คุยกับ SATARANA กับเบื้องหลังการตีความย่านเยาวราชให้เป็นมิตรกับทุกคนมากขึ้น ในงาน BKKDW 2023

หากเอ่ยถึงเยาวราช แทบไม่ต้องเสียเวลานาน หลายคนคงมีภาพที่แวบขึ้นมาในหัวโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นย่านสตรีทฟู้ดเลื่องชื่อ แหล่งร้านทองต้นแบบ ตลาดสินค้าขายส่งปลีกขนาดใหญ่ หรือการเป็นไชน่าทาวน์ การหลอมรวมทั้งวัฒนธรรมและแหล่งค้าขาย จึงทำให้เยาวราชมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

แต่หากมองให้ลึกลงไปเยาวราชก็คือชุมชนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจร การใช้พื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ยาวนานของชุมชนชาวจีนที่มักถูกบดบังด้วยเสียงจอแจในย่านค้าขาย กลายเป็นว่าหลายคนเกือบจะมองไม่เห็นเหล่าผู้คนน้อยใหญ่ที่ขับเคลื่อนย่านและอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือไปจากการเป็นเพียงแค่พื้นที่เศรษฐกิจ 

จนวันที่ Bangkok Design Week 2023 มาถึง ปีนี้อยู่ภายใต้ธีม เมือง-มิตร-ดี ย่านเยาวราชถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง โดย SATARANA ซึ่งมองว่านอกเหนือจากเรื่องปากท้องแล้ว ปัญหาของคนเยาวราชยังสามารถใส่ไอเดียเข้าไปแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายเยาวราชเนวิเกเตอร์ การบอกเล่าอาคารเก่าแก่ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึง การรื้อฟื้นเพลงหรือโรงงิ้วให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ๆ หรือการออกแบบ street function ที่ทำให้คนใช้ทางเท้าและใช้ถนนอยู่ร่วมกันได้ 

ที่ผ่านมา SATARANA ทำงานกับชุมชนหลากหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตามแนวทางธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business) และได้พิสูจน์ฝีมือมาแล้วหลายครั้ง ได้แก่ Once Again Hostel โฮสเทลในซอยสำราญราษฎร์, TRAWELL การหยิบเอาการท่องเที่ยวมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เมือง, MAYDAY ที่เคยออกแบบป้ายรถเมล์ใหม่ให้ดูง่ายขึ้น โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนเรื่องขนส่งสาธารณะ หรือ LOCALL แพลตฟอร์มขนส่งอาหารที่อาสาเป็นตัวกลางประสานงานให้พนักงานและคนในย่านไปซื้อและส่งให้ถึงมือลูกค้าในย่านเสาชิงช้าและประตูผี ผ่านไลน์หรือสายโทรศัพท์ในช่วงล็อกดาวน์

เราติดต่อ อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร CEO และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร SATARANA เพื่อฟังเรื่องราวเบื้องหลังของงานดีไซน์เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนในย่านเยาวราชจะเป็นอย่างไร พวกเขาวางบทบาทตัวเองในงานนี้เป็นแบบไหน ก่อนตั้งคำถามไปไกลถึงการพัฒนาเมืองโดยงานออกแบบให้อะไรกับชุมชนไว้บ้าง

1

“จริงๆ แล้วกลุ่มสาธารณะ เราทำหน้าที่เหมือน facilitator หรือผู้คอยช่วยเหลือและผู้นำกระบวนการเรียนรู้”

อุ้มบอกกับเราถึงบทบาทการของ SATARANA จากการทำงานที่ผ่านมาเธอมักเห็นว่าความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเมือง อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่ต้องการคนที่คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านได้มาเจอกัน 

สิ่งที่ SATARANA ทำจึงไม่ใช่คนที่ลงไปลงมือจัดการปัญหาเมืองโดยตรง หากแต่เรียกว่าเป็นตัวกลางที่คอยประสานกลุ่มคนเล็กคนน้อยที่เข้าใจมาแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน ผ่านการรับฟังปัญหา การโยนโจทย์ไปให้ผู้เชี่ยวชาญลองคิด การเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น หรือการแก้ไขความขัดแย้ง

“เรารู้สึกว่าไม่ว่าประเด็นเมือง ประเด็นไหนๆ เราอยากให้คนที่เป็นเจ้าของโจทย์จริงๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันไม่ค่อยมีการตั้งประเด็นเองโดยเรา มันมีแต่ว่าเราเจอพื้นที่มา คุยกับคนข้างใน เขามีประเด็นอะไร แล้วเราเซตสิ่งนั้นเป็นชาเลนจ์ ให้เขาอยู่ในกระบวนการให้มากที่สุด

“เราทำงานกับกลุ่มเยอะมากเลย ส่วนใหญ่ค่อนข้างเน้นเป็น small people จริงๆ เราไม่อยากใช้คำว่ากลุ่มบอบบาง แต่เราใช้คำว่าเป็นผู้ใช้งาน เป็นประชากรหลักของเมือง ทั้งคนที่ฟอร์มตัวกันหรือไม่ก็ได้”

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุ้มมองเห็นความสำคัญของการเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ facilitator คือเหตุการณ์ไล่รื้อที่ดินชุมชนป้อมมหากาฬ ปี 2018 ที่ทำให้เห็นโอกาสว่ายังมีอีกหลายคนที่อยากลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง SATARANA จึงจัดวางตัวเองเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้กลไกทั้งหลายสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

“เหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬทำให้เราเห็นโอกาสมากกว่าว่ามันไม่ใช่แค่เราที่อยากแอ็กชันเรื่องนี้ แต่มีผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ มีหน่วยงานที่คนอยากแอ็กชันเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองเต็มไปหมดเลย เราเห็นโอกาสในการทำเรื่องนั้นในการต่อยอดเพื่อเอาไปทำประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม เรารู้สึกว่ากลไกข้อดีทั้งหมดมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี machanics แบบที่เราวางไป เป็นคนอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างมันลงล็อก บางเรื่องมันไม่เกิด เพราะแค่จัดการเวลาตรงกันไม่ได้เลย” เธอพูดอย่างน่าเสียดาย

ตั้งแต่นั้น SATARANA ก็ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทที่ทำงานภาคประชาสังคมในการพัฒนาเมือง และตั้งใจที่จะทำให้โมเดลนี้สามารถจับต้องได้จริงผ่านเซอร์วิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำรีเสิร์ช งานดีไซน์ หรือการทำงานโปรดักชันด้วย โดยงานเซอร์วิสเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การทำงานสร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่

2

“เยาวราชยากมากเลยนะ เพราะเยาวราชไม่ต้องง้อใคร” 

อุ้มอธิบายถึงจุดเริ่มต้นที่ SATARANA เลือกทำงานกับย่านนี้ในงาน Bangkok Design Week 2023 นอกเหนือจากการที่ออฟฟิศของกลุ่มตั้งอยู่ในย่านนี้ เยาวราชมีนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละหลายหมื่นคน ในขณะที่ชุมชนอื่นที่ SATARANA ไปทำงาน เรื่องเศรษฐกิจมักเป็นปัญหาอันดับต้นๆ 

เราอดพยักหน้าเห็นด้วยไม่ได้ หลายคนคงพอจะนึกภาพออกถึงความคึกคักในย่านเยาวราช จนเกิดเป็นคำถามต่อมาว่าเยาวราชยังมีอะไรให้น่าลงไปทำงานด้านใดอีกบ้าง

อุ้มเล่าต่อไปว่า “ทุกครั้งที่เราเดินทางมาที่นี่ หรือออฟฟิศเราที่อยู่ตรงนี้ เราเห็นช่องว่างของเมืองเต็มไปหมด มันไม่ได้รับการออกแบบให้ตอบสนองต่อคนที่มาท่องเที่ยวหรือคนที่อาศัยอยู่เยอะมาก พวก Public facility หรือช่องว่างเล็กๆ ที่เป็น small chain ที่บิดทีเดียว กรึ๊บ มันลื่นขึ้นได้เยอะกว่านี้มากเลย เราเลยคิดว่ามันเป็นโจทย์ที่ดี ที่น่าสนุก ชวนคนในพื้นที่ในย่านนี้แหละมาคุยกัน”

“เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ อย่างของสำเพ็ง เราพยายามชวนผู้ค้าสำเพ็งทุกเจ้า เหนื่อยนิดนึงเหมือนกัน คุยกับพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มศาสนสถาน พวกวัด ศาลเจ้า มัสยิด เราเข้าไปหาหมด เราเข้าหาแบบตรงไปตรงมามากเลย อยากชวนคุย ว่าแถวนี้มีปัญหาอะไรไหม อยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า เราค้นพบว่าจริงๆ มีประเด็นอยู่เยอะ จนเรารู้สึกว่าต้องการคนจำนวนมากเลยนะถ้าต้องมาช่วยสิ่งนี้ แต่ความเยอะของประเด็นนั้น เขาไม่ได้ต้องการอะไรเยอะเลย โปรดักชันอาจเป็นแค่ป้ายอันเดียว หรือตอนจบออกมากลายเป็นแค่มีทริปมาเล่าเรื่องบ้านฉันหน่อย เพราะอาคารตรงนี้เก่ามากเลยนะ แต่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน”

อุ้มเล่าว่าการทำงานกับชุมชนเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะเห็นด้วย แต่เธอก็ใช้วิธีการพูดคุยและทำเวลาทำความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่อยู่นาน เธอกล่าวสรุปสั้นๆ ว่า “คิดเห็นไม่เหมือนกันไม่เป็นไร แต่การคิดเห็นไม่เหมือนกันของแต่ละคนมันมี input อยู่มากน้อยแค่ไหน”

“อย่างที่เราบอกว่าเยาวราชมันยากตรงที่ผู้ค้าทุกคนตื่นเช้ามาเปิดร้านเก็บร้าน เวลาคุยกับเรามีน้อยมาก น้อยจนแบบ ขอเวลาอีกนิดนึงได้มั้ยคะ (เสียงอ่อน) คือแทบจะไม่มีเวลาให้เลย เพราะธุรกิจเขารุ่งเรือง จริงๆ มันต้องใช้ความอดทนประมาณหนึ่งเลย เพื่อที่จะค่อยๆ คุยกับเขา ได้กลมกลืนไปกับเขา กระบวนการรีเสิร์ชของเราเลยใช้เวลานานมาก มันจะไม่เหมือนการทำรีเสิร์ชแบบปกติ แต่เราต้องทำรีเสิร์ชแบบเธอต้องสนิทกับฉันให้ได้” เธอว่าพลางหัวเราะเมื่อนึกย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นของการทำงาน

“มันเป็นกลไกการเปลี่ยนเมือง มันต้องมี facilitator ที่เป็นฟันเฟืองที่หมุนคนทุกล็อกที่ไม่ตรงกัน ให้สามารถทำงานโจทย์เดียวกันได้” อุ้มย้ำ

ปกติแล้ว SATARANA มักทำงานโดยมีพื้นฐานจากข้อมูลเสมอ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับคนในชุมชน อุ้มเสริมว่าอุปสรรคของการเก็บข้อมูลจากการพูดคุย มักเป็นข้อมูลที่นำไปจัดเก็บต่อยาก ทำให้ทีมรีเสิร์ชต้องทำงานหนักเป็นเท่าตัว

“ปกติคนเก็บข้อมูล เขาก็จะต้องมี factor ชัด คำชัด แต่พอเราทำงานชุมชน ป้ามาไทยคำจีนคำบ้าง การจับจุดเก็บข้อมูลเหล่านั้นเลยยากมาก ทำให้ทีมรีเสิร์ชของเราต้องทำงานแบบดับเบิลที่จะจัดเก็บสิ่งต่างๆ แล้วหาทาง matching เข้าด้วยกัน ซึ่งบางทีบางอย่างทีเราทำไม่ได้ เราก็พยายามจะชวนผู้เชี่ยวชาญมาคุยกับเราให้ได้เยอะที่สุด ขอคำแนะนำว่ามันต้องทำยังไง เราว่าเราอาจจะโชคดีที่ออฟฟิศเราคนส่วนใหญ่ยังไม่อายุเยอะ ยังเป็นเด็กๆ อยู่ การที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และหาทางที่จะทำให้ได้”

3

ยิ่งโจทย์เยอะ ก็ยิ่งต้องหาพลังคนรุ่นใหม่มาทำร่วมกัน อุ้มบอกกับเรา งานนี้จึงมีการดึงกลุ่มสถาบันการศึกษาทั้ง 25 สถาบันมาร่วมออกแบบงานควบคู่ไปกับการออกแบบหลักสูตรให้กับนักศึกษาใช้พื้นที่เยาวราชเป็นพื้นที่ลงมือทำงาน จุดเด่นของย่านนี้ในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา เราจึงเห็น Academic Program หลากหลายโปรแกรม 

“เราชวนอาจารย์ก่อน โดยให้เอาโจทย์ของเยาวราชเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละหลักสูตรต้องเชื่อมโยงกับ design week ซึ่งงานนี้พวก academic program เขาก็จะจัดนิทรรศการ ซึ่งดีแล้ว เราไม่ติดอะไร แต่ในทางเดียวกัน เรายังรู้สึกว่ายังมีอีกหลายสาขาวิชามากที่เขาเชี่ยวชาญแต่ไม่มีเคสพื้นที่ให้ทำงานจริง เราเลยพยายามเอามาแมตช์กัน โจทย์ของ 25 สถาบันคือเยาวราช ก็ไปดูว่าเยาวราชในความถนัดของแต่ละคนช่วยอะไรได้บ้าง”

แม้ว่าเยาวราชจะมีแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ แต่มักไม่ค่อยถูกหยิบออกมาพูดถึงเท่าไร ครั้งนี้ SATARANA จึงสกัดเยาวราชออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมสนุกได้ในย่านนี้ออกเป็น 4 ด้าน คือ เยาวเลิศ เยาวลิงก์ เยาวเล่น และเยาวลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิม แทนการสร้างพาวิลเลียนแปลกใหม่ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่

กิจกรรมแต่ละด้านจะพูดถึงเรื่องเยาวราชที่แตกต่างกันออกไป คือ หนึ่ง ‘เยาวเลิศ’ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเชิงประวัติศาสต์ของเยาวราชที่มีอายุกว่า 100 ปี ย่านนี้จึงเต็มไปด้วยอาคารโบราณ ห้องแถวตั้งแต่สมัย ร.4 และถนนเส้นเยาวพาณิชที่โดดเด่นเรื่องการขายรองเท้าที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน นำมาเล่าใหม่เพื่อสะท้อนพื้นที่และวิถีชีวิตปัจจุบัน

สองคือ ‘เยาวลิงก์’ คือการ Hack ให้ปัญหาคลาสสิกอย่างการเดินทางในเยาวราชง่ายขึ้น ด้วยการพยายามค่อยๆ เติมแก็ปทีละอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น ป้ายรถเมล์ใหม่ ป้ายเยาวราชเนวิเกเตอร์ โดยนักศึกษาจากมศว และ MAYDAY ซึ่งมาจาก pain point หลักคือต่อให้มีกูเกิลแมพการเดินในย่านนี้ก็ยังหลง งานดีไซน์เหล่านี้จึงเข้ามาช่วยเรื่องการเดินทางด้วย

สามคือ ‘เยาวเล่น’ จากการสืบสาวราวเรื่องทำให้เห็นหลักฐานการมีอยู่ของโรงหนังตั้ง 6 ที่ มีเพลงแบ็กกราวนด์เป็นซาวนด์แทร็กเป็นเติ้งลี่จวินตลอดเวลา รวมถึงซากโรงงิ้วที่ถูกทิ้งไว้ ทั้งที่งิ้วเป็นสิ่งที่สนุกและสวยงาม เพื่อให้สิ่งเหล่านี้กลับมาเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่อีกครั้งจากการเอาเรื่องแสงสีเสียงกลับมาเล่า หรือมีซับไตเติลภาษาไทยให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น

สี่คือ ‘เยาวลักษณ์’ ว่าด้วยเรื่อง street function เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต รวมถึงการหยิบจับสิ่งต่างๆ ในเยาวราชมาออกแบบใหม่ จนได้โปรดักส์สนุกๆ เช่น ธูปต้นแบบหรือธูปรักษ์โลก โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ศึกษาแล้วว่าธูปจะเผาไหม้ไม่เกิน 2 นิ้วครึ่งก่อนที่จะมีคนเก็บไปหมด จึงได้ธูปที่สั้นลง และทำให้มีควันน้อยลง

4

ในวันที่งาน Bangkok Design Week จบลงไป สิ่งที่ SATARANA ทำไม่ได้สูญเปล่า อุ้มบอกว่าส่วนหนึ่งคือการติดตั้งถาวรให้เมืองได้ใช้ประโยชน์ ทั้งป้ายบอกทาง หรือสปอตไลต์ส่องสว่างในพื้นที่มืดๆ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการท้าทาย (challenge) คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ด้วยว่ายังมีความเป็นไปได้อีกหลายทางที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“แต่ในแง่ที่พัฒนาเมืองในระยะยาวของส่วนงานที่เป็นอีเวนต์ อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราชาเลนจ์เขา ที่นี่ไม่เคยจัดงานแบบนี้มาก่อน ลองดูว่าจัดแล้วเวิร์กไหม อย่างโชว์เติ้งลี่จวินที่เป็น walking theatre เราทำงานร่วมกับสตูดิโอ 11206 ซึ่งเขาเคยมีประสบการณ์เคยทำ immersive theatre มาก่อน ที่ไม่ใช่แค่การดูละครในโรงละคร แต่เป็นการดูละครแบบ immersive รอบนี้เราเลยทำเป็น walking theatre เป็นดูละคร แต่เดินในเส้นทางเยาวราช เดินตามตัวละครไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นเรื่องราวของเมือง เห็นพื้นที่ต่างๆ 

“ในอีกมุมนึงของการเล่าพื้นที่เมือง และอย่างโรงงิ้ว คณะงิ้ว เขาก็ได้รับกระแสตอบรับดี จากที่เขาไม่เคยเห็นวัยรุ่นมาดูงิ้ว ก็เริ่มมาแล้ว มีการลดช่องว่างระหว่างวัยด้วย ทำให้เข้าใจง่ายมากขึ้น 

“มันก็ช่วยชาเลนจ์สกิลส่วนหนึ่ง ช่วยชาเลนจ์โอกาสของเจ้าของพื้นที่ ที่สำคัญเลยคือชาเลนจ์หน่วยงานภาครัฐ พี่ๆ เทศกิจ พี่ๆ ตำรวจ กทม. สถานที่งงมาก พวกเธอทำอะไรกัน พวกเธอต้องขออนุญาตฉันยังไง มันไม่มีกฎเกณฑ์นี้มาก่อนว่าทำได้ เราดีไซน์ที่กั้นกรวยที่เขาใช้ปิดเลนเพื่อขายอาหารให้เขาใหม่ ให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ แล้วมีป้ายบอกทางได้ด้วย ตอนแรกเขาก็ด่าเต็มที่เลยนะ แต่พอเราทำเสร็จ ฟังก์ชันมันเป็นประโยชน์กับเขาจริงๆ มันก็ช่วยให้เขามีมายด์เซตใหม่ ในเรื่องของงานดีไซน์ มันอาจจะไม่ตรงกับกฎเกณฑ์ที่เขาดำเนินงานอยู่ แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

อุ้มเล่าถึงมุมมองของการพัฒนาเมืองในเชิงโครงสร้างว่าแม้สิ่งที่ทำอยู่จะเป็นสเกลเล็กๆ เช่นการติดป้ายบอกทาง แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบโครงสร้างใหญ่ที่ควบคุมเมืองไว้อีกที

“ต่อให้เราอยากเปลี่ยนแค่สเกลเล็ก เช่น ติดป้ายตรงเสาไฟของหน่วยงานรัฐหน่วยงานหนึ่ง เงื่อนไขในการทำไม่ได้เยอะมาก แต่มันติดกฎเกณฑ์เงื่อนไขในระดับพระราชกำหนด มันเป็นเรื่องใหญ่ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนของหน่วยงานรัฐในการร่วมการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไปกับเรา เราจะเจอทางตันง่ายมาก ซึ่งทางตันเหล่านั้นมันก็ครอบคลุมเรื่องทั้งหมด”

“สุดท้ายแล้วหน่วยงานรัฐอาจจะต้องมีช่องว่างที่มันพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปมากกว่านี้นิดหนึ่ง เราอาจจะไม่ต้องคิดใหญ่ ตัดถนนเพิ่มเส้นใหม่ แต่มันไม่ได้เท่ากับว่าอะไรๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะกฎเกณฑ์มันตั้งมาแล้ว เพราะวิถีชีวิตเราเปลี่ยนทุกวัน”

ก่อนจากกันเพื่อไปเดินเล่นในย่านเยาวราช เราถามอุ้มในฐานะของคนทำงานออกแบบเมืองว่า เมืองที่เป็นมิตรกับทุกคนควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เธอคิดไม่นานก่อนตอบว่าคือเมืองที่ทุกคนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเต็มที่ด้วยกัน

“ตอนที่จัด design week ที่เยาวราช สิ่งที่ชอบที่สุดจากผลลัพธ์ของเราน่าจะเป็นซีนโรงงิ้วที่มีวัยรุ่นแสนเก๋ ชาวเจน Z มานั่งดูงิ้วและเพ้นท์หน้ากาก แต่ในทางเดียวกัน ข้างหน้าก็มีอาม่ามาดูงิ้วด้วย เราว่าเมืองมิตรดี มันไม่ใช่เมืองที่สวยอย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นเมืองที่ inclusive จริงๆ มันเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่สวนที่เก๋เกินไปจนอาม่าไม่กล้ามารำไทเก็ก ไม่ใช่ทางเท้าที่งามเหลือเกินแต่ไม่มีรถเข็นขายของสตรีทฟู้ดเลยสักคัน เรารู้สึกว่ามันไม่สนุก เราเข้าใจว่ามันเกะกะ แต่เราว่ามันไม่สนุกแล้วถ้ามันถูกจัดการเยอะเกินไป หรือก็ไม่ใช่เมืองที่เก๋จน fair market ที่วัยรุ่นมาเดินเฉยๆ แล้วอาม่าฝั่งตรงข้ามก็บอกว่าไอ้เด็กพวกนี้เสียงดังจัง เราว่าไม่ใช่อุดมคติเมืองมิตรดีของเรา 

“เมืองมิตรดีของเรามันคือทุกคนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่ ไม่รู้สึกกีดกัน หรือมีใครตกหล่นไปจากสิ่งเหล่านั้น เราก็เชื่อมากๆ ว่าวิธีคิดของเราในการทำงานมันช่วยดึงคนให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ แต่อย่างที่ว่าชาเลนจ์มันยังมีอยู่เยอะ เพื่อให้มันเกิดขึ้น เราว่าด่าน design week รอบนี้มันอาจจะอยู่ในการทดลองอยู่ แต่การทดลองหลายอย่างของเรามันก็ติดตั้งผลลัพธ์ให้อยู่ตลอดกาล สำนักงานเขตบอกว่าถ้าไม่มีใครมาร้องเรียนป้ายก็ติดต่อไปเลย” อุ้มกล่าวทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ ด้วยความหวังว่าเมืองจะสามารถเปลี่ยนไปได้ด้วยการออกแบบร่วมกันของทุกคน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ