Double Dogs Tea Room : ตามหารักแรกพบในถ้วยชาที่รินไหลมาจากกาน้ำชาของทีมาสเตอร์ระดับประเทศ

“การดื่มชาคือการตามหารักแรกพบ”

คำตอบของชายตรงหน้าทำเอาเราชะงักไปพักหนึ่ง

ราวกับรู้ใจ เพราะเหตุผลสำคัญที่พาเรามานั่งอยู่ในโรงน้ำชาเล็กๆ ใจกลางเยาวราชแห่งนี้ก็คือเรายังหาน้ำชารสที่ใช่ไม่เจอ แม้จะเคยสัมผัสชากับราคาเลขหลายหลัก แต่ก็ยังไม่สามารถบอกรักได้เต็มปาก

“คุณทำอะไรไม่ได้นอกจากลองไปเรื่อยๆ เหนือจากนั้นเป็นเรื่องวาสนาว่าคุณจะพบน้ำชาถ้วยที่ใช่ไหม ถ้าพบก็ดีเพราะหมายความว่าคุณรู้จักตัวเอง ค้นพบความต้องการแท้จริง แต่ถ้าไม่พบ คุณก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากออกตามหามันต่อไป”
พี่ตี่จงรักษ์ กิตติวรการ ว่าแบบนั้นพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดีขณะรินน้ำชาทิกวนอิม (Tie Guan Yin) สีแดงใสใส่ถ้วยให้เราจิบ เรายกถ้วยตรงหน้าขึ้นแตะริมฝีปากแค่นั้นกลิ่นดอกไม้แห้งก็อวลอยู่นานเป็นนาที

ชาทุกตัวของร้าน Double Dogs Tea Room มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง เป็นชาจีนเสียส่วนใหญ่ ชาญี่ปุ่นก็มีไว้รอเสิร์ฟบ้าง ส่วนชาอังกฤษก็มีแซมไว้เป็นทางเลือกด้วยเหมือนกัน แต่สำคัญคือทุกตัวผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถันโดย Tea Master มือฉกาจที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราคนนี้

ความฉกาจของพี่ตี่ไม่ใช่คำอวดโอ่เอาใจ แต่เกิดจากการบ่มเพาะประสบการณ์ด้านชามาเป็นเวลาหลายสิบปี จากเด็กชายผู้ชอบดื่มชาร้อนสู่ชายหนุ่มผู้ลงลึกศึกษาและมุ่งมั่นตามหาชาถ้วยที่เป็น ‘รักแรกพบ’ จนเจอ เขาจดจำความรู้สึกนึกรักนั้นไว้ในใจก่อนออกเดินทางอีกครั้งเพื่อสะสมชนิดใบชาที่ชิมแล้วทำให้ใจเต้นแรงไม่ต่างกัน จนวันหนึ่งสะสมได้มากพอจึงอยากส่งต่อให้ใครต่อใครได้ลองชิมความหลงใหลที่เขาเก็บงำไว้มาหลายปีและเกิดเป็นโรงน้ำชาแห่งนี้ขึ้นมา

รู้จักแล้วรักได้ไหม

ชาลิ่วเป่า
(Liu Pao) ถูกรินใส่ถ้วยของเรา สัมผัสสะอาดชัดเจนในความรู้สึกตั้งแต่จิบแรก เราหยุดนิ่งซึบซาบรสชาติหลังกลืนชาร้อนๆ ลงคอ ก่อนบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชาจะเริ่มต้นขึ้นหลังจิบนั้นด้วยคำถามสามัญธรรมดาว่าชาดีคืออะไร มาตรฐานรสอร่อยมีจริงไหมในวงการนักดื่มชา

“การรู้ว่าอะไรดีหรือแย่เป็นเรื่องนึง แต่จะชอบไหมก็เป็นอีกเรื่อง” พี่ตี่อธิบายอย่างใจเย็น “เหมือนคนฟังดนตรีคลาสสิกรู้เรื่องก็ไม่ได้หมายความว่าเขาชอบมันได้ ความรักความชอบขึ้นอยู่กับอคติและรสนิยมส่วนตัว บางคนดื่มชาเพื่อหาจุดด้อยแล้วคัดเลือกชาที่จุดด้อยน้อยที่สุดขึ้นมาสักตัว เขาก็ไม่ได้สนใจหรอกว่าชาตัวนั้นจะอร่อยไหมเพราะกรอบเขาไม่ใช่ความอร่อย”
ชายตรงหน้ายกถ้วยชาขึ้นจิบ

“แต่จะบอกว่าชาไม่มีถูกผิดเลยก็ไม่ได้ ไม่งั้นเราจะเรียนชงชากันไปทำไม”

แล้วเรียนกันไปทำไม เราถามต่อประโยค

“ก็เรียนให้รู้ว่าชาที่ถูกคือแบบไหน ผิดคือแบบไหน เป็นฐานกว้างๆ ให้เราเอาไปต่อยอด สร้างมาตรฐานการตัดสินถูกผิดของตัวเอง”

“ขยายความมากกว่านี้หน่อยได้ไหม”

เขาหัวเราะร่วนเมื่อเราทำหน้าเหมือนเด็กอนุบาลเจอโจทย์เลข ม.ปลาย

“อย่างสำนักสอนชงชาในประเทศญี่ปุ่นแต่ละสำนักก็จะมีกรอบความงามของตัวเอง คนที่เข้าไปเรียนก็จะเรียนให้รู้ว่ารสชาแบบไหนงามไม่งาม แล้วต่อยอดความงามนั้นไปในแนวทางของตัวเอง” เขายกถ้วยชาลิ่วเป่าน้ำที่สองขึ้นแตะริมฝีปากก่อนสบตาเราแล้วตัดสินใจขยายความให้ชัดกว่าเดิม “เช่นคุณไปเรียนทำอาหารไทยในโรงเรียนสอนทำอาหารไทย เรียนรู้พื้นฐานความอร่อยของอาหารไทยแล้วก็ต่อยอดเป็นรสมือของตัวเอง อาจจะกลายเป็นอาหารไทยสไตล์สุทธิสาร”

“แล้วชาที่ถูกต้องของร้านนี้เป็นแบบไหน” เรารวบคำถาม

“ชาในร้านทั้งหมดเป็นชาที่เราดื่มได้” อีกฝ่ายหยุดคิด “พอเราเจอรสชาติชาที่ชอบ มันฝังอยู่ในใจก็จะเกิดเส้นมาตรฐานขึ้นมาว่าระดับไหนคือกินได้ ถ้าต่ำกว่าเส้นนี้คือกินแล้วป่วย (หัวเราะ) การชงชาไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับคนชงว่าอยากให้มีรสสัมผัสอะไรในน้ำชาถ้วยนั้นบ้าง คนกินจะรับรู้ได้ครบรึเปล่าเป็นเรื่องประสาทสัมผัสของแต่ละคน”

จักรวาลในถ้วยชา

การแยกว่าชาถ้วยไหนเป็นของดินแดนใดอาจไม่ใช่เรื่องยากหากดื่มเป็นประจำ ชาเต็มใบสีใสรสซับซ้อนแน่ล่ะว่าชาจีน ชามัทฉะที่ผ่านพิธีชงอย่างละเอียดอ่อนแน่นอนว่ามาจากแดนอาทิตย์อุทัย ส่วนชาบดใส่ถุงรอให้เราแกว่งไกวในน้ำร้อนก็เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากชาอังกฤษ

แต่ที่เราและหลายคนไม่รู้คือต้นตอของความต่างมีต้นทางมาจากอดีตที่คล้ายกัน

“ชาผูกพันกับวิถีชีวิต การเมือง อำนาจ และการค้ามานานแล้ว” เขารินน้ำชาโฮจิฉะหรือชาเขียวมัทฉะคั่วใส่ถ้วยให้เราจิบ ก่อนถามว่ากลิ่นรสเหมือนที่คิดไว้ไหม เราส่ายหน้าด้วยความหอมอบอวลเจือกลิ่นไหม้จางๆ นั้นต่างจากรสโฮจิฉะที่เคยรับมาทั้งชีวิต อีกฝ่ายยิ้มก่อนกลับมาเล่าถึงชาในกาให้เราเบิกตาฟังด้วยความตื่นเต้นตลอดหลายนาที

“คาแรกเตอร์ของชาแต่ละชาติแตกต่างกันเพราะถูกขัดเกลา ดัดแปลง ส่งต่อด้วยกรอบความคิดของสังคมที่ไม่เหมือนกัน จีนเป็นชาติที่รักการปรับแต่ง เขาก็จะคิดค้นกระบวนการปรุงชาไปเรื่อยๆ จนมีรสชาติของตัวเอง ด้านญี่ปุ่นที่รับเอาวัฒนธรรมชามาจากจีนเป็นชาติแห่งรายละเอียด ก็ผูกชาเข้ากับพิธีกรรมและศิลปะ เกิดเป็นพิธีชงชาอันงดงาม พอมันซับซ้อนและศักดิ์สิทธิ์ พิธีชงชาก็กลายเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจของชนชั้นบน”

เขาเล่าเรื่อยๆ ราวกับนิทานถึงพิธีชงชามัทฉะด้วยมือ ที่ทั้งกระบวนการอาศัยแรงคนมากเพียงการบดชาให้ละเอียดสำหรับหนึ่งถ้วยก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ยังไม่นับกิจกรรมอื่นก่อนเริ่มพิธีชงชาอย่างการทำความสะอาดห้องหับ ล้างชาม รดน้ำต้นไม้ จัดดอกไม้ เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ไพร่พลร่วมใจกันทำ

“เพราะงั้นถ้าคุณสามารถจัดพิธีชงชาเลี้ยงคนเป็นพันได้ หมายความว่าคุณไม่ธรรมดาหรอก มันเป็นการแสดงอำนาจของเจ้าขุนมูลนายญี่ปุ่นสมัยก่อน ยิ่งบ้านไหนมีเด็กชงชาฝีมือดีก็แปลว่าคุณรสนิยมดี ของบางอย่างมันผูกโยงกับอำนาจอยู่แล้ว ถ้วยชาบางถ้วยเห็นแล้วรู้เลยว่าคุณมีสายสัมพันธ์กับใคร”

เราชวนคุยต่อถึงชาอังกฤษ พี่ตี่ยักไหล่ก่อนบอกว่าทัศนคติของสังคมนั้นสะท้อนอยู่ในถ้วยชา “สำหรับคนอังกฤษ ชาเป็นเครื่องมือจำแนกชนชั้นในอดีต ชาที่อังกฤษรับซื้อจากเอเชียไม่ได้สำคัญเท่าวิธีการชงที่คิดขึ้นใหม่และส่งต่อให้เฉพาะคนในแวดวงตัวเอง เช่นคุณรินนมใส่ถ้วยก่อนหรือหลังชา ถ้ารินก่อนแสดงว่าเป็นพวกผู้ดีเก่าเพราะถ้วยชารุ่นแรกๆ ไม่ทนร้อน พวกผู้ดีที่ได้ใช้ถ้วยรุ่นนั้นจะรินนมใส่ถ้วยก่อนเติมชาร้อนเพื่อไม่ให้ถ้วยเปราะแตก หรือถ้าจับช้อนคนชาผิดองศานิดเดียว เขาก็รู้แล้วว่าคนนี้น่ะนอกกลุ่ม เป็นผู้ดีปลอม (หัวเราะ)”

น้ำชาราคามิตรภาพ

เราจิบชาถ้วยที่สามลงคอ คราวนี้เป็นชาเขียวจากร้านชาเก่าแก่อายุ 300 ปี เป็นชาดีที่มีไม่กี่คนจะได้ลอง “มีเงินซื้อชาดีกินได้ไหม” เราโยนคำถามพลางคำนวณในใจว่าต้องกำเงินเท่าไหร่ถึงจะได้ชาตัวนี้ติดบ้านไว้ชงดื่ม อีกฝ่ายยิ้มรับก่อนกำชับให้เราดื่มถ้วยตรงหน้าให้หมดก่อนเพราะนั่นคือมิตรภาพที่เขารินส่งให้

“ชาดีจริงๆ คุณจะได้จากเพื่อน จากความปรารถนาดีที่อยากส่งให้กัน เราว่าขึ้นอยู่กับวาสนาประมาณหนึ่งด้วย เงินอาจทำให้คุณออกเดินทางตามหาชาดีง่ายขึ้น แต่จะเจอไหมก็ขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาส เหมือนความรักที่ดีนั่นแหละ ถ้ามีวาสนาก็ได้เจอ” พี่ตี่หยิบถ้วยหนึ่งจากปั้นชาขึ้นจิบ ยิ้มให้ก่อนเล่าต่อ “แต่คุณต้องรู้ก่อนว่าชาดีเป็นแบบไหน เหมือนที่เราบอกตอนแรกว่าต้องตามหารักแรกพบให้เจอแล้วจำความรู้สึกนั้นไว้ให้ขึ้นใจ แล้วคุณจะไม่หลงทาง แน่นอนว่ากว่าจะเจอถ้วยที่เป็นรักแรกพบต้องใช้เวลา เพราะชามีเป็นพันๆ ชนิด คุณทำได้แค่ออกตามหาเท่านั้นแหละ ถ้าโชคดีก็คงเจอเร็ว โชคร้ายที่สุดก็อาจไม่เจอเลย”

จบบทสนทนาว่าด้วยการตามหารักแรกพบ ฝนข้างนอกทำท่ากำลังจะตกในอีกไม่ช้า เราจิบชาจากถ้วยเซรามิกตรงหน้าจนหมดขณะนึกขอบคุณวาสนาหรือโชคชะตาอะไรก็ตามที่ทำให้มานั่งอยู่ในโรงน้ำชานี้ และได้พบกับน้ำชากลิ่นอวลดอกไม้แห้งที่รินรดออกจากกาของชายตรงหน้า และทำให้เราพลาดท่าตกหลุมรักมันแล้วอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

Double Dogs
Tea Room

Address: ร้านอยู่บนถนนเยาวราช ตรงข้ามกับซอยเยาวราช 4 สอบถามเส้นทางได้ที่เบอร์ 08-6329-3075
hour: อังคาร-พฤหัสบดี 13.00 – 21.00 น., ศุกร์-อาทิตย์ 13.00 – 22.00 น.
Facebook | Double Dogs

AUTHOR