระทำที่ท้าทายกฎหมายทำให้เธอ หรือ Sticker Lady (ชื่อที่สื่อเรียกเธอในตอนนั้น) กลายเป็นที่ถกเถียงทั้งเกาะสิงคโปร์ว่า สิ่งที่เธอทำนั้นเป็นการสื่อสารผ่านศิลปะหรือการทำลายพื้นที่สาธารณะกันแน่

“จริงๆ รีวิวหรือฟีดแบ็คที่ได้รับมามันค่อนข้างหลากหลายเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นเรื่อง positive นะ มีคนหมื่นกว่าคนพูดถึง ยิ้มและหัวเราะให้กับมัน ผลตอบรับทั้งหมดมันอิมแพ็คกับเรามากเพราะตอนแรกแทบไม่คาดหวังอะไรเลย แค่ทำแบบเล่นๆ ด้วยซ้ำ แต่ถ้าให้นั่งคิดย้อนกลับไปตอนนี้ก็คิดถูกแล้วที่ได้ทำมัน”

Arts / City / Relationship

การเดินทางครั้งนี้ของเราพิเศษตรงที่มีเพื่อนร่วมทริป Rukkit หรือ รักกิจ สถาพรวจนา ศิลปินสตรีทอาร์ตเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้มีเทคนิคการสร้างงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสไตล์แบบ geometric สีจัดจ้านไม่ซ้ำใคร และทั้งคู่จะมีโปรเจกต์เพ้นต์กำแพงร่วมกันที่หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และที่สิงคโปร์ในเร็ววันนี้ เราเลยชวนเขามาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองไปด้วยเลย

“ครั้งแรกที่ผมเดินทางมาที่นี่ก็น่าจะสิบกว่าปีที่แล้วครับ ภาพที่เราจำได้บ้านเมืองเขาเนี้ยบมากๆ แล้วก็สถาปัตยกรรมโดดเด่นมาก ในมุมคนที่สนใจงานอาร์ตโดยเฉพาะสตรีทอาร์ตผมว่าวงการศิลปะของเขาเติบโตเร็วมากนะ กลับมากี่ครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา

“จากคนที่คิดเหมือนคนทั่วไปว่างานศิลปะที่นี่ไม่น่าจะมีอะไรตื่นเต้น พอมาเห็นจริงๆ ตามแกลอรี หรือมิวเซียมต่างๆ เรารู้สึกว่างานที่เขานำเข้ามาจัดแสดงระดับโลกเลยทีเดียว หรือเวลาที่เราไปเดินห้างหรือเดินตามท้องถนน เราเห็น sclupture ของศิลปินที่ดังระดับโลกได้แบบง่ายๆ เลย” รักกิจเล่า

“สิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ เราอาจจะไม่มีรากเหง้าของศิลปะเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เริ่มมองเห็นความสำคัญของศิลปะเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าอาร์ตซีนสมัยก่อนตอนยังเป็นเด็กกับตอนนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก เดี๋ยวนี้เรามีสถาบันที่สอนเรื่องศิลปะเกิดขึ้นใหม่มากมาย มีงานอีเวนต์ศิลปะที่จัดบนพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างรัฐบาลเองก็มีทุนสนับสนุนโปรเจกต์ของศิลปินเหมือนกัน

“อาจจะพูดได้ว่าตอนนี้งานศิลปะเริ่มกระจายตัวไปอยู่ในทุกๆ ที่ในสิงคโปร์แล้วนะ คนทั่วไปก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจตั้งคำถามว่าศิลปินจะอยู่ได้ยังไง ตอนนี้พูดได้เลยว่าเราสามารถหากินกับมันได้แล้วจริงๆ” เธอนึกขอบคุณความเข้มแข็งของคนรุ่นก่อนที่คอยสร้างสิงคโปร์ให้แข็งแรง ความเจริญเหล่านั้นทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นศิลปิน ไม่ต้องแบกรับเป้าหมายเหล่านั้น

รักกิจพยักหน้าพร้อมเสริมว่าศิลปะคือสิ่งที่เมืองทุกเมืองควรจะมี เพราะศิลปะคือสิ่งที่บอกเล่าวัฒนธรรมหรือบริบทของผู้คนในพื้นที่นั้น รวมทั้งการเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมโยงผู้คนจากที่ต่างกันเข้าไว้ด้วยกัน

“ผมชอบที่เวลาประเทศเขาทำอะไรเขาจะลงมือทำกันอย่างจริงจังมากเลยยิ่งมั่นใจว่าคนที่ชอบศิลปะน่าจะเอนจอยกับประเทศนี้ได้” รักกิจทิ้งท้าย

Street Arts in Singapore

“จริงๆ สองเดือนที่แล้วสิงคโปร์จัดงาน Culture Cartel เทศกาลที่รวมงานสตรีททุกแขนงมาโชว์ตั้งแต่งานกราฟฟิค แฟชั่น หรือแม้กระทั่งรอยสัก มันน่าทึ่งมากๆ ที่เขารวม street culture จากทั่วโลกมาไว้ในงานๆ เดียว ผมเองก็ได้รับเกียรติให้มางานนี้ แล้วก็ดีใจมากที่ได้มาเปิดหูเปิดตา ได้ทำความรู้จักกับศิลปินสตรีทอาร์ตต่างชาติหลายๆ คนรวมทั้งแซมด้วย

“แต่ที่ผมทึ่งมากๆ คือที่นี่มีศิลปะสตรีทอาร์ตอย่างกราฟฟิตี้ด้วย ทั้งๆ ที่กฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่บ้านเขาก็เคร่งมากเพราะความจำกัดของพื้นที่ หรือบางที่ที่เราบังเอิญเดินผ่านไปเจออย่างลานสเก็ตที่อยู่กลางเมือง ครั้งแรกที่ผมเห็นผมประทับใจมากเลยนะ ในเมืองที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบที่เคร่งขนาดไหนอย่างน้อยเขาก็ยังมีที่ให้วัยรุ่นได้ใช้ชีวิต มีที่ที่ให้วัฒนธรรมสตรีทได้เติบโต” รักกิจเล่าด้วยรอยยิ้ม

“เดี๋ยวนี้สิงคโปร์มีสตรีทอาร์ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างย่านที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคงเป็น แหล่งท่องเที่ยวอย่าง Tiong Bahru ที่นั่นมีงานเจ๋งๆ ซ่อนอยู่เพียบเลยนะ, Little India ก็มีงานเพ้นต์กำแพงมากมายที่ถูกแต่งแต้มสีสันด้วยฝีมือของศิลปินสตรีทอาร์ตรุ่นใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ Chinatown ที่นั่นมีงานสตรีทอาร์ตที่ชวนสังเกตเยอะมาก ความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้คนในเมืองยังเป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมให้คนทำงานศิลปะแบบเราๆ ด้วย”

แซม โลทำให้เราอยากกลับไปเยือนย่านแลนด์มาร์กเหล่านั้นอีกครั้งเพื่อสำรวจความสวยงามของสตรีทอาร์ตอย่างที่เธอเอ่ยแนะ

พอพูดถึงกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะสตรีทอาร์ตในสิงคโปร์ แซม โลแชร์ให้เราฟังว่าพวกเขาอยู่กันเป็นคอมูนิตี้เล็กๆ ที่อบอุ่น เกือบสิบปีที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในวงการศิลปะ ภาพที่เธอเห็นอยู่เสมอคือบรรดาศิลปินมักซัพพอร์ตผลงานของกันและกันอยู่เสมอ หากใครมีจัดแสดงผลงาน พวกเขาก็มักจะยกโขยงรวมตัวกันไปให้กำลังใจ หรือหากไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็มักทำความรู้จักกันผ่านงานและคำแนะนำจากเพื่อนศิลปินด้วยกัน

“ในเมืองไทยเรามีกำแพงทิ้งร้างเยอะพวกเราเลยสามารถทำมันได้ง่ายมาก ผมอยากรู้ว่าพวกคุณฝึกฝนการทำกราฟฟิตี้กันยังไง ในเมื่อคุณมีจำนวนพื้นที่ที่อนุญาตให้พ่นสีได้จำกัด” รักกิจยิงคำถามไปยังเพื่อนศิลปินต่างชาติที่นั่งข้างๆ

“ในสิงคโปร์แทบไม่มีพื้นที่แบบนั้นเลย การที่เราจะพ่นกำแพงได้เราต้องได้รับอนุญาตก่อนเท่านั้น ขณะเดียวกันศิลปินส่วนใหญ่จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีเอเจนซีจ้างพวกเราให้ทำมันขึ้นมา เพราะงั้นเราเลยต้องใช้โอกาสแบบนี้ในการฝึกฝนตัวเองนะ และ The National Art Council ก็พยายามช่วยหาพื้นที่ให้พวกเราได้ทำงานของตัวเอง”

“พวกคุณมีปัญหาบอมบ์งาน เพ้นต์งานทับที่กันบ้างไหม” รักกิจโยนข้อสงสัยให้แซม โลอีกครั้ง

“มีสิ” เธอหัวเราะ

“อันที่จริงเราไม่ค่อยบอมบ์งานกันเท่าไหร่ สมมติถ้าใครสักคนอยากเพ้นต์บนกำแพงที่เคยมีคนเพนต์มาก่อนหน้านี้แล้ว หรือถ้าที่ตรงนั้นเพิ่งถูกเพ้นต์ไปเราจะปล่อยกำแพงนั้นไว้สองถึงสามสัปดาห์ แล้วเราจะถ่ายรูปกำแพงตรงนั้นส่งไปยังเจ้าของผลงานแล้วแจ้งเขาไปว่าเราจะเพ้นต์ทับบนงานของคุณนะ ถ้าเขาโอเค เราถึงจะทำมัน แต่ถ้าใครบอมบ์งานคนอื่นโดยที่ไม่ขออนุญาตก่อนเลยมันเป็นอะไรที่ไม่เท่เอาเสียเลย”

นอกเหนือจากสีสันของงานสตรีทอาร์ต ความสุภาพของพวกเขาเป็นอะไรที่น่าประทับใจเหมือนกันคุณว่าไหม

“คุณอาจรู้สึกว่าบ้านเมืองของเราสะอาดมากจนบางครั้งอาจดูเหมือนไร้จิตวิญญาณ แต่ถ้าลองสังเกตตามซอกมุมและกำแพงในที่ต่างๆ ให้ดีก็จะเห็นว่ามันมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่กับสตรีทอาร์ตเท่านั้น งานศิลปะแขนงอื่นๆ เราก็มีอีเวนต์เจ๋งๆ ที่หมุนเวียนมาจัดกันตลอดทั้งในที่อินดอร์และเอาต์ดอร์

“สิงคโปร์มีสีสันที่รอเซอร์ไพร์สคุณอีกมากมาย แค่ต้องออกไปเดินแล้วมองหามัน” ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวสิงคโปร์ทิ้งท้ายพร้อมแววตามุ่งมั่น

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักวงการศิลปะของสิงคโปร์ผ่านบทสนทนาที่เป็นกันเองและการออกแรงเดินสำรวจภาพสตรีทอาร์ตที่ซ่อนตามซอกหลืบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับแซม โลและรักกิจ ภาพจำของโลกที่เต็มไปด้วยตึกออฟฟิศและแหล่งช็อปปิ้งของเราได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

การได้หยุดสังเกตสิ่งที่คุ้นตา มักทำให้เราเห็นความสวยงามในรายละเอียดของมันมากขึ้นเสมอ แน่นอน ถ้าคุณได้ยลสิงคโปร์ในมุมนี้อีกสักครั้ง คุณอาจตกหลุมรักสีสันเฉดใหม่ของเมืองๆ นี้ แถมยังได้แรงบันดาลใจกลับบ้านเหมือนเราและรักกิจก็ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธนดิษ ศรียานงค์

ช่างภาพที่ชอบการเดินทางแต่จำทางไม่ค่อยได้ นิ่งเป็นหลับขยับเป็นหลง