ต้า PARADOX ในคืนวันไร้คอนเสิร์ตกับความฝันครั้งใหม่ในฐานะผู้ออกแบบสนีกเกอร์

ถ้าเทียบกับปีอื่นๆ ตลอด 25 ปีในฐานะฟรอนต์แมนของ PARADOX วงดนตรีที่โคตรมีเอกลักษณ์และฝีมือเอกอุในการแสดงสด ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ ต้า–อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ ต้า PARADOX เล่นคอนเสิร์ตน้อยที่สุด

หากมองจากมุมคนนอก เราอดคิดไม่ได้ว่าคนที่มีความฝันเป็นการเล่นดนตรีอย่างต้าคงทุกข์ใจไม่น้อย

นั่นเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่ในอีกด้าน ต้าก็ได้ใช้เวลาว่างจากคอนเสิร์ตให้เป็นประโยชน์เช่นกัน

เดือนมีนาคมนี้ สนีกเกอร์รุ่นที่เขาออกแบบเองกำลังจะวางจำหน่าย

จากจุดเริ่มต้นในฐานะพรีเซนเตอร์ของ Breaker ในวันหนึ่งที่ PARADOX ต้องไปลองไซส์รองเท้ากับแบรนด์ เป็นต้าเองที่เอ่ยถามทีมงานว่า เป็นไปได้ไหมที่เขาจะออกแบบสนีกเกอร์ด้วยตัวเองสักครั้ง กลายเป็นว่าทาง Breaker ตอบตกลง และจากวันนั้นเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาโปรดักต์จนออกมาเป็นสนีกเกอร์รุ่น Doxfest Concert

สนีกเกอร์คือเหตุผลแรกที่เราเดินทางมาสนทนากับต้าก็จริง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงถือโอกาสนี้ชวนชายผู้เป็นฟรอนต์แมนของวงที่ขึ้นชื่อว่าเล่นคอนเสิร์ตสนุกที่สุดในประเทศพูดคุยเรื่องชีวิตในคืนวันที่ไร้คอนเสิร์ต และความเชื่อที่ทำให้เขาปล่อยพลังไม่ยั้งยามได้ขึ้นแสดง

ฟังอีกหนึ่งความฝันของ ต้า Paradox ที่เขาหวังว่าจะผงาดง้ำค้ำโลกในบรรทัดถัดไป

ต้า PARADOX

คืนวันไร้คอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ขึ้นชื่อว่าเล่นคอนเสิร์ตสนุกที่สุด

สำหรับตัวคุณ ปีที่ผ่านมาถือว่าหนักไหม

ผมมองเป็นเรื่องหนัก ซึ่งจริงๆ ก็หนักสำหรับทุกคน แต่กับอาชีพนักดนตรีก็ถือว่าหนักมากเลยเพราะโดนหยุดก่อนใครและเปิดให้ทำทีหลังสุด ก็ถือว่ากระทบเยอะ ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ แต่ถ้ามองแค่ที่ตัวเอง ผมถือว่าก็เป็นข้อดีที่ผมเหมือนได้พักร้อนหลังจากที่ไม่ได้หยุดมานานและได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำด้วย

เช่นอะไรบ้าง

ถ้าที่นึกออกไวๆ คือการที่ผมไลฟ์ ‘แนะนำเพลงจากทางบ้าน’ จำไม่ได้แล้วว่าทำไมเริ่ม แต่ก่อนหน้านี้ปกติผมจะได้อีเมลจากแฟนเพลงหรือน้องๆ ศิลปินที่ส่งเพลงมาให้ฟังประจำ พอว่างผมเลยยกเอาสิ่งนี้มาลองดูและฟังเสียเลย ปรากฏว่าเกิดเป็นกิจกรรมใหม่ที่ผมจะมารีวิวเพลงและการแต่งเพลง ฟีดแบ็กดีมาก ประสบความสำเร็จ ตัวผมเองก็สนุกที่ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนอื่น หรือถ้ามองในแง่วงก็เป็นการทำให้เราไม่หายหน้าหายตาไปจากแฟนเพลงด้วย

ความสำเร็จที่เกิดจากกิจกรรมนี้คืออะไร

การได้เจอคนเก่งๆ มันทำให้ผมเห็นว่ายังมีเพลงดีๆ อีกมากในโลกนี้ที่เราไม่รู้จัก ขนาดที่ว่าพอฟังแล้วผมคิดเลยว่ายอดวิวต้องเยอะแน่ แต่ปรากฏคนดูหลักร้อยเอง หรืออย่างบางวงเพลงดีมาก คนกดไลก์เพจวงไม่ถึง 40 คนก็มี ผมเลยรู้สึกดีที่ได้ช่วยคน งานเหล่านั้นเองก็เหมาะสมที่จะเอามาเผยแพร่ ผมภูมิใจที่ได้บอกต่อ วงดนตรีเองก็มีกำลังใจจากสิ่งที่เราคอมเมนต์ มันตอบโจทย์ในแง่ความรู้สึกตัวเองและคนอื่น (นิ่งคิด) แต่ก็นั่นแหละ การทำตรงนี้รายได้ก็เป็นศูนย์อยู่ดี

ต้า PARADOX

คุณรับมือเรื่องนี้ยังไง

ต้องอธิบายอย่างนี้ คือก่อนหน้านี้เราก็เคยเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อนักดนตรีไปแล้วรอบหนึ่ง พอเห็นเค้าลางโควิด-19 เข้ามา วงเราเลยไม่ประมาทและเตรียมรับมือตั้งแต่แรกแล้ว แต่ประเด็นคือตอนแรกเราคิดว่าไม่นาน จนกระทั่ง 3-4 เดือนเราก็เริ่มรู้สึกเป็นห่วงทีมงาน เขาทำงานด้านดนตรีโดยเฉพาะ ดังนั้นเขาไม่มีงานเลย ต่างกับเราที่ยังมีงานพรีเซนเตอร์หรือเพลงโฆษณาอยู่บ้าง วงเลยเหมือนโดนหมัดน็อกร่วงไป ตอนนี้ก็ต้องเอาตัวรอดโดยการขายของอื่นๆ กัน หรือบางอย่างที่ผมพอช่วยได้ก็ต้องช่วยเขาก่อน ค่อยๆ ลากกันไป

แต่ถ้าไม่นับเรื่องรายได้ คุณคิดถึงการแสดงสดไหม ในแง่ไหน

(พยักหน้า) บอกก่อนว่าวงเราสนุกกับคอนเสิร์ตทุกงานนะ แต่ถ้ายึดตามผมเอง ผมจะคิดถึงความสนุกที่ได้เห็นพฤติกรรมคนดูมากเป็นพิเศษ

ผมสนุกเสมอกับการได้เห็นบรรยากาศในคอนเสิร์ตที่เปลี่ยนไป สำหรับผมสิ่งนี้ไม่เหมือนกันเลยสักที่ ต่อให้จังหวัดเดียวกันแต่คนละร้านก็คนละแบบ นี่คือสเน่ห์ของการแสดงสด ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบพัฒนาตัวเอง คอนเสิร์ตคือสิ่งที่มีอะไรให้พัฒนาและปรับปรุงเยอะมาก อย่าง PARADOX ทุกวันนี้ก็ยังต้องแก้ปัญหา ซึ่งผมก็สนุกกับตรงนั้นเช่นกัน

ยังไม่อิ่มตัว

ไม่เลย

ต้า PARADOX

ความสนุกในคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่เล่นคอนเสิร์ตเป็นอาชีพมา 25 ปี

เวลาต้องเล่นเพลงเดิมทุกวัน คุณเบื่อไหม เพราะนักดนตรีต่างประเทศบางคนก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเบื่อ

เรื่องนี้ผมว่าแล้วแต่คน แล้วแต่ทัศนคติ ถ้าผมเองก็อย่างที่บอกว่ามองเป็นเรื่องสนุกอยู่นะ ถึงจะเพลงเดิมแต่ถ้าได้เปลี่ยนสคริปต์หรือวิธีการแสดง เพลงก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ผมจะตื่นเต้นรอดูเสมอว่าคนดูจะตอบรับกับสคริปต์ใหม่ยังไง นี่เป็นการปรับปรุงที่เกิดขึ้นตลอดเวลากับ PARADOX

อย่างเพลง ฤดูร้อน ที่แทบเป็นเพลงบังคับที่ PARADOX ต้องเล่นทุกโชว์ แต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน

ไม่เหมือนเลย มองอีกอย่างก็ได้ว่าแต่ละคนก็อินกับเพลงเพลงหนึ่งด้วยภูมิหลังที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเขาแสดงออกไม่เหมือนกันอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งการเล่นที่เดิม กลับไปแต่ละครั้งบางทีมวลคนดูก็เปลี่ยนไปตามยุคแล้ว ซึ่งจากที่ไปเล่นตามที่ต่างๆ มา วัฏจักรของแต่ละที่จะอยู่ที่ 5 ปี พอพ้น 5 ปีไปคนในพื้นที่นั้นจะเริ่มเปลี่ยนแนวแล้ว และนี่ก็เป็นโจทย์ใหม่ให้ผมสนุกได้เสมอ

ต้า PARADOX

ปีนี้ PARADOX มีอายุวง 25 ปี หลายคนน่าจะคิดว่าพวกคุณ ‘อยู่มือ’ แล้วแน่ๆ ไม่น่าจะมีอะไรใหม่ให้ตื่นเต้น

มี (ตอบทันที) และมีอีกเยอะเลย เพราะพอวงผมเปลี่ยนสคริปต์อยู่เสมอ ทีมงานทุกคนเลยมีอะไรให้ต้องอัพเดตกันทุกโชว์ หรือแม้กระทั่งงานที่เราไปเองก็กำหนดให้ต้องเปลี่ยนทุกงาน เช่น งานที่ผู้ชมดูมีอายุกับงานที่ผู้ชมดูวัยรุ่น สคริปต์ก็ไม่เหมือนกัน หรือเวลาไปเล่นที่งานเลี้ยงบริษัท เราก็ห้ามเล่นบางเพลง เช่น เพลง ทาส หรือ ลาออก มันมีอะไรแบบนี้อยู่เสมอในการแสดงสดแต่ละครั้ง มันไม่เคยเหมือนกันเลย

สำหรับคุณ การปรับปรุงเหล่านี้สำคัญยังไง

(นิ่งคิด) ผมตอบในมุมของ PARADOX แล้วกัน ผมไม่รู้ว่าคนอื่นจะตีความคำว่าคอนเสิร์ตที่ดีแบบไหนนะ แต่สำหรับผมมันคือคำว่า ‘ปลดปล่อย’ และนั่นทำให้พวกเราพยายามปรับปรุงเพื่อให้คนดูได้สิ่งนั้นเสมอ นี่คือต้นทุนของเพลงและตัวตนของ PARADOX

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่นเพลง ทาส ก็ได้ เราเข้าใจว่าแฟนเพลงที่อินเขาขอแค่ได้ร้องคำนี้ดังๆ ก็พอแล้ว PARADOX จึงมีเพลงและออกแบบโชว์ให้เอื้อต่อสิ่งนี้ หรือใครที่เก็บกดแล้วอยากมาทำอะไรบ้าๆ โดยไม่โดนคนอื่นตัดสิน คุณไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น หลับหูหลับตากระโดดกับเพลงเราก็พอ ผมว่านี่คืออรรถรสหนึ่งที่เราไม่ต้องไปแย่งฐานกับใครและเป็นอีกจุดเด่นที่เราพยายามพัฒนามาตลอด

ต้า PARADOX

ในมุมกลับกัน ปกติคุณไปคอนเสิร์ตในฐานะคนดูบ้างไหม

บ่อยนะ เมื่อก่อนชอบจัดเองเล็กๆ ด้วยซ้ำ ผมชอบยืนดูวงต่างๆ และจะเป็นการดูในฐานะคนทำด้วย มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนผู้กำกับดูหนังคนอื่น ผมจะคิดและสงสัยตามสัญชาตญาณว่าวงนี้เขาเล่นกันยังไง พลาดตรงไหน ถ้านักร้องยืนนิ่งจะทำงานยังไง ผมกวาดตาดูไปทั่ว แต่ทั้งหมดก็เพื่อเอาไปปรับปรุงกับวงตัวเอง ซึ่งตัวผมเองก็มักได้รับพลังงานแปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ อย่างบางวันที่หมดไฟ พอไปดูวงที่คึกๆ พวกเขาก็จะสะท้อนพลังออกมาและกระตุ้นผมให้รู้สึกสดชื่นใหม่ นี่คือพลังของคอนเสิร์ตที่ผมรู้สึกว่าดีกับตัวเองมากและน่าจะดีกับคนอื่นด้วย

อยู่มานานขนาดนี้ยังมีคอนเสิร์ตในฝันที่คุณอยากเล่นอีกไหม

(นิ่งคิดนาน) นึกไม่ออก (หัวเราะ) ผมไม่ได้ฝันถึงการเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ เลยนะ ผมกลับนึกถึงความสนุกในงานกาชาด งานวัด หรืองานตามผับเล็กๆ ที่เคยเล่นมากกว่า เพราะงานแบบนั้นจะมีความสบายๆ วงไม่ต้องกังวลอะไรมาก ไม่กดดัน เราเล่นอะไรแผลงๆ ได้ คนที่มาก็มีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ พวกเขาพร้อมปลดปล่อย อะไรแบบนั้นทำให้ผมสนุกมากกว่าอีก

ต้า PARADOX

สนีกเกอร์เพื่อคอนเสิร์ตจากต้า PARADOX และ Breaker

คุณกำลังจะมีสนีกเกอร์ที่เป็นงานออกแบบของตัวเอง เป็นยังไงบ้าง

มันเป็นความฝันของผมมาตลอดในการมีผลิตภัณฑ์หรือของที่ผมมีส่วนร่วมออกแบบวางขาย อย่างเมื่อก่อนผมก็ชอบทำของขายให้แฟนเพลง พยายามสร้างแบรนด์ของตัวเองตลอด แต่พอดีช่วงนี้ PARADOX เป็นพรีเซนเตอร์ของ Breaker พอดี ผมเลยนึกได้ว่าอย่างนักฟุตบอลดังๆ เขาก็มีรองเท้าสตั๊ดของตัวเอง นักดนตรีบางคนก็มีกีตาร์รุ่นตัวเอง ผมเลยลองไปถามทางทีมงานว่าไหนๆ ก็เป็นพรีเซนเตอร์แล้ว ถ้าผมอยากออกแบบรองเท้าที่ใช้งานจริงในคอนเสิร์ตได้ในชื่อตัวเอง มันจะเป็นไปได้ไหม ปรากฏเขาบอกว่าทำได้

ผมปิ๊งไอเดียทันที วันนั้นเป็นวันที่ทางวงไปลองรองเท้าพอดี ผมเลยคว้ารองเท้าที่เขามีให้ลองใส่กลับบ้านและออกแบบ จากวันแรกผมลองใส่รองเท้ารุ่นนี้อยู่ประมาณหนึ่งปีเพื่อให้แน่ใจว่าชอบใช้งานจริงๆ ระหว่างนั้นก็คิดนู่นคิดนี่ ปรับนู่นปรับนี่ ทดลองและคุยกับทีมออกแบบของ Breaker จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นรองเท้า Breaker รุ่น Doxfest Concert

ต้า PARADOX

ทำไมต้องเอาไปลองใช้นานขนาดนั้น

คงเป็นเพราะผมเคยเห็นนักกีฬาต่างประเทศบางคนที่มีรองเท้ารุ่นตัวเองแต่ไม่เคยใส่เลย ผมเลยตั้งใจออกแบบรองเท้าออกมาโดยเน้นการใช้งานเป็นพื้นฐาน คิดง่ายๆ ว่าถ้าทำออกมาเสร็จผมต้องชอบใส่มันจริงๆ ซึ่งสุดท้ายก็ออกมาเป็นรองเท้าคู่นี้ที่นิ่มและเบา ใส่สบายคล้ายรองเท้ากังฟู หลังจากนั้นค่อยเอามาแปะโลโก้ต่างๆ เพื่อสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับมัน

อธิบายการออกแบบอื่นๆ ให้ฟังหน่อย

อย่างลายด้านข้างนี่คือโลโก้ตัวเอง เป็นภาษาอังกฤษเขียนว่า TATA ส่วนด้านหลังเป็นชื่อคอนเสิร์ตมีตติ้งของวงอย่าง Doxfest Concert ผมว่าวางไว้ตรงนี้แล้วดูเปรี้ยวดี อีกอย่างคือมันเป็นหนังแท้ ดังนั้นยิ่งใส่นานๆ จะยิ่งทำให้รองเท้าดูขลัง ยิ่งเก่ายิ่งเท่

ส่วนพื้นรองเท้าที่เป็นสีแดง ผมตั้งใจให้มันตัดกับสีดำและสีขาวของรองเท้า เวลาเดินหรือกระโดดจะได้มีสีแจ๊ดๆ แวบออกมา หรืออย่างเวลาถ่ายรูป พลิกมุมนี้ขึ้นมาก็จะเป็นจุดที่ทำให้ถ่ายรูปขึ้นด้วย

คนที่ซื้อรองเท้ารุ่นนี้ต้องเป็นแฟนวง PARADOX เท่านั้นหรือเปล่า

ไม่เลย ผมอยากให้รองเท้ารุ่นนี้เป็นรุ่นมาตรฐานสำหรับคนที่ชอบดนตรี

พอเริ่มต้นจากความตั้งใจว่าผมต้องใช้งานจริง ผมจึงออกแบบโดยมองว่าอยากให้คนทั่วไปใส่ไปคอนเสิร์ตได้ หรือนักดนตรีสามารถใส่ขึ้นเวทีได้ ผมเรียกตัวนี้สั้นๆ ว่า ‘รุ่นคอนเสิร์ต’ ด้วยซ้ำ ราคาก็ไม่แพงเพราะผมอยากให้คนทั่วไปจับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่รุ่นลิมิเต็ด เพราะผมอยากให้นี่เป็นไอเทมที่เรามีเหมือนกันเวลาไปเจอกันที่คอนเสิร์ต

จินตนาการไว้ไหมว่าวันที่กลับไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วได้เห็นคนใส่รองเท้าที่เราออกแบบจะรู้สึกยังไง

โห เป็นอีกขั้นหนึ่งของความฝันเลย ผมคงหัวใจพองโต มันคงดีมาก

ไม่รู้ว่าคอนเสิร์ตนั้นคนดูจะได้ปลดปล่อยไหม แต่ผมว่าตัวเองคงได้ปลดปล่อยแล้ว (ยิ้ม)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone